เขื่อนแม่วงก์ ตกลงคุ้มหรือไม่คุ้ม?

โดย ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ 

 
บทสรุปสำหรับใครที่ไม่อยากอ่านเรื่องเต็ม
1.         โครงการเขื่อนแม่วงก์เมื่อคิดคำนวนตามหลักเกณฑ์ที่ทางโครงการกำหนดขึ้นเองแล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงอย่างมากที่โครงการจะขาดทุน เพียงแค่ราคาพืชผลทางการเกษตรลดลงหรือ ค่าใช้จ่ายในการเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 5% หรือค่าใช้จ่ายโครงการเพิ่มขึ้นแค่ 0.25% โครงการก็จะขาดทุนทันที
2.         ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการคิดมูลค่าป่าแม่วงก์ที่เสียไป โดยเฉพาะการประเมินมูลค่าความพึงพอใจที่จะเก็บรักษาป่าผืนนี้ไว้ ซึ่งใช้ตัวอย่างประชากรแคบเกินไป ในฐานะที่ป่าแม่วงก์เป็นอุทยานแห่งชาติสมบัติของทุกคน การศึกษาควรรวมเอาประชากรทั้งหมดเข้าไปไม่ใช่ประชากรแค่ในพื้นที่รอบๆป่าเท่านั้น ซึ่งการใช้กลุ่มประชากรน้อยทำให้มูลค่าป่าตรงนี้ออกมาถูกมาก (มูลค่าส่วนนี้แค่ 5 ล้านบาท)
3.         มูลค่าป่าแม่วงก์คิดคำนวนตามการศึกษาครั้งนี้มีมูลค่าเฉลี่ยเพียงปีละ 23,030 บาท ในขณะที่มูลค่าป่าที่กรมอุทยานฯฟ้องชาวบ้านที่บุกรุกป่าใน “คดีโลกร้อน” ตีมูลค่าป่าไว้ถึงไร่ละ 150,000 บาท มาตรฐานอยู่ที่ไหน? 
4.         การคิดผลประโยชน์ของโครงการนับรวมเอาโครงการปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ 45,000 ไร่ รวมเป็นผลประโยชน์ของโครงการไปด้วย ทั้งๆที่ยังไม่มีแผนงานใดๆรองรับ และในความเป็นจริงแล้วป่าปลูกไม่สามารถทดแทนพื้นที่ป่าแม่วงก์ผืนที่กำลังจะเสียไปได้
5.         โครงการใช้พื้นที่ในการสร้างคลองส่งน้ำถึง 14,977 ไร่ (มากกว่าพื้นที่ป่าที่ถูกน้ำท่วมด้วยซ้ำ) ซึ่งคิดเป็นที่ดินของชาวบ้านในระแวกนั้นถึง 1,302 ครัวเรือน แต่จะมีการจ่ายเงินค่าเวรคืนที่ดินจริงๆเพียง 1,040 ไร่เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าจะมี ชาวบ้านส่วนหนึ่งสูญเสียที่ดินทำกิน (ซึ่งอาจจะไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือเป็นการครอบครองที่ไม่ถูกต้อง) โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ
6.         คลองส่งน้ำเป็นคลองขนาดใหญ่มากพาดผ่านไปตามพื้นที่ราบซึ่งเป็นทุ่งน้ำหลาก คลองส่งน้ำอาจจะกีดขวางการไหลของน้ำก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังหรือที่ดินบางแปลงไม่ได้รับน้ำหลากตามธรรมชาติอย่างที่เคยได้รับ 
 


คำโปรย
จะก่อสร้างโครงการอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือภาครัฐบาลต้องมีการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เรียกง่ายๆก็คือศึกษาว่าที่ลงทุนไปนี่ได้เงินคุ้มกับที่เสียเงินไปหรือไม่ ซึ่งในกรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์เช่นเดียวกัน ต้องมีการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ ว่าการลงทุนของรัฐคุ้มค่าหรือไม่ จริงๆแล้วมันก็ง่ายๆ ลงทุนไปเท่าไหร่ ถ้าได้เงินคืนมามากกว่าก็ถือว่าเป็นโครงการที่ใช้ได้ รายได้มากกว่ายิ่งมากก็ยิ่งดี โครงการง่ายๆอย่างซื้อขนมถุงมาขายคำนวนได้ง่าย แต่โครงการขนาดใหญ่ระดับหมื่นล้านที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ก็ต้องซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
 
