ฟองน้ำทะเล…มนต์เสน่ห์ใต้โลกสีคราม
หลายคนกล่าวว่าใต้ท้องทะเลนั้นงดงามราวกับอีกโลกหนึ่ง โลกที่เต็มไปด้วยสีสันสดใส สิ่งมีชีวิตรูปร่างแปลกตา และเรื่องเล่าอีกมากมาย ล้วนดึงดูดให้ใครต่อใครเกิดแรงบันดาลใจและอยากลงไปสัมผัสสักครั้งหนึ่ง
ผมเป็นคนหนึ่งที่หลงใหลในมนต์เสน่ห์ใต้โลกสีครามนี้ อีกโลกหนึ่งที่คุณจะตัวเบาบินได้เหมือนนกและหายใจได้เหมือนกับปลา โลกที่ทำให้ผมสนุกเพลิดเพลินไม่แพ้เดินอยู่ในป่าเลยทีเดียว
มีเหตุผลมากมายครับที่ทำให้หลายคนยอมเปียกและฝืนธรรมชาติการหายใจเพื่อไปดำน้ำ บ้างเพื่อพักผ่อนหลีกหนีความวุ่นวาย บ้างเผื่อไปถ่ายภาพสวยๆ และยังมีอีกหลายกลุ่ม ที่ดำน้ำเพื่อดูปลา ปู กุ้ง หอย ดูสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเป็นจริงเป็นจังคล้ายการดูนกเลยที่เดียว แต่กลุ่มสัตว์กลุ่มหนึ่งที่ผมให้ความสนใจ อาจแตกต่างจากใครๆ และไม่มีใครไปดู สัตว์กลุ่มนี้คือฟองน้ำทะเลนั่นเอง
ฟองน้ำหลากหลายชนิดเกาะแต่งแต้มสีสันให้แก่พื้นทะเล
การดูฟองน้ำนั้นไม่ยาก เพราะพวกเค้าไม่เคลื่อนที่ไปไหน ถ่ายภาพสวยๆก็ยิ่งง่าย เพียงทำตัวติดกับพื้นคอยระวังหอยเต้าปูนและปลากระเบน แค่นี้รอบตัวคุณจะเห็นสีสันมากมายที่แต่งเติมโดยสัตว์กลุ่มนี้ พวกเค้าไม่เคยทำให้ผมอารมณ์เสีย ดำยังไงก็หาเจอ ได้ภาพมาทุกครั้ง เหตุผลที่ผมสนใจกลุ่มสัตว์ที่ไม่ไหวติงอย่างฟองน้ำ ก็มาจากความสนใจสัตว์กลุ่มหอยและทากทะเลมาก่อนหลายกลุ่มเกาะอยู่กับฟองน้ำสีสันแสบตา จึงทำให้ผมเบี่ยงเบนอยากรู้ว่าพวกเค้ากำลังกินอะไร.....ทำไมช่างสวยจัง
ลูกทากทะเล Jorunna funebris กำลังเอร็ดอร่อยกับฟองน้ำสีน้ำเงิน Neopetrosia sp.
