สร้างฝายดีไหม?

เรื่อง/ภาพ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์

ฝาย เหมือนทุกอย่างบนโลกกลมๆใบนี้ มีข้อดีก็มีข้อเสีย ฝายที่ดี สร้างถูกที่ ถูกแบบถูกเวลา มีประโยชน์มากมายทั้งต่อมนุษย์และธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นฝายที่ผิดที่ ผิดแบบ ผิดเวลา ก็เป็นโทษเยอะเหมือนกัน ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสท่องเที่ยว ศึกษาและสำรวจแหล่งน้ำจืดไปทั่วประเทศได้พบเห็นฝายหลากหลายรูปแบบ ในบทความสั้นๆนี้ก็หวังจะให้ข้อมูลที่ได้เห็นมาเพื่อให้ทุกท่านที่อยากสร้างฝาย ได้สร้างฝายที่ดี สร้างแล้วได้ประโยชน์ และ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนะครับ

ทั้งนี้บทความนี้ขอกำหนดขอบเขตไว้ที่ฝายมือทำที่มีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไปนักในแหล่งน้ำที่เราเรียกว่าลำธาร ลำห้วย หรือคลองเล็กๆนะครับ
 
ประโยชน์ของฝายมีอะไรบ้าง?
ฝายมีประโยชน์หลักๆ 2 อย่างและรอง 2 อย่าง คือ
1.     การสร้างเพื่อยกระดับน้ำเพื่อให้สามารถผันหรือสูบเข้าพื้นที่เกษตรได้ง่ายขึ้น
2.     การสร้างเพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้อยู่ในพื้นที่(นานขึ้น)ในฤดูแล้งเพื่อนำน้ำมาใช้หรือเพื่อให้มีน้ำให้ธรรมชาติได้ใช้
ประโยชน์รอง
3.     เพื่อชะลอให้น้ำไหลช้าลง เพื่อป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ซึ่งอันนี้ผมให้เป็นประโยชน์รอง เพราะตลิ่งที่มีตามธรรมชาตินั้นมักมีความสมดุลย์ในระดับหนึ่งไม่ได้พังทะลายง่ายอยู่แล้ว ตลิ่งที่พังมักจะเป็นตลิ่งที่ถูกรบกวน เช่นการตัดไม้ชายน้ำออกจนหมด การขุดลอกตลิ่งซึ่งปัญหาเหล่านี้ควรแก้ที่เหตุ คือแก้ด้วยการทำตลิ่งให้แข็งแรงมากกว่าการสร้างฝายเพื่อชะลอน้ำ
4.     เพื่อกักเก็บตะกอน ข้อนี้เป็นข้อที่ผมไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะถ้าเป็นฝายที่สร้างอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ เนื่องจากตะกอนดินทรายที่ถูกฝายดักไว้จะทับถมระบบนิเวศบริเวณหน้าดินเดิม โดยเฉพาะตามลำธารที่เป็นกรวดหินที่มีซอกหลืบมักจะถูกทับถมด้วยตะกอนทรายจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ และเป็นการทำลายระบบนิเวศลำธารที่ร้ายแรงยิ่ง    

สร้างฝายที่ไหนดี?
1.       ในคลองที่ขุดมาเพื่อส่งน้ำไปตามพื้นที่เกษตร การสร้างฝายเพื่อยกระดับน้ำเป็นช่วงๆ ย่อมทำได้
2.       ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ในลำธารที่เคยมีน้ำตลอดปี แต่ในปัจจุบันเนื่องจากสภาพป่าไม่ดีทำให้กักเก็บน้ำไม่ได้ การสร้างฝายเพื่อช่วยกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ จะช่วยให้สัตว์มีน้ำกินน้ำใช้และป่าฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ ในลำธารที่อยู่ตามป่าที่มีช่วงแล้งเป็นปรกติอยู่แล้ว เช่นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ก็ควรปล่อยให้แห้งไปตามธรรมชาติ

ไม่ควรสร้างฝายที่ไหน?
1.       แหล่งน้ำไหล เช่น ลำธาร ลำห้วย ในเขตอนุรักษ์ ในเขตป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว การสร้างฝายเป็นการนำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในระบบนิเวศ ไม่ควรสร้างฝายเด็ดขาด
2.       ลำธารที่ราบ เป็นแหล่งน้ำไหล เป็นระบบนิเวศเฉพาะที่มักจะอยู่นอกเขตอนุรักษ์ เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำอีกกลุ่มหนึ่งที่ปรับตัวอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำลักษณะนี้ เช่น กลุ่มปลากัดอมไข่ ปลาจิ้มฟันจระเข้ลำธาร และ ปลาซิวข้างขวาน
3.       ตรงไหนสร้างแล้วไม่ได้ประโยชน์ตามที่ฝายควรจะเป็น ก็อย่าไปสร้าง นะ นะ 
 
