จดหมายเปิดผนึก ถึงกรมประมง

วันจันทร์ ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖

เรียน อธิบดีกรมประมง และ บุคลากรกรมประมงที่เคารพทุกท่าน

กระผมขออนุญาตเขียนจดหมายฉบับนี้ ถึงอธิบดีกรมประมง ถึงเจ้าหน้าที่พนักงานกรมประมงทุกท่าน ในฐานะของประชาชนไทยคนหนึ่ง ซึ่งกำลังจะจ่ายภาษีงวดสุดท้ายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และ ขอเขียนในฐานะของคนรักปลาน้ำจืดคนหนึ่งที่รักและผูกพันกับสัตว์กลุ่มนี้มาตั้งแต่เด็ก และมองกรมประมงและบุคลากรของกรม เป็นเหมือนฮีโร่ผู้ปกป้องและพิทักษ์ปลาไทยมาตั้งแต่เยาว์ นับตั้งแต่ที่ได้ไปงานประมงน้อมเกล้าเมื่อครั้งจัดที่เซ็นทรัลลาดพร้าวเมื่อหลายสิบปีก่อนและยังไปทุกปีไม่เคยขาดจนปีนี้ก็น่าจะเป็นครั้งที่ 24 แล้ว
 
แต่วันนี้ข้าพเจ้าเริ่มมีความคลางแคลงใจถึงหน้าที่ของกรมประมง จนต้องเปิดเข้าไปดูในเว็บไซด์ของท่าน เพื่อหาข้อมูลว่าพันธกิจของท่านนั้น เป็นอย่างไรกันแน่และก็พบว่าทั้งใน วิสัยทรรศน์ พันธกิจ ประเด็นยุทธศาสตร์ และ เป้าประสงค์ ได้มีข้อความส่วนหนึ่งที่ตรงกัน พอจะสรุปได้ว่า “เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรประมงและคงความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำในประเทศไทย” ซึ่งเมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็มั่นใจว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เสียภาษี ข้าพเจ้าสามารถ “หวังพึ่งพา” กรมประมงให้ทำหน้าที่ตามที่ท่านได้เขียนไว้
 
แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งกำลังมีโครงการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วประเทศ ซึ่งหลายโครงการเป็นการทำลายระบบนิเวศ แหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ของปลาน้ำจืด แหล่งทำประมงของชาวบ้าน ข้าพเจ้าเห็นว่ากรมประมงมิได้ทำหน้าที่ดังกล่าวเลย ไม่ว่าจะเป็นโครงการขุดลอกลำคลองหรือพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ โครงการเขื่อน โครงการผันน้ำ ซึ่งโครงการเหล่านี้แทบจะไม่มองผลกระทบต่อระบบนิเวศเลย ในขณะที่หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการปกป้องดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศ นิ่งเฉย เงียบ ไม่มีการออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้อง คัดค้านหรือต่อต้านใดๆ กรมทางหลวงจะขยายถนน ตัดถนนผ่านป่า กรมอุทยานฯยังออกมาคัดค้าน แต่กับแหล่งน้ำ ผมไม่เคยเห็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลสัตว์น้ำออกมาชี้แจงให้ข้อมูล หรือคัดค้านแต่ประการใด ผมไม่เคยเห็นกรมประมง จัดงานหรือสัมมนาอะไรให้ความรู้กับหน่วยงานอื่นถึงความเปราะบางของระบบนิเวศ ถึงความหลากหลายทางชีวภาพของปลาในประเทศไทย ผมโทษหน่วยงานพัฒนาต่างๆ ที่มีแต่โครงการพัฒนาโดยไม่เคยเห็นความสำคัญของระบบนิเวศและความหลากหลาย แต่ผมคิดว่ากรมประมง ควรจะทำหน้าที่ของตนให้ดีกว่านี้

