บึ้งฝา....นักล่าผู้ซ่อนเร้น

เรื่อง/ภาพ: coneman

ทุกฝีก้าวบนพื้นป่า คุณอาจก้าวย่างผ่านนักล่ากลุ่มหนึ่งไปโดยไม่ทันสังเกต โชคดีที่คุณเป็นมนุษย์ตัวโต แต่หากคุณเป็นแมลงตัวเล็กๆแล้วล่ะก็ คุณอาจตกเป็นเหยื่อได้โดยไม่ทันตั้งตัว พวกเค้าเป็นนักซุ่มโจมตีตัวฉกาจ เผยตัวเพียงเสี้ยววินาทีในการจู่โจม ร่างของเหยื่อเคราะห์ร้ายจะถูกพาหายไปในพริบตาจนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น  หลายท่านคงเริ่มสงสัยแล้วสิว่านี่มันตัวอะไร ผมกำลังนำท่านไปรู้จักกับพวกเค้า บึ้งฝา....นักล่าผู้ซ่อนเร้น
 
ที่มาของ”บึ้งฝา”

คำว่า”บึ้งฝา” หลายท่านอาจคุ้นหูกับชื่อนี้มาบ้างแล้ว เป็นชื่อที่ผมใช้เรียกกลุ่มแมงมุมที่ใช้ดินผสมกับใยสร้างฝาปิดปากรรูอาศัย ตัวผมไม่ได้ตั้งชื่อนี้ขึ้นมาเองหรอกนะครับ แต่คำคำนี้มีที่มาที่น่าสนใจและสื่อความหมายได้ดีทีเดียว

เมื่อหลายปีก่อนผมมีโอกาสไปช่วยงานวิจัยของอาจารย์ที่จังหวัดจันทบุรี ตัวผมมีความสนใจในแมงมุมกลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นตัวบ่อยนัก ก็เนื่องจากพฤติกรรมการสร้างฝาดินที่เล่ามาข้างต้นนั่นแหละครับ ทำให้รูอาศัยของพวกเค้ากลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมและสังเกตได้ยาก หลายคนจึงลงความเห็นว่าพวกเค้านั้นหายาก ก็หายากจริงๆ ครับ ถ้าสังเกตไม่ดีก็หาไม่เจอ ฝรั่งเรียกแมงมุมกลุ่มนี้ว่า “Trapdoor spiders” ซึ่งมีคนพยายามตั้งชื่อไทยให้พวกเค้าหลายชื่อแต่ก็ยังไม่มีชื่อไหนที่ดูเหมาะสม ในครั้งนั้นผมกำลังตามหาเบาะแสของแมงมุมกลุ่มนี้ชนิดหนึ่งที่กระจายอยู่ในจังหวัดจันทบุรี ผมบรรยายลักษณะและพฤติกรรมให้ชาวบ้านในพื้นที่ฟังด้วยความหวังอันน้อยนิด แต่แล้วคำตอบที่ได้กลับทำให้ผมตื่นเต้น “อ๋อ บึ้งฝาน่ะเหรอ เจอบ่อยๆ แถวนี้เค้าใช้แทงหวยกัน ตรงนั้นก็มี” สิ้นเสียง พี่คนหนึ่งก็พาผมไปดูเจ้าบึ้งฝาตัวนั้น ภาพที่เห็นมันทำให้ผมหัวใจพองโต มันคือแมงมุมในสกุล Liphistius ที่ผมตามหาจริงๆ  ผมถามกลับไปด้วยความสงสัย “แถวนี้เค้าเรียกเจ้านี่ว่าบึ้งฝาเหรอพี่ ทำไมไม่เรียกแมงมุมล่ะ”  ชาวบ้านอีกหลายคนเริ่มเสริม “แมงมุมน่ะตัวมันจะเล็กๆ เจอตามต้นไม้ สร้างใย บึ้งน่ะมันตัวโต อยู่ในดินมีสองแบบ แบบหนึ่งขนเยอะๆรูกลวงๆ อีกแบบเป็นบึ้งฝามีดินปิดปากรู” ผมงี้ถึงกับอึ้งเดินทางมาทุกภาคแล้วไม่เคยมีชาวบ้านที่ไหนรู้จัก trapdoor spiders เลย จนมาถึงที่นี่พวกเค้ารู้จักและสังเกตเห็นพวกมันเป็นอย่างดี แถมยังมีชื่อเรียกที่สื่อความหมายได้ดีและผมได้ใช้ชื่อนี้นับแต่นั้นมา นอกจากนั้นบึ้งฝายังมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านแถบนั้นในการเสี่ยงดวงใบ้หวยด้วย ถึงกับขั้นบอกได้ว่ารูไหนตัวไหนให้เลขแม่นหรือไม่แม่น วิธีการคือชาวบ้านจะเขียนเลข 0 ถึง 9 ใส่กระดาษ แผ่นเล็กๆ จากนั้นจึงขยุ้มให้เป็นก้อนกลมๆ ในช่วงเย็นใกล้ค่ำก็จะนำกระดาษเหล่านั้นใส่เข้าไปในรูบึ้งฝา ตอนเช้าตรู่ก็จะมาดูว่าบึ้งเขี่ยเลขใดออกมาจากรูบ้าง จึงนำเลขนั้นไปใช้เสี่ยงดวง (บึ้งฝามีพฤติกรรมในการทำความสะอาดรู โดยจะขนเศษแมลง กรวดหิน รวมทั้งกระดาษใบ้หวยออกมาทิ้งนอกรู) แต่ผมก็ยังสงสัยว่าถ้าเกิดพวกเค้าขนเลขออกมาทั้งหมดในคืนเดียวจะใช้เลขไหนดี บางคนอาจมองเป็นเรื่องงมงาย แต่อย่างน้อยความเชื่อเหล่านี้ก็ทำให้บึ้งฝาแถบนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมนุษย์และไม่มีใครคิดทำร้ายพวกเค้าไปโดยปริยาย

