เรื่องของแมงมุมแม่หม้าย...อีกหลายแง่มุมที่คุณอาจยังไม่รู้


เรื่อง: coneman

จากคำบอกเล่ากันปากต่อปาก รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลทั้งสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ หรืแม้แต่สารคดี ถึงพิษที่มีความรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตของกลุ่มแมงมุมแม่หม้าย (Widow spiders) จึงไม่น่าแปลกใจเลยเมื่อการปรากฏตัวของแมงมุมกลุ่มนี้ในแต่ละครั้งจะสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนในพื้นที่ และโดยเฉพาะกับประเทศที่แทบไม่มีข้อมูลแมงมุมกลุ่มนี้อยู่เลย ความตื่นตกใจย่อมเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อก็เป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้กระแสความหวาดกลัวขยายวงกว้างออกไป  เหตุการณ์ที่สามรถยกมาเป็นตัวอย่างได้ชัดเจนคือกรณีการพบแมงมุมแม่หม้ายชนิดหนึ่งที่มีลำตัวสีดำและมีลายบนส่วนท้อง (abdomen) สีแดง บนเกาะ Iriomote ในประเทศญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายน ปี คศ. 1995 เหตุการณ์นั้นสร้างกระแสความหวาดกลัวแมงมุมกลุ่มนี้ไปทั่วญี่ปุ่น ทุกฝ่ายมุ่งเน้นถึงแหล่งที่มาของแมงมุมกลุ่มนี้ไปที่การนำเข้าหรือติดมาโดยมนุษย์ (human-induced distribution) และเกือบจะทันทีแมงมุมชนิดดังกล่าวถูกตัดสินทันทีว่าเป็นสัตว์ต่างถิ่น (alien species) โดยเข้าใจว่าเป็นแมงมุมแม่หม้ายหลังแดงจากออสเตรเลีย(redback spiders – Latrodectus hasselti) นำไปสู่การกำจัดและทำลายอย่างเร่งด่วน ในอีก 7 ปี ต่อมาเมื่อมีการศึกษาอย่างละเอียดโดย Dr. Hirotsugu Ono พบว่าแมงมุมชนิดดังกล่าวเป็นชนิด Latrodectus elegans ซึ่งเป็นชนิดที่พบแถบเอเชีย โดยพบครั้งแรกในพม่าในปี คศ. 1898 มีการแพร่กระจายในลาว จีน และน่าจะเป็นแมงมุมพื้นถิ่น (native species) ของญี่ปุ่นเอง และอีกหนึ่งเหตุการณ์ใกล้ตัวคือกระแสความหวาดกลัวจากแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (brown widow – Latrodectus geometricus) ในประเทศไทยในปี พศ. 2552 ที่พบบริเวณภาคกลางของประเทศไทย เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความตื่นตกใจให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมากเพระมีการชูประเด็นความรุนแรงของพิษเทียบกับแมงมุมแม่หม้ายดำ (black widows – Latrodectus mactans) ว่าร้ายแรงกว่า 2 เท่า อีกทั้งยังร้ายแรงกว่าพิษงูเห่าถึง 3 เท่า ยิ่งกว่านั้นสื่อบางประเภทได้เผยแพร่ภาพบาดแผลที่ดูน่ากลัวอ้างว่าเป็นการถูกกัดจากแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล ทั้งที่ข้อเท็จจริงเป็นภาพแผลที่เกิดจากการกัดของแมงมุม brown recluse spider (Loxosceles recluse) ที่มีพิษออกฤทธิ์ต่อระบบโลหิต (haemotoxin) จึงทำให้ชื่อแมงมุมแม่หม้ายเป็นที่รู้จักในแง่ร้ายอย่างรวดเร็ว และอีกครั้งหนึ่งแมงมุมชนิดนี้ถูกตัดสินเป็นสัตว์ต่างถิ่นอีกเช่นเคย และจบลงด้วยการโดนทำลายซ้ำรอยเหมือนในญี่ปุ่นและในอีกหลายประเทศ จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่มีการพบแมงมุมแม่หม้าย มักเป็นประเด็นใหญ่ที่ทุกคนจับตาแทบทุกครั้ง ข้อมูลสารพัดจะผุดขึ้นมากมายและกระจายออกไปโดยสื่อซึ่งมีทั้งเรื่องที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ดังนั้นการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับแมงมุมแม่หม้ายอย่างถูกต้องน่าจะทำให้ทัศนคติที่มีต่อแมงมุมกลุ่มนี้ดีขึ้น

