กระโถนพระฤาษี ราชินีแห่งกาฝาก

เรื่องและภาพ: อภิชาติ ส่องแสงจันทร์

กระโถนพระฤาษี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapria himalayanaGriff.น้อยคนนักที่จะรู้จักหรือได้เห็นตัวเป็นๆของเจ้ากระโถนพระฤาษีที่ว่านี้ แม้แต่ตัวของผมเองก็เพิ่งมาทำความรู้จักกับกระโถนพระฤาษีก็ตอนมาเขียนเรื่องนี้แหละครับ… ผมได้เห็นกระโถนพระฤาษีครั้งแรกเมื่อปี 2552 เมื่อครั้งที่ผมไปเดินป่าขึ้นภูสอยดาวกับเพื่อนๆ ที่ผมเห็นครั้งนั้นเป็นเพียงดอกตูมๆ 2 ดอกเท่านั้นเอง ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นก็ตื่นเต้นเล็กน้อยแต่ในใจลึกๆก็เสียดายว่าทำไมมันไม่บานให้เราเห็น เพราะผมก็พอจะคุ้นหน้าตาของกระโถนพระฤาษีจากนิตยสารท่องเที่ยวหลายฉบับมาก่อนแล้ว ผมเลยรีบเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกหลังจากนั้นผมก็ลืมมันไป…

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2554 ผมได้ขึ้นไปบนดอยสุเทพ-ปุย โดยวัตถุประสงค์หลักของผมไม่ได้ตั้งใจไปดูกระโถนพระฤาษีเลย แม้แต่จะคิดในหัวก็ไม่มี วัตถุประสงค์หลักของผมก็คือตั้งใจจะขึ้นไปดูดอกนางพญาเสือโคร่ง (Prunus cerasoides) ที่ขุนช้างเคี่ยน ซึ่งก็ผิดหวังเล็กๆอีกตามเคยเพราะดอกนางพญาเสือโคร่งที่ขุนช้างเคี่ยนในวันที่ผมไปนี้ยังไม่บานเลยเห็นมีบานอยู่แค่บางต้น สองสามปีผ่านมานี้ดอกนางพญาเสือโคร่งที่ขุนช้างเคี่ยนบานไม่ค่อยจะพร้อมกันหรือบางต้นก็ไม่บานเอาเสียเลยก็มี อาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากพวกเราอีกนี่แหละ!!! เลยได้ภาพดอกนางพญาเสือโคร่งมาเล็กน้อย หลังจากเก็บภาพดอกนางพญาเสือโคร่งเสร็จผมก็ขับรถกลับมายังลานกางเต็นท์ดอยสุเทพ-ปุยเพื่อหาอะไรลงท้องเสียหน่อย เพราะตอนเช้านอกจากน้ำแล้วยังไม่มีอะไรตกลงไปในท้องเลยก็เมนูสิ้นคิดเช่นเดิมแหละครับข้าวผัดหมู ไข่เจียวหมูสับ หลังจากรับประทานข้าวเสร็จแล้วผมก็ขับรถไปตามถนนแคบๆเพื่อที่จะออกไปยังจุดชมวิวไปรอดูพระอาทิตย์ตกดิน

