ตอบดร.โสภณ (รอบที่ 3) กรณีอนุรักษ์เสือในกรงและความเข้าใจคลาดเคลื่อนอื่นๆเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์และเรื่องอื่นๆเกี่ยวกับเขื่อนที่ท่านเข้าใจผิด

โดย ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
2 ธันวาคม 2557

เนื่องจากดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้เขียนบทความเรื่อง อเมริกา ญี่ปุ่น จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ในบทความดังกล่าวมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงและหลักวิชาการหลายจุด ข้าพเจ้าจึงเขียนบทความเพื่อชี้แจงดังนี้
 
1.         ใครเตะถ่วงการสร้างเขื่อนแม่วงก์?
 
ถ้าดูจากประวัติของเขื่อน ก็จะพบว่า NGO ไม่ได้เป็นผู้เตะถ่วง NGO ไม่มีอำนาจอยู่แล้ว แต่ตัวโครงการเองต่างหากที่ไม่เคยผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น
ปี 2537 นั้นก็ถูกสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สั่งให้ไปศึกษาทางเลือกที่เขาชนกัน ซึ่งคุ้มค่าการลงทุนมากกว่า
ปี  2545 สผ.ไม่เห็นชอบกับโครงการและให้ไปศึกษาทางเลือกในการจัดการน้ำ
ปี 2557 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการสร้างเขื่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
 
จะเห็นว่าเป็นเรื่องของตัวโครงการเองที่ไม่ผ่านการพิจารณา มิได้เกี่ยวข้องกับ NGO แต่อย่างใด


 
2.         เราอนุรักษ์เสือทำไม? 
 
บทความนี้และที่เคยลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ของดร.โสภณ เข้าใจว่าเราแค่ต้องการให้เสือมีชีวิตอยู่ ปล่อยอยู่ในสวนสัตว์ เลี้ยงอยู่ในกรงอายุยืนกว่าด้วยซ้ำ ดังนั้นไม่ต้องมีป่าให้เสืออยู่ก็ได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจถึงเจตนาในการ “อนุรักษ์เสือ” ที่ผิด การอนุรักษ์เสือของนักอนุรักษ์นั้น คือการใช้เสือเป็น “Umbrella species” หรือสัตว์ที่เป็นตัวแทนในการอนุรักษ์ระบบนิเวศครอบคลุมทั้งหมด เนื่องจากเสือเป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร การอนุรักษ์เสือให้ได้ จึงเป็นการอนุรักษ์ทุกสิ่งอย่างที่อยู่ใต้เสือลงมา ทั้งป่าและทุ่งหญ้าที่สมบูรณ์ สัตว์กินพืช เล็กใหญ่ ซึ่งเป็นอาหารของเสือ การที่เสืออยู่ได้ หรือเพิ่มจำนวนขึ้นในป่า จึงเป็นเสมือนเครื่องยืนยันของความสำเร็จในการอนุรักษ์ระบบนิเวศทั้งระบบ มิใช่แค่ต้องการแต่อนุรักษ์ให้เสือยังมีชีวิตอยู่ในโลกเท่านั้น
 
การอ้างอิงเรื่องพื้นที่ๆเสือใช้ว่าทั้งกทม.เสือก็อยู่ได้แค่ 16 ตัวนั้นก็ไม่ถูกต้องนัก การที่เสือในไทยต้องใช้สถานที่กว้างในการหากิน เนื่องจากการถูกรบกวน ล่าในอดีต(และปัจจุบัน)ทำให้จำนวนของทั้งเสือและสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และอีกส่วนคือพื้นที่ๆเราเหลืออยู่ในเขตอนุรักษ์ส่วนใหญ่นั้นเป็นเขาสูงชัน มีความเหมาะสมปานกลางที่จะเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์กินพืชขนาดใหญ่และเสือ จะเห็นว่าในสภาพป่าที่สมบูรณ์และมีการอนุรักษ์ที่ดีเช่นเขตอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศอินเดียนั้น เสือสามารถอาศัยอยู่ได้เป็นจำนวนค่อนข้างหนาแน่น เช่นที่ Bandipur-Nagarhole Wildlife Sanctuary นั้นเสืออยู่กันหนาแน่นถึง 1 ตัว/8 ตรกม. (เทียบกับของไทยตอนนี้อยู่ที่ 1 ตัว/100 ตร.กม. ตามที่บทความอ้างถึง) ปัจจัยจำกัดของจำนวนเสือตามธรรมชาตินั้นคืออาหาร ยิ่งมีสัตว์กินพืชที่เป็นเหยื่อมากเสือก็ยิ่งมากไปด้วย จึงจะเห็นว่า ความหนาแน่นของเสือนั้นเป็นดัชนีวัดความหนาแน่นของเหยื่อ ซึ่งหมายถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ การมีเสืออยู่ 1 ตัว ไม่ได้หมายความว่าเรายกป่าจำนวน 100 ตร.กม. ให้เสืออยู่ตัวเดียว แต่มันหมายถึงว่าในพื้นที่นั้นๆมีสัตว์อื่นๆอยู่ด้วย 
 
