ปาดตะปุ่ม....ชีวิตน้อยๆในโพรงน้ำขัง

อึ้บ...ผมพลิกตัวไปมาๆ อยู่หลายรอบ ในถุงเหลวๆใบนี้ ผมพยายามดิ้นจนสุดแรงหลายที จนมีท่าทีว่ามันจะหลุดออกมา ทำให้ผมคลายตัว บิดขี้เกียจออก ....จนในที่สุดผมก็หลุดออกมาได้ ชั่วเสี้ยววินาที หัวผมกระแทกกับพื้นน้ำด้านล่าง น้ำสีดำสนิท ขุ่นและมีตะกอน ผมพยายามซ่อนตัว มุดๆๆๆๆ ไปใต้ใบไม้ ให้พ้นจากแสงแดด ผมซ่อนตัวอยู่สักพักจนรู้สึกหิว เศษใบไม้เน่า ตะใคร่น้ำ และ ตัวอ่อนยุง คืออาหารผม
.
ผมจำวันเวลาที่ติดอยู่ที่นี่ไม่ได้ ผมไม่สามารถออกไปจากที่แคบๆนี้เลย บางวันรู้สึกว่าน้ำรอบตัวเริ่มจะแห้ง แต่พอเช้ามาน้ำก็เกือบจะล้นออกมาซะงั้น...

มีอยู่วันหนึ่ง ที่ร่างกายผมรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง หางสีดำขนาดใหญ่เริ่มหายไป ตามลำตัวมีตุ่มเล็กๆขึ้น ขางอกออก ผมเริ่มทำอะไรหลายๆอย่างคล่องตัวขึ้น เพียงไม่กี่วัน ผมจึงลองอยากออกไปจากที่นี่บ้าง ตอนนี้ผมมีขา 4 ขาครบ หางที่เคยใช้แหวกว่ายยามเป็นเด็ก กลับลดรูปไป ผมไต่ขึ้นไป ไต่ไป ไต่ไป รู้สึกดีใจที่ออกมาจากที่แคบๆนั้น อาหารของผมคือ แมลงเล็กๆ ที่ผ่านมาใกล้ๆ ในคืนนั้นผมกินแมลงไปหลายตัว และเริ่มรู้สึกอยากกลับลงไปแช่น้ำ ไม่พ้นที่เดิมอีกแล้วซินะ.....

.
ในตอนนี้ร่างกายผมเป็นหนุ่มเต็มตัว สีสันตามตัวเริ่มฉูดฉาดในแบบของผม ผมร้องเรียกหาสาวๆในแอ่งนี้มาหลายวันแล้ว ไม่มีวี่แววเลย แต่ผมก็ร้องอยู่แบบนี้ หวิวๆ ทุกวัน ทุกวัน จนกระทั่งวันนึง สาวเจ้าทีไหนไม่ทราบมาเกาะอยู่บริเวณปากโพรงของผม ผมร้องเรียกไปด้วยความดีใจ ผมโดดไปเกาะเธอทันที และเริ่ม....เริ่ม เริ่มผสมพันธุ์.....เธอเอาขาปาดไข่ออก 4-5 ฟอง ผมจำได้แล้วว่าผมก็เกิดมาจากตรงนี้ นี่เอง....
.

จากเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น คนส่วนใหญ่คงจะงง ตกใจ ตัวอะไรฟะ แต่บางคนคงจะพอนึกภาพออกได้นะครับ สำหรับสัตว์สะเทินกลุ่มนี้ เขามีชื่อน่ารักๆ ว่า “ปาดตะปุ่ม” คำว่า “ปาด” คงจะจินตนาการไปถึง กบตัวเล็กๆ ผอมๆ ขายาวๆ ตัวแบนๆ ฉี่ใส่ตาแล้วตาจะบอด กินอร่อย อะไรก็ว่ากันไป มาถึงคำว่า “ตะปุ่ม” ความหมายตรงตัวครับ ตะปุ่มตะป่ำ ปุ่มปม อะไรแบบนี้ มารวมกันเป็น “ปาดตะปุ่ม” คือ ปาดในกลุ่มนี้มีส่วนหัวที่ค่อนข้างแบนติดกะโหลก มีผิวหนังตะปุ่มตะป่ำ ไม่เรียบเนียนอย่างปาดทั่วไป แต่บางชนิด เช่น ปาดตะปุ่มผิวเรียบ(Theloderma licin) กลับมีรูปร่างผิดจากเพื่อนร่วมสกุล ชัดเจน ร่างกายมีตุ่มล็กๆ แทบจะไม่เห็นเลย จึงเป็นที่มาตามชื่อของมัน
.
ทุกชนิดในสกุลนี้ วางไข่ในโพรงไม้น้ำขัง หรือ ซอกกาบใบของพืช ภาชนะเหลือใช้ที่ทิ้งไว้ในป่า และอื่นๆ กินแมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กกว่าปากเป็นอาหาร ตัวผู้เวลาผสมพันธุ์จะส่งเสียงเรียกตัวเมีย ดัง “ หวิว “  เป็นจังหวะลากยาวๆ และค่อนข้างดัง เพราะมักลงไปร้องในโพรงไม้ ทำให้เสียงกังวานออกไปไกลมาก ตัวเมียวางไข่ครั้งละ 4-5 ฟองอย่างน้อย เหนือโพรงน้ำขัง ปล่อยให้ลูกอ๊อดตกลงไปในแอ่งน้ำด้านล่าง กินเศษใบไม้ และ ตัวอ่อนแมลงน้ำ อาจกินลูกอ๊อดชนิดอื่นที่มีขนาดเล็กกว่าได้เช่นกัน มักใช้เวลาส่วนใหญ่มุดตัวตามใบไม้ร่วงในโพรง   ปาดตะปุ่มในประเทศไทยมีรายงานปัจจุบันพบถึง 5 ชนิด ซึ่งมีการกระจายกันไปตามแต่ละภาค ในอนาคตอาจพบอีกหลายชนิดก็เป็นได้

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

แจ่มครับน้อง ลีลาใช้ได้เลย

ความเห็นที่ 2

น่ารักดีแฮะ ทั้งลีลาการเขียน และ ปาดตะปุ่มครับ

ความเห็นที่ 3

เข้าท่าแฮะ  

นิดนึง ถ้าจัดย่อหน้าอีกหน่อยแหล่มเลย จะได้อ่านกับคอมฯง่ายขึ้น

ความเห็นที่ 4

เหมาะมากเลยครับ อ่านแล้วอยากเจอตัวมันอีกจัง นี้ขนาดคนเจอแล้ว คิดในใจ คนไม่เคยเจอ อาจอยากลองเดินป่าส่องหาก็ได้ เขียนมาเรื่อยๆ น่ะครับ พรุ เป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์งานครับ

ความเห็นที่ 5

เรื่องราวน่ารักดีครับน้อง เขียนออกมาเรื่อยๆ นะครับ เชื่อว่าเขียนได้อีกเป็นกระบุง