เรื่องชื่อไทยนั้นไม่ได้มีแบบแผนแน่นอนตายตัว ต่างก็เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นหรือตามแต่บุคคล แต่ด้วยบึ้งฝาแทบไม่เป็นที่รู้จักเลยในทุกภูมิภาคของประเทศ ผู้ที่บัญญัติคำนี้ขึ้นครั้งแรกคือชาวบ้านในท้องที่หนึ่งของจังหวัดจันทบุรี  ซึ่งแต่เดิมคำว่า” บึ้ง” มีความหมายถึงแมงมุมขนาดใหญ่มีขนรุงรัง ขุดรูอาศัยอยู่ในดินในวงศ์ Theraphosidae เท่านั้น ซึ่งชาวต่างชาติเรียกแมงมุมกลุ่มนี้ว่า Tarantulas แต่ในความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว ผมใช้คำว่า “บึ้ง” กับกลุ่มแมงมุมใน Infraorder Mygalomorphae ทั้งหมด เพราะแมงมุมกลุ่มนี้มีลักษณะร่วมและมีความคล้ายคลึงกับบึ้งในวงศ์ Theraphosidae เห็นชัดๆง่ายๆก็คือ เขี้ยวที่ขยับขึ้นลงในแนวดิ่ง (paraxial) อวัยวะที่ใช้ในการหายใจ (booklungs) มี 2 คู่ ตาเรียงเป็นกลุ่มเดี่ยว และส่วนใหญ่มีขนหนามแข็ง (rastellum) บนฐานเขี้ยวช่วยในการขุดดิน ซึ่งในหลายกลุ่มชาวบ้านก็จะเรียกว่าบึ้งอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เช่นวงศ์ Dipluridae, Nemesiidae เป็นต้น

