เขื่อนไซยะบุรี และอีก 11 พี่น้อง เมื่อคนไทยเห็นแก่ตัว?

เรื่อง: ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์

ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบ่นให้ผมฟังว่าท่านไม่เข้าใจว่าจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่ลาวกับไทย เวียตนามกับเขมรมายุ่งอะไรด้วย จึงเป็นที่มาของบทความนี้ครับ

1. ทำไมประเทศเวียตนามถึงต้องห่วงว่าไทยและลาวจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง? 
เป็นที่รู้กันว่าประเทศเวียตนามส่งออกข้าวเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศไทย (หรือปีนี้แซงไปแล้ว? ซึ่งขอนอกเรื่องว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องภูมิใจอะไร ถ้าชาวนายังจนและรัฐบาลยังต้องเสียเงินสนับสนุนมากมายขนาดนี้ สู้ส่งเสริมให้ปลูกอย่างอื่นหรือทำอาชีพอื่นดีกว่า) ประเทศเวียตนามผลิตข้าวได้ประมาณปีละ 40 ล้านตัน ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ ปลูกอยู่ที่สามเหลี่ยมดินดอนปากแม่น้ำโขง บริเวณนี้ของเวียตนามประกอบไปด้วย 12 จังหวัด ผู้คนกว่า 17 ล้านคนที่อาศัยอยู่ตรงนี้กว่าร้อยละ 80 เป็นชาวนา บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์จนถูกเรียกว่า “ชามข้าว” ของชาวเวียตนาม


ปากแม่น้ำโขงที่ประเทศเวียตนาม แตกเป็นหลายสาย ถ้าซูมลงไปจะเห็นเป็นนาเกือบทั้่งหมด

ถามว่าเราสร้างเขื่อน อยู่บนนี้แล้วเวียตนามมาเกี่ยวอะไรด้วย?  สามเหลี่ยมดินดอนปากแม่น้ำ เกิดจากดินตะกอนที่แม่โขงพัดพาลงไปถ้าหากว่าไทย/ลาว สร้างเขื่อน น้ำจะถูกกักให้ขังนิ่ง ตะกอนจะตกทับถมอยู่ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อน ไม่ไหลลงไปสู่ปากแม่น้ำ ไม่นำเอาความสมบูรณ์ไปให้กับผู้คนที่อยู่ด้านล่าง ตะกอนจะตกทับถมอยู่ใต้เขื่อนอย่างไร้ประโยชน์และเป็นโทษทำให้เขื่อนตื้นเขินหมดสภาพในที่สุด ในขณะที่คนกว่า 17 ล้านคนจะได้รับผลกระทบ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาที่ตามมาจะไม่ใช่แค่การขาดตะกอนน้ำหลากที่จะไปตกทับถมเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติเท่านั้น แต่จะรวมไปถึงการที่น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ดั่งที่กำลังเกิดขึ้นกับอ่าวไทยตอนใน นอกจากนั้นถ้าน้ำถูกกักอยู่หลังเขื่อนมากในฤดูแล้งจะทำให้น้ำไหลไปถึงปากแม่น้ำน้อยลงยังจะเกิดน้ำเค็มหนุนทำให้พื้นที่เกษตรเสียหายอีกด้วย 

(นอกเรื่อง: วันก่อนแวะซื้อเมล่อนแถวอยุธยา แม่ค้าบ่นว่าตั้งแต่น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ปลูกเมล่อนออกมาลูกใหญ่เหลือเกิน อุตสาห์ทำกล่องสวยๆมาใส่ แทบจะใส่ไม่ลง)

นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว ตะกอนจากแม่น้ำเมื่อไหลออกสู่ทะเล ก็ไปสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับทะเลอีกด้วย แน่นอนว่าปลูกข้าวกินอย่างเดียวไม่ได้ ปลาก็ต้องจับกินด้วยเช่นกัน! 

