Photo essay : ป่าแม่วงก์ (บริเวณที่จะมีการสร้างเขื่อน)

เรื่อง/ภาพ: ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์

เชื่อว่าหลายๆท่านยังไม่เคยเห็นป่าแม่วงก์ บริเวณที่จะมีการสร้างเขื่อน บางคนก็บอกเป็นป่าเสื่อมโทรม บางคนก็บอกมันสวยจะตาย ป่าเต็งรังก็เป็นแบบนี้แหล่ะ ต้นไม้จะไม่ได้หนาแน่นเหมือนป่าดงดิบ อีกคนบอกป่าตรงนี้เคยมีชาวบ้านอยู่ เคยถูกสัมประทานไม้มาก่อน เป็นป่าปลูกต้นเล็กๆ ก็ว่ากันไป

ผมโชคดีมีกิจการอยู่ใกล้บริเวณที่จะมีการสร้างเขื่อน เลยโฉบไปโฉบมาอยู่ 2-3 ครั้ง นอกจากนั้นยังได้มีโอกาสร่วมกับคณะที่สำรวจป่าเพื่อทำ EHIA ด้วย จึงมีโอกาสเข้าไปในป่าลึกบริเวณ ขุนน้ำเย็น ซึ่งเป็นจุดที่น้ำจะท่วมถึงบริเวณด้านในของอ่างเก็บน้ำถ้ามีการสร้างเขื่อน สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น ไม่มีบทความยืดๆยาวๆให้เสียเวลา ดูภาพและข้อมูลประกอบภาพแล้วตัดสินใจกันเองดีกว่าครับว่า สมบูรณ์ หรือ เสื่อมโทรม? ควรจะรักษาไว้ หรือ ทำลายไปก็ไม่เสียดาย? 


1. ใครที่ไปป่าแม่วงก์ บริเวณหน่วยแม่เรวา ก็จะได้เห็นภาพประมาณนี้ครับ เราสามารถขับรถจนแทบจะลงไปล้างรถได้เลย ลำน้ำแม่วงก์ ตรงจุดที่ถ่ายภาพนี้เลยที่จะมีการสร้างเขื่อน แนวสันเขื่อนจะแทยงจากมุมซ้ายล่างของภาพไปจนถึงป่าอีกฝั่งที่มุมขวาบน ภาพนี้ถ่ายเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นเดือนกลางหน้าแล้ง น้ำใสไหลเย็นมีปริมาณมากครับ จากภาพจะเห็นว่าป่าด้านหลังแห้งกรอบ ผลัดใบกันขนานใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะปกติของป่าเต็งรัง หรือ เบญจพรรณ ที่จะมีการผลัดใบในฤดูแล้ง แต่จะเห็นว่าป่าหญ้าริมน้ำยังเขียวชะอุ่มเป็นอาหารให้สัตว์กินหญ้าได้ตลอดปี


2. ลำน้ำแม่วงก์บริเวณนี้เรียกกันว่า "แก่งลานนกยูง" ครับ แก่งเปรียบเสมือนปอดของสายน้ำเป็นจุดแลกเปลี่ยนก๊าซ ปล่อยคาร์ไดออกไซด์ รับ ออกซิเจน ลานหินลานทรายริมลำน้ำเป็นจุดที่นกยูงเพศผู้ใช้เป็นที่ลำแพนหางจีบตัวเมีย จึงได้ชื่อนี้มา


3. ลำธารที่ราบแบบนี้เล่นน้ำสนุกไม่อันตรายครับ คนมาเที่ยวกันเยอะ


4. พายคายัคล่องแก่งก็สนุกดีครับ ไม่ยากจนเกินไป โดยเฉพาะในฤดูที่น้ำไม่แรงมาก


5. ลำน้ำตรงนี้ถือว่าอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งที่ผมเคยสำรวจปลามา ในภาพคือปลาตะพากส้ม เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในลำธารที่ราบต่ำแบบนี้ครับ เพียงแค่ไปยืนอยู่ที่บริเวณหาดทรายหน้าบ้านพัก ก็จะเจอพวกเขาว่ายกันอยู่มากมาย


6. ยังมีปลาอีกมากมายเลยที่อาศัยอยู่ในลำน้ำแห่งนี้ มีไม่กี่ชนิดที่จะอาศัยและสืบพันธุ์ในแหล่งน้ำนิ่งในลักษณะของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนได้


7. ถ้าเราใช้เสือแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า ในแหล่งน้ำก็ใช้นากครับ เพราะเป็นสัตว์ที่เป็นผู้ล่าสูงสุดในแหล่งน้ำจืดแบบนี้แล้ว ที่ลำน้ำแม่วงก์บริเวณนี้ เราสามารถพบรอยเท้านากได้ทั่วไป วันไหนเงียบๆ เจ้าหน้าที่ว่าขึ้นมานั่งเล่นอยู่บนหาดหน้าบ้านพักเลย ดวงของเรายังไม่สมพงษ์กันสักทีนะคุณนากนะ 