นอกจากนี้ผมยึดหลักในการจำแนกแมงมุมตามมาตรฐานสากล (โดยรวมเรียกสัตว์ในอันดับ Araneae ว่าแมงมุม) ที่แบ่งแมงมุมออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1กลุ่ม Mesothelae (Suborder Mesothelae) ได้แก่แมงมุมในวงศ์ Liphistiidae ในสกุล Liphistius และ Heptathela ซึ่งเมื่อก่อนผมเรียกกลุ่มนี้ว่า “บึ้งฝาก้นปล้อง” แต่ปัจจุบันสารานุกรมสำหรับเยาวชนไทยโดยราชบัณฑิตได้บัญญัติชื่อไทยใหม่ของกลุ่มนี้ว่า “แมงมุมโบราณท้องปล้อง” ก็เลยต้องยึดตามที่ถูกต้อง กลุ่มที่ 2 คือกลุ่ม Mygalomorphae (Suborder Opisthothelae, Infraorder Mygalomorphae) ประกอบด้วย 15 วงศ์ กลุ่มนี้ผมเรียกกลุ่มบึ้งทั้งหมด โดยกลุ่มที่สร้างฝาดินปิดปากรูเรียกว่า “บึ้งฝา” ส่วนกลุ่มสุดท้าย กลุ่มที่ 3 คือกลุ่ม Araneomorphae (Suborder Opisthothelae, Infraorder Araneomorphae) กลุ่มนี้คือกลุ่มแมงมุมแท้จริง (true spiders) ผมเรียกกลุ่มนี้ว่า “แมงมุม” โดยกลุ่มที่สร้างฝาดินปิดปากรูเรียกว่า “แมงมุมฝา” ในเมื่อทางอนุกรมวิธานแบ่งแมงมุมออกเป็นสามกลุ่ม ผมจึงเรียกชื่อไทยแบ่งกลุ่มตามการจัดจำแนกแมงมุมเช่นกันเพื่อให้สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น และไม่สับสน ซึ่งในจุดนี้ Dr. Peter Schwendinger  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบึ้งฝาของโลกก็เห็นด้วยกับชื่อเรียกในแนวทางนี้ เนื่องจากท่านสนใจและชอบภาษาไทยด้วย  (แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวไม่สามารถนำไปอ้างอิงได้ครับ) คำว่า “บึ้งฝา” จึงมีที่มาที่ไปตามเรื่องราวที่ได้เล่ามานี้ครับ



เมื่อแมลงเดินเข้ามาใกล้ปากโพรงอาศัยแรงสั่นสะเทืนจากพื้นดินทำให้บึ้งฝารู้ทิศทางและขนาดของเหยื่อ และสามารถจู่โจมได้รวดเร็วโดยที่เหยื่อไม่ทันสังเกตและระวังตัว
 


ภาพแสดงโพรงอาศัยของบึ้งฝา

 
บึ้งฝา.....ฝานั้นสำคัญไฉน?