ฝายไม่ดี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไรบ้าง?
1.       น้ำไหลช้าลง
มีสัตว์หลายชนิดที่ปรับตัวอาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำไหลแรง ปลาหลายชนิด ลูกอ๊อด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือ แม้แต่เต่า งู ก็มีหลายชนิดที่ต้องอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหล การสร้างฝายที่ทำให้น้ำไหลช้าลงส่งผลกระทบต่อสัตว์เหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีงานวิจัยหนึ่งทางภาคเหนือของไทย พบว่าการสร้างฝายในลำธารแห่งหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชนิดสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จากกลุ่มหายากที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำไหล กลายเป็นกบเขียดกลุ่มที่พบทั่วไปตามแหล่งน้ำนิ่งครับ  ส่วนปลานั้นหลายชนิดต้องอาศัยความแรงของน้ำในการยึดติด ในการหายใจ ในการป้องกันตัว เมื่อน้ำไม่ไหลเสียแล้วพวกนี้ก็อยู่ไม่ได้
2.       ตะกอนตกทับถมหิน
ในระบบนิเวศลำธาร นิเวศย่อยหนึ่งที่มีความสำคัญมากๆคือบริเวณก้อนหินน้อยใหญ่ที่พื้นลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของตัวอ่อนของแมลง แมลงน้ำต่างๆ ตะไคร่น้ำ ฟองน้ำ หอย รวมไปถึงปลาอีกหลากชนิด การสร้างฝายจะทำให้น้ำไหลช้าลงและไปดักให้ตะกอนที่ควรจะไหลออกไปจากพื้นที่มาตกอยู่ในลำธารทับถมเอาก้อนหินก้อนกรวดที่เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดหายไปหมด มีกรณีศึกษาที่ห้วยทรายเหลือง ในอช.ดอยอินทนนท์ ในบริเวณดังกล่าวผมสำรวจเจอปลาค้างคาวติดหิน ซึ่งเป็นปลาเฉพาะถิ่นของดอยอินทนนท์หลายสิบตัว ต่อมามีการสร้างฝาย 5 ฝายกั้นลำธารในบริเวณดังกล่าว ทำให้ตะกอนทรายตกทับถมก้อนหินไปหมด จนทำให้ในปีนั้นสำรวจไม่พบปลาเลย ต่อเมื่อมีการรื้อฝายออก ตะกอนถูกน้ำพัดไป ปลาก็กลับมาเหมือนเดิมในปีต่อไป ย้ำว่าลำธารไม่ใช่ที่เก็บตะกอน ตะกอนต้องถูกน้ำพัดลงไปอยู่ข้างล่าง ตามลำดับชั้นที่ควรจะเป็นและตะกอนในที่สุดแล้วต้องไหลออกไปที่ปากแม่น้ำ เติมให้แผ่นดินยื่นออกไป ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งครับ ตะกอนที่ตกทับถมยังทำให้ความสามารถในการกักเก็บน้ำของลำธารน้อยลง ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์ในการสร้างฝายอย่างรุนแรงด้วยครับ
3.       น้ำลึกขึ้น
สิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิดต้องการแสงแดดในการดำรงชีพ ในระบบนิเวศลำธาร แสงแดดที่ส่องผ่านน้ำใสๆลงไปจนถึงก้อนหินด้านล่าง เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะทำให้เกิดตะไคร่น้ำและพืชชนิดต่างๆขึ้นอยู่บนก้อนหินและตามซอกหินซึ่งจะกลายมาเป็นอาหารของเหล่าสัตว์น้ำเล็กๆที่จะกลายมาเป็นอาหารของปลาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆต่อไป การสร้างฝายจะทำให้น้ำลึกขึ้น และน้ำที่นิ่งขึ้นมักจะขุ่นขึ้น ซึ่งจะทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงก้อนหินใต้น้ำครับ (อันนี้สมมุติว่าก้อนหินไม่ได้ถูกตะกอนทรายทับถมไปซ่ะหมดแล้ว)
4.       กีดขวางการอพยพของสัตว์น้ำ
ลำธารเป็นระบบนิเวศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงหนึ่งๆของปี ในฤดูแล้งน้ำใสไหลเย็นเอื่อยๆสบายๆในฤดูฝนน้ำอาจจะไหลแรงขุ่นแดง สัตว์น้ำต้องปรับตัวและมีการอพยพให้เข้ากับสถานการณ์เหล่านี้ บางชนิดต้องอพยพขึ้นไปต้นน้ำเพื่อวางไข่ การสร้างฝายถ้าสร้างสูงเกินไปจะเป็นการกีดขวางการอพยพขึ้นลงตามแหล่งน้ำของสัตว์น้ำต่างๆทำให้เค้าเดือดร้อนครับ  
 