ที่ผ่านมา (เท่าที่ผมทราบ ถ้ามีมากกว่านี้ผมก็ขออภัย) เมื่อมีการสร้างเขื่อน ผมเห็นกรมประมงมีหน้าที่หลักคือ คอยเพาะปลาไปปล่อย ซึ่งทั้งจากประสบการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่กรณีปลาชะโดล้นเขื่อนในเขตจังหวัดนครราชสีมา ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงปลายปี พ.ศ. 2555 รวมถึงงานวิจัยมากมาย ได้ศึกษาไว้อย่างชัดเจน ว่าปลาปล่อยไม่สามารถทดแทนประชากรปลาที่สืบพันธุ์กันเองในแหล่งน้ำได้ ทั้งปลาปล่อยยังมีผลกระทบทำให้ปลาในแหล่งน้ำอ่อนแอลง ยีนด้อยลง มีอัตราความสำเร็จในการขยายพันธุ์ลดลง นำโรคไปให้ มีพฤติกรรมที่ผิดแผกไปจากปลาที่เติบโตตามธรรมชาติ และที่สุดเลยก็คือไม่สามารถทดแทนความหลากหลายของพันธุ์ปลาเป็นร้อยเป็นพันชนิดที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำบ้านเราได้ แถมกรมฯยังเพาะพันธุ์ปลาต่างถิ่นปล่อยลงในแหล่งน้ำบ้านเรา ส่งเสริมให้เลี้ยงปลาต่างถิ่นซ้ำเติมปลาไทยด้วยซ้ำ หรือการไปส่งเสริมให้ชาวบ้าน ชาวประมงต้องหันมาเป็นหนี้เป็นสินเลี้ยงปลาในกระชังหรือในบ่อ จากคนที่มีอาชีพอิสระ ไม่มีหนี้มีสิน อาศัยและยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง กลับถูกผลักดันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่มักถูกเอารัดเอาเปรียบ และต้องพึ่งพาผู้อื่น
 
ตอนที่กรมประมงถูกจัดตั้งขึ้นครั้งแรกนั้นได้ชื่อว่า “กรมรักษาสัตว์น้ำ” ซึ่งเป็นชื่อที่สื่อความหมายชัดเจนของหน้าที่ สัตว์น้ำต้องได้รับการรักษา หมายถึงต้องดูแลระบบนิเวศให้ดี ซึ่งก็หมายถึงประชาชนที่ต้องพึ่งพาหากินกับระบบนิเวศก็สมบูรณ์ดีไปด้วย ต่อเมื่อเปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมประมง มาเน้นที่ “ผล” คือการ “จับปลา” มากกว่าการรักษาปลา ผมจึงเห็นท่านพูดถึงแต่ “yield” ปลาอะไรก็ได้ วิธีใดก็ได้ ถ้าชาวบ้านยังจับได้กิโลเท่าเดิมหรือมีรายได้ไม่ลดลงถือว่าสำเร็จเป้าหมาย หน้าที่จึงไม่ใช่การรักษาแต่เป็นการเติมส่วนที่ถูกทำลายโดยนับเป็น “กิโลกรัม หรือ บาท” ไม่ได้นับที่คุณภาพหรืองบประมาณ หรือความยั่งยืน การทำลายระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้ง่อยเปลี้ยและต้องหันมาพึ่งพางบประมาณมาเพาะพันธุ์ปลาไปปล่อย จ้างชาวบ้านเลี้ยง ไม่ใช่การบริหารที่ยั่งยืน และไม่ใช่การพัฒนา  
 
จากวันที่ตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำ จนถึงวันนี้รวม 87 ปี กรมฯคงรู้อยู่แก่ใจว่าปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติของเราลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการกระจาย ปริมาณและความหลากหลาย(การสูญพันธุ์ของปลาเสือตอ หางไหม้ และ หวีเกศ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน)  ผลผลิตประมงที่เพิ่มขึ้น ดูเป็นตัวเลขสวยหรู มาจากการเก็บเกี่ยวทรัพยากรจากประเทศเพื่อนบ้าน(หรือประเทศที่ห่างไกล ตามโฆษณาบริษัทอาหารทะเลเจ้าหนึ่ง) จากสัตว์น้ำต่างถิ่น ในขณะที่ประมงพื้นบ้าน ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติของเรา น้อยลงจนแทบจะหมดไป แม้แต่จังหวัดอุบลราชธานีที่ติดทั้งแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง ยังต้องนำเข้าปลาน้ำจืดจากประเทศกัมพูชา มากิน อะไรคือความมั่นคงทางอาหารของประเทศเรา? เราจะเป็นผู้นำการประมงอย่างยั่งยืนของภูมิภาคได้อย่างไร? ถ้าเราทำลายทรัพยากรประมงในประเทศของเราหมด แล้วต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ? 
 
