จดหมายเหตุ กรณีจระเข้แก่งกระจาน (มิถุนายน 2556)

โดย ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์

ความจริง
1. คลิปข่าววันที่ 25 มิถุนายน 2556 มีการพบรังจระเข้ และแม่จระเข้เฝ้ารังอยู่ไม่ไกล ที่ต้นน้ำเพชรบุรีในป่าลึกของเขตอช.แก่งกระจาน
2. คลิปข่าววันที่ 26 มิถุนายน 2556 ข่าวระบุว่าไข่จระเข้มีเชื้อ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการพบรังจระเข้มาหลายปีในแก่งกระจาน มีการถางป่าส่วนหนึ่งเพื่อทำลานให้เฮลิคอปเตอร์จอดใกล้กับรังของจระเข้ แม่จระเข้ไม่อยู่แล้ว และได้ทำการย้ายไข่จระเข้ทั้งหมดออกจากรังเพื่อไปฟักที่ฟาร์มจระเข้แห่งหนึ่ง
3. จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) จัดเป็นสัตว์ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ มีการกระจายพันธุ์อยู่แค่เพียง 3 ประเทศคือ ไทย เขมร และ เวียตนามเท่านั้น เหลือตัวอาศัยอยู่ในธรรมชาติน้อยมาก แต่ในที่เลี้ยงมีอยู่ตามฟาร์มมากมาย

เราเข้าใจว่าท่านทำไปด้วยความหวังดี แต่การนำไข่ออกมาครั้งนี้ทำให้เราสูญเสียโอกาสในการศึกษา เพื่อหาปัจจัยเพิ่มโอกาสการอยู่รอดในการสืบพันธุ์ พร้อมวางแนวทางการลดปัจจัยคุกคามจากองค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาที่ได้ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มองว่าน่าจะเหมาะสมกว่า (ความคิดเห็นของ Bichet Noonto ใน facebook ครับ)
 
คำถามที่อยากจะเรียนถามในฐานะประชาชนคนหนึ่งคือ
1.        วันแรกแม่จระเข้อยู่ วันที่สองไม่อยู่แล้ว ได้มีการรบกวนจนมันทิ้งรังหรือไม่?
2.        มีความจำเป็นแค่ไหน ที่ต้องนำไข่ออกมาทั้งหมด?
3.        เจอรังหน้า เจอปีหน้า จะนำออกมาอีกไหม?
4.        เจอรังหน้า เจอปีหน้า ถ้าไม่นำออก มีแผนในการศึกษาอย่างไร? 

 
ผู้นำไข่จระเข้ออกจากป่า ให้ความเห็นว่า เพื่อให้มันรอดมากขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ เหตุผลนี้ ถ้าเป็นสัตว์ที่มีจำนวนตัวน้อยทั้งในธรรมชาติและในที่เลี้ยง ก็เป็นเหตุอันควรที่จะทำ แต่ในกรณีของจระเข้น้ำจืดที่มีบริมาณในที่เลี้ยงมากอยู่แล้ว (อ. นพ.ปัญญา เองท่านก็บ่นให้ฟังมาหลายปีว่ามีจำนวนมากมาย พร้อมจะยกให้ไปปล่อย แต่ไม่มีใครมาเอา) แต่ทำไมคราวนี้เมื่อมันสามารถขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ จึงไปนำไข่ออกมา เพราะต้องยอมรับว่า สัตว์ที่ถูกนำไปเลี้ยงอยู่ในที่เลี้ยงแล้ว ยังไงก็ไม่เหมือนพวกที่อยู่รอดเองตามธรรมชาติ การนำจากที่เลี้ยงไปปล่อย ยังต้องห่วงเรื่องโรคที่อาจจะนำไปติด การกำหนดจุดเพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมหวงถิ่นของจระเข้เจ้าถิ่น  และการนำลูกจระเข้จำนวน 30-40 ตัวอายุ 1 ปีเข้าไปปล่อยในป่าลึก ทำได้อย่างปลอดภัยและไม่สิ้นเปลืองได้แค่ไหน? 
 
