“ขมิ้นท้ายทอยดำ และผองเพื่อนนกอพยพ”

เรื่อง: นายอุเทน ภุมรินทร์

อดไม่ได้หรอก แม้จะรู้ถึงขั้นที่ว่า นึกสีสัน รูปร่างหน้าตากันออก แต่ทุกครั้งที่ได้ยินเสียง “แคร่ๆ” แหบดัง ก็ต้องส่องสายตามองหาเจ้าของเสียงทุกครั้งไป

แล้วทุกครั้ง ภาพที่ปรากฏก็คือ นกขนาดตัวพอกับนกเอี้ยง สีสันเหลืองสด บวกเข้ากับแถบคาดตาดำลากยาวจากบริเวณหัวตาถึงท้ายทอย สีปากออกส้มสด ตัดกันดีกับสีลำตัว กระโดดไปมาบนกิ่งไม้หาอาหารของมัน เจ้าของเสียงแหบดังที่ผมกำลังพูดถึง คือ “นกขมิ้นท้ายทอยดำ” นกนักแรมทางที่เป็นดั่งตัวแทนของการเปลี่ยนฤดูกาล ซึ่งมาแจ้งว่า อีกไม่นาน สายลมหนาวจะเดินทางมาถึง

เมื่อถึงฤดูกาลอพยพ ซึ่งเริ่มตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม ที่บรรดาเหล่านกนักเดินทางเริ่มตบเท้าเข้ามาอาศัยพักพิงในแดนดินไทย มีบ้างเพียงบางส่วน ที่อพยพผ่านทางไปพำนักยังถิ่นอื่นที่ไกลออกไป แม้ไม่ได้เข้ามาอาศัยในบ้านเรา แต่การเดินทางที่แสนยาวไกล กว่าจะถึงจุดหมาย ทำให้นกอพยพผ่าน ต้องลงแวะ ‘เติมน้ำมัน’ หากินเรียกเรี่ยวแรงสำหรับมุ่งหน้าเดินทางต่อไป ดังนั้น เราจึงพบนกอพยพผ่าน พวกนี้ ได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงเริ่มต้นฤดูกาลอพยพ หรืออีกหนก็เมื่อถึงช่วงฤดูเดินทางกลับ

ส่วนนกขมิ้นท้ายทอยดำนั้น เป็นนกอพยพเจ้าประจำ ที่มาลงจอด ปักหลักฐานในเมืองไทยตลอดฤดูกาลอพยพ ซึ่งอาจกินเวลานานเกินครึ่งปี เพราะช่วงที่นกเริ่มเดินทางกลับบ้านเกิด คือ ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป เรียกได้ว่า หากไม่ต้องกลับไปทำรังวางไข่ ขยายเผ่าพันธุ์ยังถิ่นดั้งเดิมที่บินจากมา มันน่าจะได้ชื่อว่า เป็นนกประจำถิ่นบ้านเราอย่างเลี่ยงไม่ได้

ไม่ใช่เพียงนกขมิ้นท้ายทอยดำเท่านั้น ยังมีเพื่อนๆ นักเดินทางอีกมากหน้าหลายตา ที่อพยพเข้ามาในช่วงนี้ จำนวนชนิดและปริมาณนกในธรรมชาติ จึงมากขึ้นจากแต่เดิม ซึ่งมีเพียงนกประจำถิ่นเท่านั้น มีให้เราได้ทำความรู้จักกันอย่างไม่รู้เบื่อ ไม่ว่าจะเป็นตามสวนสาธารณะ ไร่นาป่าเขา หาดทะเล ป่าชายเลนทุกท้องที่ ขอเพียงแค่มีพื้นที่สีเขียว สำหรับพักพิงหากิน ซึ่งนกอพยพแต่ละกลุ่ม ต้องอาศัยตามพื้นที่จำเพาะกับตัวเอง นกชายเลนอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ นับพันตัว ตามทุ่งนาเกลือ หรือหาดเลน พวกมันมีปากที่แตกต่างกันไป มีทั้งแบบยาวโค้งลง หรือโค้งแอ่นขึ้น บ้างเดินใช้ปากสั้นพลิกหินริมชายหาดหาอาหาร  บ้างใช้ปากยาวโค้งทิ่มลงในชายเลนหาสัตว์หน้าดินกิน ด้วยร่างกายที่ถูกออกแบบมาเพื่อหากินพื้นที่ชายเลน ในเวลานี้ หัวหาดทั้งหลายจึงเต็มไปด้วยฝูงนกชายเลน