ทั้งนี้การกล่าวอ้างว่าเสือที่พบในอช.แม่วงก์อยู่ห่างจากจุดสร้างเขื่อนนั้น ก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ถ้าดูตามแผนที่ด้านล่าง จะเห็นว่ามีจุดสีฟ้าถึง 2 จุดซึ่งแสดงว่าพบเสือโคร่งใกล้กับพื้นที่ๆจะถูกน้ำท่วมมาก มิได้อยู่ตามเขาสูงตามที่ดร.โสภณกล่าวอ้างแต่อย่างใด

 
บรรยายภาพ : พื้นที่แหว่งๆตรงกลางขวาของภาพคือ พื้นที่โครงการเขื่อนแม่วงก์จะเห็นว่ามีจุดสีฟ้าสองจุดที่อยู่ห่างไปไม่มากนัก (ที่มาของภาพ WWF Thailand)

จึงกลับมาที่ความสำคัญของผืนป่าบริเวณที่จะถูกน้ำท่วมถ้าหากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ว่ามีความสำคัญกับการอนุรักษ์อย่างไร ผืนป่าบริเวณนี้มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆในเขตอช.แม่วงก์ตรงที่
1.         เป็นป่าพื้นที่ราบ ซึ่งสัตว์สามารถหากินและอาศัยได้อย่างสะดวก ในขณะที่พื้นที่ส่วนอื่นๆที่เหลือเป็นพื้นที่ภูเขาเกือบทั้งสิ้น
2.         มีน้ำไหล มีแหล่งน้ำตลอดปี
3.         มีป่าหญ้าชายน้ำ ซึ่งเป็นอาหารที่ดีของสัตว์กินพืชต่างๆ
4.         มีเกาะแก่งและหาดทราย ซึ่งเป็นที่อยู่ที่ดีของนกยูงและนาก
5.         เป็นป่าเต็ง-รัง และป่าเบญจพรรณ ลักษณะของพื้นที่จะมีต้นไม้ขึ้นห่างๆไม่รกทึบนัก เปิดโอกาสให้หญ้าและพืชขนาดเล็กที่ขึ้นอยู่กับพื้นได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่ จึงเป็นแหล่งอาหารที่ดีของสัตว์กินพืชต่างๆ (ตามทฤษฏีแล้ว ป่ายิ่งทึบชีวมวลของสัตว์ขนาดใหญ่ที่หากินอยู่ที่พื้นดินจะยิ่งน้อย เนื่องจากชีวมวลของพืชซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของระบบนิเวศจะอยู่ที่ระดับเรือนยอดเป็นส่วนใหญ่สัตว์ที่หากินอยู่กับพื้นไม่สามารถเข้าถึงได้ จะเห็นว่าพื้นที่ๆมีสัตว์บกอาศัยอยู่เยอะๆ มีชีวมวลสูงๆมักจะเป็นระบบที่เปิดโล่ง เช่นทุ่งหญ้าซาวันน่าในแอฟริกา หรือ ในอเมริกาเหนือ เป็นต้น)
 
จากการสำรวจพื้นที่ ในปัจจุบันพบว่าป่าบริเวณที่จะถูกน้ำท่วมนั้นมีสัตว์กินพืชอาศัยหากินอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนเสือโคร่งแม่ลูกที่ทาง WWF ถ่าย VDO ไว้ได้นั้นก็พบห่างจากจุดที่น้ำจะท่วมเพียง 10 กม. (ไม่ได้อยู่บนเขาไกลอะไรมากมายตามที่ดร.โสภณให้ข้อมูล) การที่เสือจะเข้ามาหากินในพื้นที่บริเวณที่จะถูกน้ำท่วมหรือไม่ จึงอยู่ที่เงื่อนเวลามากกว่า แต่ในอีกทางหนึ่งการที่เสือจะลงมาหรือไม่นั้น ก็มิใช่เนื้อหาสำคัญในการอนุรักษ์ เนื่องจากพื้นที่ราบริมน้ำนั้นมีส่วนสำคัญในการเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์กินพืชซึ่งเป็นอาหารของเสืออยู่แล้ว เมื่อสัตว์มีมากขึ้นก็จะกระจายตัวออกไปเป็นอาหารของเสือต่อไปอยู่ดี

ส่วนเรื่องถ้าป่ามีเสือ เสือต้องออกมากินคนนั้น ก็ขอเรียนว่าโดยธรรมชาติของสัตว์ทุกชนิดนั้นกลัวคนอยู่แล้ว และในป่าก็มีอาหารเพียงพออยู่แล้ว เสือจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาจากป่าเพื่อมากินคนแต่อย่างใด อันนี้ขอยกตัวอย่างเช่นที่ อช.แก่งกระจาน ซึ่งมีคนถ่ายภาพเสือโคร่งและเสือดาวได้บ่อยครั้งก็มีนักท่องเที่ยวมากมาย อช.แม่วงก์เอง บริเวณช่องเย็น ซึ่งเจ้าหน้าที่เคยถ่ายภาพเสือโคร่งได้ก็มีคนขึ้นไปเที่ยวเยอะแยะ หรือ แม้แต่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ซึ่งมีบ้านชาวบ้านอยู่หลายหมู่บ้าน ก็สามารถอยู่กันได้ โดยไม่ถูกรบกวนจากเสือแต่อย่างใด ทั้งนี้ถ้าเสือเยอะจริงๆ อย่างในประเทศอินเดีย ก็มีรายงานว่าออกมารบกวนชาวบ้านเหมือนกัน แต่เชื่อว่าป่าตะวันตกของไทยใหญ่พอให้เสืออยู่ได้อีกหลายตัว โดยไม่ต้องเบียดเบียนซึ่งกันและกันครับ 


ภาพประกอบ น่ารักดีจาก http://biomehonorsproject.yolasite.com/energy-flows.php

3.        เขื่อนเป็นปราการป้องกันการล่าสัตว์จริงหรือ?
 
