พรุ่งนี้อาจจะสายไปที่จะอนุรักษ์ความหลายหลายทางชีวภาพ

บทความนี้ เขียนโดย ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ เพื่อใช้พูดในงาน TEDxSilpakornU วันที่ 1 ตุลาคม 2560 

ก่อนอื่นนะครับผมอยากให้ทุกท่านที่นั่งอยู่ในห้องนี้ สูดหายใจเข้าลึกๆพร้อมกันครับ
สิ่งที่เราทำกันไปเมื่อสักครู่ถือเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติครับ อากาศที่เราหายใจเข้าไปเมื่อสักครู่ มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ถึง 410 ppm ในขณะที่เมื่อ 200 ปีก่อนที่จะมียุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีอยู่แค่เพียง 280 ppm เท่านั้น ไม่เคยมีมนุษย์ยุคไหนมาก่อนที่หายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปมากขนาดนี้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้ทั้งหมดเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เราขุดเชื้อเพลิงฟอซซิลขึ้นมาใช้และเราตัดไม้ทำลายป่าเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกเก็บไว้ในต้นไม้ฝั่งอยู่ในดินขึ้นมาสู่ชั้นบรรยากาศ

ผลที่ได้รับคือปรากฏการณ์โลกร้อน สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนกว่าเดิม ดูตัวอย่างเฮอริเคนใหญ่ๆและแรง 3 ลูกที่เกิดขึ้นในแถบแคริเบี้ยนเมื่อตอนกลางเดือนเป็นตัวอย่างนะครับ เรามีน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นจนเกิดการฟอกขาวของปะการัง อย่างที่ Great Barrier Reef ซึ่งอยู่ตามแนวชายฝั่งตะวันออกของประเทศออสเตรเลีย ตอนนี้ทางตอนเหนือตายไปกว่า 2 ใน 3 แล้วด้วยอุณหภูมิในทะเลที่สูงขึ้นกว่าปรกติ 1-3 องศามาเกือบตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

เรื่องใหญ่มากๆอีกเรื่องที่เกิดขึ้นโดยฝีมือของมนุษย์คือการสูญพันธุ์ของสัตว์ชนิดต่างๆครับ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาของโลกใบนี้ มีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ๆเกิดขึ้นมาแล้ว 5 ครั้ง อันนี้เราทราบได้จากการศึกษาซากฟอศซิลตามชั้นหิน/ดินในแต่ละยุค การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 5 ในยุคเมื่อประมาณ 70-80 ล้านปีก่อน เป็นครั้งที่ทำให้ไดโนเสาร์ส่วนใหญ่สูญพันธุ์ไป และเริ่มเกิดเป็นยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จนมีมนุษย์เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราเป็นชนิดที่ใหม่มากสกุลของเรา Homo เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 ล้านปีที่แล้วในขณะที่ชนิดของเรา Homo sapiens ซึ่งแปลได้ประมาณว่า ”ลิงไร้หางแสนฉลาด” เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาได้เพียงสัก 2แสนปีเท่านั้นเอง แต่ปัจจุบันเรากำลังก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 จากการคำนวณของนักวิทยาศาสตร์ พวกเค้ายืนยันว่าอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน สูงกว่าที่ควรจะเป็น เป็น100 เท่า
 
แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อสัตว์สูญพันธุ์? ผมยกตัวอย่างเกมส์ตึกถล่มนะครับ นึกออกไหม เกมส์ที่เป็นแท่งไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆที่เราเอามาเรียงกันชั้นละ 3 ท่อนๆ แล้วผลัดกันดึงออกดึงกันจนใครทำถล่มก็แพ้ไป มันจะถล่มตอนไหนครับ? ตอนที่เราดึงอันสุดท้ายที่มันค้ำจุนให้ทั้งหอยังคงอยู่ใช่ไหม? เรื่องการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนี่เรากำลังปิดตาเล่นครับอยากให้นึกว่าสิ่งมีชีวิตต่างๆในระบบนิเวศเป็นแท่งไม้เหล่านั้นนะครับ แล้วก็ในระบบนิเวศแต่ละระบบก็มีจำนวนของแท่งไม้ในแต่ละชั้นไม่เท่ากัน

