ใบไม้สีทอง

ชื่อไทย: ใบไม้สีทอง, ย่านดาโอ๊ะ

ชื่อพฤกษศาสตร์: Bauhinia aureifolia K. & S.S. Larsen

วงศ์ : LEGUMINOSAE

การกระจายพันธุ์ : ในธรรมชาติพบเฉพาะในเขตจังหวัดปัตตานีนราธิวาสและยะลาขึ้นตามที่โล่งริมลำธารในป่าดิบชื้นอุทยานแห่งชาติน้ำตกบาโจและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาระดับความสูง๕๐-๒๐๐เมตร

ริมลำธารใหญ่ในป่าดิบชื้นใต้สุดของบ้านเรา ที่ป่าฮาลา-บาลาจังหวัดนราธิวาศ ที่ซึ่งหลายคนได้แต่ฝันถึงแต่ไม่อาจจะได้ไป ที่ซึ่งความแตกแยกทางความคิดได้ทำให้บ้านเมืองรุกเป็นไฟ ต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ แต่มิได้ขึ้นอยู่อย่างโดดเดี่ยว มันพาดวาง เกาะเลื้อยไปตามต้นไม้ใหญ่ เพื่อที่จะหลุดพ้นจากร่มเงาของนานาพรรณไม้ เพื่อขึ้นมารับแสงอาทิตย์ที่ส่องต้องกระทบใบสีทองอร่ามที่งดงามหาใบไม้ชนิดไหนเปรียบเสมือนไม่มี

ในป่าใหญ่ที่เต็มไปด้วยพรรณไม้เบียดแน่น ต่างแย่งกันเจริญเติบโตเพื่อแย่งกันรับแสงตะวัน ในขณะที่เหล่าไม้ยืนต้นใช้เวลาค่อยๆสะสมความแกร่งกล้า ลงทุนสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งเพื่อยืนหยัดค้ำดินฟ้า ไม้เลื้อย หรือไม้เถาว์ กลับไม่ทำเช่นนั้น พวกมันสร้างลำตัวขนาดเล็กที่มีความยืดหยุน พร้อมทั้งอุปกรณ์พิเศษในการยึดเกาะ ซึ่งทำให้พวกมันไม่ต้องใช้เวลานับสิบปีสร้างเนื้อไม้และลำต้นที่แข็งแกร่งเพื่อที่จะขึ้นไปสูงเทียมฟ้า แต่อาศัยการปรับตัวที่ชาญฉลาด ใช้ไม้ใหญ่เป็นรากฐานค่อยๆพันเลื้อย ขึ้นไปรับแสงตะวันเคียงข้างกับเหล่าไม้ใหญ่ได้อย่างไม่ต้องเสียเวลา

หากได้เห็น“ใบไม้สีทอง”ยามที่ต้องกับแสงอาทิตย์ยามเช้า คงไม่มีใครปฏิเสธ ว่ามันเป็นใบไม้ชนิดหนึ่งที่งดงามที่สุดในโลกจริงๆ ใบไม้สีทองเ ป็นพืชในสกุลเดียวกับ ชงโค มันจึงมีใบที่มีปลายแยกออกจากกัน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพืชในสกุล Bauhinia บางคนอาจจะมองดูแล้วคล้ายผีเสื้อ บางคนมองดูคล้ายหัวใจ ใบไม้สีทองจะออกดอกในช่วงปลายปี ยามปลายฝนต้นหนาว ดอกของมันจะเป็นกลุ่มใหญ่สีขาวครีมและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ในช่วงนี้เองที่ใบชุดที่เติบโตขึ้นมาพร้อมช่อดอกจะกลายเป็นสีทองเปร่งปรั่ง จนกลายเป็นชื่อของเขา “ใบไม้สีทอง”ซึ่งมีชื่อทองถิ่นภาษายาวีว่า “ย่านดาโอ๊ะ”สีที่สวยงามนี้คงไม่ได้สร้างมาให้มนุษย์ชื่นชมเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นดั่งคำเชื้อเชิญให้เหล่าแมลงบินมาแวะเวียน เก็บกินน้ำหวานและช่วยผสมเกสรให้กับเจ้าของ ซึ่งในป่าดิบทางใต้ที่เรือนยอดไม้ส่วนใหญ่เป็นสีเขียวครึ้มๆ สีทองของใบไม้สีทองนั้นสามารถมองเห็นไปได้ไกลเป็นกิโล หมู่แมลงจะเห็นว่าใบไม้สีทองสวยงาม เหมือนกับที่มนุษย์เห็นไหม? 

ถ้าหากจับดูจะรู้สึกว่าใบสีทองเหล่านี้มีขนสั้นนิ่มคล้ายกำมะหยี ถ้าหากเราเก็บใบไม้สีทองมาในช่วงนี้ แล้วนำมาทับไว้ในหนังสือเล่มหนาสัก ๒-๓ เดือน มันก็จะคงสภาพสีอยู่แบบนั้น จนกลายเป็นของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดนราธิวาศ เมื่อชาวบ้านนำใบไม้สีทองมาใส่กรอบหรูหราขายเป็นของฝากให้ผู้มาเยือนได้นำเอกลักษณ์อันเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่ธรรมชาติได้มอบให้กับพวกเรา

ถึงแม้ว่าในธรรมชาติจะมีการแพร่กระจายพันธุ์ที่ไม่กว้างนัก แต่ก็น่ายินดีที่ใบไม้สีทองเป็นไม้ที่เพาะขยายพันธุ์ไม่ยาก นอกจากเพาะเมล็ดแล้ว วิธีที่นิยมที่สุดก็คือการตอน ซึ่งสามารถนำมาปลูกลงดินที่ร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี แล้วสร้างค้างขนาดใหญ่ให้ หรืออาจจะปลูกใกล้กับไม้ใหญ่ สร้างหลักค้ำยันให้เค้าในช่วงแรก แล้วจึงปล่อยให้ค่อย ๆ เลื้อยพาดไปตามคบไม้ ไม่ต้องกลัวว่าพรรณไม้เลี้อยในวงศ์นี้จะไปทำให้ต้นไม้หลักตาย เพราะพวกเขาเพียงแค่ขออาศัยพาดไปเท่านั้น ไม่เลื้อยคลุม หรือ เจาะแย่งอาหาร ทำให้ไม้ต้นที่เป็นหลักก็ได้มีเครื่องประดับที่สวยงาม และในขณะเดียวกัน เจ้าใบไม้สีทองก็ได้อาศัยเป็นฐานที่มั่นคงเพื่อรับแสงอาทิตย์  ถึงแม้ในธรรมชาติ ใบไม้สีทองจะมีการกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะในป่าทางใต้ แต่ต้นที่ถูกนำมาปลูก แม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็ยังเติบโตและออกดอกได้เป็นอย่างดี

สรรพสิ่งต่างพึ่งพาและอยู่ร่วมกันได้ ถึงแม้จะต่างชาติต่างเผ่าพันธุ์ แล้วทำไม มนุษย์ซึ่งเรียกตัวว่าสัตว์ประเสริฐ จึงไม่สามารถพูดคุย และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ? 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

อยากไป ฮาลา-บาลา อ๊ากๆๆๆ

ความเห็นที่ 2

สวยงามแปลกตาดูมีคุณค่ามีราคาอย่างนี้พบได้แห่งเดียวในโลกครับ ความภูมิใจของคนไทยโดยเฉพาะคนท้องถิ่น