ผมเคยได้ยินแต่บอกว่าเขื่อนกลายเป็นเส้นทางให้คนเข้าป่าไปล่าสัตว์ได้ง่ายขึ้น ยังไม่เคยเห็นรายงานใดๆที่ระบุว่าเขื่อนเป็นปราการป้องกันครับ ยกตัวอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ซึ่งอยู่ขอบอ่างเขื่อนรัชชประภา ก็ติด 1 ใน 3 ของพื้นที่อนุรักษ์ที่มีการล่าสัตว์มากที่สุด ลองค้นข้อมูลดูก็จะพบว่ามีข่าวจับกุมผู้ลักลอบสัตว์ป่าจากพื้นที่ดังกล่าวได้บ่อยครั้ง เช่น 1. สุราษฎร์ฯจับขบวนลักลอบล่าสัตว์ป่า 2. รวบนายพรานล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง 3. สุราษฎร์ฯ จับ 2 ชาวบ้านลอบล่าสัตว์ป่าอุทยานฯเขาสก  นอกจากนั้นถ้ามาดูสถิติจากกรมอุทยานฯอย่างละเอียดก็จะพบว่า เขตอนุรักษ์ 3 อันดับต้นที่มีสถิติถูกล่าสัตว์มากที่สุดล้วนอยู่ติดอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนทั้งสิ้น คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา ซึ่งติดกับอ่างเก็บน้ำแม่มาน เขครักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ซึ่งติดกับเขื่อนรัชชประภา จึงพอสรุปได้ว่าเขื่อนเป็นเส้นทางในการล่าสัตว์มากกว่าเป็น “ปราการ” ตามที่ท่านดร.โสภณ กล่าวอ้าง


อ้างอิง : สถานการณ์ป่าไม้ไทย พุทธศักราช 2556
 
4.         นกยูงปล่อย สัตว์ปล่อย ในพื้นที่อช.แม่วงก์ ไร้ค่า? 
 
การอนุรักษ์นั้นพอจะแบ่งได้เป็น 2 แบบคือการอนุรักษ์ในพื้นที่ คือการอนุรักษ์ป่าและพื้นที่ธรรมชาติให้สัตว์ได้อยู่อาศัย และการอนุรักษ์นอกพื้นที่ คือการนำสัตว์มาเลี้ยงในสวนสัตว์/สถานีเพาะเลี้ยง เพื่อการขยายพันธุ์ จากนั้น สิ่งที่วงการอนุรักษ์ถือเป็นจุดสำคัญ คือเมื่อเพิ่มจำนวนในที่เลี้ยงเพียงพอแล้ว ก็จะมีการนำไปปล่อยคืนในธรรมชาติ (Re-introduction)ซึ่งอาจจะเคยมีสัตว์ชนิดนั้นๆอยู่แต่หมดไปแล้ว วิธีการนี้เป็นการอนุรักษ์ที่ทำกันทั่วโลก ในประเทศไทยก็มีการปล่อยคืนที่ประสบความสำเร็จเช่น การปล่อยเนื้อทราย ในพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ จนปัจจุบันเพิ่มจำนวนขึ้นจนถูกถอดออกจากบัญชีสัตว์สงวน หรือในปัจจุบันที่องค์การสวนสัตว์กำลังทำการปล่อยนกกระเรียนที่เพาะในที่เลี้ยง สู่ธรรมชาติที่จังหวัดบุรีรัมย์ ก็เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ สาระของนกยูงที่แก่งลานนกยูง บริเวณที่จะมีการสร้างเขื่อน จึงไม่ใช่ว่ามันเป็นนกยูง “ปล่อย” หรือไม่ แต่เป็นคำถามว่านกยูงเป็นพันธุ์ไทยแท้หรือเปล่า ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันว่าเป็นนกยูงสายพันธุ์ไทยแท้ และปัจจุบันก็สามารถอาศัยและสืบพันธุ์ในธรรมชาติได้แล้ว นับเป็นโครงการอนุรักษ์ปล่อยคืนพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จโครงการหนึ่ง  ถ้าดูข้อมูลใน Wikipediaก็จะเห็นว่ามีรายชื่อโครงการที่ประสบความสำเร็จมากมายในโลก


5.         บริเวณที่จะสร้างเขื่อนเป็นป่าที่ไม่สมบูรณ์?
 