อย่างประเทศไทย เราตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกยกตัวอย่างจำนวนปลาน้ำจืด ยุโรปทั้งทวีปซึ่งใหญ่กว่าประเทศไทย 20 เท่า มีปลาน้ำจืดอยู่ 520 กว่าชนิด ในขณะที่ประเทศไทยมีอยู่ 850 กว่าชนิด ดังนั้นชั้นตึกของเราจะใหญ่กว่าเค้า จะเพิ่มจะลดเราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากมายนัก ระบบของเรามีความยืดหยุ่นสูงมาก เราไม่ได้มีต้นไม้ชนิดเดียวให้หนอนกิน ไม่ได้มีหนอนชนิดเดียวมากินต้นไม้ ไม่ได้มีนกชนิดเดียวมากินหนอน และไม่ได้มีงูชนิดเดียวมากินนก ในระบบนิเวศที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าบ้านเรา ในบางครั้งในแต่ละชั้นที่ผมกล่าวถึงอาจจะมีแค่ชนิดเดียว เมื่อชนิดนั้นถูกทำให้หมดไปจากระบบ ตึกก็ถล่มลงมา
 
ตัวอย่างที่คลาสสิคที่สุดของเรื่องนี้คือ นากทะเลที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิคของประเทศสหรัฐอเมริกานากชนิดนี้อาศัยอยู่ในป่าเคลป์ สาหร่ายขนาดใหญ่สูงหลายเมตรที่ขึ้นหนาแน่นจนกลายเป็นป่าใต้น้ำให้ปลาและสัตว์ทะเลหลายชนิดอาศัยอยู่ นากทะเลชอบกิน หอยเม่น หอยเม่นชอบกินสาหร่ายเคลป์ นากทะเลจึงทำหน้าที่คอยควบคุมปริมาณหอยเม่นไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป แต่นากทะเลมีขนปุกปุยหนานุ่ม ในยุคหนึ่งมันจึงถูกล่าไปทำเสื้อจนหมด ผลที่เกิดขึ้นคือการเพิ่มจำนวนขึ้นของหอยเม่น ที่ลุยกินสาหร่ายเคลป์จนไม่เหลือสภาพป่าและระบบนิเวศที่ล่มสลาย นากทะเลเป็นเหมือนไม้ท่อนนั้นที่ตั้งอยู่ให้ไม้อีกหลายท่อนวางอยู่ด้านบน
 
ทุกท่านครับ Edward O. Wilson นักวิทยาศาสตร์และนักเขียนชื่อดัง กล่าวไว้ว่า ในประเทศประเทศหนึ่ง มีทรัพยากรที่สำคัญอยู่ 3 อย่าง 1. ด้านการเงิน 2. ด้านวัฒนธรรม และ 3. ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เค้าบอกว่า 2 เรื่องแรกมันพัฒนาได้สร้างกันได้ แต่ด้านที่ 3 นี่ทุกประเทศมีไม่เท่ากัน ประเทศที่มีมาก รู้จักที่จะรักษา ศึกษา และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดจะได้เปรียบประเทศอื่นๆอย่างมากมาย ผมไม่ชอบที่จะพูดว่าในป่าอาจจะมียารักษาโรคที่เรายังไม่รู้จักอยู่ มีสัตว์หรือพืชผักที่เอามากินแล้วอร่อยมีสุขภาพดีกว่าที่เรากินกันอยู่ในปัจจุบัน การอนุรักษ์เพื่อบอกว่าสักวันมนุษย์จะได้รับประโยชน์ทางตรงยังไงบ้างผมว่ามันเป็นความเห็นแก่ตัวของ Homo sapiens มากๆ

ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้อะไรกับมนุษย์มากมายนัก อากาศที่เราหายใจ อาหารที่เรากิน ล้วนมาจากป่าจากธรรมชาติที่สมบูรณ์ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะอยู่ในเมือง อาหารมาจากถาดโฟม น้ำมาจากขวดพลาสติก แต่เมืองผลิตอาหารไม่ได้ สัตว์ที่เราเลี้ยงมากินอาหารของสัตว์เหล่านั้นส่วนใหญ่ก็มาจากธรรมชาติ พืชที่เราปลูกมากินจะได้ผลที่ดีก็ต้องมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ในดินและบนฟ้า เราปลูกทุเรียนแล้วไม่มีค้างคาวมาผสมเกสรให้ เราก็ไม่มีทุเรียนกิน เราปลูกข้าวถ้าไม่มีนกปากห่างมาช่วยกินหอยเชอรี่เราก็ต้องใช้สารเคมีสิ้นเปลือง ที่อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก มีเหยี่ยวดำอพยพมาอยู่ในช่วงฤดูหนาวปีหนึ่ง 50,000 กว่าตัว ตีให้เหยี่ยวตัวหนึ่งกินหนูวันละ 1 ตัว วันหนึ่งเหยี่ยวกินหนูไป 50,000 ตัว ปีหนึ่งอยู่ 100 วันกินไป 500,000 ตัว นึกภาพต้องไปตามดักตามเบื่อหนู 500,000 ตัว เราจะต้องใช้ทรัพยากรใช้เวลาและสารเคมีไปขนาดไหน นึกภาพว่าหนู 5 แสนตัวจะทำความเสียหายต่อพืชเกษตรแค่ไหนถ้าไม่มีเหยี่ยวมาช่วยกำจัด เราได้ 2 ต่อเลยนะครับ ใช้เงินน้อยลง สูญเสียน้อยลง ทุกวันธรรมชาติทำสิ่งพวกนี้ให้เราฟรีๆ โดยไม่เคยคิดเงินเราเลยแม้แต่บาทเดียว
 
แต่เรื่องที่ผมพูดมาทั้งหมดนี่ในที่สุดแล้วมันเป็นของนอกกายทั้งนั้นเลย ผมอยากให้คุณดูสองรูปนี้ คุณชอบรูปไหนมากกว่ากัน รูปที่มีนกหรือไม่มีนก ลองดูอีกคู่ คุณอยากตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วเห็นภาพแบบไหน ระหว่างรูปเมืองกับรูปวิวสวยๆ ทำไมเราถึงแห่กันไปกางเตนท์ท่องเที่ยวละทิ้งความสบายของที่บ้านไปลำบากในวันหยุดตามอุทยานแห่งชาติ?  นักจิตวิทยาบอกว่าสิ่งที่ทำให้เราสบายใจเมื่อเห็นภาพนกหรือภาพวิวสวยๆ มีทุ่งหญ้ามีน้ำกว้างๆ เกิดจากสัญติญาณลึกๆที่อยู่ในตัวเราทุกคน ตลอดระยะเวลาการวิวัฒนาการที่ผ่านมาของมนุษย์เป็นล้านปี เราเป็นชนิดที่อาศัยอยู่กับธรรมชาติมาโดยตลอด เราเห็นนกในป่า เราเกิดความสบายใจเพราะ นกเป็นอาหาร นกเป็นสัญลักษณ์ว่าป่ามีอาหาร ว่าป่าสมบูรณ์ นกอยู่ได้เราก็อยู่ได้ เราเห็นวิวป่าสวยๆ ทุ่งหญ้าเขียวๆ มีทะเลสาบแล้วสบายใจเพราะธรรมชาติที่สมบูรณ์คือปัจจัยหลักเพียงหนึ่งเดียวที่จะทำให้เรามีชีวิตต่อไปได้ เพราะน้ำคือชีวิต
 
