“เสือตาย”

 

เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์, ภาพ: กิตติพนธ์ บูรณสมภพ

ถ้าพูดถึง“เสือ”คุณนึกถึงอะไร ?

สัตว์ดุร้าย,ขุนโจร, ยาดองเหล้า ฯลฯ นั่นคือสิ่งแรกๆ ที่เรานึกถึงเสือ มีใครบ้างไหม ที่นึกถึงเสือ ในความเป็นชีวิตในธรรมชาติ ผู้หน้าที่คัดเลือกสายพันธุ์ของเหยื่อที่มันกิน สัตว์ที่แก่และอ่อนแอมักตกเป็นเหยื่อของเสือ รวมถึงผู้ควบคุมปริมาณสัตว์กินพืชที่เป็นเหยื่อ—ไม่เป็นไร ถ้านึกถึงที่ผมพูดไม่ออก นึกใหม่อีกที ลองนึกถึง ยาโด๊ป ที่เพิ่มพลังทางเพศ โดยกินจู๋เสือตุ๋นยาจีน, เขี้ยวเสือ, เครื่องยาผสมกระดูกเสือ, แผ่นหนังเสือติดฝาบ้าน ฯลฯ ชิ้นส่วนอวัยวะของเสือโคร่งเหล่านี้ เราคงนึกออก บ่อยครั้งที่ได้รับฟังความเชื่อของคน ซึ่งเชื่อกันหนักหนา ว่านี่คือ สิ่งวิเศษ ใช่,สิ่งวิเศษที่ทำให้อนาคตข้างหน้าของเสือโคร่งมืดมน

หลายคนคงได้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องเสือโคร่งสามตัวแม่ลูก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ. อุทัยธานี ที่โดนพรานวางยาเบื่อฆ่ากันบ้างแล้ว ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการงานวิจัยสัตว์ป่า สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ของเขตฯ ห้วยขาแข้ง ทำงานในป่าตามปกติ ระหว่างเส้นทาง ได้พบเหี้ยนอนตาย ตรวจสอบในบริเวณใกล้เคียง พบชิ้นส่วนของขาเก้ง ซึ่งมียาเบื่ออยู่ข้างใน ผูกเชือกยึดติดไว้กับต้นไม้  เจ้าหน้าที่จึงทำการฝังกลบ ป้องกันสัตว์อื่นมากินอีก ไม่ไกลจากบริเวณนั้น พบซากเสือโคร่งตัวเต็มวัย (สันนิษฐานว่า เป็นแม่ของเสือสองตัวที่พบใกล้กัน)สภาพถูกลอกหนัง เลาะกระดูกไปหมด เหลือไว้เพียงอุ้งตีน และยังพบซากเสือโคร่งอีก 2 ตัว อายุประมาณหนึ่งปี ทั้งคู่ถูกยาเบื่อเช่นเดียวกัน ในรอบบริเวณนั้น ยังพบรอยดิ้นทุรนทุรายและรอยกัดต้นไม้ ก่อนสิ้นใจ

เสือโคร่งสามตัวจากไปอย่างทรมาน จากไปทั้งๆ ที่มันเอง ยังไม่รู้ว่า ไปทำอะไรผิด จากไปในขณะที่คนไทยเราเอง ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเสือในป่าไทยเลย

ด้วยต้องการหนังเสือโคร่งที่ไร้ตำหนิจากรอยกระสุน วิธีการล่าเสือโคร่งจึงเปลี่ยนไปจากเดิม ที่เราเคยได้ยินมา แต่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย หากเราย้อนกลับไปเมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา

ปี พ.ศ. 2535 กลางป่าห้วยขาแข้ง เหตุการณ์คล้ายกันนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ต่างกันเพียง สัตว์ที่ตายไป ไม่ใช่เสือโคร่ง แต่เป็น ‘พญาแร้ง’—นกกินซากขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในป่าห้วยขาแข้ง หลังจากนั้น ก็ไม่มีใคร มีโอกาสได้เห็นพญาแร้งในเมืองไทยอีกเลย

เช่นเดียวกัน พรานป่าต้องการหนังเสือโคร่งที่ไร้รอยกระสุน จึงใช้ซากเก้ง ใส่ยา ‘ฟูราดาน’-- ยากำจัดแมลงและปลวกในพืชไร่ ที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป ไว้ข้างในซาก วางซากเก้งไว้ตามด่านสัตว์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น กลับไม่ได้เป็นไปตามที่พรานหวัง เสือโคร่งไม่ได้เข้ากิน เพราะตามวิสัย “เสือโคร่งไม่กินเหยื่อที่ตัวเองไม่ได้ล่า แต่สำหรับเสือแม่ลูกอ่อน ที่มีภาระดูแลลูกด้วยนั้น อาจมีข้อยกเว้น”ดร. ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านเสือโคร่งของเมืองไทย เคยกล่าวไว้ถึงเหตุผลที่เสือโคร่งแม่ลูกที่กินเก้งใส่ยาเบื่อตาย ในบทความของ ม.ล. ปริญญากร วรวรรณ โชคร้าย จึงตกอยู่ที่ฝูงแร้งทั้งฝูง ที่ลงกินซากเก้ง ตามหน้าที่ของแร้ง ที่คอยกินซากกำจัดสิ่งปฏิกูลในป่า ดังนั้น แร้งจึงตายยกฝูง แล้วนี่ก็คือ การสิ้นสุดของสายพันธุ์ แร้งประจำถิ่นของประเทศไทย

ผ่านมา 17 ปี ความต้องการชิ้นส่วนอวัยวะของเสือโคร่งยังไม่เปลี่ยนแปลง และวิธีเดิมที่พรานกลับมาใช้ก็ได้ผล ผลที่ทำให้โลกนี้ ขาดนักล่าผู้ทำหน้าที่บนสุดของห่วงโซ่อาหารไปอีกจำนวนหนึ่ง จากจำนวนที่เหลือน้อยเต็มทีอยู่แล้ว

................................................