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าป่าที่สมบูรณ์นั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นป่าที่ “รกชัฏ” เสมอไป ธรรมชาติของป่าแม่วงก์บริเวณที่จะมีการสร้างเขื่อนนั้นเป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ เป็นลักษณะของป่าที่มีต้นไม้ขึ้นห่างๆ มีหญ้าและไม้เล็กๆขึ้นด้านล่าง มีหญ้ามีพืชอาหารขึ้นอยู่กับพื้นดินให้สัตว์กินพืชได้กินมาก ป่าแบบนี้จะเขียวชอุ่มเฉพาะในฤดูฝน แต่ฤดูแล้งก็จะผลัดใบดูแห้งแล้ง เกิดไฟป่าตามธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดการแตกยอดใหม่ของหญ้าที่เป็นอาหารของสัตว์ต่อไป จะเห็นว่าในพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งก็มีการเผาทุ่งหญ้า เช่นกัน
 
ส่วนการกล่าวอ้างเรื่องป่าบริเวณนี้เคยเป็นหมู่บ้าน เคยมีการสัมปทานไม้มาก่อนนั้นเป็นเรื่องจริงที่พูดไม่หมด พื้นที่กว่า 13,000ไร่ที่จะถูกน้ำท่วมนั้น มีเพียงส่วนด้านหน้าส่วนเดียวที่เคยเป็นพื้นที่เกษตรมาก่อน พื้นที่ป่าด้านในที่น้ำจะท่วมถึงยังเป็นป่าดั้งเดิมที่มีความอุดสมบูรณ์มาก ส่วนป่าด้านนอกนั้น ได้มีการดูแลมาอย่างน้อย 30 ปีจนป่าฟื้นตัวแล้ว ต้นสักที่เคยถูกตัดไป งอกต้นใหม่ออกจากไหลเป็นต้นใหม่ที่โตและแข็งแรง ทั้งพื้นที่จึงถือเป็นป่าที่มีความสมบูรณ์ ไม่มีป่าเสื่อมโทรมแต่อย่างใด
 
ทั้งนี้สามารถชมภาพของป่าในบริเวณที่จะถูกสร้างเขื่อนได้ในบทความ Photo essayครับ


สภาพป่าด้านในบริเวณที่จะถูกน้ำท่วมยังคงเป็นป่าดั้งเดิมที่สมบูรณ์
 
6.         เขื่อนทำให้ป่ารอบข้างสมบูรณ์ขึ้นจริงหรือ??
 
มีการอ้างถึงหลายครั้งในบทความของดร.โสภณ ว่า “น้ำคือชีวิต” มีเขื่อนมีน้ำป่าจะสมบูรณ์ขึ้น จะเห็นว่าข้อความของดร.โสภณนั้นมีจุดที่เข้าใจผิดหลายจุด กล่าวคือ
6.1   จากการตรวจเอกสารของข้าพเจ้า ไม่พบว่ามีเขื่อนใดๆทำให้ป่ารอบข้างมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อย่างมาก เขื่อนก็ยกระดับน้ำใต้ดินให้สูงขึ้น อาจจะเพิ่มความชื้นในดินได้บ้าง ในบริเวณขอบๆ ซึ่งจริงๆแล้วก็อาจจะไม่ได้มีผลดีอะไรเพราะน้ำจะกักเต็มที่จนถึงชายป่าได้ก็เฉพาะในฤดูฝนซึ่งป่าได้รับน้ำอยู่แล้ว ส่วนในฤดูแล้งเขื่อนก็ต้องปล่อยน้ำออก ไม่ได้ช่วยป่ารอบๆแต่อย่างใด
6.2   การตัดป่าเพื่อสร้างเขื่อน จะเปิดพื้นที่โล่งตามชายขอบป่าซึ่งทำให้ป่าซึ่งโดยปรกติจะขึ้นติดต่อกันเป็นผืนกว้าง เกิดพื้นที่ชายขอบ (edge) ขึ้นเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ป่าบริเวณชายขอบนี้ถูกลมพายุต่างๆ ไอความร้อน คลื่นน้ำกัดเซาะตลิ่ง ทำลายพังเสียหายได้โดยง่าย เขื่อนจึงส่งผลกระทบทางลบต่อป่าโดยรอบ
6.3   เขื่อนทำให้ป่าที่เชื่อมต่อกัน ถูกตัดขาดออกจากกัน ยกตัวอย่างเช่นที่เขื่อนรัชชประภา ซึ่งดร.โสภณ ยกตัวอย่างหลายครั้งว่าทำให้ป่าสมบูรณ์ขึ้นนั้น จากการศึกษาพบว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตามเกาะต่างๆที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนสูญพันธุ์ไปหมดภายในช่วงระยะเวลาประมาณ 20ปีเท่านั้น นอกจากนั้นเขื่อนยังกีดขวางการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์ป่าอีกด้วย
6.4   ป่าที่ดีคือป่าที่รกชัฏ? เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ตามที่ได้เขียนไปแล้วว่า ป่าที่สมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นป่าที่รกเสมอไป ป่าโปร่งๆดูแห้งแล้งในฤดูร้อน อย่างป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ(ตามภาพใน EHIA ที่ดร.โสภณ นำมาใช้แล้วบอกว่าเป็นป่าไม่สมบูรณ์) ก็เป็นป่าที่สมบูรณ์ในรูปแบบหนึ่ง สัตว์หลายชนิด เช่น ละมั่ง นกหัวขวานหลายชนิด กระต่ายป่า ต้องอาศัยอยู่ในป่ารูปแบบนี้เท่านั้นด้วยซ้ำไป 
 
 
7.         มีเขื่อนมีน้ำให้สัตว์ป่าดื่ม/ใช้ ดีต่อสัตว์ป่า จริงหรือ?
 
