น่านรำลึก

เรื่อง/ภาพ: นณณ์ ผาณิตวงศ์

ไม่มั่นใจว่าที่ผมกำลังเริ่มเขียนอยู่นี่จะเป็นอะไร เป็นบทความท่องเที่ยว หรือ บทบ่น หรืออะไร เพียงแต่รู้สึกว่าต้องเขียนสิ่งที่ได้เห็นมาจากจังหวัดน่านให้ได้รับรู้กัน เผื่อว่าจะมีใคร ผู้มีอำนาจใดๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ชาวน่าน ข้าราชการ นักการเมือง NGO  บังเอิญผ่านมาได้อ่านแล้วอาจจะช่วยแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นบ้าง
 
สิ่งที่ผมได้เห็น คือการตัดไม้ทำลายป่าอย่างมโหฬาร และเลวร้ายที่สุดในประเทศไทย ไม่ว่าจะจังหวัดไหนก็ไม่เคยเห็นถึงขนาดนี้ เขาโล้นเป็นลูกใหญ่ สุดลูกหูลูกตา เผาทั้งหญ้าทั้งไม้จนเหลือแต่ตอ อากาศเต็มไปด้วยเขม่าควันกลุ่นอยู่ตลอดเวลา ผ่านไปทางไหนก็ตัดเผา  ถ้าหากประเทศไทยขาดป่าต้นน้ำเอาไว้เพื่อเป็นฟองน้ำไว้ซับน้ำแล้ว ฝนที่ตกลงมามากกว่าปกติ ในยุคที่อากาศค่อนข้างวิปริตแบบนี้จะไหลลงสู่พื้นที่เบื้องล่างเป็นก้อนใหญ่อย่างรวดเร็ว ทำลายระบบนิเวศในน้ำหลายแห่งที่ผ่านไป ก่อนที่จะท่วมพื้นที่ด้านล่างเสียหาย อย่างช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมา เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างเขื่อน แก้มลิง หรือแหล่งรับน้ำใดๆ รองรับน้ำจำนวนมหาศาลที่ตกลงแล้วไม่มีการดูดซับไว้โดยพื้นดินต้นน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่เบื้อง ล่าง ไม่นับรวมอากาศเสีย เขม่าฝุ่นควันอันตราย ซึ่งทำร้ายทุกคน ทั้งคนเผาและคนที่ไม่ได้เผา


ฝนที่ตกลงดินโล้นๆ ยังชะล้างทำลายหน้าดินอันอุดมสมบูรณ์ไปอีกมหาศาล โดยเฉพาะการทำเกษตรบนพื้นที่สูงชันมากๆอย่างที่เห็นในจังหวัดน่าน หน้าดินที่เสียไปจะทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผลเท่าที่ควร ก็ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ย ซื้อสารเคมีมาบำรุงพืช หน้าดินที่ถูกชะลงไปยังทำให้คุณภาพของน้ำในแหล่งน้ำแย่ลง ปลาตาย หากินไม่ได้ ขยายพันธุ์ไม่ได้ จำนวนลดลง ก็ขาดแหล่งโปรตีน ชะลงไปมากๆ ก็ไปตกทับถมทำให้แหล่งน้ำด้านล่างตื้นเขินอีก อย่างแม่น้ำน่าน แน่นอนว่าตะกอนจำนวนมหาศาลจะไปตกอยู่ในเขื่อนสิริกิตต์ ทำให้เขื่อนตื้นเขิน กักน้ำได้น้อยลง และอาจจะเสื่อมสภาพใช้งานไม่ได้เร็วกว่าที่คาดไว้ก็เป็นได้ (เขื่อนก็มีอายุการใช้งานนะครับ ดินตะกอนตกทับถม จนกักเก็บน้ำไม่ได้ตามจำนวนที่ควรจะเป็น ก็ใช้งานไม่ได้ ผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ได้เช่นกัน) 
 
เมื่อทำลายป่าแล้ว ผลกระทบที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ เฉพาะในอำเภอที่พวกผมผ่าน คือ อ.แม่จริม สันติสุข และ บ่อเกลือ เราพบว่าแหล่งน้ำที่เคยเห็นสวยงามเมื่อเพียงแค่ 3-4 ปีก่อน กลับทรุดโทรมลงอย่างน่าใจหาย


ปลางวง (Yasuhikotakia nigrolineata)

