Female mate choice ทางเลือกของอิสตรี

เพื่อนฝรั่งคนหนึ่งที่มาอยู่เมืองไทยนานพอสมควร ให้ความเห็นว่า คนไทยบ้าเครื่องแบบ เขาพูดขึ้นขณะที่เราเดินผ่านไทยยามคนหนึ่งของห้างสรรพสินค้าดังย่านประทุมวัน “ดูอย่างยามคนนั้น”เขาชี้ไปที่ยามในชุดกางเกงขายาวทรงกระบอก เสื้อแขนยาวปกแข็งรัดรูป มีอุปกรณ์สายระโยงระยางประดับตามตัวและบ่า รองเท้าบู๊ทหนัง พร้อมหมวกรูปร่างประหลาดอีกหนึ่งใบที่วางอยู่บนหัว “แต่งขนาดนั้นเหมือนกับทหารระดับนายพลแล้ว”  เขาพูดกึ่งประชดเล็กๆ อีกไม่นานเราก็เดินผ่านนักเรียนพาณิชย์สาวๆ ๒-๓ คนที่แต่งชุดเสื้อแขนยาวกระโปรงลายสก๊อตสั้นและถุงเท้ายาวเกือบถึงเข่า และปิดท้ายด้วยแขกยามโบกรถหน้าร้านอาหารจีนในชุดราชประแตน และใส่สายสะพายราวกับนางงามจักรวาล

พูดจริงๆ ผมก็อึดอัดกับเครื่องแบบของคนเราเหมือนกัน ยกตัวอย่างง่ายๆที่แขวนคออยู่ก็คือการ ผูกเน็คไท ซึ่งผมว่ามันเป็นส่วนเกินของชีวิต และไม่ได้ช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้นแต่อย่างใด จริงๆแล้ว ไทยยามควรจะอยู่ในชุดกางเกงขาสั้นและเสื้อยืด รองเท้าผ้าใบกับหมวกปีกกว้างๆ เพื่อที่จะทำงานได้ในสภาพอากาศที่ร้อนและวิ่งเคลื่อนไหวได้สะดวกในกรณีที่ต้องไล่จับโจร แต่ไทยยามกลับต้องมาใส่ชุดรัดรูป เสื้อหนาที่ทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก ร้อน และแพงกว่าที่ควรจะเป็น

แต่ถามว่าทำไม ไทยยามจึงต้องแต่งหล่อขนาดนั้น ก็คงเป็นเพราะว่าแต่งยิ่งหล่อมันก็ยิ่งดูดี บริษัทไหนมีเครื่องแบบดูหรูหราภูมิฐาน ก็คงจะได้รับเลือกจากห้างร้านใหญ่ๆให้มาช่วยดูแล และคิดราคาได้แพงขึ้นเท่านั้น ถามว่าถ้าเป็นเช่นนั้น เครื่องแบบของไทยยามจะยิ่งวิริศมาหรา ขึ้นเรื่อยๆหรือเปล่า? ก็คงเป็นแบบนั้น แต่ถามว่ามันจะมีจุดสิ้นสุดไหม?  ก็คงมี เมื่อชุดที่ว่ามันรุ่มร่ามเกะกะและร้อนจนไทยยามทำงานไม่ได้ หรือราคาที่ต้องซื้อชุดสักชุดมันแพงจนทั้งบริษัทและยามไม่สามารถแบกรับไว้ได้มันก็ต้องหยุดหล่อกันบ้าง

