จดหมายเหตุ: กรณีพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กม. ในเขตกทม.

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ เขียน

“อยากทำก็ทำไปเถอะครับ ผมคิดว่าคงไม่มีผลกระทบอะไรมากมาย” เป็นประโยคหนึ่งที่ผมให้สัมภาษณ์นักข่าว ในวันที่ถูกโทรมาถามถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งแรก รายละเอียดโครงการคิดว่าคงเห็นภาพกันมาบ้างแล้ว ว่าจะมีการสร้างแท่นคอนกรีตยื่นออกไปในแม่น้ำเจ้าพระยาจากริมตลิ่งเข้าไปอีก 19.5 เมตร เพื่อทำเป็นที่เดินเล่นและทางจักรยาน ความยาวรวม 14 กม. เป็นโครงการเร่งด่วน จะสร้างทันทีแบบไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
 
วันที่ตอบประโยคนั้นไป กระบวนความคิดแบบเร็วๆคือ ตอนนี้สองฝั่งมันก็เป็นบ้านเรือน เป็นอะไรเละเทะอยู่แล้ว ถ้ามันจะเป็นพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนได้ใช้ประโยชน์เหมือนเมืองใหญ่ๆในต่างประเทศ ที่มักจะมีพื้นที่ริมน้ำในเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจก็คงดีกว่า ตอบไปเสร็จแล้วก็เดินคิดต่อไปทั้งเย็น ว่าทำไมตอบไปแบบนั้นหว่า จนคิดไปถึงประโยคหนึ่ง ที่ถูกใช้เป็นเคมเปญใหญ่ในการอนุรักษ์ใน USA อยู่พักหนึ่งที่ชื่อว่า  Shifting Baselines  โดยเนื้อหาหลักของโครงการนี้คือปลุกจิตสำนึกให้คนในยุคนี้รับรู้ถึงความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม โดยใช้ข้อมูลที่เคยมีอยู่เดิม มาเปรียบเทียบให้ดูว่าแต่ก่อนมีอะไร แล้วสมัยนี้มันเหลืออะไรอยู่แค่ไหน โดยโครงการเชื่อว่าคนในสมัยนี้ ไม่รู้แล้วว่า “สิ่งดีๆ” ที่เราเคยมีอยู่นั้นมันเป็นอย่างไร อยู่ๆไป โดยยอมรับกับสภาพแวดล้อมที่มันแย่ลงทุกวัน ปล่อยให้มาตรฐานฝั่งแย่(Baselines) มันขยับลง (Shifting) ไปเรื่อยๆ คือถ้าปล่อยไปแบบนี้ ไม่หาจุดใดสักจุดที่เราจะหันมาบอกกันว่า “เฮ้ย! พอได้แล้ว มันเลวร้ายไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว” ในที่สุดสิ่งแวดล้อมมันก็จะแย่ลงไปจนอยู่กันไม่ได้จริงๆ มาตรฐานที่ถูกขยับลงไปเรื่อยๆ
 
ถามว่าสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในแถบกรุงเทพฯ ตามธรรมชาติดั้งเดิมควรจะเป็นอย่างไร คงต้องดูว่าโดยสภาพพื้นที่ของกรุงเทพฯนั้นเป็นที่ราบลุ่มใกล้ปากแม่น้ำขนาดใหญ่ พื้นที่ทั้งสองฝั่งควรจะเป็นป่าริมน้ำสลับกับทุ่งน้ำท่วมกว้างสุดลูกหูลูกตา ถ้านึกภาพป่าริมน้ำไม่ออก อยากให้นึกถึง เวลาไปล่องเรือที่ตลาดน้ำอัมพวา ตรงนั้นเป็นบริเวณปากแม่น้ำแม่กลองที่พอมีป่าริมน้ำดั้งเดิมเหลืออยู่บ้าง สวยงาม ดีงามอย่างไรก็อย่างนั้น ปากแม่น้ำเจ้าพระยาแถวกรุงเทพน่าจะเคยเป็นแบบนั้น ถามว่าตอนนี้เป็นอย่างไร ก็คงเห็นกันอยู่ว่าไม่ได้เหลือเค้าร่องรอยเดิมใดๆอยู่เลย ต้นลำพู ต้นสุดท้ายของบางลำพูก็ตายไปแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน
 
