กบว้ากใหญ่ (หมาในน้ำ)

เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์ ภาพ: อนุสรณ์ ปูเครือ

เสียงกบต้องร้อง “อ๊บ อ๊บ” คงอยู่ในความนึกคิดของเรา แต่ไม่ได้หมายความว่า กบทุกชนิดต้องร้องเสียง “อ๊บ อ๊บ” เท่านั้น

หากเรามีโอกาสเดินตามนักวิจัยที่ศึกษาสัตว์กลุ่มนี้ ส่องไฟหากบเขียดในตอนกลางคืน ริมลำห้วยแถวภาคใต้ตอนล่าง เราอาจได้ยินเสียงร้อง “ว้าก ว้าก” นั่นแหล่ะครับ เสียงร้องของ “กบว้ากใหญ่” อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถจดจำได้ง่าย แต่ถ้าไม่นึกว่าเป็นกบ ก็อย่าไปทักว่า ลูกหมาที่ไหนมาร้องอยู่แถวนี้ล่ะ เดี๋ยวนักวิจัยเขาจะอมยิ้มเอา...ฮา

ครั้งหนึ่ง ที่อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จังหวัดสตูล เคยนำ "กบว้ากใหญ่" มาเป็นจุดเด่นของอุทยานฯ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวไปหาดูตัวมัน ในฐานะ “หมาน้ำ” ด้วยน้ำเสียงที่ว่ากันว่า คล้ายกับเสียงร้องของลูกหมา

 “หมาน้ำ” ชนิดนี้ มีขนาดลำตัว 60-95 มิลลิเมตร (ความยาวของลำตัวสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พวกกบ เขียด ปาด ฯลฯ วัดจากปากถึงก้น) ลำตัวสีเทาอมม่วง มีจุดแต้มสีเทาดำหรือเหลือง ขอบปากมีจุดสีเข้ม ตาสีแดงส้ม ผิวตามตัวด้านบนมีตุ่มกลม ข้างลำตัวมีต่อมใหญ่ นอกจากเสียงมันที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว หน้าตาสีสันของมันก็ไม่เหมือนใคร จดจำได้ไม่ยากนัก

ส่วนปลายนิ้วตีนของมัน แผ่ออกเป็นแผ่นใหญ่ ระหว่างนิ้วตีนหลัง มีแผ่นหนังยึดเต็มความยาวนิ้วตีน--หลายคนอาจสงสัย ว่าจะดูอะไรมันละเอียดจนถึงบาทาของมัน จริงๆ แล้ว นิ้วตีนของสัตว์กลุ่มนี้ มีความน่าสนใจและบอกถึงแหล่งที่อยู่ของมันได้เป็นอย่างดี เช่น ปาด (F. Rhacophoridae) พวกมันมีแผ่นหนังยื่นออกมารอบปลายนิ้ว มองดูคล้ายนิ้วตีนติดแผ่นดิสก์ แท้จริงแล้ว แผ่นหนังที่นิ้วตีนกลมๆ นี้ ช่วยให้พวกมันปีนป่ายตามต้นไม้ได้เป็นอย่างดี เราจึงพบพวกปาดเกาะแปะตามผนังห้องน้ำหรือต้นไม้ได้เหนียวแน่นทีเดียว หรือ กลุ่มกบลายหิน (Amolops sp.) พวกนี้ ก็มีแผ่นกลมที่ปลายนิ้วเช่นเดียวกับกลุ่มปาด แต่ไม่ใช่ว่ามันก็อยู่อาศัยปีนป่ายบนต้นไม้เหมือนกัน แต่เพราะกบลายหินทั้งหลาย อาศัยหากินบริเวณแก่งหินที่น้ำไหลเชียวในบริเวณลำธาร มันก็เลยพัฒนา "แผ่นดิสก์" มาติดที่ปลายนิ้วเช่นเดียวกัน

นอกจากอุทยานแห่งชาติทะเลบันแล้ว เราสามารถพบกบชนิดนี้ได้ทั่วไป ในภาคใต้ตอนล่าง บริเวณใกล้หนองน้ำ หรือลำธารที่น้ำไหลไม่แรงนัก ตลอดจนสวนยางที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงในป่าพรุหรือแหล่งน้ำนิ่ง เช่น อ่างเก็บน้ำในป่าดิบชื้น เป็นต้น

แต่การทำลาย "บ้าน" ซึ่งคือป่าพรุหรือป่าดิบชื้นที่พวกมันอาศัยอยู่ การแผ้วถางเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้พื้นที่อาศัยลดลงหรือหายไป แล้วการใช้สารเคมีในการเกษตร ทำให้จำนวนประชากรของกบว้าก และกบหลายชนิดลดลงหรืออาจสูญพันธุ์ในที่สุด

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ขอบคุณบทความที่ให้ความรู้ บวกกับความสนุก และเข้าใจง่ายค่ะ 

ความเห็นที่ 2

ขอบคุณสำหรับข้อมูลคะ
มองจากภาพตัวเเล้ว คิดว่าจะจำหน้าตาของมันได้ เเต่พอเจอในสภาพเเวดล้อมจริง ก็ยังงงว่าเป็นชนิดไหนกันเเน่ มีภาพของฝ่าตีนมันรึป่าวคะ (ขอบคุณค่ะ)

ความเห็นที่ 3

ขอบคุณสำหรับข้อมูลคะ
มองจากภาพตัวเเล้ว คิดว่าจะจำหน้าตาของมันได้ เเต่พอเจอในสภาพเเวดล้อมจริง ก็ยังงงว่าเป็นชนิดไหนกันเเน่ มีภาพของฝ่าตีนมันรึป่าวคะ (ขอบคุณค่ะ)

ความเห็นที่ 4

ขอบคุณสำหรับข้อมูลคะ
มองจากภาพตัวเเล้ว คิดว่าจะจำหน้าตาของมันได้ เเต่พอเจอในสภาพเเวดล้อมจริง ก็ยังงงว่าเป็นชนิดไหนกันเเน่ มีภาพของฝ่าตีนมันรึป่าวคะ (ขอบคุณค่ะ)