ผมจั่วหัวว่าจะเขียนเรื่อง Female mate choice แต่ไปเริ่มเรื่องยาม ว่าผู้อ่านคงจะไม่คิดว่าผมนอกเรื่องเพราะ ชุดที่หล่อเกินไปของไทยยาม คงจะพอเทียบได้กับ หางของนกยูงตัวผู้ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่คลาสสิคที่สุดของทฤษฏี Female mate choice ซึ่งระบุไว้คร่าวๆว่า การเลือกคู่ของเพศเมีย ทำให้สัตว์เพศผู้ต้องพยายามที่จะทำให้ตัวเองถูกเลือกมากที่สุด โดยการมีอะไรที่โดดเด่นกว่าเพศผู้ตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ขนหรืออวัยวะอะไรสักอย่างที่ยาว สีที่สวย หรือ เพลงที่เพราะ ซึ่งในบางครั้งอวัยวะที่ว่านั้นไม่ได้มีประโยชน์ในด้านอื่นๆของชีวิตเลย หรืออาจจะเป็นโทษด้วยซ้ำ แต่ตัวผู้ก็วิวัฒนาการมันขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองได้รับการเลือก และเมื่อตัวเมียเลือกมีลูกกับตัวผู้ที่มีลักษณะโดดเด่นดังกล่าวแล้ว ลูกตัวผู้ที่ออกมาก็จะมีลักษณะเหมือนพ่อ ลูกตัวเมียที่ออกมาก็จะชอบเหมือนแม่  มันก็จะสืบทอดกันไปเรื่อยๆ ลักษณะเด่นที่ว่าก็จะยิ่งถูกคัดให้เด่นขึ้นเรื่อยๆ  ตัวผู้จะยิ่งแข่งกันให้มีลักษณะเด่นที่ว่า ตัวเมียก็จะยิ่งเลือกให้มันเด่นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่สิ้นสุดมันก็คงคล้ายๆกับกรณีของไทยยามคือ จะเลิกเด่นขึ้น ก็ต่อเมื่อลักษณะที่ว่ามันเริ่มที่จะเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตมากเกินไป เช่นปลาเพศผู้ที่มีสีสันโดดเด่นเกินไปก็จะถูกสัตว์ผู้ล่าเห็นได้ง่ายขึ้น หรือนกยูงที่หางยาวไปก็จะเชื่องช้าและถูกสัตว์ผู้ล่าจับได้ง่ายขึ้น หรือต้องหาอาหารมากขึ้นเพื่อจะเอามาบำรุงหางทำให้ไม่แข็งแรง เมื่อนั่น แรงกดดันจากการถูกล่า (Predation pressure) และ ความต้องการที่ไม่พอเพียงอื่นๆ ก็จะกดไว้ไม่ให้สัตว์เพศผู้มีลักษณะเลยเถิดจนเกินไปนัก

 

ลองดูตัวอย่างของนกยูง หางที่ยาวรุ่มร่ามหรือสีสะท้อนแสงสดใสของนกยูงตัวผู้ ถามว่าได้ช่วยอะไรในการดำรงชีพของมันหรือไม่?  ก็ไม่ หางที่ยาวสวย สีทีจัดจ้านของนกยูงเพศผู้มีไว้ใช้จริงๆอย่างเดียว คือเอาไว้จีบสาว เรื่องของ Female mate choiceนี้เท่าที่ผมทราบมีทฤษฏีหลักๆอยู่ด้วยกัน ๓ ทฤษฏี ซึ่งทั้ง ๓ ทฤษฏี ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดนั้น มีเป้าหมายหลักในชีวิตเป็นข้อใหญ่อยู่ข้อเดียวคือ ความคงอยู่ของพันธุกรรม(Gene) ของตนเอง ดังนั้นสิ่งมีชีวิตจะพยายามเลือกทางที่จะทำให้พันธุกรรมของตนมีโอกาสที่จะอยู่รอดมากที่สุด ซึ่งก็คือ

