เราอยากได้ลำธารแบบนี้กันจริงๆเหรอ? (ณ ถ้ำปลา)

เราอยากได้ลำธารแบบนี้กันจริงๆเหรอ? (กรณีศึกษา ณ อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา จ.แม่ฮ่องสอน)
เรื่อง/ภาพ: ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์

บทสรุปผู้ขี้เกียจอ่าน
- ลำธารถูกผันน้ำไปใช้จนแห้ง
- สร้างฝายกั้นลำธารจนระบบนิเวศพัง
- ปล่อยปลาต่างถิ่นโดยหน่วยงานราชการ
- ทำลายป่าริมน้ำ
- มีการขาย/ให้อาหารปลา(ถือเป็นสัตว์ป่าไหม?)
- ปลาพลวงพิการ คาดว่าเพราะการผสมกันในหมู่เครือญาติ
- ป้ายให้ความรู้ในห้องน้ำผิดพลาดหลายเรื่อง

หลังจากได้ยินชื่อและได้เห็นภาพมานานในที่สุดผมก็ได้ไป อช.ถ้ำปลา ที่จ.แม่ฮ่องสอน นอกจากอยากไปดูถ้ำปลาที่เห็นภาพปลาพลวงมากมายแล้ว เป้าหมายอีกเป้าคือไปตามหาปลาชนิดหนึ่งที่เคยมีคนถ่ายภาพมาให้ดูจากลำธารเส้นที่ไหลผ่านถ้ำปลา แต่การไปครั้งนี้แม้ว่าจะเจอปลาตัวที่ไปตามหา แต่ก็ได้เจอสิ่งที่ไม่อยากเห็นหลายอย่าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการจัดการลำธารและแหล่งน้ำไหลขนาดเล็กโดยรวมในปัจจุบัน จนถึงกับตั้งคำถามในใจว่า “เราอยากได้ลำธารแบบนี้กันจริงๆเหรอ?”

1. พ้นลานจอดรถ เราเจอลำธาร (หรือร่องน้ำที่เคยเป็นลำธาร) ความกว้างประมาณ 2-3 เมตร ลักษณะพื้นท้องน้ำเป็น ทราย กรวดก้อนใหญ่ๆ ขนาดกำปั้น ก็มี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นลำธารที่น้ำเคยไหลเชี่ยวและคงมีปลามีสัตว์น้ำอาศัยอยู่มากมาย แต่วันนี้ลำธารสายนี้แห้งสนิท สอบถามชาวบ้านที่นั่งอยู่แถวนั้นได้ความว่าผันน้ำไปลงไร่ลงนาหมด! เรื่องผันน้ำไปใช้เพื่อการกสิกรรมเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม อันนี้เข้าใจครับ แต่ผันกันจนลำธารน้ำแห้งนี่เกินไปไหม? เราจะไม่แบ่งน้ำให้สิ่งมีชีวิตอื่นกันเลยหรือ?