8. ไม่ใช่ว่าจะสวยงามไปเสียหมด ในลำน้ำแม่วงก์ถูกหอยเชอรี่บุกรุกอยู่เหมือนกัน แต่เนืองจากว่าเป็นระบบนิเวศน้ำไหลที่หอยเชอรี่ไม่เชี่ยวชาญ มันจึงมีปริมาณไม่มากนัก ลองสร้างเขื่อนกักน้ำให้นิ่ง มีซากพืชเยอะๆ มีตอไม้ให้ไข่ รับรองว่าเขื่อนแม่วงก์เป็นบ่อเพาะหอยเชอรี่แน่นอน


9. ลานนกยูงมีนกยูงจริงไหม?  มีสิ มีเยอะด้วย พบเห็นได้ง่ายด้วย และเป็นพันธุ์ไทยแท้แน่นอน หินก้อนนี้อยู่ตรงข้ามกับถนนเลย ไปดูได้ทุกวันครับ ภาพไม่ได้ถ่ายจากที่อื่น


10. หนุ่มนี้ จีบสาวอยู่ข้างลานจอดรถเลยครับ วิธีการจำแนกยูงไทยออกจากยูงอินเดียง่ายๆ คอเขียว แก้มเหลือง จุกตรง ครับ 


11. คุณแม่พาคุณลูก(โข่งพอควรแล้ว)ออกหากินอยู่ตรงลานหน้าที่ทำการหน่วยแม่เรวาเลยหล่ะ


12. มาดูป่ากันบ้าง จริงไหมว่าตรงนี้เป็นป่าเสื่อมโทรม อันนี้เป็นป่าด้านนอก บริเวณที่เคยมีคนอยู่ โล่งนิดหนึ่งครับ


13. ภาพนี้เป็นบริเวณใกล้ๆกับหน่วยขุนน้ำเย็น เป็นป่าด้านในส่วนท้ายสุดของเขื่อน เป็นป่าสักที่สมบูรณ์มาก ทั้งต้นเล็กต้นใหญ่เต็มไปหมด มีร่องรอยของสัตว์ป่าให้เห็นทั่วไป


14. โป่งเทียมริมถนน พบรอยเท้าสัตว์กีบ พวก เก้ง กวาง และ หมูป่า ครับ 


15. ซากอีเห็น น่าจะเป็นผลงานของเสือขนาดเล็ก


16. อึสัตว์กินผลไม้ น่าจะพวกอีเห็นนี่แหล่ะ


17. รอยเท้าสัตว์กีบ ขนาดใหญ่ทีเดียว


18. บรรยากาศป่า


19. กลับมาที่ป่าด้านนอก ป่าบริเวณนี้เคยโดนสัมประทานไม้ครับ เห็นต้นสักแบบที่งอกออกมาจากตอเก่าของต้นแม่แบบนี้อยู่ทั่วไป


20. มาดูพวกแมง/แมลงกันบ้างครับ ผีเสื้อริมลำน้ำ


21. จั๊กจั่นงวง


22. แมลงสาปยังสวย อิ อิ 


23. เดินป่าให้สมบูรณ์แค่ไหน คืนหนึ่งเจองูสักตัวสองตัวก็หรูแล้ว คืนนั้นที่เดินเจอสองตัวครับ ตัวนี้งูปี่แก้ว เป็นงูไม่มีพิษครับ


24. งูปล้องฉนวนบ้าน เจอไล่งับกบอยู่ริมลำธาร


25. พืชบางกลุ่มต้องการโขดหินริมลำธารเป็นบ้านครับ


26. พวกนกหัวขวานพวกนี้ชอบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่งสักหน่อย


27. โมกหลวงขึ้นอยู่ริมน้ำเลย


28. สาหร่ายที่เก็บจากลำน้ำแม่วงก์ สามารถนำมารับประทานได้


29. กวาวเครือ เป็นพืชสมุนไพร


30. ปลาเลียหิน หากินตะไคร่ที่ขึ้นกับหินตามแหล่งน้ำไหล พบมากในบริเวณแก่งลานนกยูง ปลาสกุลนี้ทั้งหมด ไม่สามารถอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งได้ครับ


31. ค้อสามแถบเป็นปลาที่พบเฉพาะบริเวณลำธารที่ราบครับ


32. กลุ่มแมลงปอเข็มน้ำตก พวกนี้อยู่กับน้ำไหลเช่นกัน


33. บางตอนของลำน้ำจะแบ่งเป็นแก่งเล็กแก่งน้อย สร้างเขื่อนก็ถมหมดครับ สร้างเขื่อนแล้วแก่งมันจะมาจากไหน? 


