ปลาหมอทะเล

เวลาว่างของผมมักหมดไปกับการเดินเล่นตามพิพิธภันฑ์

ถ้าเป็นต่างประเทศ ผมคงจะมีความสุขที่ได้เดินในพิพิธภันฑ์ขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีระบบจัดการทันสมัย พร้อมตื่นตาตื่นใจไปกับสิ่งของสารพันที่นำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ

แต่ในเมื่อที่นี่คือประเทศไทย ผมเลยมีตัวเลือกไม่มากนัก โชคดีที่ไม่กี่ปีมานี้มีอะแควเรี่ยมขนาดใหญ่เข้ามาเปิดบริการใจกลางกรุงซึ่งง่ายต่อการเดินทางไปมา ทำให้ผมไม่รีรอที่จะเข้าไปสมัครสมาชิกและโผล่เข้าไปเยี่ยมเยี่ยนอยู่บ่อยๆถึงแม้ว่าอะแควเรี่ยมจะไม่มีปลาในแบบที่ผมชอบมากนัก แต่ก็ให้ความรู้สึกเงียบสงบทุกครั้งที่ได้เข้าไปเยือน

ทุกๆครั้งที่แวะไป ผมมักเข้าไปนั่งดูผู้คนอุ้มลูกจูงหลานมาชี้ชวนกันดูสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ที่นำมาจัดแสดง สังเกตว่าสัตว์ที่หนูน้อยทั้งหลายชอบให้ความสนใจนั้น มักจะต้องเป็นปลารูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดที่มีอะไรพิเศษไปจากปลาชนิดอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด หรือไม่ก็เป็นปลาขนาดใหญ่ยักษ์ ที่เวลาว่ายผ่านหน้าทีไร ต้องมีใครร้องโอ้โหขึ้นมาซักคน

นอกจากเด็กๆจะชอบแล้ว ผู้ใหญ่อย่างผมเองก็เหมือนกัน

หนึ่งในตู้ที่ผมชอบไปนั่งดูเป็นประจำนั้นก็คือตู้ปลาหมอทะเล หรือปลาเก๋ายักษ์ ที่เมื่อก่อนร้านข้าวต้มปลาชอบเอาหนังมาสต๊าฟต์แขวนโชว์ลูกค้าอย่างไรก็อย่างนั้น ตัวเป็นๆนั้นดูน่าเกรงขามกว่าศพปลาที่รอคิวลงหม้อน้ำร้อนเป็นไหนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองผ่านตู้อะครีลิคขนาดยักษ์ ในขณะที่มันกำลังลอยตัวอยู่เหนือหัวท่ามกลางบรรยากาศทึมๆ ดูแล้วช่างเป็นภาพที่ดูน่าเกรงขามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสัตว์ประหลาดในเทพนิยายตัวอื่นเลยทีเดียว

ถึงจะมีขนาดใหญ่ แต่ปลาหมอทะเลก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับคน อย่างน้อยๆก็ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการว่าปลาชนิดนี้เข้าทำอันตรายนักดำน้ำ ดังนั้นปลาชนิดนี้จึงเป็นปลาใหญ่อีกชนิดหนึ่งที่นักดำน้ำอยากจะสัมผัสกับพวกมันตามธรรมชาติใต้ท้องทะเล ในต่างประเทศเองก็มีจุดดำน้ำที่ค่อนข้างขึ้นชื่อหลายแห่งที่ใช้ปลาเก๋าขนาดยักษ์เป็นตัวชูโรง เช่นที่ประเทศออสเตเรียเป็นต้น

ปลาหมอทะเลหรือปลาเก๋าทอง (Ephinephelus lanceolatus) นี้ ถือเป็นปลาเก๋าขนาดใหญ่เคียงคู่มากับปลาเก๋ายักษ์อื่นๆ เช่นปลาเก๋าดอกหมากยักษ์ (E. tukula), และ ปลาเก๋าโกไลแอต (E. itajara) ที่แต่ละตัวล้วนมีขนาดมากกว่าสองเมตรทั้งสิ้น ถึงกระนั้นปลาหมอทะเลก็ยังคงครองแชมป์ไปด้วยความยาวกว่า 2.7 เมตรและน้ำหนักกว่าสามร้อยกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นปลาเก๋าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นปลากระดูกแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแนวปะการัง

หากใครนึกภาพไม่ออกว่าปลาชนิดนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ขอให้นึกถึงปลาเก๋าที่เราๆท่านๆเห็นนอนท่ามกลางน้ำแข็งในตลาดสดนั่นแหละ เพียงแต่ขยายขนาดออกไปซักสามสี่สิบเท่าเป็นอย่างน้อย ปลาเก๋าชนิดนี้มีดวงตาขนาดเล็ก และมีปากที่กว้างเป็นพิเศษ แพนหางขนาดใหญ่ช่วยให้ปลาทรงตัวได้ดีท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยว เมื่อยังเล็กลูกปลาหมอทะเลจะมีสีเหลืองสลับดำ สีสันอันโดดเด่นนี้ทำให้ลูกปลาชนิดนี้เป็นที่ต้องตาต้องใจของใครหลายคน เสียแต่ว่าปลาหมอทะเลจะค่อยๆมีสีตุ่นลงเรื่อยๆเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น จนกระทั่งเป็นสีเทาและมีจุดแต้มสีขาวตุ่นๆทั่วลำตัว คงเหลือสีเหลืองไว้แต่เพียงบริเวณครีบต่างๆเท่านั้น