ลำน้ำแม่วงก์เป็นลำน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปีอยู่แล้ว สัตว์ป่าในพื้นที่มีน้ำกินอยู่แล้ว การสร้างเขื่อนเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำจึงไม่ใช่สาระสำคัญที่จะเพิ่มหรือช่วยให้มีสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำไม่ใช่ปัจจัยกำจัดในพื้นที่ ในทางกลับกัน การสร้างเขื่อน จะก่อให้เกิดพื้นที่เปิดโล่งริมขอบอ่างเก็บน้ำในฤดูแล้ง ทำให้สัตว์หลายชนิดไม่กล้าที่จะออกมากินน้ำ หรืออาจะถูกล่าได้ง่ายขึ้น


 
8.        ธนาคารโลกสนับสนุนการสร้างเขื่อนจริงหรือ?

แต่ถ้าลองศึกษาดูจะพบว่า
8.1  ธนาคารโลกสนับสนุนเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศยากจนที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงไฟฟ้า ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเขื่อนแม่วงก์ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดเล็กที่จุดประสงค์หลักไม่ใช่การผลิตกระแสไฟฟ้า และในการก่อสร้างเฟซแรกไม่มีโรงไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบแต่อย่างใด
8.2  ธนาคารโลกมีระเบียบที่ชัดเจนว่าไม่สนับสนุนเขื่อนที่สร้างแล้วจะทำลายระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ตามกฏหมาย ซึ่งแม่วงก์เข้าข่ายทั้งหมด
8.3  ยังมีหลายองค์กรที่ออกมาต่อต้านความเชื่อของธนาคารโลกว่าเขื่อนเป็นการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อน เริ่มจากการทำลายป่าซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญ หลังจากนั้นซากพืชที่ตกทับถมอยู่ใต้เขื่อนหลังน้ำท่วม จะเกิดการหมักหมมจนเกิดเป็นก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เก็บความร้อนได้ดีกว่าคาร์ไดออกไซด์ถึง 20 เท่า ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเขื่อนบางเขื่อนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานฟอซซิลด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจว่าธนาคารโลก ก็เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งต้องมองหาโครงการเพื่อปล่อยกู้ และการปล่อยกู้โครงการเขื่อนขนาดใหญ่นั้นถือเป็นการ “ทำยอด” ที่มีต้นทุนในการจัดตั้งต่ำเมื่อเทียบกับโรงงานไฟฟ้าทางเลือกซึ่งมักจะมีขนาดเล็กกว่า ตามเอกสารที่หลุดรอดออกมาของธนาคารโลก


 
9.         พื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น
 
ผมอ้างถึงในบทความแรกที่เขียนตอบดร.โสภณว่าเป็นประเทศที่มีพื้นที่ป่าเหลืออยู่ถึง 60% ของประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 30% และได้ให้รายละเอียดต่อในบทความตอบดร.โสภณฉบับที่ 2ว่า ผมเปรียบเทียบประเทศไทย กับ ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากต่อพื้นที่ใช้สอยแล้วประเทศญี่ปุ่นสามารถสร้างรายได้ ได้มากกว่าประเทศไทยมากมายเหลือเกิน และได้ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาประเทศไทยต่อไป ควรที่จะหันมาพัฒนาการใช้พื้นที่ๆเรามีอยู่ให้เกิดประโยชน์เพิ่มพูนขึ้น ไม่ควรจะไปรบกวนตัดไม้ทำลายป่าอีก เนื่องจากเรามีพื้นที่ป่าเหลืออยู่น้อยเกินระดับที่เหมาะสมแล้ว การที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีภูเขามาก ที่ราบน้อย นั้นไม่ใช่สาระของเนื้อหาเลย เนื้อหาคือ “ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น เค้าใช้พื้นที่ต่อตารางเมตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าประเทศไทย เราจึงควรพัฒนาศักยภาพพื้นที่ๆเรามีอยู่ให้ดี ไม่ใช่ไปทำลายป่าที่เรามีเหลืออยู่น้อยเกินไปแล้ว”
 
10.   เขื่อน Taum Saukไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับเขื่อนแม่วงก์ได้
 
เขื่อนนี้เป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ในรัฐมิซซูรี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เขื่อนนี้สร้างตัวอ่างอยู่บนยอดเขา แล้วสร้างระบบปั๊มน้ำ โดยจะปั๊มน้ำขึ้นในตอนกลางคืนและปล่อยน้ำลงเพื่อสร้างไฟฟ้าในเวลากลางวัน ในความเป็นจริงแล้ว เขื่อน Taum Sauk เป็นเขื่อนที่ใช้พลังงานในการปั๊มน้ำกลับขึ้นเขามากกว่าที่ผลิตได้ด้วยซ้ำ แต่อาศัยว่าราคาที่ขายได้ในเวลากลางวันนั้นแพงกว่าค่าไฟฟ้าที่ใช้ปั๊มน้ำขึ้นในเวลากลางคืน ตัวเขื่อนจึงทำกำไรได้ แต่ทางด้านสิ่งแวดล้อมแล้วเขื่อนนี้ถือว่าติดลบ ซึ่งเขื่อนลักษณะนี้เป็นเขื่อนที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องหรือมาเปรียบเทียบอะไรกับเขื่อนแม่วงก์ได้เลย การตีเหมาว่า “เขื่อน” ก็คือเขื่อน เขื่อนอันนี้ดีได้รางวัล เขื่อนอื่นๆก็ดีไปหมด เป็นการมองที่หยาบและขาดรายละเอียดอย่างมากครับ