34. ใครว่าง ลองหาเวลาไปเที่ยวกันครับ

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

เห็นด้วยนะคะกับข้อมูลที่ให้มา ไม่เตยไปแต่ก็พอจะรู้บ้างจากแหล่งต่างๆ เป็นป่าที่เราไม่ควรจะไปทำร้ายนะคะ เก็บไว้ให้เป็นสมบัติของส่วนรวม ใช้พึ่งพากัน น่าจะดีที่สุดนะตะ

ความเห็นที่ 2

เคยเดิน เข้าไป-กลับ 60 โล ป่าสมบูรณ์ มาก จริงๆๆ   

ความเห็นที่ 3

อุดมสมบูรณ์เชียวครับ smiley

ความเห็นที่ 4

นกยูงที่อยู่ตามธรรมชาติสวยกว่าอยู่ในสวนสัตว์มากมาย

ความเห็นที่ 5

ขอบคุณสำหรับการไปเก็บข้อมูลแล้วนำออกมาเผยแพร่ให้สาธารณะชนได้รับทราบและตัดสินด้วยตาตนเองค่ะ

ความเห็นที่ 6

สืบเนื่องจาก ดร. ดังกล่าวเขียนบทความดังนี้
http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement589.htm
กระผมเลยขอนำมาวิจารณ์เป็นข้อๆ ดังนี้

1) "หลายคนเห็นป่า ณ สถานที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้วเสียดาย ไม่อยากให้ตัดทิ้งไปสร้างเขื่อน แต่ความจริงก็คือป่านี้เพิ่งสร้างขึ้นมาเพื่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั่นเอง" 


 
::: ตรงนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ควรเขียนว่า “ผู้เขียน คิดว่า” โดยอาศัยจากข้อมูลที่อ้างถึง 
 

 
2) อย่าเข้าใจผิดว่าพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์มีสภาพเป็นป่าดงดิบ แต่เป็นป่าปลูกใหม่ที่เกิดขึ้นจากการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมหลังจากเป็นเขตอุทยานฯ {1} 

 
 
::: ตามไปอ่านข้อมูลที่อ้างถึงในเว็บ เขาพูดถึงว่าพื้นที่หลายส่วนของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (จากพื้นที่ 5 แสนกว่าไร่) ถูกบุกรุก แล้วมีโครงการฟื้นฟูตามมา แต่ไม่มีข้อมูลใดที่กล่าวถึงว่ามีการป่าปลูกใหม่ หรือไม่ (ตามคำกล่าวอ้างของผู้เขียนบทความนี้) ปลูกฟื้นฟูตรงไหน อย่างไร พื้นที่เท่าไหร่ คำถามคือพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนและบริเวณที่น้ำจะท่วมครอบคลุมพื้นที่ 13,000 ไ ร่ เป็นไปได้หรือไม่ พื้นที่ทั้งหมดเป็นป่าเสื่อมโทรมและเป็นป่าปลูกใหม่ ไม่มีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์อยู่เลย 


 
::: การฟื้นฟูตามข้อมูลที่อ้างอิง ไม่ได้หมายถึงการปลูกป่า แต่น่าจะหมายถึงการฟื้นตัวของป่าธรรมชาติเมื่อเวลาผ่านไป นอกจากนี้มีการกล่าวถึงการฟื้นฟูประชากรของสัตว์ป่า ซึ่งไม่เกี่ยวกับการปลูกป่า


 
::: แต่จริง ๆ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่วาทะกรรม ป่าเสื่อมโทรม เพราะแต่ละคนมองไม่เหมือนกัน แต่ประเด็นสำคัญคือ ณ ปัจจุบันมีอะไรความหลากหลายทางชีวภาพอะไรอยู่บ้างต่างหาก
 

 
3) ในโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ฯ ระบุว่า เป็นป่าเต็งรัง 33% ป่าไผ่ 9% ป่าไม้เบญจพรรณ 51% ที่รกร้าง 5% และแหล่งน้ำ 2% {2}

 
 
::: ประโยคนี้ เป็นประโยคบอกเล่าธรรมดา ไม่มีความนัยเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประโยคข้างล่าง นี้ 


 
4) นายวีระกร คำประกอบ อดีต ส.ส.นครสวรรค์กล่าวว่า "ข้อเท็จจริงมันเป็นป่าเสื่อมโทรมที่มีชนกลุ่มน้อยบุกรุกทำลายป่ามาแล้วเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา จึงไม่มีต้นไม้ใหญ่หลงเหลืออยู่มากนัก" {3}