ในน้ำว้าถึงแม้นว่าจะยังมีปลาและสัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก แต่ชนิดที่มีความโดดเด่นอย่าง ปลางวงกลับหายไปอย่างไร้ร่องรอย การจับเพื่อส่งขายเป็นปลาสวยงามทำให้จำนวนของปลาชนิดนี้ลดลง ในขณะที่ชาวบ้านบอกว่าคุณภาพน้ำที่แย่ลงของน้ำว้า โดยเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลากที่ขุ่นข้นขึ้น ทุกปีทำให้ปลาหลายชนิดลดจำนวนลง ถ้าถามหาปลาชนิดนี้ ทุกคนจะรู้จักดี เคยจับขาย แล้วจะใช้คำว่า "เคยมี" ตรงนั้น "เคยมี" ตรงนี้ น่าเสียดาย


น้ำมาง ที่ไหลผ่านอ.บ่อเกลือขุ่นขลักจากการขุดลอกที่บริเวณต้นน้ำ


ฝายบริเวณอ.บ่อเกลือ เป็นการทำลายระบบนิเวศลำธารต้นน้ำ

ที่อำเภอบ่อเกลือ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ เราได้เห็นการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างผิดๆ การสร้างฝายบริเวณต้นน้ำ ไม่ได้ช่วยทำให้น้ำไม่ท่วม อาจจะเป็นการซ้ำเติมด้วยซ้ำ เพราะทำให้เกิดการสะสมของดินตะกอนทรายด้านหลังฝายทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน เราเห็นการขุดลอกลำธาร ย้ำว่าลอกลำธาร เอาหินกรวดในลำธารขึ้นมากองอยู่ เป็นการทำลายระบบนิเวศลำธารที่ร้ายแรงมาก และเป็นการทำลายสมดุลย์ของการไหลของน้ำในลำธาร เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของท้องน้ำ น้ำจะเปลี่ยนทิศทางและวิธีการไหล ซึ่งมักจะก่อให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งอย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้เกิดดินตะกอนทำให้คุณภาพของน้ำในแหล่งน้ำแย่ลงไปอีก


ลำธารโดยธรรมชาติแล้ว จะแบ่งได้คร่าวๆเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่น้ำลึกสักหน่อย น้ำตรงนี้จะค่อยๆไหล และส่วนที่เกิดการบีบแคบของลำน้ำ หรือมีการยกตัวขึ้น จะเกิดเป็นบริเวณที่เรียกว่าแก่ง ที่แก่งนี้ ใครที่เคยเห็นจะเห็นว่าน้ำมีการไหลเวียน หมุนวน มากกว่าปกติ ทำให้มีฟองอากาศในบริเวณแก่งมากมาย ตรงนี้เป็นเหมือนการเติมออกซิเจนให้ กับลำธาร และเป็นการทำให้ก๊าซเสียๆระเหยออกไป แก่งจึงเป็นเหมือนปอด เหมือนเหงือกของแหล่งน้ำ ปลาหลายชนิด ปรับตัวให้อาศัยอยู่เฉพาะในบริเวณแก่งเท่านั้น ถ้ามีการขุดลอกลำธาร จนกลายเป็นแหล่งน้ำลึกๆ ไหลเสมอกันหมด คุณภาพของน้ำในลำธารจะแย่ลง ปลาหลายชนิดจะสูญพันธุ์ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซ้ำเติมด้วยฝายอีก ในที่สุดแล้วก็จะได้ลำธารตื้นเขิน ที่เต็มไปด้วยตะกอนดินทราย ไม่มีสัตว์น้ำ ไม่มีปลา ไม่มีแหล่งโปรตีน ไม่นับรวมว่าหินลำธารที่ถูกขุดขึ้นมานั้นไปไหน บางที่บางแห่ง มีการนำไปขายก็มี


แก่งเป็นเหมือนปอดเหมือนเหงือกของแหล่งน้ำ


ปลาหลายชนิด เช่นปลาแค้ห้วย ปรับตัวอาศัยอยู่เฉพาะในบริเวณแก่งเท่านั้น


ปลาค้างคาวศิลาเพชร (ตัวบน) และปลาผีเสื้อน่าน (ตัวล่าง) เป็นปลาเฉพาะถิ่นของต้นแม่น้ำน่าน ไม่พบที่อื่นใดในโลก

อยากจะย้ำถึงความสำคัญของลำธาร ว่าเป็นแหล่งน้ำที่มีปลา ที่ปรับตัวอาศัยอยู่เฉพาะในลำธาร ค่อนข้างมาก อย่างในจังหวัดน่านเอง มีปลาที่เป็นปลาเฉพาะถิ่นของต้นแม่น้ำน่าน ไม่พบที่อื่นในโลกหลายชนิด เช่นปลาผีเสื้อน่าน ปลาค้างคาวภูคา ปลาค้างคาวทุ่งช้าง ปลาค้างคาวศิลาเพชร ปลาค้อน่าน ปลาบู่น้ำตกน่าน เป็นต้น ความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ ถือเป็นสมบัติอันมีค่า ช่วยทำให้ระบบนิเวศสมบูรร์ให้มนุษย์ได้พึ่งพา ใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
 
