บึ้งฝาท้องปล้อง.....บึ้งโบราณผู้รอการอนุรักษ์

เรื่อง/ภาพ: coneman

       ผมเขียนบทความนี้ขึ้น หลังจากทราบข่าวจากเพื่อนซึ่งเป็นเครือข่ายทำงานอนุรักษ์อยู่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีทั้งข่าวร้ายและข่าวดี แจ้งว่าบึ้งฝาท้องปล้อง หรือแมงมุมโบราณท้องปล้อง ชนิดหนึ่ง คือ Liphistius kanthanจากการสำรวจประชากรล่าสุดพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และล่าสุดทาง International Union for Conservation of Nature หรือ IUCN ได้จัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered - CR) เทียบง่ายๆคืออยู่ในสถานภาพเดียวกับสัตว์มีกระดูกสันหลัง เช่นกวางผาหรือพะยูนเลยทีเดียว เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่อาศัยอย่างต่อเนื่องจนทำให้ขอบเขตการแพร่กระจาย (extent of occurrence) และพื้นที่การแพร่กระจาย (area of occupancy) ลดต่ำลงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด บึ้งฝาชนิดนี้พบอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งบริเวณดังกล่าวได้รับสัมปทานในการระเบิดหินปูน การระเบิดทำให้ระบบภายในถ้ำที่คงอยู่มาหลายร้อยปีต้องเปลี่ยนแปลง เช่น ความชื้น แสงสว่าง ช่องทางระบายน้ำ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในถ้ำ รวมทั้งบึ้งฝาท้องปล้องโดยตรง แต่ความโชคดีในความโชคร้ายก็คือแมงมุมในสกุล Liphistius หรือบึ้งฝาท้องปล้องถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์คุ้มครองของ Malaysian Wildlife Conservation เมื่อปีที่แล้วนี่เอง (ค.ศ. 2012) ทำให้พื้นที่สุดท้ายที่พวกเขาหลงเหลืออยู่คือถ้ำ Gunung Kanthan ถูกเสนอนำเข้าเป็นพื้นที่อนุรักษ์และห้ามมีการระเบิดหินในพื้นที่ดังกล่าว เห็นได้ว่าเพื่อนบ้านของเราได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติแม้เป็นบึ้งตัวเล็กๆ

บึ้งฝาท้องปล้องสำคัญไฉน....เหตุใดต้องหันมามอง

       ผมเคยเขียนบทความเรื่องบึ้งฝาไว้แล้วบทความหนึ่งในเว็บ siamensis.org แห่งนี้ หากใครเคยได้อ่านอาจจะรู้จักบึ้งฝากันมาบ้างแล้วครับ แต่คราวนี้จะขอเจาะจงลงไปถึงกลุ่มบึ้งฝาท้องปล้องหรือแมงมุมโบราณท้องปล้องกันครับ บึ้งฝาในสกุล Liphistius หรือที่ผมเรียกว่าบึ้งฝาท้องปล้อง หรือเรียกให้ถูกตามราชบัณฑิตคือแมงมุมโบราณท้องปล้องนั้น จากหลักฐานฟอสซิลในชั้นหินเชื่อว่าพวกเค้าถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงยุคคาร์บอนิเฟอรัส (carboniferous) หรือเมื่อประมาณ 350 ล้านปีมาแล้ว โดยบึ้งฝาท้องปล้องในปัจจุบันแทบไม่มีความแตกต่างจากบรรพบุรุษของเค้าเลยครับ ลักษณะเด่นคือ อวัยวะชักใย (spinnerets) มี 4 คู่ และตั้งอยู่ตรงกลางของส่วนท้อง (abdomen) ด้านล่าง ส่วนท้องด้านบนมีลักษณะเป็นแผ่น (tergites)เรียงต่อกันคล้ายปล้องอันเป็นที่มาของชื่อ ซึ่งลักษณะเหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะโบราณที่พบในบรรพบุรุษของพวกเค้าและยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน นักชีววิทยาจึงขนานนามเรียกบึ้งกลุ่มนี้ว่า "Living fossil" แต่เดิมบึ้งฝาท้องปล้องมีการกระจายกว้างทั่วโลก จากหลักฐานฟอสซิลเชื่อว่าบรรพบุรุษแรกเริ่มกำเนิดขึ้นบริเวณทวีปยุโรปในปัจจุบัน ก่อนจะกระจายขึ้นเหนือในช่วงที่อากาศอบอุ่นผ่าน land bridge เข้ามายังทวีปเอเชีย (ยุคก่อนนั้นยุโรปและเอเชียยังไม่เชื่อมต่อกัน) เมื่อากาศทางเหนือเย็นลงเกิดความแห้งแล้งตอนบนของทวีป บึ้งฝาท้องปล้องได้อพยพลงใต้อีกครั้งสู่คาบสมุทรจีนซึ่งสุดขอบแผ่นดินด้านใต้ซึ่งกั้นโดยทะเล บางประชากรกระจายผ่าน land bridge ไปยังหมู่เกาะต่างๆได้ในขณะที่น้ำทะเลลดลงในช่วงยุคน้ำแข็ง จากนั้นประชากรบริเวณส่วนอื่นของโลกได้สูญหายไปทำให้บึ้งฝาท้องปล้องในวงศ์ Liphistiidae ซึ่งประกอบด้วยแมงมุมใน 3 สกุล คือ Liphistius Heptathela และ Ryuthela หลงเหลืออยู่เฉพาะบริเวณทวีปเอเชีย แต่เนื่องด้วยประชากรดั้งเดิมของบึ้งฝาท้องปล้องสกุล Liphistius ได้กระจายตัวแยกออกไปจากบรรพบุรุษเดิม จึงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่แคบๆบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบันทั่วโลกจึงสามารถพบแมงมุมวงศ์ Liphistiidae ได้เฉพาะบริเวณทวีปเอเชีย และโดยเฉพาะบึ้งฝาท้องปล้องในสกุล Liphistius แล้วยิ่งมีการกระจายแคบอยู่เพียงบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้แก่ในเขตประเทศไทย ลาว พม่า มาเลเซีย และเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เท่านั้น จากการกระจายตัวที่จำกัดบนพื้นที่เล็กๆเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั่วโลก ทำให้บึ้งฝาท้องปล้องเป็นที่สนใจจากทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักสะสม และนักเลี้ยงจากทั่วโลก เนื่องจากไม่ได้พบทั่วไป จัดเป็นของหายากและมีราคา
         บึ้งฝาท้องปล้องเป็นกลุ่มบึ้งโบราณที่อาศัยอยู่บนโลกนี้มาแสนเนิ่นนาน บรรยากาศของโลกยุคนั้นมีความชื้นสูงและเต็มไปด้วยไอน้ำ ร่างกายของบึ้งฝาท้องปล้องซึ่งสูญเสียน้ำสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่าย จึงแทบไม่มีปัญหาในช่วงนั้น ต่อมาเมื่อความชื้นในบรรยากาศลดต่ำลงตามการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยต่อๆมา บึ้งฝาท้องปล้องจึงปรับตัวโดยการขุดรูลงไปในดินและสร้าฝาดินปิดปากโพรงอาศัย เพื่อคงความชื้นภายในโพรงให้สูงอยู่ตลอดเวลา ยังผลให้ไม่สูญเสียน้ำออกจากร่างกาย กระบวนการเหล่านี้ยังคงอยู่ในปัจจุบัน ทำให้บึ้งฝาท้องปล้องต้องอาศัยอยู่ในโพรงอาศัยตลอดเวลา และมีกิจกรรมนอกโพรงอาศัยเช่นการกินอาหาร การผสมพันธุ์ ในช่วงเวลาสั้นๆในเวลากลางคืน หรือหลังฝนตก ซึ่งมีความชื้นในบรรยากาศสูง ทำให้มีความสามารถในการกระจายตัวของประชากรต่ำ ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้บึ้งฝาท้องปล้องมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือการเปลี่ยนแปลงแหล่งที่อยู่อาศัย แต่หนำซ้ำในปัจจุบันนอกจากต้องปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนแล้ว พวกเค้ายังถูกซ้ำเติมโดยการรบกวนจากมนุษย์ ทั้งในด้านการบุกรุกเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย และถูกนำไปเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองกิเลสของมนุษย์ วันหนึ่งบึ้งฝาท้องปล้องที่มีหนึ่งเดียวในประเทศไทย อาจสูญหายไปโดยไม่มีวันหวนกลับ ถึงวันนั้นการเรียนในวิชา Arachnology ของลูกหลานของเรา ซึ่งบทเรียนแรกจะต้องเรียนเริ่มต้นด้วยบึ้งฝาท้องปล้องต้นสายบรรพบุรุษแมงมุมอาจมีให้เห็นเพียงภาพวาด ภาพถ่าย หรือตัวอย่างดอง เหมือนที่เราดูเนื้อสมันในปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะห่วงใย หวงแหน และช่วยกันอนุรักษ์บึ้งฝาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และรู้จัก 