“ฟองน้ำ” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “Sponges” เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ถือว่าโบราณที่สุดครับ หลักฐานจากฟอสซิล บ่งบอกให้ทราบว่าบรรพบุรุษของพวกเค้ากำเนิดขึ้นในยุคแคมเบรียน (Cambrian) หรือเมื่อประมาณ 600 ล้านปีมาแล้ว ฟองน้ำจัดเป็นสัตว์หลายเซลล์ (multi – cellular organism) แต่ยังไม่มีเนื้อเยื่อ (tissue) รวมถึงไม่มีอวัยวะ (organs) และมีการประสานการทำงานระหว่างเซลล์น้อยมาก กล่าวโดยสรุปพวกเค้าเป็นสัตว์ที่มีโครงสร้างแบบง่ายๆ คือมีเซลล์หลายๆเซลล์อยู่ร่วมกันในตำแหน่งที่แน่นอน ซึ่งแต่ละกลุ่มเซลล์จะมีหน้าทีและการทำงานที่แตกต่างกันและเป็นอิสระต่อกัน เช่นกลุ่มเซลล์ที่ทำหน้าที่กินอาหารก็จะกินอย่างเดียว กลุ่มเซลล์ที่ทำหน้าที่ย่อยก็จะย่อยอาหาร และกลุ่มเซลล์ที่ทำหน้าที่สืบพันธุ์ ก็จะปั๊มลูกกันอย่างเดียว โดยกลุ่มเซลล์เหล่านี้จะร่วมกันทำงานในหน้าที่ของตนประกอบขึ้นเป็นฟองน้ำ 1 ตัว ช่างน่าอัศจรรย์ใช่มั้ยครับ แต่ที่ยิ่งกว่านั้นเซลล์ของฟองน้ำยังมีลักษณะพิเศษที่ไม่พบในสัตว์กลุ่มอื่นเลย คือ ความสามารถในการเปลี่ยนหน้าที่ของเซลล์จากหน้าที่หนึ่งไปเป็นอีกหน้าที่หนึ่งได้ตลอดเวลา นึกง่ายๆเซลล์ที่ทำหน้าที่กินอาหารเกิดอยากเปลี่ยนบรรยากาศ สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองไปทำหน้าที่เป็นเซลล์สืบพันธุ์ได้ พอเบื่อก็สามารถเปลี่ยนมากินอาหารดังเดิม เราเรียกคุณสมบัตินี้ว่า Totipotency ครับ แปลกมั้ยล่ะครับ
ฟองน้ำครก Xestospongia testudinaria ฟองน้ำโหลพบบ่อยในทะเลบ้านเรา
ฟองน้ำสามารถสังเกตได้ง่ายๆ เพราะลักษณะเด่นของเค้าคือมีผิวตัวที่เต็มไปด้วยรูพรุน อันเป็นที่มาของชื่อไฟลัม (Phylum) Porifera ที่แปลว่า “มีรูพรุน” ใช่ว่าพวกเค้าอยากมีผิวเสียเต็มไปด้วยรู แต่รูพรุนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบท่อน้ำ (water canal system) ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าผิวเนียนใส รูพรุนเหล่านี้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของตัวฟองน้ำ ตั้งแต่การกินอาหาร การขับถ่าย รวมไปถึงการสืบพันธุ์ ยิ่งกว่าแก้วตาดวงใจเลยทีเดียว เริ่มจากรูขนาดเล็กที่กระจายทั่วตัวฟองน้ำ เราเรียกว่าออสเทียม (ostium) เป็นช่องทางน้ำเข้าสู่ตัวฟองน้ำ เปรียบเสมือนปากของฟองน้ำนับร้อยนับพันปาก (เมาท์ใครทีนี่หูดับตับไหม้เลยทีเดียว) ที่นำอาหารและอากาศในมวลน้ำเข้าสู่ตัวฟองน้ำ ภายในตัวฟองน้ำมีเซลล์พิเศษซึ่งมีโครงสร้างคล้ายแส้นางแมวทำหน้าที่โบกพัดให้เกิดกระแสน้ำไหลเข้าสู่ตัวฟองน้ำ เซลล์พิเศษนี้มีชื่อว่า Choanocytes