แมงมุมแม่หม้ายชนิด Latrodectus elegans พบบนเกาะ Iriomote ในประเทศญี่ปุ่น โดยครั้งหนึ่งถูกเข้าใจว่าเป็นแมงมุมแม่หม้ายชนิด Latrodectus hasselti ที่พบแพร่กระจายในออสเตรเลีย ทำให้เกิดกระแสความหวาดกลัวแมงมุมไปทั่วญี่ปุ่น (ภาพโดย H. Ono)

แมงมุมแม่หม้ายชนิด Latrodectus elegansพบบนเกาะ Iriomote ในประเทศญี่ปุ่น โดยครั้งหนึ่งถูกเข้าใจว่าเป็นแมงมุมแม่หม้ายชนิด Latrodectus hasselti ที่พบแพร่กระจายในออสเตรเลีย ทำให้เกิดกระแสความหวาดกลัวแมงมุมไปทั่วญี่ปุ่น (ภาพโดย H. Ono)

 
 

แมงมุมแม่หม้ายหลังแดง Latrodectus hasseltiพบกระจายในออสเตรเลียและถูกบันทึกเป็นแมงมุมต่างถิ่นในหลายประเทศ
(ที่มา: http://carinedelros.multiply.com/journal)



 
 ประเทศไทยไม่มีแมงมุมแม่หม้ายจริงหรือ?

