'จอมยุทธแห่งบึงน้ำ'...อาคันตุกะจากแดนไกล

เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์ ภาพ: กุลพัฒน์ ศรลัมภ์

วันนี้ เรามาพูดเรื่องนกที่ใกล้น้ำกันเสียหน่อย หลายคนอาจส่ายหัว ทำหน้าเอียน เพราะที่ผ่านมา อยู่กับน้องน้ำมานับเดือน จนเท้าเริ่มเปื่อย ฮ่องกงฟุตเริ่มถามหา พวกเขาคงคิดในใจ อะไรที่เกี่ยวกับ “น้องน้ำ” อย่าพึ่งพูดตอนนี้ได้ไหม? ส่วนน้องนกน้ำพี่เห็นมาเป็นเดือนแล้ว นกพิราบ นกกระจอก ก็เป็น “นกน้ำ” ทั้งนั้นแหล่ะ เพราะบ้านพี่น้ำเพียงคางเองน้องเอ๋ย

โธ่! มิใช่อย่างนั้นสักกะหน่อยคุณพี่ ผมกำลังชวนมาทำความรู้จักกับนกคู่คุ้งน้ำสักตัว นกกระเต็นนะครับ

“อ๋อ! “พายุนกเต็น” น่ะเหรอ? ไม่เอาอีกแล้ว”

เฮ้ย ถอนใจหนึ่งทีก่อนจะพูดต่อ “นกกระเต็นคร้าบพี่ ตัวเป็นๆ ตีปีกพั่บๆ จับปลาในน้ำกิน” เออ อย่างนี้แหล่ะ คนไทยตอนนี้ จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว “น้องน้ำ” ทำเอาสูญเสียและเสียศูนย์ไปตามๆ กัน

นักกินปลาตัวยง  เป็นใครไม่ได้ หากมิใช่บรรดา “นกกระเต็น” ทั้งหลาย ที่มีอาชีพหากินอยู่กับลำคลองหนองน้ำ สัตว์น้ำอย่างกุ้ง ปู ปลา คืออาหารหลัก ในดินแดนขวานทองนี้ มีนกนักกินปลาอาศัยอยู่ถึง 13 ชนิด กระจายทั่วตามแหล่งน้ำทุกที่ไม่ว่าตามป่าหรือในเมือง ทั่วทุกแห่งหตำบล ตราบที่สายน้ำยังคงไหลและใสสะอาด มีอาหารให้บรรดานักล่าปลาได้พึ่งพิง

นอกจากบรรดานักล่าปลาขาประจำสัญชาติไทย เช่น นกกระเต็นอกขาว ที่พบได้แทบทุกแหล่งน้ำทั่วประเทศ พอถึงช่วงฤดูอพยพ เรามีนักล่าปลาต่างแดน มาเยือนอีกถึงสี่ชนิด คือ นกกระเต็นเฮอร์คิวลิส (Blyth’s Kingfisher), นกกระเต็นน้อยธรรมดา (Common Kingfisher), นกกระเต็นน้อยหลังดำ (Oriental Dwarf Kingfisher), นกกระเต็นหัวดำ (Black-capped Kingfisher)
 

นกกระเต็นน้อยธรรมดา Common Kingfisher นกน้อยนักล่าอีกตัวที่อพยพเข้ามาในไทย และพบได้ไม่ยากนัก