ซึ่งการเคลื่อนที่โบกสะบัดของเซลล์นี้เอง ทำให้ความเข้าใจในอดีตที่คิดว่าฟองน้ำเป็นพืชเปลี่ยนแปลงไปในที่สุด นอกจากนี้แล้วเซลล์ Choanocytes ยังทำหน้าที่จับอาหารและออกซิเจนในมวลน้ำที่ไหลเข้ามาภายในตัวฟองน้ำอีกด้วย ส่วนน้ำที่ผ่านการกรองเอาอาหารและออกซิเจนไปใช้แล้วก็จะถูกขับออกจากรูขนาดใหญ่ซึ่งเป็นทางน้ำออกเรียกออสคูลัม (Osculum) เปรียบเสมือนช่องขับถ่ายของฟองน้ำนั่นเอง
ผิวตัวฟองน้ำเต็มไปด้วยรู รูขนาดเล็กคือ ostium รูขนาดใหญ่คือ osculum
ฟองน้ำแบบเจาะฝังตัวในหินปูนก็มีหลายชนิด
ฟองน้ำเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังก็จริง แต่พวกเค้าก็ไม่ได้ตัวอ่อนป่วกเปียก เพราะมีโครงร่างอย่างอื่นทำหน้าที่แทนกระดูกค้ำจุนให้คงรูปอยูได้ สิ่งนั้นคือหนามฟองน้ำ (Spicule) และเส้นใยฟองน้ำ (Spongin fiber) โดยเฉพาะหนามฟองน้ำยามดูใต้กล้องจุลทรรศน์แล้วช่างมีรูปทรงที่หลากหลายและสวยงามแปลกตาไม่แพ้สีสันภายนอกของฟองน้ำเลย หนามฟองน้ำแท่งเดี่ยวๆจะสานตัวกันเป็นโครงร่าง(Skeleton) อันงดงามราวสถาปัตยกรรมชิ้นเอกค้ำจุนตัวฟองน้ำโดยมีเส้นใยฟองน้ำเชื่อมยึดให้ติดกัน ในฟองน้ำบางกลุ่มอาจไม่พบหนามฟองน้ำเลย จะพบเพียงเส้นใยฟองน้ำค้ำจุนตัวฟองน้ำ ทำให้ฟองน้ำกลุ่มนี้มีความนิ่มและยืดหยุ่นตัวสูงมักถูก เรียกว่า ฟองน้ำถูตัว ที่สาวๆนิยมใช้ถูตัวยามอาบน้ำนั่นเอง (หลายท่านคงคิดอยากเป็น....ฟองน้ำถูตัวแล้วล่ะซิ)
หนามฟองน้ำ (spicule) แบบต่างๆ
โครงร่าง (Skeleton) อันงดงามของฟองน้ำ ใช้เป็นลักษณะในการจำแนกชนิดฟองน้ำ
ปัจจุบันทั่วโลกค้นพบฟองน้ำแล้วมากกว่า 7,000 ชนิด ส่วนในประเทศไทยเท่าที่นับๆดูก็ประมาณ 150 ชนิด คาดว่ายังมีอีกมากที่ยังหลงหูหลงตาอยู่ นี่ยังไม่รวมพวกสีตุ่นๆที่อยู่ในน้ำจืดอีก คาดว่าบ้านเราไม่น่าต่ำกว่า 500 ชนิด ในอดีตฟองน้ำเปิดศึกทำสงครามกับปะการังมาอย่างยาวนานเพื่อแย่งชิงพื้นที่บนพื้นทะเล ทั้งสองฝ่ายผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ จนกระทั่งปัจจุบันปะการังดูเหมือนจะชนะและเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตเด่นบริเวณทะเลเขตร้อน ซึ่งพบแนวปะการังอย่างหนาแน่น อีกฟากหนึ่งฟองน้ำยังครอบครองพื้นทะเลในเขตหนาวและสร้างแนวฟองน้ำได้เช่นกัน สงครามแย่งชิงพื้นที่ยังคงดำเนินต่อไป และมีแนวโน้มว่าฟองน้ำกำลังรุกคืบแย่งชิงพื้นที่ในทะเลเขตร้อนคืน จากภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นประกอบกับมลภาวะอีกมากมายจากน้ำมือมนุษย์เริ่มส่งผลให้ปะการังเริ่มฟอกขาว และอ่อนแอลง สัตว์กลุ่มฟองน้ำซึ่งได้เปรียบกว่าทั้งอัตราการเจริญเติบโต และอาวุธเคมีภายในตัว คงกลับมาแข่งขันแย่งพื้นที่คืนในเวลาอันใกล้
