ลาก่อน ดอนสะโฮง

เรื่อง : ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์

ดอนสะโฮง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศลาว บนดินแดนที่ถูกเรียกว่า สี่พันดอน ตรงนี้เป็นจุดที่แผนดินเกิดการยุบตัวอย่างรุนแรง ทำให้แม่น้ำโขงที่ไหลมาเพียงเส้นเดียวแตกกระเซ็นกระสายเป็นแม่น้ำสายเล็กสายน้อย เกิดเป็นน้ำตกขนาดน้อยใหญ่มากมาย สายน้ำเหล่านี้ก่อให้เกิดเกาะแก่งนับพัน จนกลายเป็นชื่อ “สี่พันดอน” ในที่สุดน้ำโขงในช่วงนี้พอจะแบ่งได้เป็น 4 สายหลัก สายหลีผี อยู่ทางตะวันตกที่สุด ตามมาด้วย ฮูช้างเผือก ฮูสะโฮง และ คอนพะเพ็ง หลีผีและคอนพะเพ็งมีน้ำตกขนาดใหญ่มากกั้นอยู่ในขณะที่ฮูช้างเผือกเต็มไปด้วยแก่งชันและก้อนหินขนาดใหญ่ทำให้ปลาอพยพผ่านทั้งสามช่องทางนี้ได้ยากมาก จะมีก็แต่ฮูสะโฮงเพียงช่องเดียว ที่ค่อยๆไหลลดระดับลงมาเรื่อยๆไม่มีแก่งหรือน้ำตกใหญ่เลย

ด้วยเหตุนี้ ฮูสะโฮง จึงเป็นช่องทางหลักที่ปลาน้อยใหญ่ใช้อพยพผ่านสี่พันดอน ทั้งปลาสร้อยตัวน้อยและยักษ์ใหญ่อย่างปลาบึกก็ต้องอพยพผ่านเส้นนี้ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่น้ำจะลดลงมากช่องทางอื่นๆน้ำจะไหลเชี่ยวกรากเหลือเกิน มีแต่ฮูสะโฮงเพียงแห่งเดียวที่ปลาใช้ผ่านขึ้นไปได้

การอพยพของปลา พอจะแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือการอพยพไปตามลำน้ำทั้งขึ้นและลงและการอพยพออกไปด้านข้างของลำน้ำในฤดูที่น้ำท่วมหลาก ปลาบางชนิดใช้ทั้งสองแบบตามแต่ฤดูกาล ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มปลาสร้อยขาวและปลาสร้อยปากแหลม ทั้งสองชนิดนี้เป็นกลุ่มปลาที่มีจำนวนและน้ำหนักมากที่สุดในลำน้ำโขง ยกตัวอย่างเช่นในทะเลสาบเขมรปลาทั้งสองชนิดคิดรวมเป็นถึงเกือบร้อยละ 70 ของน้ำหนักปลาที่จับได้ทั้งหมดในบางท้องที่/ฤดูกาล

ปลาสร้อยทั้งสองชนิดเป็นปลาที่กินพืชและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เกาะติดหรือล่องลอยในกระแสน้ำเป็นอาหาร ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพง่ายขึ้นกับระบบนิเวศบนบกก็พอจะเปรียบได้กับเก้ง กวาง ที่แปลงพืชเป็นโปรตีน เพื่อให้สัตว์ผู้ล่าได้ใช้ประโยชน์อีกทีหนึ่ง ชาวประมงในลุ่มน้ำโขงสังเกตว่ากลุ่มปลาพวกนี้จะเป็นกลุ่มที่อพยพนำขึ้นไปก่อนโดยจะมีกลุ่มปลาล่าเหยื่อ เช่น ปลาเทพา และ กลุ่มปลาเนื้ออ่อน ตามไปด้วย

