นกแสก…ผู้ช่วยผู้โชคร้าย
เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์
หลังจากกระพือปีกกว้างทรงตัวกางกรงเล็บอันแหลมคมคู่นั่นลงไปที่เหยื่อ ในไม่ช้ามันก็บินกลับมายังซอกมุมของตัวอาคาร พร้อมกับคาบร่างของหนูท้องขาวที่สิ้นใจมาด้วย ที่ตรงซอกนี้มีความหมาย เมื่อต้นสัปดาห์ทายาทของมันกำลังโตวันโตคืน ทันทีที่ถึงรัง แม่นกไม่รู้มาก่อนเลยว่า ก่อนที่มันจะออกไปหาอาหารมาเลี้ยงเจ้าตัวน้อย ‘แม่นก’ อย่างเธอจะได้อยู่ใกล้ลูกทั้งสี่ตัวของเธอเป็นครั้งสุดท้าย และที่เธอไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่า ลูกทั้งหมดของเธอจากไปด้วยสารเหนียวติดแน่นจนลูกนกลืมตาไม่ขึ้น-- กาวตราช้างคือ เครื่องมือที่มนุษย์ใช้เบียดเบียนครอบครัวของเธอ ด้วยความเชื่อว่า นกแสกอย่างเธอและลูกเป็นตัวแทนความโชคร้าย เมื่อมีนกแสกมาอาศัยร่วมชายคาด้วย มนุษย์จึงทำทุกวิธีที่จะกำจัด "นกผี" ให้พ้นจากบ้าน
ความเกลียดชังของมนุษย์ ทำลายความหมายของชีวิตเธอถึงเพียงนี้
...........................
ในความทรงจำวันวัยเด็กของใครหลายๆ คน คงได้ยินหรือฝังใจกับเรื่องราวที่ว่า “หากนกแสกบินผ่านหรือเกาะร้องบนหลังคาบ้านใครแล้วล่ะก็ จะมีคนในบ้านเจ็บป่วย หรือล้มตายลงไป ห้ามไปทักเด็ดขาด” ด้วยเชื่อว่า มันจะนำเอาวิญญาณของผู้นั้นไป หรือเป็นตัวแทนของภูตผี และสัญลักษณ์แห่งความตาย
พูดในเรื่องความเชื่อ ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่มีความเชื่อในเรื่องนี้ ในต่างประเทศที่มีนกแสกกระจายเผ่าพันธุ์ไปถึง ก็มีความเชื่อในทำนองเดียวกัน เช่น ในอิตาลี บนเกาะซิซิลี (Sicily) หากนกแสกร้องใกล้ๆ บ้าน หากมีคนป่วยนอนอยู่ คนนอนป่วยในบ้านหลังนั้น จะตายภายใน 3 วัน แต่หากบ้านหลังนั้น ไม่มีคนป่วยอยู่ ก็จะมีคนในบ้าน มีอาการเจ็บป่วยเป็นโรคต่อมทอนซิล (tonsil) อักเสบ แล้วความเชื่อนี้ ยังสืบทอดกันในอังกฤษ และชาวยุโรปชาติอื่นๆ ด้วย
แต่ก็ไม่ทั้งหมด ที่ไหนที่มีนกแสก แล้วมันจะกลายเป็นตัวแทนแห่ง ‘ความเลวร้าย’ เสมอไป ในประเทศฝรั่งเศสทางตอนใต้ นกแสกกลับกลายเป็นนกที่บอกลางดีเช่นกัน เพราะชาวบ้านนั้น เชื่อกันว่า หากมีนกแสกมาส่งเสียงร้องอยู่ที่ปล่องไฟของบ้านหลังใด หากบ้านหลังนั้นมีหญิงกำลังตั้งครรภ์ จะให้กำเนิดทารกเป็นเด็กหญิง แต่ถ้าหากโยนเกลือเข้าไปในกองไฟในเตาผิง หญิงคนนั้น จะให้กำเนิดทารกเป็นเด็กชาย เช่นเดียวกับที่อินเดีย ที่มีความเชื่อว่า นกแสกเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ใด มีนกแสก ที่นั่นพืชผลอุดม