ข้อเท็จจริงที่ควรรู้เกี่ยวกับบึ้งฝาท้องปล้อง?

1. ประเทศไทยมีความหลากหลายของบึ้งฝาท้องปล้องสกุล Liphistius มากที่สุดในโลก (32 ชนิด) และทุกชนิดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น (endemic species) ที่พบได้เฉพาะประเทศไทย พวกเค้ามีศักดิ์ศรีเท่าหมีแพนด้าของจีนเลยที่เดียว
2. บึ้งฝาท้องปล้องเป็นสัตว์โบราณมีอัตราเมทาบอริซึมต่ำมาก ทำให้พวกเค้าโตช้า ระยะเวลาจากเมื่อฟักออกจากไข่จนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ในห้องปฏิบัติการ (ให้อาหารทุกอาทิตย์) ใช้เวลา 2 - 5 ปี แล้วแต่ชนิด ลองคิดกลับไปที่บึ้งฝาในธรรมชาติที่ไม่ได้กินอาหารสม่ำเสมอ ได้กินบ้างอดบ้าง จะต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่ามาก
3. บึ้งฝาเพศเมียมีอายุได้ถึง 20 ปี หากพวกเค้าไม่โดนทำร้ายหรือเป็นอะไรตายไปซะก่อน เพศเมียตัวหนึ่งจึงสามารถผลิตประชากรใหม่หรือให้ลูกหลานเหลนโหลนได้ยาวนาน การจับบึ้งฝาเพศเมียหนึ่งตัวออกจากธรรมชาติเพียงตัวเดียว เท่ากับเป็นการทำลายบึ้งฝาก้นปล้องหลากหลายรุ่นที่จะมาทดแทนประชากรเดิม ซึ่งมีการเจริญเติบโตช้าอยู่แล้ว
4. อัตราส่วนเพศผู้ต่อเพศเมียในบึ้งฝาท้องปล้องโดยปกติคือ 1:6 นั่นหมายความว่าเพศผู้หนึ่งตัวจะทำหน้าที่ผสมกับตัวเมียหลายตัว หากนำบึ้งฝาเพศผู้เพียงตัวเดียวออกจากระบบในธรรมชาติ เท่ากับเป็นการทำให้บึ้งฝาเพศเมียซึ่งมีประสิทธิภาพในการผลิตลูกหลานเป็นโสดถึง 6 ตัว ประชากรทดแทนหายไปมหาศาล ซึ่งในความเป็นจริง เพศผู้จะไม่สามารถผสมกับแมงมุมเพศเมียรุ่นเดียวกันได้อยู่แล้ว ต้องผสมกับรุ่นพี่ รุ่นแม่ รุ่นย่าที่เกิดมาก่อนหลายปี หากเกิดการนำออกเพศผู้หรือเพศเมียซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ไม่นับที่โดนล่าหรือตายขณะเติบโต ก็จะทำให้การทดแทนประชากรใหม่เกิดขึ้นได้ช้ามาก เนื่องจากประชากรทั้งสองเพศเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ไม่พร้อมกันหรือไม่สมดุลกัน ซึ่งข้อนี้ในธรรมชาติก็สามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่ถ้าหากมนุษย์เข้าไปรบกวนเพิ่มก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่าเก่า
5. การผสมพันธุ์มีความเสี่ยง เพศผู้ซึ่งใช้เวลาแสนจะยาวนานกว่าจะเติบโต แถมมีประชากรน้อยอยู่แล้วในธรรมชาติ ยังจะต้องเสี่ยงออกจากรูอาศัยเพื่อตามหาโพรงของเพศเมีย พวกมันอาจถูกล่าได้ทุกขณะ หรืออาจหาเพศเมียไม่พบเลยก็มี หรือในบางกรณีอาจโดนเพศเมียจับกินก่อนผสมพันธุ์ ยิ่งทำให้ประชากรที่แสนบอบบาง เปราะบางมากยิ่งขึ้น
6. ลูกบึ้งฝาท้องปล้องอาศัยอยู่ในถุงไข่มากกว่า 1 เดือน พวกมันต้องได้รับการดูแลป้องกันภัยจากแม่เป็นเวลานาน ลูกบึ้งฝาไม่สามารถเจาะออกจากถุงไข่ได้เอง แม่บึ้งจะต้องใช้เขี้ยวเจาะถุงไข่เมื่อถึงเวลาที่ลูกจะออกมาดูโลก ดังนั้นหากแม่ตายลงหรือถูกจับไปก็จะทำให้ลูกบึ้งฝานับร้อยในถุงไข่ตายอยู่ภายในถุงไข่ หรือถูกทำร้ายได้
7. เมื่อลูกบึ้งฝาถูกปล่อยออกจากโพรงของแม่ พวกเค้าจะรีบขุดรูเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียน้ำให้เร็วที่สุด ทำให้มักพบกระจุกอยู่เป็นกลุ่มใกล้โพรงของแม่ ด้วยเหตุนี้บึ้งฝาท้องปล้องจึงมักพบอยู่ในบริเวณเดียวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือโดนทำลาย หากพื้นที่บริเวณนั้นถูกเปลี่ยนแปลง
8. ลูกบึ้งในธรรมชาติไม่ได้รอดหมด 100 เปอร์เซ็นต์ อาจเติบโตเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์
     จากปัจจัยทั้ง 8 ข้อรวมกันจะเห็นได้ว่าบึ้งฝาท้องปล้องมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตลอดเวลา จากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัยร่วมกัน

