คุณหาพวกมันเจอหรือเปล่า?

โดย กวินท์ เจียรไนสกุล

    ในวันหยุดเทศกาลหรือวันที่ว่างจากการทำงาน หลายๆคนคงใช้เวลาว่างไปเที่ยวป่าเขาตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ บางคนก็ไปพักผ่อนหย่อนใจ บางคนก็ไปถ่ายรูปธรรมชาติหรือสัตว์ต่างๆ สัตว์ที่ว่าก็คงเป็นพวกนก ผีเสื้อ หรือพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายๆชนิด เช่น ช้าง ลิง กวาง ฯลฯ ซึ่งค่อนข้างจะคุ้นตากันเป็นอย่างดีและสามารถพบได้ค่อนข้างบ่อยอย่างเช่นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นต้น แล้วถ้าเป็นตั๊กแตนล่ะ...หลายคนคงนึกถึงตั๊กแตนที่กระโดดอยู่ตามสวนหรือในทุ่งนาอะไรประมาณนี้ แต่จริงๆแล้วผมหมายถึง"ตั๊กแตนกิ่งไม้หรือตั๊กแตนใบไม้"ต่างหากล่ะครับ หรืออาจจะเเรียกว่าแมลงกิ่งไม้หรือแมลงใบไม้ก็ได้เช่นกัน แมลงเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะถูกนักท่องเที่ยวมองข้ามไป ไม่ใช่เพราะมันไม่สวยแต่เพราะมองไม่เห็นต่างหากครับ เพราะแมลงเหล่านี้มีการพรางตัวที่เป็นเลิศ นอกจากเสียจากว่าจะทะลึ่งมาเกาะอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่อย่างเช่นบนหินหรือพื้น

    ตั๊กแตนกิ่งไม้ ตั๊กแตนใบไม้ อยู่ในอันดับ Phasmatodea มาจากคำว่า phasma ซึ่งเป็นภาษากรีกโบราณแปลว่า"ผีหรือปีศาจ" ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ40ชนิด ใน4วงศ์ มีสรีระแตกต่างกันออกไป ตั๊กแตนกิ่งไม้จะมีลำตัวยาว ขาเรียวยาวและเล็ก มีค่อนข้างหลากหลายทั้งชนิดและสี ในเวลากลางวันจะเอาขาหน้ามาชิดกัน ส่วนขาคู่กลางและคู่หลังจะเกาะกับกิ่งไม้ไว้ ทำให้ดูเหมือนกิ่งไม้มาก ยากที่จะมองเห็นได้ ส่วนตั๊กแตนใบไม้ มีลำแบนราบไปกับพื้น ส่วนใหญ่มีสีเขียว บางชนิดก็มีสีเหลืองเหมือนใบไม้แห้ง บางชนิดก็มีรูที่ท้องเหมือนใบไม้ที่มีรู ในเวลากลางวันจะเก็บขาทั้งหมดให้แนบชิดกับลำตัว ดูคล้ายใบไม้มาก ทำให้การจะหาตัวในเวลากลางวันนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปเมื่อไหร่ การจะหาตัวพวกมันนั้นไม่ยากเลย เพราะแมลงเหล่านี้เป็นแมลงที่หากินกลางคืน อาหารหลักๆจะเป็นพืชโดยกินเฉพาะส่วนใบเท่านั้น แต่ละชนิดก็มีพืชอาหารแตกต่างกันออกไป เช่น ฝรั่ง ลำไย มะม่วง ชงโค กล้วยไม้ เงินไหล หรือพืชที่พบได้ง่ายๆเช่นพลูด่างเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีตั๊กแตนอีกชนิดหนึ่งที่แปลกกว่าที่กล่าวมาทั้งหมด นั่นก็คือตั๊กแตนกิ่งไม้ป่าขาหนามมลายู Heteropteryx dilatata ซึ่งตัวยาวและใหญ่กว่าตั๊กแตนชนิดอื่นๆ ทำให้ดูไม่เหมือนกิ่งไม้สักเท่าไหร่ ตัวก็ไม่ได้แบนเหมือนใบไม้ แต่ตั๊กแตนชนิดนี้ก็พรางตัวได้เนียนไม้แพ้ตัวอื่นๆเลย ในประเทศไทยพบได้ทางภาคใต้ลงไปถึงมาเลเซีย