ส่วนบนท้องฟ้าเหนือเวหา ฝูงเหยี่ยวอพยพหลายพันตัว บินวนไต่ระดับความสูงด้วยมวลอากาศร้อนที่สะท้อนขึ้นมาจากพื้นดิน ในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน สายธารเหยี่ยวอพยพหลายชนิด อพยพผ่านมาด้วยแรงสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอด ผ่านคอคอดกระแดนขวานทองของไทย เดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย ฯลฯ จากการเฝ้านับจำนวนอย่างต่อเนื่อง ของกลุ่มผู้ศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีในเมืองไทย ที่ปักหลักอยู่บนยอดเขาเรดาร์ จ. ประจวบคีรีขันธ์ ที่สามารถมองเห็นฝูงเหยี่ยวอพยพได้ถนัดและใกล้ที่สุด รายงานหลายปีที่ผ่านมา ฟ้องจำนวนเหยี่ยวอพยพรวมทุกชนิด รวมกันเหยียบหลักแสนตัวเลยทีเดียว

หากลองสังเกต จะพบว่า ไม่ว่าจะมองไปทางไหน จะเห็นนกอพยพ มาคอยช่วยนกประจำถิ่น ทำหน้าที่ในการรักษาสมดุลของธรรมชาติอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย นกจับแมลงตัวเล็กกลมที่เดินทางมาไกล เกาะนิ่งบนกิ่งไม้ระดับเหนือหัวในสวนสาธารณะ ก่อนบินไปจับแมลงกลางอากาศ แล้วบินกลับมาเกาะยังที่เดิม รอแมลงตัวใหม่ที่บินผ่านมา นกอีเสือสีน้ำตาล ฉีกเนื้อเขียดแดดเดียว (ผมทึกทักเอาเอง แต่พฤติกรรมที่มักนำอาหารเสียบหนามแหลมไว้กลางแดด แล้วค่อยมากิน ก็ชวนให้คิดไปได้) อยู่บนต้นไม้กลางท้องทุ่ง เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน ทัพหน้าเหยี่ยวอพยพที่จะเดินทางมาถึงก่อนเหยี่ยวอพยพชนิดอื่นๆ กำลังฉีกกิน จักจั่นตัวโตไว้เติมพลังสำหรับเดินทางต่อไป ส่วนนกขมิ้นท้ายทอยดำ กินอาหารทั้งพืช อย่างผลไม้ ลูกไทร ตะขบ ฯลฯ และกินสัตว์ขนาดเล็ก จำพวกแมลง ตัวอ่อนแมลง หนอน ดักแด้ ฯลฯ

นกอพยพทุกตัว คือ ข้อต่อชิ้นสำคัญในการถ่ายทอดพลังงานในระบบนิเวศ ที่ท้ายที่สุด มนุษย์อย่างเรา ก็ใช้อากาศบริสุทธิ์ น้ำใสสะอาด จากระบบที่สมดุลระบบนี้ และถิ่นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของเหล่านกนักเดินทางในแดนดินไทยนั้น สำคัญต่อการคงอยู่ของนกพวกนี้ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การรักษาสภาพดั้งเดิมของพื้นที่ที่นกอพยพมาพำนัก ไม่ทำลายหรือแปรเปลี่ยนพื้นที่เพื่อไปใช้สอยในด้านอื่น เช่น ไม่เปลี่ยนหาดทรายที่นกชายเลนใช้หากิน เป็นรีสอร์ตสวยยื่นเข้าไป เป็นต้น ก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง ที่จะรักษาเผ่าพันธุ์ของพวกมันไว้อย่างได้ผล

เสียงแหบดังของนกขมิ้นท้ายทอยดำ บนต้นคูณตรงข้ามกับห้องพัก ร้องปลุกผมแต่เช้าตรู่ เช่นเคย แม้จะเห็นมาจนนึกหน้าค่าตากันออก ผมก็ไม่เบื่อที่จะจ้องมอง ชั่วครู่หนึ่ง มันก็บินจากไป เพื่อหากินทำหน้าที่ของมันต่อไปอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มองชีวิตในธรรมชาติ จึงทำให้รู้ว่า นกไม่ได้มีปีกไว้ แค่บินไปบินมาเพียงผ่านไปวันๆ เท่านั้น มองชีวิตนกขมิ้นท้ายทอยดำ เสียงใครบางคนแทรกขึ้นมาในห้วงความนึกคิด


“แล้วเราทำประโยชน์อะไร หรือให้อะไรกับโลกที่เราอาศัยนี้บ้าง?”