ขอฝากถึงนักเลี้ยงและนักสะสม
1. บึ้งฝาท้องปล้องไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยง เนื่องจากมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม มักเลี้ยงได้ไม่ยาวนาน และการนำประชากรธรรมชาติออกมาจะส่งผลต่อการทดแทนประชากรโดยเฉพาะประชากรที่มีขนาดเล็กมากๆ และกระจายอยู่ในพื้นที่แคบๆ
2. ยังไม่เคยมีใครทำการผสมบึ้งฝาท้องปล้องสำเร็จในที่เลี้ยง เนื่องด้วยต้องอาศัยหลายปัจจัยที่มากระตุ้นให้เิกิดการจับคู่ผสมพันธุ์ ซึ่งแตกต่างจากบึ้งในวงศ์ Theraphosidae เพราะเป็นกลุ่มที่ต่างสายวิวัฒนาการกัน ใช้กระบวนการที่ต่างกัน และธรรมชาติได้คัดเลือกสิ่งที่ดีที่สุดไว้แล้ว ไม่จำเป็นต้องนำมาผสมในที่เลี้ยง 
3. หากฟลุคผสมได้ หรือได้แม่ที่มีไข่ที่ผสมแล้วติดท้อง ผมคิดว่าไม่มีใครที่อดทนพอจะเลี้ยงลูกแมงมุมที่แสนจะโตช้าและตายง่าย โดยการจับแยกเดี่ยวเป็นร้อยๆได้นานถึง 2-5 ปี
4. จากข้อ 3 ถ้าคิดเพาะขายก็ไม่คุ้มทุนแล้ว เพราะต้องใช้เวลานาน ต้นทุนด้านเวลาสูง ดังนั้นที่มีขายในปัจจุบันจับจากธรรมชาติล้านเปอร์เซ็นต์ ใครบอกเพาะได้คนนั้นโกหกแม้กระทั่งตัวเอง
5. หากใครคิดสะสมให้ครบ เพราะคิดว่ารูปร่างหน้าตาต้องหลากหลายน่าดู ท่านคิดผิด เพราะบึ้งฝาท้องปล้องไม่สามารถใช้สีสันมาจำแนกชนิดได้ หลายชนิดสีสันเหมือนกันดังฝาแฝด แต่มีระบบอวัยวะสืบพันธุ์ที่แตกต่างกันเท่านั้น เราเรียกกลุ่มนี้ว่า complex species ส่วนใหญ่ก็สีน้ำตาล ส้ม ดำ หามาอีกกี่ชนิดก็น้ำตาล ส้ม ดำ ใครมาหลอกท่านจะรู้ได้ไงในเมื่อต้องจำแนกด้วยผุ้เชี่ยวชาญเท่านั้น
6. พวกเค้าไม่ผิดที่เกิดมาสวย แต่เค้าก็มีสิทธิเต็มที่ที่จะโชว์ความสวยในธรรมชาติให้หลายๆคนได้ชื่นชม พวกเค้าเป็นของส่วนรวม เป็นทรัพยากรของชาติที่ทุกคนมีสิทธ์ชื่นชม อย่าได้นำเค้ามาเป็นของส่วนตัว
ึ7. ความอยากทำให้อยากลอง ความอยากลองทำให้เกิดการหามาครอบครอง ช่วงแรกบึ้งฝาอาจดูแปลกและน่าตื่นเต้นที่จะได้เลี้ยง แต่พอนานไปท่านจะรุ้สึกเบื่อ เพราะเห็นแต่ฝาที่ปิดรู เห็นแว่บๆตอนออกมากินอาหาร ความตื่นเต้นจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นความชินชา สิ่งนี้เป็นวัฎจักร สุดท้ายคนที่ได้ลองก็จะเข้าใจ มาเตือนเด็กรุ่นใหม่ที่อยากลองในรุ่นต่อมา เด็กรุ่นใหม่ไฟแรงมีมาเรื่อยๆ แต่จำไว้บึ้งฝาไม่ได้มีเพียงพอสำหรับการลองของเด็กทุกรุ่น ดังนั้นช่วยกันสร้างความเข้าใจเป็นการดีที่สุด
8.จำไว้คนไหนที่มาโพสต์ภาพบึ้งฝาโชว์ เค้าไม่ได้เจ๋ง เค้าไม่ได้เท่ห์ แต่เค้ากำลังแอบอ้างและพยายามครอบครองทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของทุกคน พวกเค้าต้องการเพียงสร้างความแตกต่างจากคนอื่น หรือให้คนอื่นชื่นชม ดังนั้นช่วยกันประนามครับ
        สุดท้ายที่ๆดีที่สุดคือการให้บึ้งฝาท้องปล้องได้อยู่ในธรรมชาติ ให้พวกเค้าได้มีอิสระ ให้พวกเค้าได้ทำหน้าที่ในระบบนิเวศต่อไป เพราะพวกเค้ายังต้องสู้กับอะไรอีกมากมายท่ามกลางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประชากรของพวกเค้าดำรงคงอยู่ เพียงแต่คุณจะช่วยเค้าให้อยู่หรือทำลายซ้ำเติมพวกเค้าก็เท่านั้นเอง



Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ถูกใจ ๆ จัดไป 1 ภาพ

ความเห็นที่ 2

แต่บึ้งก็เป็นอาหารอย่างหนึ่งของชาวบ้านในประเทศไทยนะครับ แล้วจะบอกพวกเขาอย่างไรครับ ตอนที่อยู่ในไร่ที่ปราจีน เด็กๆก็เอาน้ำมาเทใส่หลุมบึ้งรอจนมันออกมาแล้วก็เอาไปเผากินครับ

ความเห็นที่ 2.1

น่าจะเป็นบึ้งคนละกลุ่มกันครับ กลุ่มบึ้งโบราณ ตัวเล็กมาก ๆ ไม่คุ้มการล่ามาทำอาหาร

ความเห็นที่ 2.2

ผมมั่นใจครับน้าตุ้ม ว่ายังไม่มีชาวบ้านในประเทศไทยที่นำบึ้งฝามาเป็นอาหาร เนื่องจากพวกเค้าตัวเล็กและสังเกตเห็นได้ยากครับ จริงๆแล้วบึ้งฝาท้องปล้องหรือแมงมุมโบราณท้องปล้องเป็นคนละกลุ่มหรือคนละสายวิวัฒนาการกับบึ้งตัวใหญ่ๆ (วงศ์ Theraphosidae) ที่ชาวบ้านใช้เป็นอาหารครับ บึ้งกลุ่มนี้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เร็วกว่าบึ้งฝาและมีความจำเพาะเจาะจงกับสภาพแวดล้อมที่มีเงื่อนไขน้อยกว่ากลุ่มบึ้งฝา จึงทำให้มีความสามารถในการกระจายและการทดแทนประชากรได้ค่อนข้างเร็วกว่าบึ้งฝาครับ แต่ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มหลังจะไม่น่าเป็นห่วง การถูกล่าจากการใช้เป็นอาหารนั้นถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบจากภัยคุกคามจากการล่าเพื่อค้าเป็นสัตว์สวยงามครับ ไม่มีชาวบ้านคนไหนตั้งใจขุดบึ้งมากินทุกวันหรอกครับ เพราะจริงๆก็ไม่ได้มีเนื้อมีหนังอะไรมากส่วนใหญ่ เป็นแค่แหล่งอาหารเสริมโปรตีนที่หาได้ในท้องถิ่นเสริมในสำรับอาหารก็เท่านั้น และส่วนใหญ่ก็ต้องเลือกจับแต่ตัวใหญ่ๆเพื่อไปกินเป็นอาหาร ไม่ได้กวาดเรียบทุกไซส์เหมือนตลาดมืดที่ทำอยู่ในปัจจุบันครับ สถานการณ์จึงต่างกันครับ อย่างไรก็ตามบึ้งในวงศ์ Theraphosidae ของไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อแมลงหรือแมงคุ้มครองที่การส่งออกต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอุืทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แต่เนื่องด้วยการขาดการเอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการขาดความรู้ในเรื่องข้อมูลพื้นฐานและกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ทำให้ปัจจุบันกฎหมายนี้แทบไม่มีผลอะไรเลยครับ มีการนำเข้าส่งออกแมลง แมง กันอย่างปกติ

ความเห็นที่ 3

เยี่ยมครับ ตรงๆจริงใจไปเลย

ความเห็นที่ 4

อย่างน้อยก็ไม่ใช้คำว่าวิชาการมาแอบอ้างละกัน เหอๆๆๆๆ แหมมันน่าสาวถึงพวกนักวิชาการนักแล แต่ก็ไม่อยากเริ่มโจมตีใครก่อนcheeky ทำไมต้องมุ่งร้ายกันปานนั้น สีดำๆ อย่างพวกกระผม ทำอะไรชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่ขาวๆ ขุ่นๆ ( คิดกันเองละกัน ) แล้วแหล่งต่างๆ ที่มีมาขายนี่ ก็มาจากพวกสีขาวๆ ทั้งนั้น พวกกระผม เจอกันก็เก็บคนละตัว 2 ตัว และก็ไม่เคยบอกแหล่งกับใครด้วย เพราะรู้ว่ามันอยู่เป็นจุดๆ ถ้าพวกคุณๆ ไปเจอเข้าผมก็ว่าเก็บ เหมือนกัน ก็เพื่อประโยชน์ของตัวเองทั้งนั้น ( ทุกคน ) เพราะมาทำผลงาน ก็ได้กะตัวเอง ผมเป็นคนเลี้ยง จะเลี้ยงได้สักกี่ร้อยตัวเชียว และอีกอย่างพวกผมนะ มีจุดยืนของตัวเอง ซึ่งมันใจว่ามันเป็นอุดมการณ์ที่ยั่งยืนกว่าฝันพวกคุณแน่นอน ไหนๆ ก็พูดและ 555555+

ความเห็นที่ 5

อีกอย่างตอนนี้ บึ้งขุดแทบจะไม่มีในทางฝั่งผมแล้วนะครับ ส่วนมากจะเป็นบึ้งที่เพาะกันได้ ซะส่วนใหญ่ พวกผมสามารถทำให้พวกนักขุดมาขายล่มมาหลายรายแล้ว แทนที่จะมาร่วมมือกัน พวกคุณก็มีความรู้ พวกผมก็มีบางอย่างที่พวกคุณใช้ได้ ทำไมไม่ร่วมมือกัน ดีกว่าจะมาทำลายกันเอง เพราะงี้แหละ ไทยถึงเป็นประเทศกำลังพัฒนา ไม่เจริญซะที ถ้าเราร่วมมือกัน ผมว่าหนทางแหล่งแมงมุมจะไปอีกไกลเชียว ผมไม่อยากเห็นผลงานของพวกต่างชาติ ที่มันมาทำในไทย แล้วต่างชาติได้ชื่อเสียง แล้วอีกอย่างไประวังพวกรับจ้างขุดของต่างชาติดีกว่า ( ไอ้ฝรั่งที่เพิ่งเข้ามาขุดอะ น่าจะรู้ดี ) มีโอกาศเรามานั่งคุยกันดีกว่าครับ อย่ามาโจมตีกันเลย เอาโลกของเราสองมารวมกัน ( เมื่อกี้โมโห ) 5555+ แรงไปหน่อย อิอิอิwink