เรียนกันมาตั้งแต่เด็กๆนะครับ ว่าสิ่งมีชีวิตผู้ผลิตอาหารตั้งต้นให้กับระบบนิเวศส่วนใหญ่ในโลกนี้ก็คือต้นไม้ งานวิจัยมากมายยืนยันชัดเจน ว่าระบบนิเวศริมน้ำมีผลอย่างมากต่อความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำ ตั้งแต่รากไม้ พู พอน ที่เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ ใบไม้ที่หล่นลงไปเป็นอาหารสัตว์เล็กๆ ผลไม้ที่ปลาหลายชนิดกินได้ ต้นไม้ทั้งต้นที่โค่นลงไปเป็นบ้านของปลา หรือแมงที่มากินใบไม้แล้วพลาดหล่นลงน้ำก็เป็นอาหารของสัตว์น้ำได้ แม่น้ำที่ไม่มีป่าริมน้ำ มีแต่กำแพงกันน้ำท่วม หรือมีถนนคลุมอยู่ข้างบน แทนที่จะเป็นร่มไม้ ก็เป็นเหมือนท่อน้ำใหญ่ๆท่อหนึ่ง ปลากระเบียดกระเสียรอยู่กันไป ไม่มีทางพึ่งพาเป็นแหล่งอาหารอะไรได้อีก นอกจากไม่มีระบบนิเวศอะไรข้างบนแล้ว สิ่งปลูกสร้างใหม่ของเรานี่ยังจะไปบดบังแสงอาทิตย์ ให้ในน้ำมันอยู่ยากขึ้นไปอีก
 
ถามว่าเจ้าพระยาเคยอุดมสมบูรณ์แค่ไหน? ก็ต้องวนกลับไปถึงเรื่องระบบนิเวศอีกว่า ต้องเป็นระบบที่สมบูรณ์จริงๆถึงจะมีสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่อาศัยอยู่ได้ เจ้าพระยาเคยมีปลาเทพาอาศัยอยู่ ปลาชนิดนี้เป็นปลาผู้ล่าที่มีรูปร่างคล้ายฉลาม และจัดเป็นปลานักล่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก คำสำคัญเมื่อกี้คือ “เคย” ทุกวันนี้ในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่มีปลาชนิดนี้เหลืออยู่แล้ว มันสูญพันธุ์ไปเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้ เหลือแต่ภาพถ่ายและเรื่องเล่าไว้เป็นหลักฐาน เรายังมีปลาอีกหลายชนิดที่สูญพันธุ์ไปจากระบบ อย่างปลาเสือตอ ฝักพร้า ตะลุมพุก หางไหม้ และ ปลาหวีเกศ บ้างก็หมดไปจากโลก บ้างก็หมดไปจากเจ้าพระยา
 
แน่นอนว่าอ่านมาถึงตรงนี้ก็จะมีคำถามว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจะทำไม? มันหายไปก็ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำ อันนี้ก็ย้อนกลับไปเรื่อง “การขยับมาตรฐาน” นั่นแหล่ะครับ คำถามที่ 1 คือ แล้วจะดีกว่าไหมถ้าแม่น้ำมันจะสมบูรณ์ มีปลาเยอะแยะมากมายให้กิน แทนที่จะต้องมานั่งกินปลาเลี้ยงชื่อบ้าๆบอๆให้เค้าหลอก ต้องมานั่งเขียนบทความชี้แจงกันว่าไอ้นี่มันปลาอะไรกันแน่ หรือมันจะดีกว่าไหม ถ้าจับปลามากินกันได้สดๆใกล้ๆ ไม่ต้องไปจับมาจากที่ไกลๆ ส่งมาไกลๆเก็บมานานๆ แล้วก็ต้องมานั่งห่วงกันเรื่องสารตกค้าง น้ำยาดองศพ คือรู้ตัวกันไหมว่าทุกวันนี้ปลาหมึกย่างริมถนนส่วนใหญ่มาจากอาร์เจนติน่า!!! 
 
อีกคำถามคือถ้าคิดว่าป่าริมน้ำมันไม่สวยไม่ดี แล้วจะแห่แหนไปเที่ยวอัมผวา กันทำไมครับ? ไปวันหยุดนี่แทบจะไหลไปตามฝูงชน หิ่งห้อยดูแล้วได้อะไรขึ้นมาฤา? จะกระเสือกกระสนออกจากบ้านไปเที่ยวเขาใหญ่ ดอยอินทนนท์ กันทำไมครับ?  เราเกิดกันอยู่ในเมืองเป็นส่วนใหญ่ คุ้นชินและยอมรับกันไปแล้วว่าเมืองมันก็ต้องเป็นแบบนี้แหล่ะ มันต้องร้อนๆแข็งๆแบบนี้ มีฝุ่นแบบนี้ เสียงดังแบบนี้ แม่น้ำ ลำคลอง มันก็ต้องเน่าๆดำๆแบบนี้แหล่ะ ไอ้ขวัญอีเรียม จะเล่นน้ำกันที่ท่าไหนเมื่อสมัยก่อน สมัยนี้กูไม่จำเป็นต้องเล่นแล้ว เดี๋ยวไปเสียตังค์ค่าเข้าสวนน้ำ/สระน้ำเอาก็ได้ เราไม่สนใจแล้วว่าในน้ำจะมีปลาให้กินไหม หรือน้ำในคลองจะเอามาใช้ได้ไหม เรายอมรับว่าน้ำในคลองมันต้องเน่า เหม็น เราจะซื้อน้ำขวดกินและซื้ออาหารจากร้านสะดวกซื้อเอา สิ่งแวดล้อมมันแย่ลงก็ไม่เป็นไร มาตรฐานต่ำอยู่แล้ว ต่ำไปอีกหน่อยทีละนิดทีละหน่อยก็ไม่เป็นไร แล้วเราก็จะสอนลูกเราแบบนั้นต่อไป
 
