จดหมายนี้...ถึงใคร? (หยุด! การค้านกป่า)

เรื่องและภาพ อุเทน ภุมรินทร์

หากหาคนที่ไม่รู้จักนกขุนทอง คงหาได้ยากเต็มที ใครกันล่ะ จะไม่เคยได้ยินเสียงเจื้อยแจ้ว หรือร้องเลียนเสียงคน อย่าง “พ่อจ๋า, แม่จ๋า…” ของมัน พร้อมกระโดดไปมาในกรง ที่หน้าบ้านของใครสักคน คงไม่มีใครที่จะไม่ชอบในความน่ารักน่าเลี้ยงของเจ้าขุนทอง

เช่นกัน หากเราหาคนที่รู้ว่า นกขุนทองเป็นนกป่า คงหาได้ยากเหมือนกัน เมื่อเสียงเจื้อยแจ้วยังเป็นที่ต้องการของใครหลายคน ดังนั้น ภาพนกขุนทองในกรงวางขายในตลาดสัตว์เลี้ยงอย่างจตุจักร พลาซ่า จึงเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดาเสียจนนกเมืองไทยมากกว่าครึ่งของชนิดที่มีอยู่ เคยทยอยมาขาย ณ ที่แห่งนี้ ธรรมดาเสียจนการค้านกป่า ซึ่งผิดกฎหมายนี้ ขายกันเป็นล่ำเป็นสันและเพิ่มจำนวนร้านมากขึ้นเรื่อยๆ ธรรมดาเสียจนคิดว่า ไม่มีอะไรจะหยุดการค้าชีวิตนี้ได้อีกแล้ว

เมื่อความต้องการของผู้เลี้ยงยังไม่เคยหยุด นกในป่า ทั้งนกที่นำมาฝึกเลียนเสียงคนได้ อย่างนกแก้ว นกขุนทอง หรือนกเสียงร้องไพเราะ อย่างนกกางเขนดง นกกระรางคอดำ ฯลฯ นกสีสันสวยงาม อย่างนกปรอด นกเขียวคราม ฯลฯ นกหน้าตาแปลกๆ อย่างนกฮูก ที่มีตาโต มีขนคล้ายหูยาวๆ พวกนี้ ถูกนำมาวางขายอยู่ตลอด

กลางแดดร้อนของวัน นกหลายกรงถูกนำมาวางขาย บางกรงมีนกอยู่ด้วยกันอย่างแออัด นกบางตัวโคนปากถลอกเป็นแผลเกรอะเลือดเพราะบินชนกรงหาทางออก นกหลายตัวอยู่ในสภาพขนหางขนปีกหลุดหลุ่ย มีทั้งลูกนกที่ขนพึ่งขึ้น ตายังไม่ลืมก็ถูกจับเอามาขาย นกอพยพเข้ามาหากินในประเทศไทยช่วงนี้ อย่างนกขมิ้นท้ายทอยดำ และนกเค้าหูยาวเล็ก หลายตัวขังรวมกันอยู่ในกรง ชีวิตนกอพยพพวกนี้ มีไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสได้กลับบ้าน นกฮูกบางตัวนอนหงายหลับพิงกรงราวกับตาย—ด้วยความที่มันเป็นนกหากินกลางคืน ทั้งอีกหลายตัวอยู่ในสภาพที่ ‘ไม่น่ารอด’

เรามองเห็นแต่ความน่ารัก น่าเลี้ยงของนกเหล่านี้ แต่ภาพจริงๆ ของนกในกรง หลายคนมอง ‘ไม่เห็น’ นกหลายกรงตรงหน้านั้น เป็นตัวแทนของอีกหลายชีวิตที่จบลง จากป่ากว่าจะมาถึงยังตลาดจตุจักร มีนกกี่ตัวกัน ที่ตายหรือพิการไประหว่างการดักจับพวกมัน ที่อาจจะใช้ตาข่ายขึงไว้ อาจใช้แร้วหรือบ่วงดัก มีนกกี่ตัวกันที่ตายระหว่างการลักลอบหลบหลีกเจ้าหน้าที่ออกจากป่าอนุรักษ์ อีกกี่ตัวที่อาจตายระหว่างการขนส่ง