คนส่วนใหญ่ยังคงมีความเข้าใจและยึดติดว่าแมงมุมแม่หม้ายหรือแมงมุมในสกุล Latrodectus นั้น พบเฉพาะในอเมริกา หรือในออสเตรเลีย ส่วนในพื้นที่อื่นของโลกหากพบจะต้องมีแหล่งที่มาจากสองประเทศดังกล่าว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ความจริงก็คือ แมงมุมในสกุล Latrodectus นั้น สามารถพบได้ในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก เอกสารทางวิชาการหลายชิ้นให้น้ำหนักว่าแมงมุมสกุลนี้แยกสายวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน (monophyletic group) โดยบรรพบุรุษของแมงมุมสกุลนี้น่าจะอยู่ในทวีปแอฟริกาก่อนแพร่กระจายออกไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้นแมงมุมแม่หม้ายในอเมริกาหรือในออสเตรเลียจึงน่าจะถือกำเนิดขึ้นมาทีหลัง ส่วนต้นกำเนิดในแอฟริกากลับไม่เป็นที่รู้จัก เหตุผลหนึ่งที่แมงมุมแม่หม้ายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในอเมริกาและออสเตรเลียก็เนื่องจากมีรายงานการเสียชีวิตจากการถูกกัดของแมงมุมกลุ่มนี้ในสองประเทศดังกล่าว และเนื่องจากเป็นแมงมุมที่อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านเรือนของคน อัตราการถูกกัดจากแมงมุมกลุ่มนี้จึงมีสูง ทำให้มีการตื่นตัวสนใจศึกษาแมงมุมกลุ่มนี้ทั้งด้านอนุกรมวิธานและพิษวิทยาอย่างแพร่หลาย ชื่อและรูปลักษณ์ของแมงมุมแม่หม้ายดำ Latrodectus mactans ที่มีพื้นตัวสีดำและมีแถบรูปร่างคล้ายนาฬิกาทรายสีแดงสดบริเวณใต้ส่วนท้องที่พบในอเมริกา และแมงมุมแม่หม้ายหลังแดง Latrodectus hasselti ที่มีลำตัวสีดำมีแถบรูปนาฬิกาทรายสีแดงใต้ส่วนท้องและมีแถบยาวสีแดงสดด้านบนส่วนท้องที่พบในออสเตรเลีย กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางผ่านออกไปตามสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และตำราเรียน จนทำให้แทบเป็นแมงมุมเพียงกลุ่มเดียวที่มีคนรู้จักเกือบทั่วโลกในแง่ของแมงมุมที่มีอันตราย และโดยเฉพาะแถบนาฬิกาทรายสีสดใต้ส่วนท้องของพวกมันแล้ว ดูจะเป็นสัญลักษณ์ประจำตระกูลที่ทุกคนรู้จัก มาถึงตรงนี้หลายท่านอาจสงสัยว่าประเทศไทยเรามีแมงมุมกลุ่มนี้อยู่รึเปล่า คำตอบคือมีครับ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในเขตร้อนจะมีแมงมุมแม่หม้ายอาศัยอยู่ แต่เนื่องจากการศึกษาแมงมุมในบ้านเรามีน้อย ประกอบกับไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครจึงทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะกลุ่มแมงมุมในบ้านเราแทบไม่มีอยู่เลย จึงไม่น่าแปลกใจเลยเมื่อมีการพบแมงมุมกลุ่มนี้เข้าในบ้านเรา