รายงานลงพื้นที่สร้างเขื่อนคลองวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช

ในการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) ของโครงการใดๆนั้น ต้องประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก คือ
1.        ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ
2.        ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ
3.        คุณค่าต่อการใช้ประโยชน์ของมนุษย์
4.        คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต
 
ในส่วนของชีวภาพนั้นโดยทั่วไปจะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ สัตว์น้ำ สัตว์ป่า และ ป่าไม้ ในการทำ EIA ของเขื่อนวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช นั้นก็มีการศึกษาตามที่ได้กล่าวไว้นี้ ซึ่งข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่ๆจะมีการก่อสร้างเขื่อนวังหีบระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2560 และได้ทำการสำรวจสัตว์น้ำในพื้นที่ จำนวน 4 จุดด้วยกันคือ

1.        ลำห้วยวังหีบเหนือหมู่บ้านขึ้นไปประมาณ 300 เมตร  ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นลำธารที่ไหลอยู่ในป่าสมบูรณ์ การสึกกร่อนของดินและหินที่ไม่เท่ากัน และพูพอนของต้นไม้ รวมถึงสภาพพื้นที่ๆไม่ลาดชันนักทำให้เกิดลำธารสายย่อยน้ำไหลบ่อยค่อยต่างกันมากมาย 
2.        ลำห้วยบริเวณหมู่บ้าน เป็นลำห้วยสายหลักมีความกว้างประมาณ 15 เมตร พื้นที่มีความลาดชันสูง มีหินขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากจึงเป็นแก่งน้อยใหญ่มากมาย นอกจากนั้นยังมีลำห้วยสายย่อยที่น้ำไหลค่อยมากๆหนึ่งจุด 
3.        ลำห้วยบริเวณเหนือฝายที่ติดกับถนนสายหลัก เนื่องจากการขุดขยายลำธารในบริเวณดังกล่าวทำให้เกิดพื้นที่น้ำค่อนข้างนิ่งเป็นบริเวณกว้าง แต่เนื่องจากเกิดการทับถมของตะกอนทรายเป็นจำนวนมากจึงตื้นเขิน มีพืชชายน้ำขึ้นค่อนข้างมาก เลยฝายไปประมาณ 100 เมตรจึงเริ่มเป็นแก่งตามธรรมชาติ 
4.        ลำห้วยใต้ฝาย ประมาณ 300 เมตร เป็นลำห้วยที่ราบที่ค่อนข้างกว้างน้ำไหลไม่แรงนัก
 
จากการสำรวจพบว่าคลองวังหีบในบริเวณที่จะถูกน้ำท่วมเป็นลำธารต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ผสมผสานกันระหว่างลำธารที่มีน้ำไหลแรง ลำห้วยสายย่อยขนาดเล็กที่มีทั้งห้วยที่น้ำไหลแรงและน้ำไหลค่อย บางแห่งมีการตกสะสมของตะกอนใบไม้บางแห่งมีตะไคร่น้ำขึ้นหนาแน่น ส่วนลำธารที่ราบก็มีปลาอีกกลุ่มที่สามารถพบได้ในบริเวณดังกล่าว โดยการสำรวจพบปลาที่หายากเช่น ปลาดุกลำพันภูเขา และ ปลาแค้ห้วยใต้ ส่วนการสำรวจจาก EIA ก็พบปลาหลดหางแฉกซึ่งจัดเป็นปลาหายากเช่นกัน โดยในการสำรวจของข้าพเจ้านั้นพบปลาทั้งสิ้น 21 ชนิดคือ
 
1. ปลาพลวงชมพู
2. ปลาตะเพียนน้ำตก
3. ปลาสร้อยนกเขา
4. ปลาเสือข้างลาย
5. ปลาเลียหิน
6. ปลาซิวควายน้ำตก
7. ปลาซิวใบไผ่ใหญ่
8. ปลาซิวใบไผ่เล็กใต้
9. ปลาดักใต้
10.ปลาแค้ห้วย
11.ปลาแค้ห้วยใต้
12.ปลาจิ้งจกใหญ่
13.ปลาจิ้งจกเล็ก
14.ปลาจิ้งจกดำ
15.ปลากั้ง
16.ปลากระสง
17.ปลากดเหลืองใต้
18.ปลากระทุงเหว
19.ปลาดุกลำพันภูเขา
20.ปลาแขยงหิน
21.ปลากระทิงลายภูเขา

(ในการศึกษา EIA พบ 60 กว่าชนิด)
 