หากเรียงลำดับวันเวลาในการแลนดิ้งลงจอดเมืองไทย ของนกกระเต็นอพยพแต่ละชนิด ต้องเริ่มต้นที่ เจ้ากระเต็นน้อยทั้งสองชนิดก่อน คือ นกกระเต็นน้อยธรรมดา และนกกระเต็นน้อยสามนิ้วหลังดำ เราพบมันได้แต่ต้นเดือนสิงหาคม ต่างกันเพียง ชนิดหลังเจ้าหลังดำ เป็นนกอพยพผ่าน (Passage migrant) พบได้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม จนอาจถึงกลางเดือนตุลาคม ในช่วงต้นฤดูอพยพของนกเท่านั้น เจอเพียงไม่กี่วัน และประชากรมีไม่มาก หายากกว่าเจ้ากระเต็นน้อยธรรมดา หลังจากนั้น ช่วงกลางเดือนกันยายน เราจะสามารถพบนกกระเต็นหัวดำได้ นกกระเต็นน้อยธรรมดาและนกกระเต็นหัวดำ เป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ (winter visitor) ซึ่งจะอยู่ทำมาหากิน แบบยึดทำเลไหนทำเลนั้น ยาวไปจนถึงช่วงเดือนเมษายน ถึงบินอพยพกลับ

เอาเป็นว่า เรามาทำความรู้จักทัพกระเต็นอพยพสักชนิด เริ่มที่นกกระเต็นหัวดำ ชวนผู้อ่านทำตาปรือๆ ชวนจินตนาการ (ถ้าเกิดให้หลับตาจินตนาการ พวกคุณจะอ่านบทความผมยังไง?) สู่บรรยากาศช่วงฤดูเหมันต์ ในเมืองกรุงสายลมหนาวพัดผ่านมาถึงแล้ว และดูคล้ายจะหอบสิ่งมหัศจรรย์จากธรรมชาติติดมาด้วย

ทุกๆ เช้าในฤดูหนาว เด็กชายในชุดนิสิต จะออกจากหอพักในมหาวิทยาลัยก่อนเวลาเรียน สักครึ่งชั่วโมง ก่อนถึงห้องเรียน เขาจะมายืนด้อมๆ มองๆ กวาดสายตาไปทั่ว ราวกับค้นหาอะไรสักอย่าง บึงน้ำหลังอาคารสำนักทะเบียนและประมวลผล ไอหมอกยังลอยอ้อยอิ่งเหนือผืนน้ำ ใบของต้นหูกวาง และต้นอินทรชิตที่ปลูกอยู่รอบๆ บึงน้ำปลิดใบสีน้ำตาลเหลืองหล่นลอยเคว้งกลางอากาศก่อนลงสู่ผิวน้ำ ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์มีดอกสีชมพูเต็มต้น กระรอกหลายตัวกำลังง่วนกับน้ำหวานจากดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ในมื้อเช้า

ก่อนเด็กชายจะหันหลังกลับ เสียงร้อง “ครี้ ครี้ ครี้ ครี้” ดังขึ้นกระชั้นถี่ เขามองไปยังเจ้าของเสียงคือ นกตัวเท่านกพิราบตัวหนึ่ง มันบินมาจากอีกฝั่งตรงข้ามของบึงน้ำ ปากของมันแบนยาวแหลมเป็นสีแดงสดใส หัวของมันสีดำ ตัดกันดีกับบริเวณลำตัวด้านบนที่มีขนสีน้ำเงินเข้มสด เขายังเห็นอีกว่า ที่ปลายปีกของมันมีแถบสีขาวขนาดใหญ่ แล้วโผเข้าเกาะบนตอไม้กลางน้ำที่ไม่ไกลจากริมฝั่งที่เขายืนอยู่มากนัก

แถบสีขาวที่ปลายปีกขนาดใหญ่ จะเห็นได้ก็ต่อเมื่อ เจ้ากระเต็นหัวดำออกบินเท่านั้น
 

“สวยอะไรขนาดนี้” เด็กชายอุทานขึ้นแผ่วเบา เขาค่อยๆ เดินแทบย่องเข้าไปใกล้ให้มากที่สุด และระวังที่จะทำให้นกระแวงจนบินหนีไปเสียก่อน หัวสีดำและปากสีแดงสดของมัน ช่างตัดกันดีกับคอและอกที่เป็นสีขาวอมเหลือง ไล่ลงมาถึงท้องเป็นสีน้ำตาลเหลือง ขาสั้นสีแดงสด สีสันสดใสทั้งตัว จะไม่ให้เขาหมดเวลาไปกับมันได้อย่างไร?