พวกมันจึงโดนเหมาเป็นสัตว์ต่างถิ่นเหมือนในหลายๆประเทศ จากการสืบค้นเอกสารทางวิชาการมีงานที่กล่าวถึงแมงมุมแม่หม้ายในประเทศไทยอยู่ 2 ชิ้น คือ การพบแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล Latrodectus geometricus  ในประเทศไทยตั้งแต่ปี คศ. 1987 หรือเมื่อ 24 ปีที่แล้ว บนดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ โดย Dr, Konrad Thaler และอีกเอกสารหนึ่งที่น่าสนใจคือบทความวิชาการในวารสารสารศิริราช ปีที่ 32 ฉบับที่ 11 ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2523 หรือเมื่อ 31 ปี ที่แล้วรายงานถึงผู้ป่วยซึ่งโดนกัดโดยแมงมุมที่ระบุว่าเป็นสกุล Latrodectus ซึ่งคาดว่าเป็นชนิด Latrodectus curacaviensis ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งน่าจะมีการจำแนกชนิดแมงมุมผิดพลาดเนื่องจากในบทความกล่าวถึงแมงมุมตัวสีน้ำตาลมีขนบนลำตัวจำนวนมากและอาศัยอยู่บนพื้นดิน ซึ่งในแมงมุมแม่หม้ายมองเห็นขนบนลำตัวไม่ชัดเจนและไม่ได้อาศัยอยู่บนพื้น รวมถึงการจำแนกดังกล่าวได้ใช้เพียงส่วนความยาวของเขี้ยว (chelicerae) มาเทียบในการจำแนกชนิด ซึ่งไม่มีความถูกต้อง  แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ Latrodectus curacaviensis ที่จำแนกไว้นั้นมีการกระจายอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ และลำตัวไม่ได้มีสีน้ำตาลแต่มีสีดำและมีลายแถบสีแดงพาดอยู่บนหลัง ซึ่งมีความคล้ายกับแมงมุมแม่หม้ายชนิดหนึ่งที่พบกระจายในบางพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงมีความคล้ายคลึงกับ Latrodectus elegans ที่พบในญี่ปุ่น พม่า จีน และลาว แต่อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยไม่สามารถค้นหาตัวอย่างแมงมุมตัวดังกล่าวได้ จึงยังเป็นปริศนาว่ามันคือแมงมุมแม่หม้ายจริงๆหรือไม่ และถ้าใช่เป็นชนิดไหน จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากลุ่มแมงมุมแม่หม้ายถูกพบในประเทศไทยมานานแล้ว ไม่ได้เพิ่งมีการกระจายเข้ามาอย่างที่เข้าใจกัน ปัจจุบันสามารถพบแมงมุมแม่หม้ายได้เกือบทุกภาคของประเทศไทย ทั้งในเขตชุมชนและเขตป่า คาดว่ามีแมงมุมแม่หม้ายในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 2 ชนิด และเราได้อยู่ร่วมกับพวกมันมาเป็นเวลานานแล้วโดยไม่รู้ตัว และไม่เกิดอันตรายใดๆ

 

(ที่มา: http://tolweb.org/Orbiculariae/2698)
Latrodectus curacaviensis พบกระจายในทวีปอเมริกาใต้ ถูกระบุเป็นชนิดที่กัดผู้ป่วยในวารสารสารศิริราช