ในวาระที่ประเทศไทยจะมีงบออกมาจัดการแหล่งน้ำในบ้านเมืองเราเป็นแสนล้าน ในวาระที่ประเทศเพื่อนบ้านรอบด้านกำลังสร้างเขื่อนในแหล่งน้ำที่มีผลกระทบต่อชาวประมงในประเทศไทย ในฐานะของคนไทยคนหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอวิงวอน ให้กรมประมงออกมาทำหน้าที่ตามพันธกิจของท่าน ก่อนที่จะไม่เหลือสัตว์น้ำใดๆให้รักษาด้วยเถิดครับ อย่านิ่งเฉยอยู่อีกเลย พวกเรารอท่านอยู่จริงๆ
 
ขอแสดงความนับถือ
ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
ประชาชน  

ปล. ผมรักและเคารพบุคลากรกรมประมงหลายท่าน ที่เป็นทั้งเพื่อน ครู และผู้ใหญ่ที่ผมเคารพ เสมอมา บทความนี้ขอเอ่ยถึงนโยบายโดยรวมโดยมิได้พุ่งเป้าเจาะจงที่บุคลากรท่านใดเป็นการเฉพาะ 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

yes

ความเห็นที่ 2

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ หลังๆรุ้สึกจะเน้นงานเอกสาร ทำรายงานไปเสียมาก ผอ ปจ. ที่อยู่ในพื้นที่ ยังไม่รุ้เลย ว่ามีคลองกี่สาย แต่ละสายมีปลาอะไรอยู่ มาก น้อยเท่าไหร่ อันไหนหายไปจากอดีต เพราะอะไร ไม่รุ้จริงๆ กปม. กรมประมึน แต่อย่างว่าแหล่ะ เป็นมาตั้งแต่ รมต. นี้มาทำโซนนิ่ง สมาร์ทฟาร์มเมอร์อีก มาตรฐานฟาร์มจอมปลอมอีก ดิ้นตามต่างประเทศเข้าไป เค้าว่าไง ก็ว่าตามCOC GAP เอาให้รอดก่อนเถอะ เปลี่ยนหัวใหม่ มาใหม่อีกแล้ว เปลี่ยนแต่ชื่อ ข้างในเดิมๆแก้นิดหน่อย เป็นโครงการใหม่ ใช้ได้ (แย่) จนท.คนนึงทำไม่รุ้ตั้งกี่อย่าง พัสดุบ้างหล่ะ สถิติบ้างล่ะ ขับรถนายบ้างล่ะ รับ ส่งหนังสือเองบ้างล่ะ ไปเป็นช่างบ้างล่ะ PMQA เอ่ยประเมิณราคาโน่นนี่นั่น ไม่เป็นอันทำกันเรื่องตัวเอง(ประมง ประมง) เรื่องเพื่อนรุ้หมด ยกเว้นเรื่องตัวเอง รถก็จะพา จนท ไปตายวันไหนก็ไม่รู้ เก่ากว่าเพื่อนในทุกกรม  ดูเรื่องตัวเองเป็นเรื่องกระจอก ต่อไปตัวเองก็กระจอกนั่นแหล่ะ กรรมของเวร (ขออภัยในความแรง) จากใจ คนรักปลา