ที่ตีนดอยภูคา เราขับรถผ่านลำธารแห่งหนึ่ง เมื่อหลายปีก่อนผมเคยผ่านมาแล้ว ถึงแม้นว่าจะมีฝายใหญ่ แต่ก็ออกแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพอสมควร มีการลดหลั่นของน้ำ ทำให้ปลาและสัตว์น้ำอาจจะพอข้ามได้บ้าง ที่กลางลำธารมีเกาะเล็กๆที่มีต้นไคร้น้ำขึ้นอยู่ หันไปด้านหลัง ลำธารจะรวมกันเป็นสายเดียว ไหลแทรกไปในดงต้นไคร้น้ำ สะท้อนแสงอาทิตย์ยามเย็นเป็นสีเงินสวยงามมาก

มาคราวนี้ผมช๊อคเลย เมื่อเห็นลำธารแห่งเดิม น้ำแห่งแก๊ก เกาะไคร้น้ำหายไป หันไปอีกฝั่งก็ไม่มีดงต้นไคร้น้ำอีกแล้ว ถึงแม้ว่าคราวที่แล้วจะเป็นการมาในช่วงปลายฝน และคราวนี้เป็นช่วงปลายฤดูแล้ง แต่ลำธารใหญ่ขนาดนี้ อยู่บนแหล่งต้นน้ำที่สำคัญขนาดนี้ การที่แห้งไปเลยแบบนี้ต้องถือว่าไม่ปกติ ถ้ามีป่าคอยช่วยชะลอและค่อยๆปล่อยน้ำออกมา ผมเชื่อว่าลำธารแห่งนี้จะยังมีน้ำอยู่ เพราะปลายปีที่แล้วอย่างที่ทราบกันว่ามีฝนตกเยอะมาก แต่เมื่อมีการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำกันมโหฬารอย่างที่เห็น ก็คงไม่แปลกที่น้ำทั้งหมด จะไหล
กระหน่ำลงสู่ด้านล่างโดยไม่มีการชะลอไว้เลย ระบบนิเวศลำธารต้นน้ำล่มสลายไปพร้อมกับสายน้ำ ดงต้นไคร่น้ำที่เคยช่วยชะลอน้ำไว้ เป็นแหล่งอาศัยพึ่งพิงของสัตว์น้ำ ถูกใครขุดลอกไปหรือว่าถูกน้ำหลากพัดไปจนหมด? ผมไม่แน่ใจ รู้แต่ว่า ลำธารแห่งนี้ ตายสนิทเลยทีเดียว





จากลำธารเราไปเที่ยวกันที่น้ำตกศิลาเพชร แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของแถวนั้น สิ่งแรกที่เห็น คือฝาย โอเค อาจจะสร้างเพื่อยกระดับน้ำให้นักท่องเที่ยวได้เล่น ก็อาจจะพอเข้าใจได้ แต่มีอันเล็กอันน้อยตามมาอีกหลายอัน เริ่มไม่เข้าใจ ทางเข้าน้ำตก มีป้ายใหญ่ชัดเจนเลย ว่าห้ามน้ำอาหาร เครื่องดื่ม ภาชนะใดๆ เข้าไปกินในบริเวณน้ำตก แต่สิ่งที่เห็นกลับเป็นตรงกัน ข้าม ใครๆก็เอาอาหารเข้าไปกิน ถุงขนม แก้วพลาสติก ขวดเบียร์ เหล้า โซดา หิ้วกัน เข้าไปนั่ง กินกัน เสร็จแล้วถ้าจะเอากลับออกมาทิ้งก็คงจะพอทุเลา แต่นี่กินเสร็จแล้วเล่นทิ้งเกลื่อนกราดอยู่ริมน้ำตก พวกขี้เมาบางคน ยังทำแก้วแตก ตกหล่นอยู่ในลำธาร น่าหวาดเสียวว่าจะไปบาดเท้าใครเข้า ผมเชื่อเหลือเกิน ว่าคนที่มาเที่ยววันนั้นส่วนใหญ่ เป็นคนที่อยู่แถวนั้นเป็นหลัก ถ้าพวกเขาไม่รัก ไม่หวงแหน ธรรมชาติใกล้ตัวเขาไว้ เก็บลำธาร เก็บป่าที่สวยงามไว้ให้ลูกให้หลานได้ดู เก็บป่าต้นน้ำไว้ช่วยชะลอให้มีน้ำใช้ตลอดปี เก็บลำธารดีๆไว้ให้ปลาอยู่ให้ลูกให้หลานได้จับกิน ถ้ารุ่นเราไม่รักษาแล้วรุ่นต่อไปจะเหลืออะไร?

