Population Boom ประชากรเกินพอดี

จู่ๆ มดตัวเล็กๆ ก็โผล่มาทุกหนทุกแห่งในบ้านของผม เผลอวางขนมไว้เพียงไม่กี่นาที กลับมาอีกครั้งก็จะมีมดพวกนี้เกาะกันอยู่เต็มไปหมด มดชนิดนี้ไม่กัด แต่ถ้าไปบี้มันแล้วจะมีกลิ่นเหม็นๆหวานๆที่ผมไม่ชอบเอาเสียเลย เคยเผลอกินเข้าไปครั้งหนึ่งก็รีบวิ่งไปคายแทบไม่ทัน ไม่ต้องห่วงถึงลูกสาวจอมซนที่กลัวถูกมดกัด เจอที่ไหนก็โวยวายให้พ่อไปจัดการเสียทุกครั้งไป ขณะที่นั่งรำคาญและหาวิธีปราบมดพวกนี้ ผมก็เปิดทีวีดูไปด้วย “วันนี้ที่จังหวัด...ฝูงแมลงปีกแข็งสีดำนับล้านตัว ปรากฏตัวขึ้น ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านร้องขอให้ทางราชการเร่งเข้าช่วยเหลือโดยด่วน”  เป็นข่าวในทีวีของวันนั้น จำได้ว่าเมื่อเดือนที่แล้วก็มีข่าวกองทัพตะเข็บบุกหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งทางภาคเหนือตอนล่าง และ แมลงตัวสีแดงๆดำๆที่เรียกว่าด้วงน้ำมันก็โผล่ขึ้นมากมายที่หมู่บ้านอีกแห่ง จนชาวบ้านที่รำคาญจับไปกินท้องเสียท้องร่วงกันไปตามๆกัน เมื่อช่วงต้นปี

การที่สิ่งมีชีวิตสักชนิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างผิดปกติในช่วงเวลาหนึ่งนั้น ฝรั่งมีศัพท์เทคนิคเรียกว่า Population boom ในภาษาไทยผมหาคำตรงๆไม่ได้จึงขอทับศัพท์สั้นๆว่า“บูม”มันตรงๆไปก่อน การบูมนี่ไม่ใช่เรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นบ่อยๆ และเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตบางกลุ่มเท่านั้น อย่างเช่น แมลง หรือ หนูนั้น มีการบูม แต่สัตว์ อย่างวาฬหรือเสือไม่เคยปรากฏว่าบูม และการบูมก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ปกติ มันจะเกิดขึ้นในที่ใดที่หนึ่ง ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ที่เกิดปัจจัยที่เหมาะสมเหลือเกินสำหรับสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจจะเป็นอาหาร สภาพอากาศ การที่สัตว์ผู้ล่าของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ หายไปจากระบบนิเวศ หรือ เด็กหญิงวัยสองขวบครึ่งซนๆที่กินขนมหกเลอะไปทั่วบ้าน หลายคนอาจจะนึกว่าการบูมต้องเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆเท่านั้น แต่จริงๆแล้วการบูมอาจจะเกิดขึ้นในช่วงสั้นบ้างยาวบ้างแล้วแต่ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรที่มันใช้ แต่ในที่สุดแล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมาก็คือการล่มสลายของประชากรเนื่องประชากรที่มากเกินไป ใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างไม่บันยะบันยัง

ปัญหาของการบูมคือ ความจำกัดของทรัพยากรในพื้นที่นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ตั๊กแตนกินใบไม้ ถ้าเกิดบูมขึ้นมา ฝูงตั๊กแตนนับล้านจะบุกตะลุยกินอาหารอย่างเดียวกัน แย่งชิงทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดในพื้นที่เดียวกัน จนหมดไปจากพื้นที่ จากนั้นทั้งฝูงก็จะตะลุยอพยพย้ายที่ไปเรื่อยๆ กินทุกอย่าง และใช้ทรัพยากรจนเหลือน้อยเกินกว่าที่จะรองรับประชากรของมันได้ ถูก ที่ใบไม้อาจจะงอกใหม่ได้หลังจากถูกกินไป หรือตั๊กแตนอาจจะย้ายถิ่นกินไปเรื่อยๆ แต่ถ้าตั๊กแตนมีมากเกินไป ในที่สุดแล้วทรัพยากรเหล่านั้นก็จะเกิดไม่ทันกับการบริโภคและประชากรของตั๊กแตนก็จะลดลงอย่างฮวบฮาบ นี่คือเหตุผลว่าทำไมในระบบนิเวศถึงมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิด เพราะความหลากหลายเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ระบบสมดุลย์

การบูมของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ก่อให้เกิดปัญหากับมนุษย์เป็นอย่างมาก อย่างเช่น แมลงปีกแข็งที่บุกวัดและบ้านชาวบ้าน ตั๊กแตนหรือหนูที่บุกกินพืชเกษตรจนเสียหาย หรือแม้แต่แมลงที่เป็นภาหะนำโรค เช่น ยุงร้าย นักวิทยาศาสตร์สังเกตว่าในช่วงปีหลังๆที่ผ่านมา มีรายงานการบูมของสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นถี่ขึ้น และได้เชื่อมโยงปรากฏการณ์ดังกล่าวเข้ากับภาวะโลกร้อน โดยให้เหตุผลว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้แมลงมีอัตราการเผาผลาญพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้มันโตเร็วขึ้น ถึงวัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้น และผสมพันธุ์โดยมีวงจรชีวิตสั้นลง