            หลายท่านอาจสงสัยว่าฝาดินที่บึ้งฝาสร้างปิดปากรูนั้นมีไว้ทำไม ทำไมไม่สร้างเป็นรูกลวงๆธรรมดาเหมือนบึ้งทั่วไป คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเพื่อพรางตาจากศัตรู บ้างก็ว่าเพื่อใช้ในการซุ่มล่าเหยื่อเพื่อไม่ให้เหยื่อรู้ตัว แต่แท้จริงแล้วเหตุผลที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้นครับ จุดประสงค์ที่แท้จริงของการสร้างฝาดินคือใช้เก็บความชื้นในโพรงอาศัยให้สูงอยู่ตลอดเวลาต่างหาก กลุ่มบึ้ง (Suborder Opisthothele, Infraorder Mygalomorphae) และกลุ่มแมงมุมโบราณท้องปล้อง (Suborder Mesothelae) เป็นกลุ่มแมงมุมโบราณที่มีอัตราการระเหยน้ำออกจากตัวสูง ทำให้พวกเค้าต้องมีการปรับตัวด้านพฤติกรรมในการสร้างโพรงอาศัยในดินเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียน้ำออกจากตัว ในกลุ่มบึ้งส่วนใหญ่อัตราการระเหยน้ำออกจากตัวมีปริมาณต่ำ พวกเค้าจึงแค่เพียงขุดโพรงอาศัยลงไปในชั้นดินให้ลึกก็เพียงพอที่จะเก็บความชื้นในโพรงอาศัยได้แล้ว แต่ในกลุ่มบึ้งฝาซึ่งส่วนใหญ่มีอัตราการระเหยน้ำออกจากตัวในปริมาณที่สูง จากงานวิจัยของ Dr. schwendinger พบว่ากลุ่มบึ้งฝาและแมงมุมโบราณท้องปล้องในสกุล Liphistius มีอัตราการระเหยน้ำออกจากตัวสูงกว่าแมงมุมและบึ้งในกลุ่มอื่นๆ โดยแมงมุมโบราณท้องปล้องมีอัตราการระเหยน้ำออกจากตัวสูงที่สุด ด้วยระบบสรีรวิทยาที่จำกัดทำให้บึ้งฝาและแมงมุมโบราณท้องปล้องมีพฤติกรรมนอกจากจะขุดรูอาศัยลึกลงไปในชั้นดินแล้วยังต้องใช้ใยผสมกับดินสร้างฝาดินปิดปากรูอาศัยเพื่อเก็บความชื้น ซึ่งจะทำให้ความชื้นภายในโพรงอาศัยสูงเกือบถึงจุดอิ่มตัว (ความชื้นสัมพัทธ์ 100%) มีผลทำให้อัตราการการระเหยน้ำออกจากตัวบึ้งน้อยหรือแทบไม่มีเลย ดังนั้นบึ้งฝาจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในโพรงอาศัยตลอดเวลา โดยจะมีกิจกรมต่างๆรวมถึงการล่าเหยื่อในเวลากลางคืนซึ่งมีความชื้นสูงกว่ากลางวัน บึ้งฝาจะใช้เวลานอกรูอาศัยในช่วงเวลาสั้นๆ เช่นการจับเหยื่อที่รวดเร็วในพริบตา ด้วยเหตุนี้หากบึ้งฝาอยู่นอกโพรงอาศัยในสภาพอากาศปกตินานเกินไป ก็จะสูญเสียน้ำจนตายในที่สุดครับ จึงทำให้พวกเค้าเป็นนักล่าผู้ซ่อนเร้นไม่ค่อยเปิดเผยตัวนั่นเอง

บึ้งฝาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งจะมีฝาดินปิดปากรูอาศัยที่หนาและปิดแน่นสนิท การสร้างฝาดินเป็นลักษณะโบราณที่พบในบึ้งโบราณตั้งแต่อดีตและสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ในกลุ่ม Mygalomorphae ซึ่งประกอบด้วยบึ้ง 15 วงศ์ มีประมาณ 10 วงศ์ ที่พบสร้างฝาดินปิดปากรูอาศัย จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการสร้างฝาดินเป็นพฤติกรรมที่พบในบึ้งส่วนใหญ่และมีวิวัฒนาการมายาวนานจนทำให้บึ้งกลุ่มนี้มีชีวิตรอดมาได้จนถึงปัจจุบัน  บึ้งฝาแต่ละกลุ่มมีสายวิวัฒนาการที่แยกเป็นอิสระต่อกัน การสร้างฝาดินนั้นเป็นพฤติกรรมที่คล้ายกันซึ่งเกิดจากการปรับตัวในแนวทางเดียวกัน (convergent evolution) ซึ่งทำให้ลักษณะของฝาดินปิดรูอาศัยแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มที่ฝามีบานพับ (true trapdoor) เช่นวงศ์ Ctenizidae, Idiopidae, Liphistiidae  กลุ่มที่โพรงอาศัยพับปิดได้หรือเป็นท่อพับปิดได้ (functional trapdoor or collapsible collar) เช่นที่พบในวงศ์ Nemesiidae ในบางกลุ่มอาจสร้างโพรงอาศัยที่มีลักษณะพิเศษเช่นมีฝาปิดสองชั้น โพรงอาศัยที่มีทางออกหลายทางและมีฝาปิด หรือบางกลุ่มใช้ก้อนกรวดปิดรูอีกชั้นจากฝาดินด้านนอก เป็นต้น
 


แมงมุมโบราณท้องปล้องในสกุล Liphistius มีกิจกรรมนอกโพรงอาศัยช่วงเวลาสั้นๆในเวลากลางคืนซึ่งมีความชื้นภายนอกโพรงสูง