ที่นี้ ที่สำคัญ คือ สำหรับความเชื่อในบ้านเราเองนั้น ทำให้ชีวิตนกแสก และผองพวกนกเค้า นกหากินกลางคืนหน้าตาคล้ายกัน ต้องโบกมือบายๆโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร มามากแล้ว ก็ใครเหล่า อยากให้ ‘นกผี’ อยู่ใกล้ๆ หรืออาศัยอยู่ร่วมชายคาบ้านกับตัวเองบ้าง
ในประเด็นขั้นต้น มาช่วยกันคิดดูหน่อยว่า เอ้! ทำไม นกแสกที่เกิดมามีหน้าที่อย่างชัดเจน เพื่อช่วยกำจัดหนู อันเป็นศัตรูพืชผลทางการเกษตรตัวฉกาจ และพาหะนำโรคต่างๆ สู่มนุษย์ จึงถูกผู้คน ตีตราในแง่ชั่วร้ายไปเสีย เท่าที่ผมมองหาเหตุผล ก็ได้ดังนี้ครับ ในเรื่องที่เชื่อว่า มันเป็นวิญญาณ สัญลักษณ์แห่งความตาย น่าจะมาจาก ที่นกแสกเป็นนกที่มีสีลำตัว เกือบทั้งตัว มองผ่านๆ เป็นสีขาว แล้วด้วยขนาดตัวที่ใหญ่เทียบเลยไม้บรรทัด คือ ประมาณ 36- 38 เซนติเมตร เมื่อกางปีกขณะบิน ความยาวของปีกทั้งสองข้าง ก็กว้างเกือบหนึ่งเมตร และด้วยการที่เป็นนกนักล่า หากินยามกลางคืนมืดมิด ทำให้มีขนคลุมใต้ปีกบินได้เงียบกริบ เพื่อประโยชน์ในการออกล่าเหยื่ออย่างมีประสิทธิภาพ ลองนึกดูสิครับ ตัวก็ใหญ่ บินก็เงียบ แถมสีขาวโพน หากไม่ใช่นักดูนก ใครเห็นอะไร ทำนองนี้ ในยามค่ำคืน จะพาลนึกถึง ‘นก’ อยู่ได้อย่างไร
แล้วเท่านั้น ยังไม่พอ มันยังมีดวงตากลมโต เมื่อส่องไฟไปกระทบกับดวงตานกกลางคืนพวกนี้ ซึ่งในดวงตามีเซลล์ที่เป็นรูปแท่ง อยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยในการมองเห็นได้ดี ในยามกลางคืน เวลาทำมาหากินของมัน แล้วเวลาที่นกแสก พบคนหรือศัตรูอะไรก็แล้วแต่ มันจะขู่ ด้วยการที่โยกหัวไปมา บวกกับหน้าที่บานคล้ายจานรับคลื่นยูบีซี รูปหัวใจกลมๆไว้ช่วยในการรับเสียงได้ดีขึ้น -- เลยพาลนึกไปว่า ต้องเป็น ‘นกผี’ แน่ๆ มาหลอกหลอนโยกหัวไปมาอย่างนี้ อีกทั้งเสียงร้องของมัน ดัง “แสกๆ” เหมือนชื่อของมันไม่มีผิด แต่เพิ่มความแหลมดัง และวังเวงได้ฟังในยามค่ำคืน จินตนาการของใครบางคนอาจนึกเสริมไปไกล