เพิ่งจะเพียงไม่กี่ช่วงชีวิตเท่านั้นเองที่เราหลายคนถูกดึงออกจากวงจรเหล่านี้ เราอาศัยอยู่ในเมือง กินอาหารที่ถูกหั่นเป็นชิ้นหรือปรุงสำเร็จ หลายคนกินปลาสลิดมาตลอดชีวิตแต่ยังไม่เคยเห็นเลยว่าหัวปลาสลิดเป็นยังไง ลองดูภาพนี้นะครับ ตรงกันข้ามกับความเชื่อของคนทั่วไป จริงๆแล้วปลาสลิดเป็นปลาที่มีหัวนะครับ ผมอยากจะเล่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้ายครับ ผมมีเพื่อนคนนึง พ่อแม่เค้าเป็นคนนครสวรรค์ ตัวเค้าเองพ่อกับแม่ส่งมาเรียนที่กรุงเทพฯตั้งแต่ยังวัยรุ่น ในวัยทำงานเพื่อนผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด วันนั้นคุณแม่แกงส้มปลาชนิดหนึ่งให้เค้ากิน มันเป็นปลาหน้าตาแปลกประหลาดที่เพื่อนผมไม่เคยเห็นมาก่อน เค้าไปถามแม่ได้ข้อมูลมาว่า อันนี้คือปลาข้าวเม่า หรือบางทีก็เรียกปลาแป้นยักษ์ เป็นปลาที่ถูกจับได้มากเฉพาะในฤดูน้ำหลากด้วยการวางข่ายริมแม่น้ำ เป็นปลาที่ก้านครีบแข็งตอนสดก็มีกลิ่นคาวแต่ถ้าทำความสะอาดให้ดีนำมาแกงใส่เครื่องกลบให้ดีก็อร่อย เพื่อนผมฟังก็ตื่นเต้นมากเอามาเล่าให้ฟัง ผมเล่าเรื่องนี้ทำไมครับ? 

ผมอยากให้เราเห็นว่าเพียงแค่ชั่วอายุคนเดียว องค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของเราก็หายไปแล้ว คนรุ่นใหม่ ไม่รู้แล้วว่าในน้ำมีปลาอะไร ตัวอะไรอาศัยอยู่ในป่า ธรรมชาติมีไว้ทำอะไรนอกจากเอาไว้ดู ความคาดหวัง ของเราต่อสิ่งแวดล้อม ลดลงไปเรื่อยๆ จากความเหินห่างและความไม่รู้ ผมถามคนกรุงเทพฯว่าเค้ามีความคาดหวังอะไรจากแม่น้ำเจ้าพระยา เค้าตอบผมว่าไม่เหม็นมารบกวนก็ดีใจแล้ว เราไม่หวังอีกแล้วว่าเจ้าพระยาจะต้องมีปลาให้เรากิน

เราที่กำลังมีชีวิตอยู่ในวันนี้เป็นคนรุ่นแรกที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์รุ่นก่อนๆ เราเป็นมนุษนย์รุ่นแรกที่มีวิวัฒนาการสูงพอที่จะบอกได้ว่าเราได้ทำอะไรผิดไปบ้าง เรากำลังทำอะไรผิดอยู่และเราจะแก้ไขมันได้อย่างไร มีคนพูดว่าภายในอีกสัก 20-30 ปี วิทยาศาสตร์น่าจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของเราได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ปัญหาในปัจจุบันมันไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่รากเหง้าของปัญหาสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เกิดจากความโลภและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ซึ่งวิทยาศาสตร์ช่วยอะไรไม่ได้เลย 
เราทำลายสิ่งแวดล้อมไปเรื่อยๆทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เราดึงท่อนไม้ในเกมส์ตึกถล่มทีละชิ้น ทีละชิ้น ไม่รู้ว่าวันไหนมันจะพังลงมา

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

เกมออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมมาแรงที่สุดในตอนนี้
>>
สล็อต

ความเห็นที่ 2

ข้อมูลที่แบ่งปันมีประโยชน์มาก ฉันมีปัญหาที่คล้ายกันและกำลังตรวจสอบอยู่ 
 word finder