ฝาแบบบานพับ (true trapdoor)  



ฝาแบบบานพับ (true trapdoor)  



โพรงอาศัยที่มีทางเข้าออกสองทาง



โพรงอาศัยแบบสั้นและมีฝาปิด



ฝาแบบปากโพรงอาศัยพับปิดได้ (functional trapdoor)



 ฝาแบบท่อพับปิดได้ (collapsible collar)

 
การปรับตัว......ภายใต้ฝาดิน

            จากพฤติกรรมในการสร้างฝาปิดปากรูอาศัย ทำให้บึ้งฝาต้องปรับพฤติกรรมและระบบสรีระของร่างกายด้านอื่นตามมา เช่นอัตราการใช้ออกซิเจนที่ต่ำทำให้บึ้งฝาอยู่ในโพรงอาศัยที่มีอากาศจำกัดได้ดีเพราะโพรงที่แคบยาวแถมมีฝาปิดมีการหมุนเวียนของอากาศน้อยมากหรือเกิด dead space ได้ง่าย การมีเมทาบอลิซึมที่ต่ำทำให้อดอาหารได้เป็นเวลานาน ซึ่งเหมาะกับการดำรงชีวิตอยู่ในโพรงที่มีฝาปิดซึ่งมีโอกาสพบเหยื่อได้น้อยมาก บึ้งฝามีการพัฒนาประสาทสัมผัสในการรับแรงสั่นสะเทือนจากพื้นดินได้ไวมาก โดยสามารถคำนวณขนาดและทิศทางของเหยื่อได้อย่างแม่นยำเมื่อเหยื่อวิ่งเข้ามาในพื้นที่รอบรูอาศัย นอกจากนี้พวกเค้ายังมีวิธีการอีกสารพัดวิธีเพื่อเพิ่มโอกาสในการล่าภายใต้ฝาดินซึ่งมีความจำกัด ในกลุ่มแมงมุมโบราณท้องปล้องจะใช้ใยรัศมี (signal thread) ซึ่งแผ่ออกไปรอบโพรงอาศัยในการเพิ่มพื้นที่และบอกทิศทางของเหยื่อ  บึ้งฝาบางกลุ่มจะสร้างโพรงอาศัยในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเศษหญ้าหรือใบไม้เพื่อใช้วัสดุเหล่านี้รับแรงสั่นสะเทือนจากตัวเหยื่อ บางกลุ่มใช้กิ่งไม้ขนาดเล็กมาติดไว้ที่ขอบฝาดินเพื่อใช้รับแรงสั่นสะเทือนรอบปากโพรงอาศัย

            นอกจากฝาดินจะมีประโยชน์หลักในการเก็บความชื้นในโพรงอาศัยแล้ว มันยังมีประโยชน์รองในด้านอื่นๆเช่น ใช้ในการป้องกันศัตรู โดยบึ้งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะใช้เขี้ยวหรือขาคู่หน้าดึงฝาดินปิดจนแน่นเมื่อถูกรบกวน ใช้ในการควบคุมช่วงเวลาในการปล่อยลูกบึ้งออกจากโพรงอาศัย โดยแม่บึ้งจะปิดฝาแน่นไม่ให้ลูกกระจายตัวออกไปจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม ใช้ในการบอกความพร้อมในการผสมพันธุ์และป้องกันการสืบพันธุ์ข้ามชนิด โดยการสืบพันธุ์ในบึ้งฝาทุกกลุ่มเพศผู้จะต้องเดินออกค้นหาโพรงอาศัยของเพศเมีย โดยส่วนใหญ่มักเกิดในฤดูฝนในช่วงเวลากลางคืนซึ่งอากาศภายนอกโพรงอาศัยมีความชื้นสูง เมื่อพบโพรงอาศัยของเพศเมียชนิดเดียวกันเพศผู้จะใช้ส่วน palp เคาะฝาโพรงเพศเมียเป็นจังหวะคล้ายการเคาะประตู สัญญาณการเคาะจะทำให้เพศเมียทราบได้ว่าเป็นเพศผู้ชนิดเดียวกันหรือไม่ หรือหากเพศเมียยังไม่พร้อมผสมพันธุ์ก็จะไม่เปิดฝาออกมาผสมพันธุ์กับเพศผู้นอกรู จะเห็นได้ว่าฝาดินนั้นมีความสำคัญกับบึ้งฝามากมาย ดังนั้นบึ้งฝาจึงต้องมีฝาด้วยประการนี้ครับ
 