แล้วสักพักมันก็ไม่รอช้า โชว์ความเป็นนักล่าตัวฉกาจ พุ่งลงน้ำด้วยความเร็วเสียจนเด็กชายดูแทบไม่ทัน ตัวนกขนาดเท่านกพิราบนกเขา ไม่ใช่เล็กเลย เสียงลำตัวของมันจึงกระทบกับผิวน้ำดังตื่นใจทีเดียว ตัวนกขนาดเท่านกพิราบนกเขา ไม่ใช่เล็กเลย ครั้งแรกมันบินกลับขึ้นมาเกาะตอด้วยมือเปล่า เฮ้ย! ปากเปล่า แล้วสะบัดขนที่ชุ่มน้ำของมันสักพัก ก่อนจะเริ่มทำงานใหม่อีกครั้ง

เจ้ากระเต็นหัวดำมองหาปลาอยู่บนตอไม้ มันคงเห็นเหยื่อแล้วจึงพุ่งลงไป หากมีกล้องมาจับความเคลื่อนไหวแล้วถ่ายทอดสด แบบ slow motion เราจะเห็นเทคนิคในการจับปลาในน้ำมาเป็นอาหาร มันจะตีปีกเร่งความเร็วขึ้นเมื่อใกล้ถึงผิวน้ำ พุ่งลงในระดับ 45 องศา นกกระเต็นจะหลับตาเมื่อลงน้ำและจับปลาด้วยจะงอยปากแบนตรง ที่สามารถจับปลาตัวลื่นๆ ในน้ำได้อย่างสบาย แล้วบินกลับมากลืนกินปลาทั้งตัวลงกระเพาะบนกิ่งไม้ที่เกาะอยู่เดิม สมราคาฉายา “Kingfisher--ราชานักล่าปลา”
 

นกกระเต็นหัวดำ Black-capped Kingfisher หนึ่งในนักกินปลาที่มีสีสันสดสวย


นักวิทยาศาสตร์ประเมินความเร็วในการจับปลาในน้ำของมันว่า ใช้เวลาเพียง 1/50 วินาที เท่านั้น รวดเร็วขนาดนี้ ก็ยากที่เหยื่อจะหลุดรอดจาก “หอกแทงปลา” ที่พุ่งลงไปได้

วันหนึ่งในฤดูหนาวของปีถัดมา เด็กชายยังคงตื่นแต่เช้า และมารอดู “นกกระเต็นหัวดำ” ขวัญใจขาประจำที่กลับมาทักทายเขาราวเพื่อนเกลอทุกๆ ปี เขาเคยอ่านหนังสือ “นกในแหลมผักเบี้ย” ซึ่งคุณฟิลิป ดี ราวด์ นักปักษีวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล เขียนไว้ในเล่มถึงนกชนิดนี้ว่า นกกระเต็นหัวดำตัวเดิมที่ได้จับติดห่วงขา (banding)—วิธีการติดตามหรือศึกษาประชากรนกอพยพวิธีหนึ่ง โดยการใส่ห่วงขาคล้ายแหวนประจำตัวนกแต่ละตัว ใช้สีที่ห่วงขาบอกว่าเป็นนกตัวเดิมหรือเปล่ากับที่เคยจับติดห่วงขาไป มันกลับมาหากินในพื้นที่เดิมเหมือนปีก่อน

หลังจากได้พบกันในปีแรก เด็กชายเริ่มออกไปดูนกตามสถานที่ต่างๆ อย่างเอาจริง เขาได้พบเจอนกกระเต็นหัวดำตัวอื่นๆ อีก ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นตามชายน้ำ แหล่งน้ำทั่วไป ตามป่าชายเลน ชายฝั่งทะเล และบริเวณทุ่งนา ขอให้เป็นแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารอันโอชะของพวกมัน นอกจากปลาที่อาหารแล้ว มันยังจับปู กบ สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กบนพื้นดิน หรือโฉบแมลงกลางอากาศกินด้วย