 
คล้ายคล้าย....แต่แตกต่าง

เอกสารทางวิชาการหลายชิ้นให้น้ำหนักว่ากลุ่มแมงมุมแม่หม้ายได้แยกสายวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน (monophyletic group) เพียงไม่กี่กลุ่ม โดยแบ่งออกเป็นสายวิวัฒนาการสองกลุ่มหลักๆคือ กลุ่มสายวิวัฒนาการของแมงมุมแม่หม้ายดำ (Latrodectus mactans clade) และกลุ่มสายวิวัฒนาการของแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Latrodectus geometricus clade) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายชนิดที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ โดยในแต่ละกลุ่มสายวิวัฒนาการจะมีลักษณะโครงสร้างอวัยวะสืบพันธุ์ ตลอดจนสีสันบนลำตัวที่คล้ายกันหรือเหมือนกัน และหลายชนิดในกลุ่มเดียวกันยังสามารถผสมพันธุ์ข้ามชนิดกันและให้ลูกที่ไม่เป็นหมันได้ จึงทำให้การจำแนกแมงมุมกลุ่มนี้ทางอนุกรมวิธานยังคงมีปัญหาเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังคงมีความใกล้ชิดกัน (complex species) ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันคือ กลุ่มแมงมุมแม่หม้ายดำ (black widow)ซึ่งหลายชนิดมีสีบนลำตัวสีดำล้วนและมีแถบรูปร่างคล้ายนาฬิกาทรายสีแดงสดด้านล่างส่วนท้อง ซึ่งไปพ้องกับลักษณะของแมงมุมแม่หม้ายดำ (Latrodectus mactans) ในอเมริกา ทั้งหมดจึงโดนระบุว่าเป็น L. mactans จากสีสันภายนอก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ L. mactans มีการกระจายกว้างในหลายทวีปและอยู่ในสถานะสัตว์ต่างถิ่น ความจริงอาจมีอยู่บ้างที่ L. mactans จะถูกนำเข้าไปยังภูมิภาคอื่นๆที่ไม่ใช่แหล่งกำเนิด แต่หลายกรณีก็กลับไม่ใช่เช่นกัน และด้วยปัญหาที่ type specimens หรือตัวอย่างต้นแบบของแมงมุมชนิดนี้ได้สูญหายไปในช่วงสงครามโลก ทำให้ปัญหาทางอนุกรมวิธานของแมงมุมแม่หม้ายมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น Dr. Norman I. Platnick ผู้เชี่ยวชาญแมงมุม ได้กล่าวว่า “ ชื่อ L. mactans นั้น ใช้ได้ถูกต้องกับแมงมุมแม่หม้ายดำที่พบในอเมริกาเท่านั้น เนื่องจากเป็นเพียงแหล่งเดียวที่ถูกต้องที่แมงมุมชนิดนี้ถูกเก็บตัวอย่างได้ ไม่ควรใช้ชื่อนี้กับแมงมุมที่ลักษณะคล้ายกันกับแมงมุมแม่หม้ายดำที่พบในภูมิภาคอื่นจนกว่าจะมีการตรวจสอบชนิดที่ถูกต้อง”  ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยซึ่งมีแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลที่ใช้ชื่อ Latrodectus geometricus กระจายอยู่ในหลายภาค ข้อเท็จจริงคือแมงมุมในประเทศไทยนี้อาจไม่ใช่ L. geometricus อย่างที่เข้าใจ ในทำนองเดียวกันกับในกรณีแมงมุมแม่หม้ายดำ ตัวอย่างต้นแบบ (Holotype) ของแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลได้สูญหายไป จึงไม่ทราบว่าแหล่งที่พบแมงมุมชนิดนี้ครั้งแรกคือที่ใด แต่บางเอกสารได้กล่าวว่าน่าจะเป็นประเทศโคลัมเบีย จึงเหลือเพียงภาพวาดและภาพถ่ายในเอกสารบางเล่มเท่านั้น ดังนั้นในปัจจุบันจึงใช้การเทียบสีสันกับเอกสารเท่านั้น ทำให้การแพร่กระจายของแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลกว้างทั่วโลก Dr.Jeremy Miller ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มแมงมุมแม่หม้ายได้กล่าวว่า ”L. geometricus เป็นกลุ่ม complex คือมีแมงมุมหลายชนิด (ไม่ต่ำกว่า 6 ชนิดทั่วโลก) ที่ใช้ชื่อเดียวกันอยู่ โดยทั้งหมดมีสีสันใกล้เคียงกัน ซึ่งการจำแนกต้องใช้เวลาเก็บตัวอย่างจากทั่วโลกเพื่อเปรียบเทียบสัณฐานวิทยาและการศึกษาทางชีวโมเลกุลอย่างละเอียด ซึ่งเป็นงานที่หนักและต้องใช้เวลา และหากให้มีความสมบูรณ์ควรศึกษาเปรียบเทียบด้านพฤติกรรมด้วย”จากตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ากลุ่มแมงมุมแม่หม้ายเป็นกลุ่มที่จำแนกชนิดได้ยาก และไม่สามารถใช้สีสันในการจำแนกได้ และด้วยการใช้สีสันมาตัดสินชนิดแมงมุมโดยไม่ได้ศึกษาลักษณะอื่นประกอบ จึงทำให้เกิดความสับสนของข้อมูลจากแหล่งต่างๆอยู่เสมอ และประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือแมงมุมแม่หม้ายพื้นถิ่นมักโดนกำจัดทำลายเนื่องจากความเข้าใจผิดและไม่มีการตรวจสอบก่อนอย่างถี่ถ้วน อันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศไปอย่างไม่รู้ตัว เนื่องจากแมงมุมแม่หม้ายหลายชนิดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น (endemic species) ในหลายประเทศ เช่น Latrodectus katipo ในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งมีสถานะใกล้สูญพันธุ์และมีกฎหมายคุ้มครอง แมงมุมชนิดนี้มีความคล้ายกับ Latrodectus hasselti ในออสเตรเลียอย่างมาก แต่เนื่องจากการไม่ด่วนสรุปและมีการศึกษาอย่างรอบคอบจึงทำให้ทราบว่าเป็นแมงมุมคนละชนิด และเป็นสัตว์พื้นถิ่นที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ตรงจุดนี้พวกเราไม่ได้หวังว่าแมงมุมแม่หม้ายในประเทศไทยจะต้องได้รับการคุ้มครอง เพียงแต่หากพบพวกเค้าอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเป็นสัตว์ต่างถิ่นและเร่งทำลาย ควรศึกษาตรวจสอบให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นเราอาจกำลังทำลายแมงมุมที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศเราก็เป็นได้
 