 
ถ้าคนน่านเองไม่รักน่าน แล้วใครจะรักน่าน? 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ขอให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตา ไม่ว่าคนเมื่องน่าน คนท่องเที่ยว ทุกคนอยากร่วมรักษาผืนป่า รักษาธรรมชาติ ความงดงามให้คงอยู่ ซึ่งมีปัจจัยจำกัดไม่ว่าเทคโนโลยี การสื่อสาร การสร้างความเข้าใจตะหนักรู้ ให้คนทำไร่ ทำนา ที่ต้องหาเงินส่งลูก หาเงินส่งเจ้าหนี้ ทุกวิถีทางไม่ว่าจะถูกหรือผิด ขอผู้รู้ ผู้ตั้งใจ ผู้เสียสละ ทุ่มเทช่วยประชาชนให้พ้นจากทุกข์ ความโลภ ความจนในชีวิต สามารถมีชีวิตในสังคมนายทุนตะวันตกได้

ความเห็นที่ 2

yes

ความเห็นที่ 3

อ่าน ข้อความที่ คุณ นณณ์ เขียนแล้ว แต่อ่านยังไม่จบ มองจากภาพถ่ายแล้วรู้สึกเศร้าใจพอสมควร
เจ้าวายร้ายตัวน้อยเคยเห็นคนที่อยู่บนภูเขาเผาป่าเพื่อทำการเพาะปลูกด้วยตาตนเอง แต่ทำอะไรไม่ได้ ตอนนั้นมีผุ้สื่อข่าวสายสิ่งแวดล้อมจาก กทม.มาด้วย รู้สึกอายมากนะ เคยบอกกับพี่ผู้สื่อข่าวคนนี้ว่าเมืองน่านอยู่ แต่พอออกไปต่างอำเภอเห็นสิ่งไม่คิดว่าจะได้เห็น คือ การจุดไฟเผาพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพด เหตุที่ทำอะไรไม่ได้เพราะรถที่นั่งมาขับเร็วมาก ถ่ายรูปไม่ทัน แต่ยังคงติดอยู่ในความทรงจำ
อยากจะบอกว่า การปลูกป่าขอให้นำพระราชดำรัสของในหลวงมาเป็นข้อคิด ขอให้ทุกคนมีความรักป่าด้วยจิตสำนึก Awareness and Sharing Paticipation "เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพาปลูกไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง"
ไม่ได้ต่อว่าใคร แต่เป็นข้อคิดสำหรับทุกคน
จาก เจ้าวายร้ายตัวน้อย

ความเห็นที่ 4

 เห็นประเด็นดังกล่าวแล้วก็อยากจะเห็นแนวทางขับเคลื่อนด้วยกันตามแนวทางการมีส่วนร่วมและบูรณาการร่วมกันต่อไปครับ
          ในฐานะเป็นคนน่านและเคยเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมแบบก้าวกระโดดน่าเศร้าใจถามว่าจะกลับคืนมาได้ไหม  ผมยังเชื่อในความเป็นคนน่านอยู่ พูดกันได้ ขอกันได้คุยกันน่าจะมีทางออกครับ
           เป็นปัญหาที่คลาสสิกเพราะบวกค่าขนส่งมาก เราจะเริ่มกันจุดไหนมีประเด็นไหนทำได้ เพราะทุกคนมีเหตุผลเป็นของตนเองทั้งนั้นแต่ถ้าทุกคนมายืนจุดเดียวกัน เริ่มจุดเดียวกันผมว่าน่าจะขยับไปได้อย่างยั่งยืนครับ

