14 ตัวเลขน่าสนใจ กรณี 12 เขื่อนแม่โขงตอนล่าง

เรียบเรียง: ดร.​ นณณ์​ ผาณิตวงศ์

ตัวเลขที่น่าสนใจบางส่วนจากรายงานผลกระทบของเขื่อนทั้ง 12 เขื่อนที่จะสร้างในเขตแม่น้ำโขงตอนล่าง จัดทำโดย International Centre for Environmental Management (ICME) (ศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อมนานาชาติ) ให้ Mekong River Commission Secretariat (MRCS) (คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง)

12 เขื่อนที่จะก่อสร้าง มีทั้งที่อยู่ในแม่น้ำโขงที่ทั้งสองฝั่งเป็นประเทศลาว (8 เขื่อน) ที่ฝั่งหนึ่งเป็นลาวอีกฝั่งเป็นไทย (2 เขื่อน) และในประเทศเขมร (2 เขื่อน)

8 จาก 12 เขื่อนที่จะก่อสร้างมีความสูงมากเกินไปที่บันไดปลาโจนในรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบันจะใช้งานได้

3 เขื่อนเท่านั้นที่มีการออกแบบไว้เผื่อที่จะสร้างบันไดปลาโจนหรือทางปลาผ่าน

O ในปัจจุบันยังไม่มีบันไดปลาโจนหรือทางปลาผ่านในรูปใดๆที่สามารถสร้างให้ปลาในแม่น้ำโขงผ่านได้อย่างสะดวก

55% ของแม่น้ำโขง ตั้งแต่เชียงแสน (จ.เชียงราย) ไปจนถึงจังหวัด Kratie จังหวัดตอนกลางของประเทศเขมร จะกลายสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำนิ่ง(lacustrine)ซึ่งจะส่งผลให้ปลาที่ปรับตัวอาศัยอยู่ในแม่น้ำ(riverine)มีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ไป

75% ของตะกอนแม่น้ำที่ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มแม่โขงตอนล่าง สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับประเทศที่อยู่ปากแม่น้ำจะถูกดักเก็บอยู่ใต้เขื่อนอย่างไร้ประโยชน์ 

O ผลกระทบของประมงชายฝั่งและพื้นที่ชายทะเล ยังไม่มีการศึกษาเลย

356,250 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินการเกษตรริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาจะถูกน้ำท่วมอย่างถาวร

3-6 เมตร น้ำในแม่น้ำโขงจะขึ้นลง ภายในแต่ละวันและจะส่งผลกระทบไปไกล 40-50 กิโลเมตรใต้เขื่อน ส่งผลให้การทำมาหากินในแม่น้ำยากและมีอันตรายยิ่งขึ้น

14,756,000,000 บาท/ปี ซึ่งเป็นรายได้จากการประมงและการเกษตรในลุ่มแม่น้ำโขง จะหายไปจากการสร้างเขื่อน เนื่องจากจำนวนปลาที่ลดลงและที่ดินที่ถูกน้ำท่วม รายได้เหล่านี้เป็นของกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดกลุ่มหนึ่งในภูมิภาค

30% ของโปรตีนที่กินกันอยู่ในประเทศลาวและเขมรจากปลาที่จับได้จากแม่น้ำโขงจะหมดไป

106,942 คนที่บ้านและที่ดินจะถูกน้ำท่วมและต้องถูกย้ายที่อยู่อาศัย

2,000,000 คนจะได้รับผลกระทบจากการที่ต้องเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่

10 ปี คือระยะเวลาที่รายงานฉบับนี้บอกให้ชะลอการสร้างเขื่อนออกไปเพื่อศึกษาผลกระทบและทางเลือกอื่นๆอย่างละเอียด 

หมายเหตุ: คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อ เพื่อส่งเสริม และประสานงานการด้านการจัดการและการพัฒนาแหล่งน้ำ และทรัพยากรอันเกี่ยวเนื่องอื่นๆ แบบยั่งยืน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก (ไทย, ลาว, เวียตนาม และ เขมร โดยมี จีนและพม่า เป็นผู้สังเกตการณ์) และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยการส่งเสริมแผนงานยุทธศาสตร์และกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งจัดหาข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ และให้คำแนะนำด้านนโยบาย

อ้างอิง: http://www.mrcmekong.org/assets/Publications/Consultations/SEA-Hydropowe...