  1. พ่อแข็งแรงลูกแข็งแรงทฤษฏีแรกนี้ ผมจำชื่อภาษาอังกฤษของมันไม่ได้ครับ เอาเป็นว่า สัตว์เพศผู้ที่สามารถ มีขนสวย สีสวย เต้นเก่งหรือร้องเพลงเพราะ  นั้นบอกได้อ้อมๆว่าตัวผู้ตัวนั้นต้องมีสุขภาพแข็งแรง หาอาหารเก่ง มีแหล่งอาศัยที่ดี ดังนั้นถ้าเลือกตัวนี้ โอกาสที่ลูกออกมาจะมีสุขภาพแข็งแรง เลี้ยงรอดได้จนโตก็จะมีสูง ดังนั้นเมื่อตัวเมียเริ่มเลือกส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งที่สัตว์เพศผู้แสดงออกมา เป็นจุดสังเกตว่าเพศผู้ตัวนั้นแข็งแรง เพศผู้ก็จะยิ่งพยายามที่จะโชว์ไอ้ส่วนนั้นออกมาให้เห็นเด่นชัดที่สุด
  2. พ่อหล่อลูกก็หล่อ(Sexy son theory) ทฤษฏีนี้ ว่าไว้ว่า พ่อที่หล่อ ก็มีแนวโน้มสูงที่จะมีลูกที่หล่อ ลูกที่หล่อก็มีแนวโน้มสูงที่เพศเมียจะเลือกไปเป็นพ่อของลูกมากยิ่งขึ้น และยีนของแม่ที่เลือกพ่อหล่อก็จะถูกส่งผ่านต่อไปไม่มีสิ้นสุด
  3. เพศเมียยิ่งฉลาดเพศผู้ก็ยิ่งต้องหลอกลวง(Sexual conflict) ทฤษฏีนี้ ค่อนข้างจะคิดมากกว่าทฤษฏีอื่น เพราะเชื่อว่า การที่ตัวผู้มีอะไรต่อมิอะไรมากเกินไปนั้น ไม่น่าจะเป็นผลดีกับตัวเองเลย และลูกที่ออกมามีหางยาวเกินไป สีสวยเกินไป น่าจะมีโอกาสอยู่รอดน้อยกว่าลูกเพศผู้ที่มีอะไรต่อมิอะไรเป็นปกติ ดังนั้นเพศเมียจะพยายามต่อต้านไอ้ลักษณะประหลาดๆพวกนี้ ซึ่งทำให้ตัวผู้ยิ่งต้องทำให้ตัวให้เด่นเข้าไปอีกให้ตัวเมียเชื่อให้ได้ ลองนึกภาพ ชายหนุ่มรูปหล่อ แต่งตัวดี ขี่รถสปอร์ทแพงระยับ ถามว่าสิ่งพวกนี้แสดงว่าเขาจะเป็นพ่อที่ดีของลูกคุณหรือ?  ก็เปล่า ถ้าผู้หญิงหลายๆคนฉลาดพอที่จะรู้ว่าสิ่งพวกนี้ไม่ได้ทำให้คนๆนี้เป็นพ่อที่ดี เขาก็จะยิ่งต้องทำให้มันเว้อร์ยิ่งขึ้น มีรถแพงยิ่งขึ้น แต่งตัวดียิ่งขึ้น เพื่อหลอกผู้หญิงให้ได้ เหมือนกับสัตว์เพศผู้ที่ต้องพยายามทำให้เด่นขึ้นๆ แข่งขันกันจนบางครั้งมันดูแปลกเอามากๆ

เดือนธันวาคม พ.ศ.2550 กรมตำรวจ ประกาศการใช้เครื่องแบบรุ่นใหม่ของตำรวจไทย จากเสื้อสีกากีรัดรูปแขนยาว กางเกงฟิตเปรี๊ยะ เป็นเสื้อแขนสั้นหลวมๆสบายๆ พร้อมผ้าที่บางขึ้น กางเกงที่หลวมขึ้น เพื่อให้ตำรวจไทยทำงานได้สะดวกขึ้น และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยมากขึ้น

เขียนบทความนี้จากการโดนสะกิดใจแว๊บหนึ่งโดยเพื่อนฝรั่ง ไม่มีเจตนาใดแอบแฝงหรือประชดใคร  ถึงแม้ว่าอาจจะดีสำหรับสาวๆ ที่ได้อ่านก็ตาม