ความเห็นที่ 3


ผมเติบโตมาจากครอบครัวชาวประมง รักและหวงแหนสัตว์น้ำซึ่งเป็นทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงให้ผมเติบโต ผมจึงเข้าเรียนวิชาประมงด้วยหวังว่าจะรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำไว้ให้คนรุ่นต่อไป ขอเรียนว่าในยุคนั้น ด้านการประมงไทยเป็นเบอร์ 1 ของโลกก็ว่าได้ หรือไม่ก็ติดอันดับต้นๆของโลกมาตลอด ประเทศที่เป็นผู้นำด้านการประมงล้วนมาศึกษาดูงานบ้านเราทั้งนั้น นับตั้งแต่นักการเมืองมีอำนาจใหญ่ขึ้น การประมงไทยก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันวิสัยทัศน์ของกรมประมงคือมุ่งสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาค(เรียกว่าจะเป็นผู้นำในภูมิภาคยังต้องใช้ความพยายาม ทั้งที่เคยเป็นหัวแถวของโลก) ปัจจุบันนักวิชาการไทยต้องไปดูงานไต้หวัน เกาหลี ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ซึ่งเคยมาขอวิชาจากเรา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ผู้ที่มีโอกาสได้เป็นผู้บริหารในกรมประมง ไม่ว่าจะเป็นประมงจังหวัด ผู้อำนวยการฯ หลายๆท่าน ได้ตำแหน่งมานจากการเกาะแข้งขานักการเมือง ตอนนี้เราทำโซนนิ่ง ผู้บริหารบางท่านยังไม่รู้เลยว่า GIS คืออะไร
ปัจจุบันมีการประเมินผลการปฏิบัติงานด้วยตัวชี้วัด ผมเห็นตัวชี้วัดของผู้บริหารกรมประมงแล้วนึกไม่ออกว่า ตัวชี้วัดนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันวิสัยทัศน์ พันธกิจ ของกรมประมงได้อย่างไร เช่น การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ให้ได้กว่าครึ่ง ภายในเดือน มีนาคม มันช่วยให้เราเป็นผู้นำด้านการประมงได้อย่างไร 

ความเห็นที่ 4

เห็นด้วยอย่ายิ่ง และชื่นชมท่าน ดร.นณณ์ มากที่ได้เขียนข้อคิดเห็นที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่กรมประมงเท่านั้นที่ควรเก็บไปคิด แต่สำหรับคนไทยทุกๆ คนที่ควรให้ความใส่ใจและทำความเข้าใจให้ดีระหว่างการพัฒนาและการทำลาย มีคนไทยน้อยคนนักที่จะเข้าใจและสนใจความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่เกิดจากการกระทำที่มักจะเรียกกันอย่างสวยหรูว่า "การพัฒนา"  และส่งผลกระทบไปสู่ความหลากหลายทางชีวภาพ เรียกได้ว่าในประเทศไทยนี้มิได้ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพเอาเลย ในประเทศที่เจริญแล้ว การจะทำสิ่งใด แม้ตัดถนนเพิ่มเพียงเส้นเดียว เขาจะต้องประเมินและศึกษาผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ไม่เว้นแม้แต่หนู นก กบ เขียด หรือ งู และจะต้องที่การวางแผนแก้ไขและฟื้นฟูผลกระทบเหล่านั้น ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างมีระบบ ดังที่ ดร.นณณ์ ได้กล่าวไว้ว่ากรมประมง ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศ ไม่ใช่เพียงเพื่อการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพด้วย ผมว่ากรมประมงต้องตื่นได้แล้วครับ การทำงานในหน้าที่ของท่านต่องปรับเสียใหม่ให้ถูกต้อง เลิกส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลานำเข้า ปลาต่างประเทศเสียที เดี๋ยวนี้ไอ้พวกปลาต่างด้าวมันแทบจะยึดครองแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยไปหมดแล้ว หันมาดูแลและปกป้องปลาพื้นถิ่นของไทยเถอะครับ ทรัพยากรของความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้เมื่อมันสูญหายไปแล้ว จะไม่วันฟื้นฟูกลับมาได้อีกเลย และควรให้ความรู้กับหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งกล้าที่จะคัดค้านการกระทำที่ไม่ถูกต้องทั้งในด้านหลักการ วิชาการ และธรรมาภิบาล ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อประโยชน์ของประเทศ และลูกหลานของเราในอนาคตครับ  