ในกรณีของการสร้างเขื่อนในป่า จะยุ่งยากสักหน่อยเพราะการสูญเสียพื้นที่ป่าบางทีก็ประเมินค่าได้ยากและซับซ้อน แต่ศาสตร์ทางด้านนี้ก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ และก็พอมีวิธีการบ้างแล้วเพียงแต่ยังไม่มีมาตรฐานแบบที่ยอมรับกัน ดังนั้นการประเมินคุณค่าของป่าจึงอยู่ที่ความสะดวกและพอใจมากกว่าหลักการทางวิชาการ เห็นได้จากการประเมินมูลค่าป่าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ฟ้องชาวบ้านที่ไปรุกป่าในคดีที่เรียกกันว่า “คดีโลกร้อน”  ฟ้องว่าป่ามีมูลค่าถึง 150,000 บาทต่อไร่ แต่ป่าแม่วงก์ที่จะสร้างเขื่อนนี้กลับคำนวนได้แค่ไร่ละ 23,030 บาทเท่านั้นเอง นี่คือความยากของการประเมินมูลค่าโครงการขนาดใหญ่ อย่างในส่วนของผลประโยชน์ซึ่งสำหรับเขื่อนนี้เป็นเรื่องของการเกษตร ก็ต้องดูราคาและต้นทุนพืชผลการเกษตรจะเป็นอย่างไร เรื่องจะมีน้ำไหมจะส่งถึงชาวบ้านไหม เหล่านี้ล้วนต้องนำมาประกอบการตัดสินใจทั้งสิ้น พอดีว่าได้มีโอกาสอ่าน ผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทางด้านเศรษฐศาสตร์ ประกอบกับได้เข้าร่วมฟังการบรรยายเกี่ยวกับกรณีนี้ โดย รศ.ดร.อดิศร์  อิศรางกูร ณ อยุธยา คณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)และอ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ก็ได้กล่าวไว้บ้าง ก็เลยคิดว่าจะนำประเด็นสำคัญที่พอจะแกะออกมาได้มาให้ฟังกันครับ
 
ทางด้านต้นทุน
เรื่องมูลค่าเนื้อไม้ กล้าไม้ แร่ธาตุ ช่วยลดโลกร้อน มูลค่าการเก็บหาของป่า ก็ว่ากันไปครับ ส่วนนี้คิดว่าคงเป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้โดยตรงก็ไม่กล้าวิจารณ์ พวกนี้เป็นต้นทุนที่พอมีฐานให้คำนวนได้ แต่พอมาถึงตรงส่วนการประเมินมูลค่าความเต็มใจที่จะบริจาคเพื่ออนุรักษ์ซึ่งเป็นเรื่องคุณค่าทางจิตใจล้วนๆเริ่มจะรับไม่ได้ การศึกษาแบบนี้คือเค้าจะมาถามคุณว่า “ป่าผืนนี้ถ้าคุณอยากให้อนุรักษ์ไว้คุณจะยอมเสียเงินบริจาคเพื่อการอนุรักษ์เท่าไหร่?” สมมุติได้ค่าเฉลี่ยออกมาสัก 100 บาท ก็เอามาคิดคำนวนว่ามีคนอย่างคุณ คือ มีรายได้ประมาณเท่านี้ อายุเท่านี้อยู่กี่คนในกลุ่มประชากร เอาจำนวนคนคูณตัวเลขก็จะได้ค่าว่าป่าผืนนี้คนทั่วไปจะยอมจ่ายเพื่อรักษาสักเท่าไหร่ ทีนี้ในความคิดของผม ป่าแม่วงก์เป็นอุทยานแห่งชาติ หมายถึงว่ามันเป็นสมบัติของคนทั้งชาติ พวกเราทุกคนมีสิทธิ์ไปเที่ยว ใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมร่วมกัน มีความหวงแหนเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างผมที่นั่งเขียนบทความนี้อยู่หรือคุณที่ทนอ่านมาจนถึงตรงนี้คิดว่าถ้าถามว่าจะยอมบริจาคเท่าไหร่เพื่อรักษาป่าผืนนี้ไว้ก็คงยอมบริจาคกันทุกคนมากบ้างน้อยบ้างตามกำลังศรัทธา แต่สิ่งที่การศึกษาในครั้งนี้ทำคือ ขอบเขตการศึกษาใช้กลุ่มประชากรเฉพาะครัวเรือนที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงโครงการคือ อ.แม่วงก์ อ.ลาดยาว อ.เมือง จ.นครสวรรค์ อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี และ อ.ขานุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร เป็นกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งมีอยู่แค่ 43,604 ครัวเรือนในพื้นที่การศึกษามาเป็นตัวตั้งในการคำนวน แล้วก็ได้มูลค่าส่วนนี้มาเพียง 4.977 ล้านบาทซึ่งในความเป็นจริง ถ้าถามให้ทั่วและใช้จำนวนครัวเรือนทั้งประเทศมาคำนวน จะได้เยอะกว่านี้ไม่รู้กี่เท่าแน่นอน อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าทำให้มูลค่าป่าที่สูญเสียไปต่ำกว่าความเป็นจริง คุณค่าทางจิตใจมาล้อกันเล่นไม่ได้นะครับ ใครที่มีแฟนแล้วคงเข้าใจกันดีทุกคน! 
 