จนถึงวันนี้ คงไม่มีใครไม่รู้ว่า หน้าที่ของนกในธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไร นกกินพืชพาลูกไม้ไปปลูกไกลจากต้นแม่ นกกินแมลงคอยควบคุมปริมาณของแมลงในธรรมชาติให้สมดุล นกน้ำคอยควบคุมสัตว์น้ำและพืชน้ำให้พอเหมาะ สิ่งเหล่านี้ เชื่อว่า หลายคนรับรู้ แต่มีไม่น้อยที่ ‘หลงลืม’

ผมเขียนจดหมายนี้ขึ้น ด้วยหวังว่า การค้าชีวิตนกจากธรรมชาติจะหยุดลง แต่ก็สับสน ไม่รู้ว่า ควรจ่าหน้าซองถึงใคร จ่าถึงคนค้านก ถึงคนซื้อ ถึงคนจับนก ถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือใครกัน? ที่จะทำให้การค้านกป่าเหล่านี้หยุดลงจริงๆ เสียที

ท้ายที่สุดแล้ว ผมควรจ่าหน้าซองถึงทุกคน เพราะคำตอบอยู่ที่ทุกคนช่วยกัน ไม่สนับสนุนหรือซื้อมาเลี้ยง เมื่อความต้องการลดลง ปริมาณสินค้าก็น้อยลงเอง หรือเราจะเลือกเอาทางสุดท้าย รอวันที่ไม่มีการค้านกป่า เพราะ นกในป่าไม่เหลือให้เขาจับมาขายอีกต่อไป หรือเราจะรอวันนั้น

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

การค้าขายเหล่านี้คงดำเนินต่อไปตราบเท่าที่ยังมีคนที่ต้องการชีวิตสัตว์เหล่านี้
ไปไว้ในครอบครอง เมื่อมีอุปสงค์ ก็ต้องมีอุปทานมารองรับ sad

ความเห็นที่ 2

ไม่มีทางรณรงค์หรือทำให้ทุกคนเลิกซื้อนกป่าได้หรอก มันอยู่ที่กฏหมาย มีแล้วต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง ของเราทำไม่จริง ไม่ตั้งใจอ่ะ

ความเห็นที่ 3

คนบางคนอยากเห็นความสวยงามของสัตว์ป่าใกล้ๆ
โดยจับเอามาไว้ครอบครอง
แล้วไม่สงสารคนรุ่นหลังหน่อยหรอคะ
หากคุณยังไม่หยุดการกระทำเหล่านี้
แล้วจะมีสิ่งสวยงามที่อยู่ตามธรรมชาติไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูกันไหม?

ความเห็นที่ 4

กฎหมายมีอยู่ก็จริงค่ะ แต่ก็มีช่องว่างอยู่มาก อย่างพวกชื่อวิทยาศาสตร์ต่างๆสัตว์บางชนิดเปลี่ยนชื่อวิทยาศาสตร์ไปแล้ว แต่ตัวบทกฎหมายยังใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ดั้งเดิมอยู่่ค่ะ ซึ่งมันเป็นช่องโหว่และทำให้พวกหัวหมอหาทางเอาตัวรอดได้ค่ะ ถ้าจะให้ทันกับคนเหล่านี้น่าจะต้องมีการแก้ไขตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับสัตว์ป่าขนานใหญ่เลยค่ะ

ความเห็นที่ 5

การจับลูกนกแบบอนุรักษ์น่าจะทำได้ เคยไปสัมผัสหมู่บ้านหนึ่งจับนกขุนทองเป็นอาชีพ โดยทำแบบอนุรักษ์จากภูมิปัญญาที่เขาพบว่านกจะมาออกไข่ในโพรงเดิมทุกปี และเขาจะล้วงเอาลูกนกครอกที่๑ไป แม่นกจะไข่และฟักออกอีกครอกที่๒ เขาจะไม่เอาครอกที่๒ ปล่อยให้แม่นกเลี้ยงจนเป็นนกใหญ่ แต่เจอบ้างคนบอกถ้าลูกนกออกต้นฤดูเขาอาจได้ลูกนกถึง๒ ครอกโดยปล่อยให้แม่นกเลี้ยงครอกที่๓ แต่เจอบ้างที่ใชัวิธีโค่นต้นไม้เพื่อเอาลูกนกก็มี(นานมากแล้ว)ซึ่งเป็นวิธีที่เลวร้ายมากเพราะปีหน้าแม่นกต้องหาโพรงใหม่เพี่อหาที่วางไข่ใหม่และเป็นการทำลายต้นไมัใหญ่ด้วย ถ้าเป็นกรณีแรกคิดว่าน่าจะทำได้ ตราบใดที่ความต้องการของคนในการนำนกป่ามาเลี้ยง แต่ก็ยังไม่เห็นด้วยกับการนำมาขังเลี้ยง เพียงแค่อยากใกล้ชิดกับธรรมชาติ  