 
::: เป็นความจริงบางส่วนปะปนกับความคิดเห็นส่วนตัวของผู้พูด อดีตป่าบางส่วนเท่านั้นที่ถูกบุกรุก แต่ไม่ใช่พื้นที่ทั้งหมด (แต่พื้นที่เท่าไหร่นั้นไม่มีข้อมูล) อีกทั้งไม่มีข้อมูลอ้างอิง ว่าต้นไม้ใหญ่ที่เหลืออยู่ไม่มากนักนี่คือจำนวนเท่าใด มีเกณฑ์อะไรในการชี้วัดว่ามากหรือน้อย 


 
::: ป่าฟื้นตัวเองได้ครับ ถึงแม้ว่าพื้นที่ตรงนั้นเคยถูกบุกรุกมาก่อน โดยที่ไม่ได้เกิดจากการปลูกป่า ยกตัวอย่างบริเวณป่าฮาลา จังหวัดยะลา พื้นที่นี้มีชื่อเสียงในแง่ของความอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ คงไม่มีใครปฏิเสธ แต่ หลายคนไม่ทราบว่าอดีตกลางป่าฮาลา มีที่ราบบริเวณหนึ่งก็เคยเป็นหมู่บ้านคนมาก่อน ภายหลังที่ทางราชการอพยพคนออกทั้งหมู่บ้าน ปัจจุบันที่ราบกลางป่าฮาลากลับมาเป็นป่าทึบใกล้เคียงกับป่าเดิม เป็นแหล่งหากินของกระทิง และเสือ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่พบได้อย่างชุกชุมในพื้นที่ตรงนั้น 
 

 
5) เขื่อนแม่วงก์เริ่มคิดมานาน JICA ก็ทำการศึกษาจนปี พ.ศ.2532 คณะรัฐมนตรีจึงให้ศึกษา EIA {4} 

 
 
::: อ้างอิง พศ. ได้ถูกต้อง แต่ตรงนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ
 

ความเห็นที่ 7

6) แต่ในระหว่างนั้น ทางราชการก็ฟื้นฟูต้นไม้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมนี้ แต่ในปัจจุบันต้นไม้ส่วนมากก็ยังมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง (DBH) เพียง 10-30 ซม.เท่านั้น การที่ DBH เล็ก แสดงว่าอายุน้อย 

::: เนื้อหาตรงนี้ไม่มีในข้อมูลอ้างอิงใน {4} ผู้เขียนควรอ้างถึง ที่มาของข้อมูลด้วย 

::: ธรรมชาติของป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ต้นไม้ตามธรรมชาติ ไม่ใช่ต้นไม้ยักษ์แบบที่พบป่าดงดิบอยู่แล้ว ป่าที่ยังมีบทบาทสำคัญคงขับเคลื่อนไปได้ มักจะพบพืชพรรณที่มีต้นไม้ หลากหลายในช่วงอายุ การที่มีต้นไม้เล็กๆ หรือไม้หนุ่มมากๆ นั่นหมายถึงป่าที่มีอนาคต

::: อีกทั้ง DBH เล็กไม่ได้หมายถึงว่าพืชมีอายุน้อย พวกไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม หรือไม้ต้นขนาเล็ก ต่อให้มีอายุเป็นร้อยเป็นพันปี ต้นก็ไม่สูง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางก็ไม่ใหญ่ พวกกล้าไม้ที่อยู่ใต้ร่มไม้อื่น ต่อให้อยู่มาเป็นหลายร้อยปีต้นก็ไม่โต (seedling bank)

::: นอกจากนี้ประเด็นคือคุณค่าของป่าไม่ได้อยู่ที่ ต้นไม้จะเล็กจะใหญ่ อายุมากหรืออายุน้อย (คุณค่า ไม่ใช่มูลค่าที่เกิดจากการขายแบบชั่งกิโล)

7) เช่น ในเขตป่าทั่วไป กระถินเทพา อายุ 8 ปี DBH 15.8 ซม. หนามหัน อายุ 18 ปี DBH 18.1ซม. ไม้สัก อายุ 8 ปี DBH 10.5 ซม. {5} ไม้สักอายุ 14 และ 20 ปีมี DBH 21 ซม และ 33.5 ซม. ตามลำดับ {6}