ใช้วัสดุอะไรเหมาะและไม่ควรใช้ในการสร้างฝาย?
1.       ไม้ไผ่ เป็นตัวเริ่มที่ดีเพราะขึ้นง่ายโตเร็ว อย่าตัดไม้ยืนต้นอื่นๆเพราะกว่าจะโตได้ใช้เวลาหลายปี เป็นชนิดหายากหรือเปล่าก็ไม่รู้
2.       แบกเอาไม้ปลูกจากข้างนอกมาได้ก็แบกมา
3.       ใช้หินก้อนใหญ่ๆหน่อย เอามาจากนอกเขตลำธาร ฝายที่ทำจากหินเวลาพังหินตกๆลงมากลายเป็นแก่งเป็นที่อยู่ให้สัตว์ได้ ดีกว่าใช้ดินทรายฝายพังก็ตกทับถมทำแหล่งน้ำตื้นเขิน ทำคุณภาพน้ำเสีย

อย่า
1.       อย่าใช้หิน ขุดดิน ขุดทราย ที่เป็นส่วนเดิมของลำธารทั้งกลางร่อง ขอบร่อง ริมตลิ่ง แก่ง มาสร้างฝาย อย่าทำเด็ดขาด เพราะพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างลำธารที่มั่นคงแล้ว เป็นบ้านของสัตว์ไปแล้ว การไปรื้อ ขุดขึ้นมาพอถึงฤดูน้ำหลาก ลำธารจะพยายามหาสมดุลใหม่จะเกิดการกัด เซาะ พังทลาย วุ่นวายกว่าจะกลับเข้าสู่สมดุลได้ คาดเดาไม่ได้เลยว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ดังนั้นอย่าไปยุ่งกับโครงสร้างเดิมเด็ดขาด ยกเว้นกรณีที่เป็นลำธารที่ราบ ในพื้นที่ๆมีการตกทับถมของตะกอนทรายเยอะๆ อันนี้ตักมาใช้กระจายๆเป็นวงกว้าง อย่าไปยุ่งกับตลิ่ง ใช้ได้ครับ
2.       อย่าใช้กระสอบพลาสติก พวกกระสอบปุ๋ย น้ำตาล และ อาหารสัตว์ พวกนี้ผมทดลองแล้วใส่ทรายวางทิ้งไว้เฉยๆ โดนแดดโดนฝนไม่ถึงปีก็พังหมดแล้ว ไปตักดินตักทรายจากนอกลำธารมาใส่ถุง อยู่ได้ไม่ถึงปีถุงขาดพัง กลายเป็นขยะพลาสติก พวกดินทรายที่ตักใส่ถุงมา ตกทับถมทำแหล่งน้ำตื้นเขินอีก ถ้านัดกันมาคอยเก็บคอยเปลี่ยนก็พอรับได้ แต่ถ้าตั้งใจว่าจะปล่อยให้ผุพังไปเฉยๆกลายเป็นขยะพลาสติกล่องลอยไป อย่าใช้ครับ

แบบฝายที่ช่วยแก้ปัญหาได้ตามสมควร
แบบฝายที่แก้ปัญหาได้ตามสมควรคืออย่าสร้างเป็นกำแพงขึ้นมาตรงๆตั้งขึ้นมา 90 องศาเฉยๆ แต่สร้างฝายให้มีการลดระดับลงเป็นแนวลาดทั้งฝั่งต้นน้ำและปลายน้ำ แนวลาดฝั่งต้นน้ำจะทำให้ตะกอนไหลผ่านไปได้ไม่เกิดการตกสะสม ส่วนแนวลาดด้านน้ำไหลจะมีลักษณะคล้ายน้ำตกลาดๆที่สัตว์สามารถว่ายน้ำปีนผ่านมาได้
 
คำถามที่ควรถามก่อนสร้างฝาย
1.       แหล่งน้ำตรงนี้เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ที่ชอบอาศัยอยู่ในลำธารที่มีน้ำไหลใช่ไหม?  
หาคำตอบได้ไม่ยากนะ เอาสวิงช้อน ดำลงไปดู ไม่รู้ก็ถ่ายภาพมาถามคนที่รู้ ถามชาวบ้าน หลักการง่ายๆ ถ้าเป็นแหล่งน้ำไหลที่มีน้ำตลอดปีไม่เคยขาด มักจะมีสัตว์ลำธารอาศัยอยู่เป็นปรกติเลยครับ
2.       ฝายที่เราสร้างจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของลำธารอย่างไรบ้าง?
3.       โครงสร้างของลำธารที่เปลี่ยนแปลงไปจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อระบบนิเวศ?
 
สรุปคร่าวๆ
ในมุมมองของทางด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่ตามธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว เช่นตามป่าอนุรักษ์ ปล่อยให้ลำธารเป็นลำธาร อย่าไปยุ่งกับเค้า อย่าไปสร้างฝายครับ ฝายควรสร้างในบริเวณป่าที่เคยมีความสมบูรณ์แต่ปัจจุบันถูกบุกรุกทำลาย เก็บน้ำไว้ไม่ได้ การสร้างฝายกักเก็บน้ำให้อยู่ในพื้นที่นานขึ้นมีประโยชน์ให้ป่าฟื้นตัวเร็วขึ้น ทั้งนี้ก็อย่าลืมดูวัสดุให้ดีนะครับ