 
 
11.   NGO ทำไมไม่ไปประท้วงพวกตัดไม้ทำลายป่า?
 
อันนี้เห็นดร.โสภณและพวกใช้เป็นข้อ “แขว่ะ” NGO บ่อยครั้ง ซึ่งได้ชี้แจงไปหลายครั้งเช่นกันว่า
11.1  หน้าที่การบังคับใช้กฎหมาย การจับกุมผู้บุกรุกป่าเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐ ไม่ใช่หน้าที่ของ NGO
11.2   NGO ที่ทำงานด้านป่าและสัตว์ป่า เอาจริงๆแล้วมีอยู่ไม่กี่แห่ง งบประมาณก็จำกัด จะให้สร้างกองกำลังออกปราบปรามผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าคงเป็นไปไม่ได้และขัดต่อกฎหมาย
11.3  งานของ NGO ในปัจจุบัน นอกจากงาน “ตรวจสอบโครงการของภาครัฐ” หรือที่เรียกกันว่างาน “ค้าน” แล้ว งานในเชิงรุก ซึ่งช่วยรักษาป่าก็มีมากมาย เช่น โครงการ “จอมป่า” ของมูลนิธิสืบฯ ซึ่งเป็นงานอนุรักษ์ที่ทำร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ หรือ โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพและเทคนิคงานลาดตระเวนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าของWCS หรือ โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ของ WWF
 
 
12.   น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ที่ไหลออกสู่ทะเลเป็นน้ำที่ไหลทิ้งโดยเปล่าประโยชน์?
 
ลืมประโยคนี้กันไปหรือยังครับ? “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ในน้ำไม่ได้มีแต่ปลาด้วยซ้ำไปในน้ำมีระบบนิเวศ มีห่วงโซ่อาหาร มีปลาน้ำจืดอาศัยอยู่ในประเทศไทยกว่า 600 ชนิด ตั้งแต่ปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลกจนถึงปลาที่เกือบจะเล็กที่สุดในโลก ระบบนิเวศนั้นเองที่ค้ำจุนให้น้ำมีคุณภาพที่ดี ลองพัฒนาแบบไร้ทิศทางและไม่รู้จักรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศดู ก็จะพบว่าน้ำจะเน่าเสียเหมือนที่ประเทศเกาหลีในขณะเดียวกันน้ำที่ไหลออกสู่ทะเลก็ทำหน้าที่ในการ พัดพาตะกอนออกสู่ชายฝั่ง เพื่อไม่ให้ชายฝั่งถูกกัดเซาะ นำเอาแร่ธาตุจากภูเขาสู่ท้องทะเล ทำให้อ่าวไทย ทะเลไทยมีความอุดสมบูรณ์ น้ำจืดที่ไหลลงทะเลยังช่วยดันไม่ให้น้ำทะเลหนุนขึ้นมาตามแม่น้ำ ทำให้กรุงเทพฯมีน้ำประปาใช้ ทำให้จังหวัดติดปากแม่น้ำยังนำน้ำมาทำการเกษตรได้ ฯลฯ ในธรรมชาติ ในระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ไม่มีอะไร “เปล่าประโยชน์” ครับและพึงระลึกไว้เสมอว่าไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน มนุษย์ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบนิเวศ”
 
13.   เขื่อนกับแผ่นดินไหว
 
Induced Seismicityหรือแผ่นดินไหวที่เกิดจากการถูกกระตุ้นโดยกิจกรรมของมนุษย์ มี “เขื่อน” หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เป็นปัจจัยหลัก เนื่องจากการเพิ่มแรงกดทับต่อพื้นผิวจากน้ำ ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ แต่ถ้าท่านลองศึกษาดู ก็จะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะใช้คำว่า “กังวลเกินกว่าเหตุ” ได้ มันเป็นเรื่องที่ศึกษาได้ทางวิทยาศาสตร์และมีความเกี่ยวเนื่องกัน ถึงแม้นว่าจะยังไม่สามารถฟันธงได้ชัดเจน แต่ความเกี่ยวเนื่องของเขื่อนกับแผ่นดินไหวนั้น ก็มีมากในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มณฑเสฉวนประเทศจีนที่คนตาย 80,000 กว่าคนนั้น
ก็มีการศึกษาทั้งโดยผู้เชี่ยวชาญจีนและอเมริกาว่า เขื่อนอาจจะมีส่วนในการก่อให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งนั้นซึ่งตีพิมพ์ลงวารสาร Scienceวารสารที่ได้รับความเชื่อถือในวงการวิทยาศาสตร์ ถ้าบ้านท่านไม่ได้อยู่ใต้เขื่อน ก็คงจะเห็นว่ามันเป็นเรื่อง “เด็กชายปลาบู่” แต่ลองให้บ้านท่านอยู่ใต้เขื่อนดูก็จะรู้ว่ามันน่ากลัว

 
14.   มีเขื่อน มีน้ำ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีปลา
 
เรื่องนี้ผมได้เขียนไว้อย่างละเอียดแล้วในหลายๆบทความ เช่น  “จดหมายเหตุ ทำไมปลาชะโดล้นเขื่อน”  และ “เกิดอะไรขึ้นเมื่อสร้างเขื่อน?” แต่จะย่อให้อีกครั้งว่า เขื่อนเป็นระบบน้ำนิ่ง ในขณะที่ปลาส่วนใหญ่ในประเทศไทย ต้องการน้ำไหลและทุ่งน้ำท่วมในการขยายพันธุ์ ปลาท้องถิ่นของไทยส่วนใหญ่จึงไม่สามารถขยายพันธุ์ในเขื่อนได้ มีเขื่อนจึงไม่ได้หมายความว่ามีปลาตามธรรมชาติเสมอไป 
 
15.   เขื่อนแม่วงก์ช่วยน้ำท่วม?
 