นอกจากนั้นยังพบว่าในลำห้วยมีปลาพลวงเป็นจำนวนมาก โดยปลาพลวงนี้ถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญว่าลำธารมีความสมบูรณ์เนื่องจากเป็นปลาขนาดใหญ่ที่กินอาหารหลากหลาย นอกจากนั้นปลาพลวงในช่วงอายุที่ต่างกันยังใช้พื้นที่ลำธารต่างกัน คือปลาวัยอ่อนจะอาศัยอยู่ในอ่าวน้ำนิ่ง ขนาดกลางจะอาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำไหลแรง และปลาขนาดใหญ่จะอาศัยอยู่ในบริเวณวังน้ำลึก การพบปลาลำธารเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นว่าน้ำมีคุณภาพดีเนื่องจากเป็นกลุ่มปลาที่ต้องอาศัยอยู่ในน้ำสะอาดเท่านั้นและไม่มีการอพยพไปไหนไกล 

จากการใช้เวลาเพียงไม่นาน สำรวจด้วยการดำดูและใช้สวิงขนาดเล็ก ยังพบปลาเป็นจำนวนมากและมีความหลากชนิดสูง นอกจากนั้นยังพบปลาหายากถึง 2 ชนิดภายในเวลาไม่นาน ทำให้พอจะสรุปได้ว่าลำห้วยวังหีบมีความสมบูรณ์ดี เหมาะเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำที่ปรับตัวอาศัยอยู่ในลำธารชนิดต่างๆ รวมถึงชนิดที่ต้องอาศัยอยู่ในแก่งที่น้ำแรงมากๆ
 
การสำรวจตอนกลางคืนยังพบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกซึ่งอาศัยอยู่ริมลำธารในป่าที่สมบูรณ์เท่านั้น เช่น จงโคร่ง คางคกหัวจีบ กบทูต กบเขียว อึ่งกรายหัวมน ซึ่งสัตว์เหล่านี้มีลูกอ๊อดที่ต้องอยู่ในลำธารที่สมบูรณ์เช่นกัน
 
ข้าพเจ้าพบว่าเมื่อเทียบกับแหล่งน้ำไหลอื่นๆแล้ว คลองวังหีบเป็นระบบนิเวศน้ำไหลที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศย่อยที่หลากหลายและมีชนิดพันธุ์หายากอาศัยอยู่ เทียบเท่าได้กับลำธารในเขตอนุรักษ์ต่างๆที่ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้การที่บทสรุปผู้บริหารในการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของโครงการสร้างเขื่อนวังหีบระบุว่า “สภาพนิเวศทางน้ำในพื้นที่โครงการ ทั้งบริเวณต้นน้ำและท้ายน้ำจากพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังหีบจัดว่าเป็นลำน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศทางน้ำในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องมาจากข้อจำกัดปริมาณน้ำที่มีน้อยในฤดูแล้ง ถึงแม้จะมีสภาพน้ำไหลแต่มีระดับค่อนข้างตื้น ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ”  จึงเป็นการให้เหตุผลที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแต่อย่างใด โดยเฉพาะการกล่าวอ้างเรื่องน้ำน้อย น้ำไหล หรือ น้ำตื้น เนื่องจากลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะเฉพาะของระบบนิเวศลำธารซึ่งเป็นระบบนิเวศเฉพาะที่มีสิ่งมีชีวิตปรับตัวอาศัยอยู่ได้น้อยกว่าน้ำนิ่งๆอยู่แล้ว ถ้าหากเป็นไปตามเหตุผลดังกล่าวก็คงไม่มีลำธารใดๆในโลกที่มีความสมบูรณ์
 
ทั้งนี้ความเชื่อที่ว่ามีน้ำเยอะย่อมดีกับระบบนิเวศมากกว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยเฉพาะในกรณีสร้างเขื่อนวังหีบเนื่องจากเขื่อนจะทำลายระบบนิเวศลำธารที่ราบต่ำและลำธารที่สูงชัน ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งมีสิ่งมีชีวิตเฉพาะพื้นที่ดังกล่าวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นระบบนิเวศขนาดเล็กที่มีพื้นที่จำกัดมาก การเปลี่ยนจากระบบนิเวศน้ำน้อย ไหล และ ตื้นเป็น น้ำมาก นิ่ง และ ลึก จึงเป็นการทำลายและเปลี่ยนแปลงธรรมชาติในทางที่ทำให้เสื่อมโทรมลง การปล่อยน้ำที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของเขื่อนยังจะทำลายระบบนิเวศท้ายน้ำไปอีกไกล เนื่องจากเป็นคลองขนาดไม่ใหญ่ จึงจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปหลายสิบกิโลเมตร
 
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของเขื่อนวังหีบในส่วนของระบบนิเวศทางน้ำซึ่งเป็นระบบนิเวศที่จะถูกผลกระทบมากที่สุด มีบทสรุปที่ไม่ตรงไปตามหลักวิชาการอย่างรุนแรง

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
3 เมษายน 2560 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

เกมออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมมาแรงที่สุดในตอนนี้
 
>> 
ดาวน์โหลด slotxo