           ข้อเท็จจริงบางประการ
1. เราไม่ได้เห็นและไม่ได้คุยกันในจุดเริ่มต้นครับ ขณะนี้หากชาวบ้านหยุดทันทีเขาเป็นหนี้ทันทีครับ  เช่น เขาผ่อนรถ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอำนวยความสะดวกและทุนที่รับมาก่อน
2. ผลตอบแทนในพื้นที่ที่เป็นรูป เงินตรา มีอะไรบ้างไหมที่ให้เขาทำกินเนื่องจากทุกอย่างในพื้นที่ตรงนี้ต้องซื้อด้วยเงินเหมือนที่อื่นทั่วไปครับอาหารมีรถส่งถึงที่ ค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า ค่าเล่าเรียนลูก มิหนำซ้ำ แพงกว่าพื้นที่เจริญอีก เพราะบวกค่าขนส่ง
3.การพัฒนาของทุกหน่วยงาน องค์กรให้ความสำคัญในพื้นที่นี้บ้างหรือเปล่า/ที่ทำแบบมีเป้าหมายไม่ใช่ทำเพื่อได้ทำ เท่าที่เห็นจะมีแต่เพียงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เท่านั้น
4.ผู้บริหารหรือหน่วยงาน/ราชการที่ทำงานในจังหวัดน่านก็จะด้วยเหตุปัจจัยบางประการที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาจริงจัง
                - ได้ตำแหน่งใหม่ ซึ่งเป็น โรงเรียนผู้บริหาร มีบุคลิก  เช่น ๑) ถอนทุน ๒) ต้องทำไม่เหมือนคนก่อนหน้าเดี๋ยวจะถูกว่าไม่มีความคิด ทั้งที่นโยบายก่อนหน้าลงทุนมามากแล้ว  ๓) มาเพื่อจะวิ่งไปที่อื่นจึงทำทุกวิถีทางเพื่อตนเอง
                - ถูกทำโทษ / ไล่มาในพื้นที่ ไม่เจริญ จะไม่สนใจทำงานคอยหาผู้ค้ำชูเพื่อย้าย
                - มาเพื่อเกษียณ อายุราชการ ว่ามากเดี๋ยวไม่มีใครนับถือ
                - มาจากต่างถิ่น ไกลหูไกลตา ครอบครัว และหน่วยงานต้นสังกัด
และแล้ว  ชาวบ้านรับกรรมฝ่ายเดียว
5. พื้นที่ตรงนี้เดิมเป็นพื้นที่สีแดง ( หมายถึง ผกค.น๊ะ ไม่ใช่ คนเสื้อแดง )
- เป็นคนมีอุดมการณ์สูง
-อพยพมาจากต่างที่ถิ่นฐาน
- เบื่อระบบราชการเป็นทุนเดิม
6. ผู้ที่มาบอกชาวบ้านว่าทำเพื่อชาวบ้าน ล้วนทำให้เขาไม่เชื่อถือ  ทั้ง GO และ NGO ชาวบ้าน งง ครับ จะเชื่อใคร สุดท้ายทุกหน่วยได้ผลประโยชน์กลับไปหมด
 
สุดท้าย  คุณจะคิดเหมือนผมไหม?
ถ้าผมเป็นคนพื้นที่ตรงนั้น มีพ่อมีแม่ มีลูกตาดำๆ  ผมก็จะต้องทำครับ  เพื่อดำรงชีพ
“ผมทำไร่อยู่ที่บ้านดีแล้ว ดีกว่าทิ้งบ้านทิ้งครอบครัวไปใช้แรงงานต่างถิ่น เกือบทุกรายถูกเอาเปรียบเพราะเป็นคนซื่อ และรู้ไม่เท่าทัน
         

ความเห็นที่ 5

แล้วเราจะช่วยกันสะท้อนข้อมูลดังกล่าวฯ ให้คนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ายิ่ง  ได้รับรู้รับทราบได้อย่างไร?

เพราะพวกเค้าเหล่านั้น  ไม่ได้ใช้คอมพ์  ไม่ได้เปิดเน๊ต  และรับรู้ปัญหาเหล่านี้ฯ เลย

เพราะพวกเค้าคิดอย่างเดียว  ว่าพรุ่งนี้จะกินอะไร  จะทำกินได้อย่างไร...เท่านั้น

จาก...คนที่เห็นภาพเหล่านี้ทุกวัน

ความเห็นที่ 6

 เห็นประเด็นดังกล่าวแล้วก็อยากจะเห็นแนวทางขับเคลื่อนด้วยกันตามแนวทางการมีส่วนร่วมและบูรณาการร่วมกันต่อไปครับ
          ในฐานะเป็นคนน่านและเคยเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมแบบก้าวกระโดดน่าเศร้าใจถามว่าจะกลับคืนมาได้ไหม  ผมยังเชื่อในความเป็นคนน่านอยู่ พูดกันได้ ขอกันได้คุยกันน่าจะมีทางออกครับ
           เป็นปัญหาที่คลาสสิกเพราะบวกค่าขนส่งมาก เราจะเริ่มกันจุดไหนมีประเด็นไหนทำได้ เพราะทุกคนมีเหตุผลเป็นของตนเองทั้งนั้นแต่ถ้าทุกคนมายืนจุดเดียวกัน เริ่มจุดเดียวกันผมว่าน่าจะขยับไปได้อย่างยั่งยืนครับ