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

สำหรับมนุษย์ ทั้งชายและหญิง ต่างหลอกลวงให้น่าผสมพันธุ์มากขึ้นทั้งคู่เลยนี่ครับ

เพศผู้ ให้ดูรวย ให้ดูแข็งแรง-หล่อ ฯลฯ

เพศหญิง แต่งแต้มปาก ใบหน้า ให้สะดุดตาและดูสุขภาพดี สมบูรณ์ ฯลฯ

ความเห็นที่ 2

เมื่อวันคุยกับ paphmania อยู่เหมือนกัน ว่าทฤษฏีทางพฤติกรรมของสัตว์หลายๆอย่างใช้กับคนไม่ได้ เพราะเรามันใช้เหตุใช้ผลในการเลือกคู่มากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ดี พื้นฐานก็ยังไม่หนีกันเท่าไหร่

ความเห็นที่ 3

ตัวหนังสือมันเล็ก และติดกันมากไป พยายามที่จะอ่านแล้วนะแต่ไม่ไหว สายตาสู้ไม่ไหว อ่านไปก็ต้องทำไฮไลท์ส่วนที่อ่านไปเรื่อยๆ จนตาลาย เมื่อไหร่จะทำ default font ให้มันใหญ่กว่านี้

มีใครประสบปัญหาเหมือนผมไหม?

ความเห็นที่ 3.1

ตัวหนังสือเล็กไปจริงๆแหละครับ

ขนาดผมยังไม่แก่นะนี้ เหอๆ

-----------------------------------------------

 

แล้วอย่างปลากัด หรือสัตว์อื่นๆ ที่มนุษย์เป็นคนจับคู่ให้มัน

คือตัวตัวเมียก็ไม่ได้เลือกคู่เอง แต่ทำไมมันสมยอม  

น่าคิดนะนี่      

ขอบคุณครับ

ความเห็นที่ 4

 

อย่างผมก็ไม่ชอบแต่งตัวหรูหราเลิศเลอนะครับ แต่จะให้สรุปว่าผมไม่อยากสืบพันธุ์มีลูกหลานก็ไม่น่าจะใช่นะ หุหุ

ความเห็นที่ 5

พวกที่ถูกจับมาเข้าคู่ ตัวเมียไม่มี Choice ครับ...เลยจำใจเลือก

แต่สัตว์บางชนิดก็มีข้อยกเว้น เช่น ชะนี หรือเสือลายเมฆ ฯลฯ ต่อให้จับมาบังคับคู่ ถ้ามันทั้งคู่(หรือฝ่ายนึงฝ่ายใด) ไม่ถูกใจเลย มันก็จะไม่ผสมพันธุ์ครับ เคยได้ยินจาก จนท.ที่เขาเขียวเล่าให้ฟัง

หรือกรณี ไก่บ้าน(ไก่ชน) บ่อยครั้งที่เราจะเห็นการไล่ปี้เอาดื้อๆ แบบข่มขืน จากตัวผู้ โดยไม่มีการเกี้ยว...มักพบในไก่ตัวผู้ที่ไม่ใช่จ่าฝูงครับ เพราะพวกมันไม่มีเวลาพอที่จะรอให้ตัวเมียพร้อม เลยต้องรีบสำเร็จความใคร่ ก่อนที่ตัวจ่าฝูงจะมาเจอ(แล้วไล่เตะมันออกไป)

ความเห็นที่ 6

เพศเมียยิ่งฉลาดเพศผู้ก็ยิ่งต้องหลอกลวง(Sexual conflict)

http://www.onopen.com/2006/02/728

ลิงค์นี้เข้าข่ายนิดๆครับ 555  (โดยเฉพาะเรื่องกิ้งก่าเป่ายิ้งฉุบ)

ต่างกันตรงที่ มันเป็นการหลอกลวง(และแข่งขัน) ระหว่างตัวผู้ด้วยกัน...