จากการศึกษาเราพบว่าหลังจากที่หากินและเติบโตอยู่ในทะเลสาบเขมรในฤดูน้ำหลาก ปลาสร้อยทั้งสองชนิดจะค่อยๆว่ายทวนน้ำขึ้นไปเรื่อยในฤดูแล้งระหว่างทางมันจะตกเป็นอาหารของสัตว์ผู้ล่ามากมาย รวมทั้งสัตว์ที่หายากมาก เช่น ตะพาบหัวกบ กระเบนราหู ปลาโลมาหัวบาตรน้ำจืด ที่ในปัจจุบันเหลืออยู่น้อยเหลือเกินแล้ว รวมไปถึงชาวประมง พอถึงเขตสี่พันดอน มันจะไม่มีช่องทางอื่นที่ไปได้เลยนอกจากฮูสะโฮง ปลากลุ่มนี้จะอพยพขึ้นไปจนถึงจังหวัดนครพนมและจังหวัดเลยของประเทศไทย นักวิชาการคาดการณ์ว่าพวกมันน่าจะวางไข่กันแถวนั้นในช่วงฤดูน้ำหลากก่อนที่จะอพยพกลับ พ่อแม่ก็ว่ายน้ำกลับไป ส่วนลูกๆที่ยังเป็นปลาตัวน้อย ก็ค่อยๆไหลตามกระแสน้ำไปเรื่อย ไปเติบโตใต้คอนพะเพ็งไปอีกอาจจะไหลเข้าไปถึงทะเลสาบเขมร ก่อนที่จะว่ายน้ำกลับขึ้นมาอีกครั้งเมื่อถึงวัย

ปลาในกลุ่มนี้จึงเปรียบเสมือนสายพานที่ลำเลียงเอาความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงจากประเทศเขมร สู่ประเทศลาวและไทย กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ โดยมีช่องทางสำคัญที่สุดช่องทางหนึ่งอยู่ที่ฮูสะโฮง ด้วยความที่มีจำนวนมาก เป็นทั้งสัตว์ที่ควบคุมปริมาณอาหารของมันเองและเป็นอาหารให้กับสัตว์น้ำอีกมากมาย มีการเปรียบเทียบทางนิเวศวิทยาให้ปลาสร้อยทั้งสองชนิดเป็น “ชนิดเสาหลัก” หรือ “Keystone species” ของลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวคือเป็นชนิดที่ถ้าหากระบบนิเวศขาดไปแล้ว ก็เหมือนบ้านที่ขาดเสาหลัก จะล้มพังครืนลงมาได้ตลอดเวลา

ผมเกริ่นมายาวมากเพื่อที่จะเข้าเรื่อง ว่าขณะนี้ทางการของประเทศลาวได้มีการอนุมัติให้สร้างเขื่อนปิดกั้นฮูสะโฮง ไปแล้ว และกำลังจะมีการก่อสร้างเร็วๆนี้แล้ว เขื่อนแห่งนี้จะทำการขุดลอกและปรับเปลี่ยนร่องน้ำในฮูสะโฮง ก่อนที่จะสร้างผนังกั้นน้ำบนแผ่นดินทั้งสองฝั่งของร่องน้ำเป็นลักษณะคล้ายๆตัว V เพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มแรงดันให้กับน้ำก่อนที่จะสร้างเขื่อนดักอยู่ที่ปลายสุดของกำแพงทั้งสองฝั่ง นั่นหมายความว่าปลาจะไม่สามารถอพยพผ่านฮูสะโฮงได้อีกแล้วไปตลอดกาล

โครงการอ้างไว้ใน EIA ว่าจะทำการขุดลอกและปรับปรุงฮูช้างเผือกและฮูสะดำ(ทางน้ำขนาดเล็กอยู่ใกล้กับฮูสะโฮง) ให้ปลาสามารถผ่านไปได้โดยการขุดลอก ระเบิดหิน และ ถม ในบางส่วนซึ่งในกระดาษนั้นสามารถทำได้ แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถที่จะขุดลอกถมหรือทำการใดๆกับท้องน้ำในพื้นที่น้ำไหลแรงมากๆแล้วหวังว่ามันจะอยู่เช่นนั้นเป็นการถาวร น้ำไหลมีแรงมหาศาล(นักสร้างเขื่อนพลังงานน้ำย่อมรู้ดี) ธรรมชาติใช้เวลาหลายล้านปีที่จะหาสมดุลของร่องน้ำ (Bed stability) นั้นๆได้ ไม่นับรวมว่าการไหลของน้ำจะเปลี่ยนไปเช่นไรหลังการสร้างเขื่อน ปริมาณและการกระจายจะแตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างไร?