           ข้อเท็จจริงบางประการ
1. เราไม่ได้เห็นและไม่ได้คุยกันในจุดเริ่มต้นครับ ขณะนี้หากชาวบ้านหยุดทันทีเขาเป็นหนี้ทันทีครับ  เช่น เขาผ่อนรถ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอำนวยความสะดวกและทุนที่รับมาก่อน
2. ผลตอบแทนในพื้นที่ที่เป็นรูป เงินตรา มีอะไรบ้างไหมที่ให้เขาทำกินเนื่องจากทุกอย่างในพื้นที่ตรงนี้ต้องซื้อด้วยเงินเหมือนที่อื่นทั่วไปครับอาหารมีรถส่งถึงที่ ค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า ค่าเล่าเรียนลูก มิหนำซ้ำ แพงกว่าพื้นที่เจริญอีก เพราะบวกค่าขนส่ง
3.การพัฒนาของทุกหน่วยงาน องค์กรให้ความสำคัญในพื้นที่นี้บ้างหรือเปล่า/ที่ทำแบบมีเป้าหมายไม่ใช่ทำเพื่อได้ทำ เท่าที่เห็นจะมีแต่เพียงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เท่านั้น
4.ผู้บริหารหรือหน่วยงาน/ราชการที่ทำงานในจังหวัดน่านก็จะด้วยเหตุปัจจัยบางประการที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาจริงจัง( คนดีๆก็มีน๊ะ แต่มักจะได้ย้ายเร็ว )
                - ได้ตำแหน่งใหม่ ซึ่งเป็น โรงเรียนผู้บริหาร มีบุคลิก  เช่น ๑) ถอนทุน ๒) ต้องทำไม่เหมือนคนก่อนหน้าเดี๋ยวจะถูกว่าไม่มีความคิด ทั้งที่นโยบายก่อนหน้าลงทุนมามากแล้ว  ๓) มาเพื่อจะวิ่งไปที่อื่นจึงทำทุกวิถีทางเพื่อตนเอง
                - ถูกทำโทษ / ไล่มาในพื้นที่ ไม่เจริญ จะไม่สนใจทำงานคอยหาผู้ค้ำชูเพื่อย้าย
                - มาเพื่อเกษียณ อายุราชการ ว่ามากเดี๋ยวไม่มีใครนับถือ
                - มาจากต่างถิ่น ไกลหูไกลตา ครอบครัว และหน่วยงานต้นสังกัด
และแล้ว  ชาวบ้านรับกรรมฝ่ายเดียว
5. พื้นที่ตรงนี้เดิมเป็นพื้นที่สีแดง ( หมายถึง ผกค.น๊ะ ไม่ใช่ คนเสื้อแดง )
- เป็นคนมีอุดมการณ์สูง
-อพยพมาจากต่างที่ถิ่นฐาน
- เบื่อระบบราชการเป็นทุนเดิม
6. ผู้ที่มาบอกชาวบ้านว่าทำเพื่อชาวบ้าน ล้วนทำให้เขาไม่เชื่อถือ  ทั้ง GO และ NGO ชาวบ้าน งง ครับ จะเชื่อใคร สุดท้ายทุกหน่วยได้ผลประโยชน์กลับไปหมด
 
สุดท้าย  คุณจะคิดเหมือนผมไหม?
ถ้าผมเป็นคนพื้นที่ตรงนั้น มีพ่อมีแม่ มีลูกตาดำๆ  ผมก็จะต้องทำครับ  เพื่อดำรงชีพ
“ผมทำไร่อยู่ที่บ้านดีแล้ว ดีกว่าทิ้งบ้านทิ้งครอบครัวไปใช้แรงงานต่างถิ่น เกือบทุกรายถูกเอาเปรียบเพราะเป็นคนซื่อ และรู้ไม่เท่าทัน

ความเห็นที่ 7

เรื่องของจิตสำนึก นี้สำคัญมากๆ การศึกษาจะช่วยได้มากหากทำถูกวิธี เพราะฉะนั้นขอให้เราแต่ละคนเริ่มที่ตัวเราก่อน ลองถามตัวเราเองซิครับ เวลาคุณขับรถ ขี่รถจักรยานยนต์ คุณคาดเข็มขัด หรือสวมหมวหกันน๊อต เพราะกฏหมายบังคับ หรือ เพราะความปลอดภัยของตัวคุณเอง ถ้าเพราะเหตุผลอันหลัง แล้วความสำนึกดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อพบคำตอบ กรุณาช่วยถ่ายทอดจากคนสู่คนต่อๆไปนะครับ เท่าที่ทำได้นะครับ แล้วสักวันหนึ่งโลกคงสวยงามกว่านี้ก็เป็นได้