ความเห็นที่ 6

คุณ Dark areas ที่โพสต์ข้อความด้านบนนี่ มีความเกี่ยวข้องกับบทความผมมั้ยครับ ถ้าเกี่ยวช่วยขยายความหน่อยครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์ เรื่องที่เปิดประเด็นมาเรื่องแอบอ้างวิชาการ หรือมีนักวิชการเกี่ยวข้องอะไรประมาณนี้ ไม่ได้พูดลอยๆใช่มั้ยครับ ว่ากันด้วยหลักฐานเลยครับ เอาแบบว่าชี้ตรงๆเข้าเป้าเลยครับไม่ต้องอ้อม แบบว่าไม่ต้องกลัวฟ้องหมิ่นประมาทกันไปเลย ผมเป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่จะไม่ยอมให้นักวิชาการหน้าไหนมาทำตัวแบบนี้ครับ ชี้ชัดมาเลยครับ ว่าใคร ทำอะไร อย่างไร ผมอยากรู้เหมือนกันครับ

ความเห็นที่ 7

ก็ไม่เห็นยากเลย ทำไมคนเลี้ยงมีไม่ได้ แล้วนักวิชาการมีมาทำวิจัยเยอะๆ แล้วที่มีเยอะๆ ได้ขอหรือเปล่า แล้วที่ทำถูกต้องเปล่า แค่นั้นก็พอจะเป็นคำตอบแบบบ้านๆได้แล้ว ของผมไม่ต้องหาหลักฐานมาเอาผิดใครหรอก เพราะไม่รู้จะทำไปทำไม แต่ถ้ามีหลักฐานควรเป็นฝ่ายที่ทำถูกต้องที่จะต้องเอามาโชว์มากกว่า เพราะถ้าทำถูกต้องจริง ต้องมีใบที่ขอทางอุทยาน และก็มีใบตอบรับมาให้ดู ของผมเจอก็เก็บ ไม่มีหลักฐานอะไร จริงมะ 555555+ ควรจะไปโจมตีคนขายมากกว่าคนเลี้ยงนะครับ ผมใช้สมองที่จบแค่ ป.6 คิดอะครับ ไม่ถูกใจใครก็ไปคิดเองละกัน เหอๆๆๆ

ความเห็นที่ 8

       จากเรื่องราวของประเทศมาเลเซียนั้นเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้องที่สุดในการที่ทางเครือข่ายอนุรักษ์ได้ช่วยผลักดันและพยายามใช้กฎหมายให้เป็นเครื่องมาในการปกป้องพวกมันโดยให้อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ที่สมควรจะได้รับคุมครอง  ถึงแม้มันจะเป็นช่วงเวลาที่มันวิกฤติแล้วก็ตามก็ยังดีกว่าที่ไม่ได้ทำหรือลงมือทำอะไรเลยนั่นเห็นชัดว่าเป็นการที่เป็นรูปธรรมที่สุด

       ส่วนแมงมุมโบราณท้องปล้องในไทยนั้นก็เป็นที่แน่ใจแล้วว่าพวกมันก็ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงในการที่จะมีจำนวนลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจากสภาพแวดล้อมในธรรมชาติเอง หรือแม้แต่ปัจจัยภายนอกก็ตาม  ตามความรู้สึกส่วนตัวนั้นแมงมุมโบราณท้องปล้องนั้นเปรียบเสมือนทรัพย์สมบัติล้ำค่าของประเทศก็ว่าได้ ดังนั้นก็ไม่น่าที่จะแปลกใจอะไรที่เหล่านักวิชาการจะพากันออกตัวมาปกป้องพวกมันนั้นก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

       หากจะพูดอย่างเป็นกลางนั้น การที่จะปกป้องพวกมันนั้นมันก็มีเครื่องมือหลายอย่างที่จะช่วยปกป้องมันได้ นอกเหนือไปจากการ “ประณาม” เพราะการประณามนั้นมันก็ไม่ต่างจากอะไรกับการประจาร  ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ทำให้จำนวนของพวกมันลดน้อยถอยลงนั้นมันก็มาจากหลากหลายสาเหตุ แต่เท่าที่อ่านดูแล้วนั้นก็เห็นจะเน้นไปที่กลุ่มของนักเลี้ยงและนักสะสมเป็นหลักสำคัญ (ตามที่ได้ติดตามอ่านจากมุมมองของผู้เขียน)   แต่ถ้าหากจากพิจารณาให้ลึกลงไปในด้านของกลุ่มผู้เลี้ยงนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นผู้ “ผิด” อย่าง 100%  แต่ทำไมเราไม่ช่วยผลักดันให้ออกกฎหมายคุ้มครองพวกมันซะ ถ้าแบบนี้ก็สามารถที่จะประณามได้อย่างเต็มปาก 100% ว่าใครมีไว้ครอบครองหรือไปจับมานั้นก็ต้องมีความผิดอย่างแน่นอน

       เรื่องนี้มันไม่มีถูกหรือผิดเพราะยังไม่ได้ออกเป็นกฎหมาย แต่มันเป็นเรื่องของ “จริยธรรม” มากกว่า และการที่จะมีจิตสำนึกที่ควรไม่ควรมากกว่า และอันที่จริง แล้วจะไปว่ากล่าวนักเลี้ยงเสียทีเดียวก็ไม่ได้  นักเลี้ยงไม่สามารถมีได้ถ้าไม่มีคนเอามาขาย  ตรงนั้นต่างหากที่เป็นเหตุสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไปกล่าวหานักขายทั้งหมดไม่ได้เพราะเชื่อว่าก็ยังมีทั้งนักขายที่ขายแบบ “สุดโต่ง” และนักขายแบบมี “จริยธรรม” อยู่บ้าง   การที่ไปประณามคนที่เลี้ยงนั้นเห็นจะยังไม่ควร แต่ทำไมไม่ใช้อีกเครื่องมีหนึ่งที่เราสามารถทำได้นั่นก็คือ “การส่งเสริมการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี” ให้กับหมู่คนเลี้ยง  หากกลุ่มนักเลี้ยงมีจิตสำนึกที่ดีพวกเขาก็อาจจะไม่นิยมชมชอบในการที่จะหามาเลี้ยง และในเมื่อไม่มีคนซื้อก็หาเหตุผลไม่ได้ที่คนขายคิดจะหาออกมาขาย  แต่มันก็เป็นความจริงอยู่ว่ามันทำให้นักล่านั้นหยุดการล่า แต่อย่างน้อยก็ทำให้การล่านั้นลดน้อยลง

