"นกศิวะปีกสีฟ้า สกุณาป่าดิบเขา"

เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์ ภาพ: เจริญชัย โตไธสง
เรื่องเล่าในวงการนักดูนก บนแดนม่านดอยของป่าดิบเขา สายหมอกลอยระเรี่ยปะทะใบหน้า ยามเช้าเหล่านกนานาชนิดเริงร่าหากินแมลงและผลไม้สุกเป็นอาหาร ช่างภาพนกคนหนึ่ง ประทับอยู่หลัง "อาวุธ" ของเขา กล้องและเลนส์คู่กายกำลังเก็บภาพนกฝูงหนึ่งที่ออกหากินบนพุ่มไม้ตรงหน้า นักดูนกนิรนามคนหนึ่งผ่านมา ด้วยความสนใจใคร่รู้อยากดูนกที่ช่างภาพกำลังถ่ายอยู่ จึงเข้าไปถามช่างภาพด้วยความสุภาพและเสียงเบาแทบกระซิบ "ถ่ายนกอะไรอยู่ครับ?" นักดูนกหนุ่มเอ่ยขึ้น

แทบไม่ได้หันหลังมาตอบ ช่างภาพตอบกลับมาในขณะมือทั้งสองยังประคองกล้องปรับโฟกัสถ่ายภาพนกต่อไป "นกศิวะ"

ด้วยความรู้สึกที่ยากจะบอกได้ พ่อหนุ่มนักดูนกมือใหม่ ค่อยๆ ถอยห่างออกมาจากตรงนั้น ด้วยความสับสนและครุ่นคิด ทำไม เราถามเขาดีๆ เขากลับตอบเราไม่สุภาพเอาเสียเลย คำตอบจากช่างภาพที่ตอบว่า "นก...สิว่ะ" ยังก้องอยู่ในหัวของเขา...ฮา  

พอได้ยินชื่อของ “นกศิวะ”--ซึ่งมีตัวเป็นจริงๆ ไม่ใช่คำตอบไม่สุภาพ! เราคงนึกถึง “เทพเจ้า” เป็นอันดับแรก ชื่อของนกกลุ่มนี้ น่าจะถูกตั้งมาจากสีสันของนกศิวะปีกสีฟ้า (Blue-winged Siva) นี่เอง ที่ทำให้คนอินเดียนึกถึงพระศิวะในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ผู้มีกายเป็นสีขาว นกศิวะ (Siva หรือ Minla) ในเมืองไทยนั้น มีด้วยกันสองชนิด มีหน้าตาคล้ายกันแต่สีสันต่างกันมาก อีกชนิดที่พบได้ในไทยคือ นกศิวะหางสีตาล (Bar-throated Minla) ที่ใครได้ไปยอดดอยอินทนนท์ เป็นต้องประทับใจในความเชื่องของพวกมัน จนใครหลายคน ตั้งฉายาชื่อในวงการให้มันเสียใหม่ เป็น "นกกระจอกดอยอินทนนท์" 

นกศิวะปีกสีฟ้า (Blue-winged Siva) เป็นนกขนาดเล็ก จับขึงพืดวัดความยาวจากปลายปากจรดปลายหางอยู่ที่ 16 เซนติเมตร ลำตัวด้านบนมีสีเทาแกมน้ำตาล กระหม่อมและขนปีกมีสีเข้มกว่า ขนปีกชั้นนอกสุดเป็นสีน้ำเงินเข้ม จนเป็นที่มาของชื่อ "ปีกสีฟ้า" (ทำไม? ไม่ชื่อปีกสีน้ำเงิน อันนี้คงไปถามหมอบุญส่ง ผู้ตั้งชื่อและเขียนคู่มือนกยุคเริ่มต้น แต่ท่านไม่อยู่รอให้เราถามเสียแล้วสิ) แต่เมื่ออยู่ในที่ทึบแสงจะดูเหมือนเป็นสีดำ มีม่านตาสีขาวกว้าง คิ้วขาว และมีแถบสีดำเหนือคิ้วขึ้นไปอีก ดูเหมือนมีตาสองชั้น เฮ้ย! คิ้วสองชั้น (ตาสองชั้นมันมีแต่ในคนนี่น่า)

บริเวณไหล่ ตะโพก และขนคลุมโคนหางด้านบนมีสีเทาแกมน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลแดง ลำตัวด้านล่างมีตั้งแต่สีขาวจนถึงน้ำตาลอ่อน ท้องสีขาว เป็นนกที่มีหลายชนิดย่อย ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย นกตัวผู้และตัวเมียมีหน้าตาและสีสันคล้ายคลึงกัน

เรามักพบนกชนิดนี้อยู่เป็นฝูงขนาดเล็ก และอาจหากินร่วมกับนกกินแมลงขนาดเล็กชนิดอื่นๆ โดยอาศัยและหากินตามยอดไม้พุ่มและต้นไม้ขนาดกลางหรืออาจลงหากินบนพื้นดิน กินแมลง ผลไม้และหนอนเป็นอาหาร โดยมีสัดส่วนของอาหารเป็นผลไม้มากกว่าแมลง

ในไทยแลนด์บ้านเรา พบนกชนิดนี้ได้ทุกภาค ยกเว้นภาคกลางและตะวันออกเฉียงใต้ มันอาศัยตามป่าดงดิบเขาในระดับความสูงตั้งแต่ 900-2600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ดังนั้น อยากยลโฉม "นกเทพเจ้า" ต้องพาตัวเองไปเดินเตร่บนป่าตามดอยต่างๆ เช่น ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ป่าภูหลวง จังหวัดเลย หรืออุทยานแห่งชาติภหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก มักไม่ทำให้เราผิดหวัง

แต่ถ้ากำลังดูนกกลุ่มนี้อยู่ แล้วมีเพื่อนดูนกมือใหม่มาถาม ตอบชื่อมันเต็มๆ น่ะครับ อย่าตอบว่า "นกศิวะ" สั้นๆ เดี๋ยวเขาจะหาว่าวงการนี้ พูดจาไม่สุภาพ...ฮา

***ปล. ในขณะนั่งเขียนบทความอยู่นี้ ป่าดิบเขาที่เหลือไม่กี่ผืนแล้วในเมืองไทย ยังคงถูกบุกรุกแผ้วถางอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เช่น ไร่ข้าวโพด แปลงกะหล่ำปลี คุกคามการอยู่รอดของสรรพชีวิตในป่าบนแดนดอย

หวังใจเหลือเกินว่าป่าที่ผมยกตัวอย่างไปข้างบน จะยังมีนกให้เห็น มีป่าไม้ให้เราได้สูดอากาศดีๆ หากลูกหลานเรา มาเปิดอ่านบทความนี้ อีกสิบหรือยี่สิบปีหลังจากนี้

 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

สวยจังครับ

ความเห็นที่ 2

yes

ความเห็นที่ 3

สวยจังเลยค่ะ ไปมาแล้วแต่ไม่ได้ดูนกเลย ได้ยินแต่เสียงค่ะ