ความเห็นที่ 5

กรมประมงขอตอบ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์

สรุปประเด็นสำคัญในจดหมายเปิดผนึก
  1. ทำไมกรมประมงจึงไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้าน และหรือให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ต่อโครงการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำ
ซึ่งหลายโครงการเป็นการทำลายระบบนิเวศ แหล่งอาศัยและแหล่งเพาะพันธุ์ของปลาน้ำจืดแหล่งทำการประมงของราษฎร
ข้อเท็จจริง
  • โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาด 100 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือมีพื้นที่เก็บกักน้ำตั้งแต่ 15 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป โครงการชลประทานที่มีพื้นที่ชลประทานตั้งแต่ 8,000 ไร่ขึ้นไป และโครงการทุกประเภทที่อยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ปี จะต้องจัดทำรายงานการวิเคาระห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการให้ความเห็นตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการส่วนของราชการ รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคาระห์ผมกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2535
  • ปัจจุบันสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะต้องทำรายงานโดยนิติบุคคลผู้มีสิทธิทำรายงานฯ ที่จดทะเบียนกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2527 ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
  • คณะกรรมการส่งแวดล้อมแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 25/2554 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านการพัฒนาแหล่งน้ำโดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ 9 ท่าน (ไม่มีด้านประมง) มีหน้าที่พิจารณารายงานผลกระทบฯเบื้องต้นและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯอาจเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นเพิ่มเติมได้
  • การพิจารณาอยู่บนพื้นฐานว่าโครงการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อชุมชนนั้นรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีการประเมินความเสียหายด้านทรัพยากรประมงเพียงอย่างเดียวมักจะไม่สามารถนำข้อมูลไปทัดทานการดำเนินโครงการเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีมิติการประเมินคุณค่าของแหล่งน้ำตามหลักการให้ “การบริการของระบบนิเวศ (ecosystem service)” ซึ่งเป็นการประเมินความเสียหายในหลายๆด้านไปพร้อมๆกัน ซึ่งหากได้มีการนำมาใช้น่าจะทำให้การประเมินมูลค่าความสียหายมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
 
  1. การแก้ไขปัญหาหลังจากมีการสร้างเขื่อนโดยวิธีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ไม่สามารถทดแทนการผลิตโดยธรรมชาติได้ นอกจากนั้น กรมฯ ยังมีการปล่อยปลาต่างถิ่นลงในแหล่งน้ำเป็นการทำลายความหลากหลายของพันธุ์ปลาเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก
 
ข้อเท็จจริง
  • การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตการประมงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็น 1 ในหลายๆมาตรการที่กรมประมงดำเนินการในการอนุรักษ์และเพิ่มพูนผลผลิตสัตว์น้ำในธรรมชาติให้คงอยู่ เช่น การควบคุมเครื่องมือการทำประมง การดูแลและเพิ่มความเข้มงวดในช่วงฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ ในพื้นที่น้ำจืดไม่น้อยกว่า 3.5 ล้านไร่ ในแหล่งน้ำทั่วประเทศและเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอนุรักษ์ในท้องถิ่นของตนเอง โดยการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมง และอาสาสมัครอนุรักษ์สัตว์น้ำเป็นต้น เพื่อให้ชาวประมงได้มีอาชีพและผลผลิตสัตว์น้ำสำหรับเป็นแหล่งอาหารสำหรับราษฎรทั้งในเมืองและเขตพื้นที่ห่างไกล เป็นความจริงอยู่บ้างที่การปล่อยสัตว์น้ำไม่สามารถทดแทนการผลิตของธรรมชาติได้
แต่ก็ยังพอว่าในหลายพื้นที่ การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำประสบความสำเร็จในการเพิ่มพูนทรัพยากรประมง เช่น การปล่อยกุ้งก้ามกรามในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำมูล หรืการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งปลาประจำหมู่บ้าน เป็นต้น
  • ในกรณีชนิดพันธุ์ต่างถิ่น กรมประมงได้เล็งเห็นถึงผลกระทบอันจะเกิดจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นต่อพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมือง จึงไม่มีนโยบายในการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นเพื่อเพิ่มผลผลิตในอหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นแหล่งน้ำเปิด เช่น แม่น้ำ หนอง บึง เป็นต้น มาตั้งแต่ประมาณปี 2546 และในปี 2550 ได้ออกประกาศ “แนวทางปฏิบัติในการป้องกันการควบคุมและแพร่กระจายของสัตว์น้ำต่างถิ่นในแหล่งน้ำธรรมชาติ” ขอความร่วมมือจากประชาชน เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องไม่ให้ปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่นลงสู้แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงกรณีการอนุญาตให้มีการเลี้ยงปลาในกระชังขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการอนุญาตเลี้ยงต่างถิ่นในกรณีพื้นที่ดังกล่าวไม่พบการแพร่กระจายมาก่อน
  • อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนั้น ไม่สามารถดำเนินการโดยอาศัยแต่หน่วยงานราชการเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคประชาชนด้วย กรมประมงได้ดำเนินการสร้างสื่อสิงพิมพ์ โปสเตอร์ และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เป็นระยะๆ ในเรื่องของอันตรายและผลกระทบอันจะเกิดขึ้นจากการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหากหลุดรอดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ
  • กรมประมงได้เร่งดำเนินงานวิจัยเพื่อศึกษาถึงผลกระทบการสร้างฝายหรือเขื่อน และประสิทธิภาพของทางผ่านปลาในการสนับสนุนการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำในกรณีที่มีการสร้างเขื่อน เพื่อหารูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการลดผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกีดขวางลำน้ำ เช่น การศึกษาในลำน้ำก่ำจังหวัดนครพนมและสกลนคร และลำน้ำมูลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
  • การส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปลาในกระชังหรือในบ่อ ทดแทนอาชีพการจับสัตว์น้ำ ถือเป็นการผลักดันให้ราษฎรเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่มักถูกเอารักเอาเปรียบ และต้องพึ่งพาผู้อื่น
ข้อเท็จจริง
การส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปลาในกระชังหรือในบ่อ ทดแทนอาชีพการจับสัตว์น้ำ เป็นแนวทางหนึ่งในการปรับเปลี่ยนอาชีพสำหรับชาวประมง และราษฎรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นมาตรการเยียวยาที่ทางรัฐบาลมอบหมายให้กรมฯ ดำเนินการ และกรมฯ ก็ทราบดีว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้นจำเป็นต้องมาการลงทุนที่สูงกว่าการทำประมง และจำเป็นต้องได้รับความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการ ซึ่งกรมฯ ได้มีมาตรการสนับสนุนให้มรการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองและให้การสนับสนุนด้านวิชาการ และกรมฯ ก็มีหน่วยงานอยู่ในภูมิภาคที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา 