แต่ระหว่างทางผมสังเกตเห็นมีลำธารเล็กๆอยู่ข้างทาง ผมเลยนึกถึงคำพูดของเจ้าหน้าที่อุทยานที่เคยเล่าให้ผมฟังว่าที่บริเวณนี้จะพบตัวซาลาแมนเดอร์หรือกระท่าง (Tylototriton verrucosus)ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่ากระท่างมักจะหลบตัวอยู่ใต้กองใบไม้ที่อยู่ในธารน้ำไหล เจ้าหน้าที่ได้เล่าให้ฟังอีกว่าเวลามาเก็บใบไม้ออกจากธารน้ำก็จะเจอกระท่างหลบตัวอยู่ ผมเลยหาที่จอดรถแล้วก็เดินย้อนขึ้นไปตามลำธารข้างทาง ระหว่างทางผมก็ใช้ไม่เขี่ยเศษใบไม้ที่กองทับๆอยู่ในธารน้ำดูแต่ผมก็ไม่พบเจ้าตัวกระท่างที่ว่านี้ ผมเดินย้อนขึ้นไปได้ประมาณ 500 เมตรไม่เจอกระท่างเสียทีเลยตัดสินใจเดินลงไว้ฤดูฝนจะมาใหม่ (กระท่างจะพบได้มากในช่วงฤดูฝน) แล้วผมก็ขับรถเพื่อที่จะมุ่งหน้าไปจุดชมวิวที่ผมบอก แต่ผมขับรถออกมาจากจุดที่ผมจอดได้ประมาณไม่ถึง 200 เมตร สายตาผมก็ไปสะดุดกับอะไรบางอย่างริมทางข้างซ้าย กระโถนพระฤาษีนี่เอง แต่ทำไมมาขึ้นอยู่ข้างทางก็ไม่รู้ ที่ผมเห็นก็มีเพียงสามดอก ดอกตูมหนึ่งดอก บานแล้วหนึ่งดอก หมดอายุขัยไปแล้วหนึ่งดอก ดอกกระโถนพระฤาษีเมื่อดอกบานเต็มที่จะมีสีแดงแล้วจะมีอายุอยู่ได้เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้นดอกก็จะกลายเป็นสีดำแห้งเหี่ยวไปในที่สุด กระโถนพระฤาษีที่ผมพบบริเวณนี้ดูจากสภาพแล้วบอบช้ำไปมากแล้วพอสมควรสังเกตได้จากมีร่องรอยน้ำมือมนุษย์ เมื่อผมเก็นภาพกระโถนพระฤาษีเสร็จแล้วก็ขับรถมุ่งหน้าไปยังจุดชมวิวผาดำเพื่อมารอชมพระอาทิตย์ตกดิน แล้วผมก็เพิ่งรู้ความจริงอะไรอีกหนึ่งอย่างคือ ถ้าเรามายืนอยู่ที่จุดชมวิวผาดำแล้วเรามองลงไปข้างล่าง เราจะเห็นวิวเมืองเชียงใหม่บริเวณอำเภอหางดงที่ผมทราบก็คือผมมองลงไปแล้วเห็นพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกนั่นเอง เหมือนวันนี้โชคจะไม่เข้าข้างผมสักเท่าไหร่เพราะพอถึงเวลาพระอาทิตย์ตกดินก็ดันมีเมฆแผ่นใหญ่ลอยมาบังพระอาทิตย์หายไปกับตา มีเพียงแสงสีส้มยามเย็นจากพระอาทิตย์เล็ดลอดออกมาจากใต้แผ่นเมฆให้ชื่นชมก็ดูสวยไปอีกแบบ หลังจากนั้นเมื่อฟ้าเริ่มมืดก็ถึงเวลาที่ผมต้องกลับลงมาในเมือง เมื่อผมกลับมาถึงห้องพักผมก็รีบเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อที่จะหาข้อมูลของเจ้ากระโถนพระฤาษีนี้ด้วยความอยากรู้ ซึ่งเมื่อได้ศึกษาข้อมูลจากที่หลายๆท่านได้เขียนเอาไว้ก็พอจะสรุปมาได้ดังนี้…

กระโถนพระฤาษีจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับบัวผุด (Rafflesia kerri Meijer.) จัดเป็นพืชเบียนคือมันจะอาศัยเกาะอยู่ตามรากไม้ของพืชเถาวัลย์จำพวกเครือเถาน้ำ แทงเนื้อเยื่อในส่วนที่เป็นเส้นใยเข้าไปในรากของพืชอาศัยเพื่อดูดกินอาหาร เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ตาดอกจะค่อยๆพัฒนาอยู่ในส่วนของพืชอาศัยจนดอกตูมแล้วโผล่พ้นขึ้นมาบนผิวดิน เมื่อดอกบานจะมีลักษณะคล้ายกระโถนปากแตร กลับดอกของกระโถนพระฤาษีมีทั้งหมด 10 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 ชั้นๆละ 5 กลีบ กลีบดอกมีสีแดงสดและมีจุดประซึ่งเรียกว่าหูดสีเหลืองกระจายอยู่บนกลีบดอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของดอกอยู่ที่ประมาณ 10-15 เซนติเมตร กระโถนพระฤาษีเมื่อบานแล้วจะมีกลิ่นเหม็นแต่ผมลองก้มลงไปดมแล้วผมว่าเฉยๆนะ กลิ่นเหม็นนี้จะช่วยล่อแมลงวันมาช่วยในการผสมพันธุ์เพราะกระโถนพระฤาษีเป็นพืชที่แยกเพศอยู่กันคนละดอก กระโถนพระฤาษีจัดเป็นพืชที่ค่อนข้างหาดูได้ยากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องมาจากการบุกรุกทำลายป่าของมนุษย์ นอกจากกระโถนพระฤาษีแล้วยังมีพืชที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้อีกคือ กระโถนพระราม (Sapria ram H. Banziger & B. Hansen.) และกระโถนสีดา (Sapria poilanei Gagnep.)แต่ที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยมีรายงานการพบเพียงกระโถนพระฤาษี

หลังจากผมได้ทราบข้อมูลมากขึ้นแล้วผมก็ยิ่งสนใจมันมากขึ้นไปอีกเพราะรู้สึกว่า กระโถนพระฤาษีเป็นพืชมหัศจรรย์และน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้เห็น ผมเลยพยายามหาลายแทงของนักเดินป่าคนอื่นๆที่ได้พบกระโถนพระฤาษีบนดอยสุเทพ-ปุยแล้วได้เขียนบันทึกเอาไว้ ซึ่งลายแทงอันหนึ่งที่ผมสนใจก็คือ บันทึกของอาจารย์หมอหม่อง (นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์) ที่ได้บันทึกเอาไว้ว่าพบดอกกระโถนพระฤาษีมากถึง 300 ดอก ณ บริเวณหนึ่งบนดอยสุเทพ-ปุยและลายแทงของนักเดินป่าอีกท่านหนึ่ง ผมเลยรีบเก็บข้อมูลของทั้งสองลายแทงนี้ใส่ไว้ในหัวเพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้ไปตามหากระโถนพระฤาษีตามลายแทงที่ว่านี้…(29 ธันวาคม 2554) พอถึงเวลาประมาณตีห้าผมก็ตื่นมาจัดการตัวเองให้เรียบร้อยหลังจากนั้นก็คว้ารถคู่ใจขับขึ้นไปยังดอยสุเทพ-ปุย อากาศตอนเช้ามืดของเมืองเชียงใหม่ในฤดูหนาวเช่นนี้ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหนาวขนาดไหน เมื่อขับไปถึงจุดชมวิวผมก็จอดรถแล้วหยิบกล้องคู่ใจลงมาเพื่อรอถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นเหนือเมืองเชียงใหม่