เพราะเราคุ้นชินและสมยอม
 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ขอนำเสนอจากทัศนะส่วนตัว

แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำประจำชาติที่มีประวัติศาสตร์และตำนานที่เล่าขานต่อกันมาตั้งแต่บรรพกาลจวบจนปัจจุบัน เฉกเช่นเดียวกับแม่น้ำแห่งอารยธรรมหลายๆ แห่งบนโลก เช่น แม่น้ำไนล์ แม่น้ำโขง แม่น้ำแยงซีเกียง เป็นต้น ทุกแม่น้ำล้วนมีเรื่องราวที่เป็นจุดขายสำคัญและแสดงถึงความเป็นอารยของประเทศนั้นๆ เมื่อความเจริญทางวัตถุคืบคลานเข้ามาก็มักเบียดเบียนสภาพแวดล้อมด้วยเหตุผลที่อยู่เบื้องลึกจนทำให้การดำเนินโครงการขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบเท่าที่ควร โครงการก่อสร้างครั้งนี้หากจะศึกษาคงยากเพราะยังไม่สามารถหาข้อมูลความต้องการได้เนื่องจากยังไม่เคยมีใครได้เดินหรือปั่นจักรยานล้ำในเขตแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากพิจารณาบริบทของความเป็นเมือง เราก็จะพบว่าพื้นที่เมืองเป็นแหล่งประกอบอาชีพ เป็นแหล่งที่หนาแน่นไปด้วยผู้คน การเดินวิ่งปั่นจะใช้ประโยชน์ได้สักเพียงใด ผมนึกถึงสวนลุมพินีที่มีประชาชนมาออกกำลังกาย ดูแล้วก็ไม่ได้มากมายนัก ทำให้คิดว่ามูลเหตุใดที่ทำให้เกิดแนวความคิดโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมาก ในขณะที่ยังมองไม่เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ผลกระทบต่อความเป็นอารยธรรมของประเทศไทย ผลกระทบต่อการสร้างความแออัดในสังคมเมืองแทนที่จะกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ  เช่น การแก้ไขปัญหาการกัดแซะชายฝั่งอ่าวไทยทั้งในเขตพระประแดงและบางขุนเทียน ที่สามารถพัฒนาเป็นที่พักผ่อนจากการออกกำลังกาย การชมทัศนียภาพที่งดงาม อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแก้ไขปัญหาชายฝั่งทะเล ซึ่งได้ประโยชน์หลายด้าน เป็นต้น

ผมมีประสบการณ์ในต่างประเทศ 2 แห่ง คือ แห่งที่ 1. Vancouver, BC, CANADA ตอนนั้นเขาทำโครงการรับฟังความคิดเห็นในการจัดผังเมืองและรื้อเมืองเก่าที่เรียกว่า "GAS Town" ผมได้เห็น Model ของเมืองนี้ทั้งเมืองซึ่งจำลองทั้งเมืองมาให้ดู ควบคู่กับ Model ของเมืองใหม่ที่จะสร้างขึ้น การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ การรวบรวมความคิดความเห็นอย่างกว้างขวางและสามารถกำหนดแผนงานที่จะทำท่ามกลางความมีส่วนร่วมและความโปร่งใสตามหลักการจัดการธรรมาภิบาลที่ดี แต่ผมยังไม่เคยที่ประเทศไทย   แห่งที่ 2 ประเทศฟินแลนด์ในเขตเมืองเศรษฐกิจมีการปรับปรุงผังเมืองเหมือนกรณีแรก  ผมคิดว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมาน่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย ซึ่งหากเราคิดว่าการกระทำการใดๆ เพื่อส่วนรวมโดยแท้แล้ว เราน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงามได้ชัดเจน

ขอบคุณครับ ดร.พรชัย ดีไพศาลสกุล
 





ความเห็นที่ 2

โพสต์มีข้อมูลมากพอสำหรับฉันที่จะอ้างถึงหวังว่าฉันจะทำโครงงานเสร็จ 
  scribble io