2. ฝาย เป็นเหมือนอุปทานหมู่ของชาวเรา ฝายก็เหมือนทุกสิ่งอย่างในโลก มีคุณก็มีโทษ ฝายผิดรูปแบบ ผิดที่ผิดทางก็มีโทษ ฝายที่กั้นแม่สะงี ลำธารสายที่ไหลผ่านตรงถ้ำปลาเป็นตัวอย่างที่ดีของ “ฝายเลว” ลำธารแห่งนี้กว้างประมาณถนนสองเลนแคบๆ ซึ่งกว้างจนแทบจะเรียกว่าเป็นแม่น้ำก็คงจะพอได้ ส่วนฝายสูงท่วมหัว สูงเกิน 2 เมตร วัสดุทำด้วยอะไรก็ไม่ทราบเพราะถูกถมไปหมดแล้ว จากลานจอดรถจะเดินไปถ้ำปลาก็ต้องข้ามสะพานผ่านเหนือฝายไป มองย้อนขึ้นไปสุดสายตา หลายร้อยเมตร พื้นลำธารเดิมที่ควรจะเป็นกรวดเป็นหินไม่เหลือเลย ถูกถมไปด้วยตะกอนดินจนไม่เหลือสภาพ ถ้าใครเคยสำรวจแมลงน้ำหรือดำน้ำดูปลาในลำธาร จะรู้ว่าหินก้อนใหญ่น้อยในลำธารเป็นส่วนที่สำคัญต่อระบบนิเวศมาก หลักๆเลย คือเป็นทั้งซอกหลืบให้สัตว์ได้หลบซ่อน ได้ทำรัง วางไข่ เป็นที่ให้ตะไคร่เกาะให้พวกกลุ่มปลากินตะไคร่ ได้กั้นการไหลของน้ำทำให้น้ำไหลหมุนเวียนเปลี่ยนทิศเกิดเป็นแก่งเป็นปอดของสายน้ำ ปรากฏการณ์พวกนี้หมดไปทันทีเมื่อสร้างฝายแล้วตะกอนมาถมหลังฝายจนเต็ม ตะกอนถมจนน้ำไหลเรียบเนียน อยู่เหนือตะกอน มีปลาลำธารไม่กี่ชนิดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แบบนี้ ส่วนใหญ่บ้านถูกถมอยู่ใต้ตะกอนหมดแล้ว ตามธรรมชาติแล้วลำธารไม่ใช่ที่เก็บตะกอน ตะกอนต้องไหลตามน้ำไปเรื่อยๆจนไปที่ปากแม่น้ำ เอาแร่ธาตุจากป่าไปสู่ทะเล ไปตกตะกอนเป็นป่าชายเลน ไปทำให้แผ่นดินงอกยาวออกไป ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งที่เราเกิดปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งก็เพราะตะกอนไหลไปไม่ถึงทะเลเนื่องจากติดเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่ง การสร้างฝายที่ไม่มีประโยชน์เช่นนี้จึงทำลายทั้งลำธารและปากแม่น้ำไปพร้อมๆกัน






3. เดินข้ามสะพานไป ก็จะเจอลำห้วยเล็กๆที่น้ำไหลแรงหน่อย เป็นห้วยที่น้ำไหลออกมาจากถ้ำปลา ห้วยนี้น้ำค่อนข้างลึก มองลงไปในห้วย เจอปลาตัวใหญ่ๆขนาดเป็นฝ่ามือหลายตัว นอกจากปลาพลวงก็เจอปลาต่างถิ่นเช่น ปลากระแห ปลาตะเพียนขาว ปลาไน ปลานิล และปลานวลจันทร์เทศ หลายท่านอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ! ปลากระแหกับปลาตะเพียนมันก็ปลาท้องถิ่นของไทยนี่ทำไมถึงบอกว่าเป็นปลาต่างถิ่น ความจริงก็คือการแยกว่าต่างถิ่นหรือไม่นั้น ไม่ได้แยกด้วยพรมแดนประเทศ แต่แยกด้วย สัตวภูมิศาสตร์ หรือการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ สำหรับจังหวัดแม่ฮ่องสอนเกือบทั้งจังหวัด น้ำไหลจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกลงสู่แม่น้ำสาละวิน ซึ่งช่วงหนึ่งไหลกั้นเป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและพม่าก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ปลาที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำสาละวิน ส่วนใหญ่แล้วเป็นปลาที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศพม่าและประเทศแถบเอเชียใต้ จะกล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ ปลาในลุ่มแม่น้ำสาละวิน มีความใกล้ชิดกับปลาจากลุ่มแม่น้ำคงคาในอินเดีย มากกว่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยซ้ำไป ปลาสวายก็คนละชนิดกัน ปลากดก็คนละชนิด ปลาแขยงก็คนละชนิด ปลาซิว ปลาแป้น ปลากระสูบ ปลาสังกะวาด ปลาหนามหลัง ปลารากกล้วย ปลาจาด ปลาค้อ ปลาแค้ห้วย ปลาค้างคาว ปลาดัก ปลาขยุย ฯลฯ เป็นคนละชนิดกับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการเอาปลาจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหรือโขงมาปล่อยในแหล่งน้ำในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็คือการปล่อยสัตว์ต่างถิ่นลงสู่แหล่งน้ำไทย ซึ่งจากที่ทราบมาส่วนใหญ่ก็ดำเนินการโดยภาครัฐทั้งสิ้น ทุกวันนี้มีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานก่อให้เกิดปัญหาไปทั่วโลกมากมาย ราชการไทยไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งของการซ้ำเติมระบบนิเวศด้วยการปล่อยสัตว์ต่างถิ่นลงในแหล่งน้ำไทย เมื่อเอ่ยถึงข้อนี้แล้วก็จะขอเอ่ยถึงโครงการผันน้ำต่างๆที่จะเอาน้ำจากลุ่มสาละวินไปลงลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีปลาจากลุ่มสาละวินไหลตามน้ำลงไปแน่ๆ ผันน้ำข้ามสัตวภูมิศาสตร์แบบนี้ ชาติที่เจริญแล้ว มีความรู้และวุฒิภาวะในการอนุรักษ์ธรรมชาติเค้าไม่ทำกันครับ “พี่ช่วยบอกเค้าให้เลิกปล่อยทีครับ ไอ้ปลาพวกนี้แต่ก่อนแถวบ้านผมไม่เคยมีและผมไม่อยากได้ ผมอยากได้ปลาท้องถิ่นของบ้านผม” น้องนักตกปลาที่ผมเจอที่แม่สะเรียงฝากบอกมาแบบนี้ครับ