เช้าวันนี้มีนักเที่ยวมารอชมพระอาทิตย์ขึ้นเยอะอยู่เนื่องจากเป็นสัปดาห์สุดท้ายของปี 2554 เท่าที่ผมสังเกตดูนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมาจากทางภาคใต้ หลังจากชมพระอาทิตย์ขึ้นเสร็จแล้วผมก็รีบเดินทางต่อไปยังสถานที่ๆลายแทงที่ 1 กล่าวไว้ เมื่อไปถึงผมก็พยายามเดินหาช่องทางที่ผมจะเดินลงไปได้เนื่องจากเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวไม่เดิน มองหาอยู่พักใหญ่สายตาผมก็เห็นมีโพรงหญ้าแหวกอยู่ มันต้องใช่แน่ๆผมเลยรีบเดินมุ่งหน้าลงไปทางนั้น เดินลงไปได้ไม่ถึง 100 เมตรก็พบกับลำธารเล็กๆ ผมเดินข้ามลำธารนั้นไปสักพักผมก็เห็นดอกกระโถนพระฤาษีบานสีแดงสดอยู่หนึ่งดอก พอผมเดินไปดูใกล้ๆผมก็พบว่าใกล้ๆกันนั้นมีดอกตูมอยู่หลายดอกเลย ดอกที่เหี่ยวไปแล้วก็มีเยอะ ข้อควรระวังของการชมดอกกระโถนพระฤาษีคือ เราไม่ควรเดินเข้าไปดูใกล้ๆ เนื่องจากว่าอาจจะมีดอกตูมที่โดนใบไม้แห้งปิดอยู่ซึ่งเราอาจจะเดินไปเหยียบได้ และข้อห้ามคือห้ามไปแตะต้องดอกกระโถนพระฤาษีเป็นอันขาด ผมเดินสำรวจพื้นที่บริเวณนั้นก็พบว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นดงของกระโถนพระฤาษีเลยก็ว่าได้เพราะมีจำนวนเยอะมาก ผมใช้เวลาอยู่บริเวณนั้นพักใหญ่ก็เดินออกมาจากป่าเพื่อที่จะเดินทางไปยังลายแทงที่สองของอาจารย์หมอหม่อง เส้นทางที่สองนี้ค่อนข้างกว้างเดินสบายแต่เมื่อไปถึงยังจุดที่มีรายการการพบกระโถนพระฤาษีแล้วผมกลับไม่พบเจ้ากระโถนพระฤาษี ผมเลยตัดสินใจเดินลงไปยังหุบเขาด้านล่าง เดินลงไปได้เพียงนิดเดียวผมก็พบกับดงกระโถนพระฤาษีอีกแล้วครับ จุดนี้มีจำนวนมากกว่าจุดแรกมาก ผมใช้เวลาบันทึกภาพอยู่พักใหญ่ต้องรีบเดินกลับขึ้นไปด้านบนเพราะกลัวงูและสัตว์มีพิษทั้งหลาย เพราะบริเวณนี้เป็นป่ารกมาก… กระโถนพระฤาษีบนดอยสุเทพ-ปุยนี้ สามารถพบได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมของทุกปี

ด้วยสาเหตุที่กระโถนฤาษีเป็นพืชเบียนชีวิตของมันจึงขึ้นอยู่กับพืชอาศัย ถ้าไม่มีพืชอาศัยมันก็ไม่มีที่อยู่ ก็คงเหมือนกับมนุษย์เราที่ชีวิตเราที่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติเหมือนกัน ยิ่งเราไปทำลายธรรมชาติมากเท่าใดก็เท่ากับว่าเราทำลายชีวิตเราเองเช่นกัน....

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ว้าว ๆ เพิ่งรู้นะเนี่ย surprise

ความเห็นที่ 2

น่าสนใจค่ะ.. อ่านแล้วชวนติดตาม มีข้อมูลแทรก สนุก และลุ้นไปด้วย ;-)) ขอบคุณที่นำมาแบ่งปัน :-)) เคยเห็นแต่ดอกบัวผุด (Rafflesia sp) ค่ะ ซึ่งพบได้ทางภาคใต้ อลังการด้วยขนาดและกลิ่นที่ยากจะบรรยาย!!  สังเกตจากรูปกระโถนพระฤาษี ขนาดย่อมกว่ามากเลยนะค่ะ??

ความเห็นที่ 2.1

@wanchamai ขอบคุณครับ กระโถนพระฤาษีมีขนาดเล็กกว่าดอกบัวผุด แต่ผมเองก็ยังไม่เคยเห็นดอกบัวผุดของจริงสักทีครับ ไว้มีโอกาสจะไปเดินป่าภาคใต้ให้ได้เห็นของจริงสักครั้งครับ