เขื่อนแม่วงก์มีปริมาณกักเก็บน้ำเพียงแค่ 1% ของน้ำที่ท่วมที่ราบภาคกลาง เขื่อนจึงไม่สามารถช่วยน้ำท่วมใหญ่ได้ ในขณะเดียวกัน พื้นที่อำเภอลาดยาวซึ่งอยู่ใกล้เขื่อนนั้น ถึงแม้มีเขื่อนก็ช่วยได้เพียง 25% ซึ่งหมายความว่า ยังไงก็ท่วมอยู่ดี เนื่องจากน้ำที่ท่วมอำเภอลาดยาว ส่วนใหญ่เป็นน้ำไหลบ่าตามทุ่งจากนอกพื้นที่เขื่อน การแก้ปัญหาน้ำท่วมของลาดยาวจึงต้องทำการบริหารจัดการอย่างเป็นองค์รวมไม่ใช่แค่สร้างเขื่อนแม่วงก์ก็จะแก้ปัญหาได้ อย่างในภาพด้านล่างตามรายงานของกรมชลฯ จะเห็นว่าปริมาณน้ำนองสูงสุดที่อำเภอลาดยาวลดลงเพียง 25% จาก 961.5 เป็น 720.7 ลบ.ม./วินาที

 
ภาพจาก EHIA ของเขื่อนแม่วงก์

16.   เขื่อนแม่วงก์ช่วยน้ำแล้ง?
 
ลำพังการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตรที่เกิดจากการเขื่อนแม่วงก์นั้น ต้องใช้เวลาถึง 120 ปีเขื่อนถึงจะคุ้มค่าการลงทุน เขื่อนนี้คุ้มทุนได้อย่างหมิ่นเหม่ จากการนำมูลค่าป่าปลูกใหม่ตามโครงการประกอบของเขื่อนจำนวน 36,000 ไร่มารวมอยู่ด้วย ซึ่งการคิดคำนวณมูลค่าป่าปลูกนั้นก็มีการคิดโดยผิดหลักวิชาการ ยังไม่มีพื้นที่ปลูกที่ชัดเจน และยังไม่มีรายละเอียดโครงการใดๆ การช่วยน้ำแล้งของชาวบ้านในพื้นที่น่าจะเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กและการใช้ระบบบริหารน้ำที่มีอยู่เดิมอย่างมีประสิทธิภาพโดยให้ชาวบ้านสามารถจัดการน้ำได้เองมากกว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณอย่างไร้คุณค่า
 
17.   เขื่อนแม่วงก์ช่วยชาวบ้านในพื้นที่? ไม่มีใครสูญเสียพื้นที่ดินจริงหรือ?
 
โครงการเขื่อนแม่วงก์ต้องมีการใช้ที่ดินของชาวบ้านอย่างน้อย 51,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกป่า 36,000 ไร่ ซึ่งถูกระบุไว้ในการศึกษาของการไฟฟ้าว่าจะใช้พื้นที่ รกร้างหรือพื้นที่สาธารณะ ซึ่งตามรายละเอียดในบทความ “ถามชาวบ้านหรือยัง?”  จะเห็นว่าเป็นพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน (ไม่ทราบสถานะการถือครอง) นอกจากนั้นยังมีส่วนพื้นที่ๆต้องเวนคืนเพื่อก่อสร้างคลองส่งน้ำอีก 15,000 ไร่ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่ทราบว่า 51,000 ไร่นี้จะไปลงตรงที่ใครบ้าง ทั้งนี้ตามรายงาน EHIA พบว่าชาวบ้านในพื้นที่มีที่ดินเฉลี่ยครัวเรือนละ 10 ไร่ ถ้าคำนวณหยาบๆก็พบว่าจะมีชาวบ้านถึง 5,100 ครัวเรือน สูญเสียพื้นที่ทำกิน  

ซึ่งถ้ารวมข้อ 15-17 เข้าด้วยกันแล้ว ผมเชื่อว่าถ้านำข้อมูลเหล่านี้ไปบอกชาวบ้านในพื้นที่ แล้วลองถามอีกครั้งว่ายังอยากได้เขื่อนแม่วงก์อยู่ไหม ผมคิดว่าชาวบ้านไม่น่าจะอยากได้นะครับ 
 
18.  เวียตนามงดสร้างเขื่อน 3 แห่งเนื่องจากผู้รับเหมาจีนสร้างไม่ได้มาตรฐาน? 

อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวเดียวกันไหม ผมไม่สามารถหาข่าวภาษาอังกฤษได้ แต่เท่าที่เห็นข่าวไทย 2– 3 แห่งก็ระบุเป็นเสียงเดียวกันว่ายกเลิกการสร้างเขื่อนเนื่องจากกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมครับ
ตัวอย่าง 1. เวียตนามยุบโครงการเขื่อนไฟฟ้า 167 แห่งเพราะกระทบสิ่งแวดล้อม
2. เวียตนามล้มเขื่อนกว่า 300 แห่ง พบทำลายป่ากระทบสิ่งแวดล้อม
3.  เวียตนามโละอีก 12 เขื่อน ระบุชัดตัวการทำลายป่า-สภาพแวดล้อม
 
19.   การรื้อเขื่อนในต่างประเทศ รื้อเพราะเขื่อนเก่า?  เขื่อนแม่วงก์ถ้าอยู่ในอเมริกาและญี่ปุ่น ป่านนี้เค้าสร้างไปแล้ว?
 
เก่าและไม่ได้ใช้แล้วมีส่วนสำคัญครับอันนี้ไม่เถียง แต่ถ้าจะบอกว่ารื้อด้วยเหตุนั้นอย่างเดียวก็คงไม่ใช่ครับ เพราะถ้าลองใช้คำว่า Dam removal หาข้อมูลดูจะพบว่า เหตุผลหนึ่งคือการคืนพื้นที่ให้กับธรรมชาติครับ (environmental restoration)ทั้งนี้ในประเทศอเมริกา อย่างเขื่อนล่าสุดที่ถูกรื้อซึ่งถือเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในโลกที่ถูกรื้อ กั้นแม่น้ำ Elwha ก็ค่อนข้างชัดเจนว่ารื้อเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศครับ ทั้งนี้ข้อมูลตั้งแต่ปี คศ. 2008ที่ผมหาเจอระบุว่ามีเขื่อนน้อยใหญ่ในประเทศอเมริกาถูกรื้อไปแล้วอย่างน้อย 800 เขื่อนครับ

ส่วนในประเทศญี่ปุ่น ก็เริ่มมีการรื้อเขื่อนแล้วครับ เริ่มไปแล้ว 1 เขื่อนที่ Arase Dam ซึ่งการศึกษาต่อมาก็พบระบบนิเวศฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ผมเชื่อว่าจะมีการรื้อเขื่อนเพิ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่นครับ ในขณะเดียวกันจะเห็นว่ามีการค้านการสร้างเขื่อนที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่นเช่นกัน เช่นในกรณีของ เขื่อนกั้นแม่น้ำ Kawabe

จึงเห็นได้ว่าถ้าเอาเขื่อนอย่างแม่วงก์ไปไว้ที่ อเมริกาหรือที่ญี่ปุ่นในยุคนี้ ด้วยข้อมูลที่มี ผมเชื่อว่าไม่ได้สร้างครับ 

20. กรณีเขียดงูดอยสุเทพและค้างคาวจมูกหลอดท้องขาว ซึ่งดร.โสภณบอกว่า "ไร้สาระ" ตาม จดหมายที่ท่านยื่นไปถึงนายก

20.1 เขียดงูดอยสุเทพ (Ichthyophis youngorum) ทำความเข้าใจร่วมกันก่อนครับว่า เขียดงู เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับ กบ เขียด และ กระท่าง เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง มีปาก มีฟัน มีตา อยู่คนละไฟลัมกับไส้เดือน ซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มันแค่มองเผินๆแล้วมีรูปร่างคล้ายกันแต่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน พอๆกับหมาไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับแมลงวันครับ ทีนี้มาถึงเขียดงูชนิดนี้ พบครั้งแรกเมื่อ 53 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็ไม่มีการค้นพบอีกเลย จนกระทั่งมาพบอีกทีที่อช.แม่วงก์ ผมเห็นด้วยว่ามันมีความเป็นไปได้ว่าถ้าเจอที่เชียงใหม่ กับ กำแพงเพชร ก็น่าจะเจอในจังหวัดระหว่างนี้ด้วย แต่ในปัจจุบันไม่เจอนะครับ ตอนนี้เจอที่เดียว ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันก็จะพบว่าที่ดอยสุเทพก็ไม่เจอนานแล้ว ดังนั้นการค้นพบที่อช.แม่วงก์ทางด้านสัตวศาสตร์แล้วจึงมีความสำคัญมากครับ (ขอบคุณ คุณมณตรี สุมณฑา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมครับ)
20.2 ค้างคาวจมูกหลอดท้องขาว (Murina walstoni) ค้นพบครั้งแรกที่ประเทศกัมพูชาเมื่อปีพ.ศ.2554 การพบที่อช.แม่วงก์เป็นการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย เป็นการรายงานสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นรายงานที่สำคัญครับ ถึงแม้ว่าจะเป็นค้างคาวชนิดที่มีการกระจายพันธุ์กว้าง แต่ก็เป็นชนิดที่มีปริมาณประชากรน้อย การค้นพบที่อช.แม่วงก์ จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นการเพิ่มเขตการกระจายพันธุ์ของค้างคาวชนิดนี้ให้กว้างขึ้น และแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่าแม่วงก์และป่าตะวันตกของเราครับ (ขอบคุณ ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมครับ)

จึงสรุปว่า รายงานทั้งสองมีความสำคัญครับ ไม่ไร้สาระนะครับ 


แถมภาพเขียดงูเกาะเต่าฟักไข่ให้ชมครับ จะเห็นว่ามันมี ตา มีปาก ชัดเจน และออกลูกเป็นไข่เมือกๆเหมือนพวกกบ เขียดนะครับ