ทั้งหมดนี้การศึกษาคราวนี้ตีรวมมูลค่าป่าแม่วงก์12,300 ไร่ออกมา รวมมูลค่าเฉลี่ย 50 ปีได้ปีละ 283.271 ล้านบาท หรือไร่ละ 23,030 บาท/ปี ในขณะที่กรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติฯฟ้องชาวบ้านกรณีทำลานป่า “คดีโลกร้อน” ป่ามีค่าถึงไร่ละ 150,000 บาท อันนี้เป็นจุดที่เรียกว่า มันต่างกันจนรับไม่ได้ทั้งกรณีที่ผมเป็นชาวบ้านที่ถูกฟ้อง และเป็นคนที่หวงป่าแม่วงก์ 
 
ทางด้านรายได้
รายได้หลักของโครงการนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือโครงการปลูกป่า ซึ่งจะปลูกเพิ่มให้อีก 3 เท่าของปริมาณป่าที่สูญเสียไป เสร็จแล้วเอาผลประโยชน์ที่จะได้จากป่าปลูกนี้นำมาคำนวนเป็นรายได้ของโครงการ ซึ่งใช้หลักการเดียวกับการวิเคราะห์มูลค่าป่าแม่วงก์ด้านบน ตรงนี้มีข้อสังเกตคือ
1.         จนวันนี้ก็ยังไม่เห็นว่าป่าที่จะไปปลูกถึง 45,000 กว่าไร่ จะปลูกตรงไหน
2.         ยังไม่เห็นแผนงานการปลูกป่าใดๆ ความหลากหลายของไม้ที่ปลูกเป็นอย่างไร ปลูกต้นอะไร อย่างไร? 
3.         ป่าปลูกต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเป็นระบบนิเวศขึ้นได้ ต้องมีการดูแลรักษาอย่างดีโดยเฉพาะในปีแรกๆ จึงน่าสนใจว่าตั้ง 45,000 ไร่ จะดูแลให้ดีได้อย่างไร
4.         จะปลูกอย่างไรก็ไม่สามารถทดแทนป่าบริเวณที่เสียไปได้เนื่องจากเป็นระบบนิเวศป่าริมน้ำในพื้นที่ราบ ติดกับป่าผืนใหญ่ซึ่งมีความเฉพาะตัวมาก ไม่สามารถทดแทนได้ 
 
ส่วนที่สองเรื่องว่าเขื่อนนี้จะมีน้ำให้เก็บตามที่คำนวนไว้หรือไม่ น้ำจะส่งไปถึงประชาชนจริงหรือไม่ ขอละไว้จากบทความนี้ เอาเป็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ จะพบว่าผลประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับเมื่อนำมาหักลบกับรายจ่ายของโครงการแล้ว โครงการนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะขาดทุน เพราะรายจ่ายและรายรับใกล้เคียงกันมาก ผมคงไม่สามารถสรุปได้ดีกว่าในรายงานจึงขอยกมาดังนี้ครับ
 