ความเห็นที่ 8

   เคยไปเที่ยวที่ อ.ปัว เมื่อ 30 ปีที่ แล้ว....ตกใจมาก ที่สองข้างทางที่รถวิ่งผ่าน  ภูเขาเป็นเขาหัวโล้นหมดไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย...มีแต่ตอไม้ (ซึ่งปัจจุบัน ตอยังไม่เหลือ)...น่าอนาถใจมากที่คนน่านทำลายป่ากันอย่างมโหฬาร....ความพินาศที่เกิดขึ้นนี้  เกิดมานานแล้ว และขณะนี้กำลังส่งผล ให้พวกคุณอยู่ จะไปโทษใครได้...คนน่านนั่นแหละ... ควรจะรวมพลังกันแสดงความรับผิดชอบ ต่อการกระทำของพวกคุณเอง....เป็นการไถ่โทษ..ที่บรรพบุรุษของคุณทำไว้.....

ความเห็นที่ 9

ถูกทุกประเด็น และข้อคิดเห็นครับ

         เหตุปัจจัยมันเปลี่ยนทุกเวลาครับ
๑.วิถีชีวิตของชุมชนและสังคมไม่เหมื่อนเดิม
๒.รูปแบบการเป็นอยู่และการบริโภคของพื้นที่เปลี่ยนไป
๓.ระบบทุนนิยมเข้ามากระตุ้น และแย่งใช้ในทางอ้อม เพื่อได้ผลผลิตไปป้อนระบบของนายทุน
๔.จิตสำนึกคนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ( ไม่เฉพาะคนน่านน๊ะครับ )

        คงให้มันย้อยกลับโดยจิตสำนึกของคน มันน่าจะยากแล้ว คงแก้ที่ระบบผลิตครับ
   "ลองหยุดรับซื้อข้าวโพดสัก ห้าปีสิครับ เขียวแน่ ป่าน่าน "
       
       แก้ที่ระบบมันยากจริงๆ เราส่งตัวแทนเข้าไป แก้ปัญหาแทนเรา แต่ดันไปแก้ปัญหาเพื่อพวกเขาเสีย ไม่เห็นเขาร้อนใจนั่งล้อมวงเอา ปัญหาป่าโล้น มาช่วยพิจารณา

 