แม้จะเรียนในคณะวนศาสตร์—ศาสตร์ด้านป่าไม้ แต่ผมยังไม่เคยพบเสือโคร่งในธรรมชาติเลย อาจด้วยความเป็นนักล่าหมายเลขหนึ่ง คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักหรอก ที่เราจะเห็นเขา โดยที่เขาไม่รู้ตัว เคยเห็นเต็มที่ ก็แค่รอยตีนเท่านั้น เดือนพฤศจิกายนปีก่อน มีกิจกรรมพาน้องชั้นปีหนึ่งไปอยู่ กินในป่า เป็นเวลา 3 วัน ในขณะพาน้องเดินในป่า น้องถามออกมาว่า “ถ้าเจอเสือในป่า เราต้องทำอย่างไร” ‘ทำอย่างไร’ในความหมายของเสือที่เป็นสัตว์ดุร้ายจ้องเอาชีวิตคน

ในวันนั้น ผมตอบไปว่า “ก็ดีสิ ถ้าได้เจอ ไม่มีสัตว์ป่าตัวไหนทำร้ายคนหรอก เพียงได้กลิ่นเรา มันก็เตลิดหนีแล้ว นี่คือ การยากของคนศึกษาสัตว์ป่าที่จะทำอย่างไรให้เขาไม่รู้ตัว แต่ที่เราเคยได้ยินข่าว ช้างป่าทำร้ายคน อะไรนั่น เป็นเพราะว่า คนเคยทำร้ายมันก่อน เคยขับไล่ จนมันจำว่าคนทำร้ายมัน แต่มันจะไปจำได้ไงว่า ใครทำมัน ดังนั้น เมื่อเจอคน มันก็เลือกที่จะเอาคืน” ผมตอบไปเช่นนี้

ตอบด้วยความเชื่อที่อยากเห็นเสือโคร่งอาศัยอยู่ในธรรมชาติ ดำรงวิถีทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น และโดยความจริง หากความเชื่อว่า ของวิเศษจากอวัยวะเสือยังไม่หมดไป

หนทางข้างหน้าของเสือโคร่งในป่าไทย ก็คงไม่ต่างจากพญาแร้งฝูงสุดท้าย เมื่อ 17 ปีก่อน  

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

อ่านแล้วเศร้าเซ็ง แต่ผมยังมีกำลังใจกับแนวทางในการศึกษาและอนุรักษ์ธรรมชาติในบ้านเรา ผมเชื่อว่ามันจะดีขึ้น

ขอบคุณสำหรับบทความและภาพถ่ายสวยๆครับ

ความเห็นที่ 2

สงสัยเหมือนกันครับว่า ทำไมเสือที่เคยกินเนื้อคนแล้ว จึงมักจะติดใจ หันมาล่าคนกินอีกเรื่อยๆ

(หมายถึงเรื่องบันทึกสมัยเมื่อก่อน ที่เสือยังมีจำนวนมากกว่าปัจจุบันนี้)

เพราะคนล่าง่ายกว่าสัตว์ป่าอื่นๆ หรือเพราะเนื้อคนมีรสชาติอร่อยถูกปากมากกว่า

ความเห็นที่ 3

ตามที่มีรายงานและการศึกษาทั้งเสือกินคนหรือหันมาทำร้ายคนทั้งในไทย และประเทศอื่น อย่างอินเดียนั้น จริงแล้ว จะมีบันทึกไว้ว่า เสือนั้นเป็นเสือที่บาดเจ็บมีความไม่พร้อมในร่างกายเช่นเป็นแผลเรื้อรังที่เท้า บางตัวโดนยิงมาแล้ว จึงหันมาทำร้ายคนหรือสัตว์เลี้ยงที่ล่าได้ง่ายกว่าสัตว์ป่าที่สามารถหลบหลีกสัตว์ผู้ล่าได้ ขนาดเสือที่ร่างกายพร้อม ยั งมีการศึกษาออกมาวง่า ประสบความสำเร็จในการออกล่า คิดเป็น 20% เท่านั้นเอง หากเสือป่วย เสือเจ็บก็คงหันมาทำร้ายสัตว์เลี้ยงหรือคนมากกว่าครับ

ความเห็นที่ 4

เคยได้ยินความเชื่อนึง เกี่ยวกับเสือไบ เอ๊ย เสือไฟ...(อ่านจากนวนิยาย)

ที่กล่าวไว้ว่า เสือไฟมีพลังอำนาจพิเศษ ไปหากินที่ไหน หญ้าก็แห้งเกรียมราวกับโดนแผดเผา, เสืออื่นๆก็ไม่กล้าเข้าใกล้ ฯลฯ

เป็นไปได้ว่า เพราะมันมีขนสีน้ำตาลแดง จึงชอบหากินในพื้นที่ๆมีหญ้าแห้งเยอะ พอชาวบ้านไปเห็นเข้า ก็เลยเข้าใจว่ามันไปอยู่ที่ไหน หญ้าก็เกรียมหมด ประกอบกับมีขนสีแดงเพลิงอีก จึงยิ่งตอกย้ำความเชื่อนี้

ความเห็นที่ 5

เสือไปทำผิดอะไรให้คุณ คุณจึงไปฆ่ามันละค่ะ