    ผมลืมบอกไปว่าตั๊กแตนเหล่านี้มีอะไรที่แปลกประหลาดและทำให้งงๆได้ เพราะเพศเมียบางชนิดมีปีกแต่บินไม่ได้ ปีกของมันมีขนาดเล็กมากจนทำให้ไม่สามารถบินได้ แบบกลายเป็นปัญหาในการขยายพันธุ์เลยสิ แต่ธรรมชาติก็ได้ให้ความสามารถในการออกไข่และขยายพันธุ์ได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ บางคนก็คิดว่ามันเป็นไปได้หรือ? แต่มันเป็นเรื่องจริงครับ เพศเมียสามารถออกไข่ได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ แต่....ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่ทั้งหมดจะเป็นเพศเมีย นั่นทำให้ในธรรมชาติเพศเมียสามารถพบได้มากกว่าเพศผู้ แต่ถ้าหากเพศเมียตัวนั้นมีการผสมพันธุ์กับเพศผู้ ตัวอ่อนที่ออกมาก็จะมีทั้งเพศผู้และเพศเมียปะปนกันไป เพศผู้จะมีปีกสำหรับบินไปหาอาหารหรือผสมพันธุ์กับเพศเมียได้ โอ้โห...ไม่ค่อยจะเอาเปรียบเลยนะเนี่ย

    นอกจากตั๊กแตนที่กระโดดอยู่ในสวนหรือตามทุ่งหญ้าแล้วก็ยังมีตั๊กแตนอีกหลายชนิดหลายประเภทที่เรายังไม่รู้จักกันเลยใช่ไหมล่ะครับ หากทุกคนมีโอกาสได้ไปเที่ยวในธรรมชาติก็ลองสังเกตุหาแมลงมหัศจรรย์เหล่านี้ดู เผื่อว่าจะได้ความสวยงามของพวกมัน และคุณอาจจะหลงไหลในความแปลกประหลาดของพวกมันก็เป็นได้

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

สวยงามมากค่ะ :)

ความเห็นที่ 2

พวกกิ่งไม้พอหาเจอ แต่พวกใบไม้นี่ยังไม่เคยเจอเองเลยครับ

ความเห็นที่ 3

ดีมากครับ ได้ความรู้ yes

ความเห็นที่ 4

สวยดีนะค่ะ เมื่อก่อนไม่เคยสนใจเลยเพราะมองไม่ค่อยเห็นบวกกับไม่ค่อยสังเกตอะไร   แต่พออ่านแล้วถ้าเวลาเข้าป่าไปสังเกตเห็น  จะดีใจมากเพราะเห็นยากใช่มั้ยค่ะ แสดงว่าเราก็มีตาที่ดีเหมือนกันค่ะ     

ความเห็นที่ 5

ตั๊กแตนกิ่งไม้ทางภาคอีสานแถบที่ผมอยู่ (จ.หนองบัวลำภู) ชาวบ้านจะเรียก"แมงหามผี"เท่าที่พบมีหลายชนิด ตั้งแต่ขนาดเล็กๆ สีเขียว ยาวประมาณ 2 นิ้ว ไปจนถึงขนาดใหญ่ ที่เคยเจอเวลามันเหยียดตัวเหมือนกิ่งไม้วัดจากปลายขาหน้าถึงขาหลังเกือบ 2 ฟุต มักพบช่วงฤดูเกี่ยวข้าวประมาณเดือน ต.ค.-ธ.ค. ครับ ชาวบ้านบางคนเชื่อว่ามันกัดมีพิษแผลที่ถูกกัดจะเปื่อย(เน่า) ชาวบ้านเลยมักจะปล่อยมันไม่ยุ่งกับมัน เด็กๆ ก็จะกลัว อาจจะเป็นเพราะชื่อ "แมงหามผี" ด้วยก็ได้ครับ