แล้วที่นี้ ลองมารับฟังกันดู ว่า ความจริงเป็นเช่นไร นกแสกเกิดมา เพียงเพื่อเป็นตัวแทนของภูตผีวิญญาณเท่านั้นเองเหรอ—ไม่ใช่ อย่างจริงแท้แน่นอน ผมกล้าที่จะยืนยัน เพราะไม่มีสัตว์ป่า (คือ สัตว์ที่เกิดขึ้นเอง และดำรงชีวิตอยู่ได้เองตามธรรมชาติ, ไม่จำเป็นต้องอยู่ในป่าเสมอไป) ชนิดใดหรอกที่เกิดมา โดยไม่มีหน้าที่ตามธรรมชาติ อย่างเช่น นกแสกนี้ อาหารหลัก ของมันเป็นสัตว์จำพวกฟันแทะ อย่าง หนู ซึ่งเป็นศัตรูพืชผลทางการเกษตร โดยนกแสก 1 ตัว จะช่วยกำจัดหนู วันละ 2 ตัวคิดเป็นปี ก็ปาเข้าไปเกือบปีละ 600-700 ตัวเลยทีเดียว
ซึ่งมีบริษัท อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ที่มีสวนปาล์มเป็นจำนวนหลายหมื่นไร่ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดชุมพร ใช้วิธีแบบชีววิถี คือ นำนกแสกไปใช้ในการกำจัดหนูในสวนปาล์มที่ทำลายทะลายปาล์มจำนวนเกือบ 700 ร้อยตัว ในขณะนี้ และเท่าที่ทราบ สวนกาแฟทางภาคเหนือก็จะนำไปใช้เช่นกัน โดยความคิดเริ่มต้น จากคุณเกรียงศักดิ์ หามะฤทธิ์ นักวิจัยผู้ริเริ่มโครงการ
หวังเป็นอย่างมากว่า เราคงมีมุมมอง และฟังเรื่องราวของ นกแสกด้วยความเชื่อที่ ‘เปลี่ยนไป’ บ้าง มาช่วยกันบอกกล่าวเรื่องจริงเหล่านี้กับคนรอบตัวเราว่า “พวกมันเกิดมาเพื่อทำหน้าที่ที่ธรรมชาติมอบให้ อย่างเต็มกำลังสามารถ เป็นผู้ช่วยเราที่ดีเสียด้วยซ้ำไป” และท้ายที่สุด ต่อจากนี้ไป คงไม่มี นกแสกตัวใดที่จะต้องเหลือเพียงร่างไร้วิญญาณ เพราะความไม่เข้าใจของมนุษย์อีกเลย
เอกสารและสิ่งอ้างอิง
โดม ประทุมทอง. 2550. นกแสก ชีววิธี…วิถีแห่งความอยู่รอด. แอดวานซ์ ไทยแลนด์ จีโอกราฟฟิค. 13(98):86-118
โอภาส ขอบเขตต์. 2542. นกเมืองไทย เล่ม 2. สารคดี, กรุงเทพฯ
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
ความเห็นที่ 2
ความเห็นที่ 3
ความเห็นที่ 4
ตอนเด็กๆ แยกไม่ออกคะ ว่านกแสก หรือนกฮูก หรือนกเค้าแมว แต่ความที่หน้ามันเหมือนกันหมดจะชอบมาก ก็เรียกแต่นกฮูก ตอนเด็กบ้านอยู่ชุมพร จะมีนกฮูกเยอะมาก ตอนกลางคืนชอบออกมาดูที่หน้ามุข มันมืดและสามารถมองเห็น นกฮูกชอบมาหากินหนู มันจะอยู่นิ่งมากบนต้นไม้ ต้องพยายามมองจะเห็นหน้ามันมีสีขาว พอมาอยู่กรุงเทพฯ อยู่ที่สวนสยาม ในตอนนั้นเมื่อ 30 ปีแล้ว ทางไปสวนสยาม สุขาภิบาล 2 ผ่านนวธานี จะมีเสาไฟฟ้าไปตลอด จะเห็นนกฮูกอยู่บนสายไฟตลอดทางเลย บางครั้งมันโฉบลงมากินหนู แต่เดี๋ยวนี้มีตึกเยอะแยะเลยไม่มีให้เห็นแล้ว
ความเห็นที่ 4.1
ความเห็นที่ 4.2