Latrodectus katipoแมงมุมแม่หม้ายที่ได้รับการคุ้มครองในประเทศนิวซีแลนด์
(ที่มา http://aranearium.cz/cz/gallery.aspx?gen=Latrodectus&spe=katipo)


 
อันตรายของแมงมุมแม่หม้าย

พิษของแมงมุมแม่หม้ายมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Latrotoxin ซึ่งจัดเป็นพิษที่มีผลหลักต่อระบบประสาท (neurotoxin) โดยพิษจะทำให้เกิดช่องว่างบริเวณปลายเซลล์ประสาท ส่งผลให้แคลเซียมไอออน (Ca2+) ไหลเข้าสู่ปลายเซลล์ประสาทซึ่งเป็นกลไกให้เกิดการปล่อยสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ตลอดเวลา ทำให้เกิดการส่งกระแสประสาทอย่างต่อเนื่องและมากกว่าปกติ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็งจนเป็นอัมพาต ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตจะเกิดจากกล้ามเนื้อกระบังลมและกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงาน แต่แมงมุมกลุ่มนี้ไม่ได้อันตรายมากมายอย่างที่เข้าใจกัน พิษของแมงมุมกลุ่มนี้แม้มีการเปรียบเทียบให้ดูน่ากลัวเทียบกับพิษงูก็จริง แต่นั่นคือการเทียบพิษในปริมาณเท่ากันต้องใช้แมงมุมหลายสิบตัวถึงจะได้ปริมาณน้ำพิษมาเทียบกับพิษงูเพียงหยดเดียว ดังนั้นความจริงก็คือแมงมุมตัวเดี่ยวๆจะปล่อยพิษออกมาน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาตรมวลเลือดในร่างกาย ทำให้แค่เจ็บปวดเมื่อโดนกัด เขี้ยวของแมงมุมกลุ่มนี้มีขนาดเล็กมากมีเพียงแมงมุมเพศเมียเต็มวัยเท่านั้นที่สามารถกัดและจะต้องกัดย้ำหลายครั้งจึงจะทะลุผิวหนังที่หนาของมนุษย์ได้ แต่พฤติกรรมเช่นนี้แทบไม่พบเลยเนื่องจากกลุ่มแมงมุมแม่หม้ายไม่ใช่กลุ่มแมงมุมที่ดุร้าย แม้กระทั่งไปยุ่งในรังเค้าเค้าก็จะวิ่งหลบซ่อนตัวเสมอ แม้จะเป็นช่วงที่เฝ้าไข่อยู่ก็ไม่เคยแสดงอาการก้าวร้าว การกัดส่วนใหญ่เกิดจากการกดทับตัวแมงมุมเช่นใส่รองเท้าหรือถุงมือหรือเสื้อผ้าที่มีแมงมุมอยู่ ทำให้แมงมุมเจ็บและกัดย้ำเพื่อป้องกันตัว และอีกหนึ่งปัจจัยที่เชื่อว่าแมงมุมกลุ่มนี้กัดแล้วทำให้เสียชีวิตนั้น เป็นการตื่นตระหนกจนเกินเหตุ อัตราการตายจากแมงมุมกลุ่มนี้ถือว่าต่ำมาก (น้อยกว่า 5%) และข้อมูลส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศที่ประชากรมีภูมิต้านทานพิษต่ำกว่าบ้านเรา จะเห็นได้ว่าฝรั่งตัวโตๆโดนผึ้งต่อยก็แพ้จนเสียชีวิตได้