       ส่วนเรื่องที่บอกว่ายังไม่มีการผสมแมงมุมโบราณท้องปล้องสำเร็จในที่เลี้ยงนั้น  เห็นจะเป็นการมองในด้านเดียวของผู้เขียนเท่านั้น  แต่ในกลุ่มนักเพาะพันธุ์บึ้งนั้นก็มีอยู่หลายต่อหลายคนที่มีความเชี่ยวชาญในการเพาะพันธุ์บึ้งซึ่งก็ไม่ได้ง่ายเช่นกัน แต่เชื่อว่าพวกเขามีเทคนิค ที่จะสามารถทำให้มันผสมพันธุ์กันออกมาได้ในสถานที่เลี้ยงและอีกอย่างที่ผมเห็นว่าเป็นการคาดการณ์กันไปเองในเรื่องความสามารถของการดูแลแมงมุมตัวเล็กๆ หลายร้อยตัว เป็นเวลาเป็นปีๆ  ตามที่พบเห็นนั้นก็เคยเห็นคนที่สามารถดูแลแมงมุมตัวเล็กๆ นี่แหละ เป็นจำนวนหลายร้อยตัว และเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 4 ปีมาแล้ว นี่เป็นข้อมูลที่เป็นความจริงที่พบเห็นกันมาแล้ว นั่นก็หมายความว่าพวกเขาย่อมมีเทคนิคที่หลายคนต่างคาดไม่ถึงเลยก็ว่าได้

       การที่บอกว่าปล่อยให้มันมีการผสมกันในธรรมชาตินั้น  ในเมื่อเห็นว่าในธรรมชาตินั้นมีปัจจัยหลายอย่างที่จะมาหยุดยั้งไม่ให้มันผสมจนเป็นเหตุให้จำนวนมันลดลงนั้น   แนวคิดที่จะเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยงโดยใช้เทคนิคต่างๆ และการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของพวกมันจึงเป็นเรื่องที่น่าคิดเป็นอย่างมาก เพราะถ้าปล่อยให้มันขยายพันธุ์ตามธรรมชาติสิ่งที่เราจะได้รับก็คือ “ได้รับรู้ว่าจำนวนมันลดน้อยลงไปอีก” นั่นเอง

       อย่างไรก็ตามการที่มันมีจำนวนลดน้อยลงในธรรมชาตินั้นไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยอะไรก็ตาม  พวกเราก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะร่วมกันศึกษาและช่วยกันให้พวกมันขยายพันธุ์กันมากขึ้น  มันจึงเป็นที่มาของงานวิจัยต่างๆ มิใช่หรือ?และการวิจัยที่ผ่านมาแล้วนำมาให้เรารู้ถึงอะไรกันแน่? แต่งานวิจัยเหล่านั้นเชื่อว่าต้องมีประโยชน์ไม่ในแง่ใดก็แง่หนึ่งอย่างแน่นอน และเชื่อว่างานวิจัยต่างๆ จะส่งผลให้เผ่าพันธุ์ของพวกมันนั้นอยู่กับพวกเราต่อไปอย่างยาวนานที่สุด

ความเห็นที่ 9

จากประสบการณ์ในการเลี้ยง ลูกแมงมุมก้นปล้อง ขนาดประมาณ 0.3-0.5 cm. ใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน ขนาดของแมงมุม เพิ่มมาประมาณ 2-2.5 cm สำหรับนักเลี้ยงอย่างผมถือ ว่าเปนการเจริญเติบโตที่ไวมาก แต่หลังจาก 1 ปี อัตราการลอกคราบและการเติมโตจะช้าลงเล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่าไว เมื่อเทียบ กับหลายๆสายพันธ์ จาก ตปท. ผมชอบข้อมูลทางวิชาการนะ แต่ไม่มีโอการได้ สัมผัส หรือเรียนรู้เลย ทุกวันนี้ ใช้แต่ประสบการณ์ชีวิตในการเลี้ยงดูเด็กๆ ผมเองก็อยากเห็นหลายๆเป็นรูปธรรม เหมือน กันแค่มโนธรรม มันไม่อาจช่วยปกป้องและอนุรักษ์ได้เลย ~ โดยส่วนตัวผมไม่เข้าใจ หลายเรื่อง เวลาผมสงสัย ผมก็ไปหาอ่านข้อมูลจาก เว็บ ตปท. ( หาอ่านในเมืองไทยไม่ได้) หลายๆ สายพันธ์ ผมได้ข้อมูลจาก ตปท. บางครั้ง เกิดความสงสัย ว่ามันมีอยู่จริงหรือ ?? ในประเทศไทย ด้วยเหตนั้น ทำให้ผมเกิดความสนใจ และตามหา นั่นละจุดเริ่มต้น และจากการตามหา ผมถึงได้รู้ว่า " เพราะเธอมีอยู่จริง " ผมอยากอ่าน อยากศึกษา จากภาษาไทย อยากรับความรู้ข้อมูลจากคนไทยมากกว่า ค้นหาจาก ตปท. เพราะผมเป็นคนไทย ~ ~!