มาถึงจุดนี้บางคนอาจมองฟองน้ำเป็นผู้ร้ายในละครทีวี แต่ในทางตรงข้ามกลับไม่ใช่ ทุกระบบนิเวศยังคงดำเนินไปด้วยวิถีแห่งความสมดุล ธรรมชาติเป็นผู้คัดเลือกผู้ชนะให้คงอยู่ ไม่ใช่เรื่องแปลกหากแนวปะการังจะถูกแทนที่ด้วยฟองน้ำหรือสัตว์เกาะติดกลุ่มอื่นหากมันเกิดขึ้นตามธรรมชาติก็ย่อมมีวงจรหมุนเวียนตามกาลเวลา หากแต่มนุษย์อย่างเราๆไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือขัดขวาง เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็ไม่สามารถต้านทานพลังการคัดเลือกของธรรมชาติได้ (แอบนึกถึงเถาวัลย์แก่งกระจาน)
ฟองน้ำไม่ได้มีดีแค่ความสวยงาม สัตว์สีสวยกลุ่มนี้ยังมีความสำคัญมากมายต่อระบบนิเวศ ทั้งการเป็นเครื่องกรองน้ำชีวภาพช่วยลดตะกอนทำให้น้ำใส แสงสามารถส่องลงสู่พื้นทะเลได้มากขึ้น (เห็นมั้ยครับ เค้ายังใจดีแอบช่วยปะการัง) นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดเล็กมากมาย เป็นแหล่งสะสมอาหาร หรือเป็นอาหารโดยตรงแก่สัตว์ทะเลหลายชนิดเช่นเต่ากระ หอยหลากหลายกลุ่ม และหอยกลุ่มทากทะเล พวกเค้าเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเพียงไม่กี่กลุ่มที่ยังคงสืบทอดเผ่าพันธุ์มาได้ถึงปัจจุบัน ในขณะที่สัตว์มีกระดูกสันหลังที่วิวัฒนาการสูงกว่ากลับสูญพันธุ์ไปแล้วนับไม่ถ้วน น่าคิดมั้ยล่ะครับ
ฟองน้ำเป็นแหล่งสะสมตะกอนซึ่งเป็นอาหารแก่ปลิงทะเลหลายชนิด
ปลิงสร้อยไข่มุก (Synaptula sp.) มักพบเกาะกินเศษอาหารที่ติดอยู่บนผิวตัวฟองน้ำ
ปูแต่งตัว Camposcia retusa มักนำฟองน้ำมาติดไว้ตามตัวเพื่อพรางตัวจากผู้ล่า
หนอนทะเลหลายชนิดเจาะอาศัยอยู่ภายในตัวฟองน้ำ
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
บทความอ่านง่ายมากครับ ไม่น่าเชื่อว่าในบ้านเราก็มีฟองน้ำหลายชนิด แต่สีสันสวยงามทั้งนั้นเลยนะครับ เห็น spicules แล้วนึกถึงสมัยเรียนตอนปี 1 ใหม่ๆ เลยครับ ฮาๆ
ความสวยงามของมันได้ลามเข้าสู่ความคิดและความอยากรู้อยากเห็นของผมแล้วครับ
ความเห็นที่ 2
สวยๆ ทั้งนั้นเลยค่ะ ท้องทะเลไทยมีอะไรเต็มไปหมด... ได้ข่าวว่าจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อย่างนี้สิ่งแวดล้อมในทะเลจะเป็นไงบ้างไม่รู้สิ
ความเห็นที่ 3
ขอแฮบภาพกับข้อมูลไปลงโปสเตอร์ในห้องพิพิธภัณฑ์ที่โรงเรียน หน่อยได้มั๊ยครับ (ขอกันเลย อิอิ)
ทางนี้ ผมไปสำรวจพบฟอสซิลตัวนึง ในหินยุคแคมเบรียน ไม่แน่ใจว่า จะเป็นฟองน้ำหรือเปล่า พอมีเมล์ให้ผมบ้างมั๊ยครับ
ครูนก..
ความเห็นที่ 4
ความเห็นที่ 4.1
ความเห็นที่ 4.1.1
ความเห็นที่ 5
สีสันสวยมากเลยค่ะ
ความเห็นที่ 6
ความเห็นที่ 7