ถ้ามองอย่างเห็นแก่ตัว นี่คือการสะกัดไม่ให้เวียตนามผลิตข้าวมาแข่งขันกับประเทศไทยได้ แต่ถ้ามองในความ เป็นมนุษย์แล้วนี่คือความเห็นแก่ตัวที่น่าละอาย และเป็นการทำลายความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติหลายล้านคนเพื่อผลประโยชน์ของคนไม่กี่คน

2. ทำไมประเทศเขมรถึงต้องห่วงว่าไทย/ลาวจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง?
แม่น้ำที่ไหลผ่านหน้ากรุงพนมเปญ เป็นแม่น้ำที่แปลก ในขณะที่แม่น้ำส่วนใหญ่ไหลไปทางเดียวไม่เคยเปลี่ยน แต่แม่น้ำสายนี้ในฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลไปทางทิศตะวันตก พอถึงหน้าแล้งน้ำกลับไหลย้อนสวนไปทางทิศตะวันออก ฝั่งหนึ่งของแม่น้ำสายนี้ คือแม่น้ำโขง อีกฝั่งคือ ตงเลสาป หรือทะเลสาปเขมร ทุกปีในฤดูน้ำหลาก น้ำจากแม่โขงจะไหลท่วมเข้าไปในทะเลสาปเขมร ทำให้พื้นที่ของทะเลสาปแห่งนี้ขยายขึ้น  4-5 เท่า ในขณะที่ระดับความลึกอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 7-9 เท่า น้ำที่หลากท่วมทุ่งและป่าริมน้ำจะกลายเป็นแหล่งทำรังวางไข่และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง ของโลก ชาวเขมรนับล้านคนจาก 7 จังหวัดพึ่งพาปลาจากทะเลสาปแห่งนี้เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ มีการประมาณการกันว่า ปลาที่จับได้จากทะเลสาปแห่งนี้มีมากถึง 230,000 ตัน และมีมูลค่ามากถึง 3,000 ล้านบาท เป็นทรัพยากรที่ได้เปล่าจากธรรมชาติ มีการประมาณการกันว่าโปรตีนทีชาวเขมรได้รับมาจากปลาที่จับได้จากแม่โขงมากกว่า 80% (และพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นอีกมากนัก)


ทะเลสาปเขมรในฤดูแล้งมีพื้นที่เท่าสีฟ้าตรงกลางและขยายขึ้นสู่พื้นที่สีเขียวเข้มและอ่อนในฤดูน้ำหลาก

จากการศึกษาของ FAO ชนิดของปลาสำคัญๆที่จับได้จากทะเลสาปเขมร มีอยู่ด้วยกัน 10 ชนิด ในนี้ 8ชนิดทำรังและวางไข่ในทุ่งน้ำหลากเท่านั้น ในขณะที่อีก 2 ชนิด คือปลาช่อนและปลาชะโด ถึงแม้ว่าปกติแล้วจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง ก็เข้าไปอาศัยและสืบพันธุ์อยู่ในบริเวณทุ่งน้ำท่วม เช่นกัน

(น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา เป็นหนึ่งในคำพังเพยของไทยที่แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของทุ่งน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี ในฤดูน้ำหลาก เมื่อน้ำเริ่มท่วมเข้ามาในทุ่ง สัตว์เล็กใหญ่ที่หนีน้ำไม่ทันจะกลายเป็นอาหารของปลา ในขณะที่หญ้าและต้นไม้ต่างๆที่ตายลงจะกลายเป็นอาหารให้กับสัตว์ขนาดเล็กๆที่จะกลายมาเป็นอาหารของลูกปลาอีกทีหนึ่ง ทุ่งน้ำท่วมยังเป็นแหล่งหลบภัยที่ดีของลูกปลาทั้งจากสัตว์ผู้ล่าและกระแสน้ำ ทุ่งน้ำท่วมจึงเปรียบเหมือนห้องคลอด และโรงเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงขั้นการศึกษาบังคับขั้นสูงสุด ของสัตว์น้ำ) 