ผ่านไปหลายปี เด็กชายเติบโต กลับมายืนอยู่ที่ริมบึงน้ำอีกครั้ง ไม่มีเสียงร้อง “ครี้ ครี้ ครี้ ครี้” แหลมดังกระชั้นถี่อีกต่อไปแล้ว มีเพียงเสียงดังอึกทึกของเครื่องจักรตอกเสาเข็ม สำหรับเนรมิตอาคารก่อสร้างอีกสักอาคาร บึงน้ำตรงหน้าถูกถมทับด้วยดินไปมากเกินกว่าครึ่ง โครงสร้างเหล็กขึ้นโด่เด่มาแทนที่นกกระเต็นหัวดำ เคยเกาะมองหาปลาในบึงน้ำอยู่ตรงนั้น

เช่นเดียวกับทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย แหล่งน้ำหรือเส้นทางน้ำไหลผ่านถูกกั้นขวางหรือเปลี่ยนแปลง  รีสอร์ทและสนามกอล์ฟหลายแห่ง ซึ่งสร้างบนพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ กีดขวางทางไหลของน้ำ และลดพื้นที่ป่าธรรมชาติ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนฟองน้ำ คอยซับน้ำฝนที่ตกลงมาแล้วเก็บไว้ในดินก่อนจะค่อยปล่อยไหลออกมาทีละน้อยตามลำธารหรือแม่น้ำ การขยายถนนในหลายๆ สาย เช่น จากถนนสี่เลนเป็นสิบเลนลดทางไหลของน้ำ คลองหลายสายที่เคยเป็นทางไหลของน้ำหลีกทางให้กับความเจริญ หมู่บ้านจัดสรรอีกจำนวนไม่น้อยซึ่งวางผิดที่ ทำให้เหลือทางน้ำไหลน้อยนิด

เมื่อแหล่งน้ำและทางน้ำไหลหายไป มหาอุทกภัยที่มาเยือนชาวไทยเมื่อปลายปี 2554 บอกเราอีกหนแล้วใช่ไหมว่า ไม่ใช่เฉพาะนกกระเต็นหรอก ที่เดือดร้อน! 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

สวยมากค่ะ....สวยจนคู่ควรที่จะได้อยู่ในธรรมชาติต่อไปอีกนานแสนนาน
การหายไปของสิ่งมีชีวิตหนึ่งอย่าง ค่อยๆส่งผลกระทบที่คืบคลานอย่างช้าๆกับมนุษย์
แต่คนส่วนมากมักจะไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งเกิดมหันตภัยขึ้นแล้ว จึงค่อยหาทางป้องกัน

เป็นกำลังใจให้คนที่ยังเห็นคุณค่าของสายใยความสัมพันธ์ในธรรมชาตินี้ เสมอนะคะ
ถึงเราจะเป็นกำลังที่ไม่ใหญ่มากในสังคม แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีใครคอยดูแลธรรมชาติเลย
ช่วยกันดูแลธรรมชาติ เพื่อตอบแทนที่ธรรมชาติดูแลเรา smiley

ความเห็นที่ 2

อืมม์ อ่านแล้วเกิดข้อสงสัยขึ้นมาเลยครับ(จริงๆก็สงสัยมานานแล้ว)...ว่าพวกนกเวลามันดิ่งลงมาจากที่สูง มันสามารถเพิ่มความเร่งให้สูงกว่าแรงโน้มถ่วงปกติได้ด้วยหรือเปล่าครับ?  angel

ความเห็นที่ 3

ผมเคยเจอแถวบ้านผมครับ  ป้อมพระจุลฯ  ใครว่างก็มาเที่ยวกันนะครับ  เผื่อโชคดีเจอน้องกระเต็น  เอ๊ย นกกระเต็นหนะครับ

ความเห็นที่ 4

เป็นกลุ่มนกตัวโปรดเลยค่ะ เพราะชอบกินปลาเหมือนกัน...สมชื่อ Kingfisher