::: ข้อมูลที่อ้างอิง {5} และ{6} ข้อมูลตรงนี้เป็นกรณีป่าปลูกทั่วไปจากแหล่งอื่นๆ (เช่น พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ใน {5} ) ตรงนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับป่าธรรมชาติที่กล่าวถึงในพื้นที่แม่วงก์ แต่ถึงกระนั้นผู้เขียนบทความนี้ก็ไม่ได้มีความรู้ตรงนี้ ในฐานะที่ผมศึกษาเกี่ยวกับพรรณพืช ผมขอให้ข้อมูลดังนี้ โดยส่วนมากพื้นที่ป่าปลูก ก่อนที่จะปลูกมักจะถูกเคลียร์พื้นที่จนโล่ง ไปจนถึงเหี้ยนเตียน แล้วจากนั้นนำกล้าไม้ที่เพาะไว้นำมาปลูก ดังนั้น ขนาดและอัตราการเจริญเติบโตของต้นไม้จึงสูงกว่าต้นไม้ในธรรมชาติ  นอกจากนี้ชนิดพืชที่นำมาปลูกเป็นพืชโตเร็ว ดังเช่นชนิดพันธ์ที่ท่านอ้างถึง อีกทั้งได้รับแสงแดดเต็มที่ ดังนั้นจึงเติบโตเร็วมากจึงนำไปเทียบกันไม่ได้   ต้นไม้ที่ปลูกต่างจากในป่าธรรมชาติ หากต้นไม้อยู่ใต้ร่มเงาต้นไม้อื่น ต่อให้พืชอายุ 50-100 ปีแล้ว ต้นไม้ก็ยังมีขนาดเล็กอยู่ (กรณีที่ชนิดพืชไม่ใช่พวกไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม หรือไม่ต้นขนาดเล็ก) ผู้เขียนบทความนี้พยายามจะชี้ให้เห็นว่า ต้นไม้ตรงนั้นส่วนใหญ่มีขนาดไม่ใหญ่ แสดงว่าต้นไม้มีอายุน้อย ซึ่งตรงนี้แหละที่เป็น fallacy

::: กรณีของการปลูกป่าทั่วๆ ไป ของหน่วยงานราชการ มันมีป่าหลายประเภท ชนิดที่ปลูกก็แตกต่างกันจะมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ หรือต่อให้พื้นที่ปลูกเป็นป่าแบบเดียวกัน ต้นไม้ที่ปลูกชนิดเดียวกัน ต้นไม้ที่ปลูกอายุเท่ากัน อัตราการเจริญเติบโตของต้นไม้ก็ไม่เท่ากัน 

8) สาธารณชนจึงควรมองเห็นภาพเชิงซ้อน/ซ่อนเร้นให้ชัดว่า ในขณะที่มีการเสนอสร้างเขื่อนบนที่ป่าเสื่อมโทรมนี้ ก็มีการตั้งแง่ให้ไปศึกษาใหม่ไม่จบสิ้น เช่นให้ไปศึกษาทางเลือกพื้นอื่น (พ.ศ.2537) ให้ทำประชาพิจารณ์ (พ.ศ.2541) ให้ศึกษาการจัดการลุ่มน้ำ (พ.ศ.2546) เป็นต้น เขื่อนก็ไม่ได้สร้างสักที ต้นไม้ก็เติบโตขึ้นทุกวันเพื่อให้ฝ่ายต้านเขื่อนมีข้ออ้างเพิ่มขึ้นอีก ถ้าสร้างเขื่อนแต่แรกก็คงไม่มีข้ออ้างเรื่องป่านี้ หากมีความจำเป็นต้องตัดต้นไม้อายุสิบกว่าปีนี้เพื่อสร้างเขื่อน รายงาน EIA ก็ระบุชัดว่า ไม้มีมูลค่า 1,073 ล้านบาท รวมทั้งปริมาณธาตุอาหารพืช 11.71 ล้านบาทต่อปี {7} ซึ่งก็ยังดีกว่าการไปเวนคืนที่ดินนับหมื่นไร่ กระทบต่อชาวบ้านนับพันๆ ครอบครัวในบริเวณอื่น ยิ่งกว่านั้นเราสามารถนำเงินจำนวนนี้มาชดเชยเพื่อลดค่าก่อสร้างเขื่อน 

::: ตรงนี้เป็นข้อสรุปและความคิดเห็นของผู้เขียนบทความ เองล้วนๆ จากข้อมูลด้านบน ( ซึ่งขาดความน่าเชื่อถือ)

9) ส่วนการกลัวว่าจะมีพื้นที่ฟอกคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ทางราชการและชาวบ้านก็จะร่วมกันปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 3 เท่า {8} รวมทั้งการปลูกป่าเพิ่มเติมในป่าแม่วงก์และผืนป่าตะวันตกโดยรวมที่เสียหายจากการบุกรุกเป็นหย่อมๆ และไฟป่าปีละนับร้อยครั้ง ก็จะทำให้มีป่าไม้ดังเดิม ยิ่งเมื่อมีเขื่อนก็จะยิ่งมีน้ำอุดมสมบูรณ์เป็นประโยชน์ต่อป่าและสามารถใช้ดับไฟป่าได้ทันท่วงทีอีกด้วย

::: กรณีปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 3 เท่า {8} แต่ความจริงป่าไม่ได้เพิ่ม แต่ป่าจะลดลงเท่ากับจำนวนพื้นที่ที่ปลูกทดแทน คำถามคือ พื้นที่สามเท่าของพื้นที่ป่าเหนือเขื่อนที่จะถูกทำลาย ซึ่งก็คือ 13,000 X3 = 39,000 ไร่ พื้นที่จำนวนนี้ คุณจะเอาพื้นที่ตรงไหนมาปลูก ในกรณีที่คุณหาพื้นที่ปลูกไม่ได้ ซึ่งคงไม่พ้นโครงการทำลายป่าให้เสื่อมโทรมเพื่อการปลูกป่าทดแทน

