งูหัวกะโหลก หรืองูเหลือมอ้อ (Homalopsis buccata (Linneaus, 1758))

งูหัวกะโหลก หรืองูเหลือมอ้อ (Homalopsis buccata (Linneaus, 1758))
 
มนตรี สุมณฑา...เรื่อง/ภาพ
 
โอ๊ย! อูยส์....”เป็นเสียงของผมเองเมื่อถูกงูกัดขณะพยายามจัดท่าทางงูที่มีลายบั้งขวางสลับด้วยลายสีน้ำตาลเข้มขนาดใหญ่ และสีน้ำตาลอ่อนที่มีความกว้างน้อยกว่า มันคงจะหงุดหงิดที่ถูกรบกวนในลักษณะที่งูต้องฝืนตัวหรืออึดอัด เพราะผมเองพยายามจัดท่างูให้อยู่ท่าหงายท้องเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของงูหัวกะโหลกที่มาจากต่างภูมิภาค แน่นอน..มันไม่ใช่ท่าทางปกติที่งูจะยินยอมให้ความร่วมมือโดยง่าย  แว่บแรกที่เข้ามาในสมอง..เราน่าจะทำแบบ Dr. J. Slowinski  นักสัตววิทยาชาวอเมริกันที่ทำการบันทึกอาการหลังจากถูกงูพิษกัดในประเทศพม่าจนถึงวินาทีสุดท้ายเท่าที่จะทำได้ ถ้าอย่างนั้นผมก็บันทึกบ้างดีกว่า
 
บันทึกอาการหลังถูกงูหัวกะโหลกกัด
วินาทีแรก :รู้สึกแปลบๆทันทีที่ถูกกัด
วินาทีต่อมา:เลือดออกตามบาดแผลจากรอยฟันงูแต่ละซี่ บางแผลเป็นร่องยาวเล็กน้อยเพราะเกิดจากการสะบัดของงู
ครึ่งนาทีหลังถูกกัด:เช็ดเลือดออกแล้ว สักพักเลือดก็ไหลออกมาอีก
3 นาทีหลังถูกกัด:เลือดหยุดไหลแล้ว แต่ถ้าบีบบริเวณแผลก็จะมีเลือดซึมออกมา
20 นาทีหลังถูกกัด:เริ่มรู้สึกง่วง เพราไม่ได้นอนมา 2 คืนติดแล้ว
2 ชั่วโมงหลังถูกกัด:รู้สึกชาที่แขน เพราะดันไปนอนทับแขนตัวเองเป็นเวลานาน
อีก 70 ปีข้างหน้า:ผมคงจะตายแล้วล่ะ เพราะผมไม่คิดว่าจะอยู่เกิน 100 ปี
 
จากที่บางคนเห็นงูหัวกะโหลกแล้วบอกว่าเป็นงูพิษร้ายแรง กัดแล้วตาย ก็เป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งโดยมากเกิดจากอคติเดิมที่มีต่องูแล้วผสมกับความบอกเล่าว่าเป็นงู 2 พ่อ(งูที่มีการผสมข้ามพันธุ์กับงูพิษ) อีกทั้งยังจำแนกงูผิดอันเนื่องมาจากสีและลายไปพ้องกับงูพิษร้ายแรง อาทิ ลูกงูจงอาง งูสามเหลี่ยม เป็นต้น ก็เลยขอนำงูหัวกะโหลกมาให้เรารู้จักมันมากขึ้นดีกว่า
 
งูหัวกะโหลก เป็นสัตว์ชนิดแรกๆที่ถูกบันทึกว่ามีงูหัวกะโหลกบนโลก คือตั้งแต่ปี ค.ศ.1758  ด้วยลายสีน้ำตาลอ่อนที่โดดเด่นบนหัวแลคล้ายหัวกะโหลก ก็เลยได้เป็นที่มาของชื่อไทยๆนั่นเอง แต่ในขณะที่ฝรั่งมองดูคล้ายกับว่ามันใส่หน้ากาก ก็เลยได้ชื่อว่างูหน้ากากในภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังมีบางคนรู้จักงูหัวกะโหลกในเชิงนิเวศ ซึ่งมักพบตามแหล่งน้ำตื้นๆในแถบภาคกลางที่อุดมด้วยต้นอ้อ ประกอบกับลายตามตัวที่ดูคล้ายกลุ่มงูเหลือมหลาม ก็เลยมีชื่อว่างูเหลือมอ้ออีกชื่อหนึ่ง
 