ความเห็นที่ 5.1

no ส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาในกระชัง แล้วชาวบ้านที่ไม่มีทุน หรือมีวิถีแแบบดั้งเดิมจะทำอย่างไร หรือกันพื้นที่ไว้ให้นายทุนอวนลุนอวนลาก อันนี้ในทะเล เอ้ามาดูน้ำจืดบ้าง กรมประมงปล่อยเอเลี่ยนเองบ้าง ไม่ต้องดูไกลเอาแค่เขื่อนพระปรง จ.ปราจีนบุรี ที่ปล่อยกุ้งเครฟิสไปหลายแสนตัวล่ะ จะทำอย่างไร หรือปล่อยแล้วก็ปล่อยไปทำอะไรไม่ได้ ใช่ไหม คำตอบของกรมประมง มาจากเบื้องบนหรือไม่ ชาวบ้านเสียที่ดินทำกิน แล้วยังต้องเสียอาชีพอีกหรือค่าชดเชยที่รัฐให้ มันได็ถึงครึ่งที่เขาลงทุนลงแรงหรือไม่ หรือมองว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ  งั้นผมขออนุญาต ตอบข้อชี้แจงของกรมประมงแบบเป็นข้อๆที่พอจะหาเหตุผลหักล้างได้ (การโต้แย้งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาครับ)

รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของหน่วยราชการเคยเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้หรือเปล่าครับ ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2535
นิติบุคลลที่ทำผู้มีสิทธิทำรายงานฯที่จดทะเบียนกับสำนักนโยบายคือใครครับ แล้วมีใครรู้บ้าง หรือรู้เฉพาะในกรมฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2527 ออกตามความฯ พ.ศ. 2535
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม คำสั่งที่ 25/2554 ลงวันที่ 9 พ.ค. 2554 แต่งตั้งผู้ชำนาญการ (ไม่มีกรมประมง) แต่เป็นรัฐมนตรีเกือบทั้งหมด
โอ้ย ตอบไม่ไหวแค่นี้ก็บรรยายไม่หมดแล้ว เอาแค่ช่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ กรมประมงจะปล่อยปลากินยุงแค่นี้นี้ก็ยุ่งแล้วครับ ผมเข้าใจครับกรมประมงก็เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ เมื่อเบื้องบนสั่งอย่างไรก็ต้องไปอย่างนั้น ผมไม่ได้มีอคติกับกรมประมงนะครับ ผมแค่รู้สึกว่ามันจะดีกว่านี้ถ้าผู้บริหารประเทศมีกึ้นมากกว่านี้ ขอบคุณครับ