“ผลตอบแทนของโครงการมีความไวค่อนข้างมาก เนื่องจากหากมีการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายหรือผล ประโยชน์ไปจากข้อสมมุติฐานเดิมเพียงร้อยละ 5 ผลตอบแทนของโครงการจะต่ำกว่าเกณฑ์ กำหนดทั่วไปของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ร้อยละ 12 หรือถ้าโครงการล่าช้าไปจากแผนการดำเนินงาน 2  ปี ก็จะมีผลตอบแทนต่ำกว่าเกณฑ์" (การสร้างเขื่อน การสร้างระบบส่งน้ำ ต้องพร้อมสมบูรณ์ ตามที่กำหนดในแผนงาน) "หรือเพิ่มค่าใช้จ่ายจากแผนงานเดิมได้เพียงร้อยละ 0.25 ถ้าเกินกว่านี้จะไม่ผ่านเกณฑ์ทันที”

 
ที่มา: ตามอ้างอิงด้านล่าง

เกณฑ์ที่กล่าวถึงมีดังนี้ครับ
1.         อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return :EIRR) โดยทั่วไปไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 12.00 แต่ในปัจจุบันเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจ บางครั้ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอาจแนะนำว่าสำหรับโครงการ พัฒนาทั่วไปไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 9 ของแม่วงก์ได้ร้อยละ 12.02
2.         มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) ควรมีค่าเป็นบวก คือต้องมากกว่า 0 โครงการเขื่อนแม่วงก์ได้ 20.141ล้านบาท
3.         อัตราผลตอบแทนต่อค่าใช้จ่าย (Benefit Cost Ratio; B/C Ratio) ไม่ต่ำกว่า 1.00  ได้ โครงการเขื่อนแม่วงก์ได้ 1.00 พอดิบพอดี

จะเห็นว่าทุกเกณฑ์อยู่ในระดับหมิ่นเหม่มาก อันนี้ขอให้นึกย้อนไปว่าการประเมินมูลค่าป่าที่เสียไปก็ต่ำเกินไป ป่าที่ปลูกใหม่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม แต่นำมาคิดเป็นรายได้เรียบร้อยแล้ว สรุปง่ายๆคือถ้าฟังจากรศ.ดร.อดิศร์ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ท่านกล่าวไว้ในงานสัมมนาว่า “ความเสี่ยงสูงมากและไม่น่าสร้างเลย” แต่ก็จะมีบางคนเถียงว่าโครงการของรัฐลักษณะนี้เป็นการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้กับประชาชน ไม่ต้องมีกำไรก็ได้ แต่ผมคิดว่าโครงการนี้กระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรงเป็นการทำลายป่าในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งต้องคุ้มมากจริงๆถึงจะยอมกันได้ แต่โครงการลูกผีลูกคนแบบนี้ รับได้ยากเหลือเกิน
 