เวลามีลูกปลาสีสดนี้เข้ามาขายตามร้านปลาทีไร แป๊บเดียวก็ต้องมีเจ้าของมารับตัวไปทุกที ไม่รู้ว่าจะมีคนซื้อซักกี่คนที่รู้ว่าปลาชนิดนี้จะกลายเป็นปลายักษ์ในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะพวกที่ชอบเลี้ยงรวมๆกันโดยไม่ศึกษาอุปนิสัยปลาให้ดีเสียก่อน รับรองได้ว่าไม่นานเพื่อนร่วมตู้ก็คงจะรวมร่างกันเป็นหนึ่งเดียวกับปลาหมอทะเลจนหมดเกลี้ยง เพราะปลาชนิดนี้กินปลา กุ้ง ปู หรือสัตว์ต่างๆที่มีขนาดเล็กกว่าตัวมันเป็นอาหาร อุปนิสัยก้าวร้าว ไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นใด แม้จะมีขนาดไล่เลี่ยกันก็ตาม

ปลาเก๋าชนิดนี้จะพบได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็ถือว่าเป็นปลาที่มีการกระจายพันธุ์ค่อนข้างกว้างตัวหนึ่ง ปลาหมอทะเลเป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในเขตอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่ทะเลแดง, ญี่ปุ่น, ออสเตเรีย เรื่อยไปจนถึงชายฝั่งทวีปแอฟริกาและหมู่เกาะฮาวาย ปลาขนาดใหญ่ชนิดนี้พบอาศัยตามกองหินใต้น้ำหรือซากเรือจม บางครั้งอาจพบปลาวัยอ่อนได้ตามปากแม่น้ำที่มีลักษณะเป็นน้ำกร่อย ซึ่งปลาจะอพยพไปยังทะเลเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น เดิมทีปลาหมอทะเลก็ไม่ได้เป็นปลาที่มีจำนวนเยอะมากมายอะไร ยิ่งในปัจจุบันที่มีการทำประมงกันอย่างหนาแน่น ทำให้ปลาชนิดนี้ยิ่งลดจำนวนลงเข้าไปอีก นับว่าเป็นปลาชนิดหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำประมง มิใช่จากวงการปลาสวยงาม

ปลาหมอทะเลเป็นปลาที่มีเนื้อรสชาติดี ในเมืองไทยนิยมนำมาทำเป็นข้าวต้มปลา หรือแล่เป็นชิ้นๆ ไว้ทำกับข้าวเช่นเดียวกับเนื้อปลาเก๋าชนิดอื่นๆ ในประเทศแถบเอเชียอื่นๆเช่นฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่นั้นนิยมบริโภคปลาขนาดใหญ่หลายชนิด รวมไปถึงปลาหมอทะเลขนาดยักษ์เหล่านี้ด้วย แม้จะมีราคาสูง แต่ทางภัตตาคารจะสั่งปลาเป็นๆเหล่านี้จากประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนิเซียมาขังไว้ในตู้หรือบ่อน้ำขนาดใหญ่ รอลูกค้ากระเป๋าหนักมาสั่งขึ้นโต๊ะเป็นอาหารจานเด็ดต่อไป

โชคยังดีที่คนไทยเราสามารถเพาะพันธุ์ปลาหมอทะเลได้มาเป็นเวลานาน โดยใช้วิธีผสมเทียมและฉีดฮอร์โมน แต่ก็ยังไม่สามารถผลิตได้ในเชิงปริมาณเพื่อนำไปทำเป็นการค้า เนื่องการความยากลำบากในการหาพ่อแม่พันธุ์ และความใหญ่ของมันก็เป็นอุปสรรคในการนำเข้ากรรมวิธีผสมพันธุ์เทียม ปลาหมอทะเลจึงเป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย เผื่อว่าในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่เพื่อทำรายได้เข้าประเทศอีกทาง

ปลาหมอทะเลอาจจะอยู่ในตู้เลี้ยงได้ชั่วระยะหนึ่ง ก่อนจะโตขึ้นเรื่อยๆจนคับตู้ ในต่างประเทศพบว่าลูกค้าที่ซื้อปลาชนิดนี้ไปด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มักจะนำไปบริจาคให้พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำอยู่เนืองๆ เพราะไม่สามารถดูแลได้ไหว ปลาชนิดนี้จึงเป็นปลาอีกชนิดที่ควรปล่อยไว้ตามธรรมชาติ ถ้าหากไม่มีบ่อหรือกระชังขนาดใหญ่ไว้คอยรองรับเพื่อเป็นที่อยู่ของมันในระยะยาว

 

  

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

เพิ่งเคยเห็นรูปลูกปลาหมอทะเล สวยงามจริงๆครับ

ส่วนรูปแรกนึกถึงปลาออสการ์เลย

ความเห็นที่ 2

น่าเลี้ยงนะครับสวยดี..แต่ตอนมันโตนี่ซิ..คงย้ายกันสนุกน่าดูครับ

ความเห็นที่ 3

สวยมากครับ

http://www.gamble-vip.com/