เพิ่มเติมครับ > แม้แต่ความแข็งแกร่ง หรือขนาดร่างกายของสัตว์ผู้ล่า ที่ไม่ค่อยมีศัตรูธรรมชาติ  ก็หนีไม่พ้นทฤษฎีแรงกดดันจากธรรมชาติ เช่น สิงโตที่ตัวใหญ่มากๆ จะได้เปรียบตัวอื่นๆในการต่อสู้หรือครอบครองฝูง แต่ถ้ามันใหญ่เกินไป จะก่อปัญหาทางอ้อมในด้าน ความเพียงพอของอาหาร...หากตัวเมียจะต้องสิ้นเปลืองอาหารไปกับจ่าฝูงที่ตัวโตและต้องการเหยื่อมากกว่าปกติ พวกลูกๆก็มีโอกาสอดตายได้มาก กลายเป็นว่าพันธุกรรมแบบนี้เกิดปัญหาในการสืบทอด

ความเห็นที่ 7

ขอบคุณสำหรับทุกความคิดเห็นครับ บทความสั้นๆแบบนี้ เป็นเหมือนแค่ประกายไฟ ไม่สามารถก่อให้เกิดความสว่างอันใดได้ ไม่อยากให้อ่านเฉยๆ แต่ถ้าคิดตามแล้วคิดต่อ ศึกษาให้ลึกขึ้น จะเกิดประโยชน์อีกมากมาย เกิดเป็นกองไฟสว่างขึ้นมาได้ครับครับ
 

ความเห็นที่ 8

ในนกยูงอาจอธิบายได้ไม่ยาก ถึงความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของหาง ว่ามันคือ ความแข็งแกร่ง+ความสง่างาม (ตัวที่มีหางยาวมากแล้วยังอุตส่าห์เอาตัวรอดจากศัตรูได้ แสดงว่าเทพมากๆ)

แต่ในนกเบาเออร์นี่สิ หาความสัมพันธ์ยากจริงๆ  นกตัวผู้แค่สร้างซุ้มไว้โชว์เฉยๆ ไม่ได้เอาไว้เป็นรัง แต่อ้ายซุ้มประหลาดๆนี่กลับเป็นจุดหลักที่ดึงดูดนกตัวเมีย หรือมันจะมีรสนิยมเชิงศิลปะแบบมนุษย์?

(แต่นกพวกนี้มีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลียและนิวกินี ซึ่งมีศัตรูน้อยกว่าบนแผ่นดินใหญ่ จึงเป็นไปได้ว่าปัจจัยนี้ทำให้มันมีช่องว่างมากพอที่จะสรรค์สร้างพฤติกรรมที่ดูฟุ่มเฟือยได้)