แม่น้ำโขงตอนล่างมีปลากว่า 600 ชนิด ตั้งแต่ปลาซิวแคระสามจุดตัวใหญ่กว่าเมล็ดข้าวหน่อยเดียว ไปจนถึงปลาบึกที่อาจจะหนักถึง 300 กิโลกรัม บริเวณที่จะสร้างเขื่อนไซยะบุรีมีปลาว่ายไปว่ายมาอยู่ในแม่น้ำโขงสายหลักประมาณ 180 ชนิด ทุกวันนี้เรามีความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศและการสืบพันธุ์ของปลาในแม่น้ำโขงน้อยมาก แม้แต่ปลาบึกทุกวันนี้เราก็ยังไม่รู้ว่ามันวางไข่ที่ไหน โตที่ไหน อพยพไปไหนอย่างไร แต่วันนี้เรากำลังจะสร้างเขื่อนมาขวางแม่น้ำ ผลกระทบจะเป็นอย่างไร? ในประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น อเมริกา ก่อนจะสร้างเขื่อน เค้าศึกษาไปถึงว่าปลาแต่ละชนิดจะวางไข่ น้ำต้องมีความเร็วเท่าไหร่ อุณหภูมิเท่าไหร่ แต่ส่วนใหญ่แล้วแม่น้ำในต่างประเทศไม่ได้มีปลาหลากหลายเหมือนในเขตร้อนบ้านเรา และเอาเข้าจริงๆ ในอเมริกาเริ่มมีการพังเขื่อนเพื่อคืนชีวิตให้กับแม่น้ำแล้วด้วยซ้ำไป (นางฮิลลาลี่ คลินตัน ได้กล่าวแสดงความเป็นหวงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเมื่อครั้งที่มาเยือนประเทศในเขตลุ่มแม่น้ำโขงเมื่อช่วงกลางปี 2555 และสภาคองเกรสของสหรัฐฯยังได้มีการทบทวนการสนับสนุนเงินทุนในการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่างทุกเขื่อนอีกด้วย) 

เขื่อนไซยะบุรี(และเขื่อนอีก 11 เขื่อนที่จะตามมา) จะทำให้การไหลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ จากที่เคยหลากก็จะหลากน้อยลง จากที่เคยแห้งก็จะแห้งน้อยลง ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาปเขมร อยู่ที่ระดับความแตกต่างของน้ำ ถ้าหากน้ำมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงน้อยลง แน่นอนว่าจะต้องส่งผลกระทบต่อความหลากหลายและจำนวนของปลาในทะเลสาปแห่งนี้

เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงกำลังล้อเล่นกับแหล่งโปรตีนของคนหลายล้านคนตลอดสายน้ำแห่งนี้ เพื่อผลประโยชน์ของคนไม่กี่คน

(อ้างไม่ได้เลยนะครับว่าจีนก็สร้างเขื่อนกั้นแม่โขง เขื่อนที่ใกล้ที่สุดของจีนที่ Jinhong อยู่เหนือขึ้นไปอีก 770 กิโลเมตร ซึ่งทางสัตวภูมิศาสตร์ ปลาจากแม่โขงในบริเวณดังกล่าวแทบจะเรียกได้ว่าเป็นคนละกลุ่มกับปลาในเขตบ้านเรา เนื่องจากน้ำเย็นกว่า) 

3. ทำไมประเทศไทยถึงห่วงที่ไทย/ลาวจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง?
ในปัจจุบันประเทศไทยใช้ไฟฟ้าจากพลังน้ำอยู่ประมาณ 6% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในบ้านเรา ไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนถึงแม้ว่าจะเป็นพลังงานที่สะอาดในระหว่างการดำเนินการ แต่ในความเห็นของข้าพเจ้าไม่สามารถนับได้ว่าเป็นพลังงานสะอาดและต้องถือว่าเป็นแหล่งพลังงานที่ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทางลบอย่างรุนแรงที่สุดรูปแบบหนึ่ง เพราะถ้าสร้างเขื่อนในป่าก็ทำลายป่า สร้างขวางลำน้ำก็ทะลายระบบนิเวศลำน้ำอย่างรุนแรง ตอนน้ำท่วมป่าใหม่ๆถ้าตัดสางต้นไม้ออกไปไม่หมดก็เกิดการหมักหมมเป็นก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซทำให้โลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 20 เท่า เราไม่ควรจะสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนอีกแล้ว และควรที่จะหันมาหาพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นทางเลือกใหม่