แมงมุมโบราณท้องปล้องสกุล Liphistiusสร้างใยรัศมี (signal thread) รอบปากรูอาศัยเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรับแรงสั่นสะเทือนจากตัวเหยื่อ



บึ้งฝาบางกลุ่มสร้างโพรงอาศัยในที่รก เพื่อใช้เศษหญ้าหรือใบไม้รับแรงสั่นสะเทือนจากตัวเหยื่อ




การสร้างโพรงอาศัยในที่รกเพื่อใช้เศษกิ่งไม้รับแรงสั่นสะเทือนจากเหยื่อ



ในกลุ่มบึ้งฝาที่ไม่มีใยรัศมี มักใช้เศษใบไม้และกิ่งไม้ติดไว้รอบโพรงอาศัยเพื่อ่เพิ่มโอกาสในการจับเหยื่อ

 
เอกสารอ้างอิง

     Decae, A.E.  1991.  The trapdoor-burrow: the success of a defense system. Bull. Soc. Neuchatel. Sci. tome 116-1 /C.R. XIIIe Coll. Europ. Arachno, Neuchatel 2-6 Sept.
     Decae, A.E. 1996. Variation in burrow morphology of Mediterranean trapdoor spiders (Ctenizidae, Cyrtaucheniidae, Nemesiidae), Revue Suisse de zoologie: 135 – 140.
     Schwendinger, P.J. 1988.  Biological observations on orthognathous spiders in Northern Thailand (Araneae: Mesothelae, Mygalomorphae). TUB Dokumentationen, Kongresse und Tagungen (Berlin) 38:231 – 236.
     Schwendinger, P.J.  1993. Transpiration from orthognathous spiders of Thailand and Burma. J. Zool., Lond. 229: 171 – 175.
     Schwendinger, P.J. 1996. The fauna of orthognathous spiders (Araneae: Mesothelae, Mygalomorphae) in Thailand. Revue Suisse de Zoologie, vol. hors serie: 557 – 584.

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

เจ๋งมากกกกกกกกกกก

ความเห็นที่ 2

แจ๋มแจ๋ว ได้ความรู้ไว้อีกเพียบ ไว้โม้ตอนเดินป่าได้อีก

ความเห็นที่ 3

ดีใจที่ได้เห็นพัฒนาการของคุณนะจูน เรียนต่อซักทีเต๊อะ

ความเห็นที่ 4

เทพพพพ

ความเห็นที่ 5

ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ^^

ความเห็นที่ 6

เยี่ยมเลย ทำให้รู้จักเจ้าพวกนี้มากขึ้น ขอบคุณครับสำหรับความรู้ดีๆyes

ความเห็นที่ 7

เยี่ยมเลยค่ะ Sason sp. ก็มากับเค้าด้วย ครบทุกกลุ่มเลย

ความเห็นที่ 8

เคยเห็นรูปของเพื่อนคนนึง เห็นแค่โพรง เพื่อนบอกว่าตัวบึ้ง
ก็งงตั้งนาน ว่า"บึ้ง" คือตัวอะไร?
มันคือแมงมุมนี่เอง ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ ละเอียดมากๆ ^^

ความเห็นที่ 9

บอกตามตรง ไม่เคยรู้จักพฤติกรรมของบึ้งมาก่อนเลย เคยได้ยินแต่ชื่อ เคยเห็นแต่รูที่มีใยอยู่ปากรู แต่ตัวก็ไม่เคยเห็น ทำไงจะได้เห็นตัวซักที ขอบคุณครับ

ความเห็นที่ 10

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ...ครับ

ความเห็นที่ 11

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ...ครับ