นักวิทยาศาสตร์แบ่งลักษณะการขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตออกกว้างๆเป็นสองแบบ แบบแรกเรียกว่า K selection นั้นเป็นลักษณะของสัตว์ที่ออกลูกคราวละน้อยๆ แต่อัตราการรอดของลูกสูง สัตว์กลุ่มนี้ เช่น ช้าง และ ควาย ซึ่งตกลูกทีละหนึ่งหรือสองตัวเท่านั้น เป็นต้น ส่วนสัตว์อีกกลุ่มเรียกว่า R selection สัตว์ในกลุ่มนี้มีลูกมาก แต่อัตราการรอดต่ำ ส่วนใหญ่ พ่อแม่จะไม่เลี้ยงดูลูก แต่จะปล่อยให้เกิดและโตไปตามมีตามเกิด ยกตัวอย่างเช่น ปลา และแมลงที่มีไข่คราวละมากๆ บางชนิดเป็นแสนเป็นล้านฟอง อ่านมาถึงตรงนี้คงพอจะเดาได้ว่าสัตว์กลุ่มที่จะเกิดการบูมได้มากกว่าจะเป็นกลุ่ม R selection เพราะหากปีใด หรือสถานที่ใดมีความเหมาะสมมากๆ ลูกก็จะรอดเป็นจำนวนมากกว่าปกติจนอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้

แต่ทุกอย่างในโลกนี้มีข้อยกเว้น มีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง มีระบบการสืบพันธุ์แบบ K selection สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ มีระยะเวลากว่าจะพร้อมผสมพันธุ์ได้เป็นสิบปีและออกลูกทีละตัวหรือสองตัวเท่านั้น พวกมันค่อยๆเพิ่มจำนวนมากขึ้น หลังจากที่โลกเริ่มอุ่นขึ้นหลังจากยุคน้ำแข็งเมื่อแสนกว่าปีที่ผ่านมา สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ใช้ทรัพยากรในถิ่นอาศัยอย่างสิ้นเปลือง และได้อพยพย้ายถิ่นไปทั่วโลก กระจายกำลังกันใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดของโลกอย่างมือเติบ และจำนวนประชากรของมันก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าเป็นไปตามทฤษฏี การบูมจะมีจุดสิ้นสุดลง เมื่อทรัพยากรหมดไป หรือสภาพแวดล้อมเริ่มไม่เหมาะสมกับการดำรงค์ชีพของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ อาจจะเป็นแค่ไม่กี่อาทิตย์ ไม่กี่เดือน หรืออาจจะเป็นแสนปี แต่การบูมจะต้องสิ้นสุดลง และสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นก็จะหมดไปหรือลดลงอย่างมากในที่สุด ถ้ามันยังไม่เลิกที่จะใช้ทรัพยากรอย่างไม่บันยะบันยังแบบที่เป็นอยู่ ตั๊กแตน หรือ มดเหม็นอาจจะคิดไม่ได้ แต่ผมยังหวังว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้จะคิดได้ และยังไม่สายเกินไปที่จะคิด

ถ้ายังนึกไม่ออกว่าผมเขียนถึงตัวอะไร ลองไปดูในกระจกสิครับ

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

 

ช้างแคระทางภาคใต้ที่สูญพันธุ์ไปแล้วมีต้นกำเนิดจากสาเหตุเดียวกันนี้รึเปล่าครับ

ความเห็นที่ 2

ช้างแคระ ???   น่าจะเกิดจากเสียถิ่นอาศัยหรือเปล่าครับ

หรือเพราะว่า คน (แบบ K selection ) มันบูม ขยายพื้นที่ สวนไร่นา จนช้างแคระสูญพันธุ์

 

ใครมีรูปช้างแคระบ้างครับ เอามาอวดหน่อย

ความเห็นที่ 3

นอกเหนือจากคนแล้ว...พวก K selection ที่มีรายงานการเพิ่มจำนวนจนเกินสมดุลย์ ก็เห็นจะเป็นกวางเอลค์ในอเมริกาเหนือ(เคยดูจาก National Geographic)

ในช่วงหนึ่งที่หมาป่าสีเทาเคยอยู่ในสภาพเกือบสูญพันธุ์จากสหรัฐอเมริกา กวางเอลค์ซึ่งเป็นเหยื่อหลักชนิดหนึ่งค่อยๆทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่ได้มากจนถึงกับล้นป่า(เพราะมีการอนุญาติให้นายพรานเข้าไปล่าบ้าง) แต่ก็ก่อผลต่อสภาพป่าพอสมควร เช่น หญ้าริมฝั่งคลองถูกกินจนตลิ่งพัง ต้นสนอ่อนๆไม่เหลือให้เติบโตเพราะถูกกวางกินหมด ควายป่าไบสันมีจำนวนลดลงเพราะถูกกวางแย่งกินอาหาร...เพราะผู้ล่าอื่นๆอย่างหมี แมวป่าLynx หรือจิ้งจอกโคโยตี้ ไม่ได้เป็นผู้ล่าที่มีประสิทธิภาพนักเมื่อเทียบกับเกรย์วูล์ฟ