งูหัวกะโหลกจัดเป็นงูน้ำ พิจารณาจากตำแหน่งรูจมูกที่อยู่ด้านบนของหัวเพื่อความสะดวกในการยื่นจมูกจากใต้น้ำขึ้นมาหายใจนั่นเอง แต่ในทางวิชาการมักจัดเป็นงูกึ่งน้ำเพราะว่าเกล็ดที่ท้องยังพัฒนาดี สามารถเลื้อยบนบกได้อย่างคล่องแคล่วนั่นเอง ในช่วงชีวิตส่วนใหญ่ของมันมักอยู่ในน้ำ แม้กระทั่งตอนออกลูก  ลูกงูแรกเกิดมีลายเหมือนตัวเต็มวัย แต่จะมีความต่างของสีมากกว่าโดยส่วนที่เป็นสีอ่อนในงูแรกเกิดมักเป็นสีชมพู เมื่อโตขึ้นสีจะเข้มขึ้นจนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ในงูขนาดใหญ่มากๆ(ประมาณ 2 เมตร) เราแทบจะไม่เห็นลายของงูเลย เนื่องจากระดับความเข้มของลายจะใกล้เคียงกันมาก  งูหัวกะโหลกในเขตภาคกลางขึ้นไปมักพบอาศัยตามแหล่งน้ำนิ่งหรือชายฝั่งแม่น้ำที่น้ำไม่เชี่ยวนัก แต่ในภาคใต้สามารถพบงูหัวกะโหลกได้ตามลำธารที่น้ำเชี่ยวโดยอาศัยซอกหินลำธารในการหลบซ่อนและป้องกันกระแสน้ำพัดพาไป อาหารหลักได้แก่ ปลา กบ เขียด อาศัยการซ่อนใต้ผิวดินหรือซอกหินเพื่อรอเหยื่อเข้ามาในระยะไกลนักแล้วจึงฉกกัดทันที หรืออาจเคลื่อนตัวไปหาเหยื่อช้าๆจนถึงระยะประชิดแล้วฉกจับเหยื่อ  โดยรวมแล้วงูหัวกะโหลกจัดว่าเป็นงูที่ไม่ดุ แต่อาจมีการฉกบ้างในระยะแรกที่เผชิญหน้าแบบไม่มีที่ไป หรืองูจนตรอก แต่ถ้าเราสัมผัสอย่างอ่อนโยนแล้ว งูจะไม่ทำอันตรายแต่อย่างใด แม้ว่างูหัวกะโหลกจัดเป็นงูพิษ แต่ความรุนแรงของมันไม่เพียงพอที่จะทำอันตรายใดๆต่อมนุษย์เลย แต่สิ่งที่พึงระวังคือการติดเชื้อหลังถูกกัด ซึ่งอาจก่อผลกระทบที่ร้ายแรงได้ แม้โอกาสเกิดน้อยมากก็ตาม
 
