สุขสันต์กับสรรพสัตว์ ที่ป่าแก่งกระจาน

  เรื่อง:อุเทน  ภุมรินทร์ ภาพ: กุลพัฒน์ ศรลัมภ์, รตอ.กิตติญาณ สัมพันธารักษ์ 

 ‘ความสุข สร้างได้’ เสียงใครคนหนึ่งแผ่วดังแวบเข้ามาในความคิด พร้อมๆ กับสายลมเย็นแห่งรัตติกาลแทรกผ่านเปลนอนของผมอีกครั้ง นอกจากเสียงคุยกันคิกคักของกลุ่มนักศึกษาสาวๆ ที่มาค่ายฯ จากม.วลัยลักษณ์ ซึ่งลุกออกจากเต็นท์มาเข้าห้องน้ำกัน แต่หัวรุ่งแล้ว ก็คล้ายจะได้ยินเสียง ‘ดวงดาวกระเซ้าหยอกพระจันทร์’ ไม่เกินจริงหรือโอเว่อร์ไปหรอก ถ้าหากพระจันทร์ และดวงดาวพูดได้ เนื่องด้วยฉากสีดำของท้องฟ้ากว้างในขณะนี้ระยิบระยับไปด้วยทะเลดาวที่โอบกอดดวงจันทร์นวลใสไว้ตรงกลาง

“ดาว เต็มท้องฟ้าเลย Boss” ยังไม่ทันจะเคลิ้มไปมากกว่านี้ เสียงเจ้า ‘เปิ้ล’ เพื่อนหญิง 1ใน 2 คนที่มาด้วยกันเอ่ยบอกผม นัยบอกให้รู้ว่า “กำลังจ้องมองทะเลดาวนี้อยู่เหมือนๆ  กัน” “หุงข้าว ต้มกาแฟ ทำอะไรกินกันดีกว่า” พอตื่นขึ้นมาแล้วหาเรื่องกินเลยนั้น เป็นเสียง ‘บอล’ เพื่อนชายอีกคนจากทั้งหมด 3 คน ถ้ารวมผมเข้าไปด้วย

หลังอาหารมื้อเช้าลวกๆ (ลวกจริงๆ เพราะเป็นมาม่า) เริ่มเรียงเส้นดีแล้ว เราหมดเวลาไปกับ ‘กระเล็น’ สัตว์จำพวกกระรอกที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาสัตว์กลุ่มนี้ ซึ่ง กำลังง่วนกับอาหารเช้าบนต้นอินทรชิต เป็นเมล็ดของต้นนี้นั่นเอง อากัปกิริยาไต่ขึ้นไต่ลงหากินบวกกับขนาดตัวที่เล็กประมาณว่าให้มันไต่เล่นบนมือได้อย่างสบาย ทำให้เราหลงรักในความน่ารักของมันได้ไม่ยาก นอกจากเมล็ดไม้ที่เป็นอาหารอย่างตอนนี้ อาหารการกินของเจ้าตัวเล็กยังมีแมลง ผลไม้ และใบพืชรวมเข้าไปด้วย

หากจะถามว่า มันต่างกันอย่างไรกับกระรอกทั่วๆ  ไป ? จำง่ายๆ  ครับ ‘กระเล็น’ คือกระรอกขนาดเล็กที่มีลายแตงไทบนหลัง เป็นลายแถบสีเหลืองสลับกับแถบสีดำขนานยาวไปตลอดกับลำตัว ขนลำตัวออกสีน้ำตาลเทา ตัวที่เราจ้องมองอยู่ในขณะนี้ ชื่อเต็มๆ ของมัน คือ ‘กระเล็นขนปลายหูสั้น’ อย่าพึ่งนึกว่า ผมไปจับมันวัดถึงได้รู้ว่าขนหูสั้นหรือยาว แต่ด้วยเขตการกระจายบอกไว้อย่างนั้น เจ้าตัวนี้พบได้ในป่าแถบนี้ ไล่ขึ้นไปแถบป่าตะวันตก และป่าในภาคเหนือ เออ! เราพักเรื่องเจ้ากระเล็นไว้แค่นี้ก่อนไหมครับ เดี๋ยวจะไม่ได้พูดถึงผองเพื่อนตัวอื่นๆ  ของมันในป่าแห่งนี้กันพอดี

ไอเย็นจากแนวป่าพัดโต้กระทบพวกเราตามแรงเร็วที่รถกระบะโฟร์วีลของพี่จากกองทุนสัตว์ป่าโลกแห่งประเทศไทย(wwf) ซึ่ง เราขออาศัยขึ้นมายังหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านกร่างด้วย ไม้ใหญ่สองข้างทางสูงจนต้องแหงนคอมอง ประดับประดาไปด้วยพืชอิงอาศัยห้อยระย้าอย่างต้นชายผ้าสีดา เต็มไปหมด เราสอดส่องสายตาไปตามนั้น ด้วยหวังว่า จะพบเจอตัว ‘อะไร’ บ้าง