ความเข้าใจที่ถูกต้องกับแมงมุมแม่หม้าย

ในประเทศเขตหนาวอย่างอเมริกา แมงมุมแม่หม้ายดูจะเป็นแมงมุมกลุ่มเด่นและสามารถพบได้ทั่วไปตามบ้านเรือน พวกมันจึงเป็นกลุ่มแมงมุมที่มีความสำคัญทางสาธารณสุขในอันดับต้นๆของที่นั่น สาเหตุหนึ่งที่ทำให้แมงมุมกลุ่มนี้มีประชากรสูงก็เนื่องจากในประเทศอเมริกามีความหลากหลายของแมงมุมที่มีความต้องการทางนิเวศคล้ายกับแมงมุมแม่หม้ายน้อยนั่นเอง จึงทำให้ปัจจัยการแข่งขันด้านอาหารตลอดจนความหลากหลายของผู้ล่ามีผลน้อยมาก และด้วยการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงและแมงมุมในพื้นที่ที่ระบาดกลับทำให้ศัตรูธรรมชาติของแมงมุมแม่หม้ายน้อยลงไปอีก เมื่อกลับมามองที่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น ซึ่งน่าจะเป็นภูมิภาคที่แมงมุมแม่หม้ายสามารถดำรงชีวิตได้ดีกว่าอากาศที่หนาวเย็นอย่างในอเมริกาหรือยุโรป แต่แมงมุมแม่หม้ายกลับมีจำนวนประชากรไม่มากอย่างที่คิด และการระบาดของแมงมุมกลุ่มนี้แทบเกิดขึ้นไม่ได้เลยในประเทศไทย จากการศึกษาเกี่ยวกับแมงมุมกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ที่พบแมงมุม พบว่าขนาดประชากรจะลดลงเรื่อยๆจนหายไปในที่สุด สาเหตุหลักที่ทำให้ขนาดของประชากรของแมงมุมแม่หม้ายในประเทศไทยลดลงเนื่องมาจากไข่ถูกทำลายจากแตนเบียนในวงศ์ Trichogrammatidae นอกจากนั้นยังมีความหลากหลายของผู้ล่าโดยเฉพาะแมงมุมด้วยกันสูง จากการศึกษามักพบแมงมุมในวงศ์ Pholcidae และ Scytodidae อาศัยอยู่ในแหล่งเดียวกับแมงมุมแม่หม้าย โดยแมงมุมทั้งสองกลุ่มมักล่าแมงมุมแม่หม้ายเป็นอาหาร ดังนั้นความเข้าใจที่ว่าแมงมุมแม่หม้ายถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศและแพร่กระจายไปเกือบทั่วประเทศในเวลาอันรวดเร็วนั้นจึงเป็นไปได้ยากมาก ความเป็นไปได้ที่แม่แมงมุมที่ได้รับการผสมหรือถุงไข่ของแมงมุมจะติดเข้ามานั้นมีความเป็นไปได้ แต่โอกาสรอดของลูกแมงมุมในธรรมชาติกลับมีน้อยมาก จากการศึกษาในกรณีแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Latrodectus geometricus) ในประเทศไทยพบว่าแม่แมงมุมสามารถสร้างถุงไข่ได้ 20 -22 ถุง จากการผสมพันธุ์กับแมงมุมเพศผู้เพียงครั้งเดียว โดยวางห่างกันเฉลี่ย 1 อาทิตย์ ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความถี่ในการวางไข่ของแมงมุมคืออาหาร หากได้รับอาหารเพียงพอสม่ำเสมอความถี่ในการวางไข่ก็จะเพิ่มมากขึ้น ใน 1 ถุงไข่ อาจมีไข่จำนวนได้ตั้งแต่ 30 – 180 ฟอง โดยถุงไข่ชุดแรกๆจะมีปริมาณเยอะกว่าชุดหลัง ไข่ใช้เวลา 20 -22 วันในการฟักเป็นตัว และหลังจากฟักเป็นตัวแล้ว 1 อาทิตย์ ลูกแมงมุมจะเริ่มกินกันเอง ด้วยสาเหตุนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชากรของแมงมุมแม่หม้ายลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากผู้ล่าอื่นแล้ว แมงมุมแม่หม้ายก็กินกันเองด้วยเช่นกัน ดังนั้นในพื้นที่หนึ่งจะมีการกระจายตัวของแมงมุมห่างๆกัน ไม่หนาแน่น แสดงให้เห็นว่าศัตรูธรรมชาติเป็นตัวควบคุมประชากรแมงมุมแม่หม้ายอย่างมีประสิทธิภาพ และปัจจัยเสริมอีกประการหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบก็คือแมงมุมแม่หม้ายแต่ละชนิดต้องการสภาพนิเวศที่มีความเหมาะสมแตกต่างกัน นั่นคือพวกมันไม่สามารถที่จะอาศัยอยู่ได้ทุกที่ที่พวกมันกระจายไปถึง ได้มีการศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์โดยการนำเอา Latrodectus katipo ซึ่งมีประชากรน้อยและมักพบอาศัยบริเวณชายฝั่งทะเล นำไปปล่อยในบริเวณอื่นเช่นในเขตเมือง หรือป่าที่มีปริมาณอาหารซึ่งได้แก่แมลงมากกว่า จุดประสงค์เพื่อต้องการอนุรักษ์พวกมันนอกถิ่นอาศัยและเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น แต่กลับไม่สำเร็จ แมงมุมไม่สามารถอาศัยนอกถิ่นอาศัยของพวกมันได้และตายลงในที่สุด ในทำนองเดียวกันกับแมงมุมแม่หม้ายในบ้านเราพบว่าบางชนิดอาศัยอยู่เฉพาะบริเวณที่แห้งแล้งและมีอุณหภูมิค่อนข้างสูงจึงจะเจริญเติบโตลอกคราบได้ปกติ ในขณะที่บางชนิดต้องอาศัยในบริเวณที่มีความชื้นสูงจึงจะสามารถลอกคราบได้ ด้วยปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าการแพร่กระจายหรือการระบาดของแมงมุมแม่หม้ายไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พวกมันจะพบหนาแน่นในที่ที่มีความเหมาะสมเท่านั้นและประชากรที่มีมากในช่วงแรกจะค่อยๆลดลงและหายไปในบางพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม พวกเราก็หวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกท่านมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแมงมุมแม่หม้าย อย่างน้อยครั้งต่อไปการปรากฎตัวของพวกเค้าคงไม่สร้างความแตกตื่นเหมือนทุกๆครั้งที่ผ่านมา