ความเห็นที่ 6

    การส่งเสริมการเลี้ยงปลาในกระชังเป็นการเยียวยาความเดือดร้อนก็ใช่อยู่แต่อยากให้ทางกรมมีมาตรการรองรับหรือส่งเสริมแนวทางการทำประมงอย่างถูกวิธีและยั่งยืน    กระผมจะไม่เขียนต่อเรื่องปลาน้ำจืดแต่จะขอเขียนเรื่องของทะเลซึ่งเป็นพื้นที่บ้านผมในพื้นที่ตำบลอ่าวใหญ่  อำเภอเมือง  จังหวัดตราด  ที่เขียนเพราะอยากสะท้อนปัญหาเพื่อให้หน่วยงานนำไปวิเคราะห์และปรับปรุงเสริมสร้างเพื่อให้เกิดประโยชน์ยิ่งๆขึ้นไป   ในพื้นที่ตำบลอ่าวใหญ่นั้นเป็นพื้นที่ๆมีอาณาเขตติดทะเลทั้งสองด้านเพราะเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเลและมีชื่อเรียกว่าแหลมศอกด้านทิศตะวันออกตรงข้ามกับตำบลแหลมกลัดมีร่องน้ำใหลผ่านคือแม่น้ำตราดในทางวิชาการถือว่าเป็นที่ๆอุดมสมบูรณ์มากเนื่องจากมีแร่ธาตุอาหารหลั่งใหลมาตามลำน้ำเพื่อเป็นอาหารของสัตว์น้ำนาๆชนิดจึงทำให้มีความชุกชุมของสัตว์น้ำเป็นแหล่งอาศัยหากินอย่างดีของโลมา
     ด้านตะวันตกตรงข้ามกับเกาะช้างที่เรียกกันว่าช่องช้างจะแบ่งเป็นสองโซนๆด้านเหนือปิดอย่างถาวร   โซนด้านใต้เปิดหกเดือนปิดหกเดือนจึงทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่อุดมสมบูรณ์กว่าในพื้นที่อื่นๆของจังหวัดตราด   แต่เมื่อมีความอุดมสมบูรณ์มากเท่าใดนั่นย่อมเป็นที่หมายปองของนายทุนที่ทำประมงอย่างผิดกฎหมายทั้งเรือคู่   อวนรุน   ลากหอยลาย   และปัญหาที่เกิดก็เพราะมีการรุกล้ำเขต 3,000 เมตรอยู่เป็นประจำทำให้สูญเสียทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างมากมาย   สูญเสียสมดุลธรรมชาติ  เสียหายทางเศรฐกิจแม้แต่เครื่องมือทำประมงชายฝั่งของชาวบ้านรวมทั้งสัตว์สงวนเช่นโลมาเนื่องจากถูกเรือคู่ลากทำให้โลมาตายปีละหลายสิบตัวตามที่เป็นข่าวแต่ผมไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่จังหวัดตราดมาอย่างยาวนานที่ไม่สามารถปราบปรามเรือที่ทำผิดเหล่านี้ลงได้สักที   อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่ามันติดขัดด้วยเหตุผลใดๆจึงปล่อยให้เรือเพียงส่วนน้อยเข้ามาทำความเดือดร้อนและเสียหายอยู่ทุกวี่วันทั้งๆที่ทำประมงอย่างเปิดเผยทั้งที่ตอนนี้อ่าวช่องช้างก็ยังปิดอยู่ให้ปลาวางไข่เพื่อขยายพันธ์แต่กลางคืนมีทั้งเรืออวนรุนและเรือคู่ลากทุกคืน    โดยเฉพาะเรือคู่ลากกันขนาดว่าทุ่นอวนลายน้ำแล้วจะเอาปลาที่ใหนมาเหลือรอดเนื่องจากกวาดตั้งแต่หน้าดินถึงหน้าน้ำทำให้นึกถึงชีวิตของโลมาซึ่งตัวแล้วตัวล่ำที่ต้องสังเวยกับเรือคู่เหล่านี้ไม่มีที่สิ้นสุด   เมื่อก่อนเมื่อได้โลมาพวกเรือคู่มักจะเรียกเรือชาวบ้านที่นิยมกินเนื้อโลมาให้ไปเอาซึ่งมีทั้งเต่าและโลมาแต่ตอนหลังกระแสอนุรักษ์ของท้องที่เริ่มแรงและแพร่หลายทั้งข่าวที่ออกมาทำให้เรือคู่ตกเป็น