“ลิง...ลิงเสน” พี่คนขับชี้นิ้วไปยังลิงฝูงหนึ่งที่กำลังเดินข้ามถนนดินข้างหน้า พร้อมกับมันก็หันหน้าสีแดงๆ มองเราเช่นกัน ใช่ครับ พวกมันคือ ลิงเสน ด้วยลักษณะเด่นที่หน้า และก้น (แผ่นรองนั่ง) เป็นสีแดงจึงพอจะทำให้เราจำแนกชนิดกันได้ในทันที อีกทั้งหางสั้นๆ ก็ช่วยให้เรามองเห็นสีแดงที่แผ่นรองนั่งได้ชัดขึ้นไปอีก รวมทั้งขนบริเวณกระหม่อมที่ดูคล้ายกับหวีผมแสกกลางก็ทำให้จำมันได้ขึ้นใจ

รถโฟร์วีลคันเดิมพาเรามาถึงจุดหมายตอนเกือบเที่ยง บรรยากาศโดยรอบดูมืดครึ้มไปด้วยเมฆหมอกฝนของช่วงปลายวสันตฤดูก่อนจะเข้าสู่ห้วงฤดูหนาว ลานกางเต็นท์กว้างถูก แต่งแต้มไปด้วยเต็นท์นอนหลากสีของนักท่องเที่ยว หลังมื้อกลางวันที่มีไข่เค็ม และน้ำพริกเป็นอาหารหลัก เราเริ่มออกดูนกกันทันที แต่ดูเหมือนสิ่งที่รอต้อนรับนั้นจะเป็นฝูงผีเสื้อหลากหลายพันธุ์หลากสีสันกลุ่มใหญ่ ที่ลงดูดน้ำริมลำธาร พาให้พวกเราพลอยสนุกไปกับการจำแนกชนิด

“ทำไมมันมากมายอะไรขนาดนี้” มด--เพื่อนหญิงอีกคนพูดขึ้นอย่างตื่นใจกับฝูงผีเสื้อตรงหน้า ผีเสื้อที่ลงดูดน้ำตรงหน้าเราส่วนใหญ่เป็นผีเสื้อวงศ์หนอนกะหล่ำ  สีเหลืองๆ  ที่เกาะเต็มไปหมดนี้ คือ ผีเสื้อหนอนคูณกับผีเสื้อเณร (สีออกเหลืองเหมือนกัน แต่จำง่ายๆ  ผีเสื้อเณรจะมีขนาดเล็กกว่า) ส่วนที่บินเห็นสีขาวๆ  ไล่กันเป็นคู่ มีปลายปีกคู่หน้าสีส้มตัดกันดีกับสีขาวหลักของคู่ปีก นั่นคือ ‘ผีเสื้อปลายปีกส้มใหญ่’  และเจ้าตัวเล็กที่มีติ่งหางยาว จนบางคนอาจคิดไปว่า เป็นแมลงปอเกาะอยู่ ไม่ใช่นะครับ มันคือ ‘ผีเสื้อหางมังกรเขียว’ ซึ่ง มีสีปีกหลักๆ  เป็นสีดำ บนพื้นปีกคู่หน้าเกือบทั้งหมดบางใส มีแถบพาดกลางปีกทั้งคู่สีขาวอมฟ้า

ฝนพรำลงมาเพียงน้อย นั่นแหละ เราหลบกันอยู่ที่อาคารศูนย์อบรมเยาวชน นกปริศนาเกาะอยู่กลางไม้พุ่มอีกด้าน เราส่องอยู่นานก็ไม่รู้สึกจะคุ้นกันขึ้นมาเลย  แต่ดูจากรูปทรง เราพอจะบอกได้ว่า มันอยู่ในกลุ่มนกเดินดง ลำตัวออกสีน้ำตาลอมส้ม ลักษณะเด่นตรงที่คิ้ว และแถบใต้ตาขาวอย่างชัดเจน เราลงความเห็นกันว่า มันน่าจะเป็น ‘นกเดินดงสีคล้ำ’ ตัวเมีย ที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาหากินในบ้านเราช่วงนี้

เสียงใสๆ  ดัง“วี้ด...วี้ด” นั่นคือเสียงของกลุ่มนกกินปลี นกนักกินน้ำหวานดอกไม้ ด้วยขนาดตัวไม่เกิน 15 เซนติเมตร (รวมปากที่ยาวโค้งนั่นด้วย) ทำให้มันสามารถไต่ไปตามปลายกิ่งที่มีช่อดอก และกลับตัวได้หลายท่า เพื่อใช้ลิ้นที่เป็นท่อยาวคล้ายหลอดดูดกาแฟยื่นเข้าไปดูดน้ำหวานในนั้นโดยเฉพาะ