ในปัจจุบัน งูหัวกะโหลกได้รับผลกระทบจากมนุษย์มีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากงูจะถูกทำร้ายโดยตรงจากคนที่ขอทำร้ายไว้ก่อนหากเป็นงูแล้ว ยังมีจากการเข้าใจผิดคิดว่าเป็นงูพิษอันตราย ในขณะเดียวกันงูหัวกะโหลกยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหนังอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะหนังงูหัวกะโหลกนอกจากมีลายที่สวยงามแล้วก็ยังมีความหนา ทนทาน เหมาะในการทำเครื่องหนังอีกด้วย ผลกระทบอีกอย่างคือการถูกคุกคาม ทำลายที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำที่ราบลุ่มภาคกลางที่ถูกถม ดัดแปลงเป็นที่อยู่อาศัย โรงงานต่างๆ และเป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมต่างๆเพื่อมนุษย์เท่านั้น ในส่วนที่ยังเหลือก็ถูกจำกัดแคบลงจนการถ่ายทอดพันธุกรรมถูกจำกัดเป็นกลุ่มย่อยๆเล็กๆในเครือญาติ แน่นอน..ผลดังกล่าวก็คงไม่ทำให้ผู้มีอำนาจหันมาสนใจได้ เพราะเป็นยุคแห่งวัตถุนิยม  มุ่งหวังผลกำไรที่มองเห็นเท่านั้น ไม่ได้มองว่าต้นทุนที่แท้จริงจากการใช้ทรัพยากรที่ไม่ได้นำมาคิดมูลค่า ตลอดจนทรัพยากรที่ต้องสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าว จะเป็นไปได้ไหมว่าการพัฒนาทางด้านวัตถุที่เราทำกันอยู่นั้น ขอให้ปรับให้ไม่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเพื่อนร่วมโลกที่มักถูกลืม(อาจกลับมานึกได้ตอนที่สายไปแล้ว อย่างเนื้อสมัน ความภูมิใจของคนไทยในความอัปยศ) ผมรู้ว่ามีทางทำได้ เพราะมีหลายที่เขาทำกัน เพียงแต่ท่านๆทั้งหลายอย่ามองข้ามมันไปเท่านั้น ผมไม่อยากให้ทุกคนลืมว่าต้นทุนที่แท้จริงของประเทศไทยคือต้นทุนทางชีวภาพที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ต้นทุนที่เป็นตัวเงิน เครื่องจักร ที่เมื่อมันเสื่อมสภาพก็คือขยะนั่นเอง อย่าให้ถึงวันนั้นเลยครับ วันที่เรามีเงินมหาศาล แต่ไม่มีอาหารให้ซื้อ..

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

อ่านแล้วฮ่าดีครับ
ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ ครับ  ^^

ความเห็นที่ 2

แถวบ้านมักจะติดตาคัดที่วางไว้ดักปลาในคลอง และมันต้องตายสถานเดียว

ความเห็นที่ 3

ู^ลองปริ้นบทความพร้อมภาพ เอาไปแจกสักสิบใบสิครับ ผมว่าน่าจะช่วยให้ความรู้ได้นะ

ความเห็นที่ 4

"อีก 70 ปีข้างหน้า:ผมคงจะตายแล้วล่ะ เพราะผมไม่คิดว่าจะอยู่เกิน 100 ปี" ฮาจริงอะไรจริงกับประโยคนี้

การสรุปตอนท้ายก็แทงใจดีครับ

ความเห็นที่ 5

จำได้ว่าเจ้าไผ่พี่ก็มีภาพสวยๆ น่าไปดึงมาประกอบบทความเพิ่มเิติม แจ่มๆ

ความเห็นที่ 6

อ่านแล้วนึกถึงตอนตัวเองถูกงูกัดเลยครับ น่าทำแบบอาจารย์น็อตบ้าง ไว้คราวหน้าถ้าถูกกัดอีกจะบันทึกบ้างครับ

ความเห็นที่ 7

ชอบเรื่องนี้ค่ะ

ความเห็นที่ 8

อ่านแล้วอดขำไม่ได้กับการสังเกตอาการของการถูกงูกัด

เห็นด้วยนะคะที่ว่าคนเราพอเห้นว่าเป็นงูต้องตีให้ตายไว้ก่อน มีพิษหรือไม่มีพิษก็ไม่รู้
อย่างแถวบ้านก็จะทำอย่างนั้นล่ะค่ะ...เห็นแล้วอดสงสารไม่ได้

ความเห็นที่ 9

งูภาพแลกสวยดี เมื่อก่อนก็เคยเลี้ยงงูแต่เป็นงูหลามทองสีสวยมากเลย

ความเห็นที่ 10

พออ่านการบันทึกหลังโดนงูกันแล้ว จะสงสารหรือสมนะน่าดีเอาเป็นว่าหายใจต่อไปก็แล้วกัน
พอจะมีความรู้หรือรูปภาพของแมงมุมบ้างมั้ยเพราะอยากรู้มากเลย

ความเห็นที่ 11

เคยเห็นตัวจริงครั้งแรกและครั้งเดียวที่กระช่องลายของมันสวยมากคะ...ขอบคุณที่มีบทความดีๆให้อ่านนะคะ

ความเห็นที่ 12

น้องที่เห็นด้วยกันยังบอกเลยว่าลายที่หัวเหมือนรูปหัวใจ

ความเห็นที่ 13

ผมเพิ่งได้งูเหลียมอ้อมา1ตัว แต่แถวบ้านผมเขาเรียกงูเหลียมอ้น หลังจากหาข้อมูลทั้งวัน ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ บ้านผมอยู่เขาหลัก พังงา