เราไม่สามารถยอมรับการสร้างปัญหาแล้วไปแก้ปัญหาแบบลุ้นเอาข้างหน้าเช่นนี้ได้ เมื่อมีระบบนิเวศของลุ่มแม่น้ำโขงที่คนกว่า 60 ล้านคนต้องพึ่งพาเป็นเดิมพัน

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเขื่อนดอนสะโฮง

1. Mega First Corporation Berhad เจ้าของโครงการเขื่อนดอนสะโฮง​ เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศมาเลเซีย มีกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินอยู่ในประเทศจีน โรงปูนซิเมนท์และอสังหาริมทรัพย์ในประเทศมาเลเซีย ปีที่แล้วมีรายได้รวมประมาณ 6,300​ ล้านบาท กำไรประมาณ 1,300 ล้านบาท
2. กำลังการผลิตติดตั้ง 270 เมกกะวัตต์ของเขื่อน ยังไม่มั่นใจว่าจะเอาไฟฟ้าไปขายให้ใครเนื่องจากในพื้นที่มีการใช้ไฟฟ้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมืองที่ใกล้ที่สุดคือเมืองสตรึงเตร็งในประเทศเขมรห่างออกไปประมาณ 70 กม. ก็มีการใช้ไฟฟ้าไม่มากนัก ส่วนเมืองที่ใกล้ที่สุดของประเทศไทยคืออุบลราชธานีอยู่ห่างออกไปประมาณ 250 กม. ยังไม่มีสายไฟส่งเชื่อมถึงกัน
3. การสร้างเขื่อนจะทำการขุดทรายและกรวดจากแม่น้ำโขงในส่วนอื่นๆมาสร้างแนวกำแพงคอนกรีตซึ่งจะทำให้ทิศทางการไหลของน้ำ การกัดเซาะตลิ่ง​และ การตกตะกอนต่างๆในลำน้ำโขงเปลี่ยนแปลงไป การทำลายหาดทรายยังเป็นการทำลายถิ่นอาศัยของตะพาบหัวกบตะพาบขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลกที่ใกล้สูญพันธุ์
4. การศึกษา DNA ของปลาในแม่น้ำโขงบางชนิดเช่น ปลาสร้อยขาว และปลาบึก พบว่าประชากรที่พบทางตอนกลาง เช่น ในเขตประเทศไทยในจังหวัดเชียงรายและเลย กับประชากรที่พบในทะเลสาบเขมรหรือปากแม่น้ำในเขตประเทศเวียตนามเป็นประชากรเดียวกัน ซึ่งหมายความว่าปลาเหล่านี้มีการอพยพข้ามพื้นที่สี่พันดอนอย่างแน่นอน
5. การศึกษา EIA ให้ความเห็นว่าโครงการขุดลอกสร้างทางอพยพใหม่ให้กับปลาจะประสบความสำเร็จ จึงไม่มีการศึกษาผลกระทบของประชากรปลาและผลกระทบต่อชาวประมงในเขตอื่นๆทั้งในประเทศเขมร เวียตนาม ลาว และ ไทย คิดแต่เพียงครอบครัวในพื้นที่เพียง 70 กว่าเรือนเท่านั้น
6. ประเทศลาวเป็นประเทศที่มีอัตราเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบขาดสารอาหารมากเกือบ 40% ซึ่งปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญที่สุดของประชากรลาวที่อาศัยอยู่สองฝั่งโขง

อ่านเพิ่มเติม
1. เขื่อนในมุมมองความมั่นคงทางอาหาร
2. จดหมายเหตุ: ตะพาบหัวกบ ก่อนจะเหลือเพียงความทรงจำ
3. 14 ตัวเลขน่าสนใจ กรณี 12 เขื่อนแม่โขงตอนล่าง
4. เขื่อนไซยะบุรี และอีก 14 พี่น้อง เมื่อคนไทยเห็นแก่ตัว?

อ้างอิง
1. EIA เขื่อนดอนสะโฮง
2. THE DON SAHONG DAM Potential Impacts on Regional Fish Migrations, Livelihoods, and Human Health

ขอขอบคุณ
คุณพี่อ้อย พี่เพชร คุณไผ่

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

เมื่อไหร่การพัฒนา(ทำลายสิ่งแวดล้อม) จะหยุดลงสักที ลาวอีกหน่อยก็คงไม่ต่างจากไทย คนที่อยู่กับธรรมชาติก็คงหากินไม่ได้  เพราะแหล่งอาหารของเขาถูกทำลาย และถูกบีบเข้ามาในเมือง