ดวงอาทิตย์เลื่อนหายไปจากขอบฟ้า ก่อนที่ความมืดจะแผ่คลุมผืนป่า สายลม และสายฟ้ากรรโชกลงมาอย่างแรง พร้อมกับสายฝนที่ตามหลังสายลมมา เพียงครู่หนึ่ง ฝนก็ซาเม็ดลง พร้อมๆ กับมื้อเย็นของเราเสร็จสิ้นไปอีกมื้อ หลังผูกเปลขึงผ้าใบจัดเตรียมที่นอนกันเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนั้น เรื่องราวรอบวง ‘ถั่วเขียวต้มน้ำตาล’ (แถมใส่เผือกลงไปด้วย) ก็เริ่มต้นขึ้นท่ามกลางแสงเทียนส่องไสว

รุ่งเช้าของอีกวัน เรายังสาละวนเดินดูนกไปตามเส้นทางสู่ยอดเขาพะเนินทุ่ง กลุ่มนกปรอดกลุ่มใหญ่ที่รวมไปด้วยนกปรอดหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นนกปรอดเหลืองหัวจุก--มีท้องสีเหลืองสมชื่อ หน้าเป็นสีดำคล้ายใส่ไอ้โม่งดำเอาไว้ แถมมีจุกเป็นหงอนตั้งขึ้นมาบนหัวอีก กับนกปรอดทอง--ซึ่งขนที่หัวสีดำเหลือบ แต่ไม่มีขนหงอนอย่างนกปรอดเหลืองหัวจุก ลำตัวสีเขียวอมเหลือง และนกปรอดคอลาย--ขนที่หน้า คอ หน้าผากนั้นเป็นขีดสีเหลืองเด่นอันเป็นที่มาของชื่อ พวกมันรวมฝูงพากันบินโฉบหากินหนอน แมลงไปเป็นหน้ากระดาน นอกจากแมลงแล้ว พวกมันยังกินลูกไม้ด้วย

“ผับ...ผับ” เสียงราวกับมี ‘อะไรสักอย่าง’ บินแหวกอากาศในหุบป่าด้านข้าง หลังจากได้ยินเสียงนั้น ชั่วราวเดินเหงื่อซึมหลัง ขณะส่องกล้องสองตา (Binocular) ไปยังไม้ใหญ่ที่ตอนนี้กำลังออกดอกสะพรั่งไปด้วยนกเขียวคราม--นกขนาดตัวเท่านกเอี้ยง ตัวผู้นั้นมีขนลำตัวด้านบนเหลือบสีน้ำเงินตัดกับสีดำของขนลำตัวที่เหลือ ส่วนตัวเมีย ลำตัวสีฟ้าเข้ม หางสีดำ เกือบ 10 คู่ กวาดกล้องส่องไปยังต้นไม้ข้างๆ นั่นเอง นกกกคู่หนึ่งเกาะอยู่ในอากัปกิริยาต่างตัวต่างไซร้ขน บางครั้งบางหนก็เอาปากมาประกบเหมือนทำท่าจะป้อนอาหารให้กัน

นกกกเป็นนกเงือกขนาดใหญ่ขนาดตัวราวๆ 130 เซนติเมตร ยิ่งมองด้วยกล้องไบนอคแล้ว ภาพตรงหน้าก็ยิ่งชัดอยู่เต็มตา ตอนนี้ดวงหน้าของ แต่ละคนเปื้อนไปด้วยรอยยิ้ม “ผับ...ผับๆ” เสียงปีกทั้งคู่แหวกอากาศดังขึ้นอีกครั้ง นกกกคู่ผัวเมียถลาบินอยู่ในหุบเขาด้านหน้า เสียงปีกดังเป็นจังหวะเดียวกับหัวใจของพวกเราที่พองฟู

ลมชื้นหอบเอาไออากาศชุ่มฉ่ำของแนวป่ามาปะทะร่าง “ความสุข...สร้างได้” เราเชื่อเช่นนั้น แล้วคุณล่ะ?  ถ้ายังไม่เชื่อ ไม่เป็นไรครับ  แต่ ถ้าอยากพิสูจน์ เก็บเสื้อผ้าใส่เป้ใบเก่ง อย่าลืมหยิบกล้องสองตากับ Bird Guide คู่นั้นของคุณมาด้วย เร็วครับ! สรรพสัตว์บวกความสุขรอคุณอยู่ ณ ที่นี่ ที่...ป่าแก่งกระจาน

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

บางคนนั่งดูโฆษณาทีวีก็มีความสุขแล้ว น่าดีใจหรือเสียใจ ที่ความสุขของพวกเราต้อง "ลำบาำก" ไปหาในป่า? 

ความเห็นที่ 2

อ่านบทความจบแทบจะเก็บเสื้อผ้าใส่เป้ไปแก่งกระจานแล้วค่ะ

ขอบคุณภาพสวยๆที่นำมาฝากนะคะ