ความเห็นที่ 10

เรื่องกระบวนการทางกฎหมายนั้น จริงๆกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เพียงพอแล้วครับ ถ้าทุกคนเคารพและปฏิบัติตาม รวมถึงมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ผมได้ให้ข้อมูลกับเจ้าของพื้นที่อนุรักษ์ใ้ห้เพ่งเล็งกลุ่มนี้เป้นพิเศษในหลายพื้นที่แล้ว เพราะการคุ้มครองที่ดีที่สุดคือการคุ้มครองพื้นที่ที่บึ้งอาศัยอยู่ซึ่งก็มีกฎหมายบังคับใช้ในจุดนี้อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายประชากรและเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าที่พบนอกเขตอนุรักษ์ ซึ่งการออกกฎหมายคุ้มครองที่ตัวบึ้งฝาซึ่งดูไม่เป็นที่รู้จักและไม่มีความสำคัญในแง่ทั้งทางเอกลักษณ์และความสำคัญต่อมนุษย์แล้วเป็นเรื่องที่ค่อนข้างต้องใช้เวลาและต้องมีข้อมูลจากการศึกษาสนับสนุนเพียงพอจึงจะดำเนินการได้ ซึ่งในขณะนี้ก็มีหลายหน่วยงานที่กำลังทำการศึกษาผลักดันในส่วนนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไปครับ ในบทความด้านบนผมไม่ได้มีเจตนากล่าวร้ายว่าผู้เลี้ยงคือคนที่ทำให้บึ้งฝาท้องปล้องสูญพันธุ์ แต่กล่าวว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะซ้ำเติมประชากรที่วิกฤติอยู่แล้วให้แย่ลงไปได้ในพื้นที่บางแห่ง ผมไม่ได้สื่อว่า"ห้ามเลี้ยง" เพียงฝากข้อคิดไว้สำหรับคนที่จะเลี้ยงเพื่อให้คำนึงเห็นโดยไม่ได้เจาะจงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ส่วนคำว่า"ประนาม" ของผมนั้นหมายถึงตำหนิ ติเตียน สื่อให้คนที่เห็นด้วยช่วยกันตำหนิ ติเตียนคนที่ทำไม่ถูกต้องซึ่งเป็นคนละความหมายกับคำว่า "ประจาน" ซึ่งหมายถึงการการประกาศหรือเปิดเผยสิ่งที่ทำไม่ดีให้สาธารณะรู้โดยทั่วกัน จึงไม่ได้หมายถึงคนเลี้ยงบึ้งฝาท้องปล้องทำสิ่งไม่ดีหรือสิ่งชั่วร้ายจนต้องนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ขอให้เข้าใจในความหมายนี้ด้วยครับ ทุกคนจะพูดว่าอย่างไรก็พูดได้ครับเพื่อให้ตัวเองดูดีดูถูกต้อง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเจตนารมณ์เป็นสำคัญ การกระทำที่มุ่งสู่เจตนารมณ์ที่ดีอาจไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป เช่น โรบินฮูดปล้นนักการเมืองที่คดโกงเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือชาวบ้าน ถ้ามองที่การกระทำ "ปล้น" โรบินฮูดไม่ดี แต่ถ้ามองที่เจตนารมณ์ โรบินฮูดกลับเป็นคนดี ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่จะสะท้อนเจตนารมณ์ที่ดีให้ผู้อื่นเห็นไม่ได้สิ้นสุดที่คำพูดที่สวยหรู แต่คือผลงานที่ประจักษ์ให้ผู้อื่นได้เห็นครับ ถ้าบางคำพูดในบทความจะทำให้เกิดความขัดแย้งทางอารมณ์ ก็จงใช้เป็นแรงผลักดันแสดงให้เห็นว่าเรามีเจตนารมณ์ที่ดี และพิสูจน์ให้เห็นด้วยผลของงาน เพราะไม่มีใครหลอกตัวเองได้ครับ ถ้ารู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่ ทำเพื่ออะไรและสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องจากเจตนารมณ์ที่ดีก็ขอให้เดินหน้าทำต่อไปครับ ไม่ว่าใครจะว่าอะไร สุดท้ายผลของงานจะเป็นตัวพิสูจน์ต่อสังคมเองครับ หากเลี้ยงคิดว่าดีถูกต้องเพราะมีเจตนารมณ์ที่ดีต่อบึ้งฝาท้องปล้อง ก็ขอให้เลี้ยงอย่างใส่ใจ เลี้ยงและให้เกิดประโยชน์สูงสุด จดบันทึกให้เป็นระบบให้ได้มาซึ่งข้อมูลซึ่งจะเป็นประโยชน์ส่งกลับคืนไปยังบึ้งฝาให้คุ้มค่ากับที่เรานำเค้าออกมาเรียนรู้ เมื่อเราได้ประโยชน์จากเค้าแล้ว เราก็ควรทำอะไรที่เป็นประโยชน์กลับคืนไปสู่พวกเค้า สุดท้ายผมรู้ว่าผมทำอะไรและถูกต้องหรือไม่ ท่านก็รู้ว่ากำลังทำอะไรและถูกต้องหรือไม่ ก็ทำต่อไปครับถ้าคิดว่าสิ่งนั้นถูกต้องและมาจากเจตนารมณ์ที่ดี ไม่ว่าใครจะกล่าวหาว่าอะไร เราจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ตัวเราเองนี่แหละครับที่รู้ดีที่สุด ถ้ามันเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควร ขอร้อง อย่า หยุด ทำ!! แล้ววันหนึ่งสังคมก็จะรู้เองจากผลงานของเราครับ

ความเห็นที่ 11

ฝากอีกนิด จากข้อ 2 ในข้อฝากถึงนักเลี้ยงและนักสะสม ผมไม่ได้มองในด้านเดียวของผมครับ ข้อมูลที่ผมนำมาเขียนเกิดจากการรีวิวเอกสารที่มีตีพิมพ์อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในกลุ่มนี้ผมคิดว่าผมอ่านครบแล้วยังไม่มีใครที่เพาะพันธุ์ได้ในที่เลี้ยงและมีการตีพิมพ์เผยแพร่ครับ ซึ่งย้อนไปตอบข้อสงสัยของคุณ Dark areas ที่ว่าสุดท้ายก็ทำเพื่อตนเอง (ผลงาน) ถูกต้องบางส่วนครับ สำหรับนักวิจัยเมื่อลงมือศึกษาอะไรแล้ว เมื่อเสร้จสิ้นต้องตีพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้คนอื่นได้รับรู้ในวงกว้างครับ ทำอะไรแล้วไม่ได้ตีพิมพ์เท่ากับไม่ได้ทำครับ เพราะใครก็สามารถพูดได้ครับว่าทำ ดังนั้นผลสรุปของการศึกษาจึงต้องมีการตีพิมพ์เพื่อให้ได้รับรู้โดยทั่วกัน ส่วนการเป็นผลงานนั้นเหมือนเป้นผลพลอยได้ครับ ดังนั้นหากใครเพาะบึ้งฝาได้แต่ไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ก็เท่ากับไม่ได้ทำเป็นการพูดลอยๆ ไม่มีหลักฐานหรือกระบวนการทางข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับทางวิชาการ ผมจึงไม่ได้มองด้านเดียวพูดลอยๆแต่อ้างอิงจากข้อมูลที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในปัจจุบันครับ

ความเห็นที่ 12

ถ้ามาทรงนี้ผมรับได้นะ ต่างคนต่างรู้ว่าทำอะไรอยู่ ผมคนนึงแหละคงไม่มีผลงานใดๆ มาเสนอให้ชาวโลกเห็น คงจะได้แต่ชอบในสิ่งที่เป็นตัวเอง คุณก็พูดถูกนะว่าทำแล้วไม่ได้ตีพิมพ์ก็ถือว่ายังไม่ได้ทำ อันนี้เข้าใจ เพราะผมไม่ได้มีกำลังในการของบต่างๆ และก็ไม่มีแรงดันในทางวิชาการ เพราะผมมันก็แค่คนขายปลาหมึกปิ้ง ^_^ ถ้าทำแล้วได้ประโยชน์กับส่วนรวม ไม่ต้องไปเสียเงินซื้ออ่านแบบของต่างประเทศก็ดี เพราะพอเป็นผลงานเมื่อไหร่ไม่เคยเห็นปล่อยอ่านแบบหมดเลย ต้องเสียงเงินซื้อบางหน้าตลอด สิ่งสุดท้ายที่อยากจะขอกัน หยุดโจมตีผู้เลี้ยงซะ เพราะพวกผมรักสิ่งพวกนี้ ดูแลเขาได้ดีแน่นอน ถ้าไม่เชื่อ ลองมานั่งดูตอนผมผสมบึ้งก็ได้ 555+ ( แต่ให้มาดูได้จริงๆ นะ ) ถ้าจะโจมตีโจมตีผู้ที่เอาออกมาขายซะ หรือพวกต่างชาติ ตอนนี้ไอ้ชาวสวีเดน มันเพิ่งมาเอาไปอย่างเยอะ ผมว่าทางคุณน่าจะมีพลังมากกว่าทางผม น่าจะหาทางจับมันได้แล้ว มันน่าเจ็บใจจะตาย ต่างชาติมาบอกว่า อุทยานไทยเอาของออกง่ายที่สุดในโลก แค่มีตัง ผมอะเจ็บใจมาก จะดักตีมันก็ไม่รู้วันเวลาที่ชัดเจน 5555+ ( แต่เอาจริงนะ ) สุดท้ายหวังว่าจะเข้าใจซึ่งกันและกัน

ความเห็นที่ 13

ผลงานจะปรากฎ เมื่อสิ่งที่ทำถูกตีพิมพ์ ?? งั้นคงหมดเวลาของผมเสียแล้วละ ผมขอเป็นผู้เลี้ยง และแบ่งปันความรู้จากประสบการณ์ที่ผมได้รับ แก่เพื่อนๆนักเลี้ยงด้วยกันดีกว่า เพราะพวกพวกเราไม่ต้องเสียเวลาในการถกเถียงเชิงวิชาการ พวกเราแบ่งบันประสบการณ์ และช่วยเหลือกันจากสิ่งที่เรารู้ และถึงสิ่งที่พวกเราทำสำเร็จ สำหรับนักเลี้ยงอย่างผม ชื่อเสียงและความสำเร็จไม่ได้สำคัญ ผมให้ความสำคัญกับเพื่อนๆ ที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน และสิ่งที่พวกเราทำกันจนสำเร็จนั้น มันก็คือความภูมิใจที่เราได้รับ ไม่จำเปนต้องให้ใครมาเยินยอ เพราะเรารู้ ว่าเรากำลังทำอะไร และไปในทิศทางไหน ผมแค่รู้ว่าสิ่งที่พวกเราทำ มันไม่ผิด จิตสำนึกบอกเช่นนั้น ใครหลายคนอาจจะมองว่าเรา ทำลายหรือฉวยโอกาศจากทรัพยากรที่เหลือน้อยนิด ก็ไม่เป็นไร เพราะ ที่พวกเราทำ ผมถือว่าเป็นการเซพอีกหนึ่งชีวิตที่พวกผมรักและหลงไหล ชีวิตผม อยู่กับผืนป่า อาศัยร่วมกับธรรมชาติมากกว่า อยู่ในเมืองกรุง ผมมีโอกาส ที่ได้เซพชีวิตสัตว์เหล่านี้ และนำมาเลี้ยงด้วยความรักและใส่ใจ เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งโอกาสที่ผมจะนำปล่อยคืนสู่ถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมเป็นไปไม่ได้เลย ผมยอมถูกประนาม จากนักอนุรักษ์ ทั้งหลาย เพราะผมภูมิใจ ที่ผมได้เก็บชีวิต ที่กำลังจะสูญสิ้นจากการพัฒนาด้านการเกษตร ผมเลี้ยง ผมศึกษา ผมแบ่งปันในสิ่งที่ผมรู้ ถึงวิธีการดูแล เพื่อไห้คนเลี้ยงสามารถเก็บ อีกหนึ่งชีวิตให้ยาวนานยิ่งขึ้น แม้ความรู้จากประสบการณ์ จะไม่ได้รับการดีพิมพ์และเผยแพร่ ก็ไม่สำคัญ สิ่งสำคัญที่ผมรู้คือ ผมกำลังทำอะไรอยู่ และเพื่อนๆ ที่อยู่รอบตัวในอุดมการณ์เดียวกัน ก็รู้ว่าพวกเรากำลังทำอะไร แต่ในสุดท้าย ผมก็รออ่านบทความที่ดีมีประโยชน์เชิงวิชาการนะครับ ผมเบื่อที่ต้องตอยอ่าน คอยหาข้อมูลจาก ตปท. บึ้งไทย แมงมุมไทย ข้อมูลทางวิชาการ ต้องมูลต้องมาจาก นักวิชาการไทยครับ ถึงจะสมเหตุผล ถึงแม้จุดยืนและความคิดของเราอาจต่างกัน .. วิธีดำเนินการจะต่างกัน แต่เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ เซพชีวิต และพยายามให้ สิ่งเหล่านี้ ดำรงอยู่ เพื่อให้ลูกหลานคนไทยได้รู้ว่า " เพราะเธอมีอยู่จริง " ขอบคุณที่ชี้แจง ขอบคุณที่รับฟัง ขอบคุณที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนคติ และยินดีสำหรับการแชร์ความคิด

ความเห็นที่ 14

หายากเหรอ ต้องหามาเลี้ยงบ้างล่ะ ชอบ ชอบ...ของหายาก

ความเห็นที่ 15

แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสองฝ่ายผมเห็นด้วยว่าดีครับ

ฝั่งเจ้าของบทความมีแน่ๆ

แต่อีกฝั่งนี่สิ?

ความเห็นที่ 16

ขอบคุณคะสำหรับข้อมูลดีๆ >> slotxo