ถ้าลองมาดูแผนที่พลังงานของประเทศไทย จะเห็นว่าในเขตอีสานเหนือ เรารับไฟฟ้าจากประเทศลาวเข้ามาจน แน่นกริด ทำให้เอกชนในประเทศไทยเองที่มีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานชีวมวล ไม่สามารถที่จะพัฒนาโครงการได้เลย คำถามคือความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ควรจะขึ้นอยู่กับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนในประเทศลาว ซึ่งมีคนไทยเพียงกลุ่มเล็กๆได้ประโยชน์มหาศาล หรือควรจะเกิดจากโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะชีวมวล ที่จะสามารถกระจายรายได้ให้กับประชาชนได้ในวงกว้าง? รัฐบาลทุกวันนี้สนับสนุนไฟฟ้าในกลุ่มนี้อย่างกล้าๆกลัวๆ ทั้งๆที่ เกษตรกรรม การปลูกพืช และ ชีวมวล เป็นหนึ่งในสิ่งที่คนไทยมีความชำนาญที่สุด และไม่มีวันแพ้ชาติใดในโลก ถ้าหากมีการสนับสนุนอย่างถูกต้อง และถ้าเป็นไปตามที่มีผลการศึกษาว่าเรายอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น เราไปทางนี้ได้แน่นอน ประเทศไทยมีนโยบายชัดเจนที่จะพึ่งพาแหล่งพลังงงานจากนอกประเทศให้น้อยที่สุด และการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว ไม่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายดังกล่าว


ภาพแสดงที่มาของไฟฟ้าในภาคอีสานตอนบนของไทย มาจากเขื่อนในประเทศลาวเกือบทั้งหมด

สุดท้ายนี้อยากฝากให้คิด ว่าในฐานะของผู้รับประโยชน์โดยตรงจากเขื่อนและเป็นตัวตั้งต้นโครงการ คุณคิดว่าต่างชาติจะมองประเทศเราอย่างไร? 

คนไทยเห็นแก่ตัว? 
 

อ้างอิง
http://www.internationalrivers.org/resources/protecting-the-fisheries-of-tonle-sap-lake-1742
 
http://www.fao.org/docrep/004/ab561e/ab561e07.htm#bm07]
 
http://www.eppo.go.th/power/power2554.pdf
 
http://www.siamintelligence.com/who-is-the-owner-of-saiyaburi-dam/
 
http://www.govtrack.us/congress/bills/112/sres227/text
 
http://legiscan.com/gaits/view/338992
 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

มีเท่าไหร่ไม่เคยพอ ความละโมบโลภมากของคนนี่มันน่ากลัวโดยเฉพาะเมื่อคนคนนั้นได้เป็นผู้มีอำนาจ

ความเห็นที่ 2

นายทุนและนักการเมืองไทยเห็นแก่ตัวอย่างบัดซบ ไม่เคยเปลี่ยนมาตั้งแต่ไหนๆ อีกล้านปีหน้าไม่รู้จะดีขึ้นไหมนะ???!!!!

ความเห็นที่ 3

จริงๆเราก็รู้และได้รับผลกระทบจากเขื่อนที่จีนอยู่แล้ว ว่ามันทำให้สภาพของแม่น้ำโขงส่วนที่ผ่านบ้านเรา "เลวลง" แค่ไหน

เห็นช้างขี้ ไม่จำเป็นต้องไปขี้ตามมัน