     จำเลยของสังคมและเริ่มถูกต่อต้านจากพื้นที่จึงไม่แปลกที่เมื่อมีการทำประชาคมเรื่องการขยายเขตจาก 3,000 เมตรเป็น5,400 เมตรจึงมีการเกณท์คนมาประท้วงไม่ยอมรับการทำประชาคมและแกนนำการประท้วงก็คือผู้ประกอบการเรือคู่โดยมีสมาคมการประมงจังหวัดตราดอยู่เบื้องหลังทั้งตัวแกนนำประท้วงยังสนิทกับนักการเมืองที่กว้างขวางในจังหวัดตราดเมื่อคนกลุ่มนี้ออกมาเคลื่อนไหวทุกอย่างที่กำลังเดินหน้ายังต้องหยุดหรือต้องชลอไว้ก่อนแม้แต่การลากเข้ามาในโซนที่ปิดอ่าวของช่องช้างยังไม่มีใครกล้าแตะต้องสร้างความอึดอัดใจให้กับชาวประมงพื้นบ้านเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทนเห็นการปล้นสดมทรัพยากรธรรมชาติ   แถมเรือคู่กับสมาคมการประมงตราดยังประสานเป็นเสียงเดียวกันว่าการตายของโลมาเป็นไปตามอายุขัยจึงเกรงกันว่าหากต่อไปสมาคมประมงตราดเห็นการตายของกุ้งหอยปูปลาเป็นเรื่องธรรมดาแล้วทรัพยากรวันข้างหน้าจะเป็นเช่นไร    รวมถึงมหันตภัยตัวใหม่คือเรือลากหอยลายก็ทำลายไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันสิ่งมีชีวิตที่ถูกตระแกรงลากหอยทำลายทั้งที่ติดขึ้นมาและตายอยู่ในดินมีอย่างมหาศาลยังไม่รวมถึงเครื่องมือประมงของชาวบ้านที่ถูกทำลายโดยที่ไม่มีการรับผิดชอบเรือเหล่านี้ไม่มีทะเบียนไม่มีชื่อเพื่อให้ชาวบ้านระบุได้ยังคงสร้างความเสียหายอยู่ทุกวันโดยไม่มีการกวดขันหรือตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่    บ้างก็ว่ามีเงินสะพัดในหลายพื้นที่จึงทำได้
       เคยมีการจับกุมผู้กระทำผิดแต่มักมีการพาพวกไปประท้วงเจ้าหน้าที่อยู่เป็นประจำโดยอ้างเหตุผลที่ว่าต้องหากินเลี้ยงครอบครัวเป็นเหตุผลที่พอเพียงหรือไม่ที่จะปล่อยให้คนเหล่านี้มีอภิสิทธิเหนือผู้อื่น   ขณะนี้บ้านแหลมเทียนหมู่ที่ 1 ต. อ่าวใหญ่ อ.เมือง จ. ตราด  เป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพลากหอยลายได้อย่างยั่งยืนทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้แล้วจึงขอให้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือของเรือลากหอยเหล่านี้ให้เป็นไปตามแบบอย่างของบ้านแหลมเทียนเพื่อเป็นการคงไว้ซึ่งสมดุลทางธรรมชาติอีกทั้งเขตช่องช้างและปากแม่น้ำตราดเป็นแหล่งที่มีแร่ธาตุอาหารสำหรับสัตว์น้ำเป็นอย่างดีจึงขอเสนอให้เป็นที่ปลอดเครื่องมือที่มีการทำลายล้างสูงและหันมาประกอบอาชีพที่ไม่ทำลายทรัพยากรตามต้นแบบของบ้านแหลมเทียนต่อไป

                                                                                    (คนรักทะเล)





















ความเห็นที่ 6.1

yesyesyes