ความเห็นที่ 10

ขอพูดอะไรให้พวกท่านๆชาวกรุงฟังหน่อยพวกเรา มันคน น่าน ใด้ชื่อฉายยานามมาจากพวกคนกรุงบางตัวว่า ไอ้พวกบ้านนอก แต่เราก็นะไม่สนหรอก ไอ้เรื่อง ทำลายป่าที่พวกคุณเอามาพูดกันนั้นป่าที่เห็นมันเป็นแค่ป่า เสื่อมโทรม ที่ชาวป่าใช้ทำมาหากินกัน นับ เกือบ 100 ปีมาแล้ว แล้วพวกท่านมาเทียวแล้ว มือไม่อยู่สุข ถ่ายภาพไปวิจาร เรื่อยเปื่อยจนเป็นเรื่อง ทำให้ชาวบ้านจังหวัดน่านลำบากกันทั่ว หน้า เพราะเดี๋ยวนี้ไม่สามารถทำอะไรกินกันใด้เลย ถูกเจ้าหน้าที่จากทางการ จับหมด ไม่ ว่า จะเครืองพนยา ตัดหญ้า จอบเสียม เครืองมือหากันที่ชาวบ้าน นำเข้าไปในบริเวณป่าเสื่อมโทรพวกนั้นถูกยึดหมดเพราะเขาอ้างว่าเป็นเขตเพื้นที่ป่าของรัฐทั้งที่ก็ทำกันกันมานานแล้วหลายชั่วอายุคน เพราะอาชีพหลักของคนน่านส่วนใหญ่ ก็ทำพืชไร ไม่ มีพื่นที่เป็นเอกสารสิทธของตัวเองทั่งนั้นและรายใด้ต่อปีที่ชาวบ้าน ใด้จาก การขายพืชไรก็แต่ละครอบครัว +- 90,000 บาท ต่อปี(ครอบครัวหนึ่งส่วนมากมี4 คน ขึ้นไปนะ)ไม่ใด้มี เงินเเดือนหมือน พวกข้าราชการเห็นแก่ ตัว บางตัว ที่เอากฎหมายมาหากินกับประชาชน ทั้งๆที่ เงินเดื่อน ส่วนใหญ่ที่พวกท่านแดกกันก็มาจากภาษีประชาชนทั้งนั้นและเรื่อง ทำลายธรรมชาติ มาบอกว่าภาค เหนือ ทำลายธรรมชาติทำให้โลกร้อน แล้ว พวกท่านๆหละ อยุ่ในเมือง เปิด แอ ขับถ โรงงาน สร้างตึก ทิ้งขยะ ทำราย ต้นไม่ไปกี่ต้น ก่าวจะเป็น เมืองหลวงทุกวันนี้ มาโทษ คนนั้นคนนี้ใด้ไง ไม่ดูตัวเองบ้างแหละ น้ำท่วม ก็มาโทษ แล้งก็มาโทษ จะเอาไงก้เอาชักอย่างที่นำท่ามปีนี้ เชื่อใด้ว่า เป็น นำท่ามการเมือง เพราะแต่ละหน่วยงาน ก็มีหลายผ่ายเล่น แกล้ง ปล่อยน้ำในเขื่อน กัน ให้ วุ้นจนทำให้น้ำท่วมกรุงเทพ ทั้งที่ปริมาณนำผนก็เหมือนเดิม ทุกปี อาจน้อยก่าว ปีอืนๆด้วยช้ำ สังเกตุใด้ว่า ปีนี้หน้าแล้งมาเร็วก่าวปกติ
สรุบว่า พวกท่าน ควรหาข้อมูลจริงๆมาจากชาวบ้านก่อนแล้วค่อยเขียนวิจารกันเหรือ ลงไปทำสกรุบเฮียไรก้ใด้ดูก่อน หาข้อมูลมาว่าจะอนุรักธรรมชาติยังไง ที่ๆผมเห็น โครงการปลูกป่า แถวๆบ ้า ก็มีเยาะนะคนที่เขาเขียนโครงการ เขาก็ใด้เงิน เข้ากระเป๋าตัวเองไปเหนาะ ต้นละ 2 บาท ลองคูณ
3,000,000 ต้น ซิ กลุมพวกนี้ก้มีเยาะนะมีอยุ่หลายๆชือเช่น กลุมฮักเมืองน่านบ้าง  กลุม NGO บ้างทั่งๆที่กลุมพวกนี้แสวงหาผลประโยชจาก ความเชื่อ ของชาวบ้านทั้งนั้นเรื่องพวกนี้จะให้พูดทั้งหมด 9 วันก็ไม่มีจบมีเยาะมาก
โดย ลูกชาวไรชาวนา.........

ความเห็นที่ 11

ชาวบ้านทุกคน จริง ๆ แล้วไม่มีใครอยากทำลายลมหายใจของตัวเองหรอกค่ะ แต่ทำเพื่อความอยู่รอด คนที่ไม่มาสัมผัสกับตัวเองจริง ๆ ไม่รู้หรอกค่ะ ว่าคนบนดอย ถ้าไม่ทำ ก้อไม่มีกิน จะมีใคร หน่วยงานไหนบ้างที่เข้ามาส่งเสริมอาชีพให้ประชาชน ถ้าเขาไม่ทำไร่บนดอย จะให้เขาเอาพื้นทีราบที่ไหนมาทำกินคะ เพราะสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ ก้อเห็น ๆ กันอยู่....

ความเห็นที่ 11.1

ใช่จ๊ะ เห็นด้วยอย่างยิ่ง โครงการอะไรก็เข้าเชียงใหม่ เชียงรายหมด  คนน่านก็น้อยใจเหมือนกัน

ความเห็นที่ 12


            ครับผม  นึกๆไป น่าคิดทุกประเด็น


       เนื่องจากอยู่ต่างที่กันคิด
    และอยู่ต่างมุมกันตอบ

                 สิ่งที่เห็น  ประเด็นที่คิดก็เลยต่าง

ความเห็นที่ 12.1

เห็นด้วยค่ะ ..คนชายขอบ

ความเห็นที่ 13

จังหวัดเลย เขตอำเภอภูหลวง ติดต่ออำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็ไม่เบานะครับ  ขนาดยอดภูเขาสูงๆยังขึ่นไปตัดทำลายเลย เมื่อก่อนแถวนี้อากาศจะเย็นในฤดูร้อน หนาวมากในฤดูหนาว ปัจจุบันร้อนขึ้นกว่าเดิม  และที่เป็นต้นน้ำก็แห้งด้วย  คำว่าทำลายชาติบ้านเมืองโดยการทำลายป่าไม้  คำนี้น่าจะเหมาะนะ อย่าอ้างนะครับว่าไม่มีที่ทำทางกินถึงต้องทำแบบนี้ เขารู้กันหมดแหละครับ ควรนำภาพมาประจานกันเยอะๆ