ผลกระทบอื่นๆที่พบในรายงานส่วนของเศรษฐศาสตร์
“โครงการจะทำให้สภาพสังคมดีขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดี” รายงานระบุไว้เช่นนั้น แต่สิ่งที่ไม่ได้แจงออกมาก็คือ จะมีการเวรคืนพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อนำมาสร้างระบบส่งน้ำขนาดใหญ่มากมูลค่าหลายพันล้านบาทโดยจะใช้ที่ดินมากถึง 14,977 ไร่ (มากกว่าพื้นที่อ่างเก็บน้ำด้วยซ้ำ) ในขณะที่ในรายงานฉบับเดียวกัน บอกว่าชาวบ้านในพื้นที่โครงการมีที่ดินเฉลี่ยครัวเรือนละ 11.50 ไร่ ลองหารดูก็พบว่าจะมีเกษตรกร 1,302 ครัวเรือนที่จะหมดสิ้นที่ดินทำกิน แน่นอนว่ามันคงไม่ไปพาดผ่านเป็นครัวๆ แต่มันจะพาดระรานไปทั่ว จึงมีจำนวนครอบครัวที่จะได้รับผลกระทบมากกว่านี้แน่นอน และที่น่าสนใจกว่านั้นคือมีการระบุว่าจากที่ดินที่จะใช้ตั้ง 14,977 ไร่โครงการจะชดเชยทางการเงินแค่ 1,045 ไร่ คิดเป็นมูลค่าทางการเงิน 393.292 ล้านบาท แล้วที่เหลืออีก 13,932 ไร่ จะยึดมาเฉยๆหรือว่าอย่างไร?  เพราะจริงๆแล้วพื้นที่แถวนั้นก็ถือครองที่ดินกันโดยไม่ได้มีเอกสารอยู่แล้ว  และก็เคยมีการว่าจ้างให้ศึกษารูปแบบการถือครองที่ดินในพื้นที่ไปแล้วด้วย แบบนี้จะทำให้สภาพสังคมดีขึ้นหรือไม่ หวยจะไปลงที่ครัวเรือนไหน นึกถึงยายไฮ ขึ้นมาทันทีเลยครับ 
 
อันนี้ยังไม่นับรวมถึงเจ้าคลองส่งน้ำยักษ์ที่จะต้องยกระดับคลองให้สูงกว่าพื้นที่เกษตรเพื่อให้ชาวบ้านใช้น้ำได้ง่าย แต่พื้นที่ตรงนี้มันเป็นที่ราบลุ่มน้ำหลาก คลองส่งน้ำมูลค่าหลายพันล้านบาทนี้จะไปสร้างขวางทางไหลของน้ำอาจจะทำให้น้ำเอ่อท่วมที่หนึ่งอยู่นานมากในขณะที่อีกฟากหนึ่งที่ปกติจะมีน้ำไหลมาลงที่ดินก็อาจจะไม่มีน้ำเลยก็ได้
 
สรุป
ทั้งนี้ก็พอจะสรุปได้ว่าโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงเช่นนี้ มีความเสี่ยงทางด้านเศรษฐศาสตร์มากขนาดนี้ มีมูลค่ามากมายขนาดนี้ ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านมากขนาดนี้ และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมตามที่บอกให้คนทั่วไปได้เข้าใจกันเลยนี้ ถ้ายังจะดันทุรังสร้างต่อไป ก็มองได้แค่เรื่องเดียวคือ….. (คิดกันเอาเอง)      
 
 
อ้างอิง
ร่างรายงานหลัก โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยบริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด ปี 2555

หมายเหตุ
บทความนี้อ้างอิงจาก ร่างรายงานหลัก รายงานฉบับจริงอาจจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลได้
 
 
 
 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

มันคุ้มค่ามาก สำหรับ
นายทุนธุรกิจการก่อสร้างและนายหน้า
ชาวนาที่(คิดว่า)ได้น้ำฟรี
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดน้ำ (ได้ผลงานตาม KPI)

ความเห็นที่ 2

โห พี่นณณ์ สุดยอด ขอบคุณมากๆค่ะพี่สำหรับบทสรุปที่น่าสนใจ

ความเห็นที่ 3

อ่านหมดแหละค่ะ ทั้งเต็ม หรือ สรุป แต่สรุปแบบนี้ก็ดี ^^

ความเห็นที่ 4

คำว่า "มูลค่า" กับคำว่า "คุณค่า" มันต่างกัน

เราอาจจะตีมูลค่าของธรรมชาติผืนป่าเป็นตัวเลขได้ แต่ไม่สามารถตีเป็นคุณค่าได้เพราะมันเป็นอนันต์....

ความเห็นที่ 4.1

yes สรุปได้กินใจมากเพื่อน

ความเห็นที่ 4.2

yes

ความเห็นที่ 4.3

yes ชอบๆsmiley

ความเห็นที่ 5

ขอแชร์นะคะ..

ความเห็นที่ 6

บทความดีครับ

ความเห็นที่ 6.1

This post is very simple to read and appreciate without leaving any details out. Great work!  www.chokdeebacarrat.com/ole777