ในคลิประบุว่าจระเข้ตัวแม่มีขนาดประมาณ 2 เมตร ซึ่งนับเป็นขนาดค่อนข้างเล็กสำหรับจระเข้พันธุ์นี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่ายังเป็นแม่จระเข้สาว ซึ่ง2-3 ปีที่ผ่านมาอายุอาจจะยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ (ทั้งพ่อและแม่) (ตำราว่าจระเข้เพศเมียอาจจะต้องมีอายุ 10 ปีขึ้นไป จึงจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์) ไข่จึงยังไม่มีเชื้อ แต่ปีนี้พอมันมีเชื้อ กลับไม่ให้โอกาสในการเฝ้ารังกับแม่จระเข้และให้ลูกจระเข้ได้ฟักในธรรมชาติเลยแม้แต่ตัวเดียว

มีวิธีอื่นที่ดีกว่าการนำไข่ออกมาทั้งหมดไหม?
เอาออกมาบางส่วน อีกส่วนให้แม่มันเฝ้า ให้มันฟักออกมาเพื่อศึกษาลูกจระเข้ตามธรรมชาติได้ไหม?
 
ถ้ากลัวเรื่องถูกขโมย เรื่องสัตว์อื่นมากิน (ซึ่งก็แปลกๆ ว่าทำไมแม่มันจะไม่ดูแล และการดูแลก็น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามันมีประสบการณ์ในการเฝ้ามากขึ้นทุกๆปี) จัดเวรยามเฝ้าเลยได้ไหม ทำกรงตาข่ายกันไว้เลยได้ไหม? ถึงจะไม่เป็นธรรมชาติเสียทีเดียว แต่ก็ยังเป็นธรรมชาติกว่าฟักในกล่องโฟมแน่ๆ
 
และคำถามที่สำคัญ(ขอถามย้ำอีกครั้ง) คือ ถ้าเจอรังที่สอง ถ้าเจอรังปีหน้า จะเอาออกมาอีกไหมครับ? 

อ้างอิง คลิปข่าว
พบไข่จระเข้ 25 มิถุนายน 2556
นำไข่จระเข้ออกจากป่า 26 มิถุนายน 2556
 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

เท่าที่ติดตามข่าว คิดว่าส่วนหนึ่งคือเป็นครั้งแรกที่พบไข่จระเข้ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมที่จะฟักเป็นตัวได้ และทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการที่จะให้มีโอกาศในการฟักเป็นตัวมากพอสมควร มีการพูดถึงระดับน้ำที่อาจท่วม ความแล้งที่อาจทำให้ไข่เสียหาย และสัตว์อื่นๆที่จะมาทำลายไข่ แต่ตอนนี้คงไม่ทันได้ทักท้วงอะไรแล้ว เพราะนำออกจากรังเรียบร้อย เหตุผลที่ได้ฟังคือ เพื่อให้มีโอกาสรอดจากยี่สิบเปอร์เซ็น เป็นเจ็ดสิบถึงแปดสิบเปอร์เซ็น แต่ก็มีคำถามเหมือนคุณนณณ์ คือแล้วรังต่อไปจะนำออกมาอีกหรือเปล่า แล้วการศึกษาพฤติกรรมธรรมชาติของเขาจะทำอย่างไร แล้วการทำกระทำที่ไปทำการสร้างลานจอดฮอร์ อีกทั้งวิธีการที่เข้าไปถางป่ามันเป็นอะไรที่ขัดตามากครับ ในเมื่อผ่านมาแล้วก็ผ่านไป โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันทำได้ ดูจาการเพราะพันธุ์กาเรียล(ตะโขง)ในอินเดียในที่เลี้ยง แล้วก็สามารถนำไปปล่อยในธรรมชาติและก็อยู่ได้สามารถมีการขยายพันธุ์ได้ คงต้องรอดูต่อไป แต่ขอให้อย่าลามไปในพื้นที่อื่นนะครับ ปล.ท่านใดมีข่าวการพบวังจระเข้ ในเขตฯอ่างฤาไนไหมครับ (พบเพิ่ม)ผมได้ข่าวมาแต่หาข้อมูลไม่เจอ รบกวนช่วยนำมาแชร์ที่ครับอยากรู้มาก ขอบคุณครับ