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

โอ้ว...ความรู้มากมาย มาลงทะเบียนเรียนล่วงหน้าครับ เดียวเข้ามาอ่านต่อ  ^^

ความเห็นที่ 2

yesyesyes

ความเห็นที่ 3

yes

ความเห็นที่ 4

สุดยอด ขอ share นะครับ

ความเห็นที่ 5

yes สุดยอดครับ มีแต่เรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย

ความเห็นที่ 6

ไปสมุทรสงครามแถวอัมพวาทีไร ก็หวาดๆ อยู่เพราะมีการพบแมงมุมแม่หม้ายตามข่าวที่ว่า 

ความเห็นที่ 6.1

อ่านบทความแล้ว ครูเล็กยังกลัวอยู่ป่าวครับ

ความเห็นที่ 7

ช่วงที่ข่าวแมงมุมแ่หม้ายสีน้ำตาลบูมๆ ที่หนองบัวลำภูก้เจอ แต่ตอนนี้พยายามหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ ในบ้านผมเองเจอแต่ถุงไข่แห้งๆ แต่เจอศัตรูตามธรรมชาติของมันเยอะกว่าอย่างแมงมุมขายาว พยายามหาตัวอย่างให้คุณจูนหายากมาก ขอแชร์บทความด้วยคนนะครับ

ความเห็นที่ 7.1

ขอบคุณครับพี่ ประชากรจากทางนั้นตอนนี้หายากเต็มที

ความเห็นที่ 8

ที่ท่าตูม จ.สุรินทร์  มีเยอะมากครับ  แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล ตามห้องน้ำและโกดังเก็บของ  เคยจับใส่ขวดเลี้ยงดู  เป็นแมงมุมที่ไม่ค่อยกร้าวร้าวเท่าไหร่ครับ  เมื่อถูกตัวจะหดตัวเป็นก้อนกลมๆและจะหนีเป็นส่วนใหญ่

ความเห็นที่ 8.1

มีเยอะ จะรบกวนเก็บให้สักยี่สิบตัวได้มั้ยครับ จากสุรินทร์น่าสนใจมากครับ

ความเห็นที่ 9

เป็นบทความที่อ่านแล้วได้ความรู้มาก ๆ ครับ ขอบคุณครับ หายกลัวไปเยอะเลยครับ 

ความเห็นที่ 10

เขียนได้ดีนะจูน แล้วเมื่อไหร่จะไปเรียนต่อซักทีวะ

ความเห็นที่ 11

แมงมุงแม่ม่ายสีน้ำตาลไข่เป็นยังไงครับ     และมีแมงมุงที่ค้ายๆๆ แมงมุงแม่ม่ายสีน้ำตาลเปล่าครับ       
 

ความเห็นที่ 12

เจอตัวนึงที่บ้านไข่มีลักษณะกลมๆแต่มีปุ่มรอบๆดูคล้ายๆกับปลาปั๊กเป้า รังยุ่งเหยิงไม่มีระเบียบ ตัวแม่ตัวเล็ก ขายาวสีน้ำตาลสลับดำ  ลำตัวมีลายตรงท้องมีสีแดง  ตอนไล่จับมันรีบวิ่งหนีเลย คงเป็นแมงมุมแม่หม้ายพันธุ์อะไรซักอย่าง    ขอแค่ไม่ใช่แม่หม้ายน้ำตาลก็พอ
(จับใส่ถุงพลาสติกปิดสนิทมา 8 ชั่วโมงแล้วแต่ยังไม่ตาย ขังไว้ก็กลัวบาป จะฆ่าทิ้งซะก็กลัวว่าจะไม่มีให้ศึกษา เพราะไม่รู้ว่ามันจะโตกว่านี้รึเปล่า ตอนนี้ลำตัวเท่ากับหัวเข็มหมุดแน่ะ ใครรู้ช่วยบอกที)

ความเห็นที่ 13

ก๊อกๆๆๆ แวะมาตามให้ไปช่วยดูแมงมุมที่คล้ายๆ กับภาพที่คุณ coneman โพสต์ในนี้ค่ะ ที่บอร์ดนี้นะคะ http://www.siamensis.org/webboard/topic/35867#comment-36705 
ช่วยดูให้หน่อยค่ะว่าเป็นชนิดเดียวกันหรือไม่อย่างไร พบในบริเวณบ้านที่ จ.ขอนแก่น ค่ะ