http://blogs.sundaymercury.net/weirdscience/satin_bowerbird_courtship.jpg

ความเห็นที่ 9

"การคัดเลือกทางเพศ อาจเรียกได้ว่าเป็นกลไกย่อยหนึ่งของการคัดเลือกตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกทางเพศก็มีข้อแตกต่างที่น่าสนใจอยู่บ้างเหมือนกัน
...การคัดเลือกตามธรรมชาติที่ดำเนินไปนานพอ ผลที่ได้มักจะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ หมายความว่าดีเพียงพอต่อการใช้งานและยังประหยัดด้วย ตัวอย่างเช่น สมมติมีหมาป่าอยู่สองตัว ตัวที่หนึ่งวิ่งได้เร็วมากถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หมาป่าอีกตัววิ่งได้ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่การที่จะจับกระต่ายกินได้ หมาป่าวิ่งแค่ 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็เพียงพอแล้ว การที่หมาป่าตัวที่หนึ่งวิ่งได้เร็วกว่าอาจเป็นเพราะกล้ามเนื้อมันใหญ่กว่า แข็งแรงกว่า แต่กล้ามเนื้อที่แข็งแรงกว่านี้ก็ต้องการเชื้อเพลิงที่มากกว่า เหมือนเครื่องยนต์ของรถที่แรงกว่าใหญ่กว่าก็จะกินน้ำมันมากกว่าแม้ว่าจะวิ่งระยะทางเท่ากัน ดังนั้นหมาป่าที่วิ่งเร็วกว่าก็ต้องกินอาหารมากกว่าจึงจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ในแต่ละวัน หมาป่าตัวที่วิ่งช้ากว่าเมื่อไม่ต้องกินมากเท่า มันก็เอาเวลาว่างจากการหากินไปผสมพันธุ์ มันกินอาหารน้อยกว่ามันจึงแบ่งอาหารให้ลูกกินได้มากกว่า ส่วนหมาป่าที่วิ่งเร็วกว่าต้องเสียเวลาำไปในการหากินมากกว่าทำให้มีเวลาไปผสมพันธุ์น้อยลง หรือเลวร้ายกว่านั้นอาหารที่หามาได้มีไม่พอที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่ใหญ่โต ทำให้อดตาย โอกาสที่มันจะมีลูกก็น้อยลงหรืออาจไม่มีเลย ดังนั้นจะเห็นว่าการที่วิ่งได้เร็วกว่าในสิ่งแวดล้อมนี้ไม่ใช่สิ่งที่ได้เปรียบ แต่กลับกลายเป็นการฟุ่มเฟือยที่ไม่ได้ประโยชน์แล้วยังทำให้เสียเปรียบหมาป่าที่วิ่งได้ช้ากว่าด้วย
...ในทางตรงกันข้าม การคัดเลือกทางเพศมักได้ลักษณะที่ฟุ่มเฟือย โอ่อ่า เกินความจำเป็น เช่น นกยูงตัวผู้ยิ่งหางใหญ่ หรือมีรูปกลมๆคล้ายตาบนหางยิ่งเยอะ นกยูงสาวๆก็ยิ่งชอบ นกยูงที่หางใหญ่กว่าก็จะมีลูกมากกว่า รุ่นลูกจึงมีแต่นกยูงที่หางใหญ่ๆ ตัวเมียก็ยังคงเลือกหางที่ใหญ่ในกลุ่มหางใหญ่ด้วยกัน รุ่นหลานจึงมีหางที่ใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก ลักษณะที่ฟุ่มเฟือยมากขึ้นเรื่อยๆนี้มีชื่อเรียกว่า Fisherian runaway (runaway ในที่นี้หมายถึง ฟุ่มเฟือยจนเตลิดเปิดเปิง ฉุดไว้ไม่อยู่ ส่วน Fisher มาจากชื่อของคนที่อธิบายปรากฏการณ์นี้) แต่คำถามคือ ถ้าเช่นนั้นหางนกยูงจะใหญ่ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุดหรือไม่? แน่นอนคำตอบคือไม่ เพราะทุกอย่างในธรรมชาติต้องมีความพอดี ของดีที่มากไปจะกลายเป็นของไม่ดีเสมอ
...หางของนกตัวผู้จะใหญ่หรือไม่ขึ้นกับฮอร์โมนเพศชาย ถ้าฮอร์โมนมากหางมันก็มีแนวโน้มจะใหญ่โต แต่หางของนกยูงไม่มีประโยชน์อะไรเลยในการหากินหรือสืบพันธุ์ มันมีไว้อวดเพศตรงข้ามอย่างเดียว นอกไปจากนี้ หางที่ใหญ่เกินไปยังทำให้มันถูกเห็นจากผู้ล่าอย่างเช่นเสือได้ง่าย เลวร้ายไปกว่านั้น หางที่ใหญ่ของมันยังรบกวนการหนี การบิน และการซ่อนตัวของมัน ทำให้โอกาสตายของมันเพิ่มขึ้น หางนกยูงสามารถที่จะใหญ่ขึ้นไปได้เรื่อยๆ ตราบใดก็ตามที่หางใหญ่ยังเพิ่มโอกาสสืบพันธุ์มากกว่าโอกาสตาย หรืออาจพูดได้ว่าตราบใดที่ประโยชน์ในการส่งต่อพันธุกรรมยังมากกว่าโทษ ลักษณะเช่นนี้ก็ยังถูกคัดเลือกต่อไปได้"

*จากหนังสือ เรื่องเล่าจากร่างกาย ของ นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา หน้า 67 ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2554*