::: ขอจัดลำดับขั้นตอนการทำลายพื้นที่ธรรมชาติให้เสื่อมโทรมลงตามนี้ครับ 
1 ป่าธรรมชาติที่ไม่เคยถูกรบกวนจากมนุษย์ 
> 2 ป่าที่ถูกรบกวน แต่มีการฟื้นตัว (ป่าทุติยภูมิ) 
> 3 ป่าเสื่อมโทรม ที่รอให้ธรรมชาติฟื้นตัวเอง (ทิ้งไว้จะกลายเป็นป่าทุติยภูมิ)
> 4 ป่าปลูกโดยไม้ท้องถิ่น = วนเกษตร= สวนผสม พืชท้องถิ่น 
> 5 ป่าปลูกโดยพืชชนิดเดียว หรือไม่กี่ชนิด = การทำเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดียว 
> 6 พื้นที่เมืองและชุมชน
> 7 พื้นที่อุตสาหกรรม 

::: สิ่งที่เรียกว่าฟื้นฟูจริงๆ คือ การอัพเกรดจากอันดับหลังๆ ไปเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งจริงๆ เป็นไปได้ยากนอกจากยกเลิกกิจการ อพยพคนออกไปจากพื้นที่ ทิ้งเป็นเมืองร้าง ธรรมชาติเองเท่านั้นจะเยียวยาตัวเองได้

::: แต่ปัจจุบันที่เรากำลังยินดีที่ว่าเรามีโครงการฟื้นฟูธรรมชาติ (ซึ่งในแต่ละปีเราใช้งบประมาณมหาศาล) แต่โลกแห่งความจริงคือ เรากำลังเปลี่ยน อันดับต้นไปเป็นอันดับท้ายๆ เช่น 

1 เราเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นพื้นที่ชุมชน (ลำดับ 6 กลายเป็น 7)
2 ป่าธรรมชาติที่ยังไม่ถูกรบกวน แต่ปัจจุบัน คนก็เข้าไปรบกวน ทำกิจกรรมต่างๆ (ลำดับ 1 เป็น 2-4)
3 เปลี่ยนป่าธรรมชาติ (ที่ถูกยัดเยียดว่าเสื่อมโทรม) เปลี่ยนป่าเสื่อมโทรม ให้เป็นป่าปลูกหรือพื้นที่วนเกษตร หรือพื้นที่เกษตกรรม (ลำดับ 1-3 กลายเป็น 4-5)

::: ซึ่งกรณีหลังสุดถ้าจะเรียกว่าฟื้นฟูจริงๆ เราแค่ทิ้งไว้เฉยๆ มันจะกลายเป็นป่าทุติยภูมิได้เองครับ เพราะว่าปกติพื้นที่เกือบทุกแห่ง มักมีเชื้อพันธุ์เมล็ดพืชป่าเหลืออยู่ในดิน อีกทั้งเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นอาจจะกระจายมาจากป่าข้างเคียงได้ 

10) ในรายงาน EIA ยังระบุถึงประโยชน์ของการสร้างเขื่อนต่อสัตว์-ป่าว่า จะเพิ่มประสิทธิภาพดิน 40% ดินชุ่มชื้นขึ้น สัตว์ป่ามีน้ำดื่ม (จากเดิมแห้งแทบไม่มีน้ำในหน้าแล้ง) เขื่อนสร้างแหล่งอาหารให้สัตว์ ทำให้ป่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ฯลฯ สำหรับประโยชน์ต่อมนุษย์ก็คือการชลประทาน แก้ภัยแล้งโดยได้อานิสงส์ถึงราว 50,000 คนจาก127 หมู่บ้านใน 3 จังหวัด ทั้งยังทำให้เกิดการประมง การท่องเที่ยว เขื่อนจึงจะทำให้ทั้งมนุษย์และสัตว์มีชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีขึ้น 
การใด ๆ ก็ย่อมมีทั้งข้อดีและเสีย ดังนั้นสาธารณชนจึงพึงชั่งใจให้ดีโดยปราศจากมายาคติ