ความเห็นที่ 6

ผมคิดว่าถ้าเราเปลี่ยนบทบาทจากการห้าม มาเป็นส่งเสริมจะเป็นไง
เช่น มีการส่งเสริมในเชิงพาณิชย์ เหมือนการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูน หรือ นกหัวจุก
หรือ ปลาอโลวน่า พอเป็นไปได้ไหมครับ

เมื่อเพาะจำหน่ายได้คงไม่ไปบุกรุกจับมาขายอีก อีกทั้งได้อนุรักษ์พันธุ์กรรมของมัน
แต่นกที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาจะสามารถดำรงอยู่ตามวิถีธรรมชาติได้หรือไม่...

ส่วนตัวแล้วชอบเห็นนกอยู่ตามธรรมชาติมากกว่า
นกคงมีความสุขมากกว่าเห็นหน้าเราทุกวันแน่ๆ

ความเห็นที่ 7

ของป่าทุกอย่างมีราคาแพง ทำให้ช้าวบ้านที่อาศัยใกล้ป่า ค้นหาและจับสัตว์ป่าขาย เพราะเขาสามารถทำเงินกับสิ่งนี้ได้ ยิ่งจับผู้ค้ามาก ความต้องการก็จะยิ่งมาก ราคาซื้อขายก็จะแพงตามไปด้วย เช่นลิ้น แถวบ้านถ้าจับมาได้สักตัว เขาจะถามกันแล้วว่ากี่กิโล เพราะโลละ 1,800 ไม่รวมเกล็ด ตัวนึงก็5-6 กิโล อย่างต่ำ จึงเป็นสิ่งกระตุ้นให้ชาวบ้านออกจับสัตว์ป่าขาย เขาหลักพังงาปัจจุบันมีสัตว์ป่าอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีวิธีป้องกัน ชุมชนก็อยู่ติดกับป่า เดินขึ้นเขาไม่ถึงครึ่งวันก็ได้ล่าแล้ว เดินลงมาข้างล้างก็มี แหล่งช็อปปิ้งแหล่งใช้จ่ายเงิน ป่าที่เขาหลัก พังงา มีพระยากระรอก หรือภาพแมว เขาขายกันตัวละ 300-400 บาท ข้าง ชะนี เต่าเหลียง เต่าน้ำผึ่ง แต่ละตัว อายูุกว่า 100 ปี เด็กสามารถนั่งได้ เขาก็ยังกิน สมเสร็จเขาล้มแล้วก็ไม่สามารถกินได้ทั้งหมด เอาลงมาได้แค่บางสวน เพราะน้ำหนักมาก ที่เหลือก็ปล่อยให้เน่าเสียไป อีกไม่นาน ที่นี้ก็คงไม่มีสัตว์ป่าให้ดู สุดท้ายก็ต้องพาไปดูในสวนสัตว์ เสียตังค์ดู ถึงจะมีคุณค่ามั้ง

ความเห็นที่ 8

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ บอกตามตรง คนเฝ้าระวัง ต่อให้ทำงานมากแค่ไหนก็ยังไม่ทันพวก ลักลอบอยู่ดี
เจ้าหน้าที่ก็ทำได้เพียงปลูกจิตสำนึกให้ชาวบ้าน ไม่ส่งเสริมไม่ช่วยเหลือผู้กระทำผิด และคอยระวังกันเองในกลุ่มชาวบ้านด้วย หากพบเห็นการกระทำผิดให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ก็ช่วยได้ส่วนนึงครับ