น้ำเบียด: น้ำจืดไหล ปลาทะเลตาย

โดย: ผศ.สมหมาย เจนกิจการ  


 
ช่วงที่เิกิดปรากฏการณ์น้ำจืดไหลลงทะเล มันก็จะเป็นแบบภาพที่แนบมาคือ มวลน้ำจืดซึ่งมีน้ำหนักเบาจะลอยอยู่ที่หน้าผิวน้ำและมวลน้ำเค็มที่มีความเข้มข้นและน้ำหนักมากกว่าจะอยู่ด้านล่าง จากภาพจะเห็นว่าการแบ่งชั้นนั้นมันจะทำให้มวลน้ำเค็มไม่ได้สัมผัสกับอากาศ ปกติถ้ามวลน้ำจืดไม่มากประกอบกับการลมและคลื่นที่แรง จะทำให้ชั้นน้ำทั้งสองผสมกันไปในที่สุด

ถ้าหากเกิดในสภาพที่มีน้ำมวลน้ำจืดปริมาณมาก นั่นคือชั้นน้ำจืดจะหนามาก ซึ่งหากเกิดในวันที่ลมสงบ คลื่นไม่แรง การผสมของชั้นน้ำทั้งสองจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยทั่วไปแล้วชั้นน้ำจืดที่หลากมาในช่วงฤดูฝน มักจะมีดินตะกอนละลายอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งเราจะเห็นมันเป็นสีออกแดงอิฐ ตะกอนนี้จะเป็นตัวไปบดบังแสงทำให้แสงส่องลงไปถึงชั้นน้ำเค็มได้น้อยลง หรือไม่ถึงเลย ดังนั้นที่พื้นท้องทะเลของชั้นน้ำเค็มก็จะมืดมิด

ในสภาพปกติชั้นของน้ำเค็มจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สัตว์น้ำจำพวกต่าง ๆ กุ้งหอย ปู และปลาเป็นต้น รวมไปถึงแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ สัตว์น้ำที่ตายส่วนมากจะเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นท้องน้ำมากกว่า สัตว์ที่อยู่ผิวหน้าน้ำ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ทั่วไปแล้วในแหล่งน้ำทุกชนิด ช่วงกลางวันซึ่งเป็นช่วงที่มีแสงแดด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช โดยการสังเคราะห์แสงนี้จะเป็นการเปลี่ยนคาร์บอนได้ออกไซด์ที่อยู่ในน้ำให้เป็นน้ำตาล และได้ออกซิเจนเป็นผลพลอยได้ออกมาซึ่งคล้ายกันกับหน้าที่ของพืชบนบก ในขณะที่เวลากลางคืนที่ไม่มีแสง กระบวนการสังเกคราะห์แสงจะหยุด ไม่มีการผลิตออกซิเจน แต่แพลงก์ตอนพืชและสัตว์น้ำต่าง ๆยังคงต้องใช้ออกซิเจนเพื่อการหายใจ โดยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา และระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกกำจัดออกไปด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงที่เกิดขึ้นในวันถัดไป นอกจากนั้นออกซิเจนในน้ำยังได้มาเรื่อยๆ จากการละลายจากผิวหน้าที่มีคลื่นและลมช่วยทำให้มันผสมลงมายังมวลน้ำชั้นล่าง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การผสมกันชั้นน้ำทั้งสองในช่วงที่มีน้ำหลากมากจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป (การแบ่งชั้นจึงคงระยะเวลาอยู่ยาวนาน) ประกอบกับตะกอนที่ละลายอยู่ในชั้นน้ำจืดมีส่วนบดบังแสงไม่ให้ส่องลงไปในชั้นน้ำเค็มได้ไม่มาก ทำให้ชั้นน้ำเค็มเกิดสภาพที่เป็นเวลากลางคืนอย่างยาวนาน ซึ่งในที่สุดแล้วออกซิเจนจะค่อยๆลดลง ด้วยกระบวนการหายใจของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในขณะที่คาร์บอนได้ออกไซด์เกิดสะสมมากขึ้น การแบ่งชั้นทำให้ผิวหน้าของน้ำเค็มไม่ถูกกับอากาศโดยตรง การแพร่ของออกซิเจนจากผิวหน้าน้ำจึงมีปริมาณไม่มากตามไปด้วย ในที่สุดแล้ว บริเวณพื้นท้องน้ำจะมีออกซิเจนลดต่ำลงจนเกินกว่าที่พวกสัตว์น้ำจะมีชีวิตอยู่ได้ สัตว์จำเป็นต้องดิ้นรนไปหาจุดทีมีออกซิเจนมากกว่า ซึ่งโดยสัญชาตญาณแล้ว มันก็คือผิวหน้าน้ำ แต่การขึ้นสู่ผิวหน้าน้ำนั้น มีอันตรายที่ปลาพวกนี่นึกไม่ถึง

ในสภาพปกติสัตว์ที่อยู่ในน้ำจืดและน้ำเค็มจะมีสิ่งที่ระบบรักษาสมดุลย์เกลือแร่ที่แตกต่างกัน เราเรียกสิ่งนี้ว่าระบบออสโมซิส ซึ่งขออธิบายง่าย ๆ โดยยกตัวอย่างปลากระดูกแข็ง ในน้ำจืดปลาจะมีความเข้มข้นของเลือดมากกว่าสิ่งแวดล้อม ตามหลักการของออสโมซิส น้ำจะซึุ่มเข้าร่างกายปลา ดังนั้นปลาจึงจำเป็นต้องกำจัดน้ำส่วนเกินออกไปพร้อมๆ กับการเก็บรักษาเกลือไว้ในร่างกายให้มากทีสุด ตรงกันข้ามกับในน้ำเค็ม ที่สภาพแวดล้อมจะมีความเข้มข้นมากกว่าของเหลวในตัวปลา ดังนั้นแทนที่จะกำจัดน้ำปลาต้องรักษาน้ำให้มากทีสุดพร้อมๆ กับการขับเกลือออกให้มากที่สุด มีปลาบางพวกกลุ่มทีี่มีความสามารถพิเศษสามารถอาศํยอยู่ได้ทั้งในสภาพน้ำจืดและน้ำเค็ม  ถึงตอนนี้คงไม่ต้องแล้วครับว่า อันตรายของกลุ่มปลาหน้าดินพบเมื่อมันว่ายขึ้นมาอยู่ในชั้นน้ำจืดคือ การที่ระบบออสโมซิสของมันทำงานไม่ได้ ส่งผลให้ปลาช๊อคน้ำ และว่ายน้ำไร้ทิศทางถูกจับได้ง่าย โดยทั่วไปแล้วปลาทีอยู่ผิวหน้าน้ำของน้ำเค็มมักจะเป็นปลากลุ่มพิเศษคืออยู่ในสภาพที่เป็นน้ำกร่อย หรือน้ำจืดได้ และยังสามารถเคลื่อนย้ายหนีได้เร็ว จึงไม่ค่อยพบโศกนาฏกรรมหมู่ของปลากลุ่มนี้มากนัก

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

สุดยอดมากครับ

ความเห็นที่ 2

สงสัยต้องไปขอความรุ้หน่อยแล้วครับ พอดีความรุ้น้อย

ความเห็นที่ 3

ต้องแท็คไปโชว์ในเฟสซักหน่อย

ครู โผ้มมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมม

ความเห็นที่ 3.1

อย่าเลย กลัวดัง cheeky

ความเห็นที่ 4

สงสารปลาน้ำเค็ม sad

ความเห็นที่ 5

ขอบคุณ คุณนณณ์มากครับที่เอามาลงให้