::: เนื่องจากผู้เขียนอ้างถึง EIA ซึ่งส่วนตัวไม่มีโอกาสได้อ่านรายละเอียด ว่าข้อเท็จจริงทางคณะผู้ศึกษา วิธีการศึกษา และผลการศึกษาได้ผลเป็นอย่างไร จึงยากที่จะวิจารณ์ อีกทั้งโครงการนี้ยังไม่ได้เริ่ม ข้อมูลดังกล่าวเป็นแค่การประเมิน และข้อคิดเห็นของบางบุคคล การอ้างว่ามีข้อดีต่อมนุษย์อาจจะพอฟังขึ้นในบางประเด็น แต่อ้างว่าเป็นประโยชน์กับสัตว์ ป่าและป่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้นนี่ ฟังไม่ขึ้นครับ ตรรกะวิบัติ แน่นอนครับ

::: ที่กล่าวกันว่า “หากมีการสร้างเขื่อน แล้วทำให้ป่าชุ่มชื้นมากขึ้น” ขอให้ผู้เขียนบทความทดลองเอาไฮโกรมิเตอร์ไปวัดในพื้นที่ริมคลองธรรมชาติ กับพื้นที่ริมเขื่อนติดตามตลอดทั้งปีดูนะครับ ว่าพื้นที่ใดมีความชุ่มชื้นกว่ากัน (จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ) สังเกตนะครับว่า พื้นที่คลองหรือลำธารธรรมชาติ มักถูกปกคลุมด้วยต้นไม้ริมคลอง รวมถึงการไหลของกระแสน้ำ น้ำในคลองธรรมชาติจึงค่อนข้างเย็น แต่บางบริเวณอาจจะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง มีลานหิน แอ่งน้ำบริเวณนั้นอาจจะอุ่น ซึ่งจะเห็นว่ามันมีแหล่งอาศัยเยอะ  นี่เป็นส่วนสำคัญทำให้พื้นที่ตรงนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เนื่องจากมี Habitat heterogeneity สูง  และแม้ลำธารธรรมชาติจะดูว่ามีปริมาณน้ำน้อย แต่ความจริงแล้ว น้ำบางส่วนจะถูกเก็บไว้ในระบบน้ำใต้ดิน ในขณะที่เขื่อนเป็นอีกแบบมีปริมาณน้ำผิวดินมากก็จริง แต่กรณีที่บอกว่าเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่าอาจจะไม่เป็นความจริง ในเวลากลางวัน บางครั้งเวลาที่แสงอาทิตย์ ทำมุมกับผิวน้ำของทะเลสาบเหนือเขื่อน เสมือนหนึ่งว่าผิวน้ำเป็นกระจกบานใหญ่ ทำให้แสงตกกระทบ กระเจิงกระจายไปยังพื้นที่รอบข้าง อาจจะเป็นสาเหตุทำให้ พื้นที่รอบๆ เขื่อนอาจจะแห้งแล้งกว่าปกติด้วยซ้ำไป อีกสาเหตุหนึ่งหลังจากมีเขื่อน หรือแม้กระทั่งอ่างเก็บน้ำก็ตาม ทำให้เรานึกถึงทฤษฎีการเกิดลม ในเวลากลางวัน อุณหภูมิที่ผิวน้ำ กับอุณหภูมิบริเวณข้างเคียงมีความแตกต่างกัน โดยอากาศร้อนจึงลอยตัวสูงขึ้น อากาศที่อุณหภูมิ ต่ำกว่าบริเวณข้างเคียง จะเคลื่อนที่เข้าแทนที่ การเคลื่อนที่ของอากาศ เนื่องจากสองแห่งมี อุณหภูมิต่างกันทำให้เกิดลม การเกิดลม แน่นอนว่าสัมพันธ์กับการพัดพาเอาความชื้นจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งด้วย ที่ผมแย้งนี้ เนื่องจากคิดว่าข้อความที่อ้างไม่น่าจะถูกต้อง แต่ประเด็นสำคัญจริง ๆ กลับไม่ใช่เรื่องนี้ สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงยัดเยียดบางสิ่งให้กับธรรมชาติ ซึ่งเปรียบเหมือนการข่มขืนธรรมชาตินั่นเอง ตรงนี้ไม่น่าจะอ้างว่าเป็นข้อดีของการสร้างเขื่อน แต่หากคุณจะอ้างว่ามีข้อดีต่อมนุษย์ อย่างไรบ้างจะพอฟังขึ้นมากกว่า

::: ในความเป็นจริง ต่อให้ไม่มีเขื่อน แม้หน้าแล้งพื้นที่ส่วนใหญ่จะค่อนข้างแล้งจริง แต่สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในป่านั้นมีวิวัฒนาการปรับตัวกับสภาพธรรมชาติตรงนั้นอยู่แล้ว อีกทั้งธรรมชาติจะมีการกักเก็บน้ำในรูประบบน้ำใต้ดิน ซึ่งดูผิวเผินเหมือนกับว่าพื้นที่ตรงนั้นแล้ง แต่อาจจะแห้งแค่ผิวดิน หากเราเจาะดินลงไป เราจะเจอน้ำใต้ดินในระดับที่ลึกต่างๆ กันไปนะครับ 

::: พื้นที่ธรรมชาติหลายแห่ง มีสภาวะแห้งแล้งที่อาจจะเกิดจาก ตำแหน่งที่ตั้งของพื้นที่ เขตภูมิอากาศ หรือลักษณะสภาพหิน ดินที่ไม่อุ้มน้ำ ดังนั้นพื้นที่บริเวณนั้นจึงมีความแห้งแล้ง ธรรมชาติหลายแห่งเป็นแบบนั้น สัตว์ป่า พืชป่าที่ขึ้นในพื้นที่บริเวณนั้นต่างก็ผ่านวิวัฒนาการ มีการปรับตัวมาอย่างยาวนาน ซึ่งธรรมชาติก็อยู่กันได้ ไม่จำเป็นต้องให้มนุษย์เราไปช่วยเหลือ คนป่าในแอฟริกาที่อยู่ในเขตพื้นที่แห้งแล้ง เขาก็มีชีวิตอยู่กันได้มาตั้งนาน ซึ่งความจริงพื้นที่แห้งแล้งไม่ใช่เป็นตัวแทนของความเสื่อมโทรม ขณะเดียวกันในเขตพื้นที่ฝนตกชุก พืชพรรณสัตว์ป่าที่พบก็ต่างไปจากพื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง เพราะนี่คือธรรมชาติของมัน

::: ข้อดีข้อเสียมองได้ทั้งสองด้าน แต่ประเด็นสำคัญคือทำแล้วคุ้มค่าหรือไม่ แก้ไขปัญหาตามที่โฆษณาไว้ได้จริงหรือไม่ 

::: บทความนี้ชัดเจนตรงกับคำว่ามายาคติ เพราะเป็นการสื่อสารเพื่อบอกว่าเป็นความจริง แต่ไม่อาจยืนยันว่าจริงหรือพิสูจน์ได้ นอกจากนี้ในการเขียนบทความใดๆ ผู้เขียนควรระวังเรื่องเหตุผลวิบัติด้วย 

สุดท้ายขอบคุณสำหรับความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้เสีย

ความเห็นที่ 8

บอกตามตรงว่าเสียดายมากถ้าน้ำมาท่วม ประเทศด้อยพัฒนาพยายามจะเอาน้ำไปท่วมป่า เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง และประชาชนปริมาณน้อยนิด ในขณะประเทศพัฒนาแล้วพยายามปลูกป่า หลีกเลี่ยงเขื่อน เพื่อประชาชนส่วนใหญ่

ความเห็นที่ 9

ขอบคุณ คุณNOTE สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมครับ หลายจุดน่าสนใจมากครับ ขอบคุณครับ

ความเห็นที่ 10

ขอบคุณที่เก็บข้อมูลเหล่านี้มาฝาก เพราะโอกาสที่คนทำงานบริษัทจะเข้าสัมผัสหายากมากค่ะ และทำให้เราหรือคนที่มาเห็นข้อมูลนี้ได้รับรู้เรื่องราวในหลายแง่มุม และยังทำให้รู้ว่า ป่าบ้านเรายังมีที่ที่สมบูรณ์อยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจค่ะ

ความเห็นที่ 11

ผมได้รับคำเชิญชวนให้ตอบข้อความหรือข้อสงสัยของ คุณโสภณ ในเฟสของเขาที่ลิ้งค์มาถึงผม อยากดูก็ไปดูได้นะครับ ไม่ใช่เป็นการให้เครดิตกับแกนะครับ เพราะแกให้ผมตอบ แต่ผมโดนบล๊อก พอเขียนไปถึงยอมปลดบล็อกให้ผม ลองไปดูนะครับ ยังมีอีกหลายข้อที่ผมยังไม่ได้ตอบ เดี๋ยวจะทยอย(โต้)ตอบแก จะได้รู้ว่าใครหลอกใคร

ความเห็นที่ 12

http://www.facebook.com/noppadol.sukkasem#!/dr.sopon4/posts/458162644296327?comment_id=2365488&offset=0&total_comments=23&notif_t=feed_com
ment_reply
 เดี๋ยวจะเสียเวลาหาเอามาให้ดูครับ กำลังหาเวลาตอบท่าน ด้อกอยู่

ความเห็นที่ 13

http://www.facebook.com/noppadol.sukkasem#!/dr.sopon4/posts/458162644296327?comment_id=2365488&offset=0&total_comments=50&notif_t=feed_comment_reply พึงตอบวันนี้ครับ ท่านด็อก....ครับ ตอบโต้ได้เต๊มที่นะครับ ผมเปิดใจและก็เปิดกระโหลกด้วยนะครับ

ความเห็นที่ 14

ขอบคุณครับ คุณนณณ์ ว่าจะตอบในเฟสแต่โดนบล๊อกอีกแล้วครับผม