4. เดินข้ามสะพานมา จะเจอทางเดินเรียบริมน้ำสะงีไปเรื่อยๆ พื้นที่ช่วงนี้แต่เดิมเข้าใจว่าเคยเป็นป่าริมลำธาร ปัจจุบันถูกถางให้โล่งกลายเป็นสนามหญ้าไปจนถึงชายตลิ่ง เหลือแต่ต้นไม้ขนาดใหญ่หน่อย การถางป่าริมลำธารแบบนี้ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เพราะระบบนิเวศในน้ำจะสมบูรณ์ได้ป่าสองฝั่งต้องสมบูรณ์ด้วย เพราะ
4.1 ป่าเป็นเหมือนแหล่งอาหารของลำธาร แมลงต่างๆที่อาศัยอยู่ในป่า พลาดตกน้ำก็เป็นอาหารปลา ลูกไม้ใบไม้กิ่งไม้ตกลงน้ำก็เป็นอาหารตั้งต้นของระบบนิเวศ ต้นไม้ใหญ่ๆพอล้มลงน้ำก็กลายเป็นที่อยู่อาศัยของปลาได้ พอไปถางจนเตียน สิ่งพวกนี้ก็แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย นี่ยังไม่นับรวมเวลาสัตว์ใหญ่ๆลงไปกินน้ำหรือไปเล่นน้ำที่จะกวนตะกอน เศษอาหาร และสัตว์เล็กๆให้หลุดออกมาจากที่ซ่อนให้ปลาขนาดใหญ่กว่าได้กิน
4.2 พอไม่มีต้นไม้ช่วยให้ร่มเงา แสงแดดที่ส่องถึงพื้นท้องน้ำมากไปจะทำให้สาหร่ายบางชนิดที่ปลาไม่ค่อยชอบกินโตเร็วเกินไป ปัญหานี่ไม่เกิดขึ้นเพราะก้อนหินถูกถมอยู่ใต้ตะกอนหมดแล้ว
4.3 ป่ารกๆริมน้ำมีหน้าที่ในการป้องกันการกัดเซาะชายตลิ่ง พอไม่มีแล้วลำธารก็จะบานออกเรื่อยๆ

5. เดินมาจนใกล้ถ้ำปลาก็จะเจอร้านขายอาหารปลา ในเมื่อกฎของอุทยานแห่งชาติข้อหนึ่งที่เห็นอยู่ทั่วไปคือ ห้ามให้อาหารสัตว์ ทำไมปลาถึงเป็นข้อยกเว้น? การให้อาหารปลาพลวงในหลายๆอุทยาน ก่อให้เกิดปัญหาต่อความหลากหลายทางชีวภาพของปลาในลำธาร เพราะปลาพลวงเป็นปลาที่ปรับตัวได้ดี กินอาหารทั้งพืชและสัตว์ ทั้งที่พื้นท้องน้ำ กลางน้ำและบนผิวน้ำ ในแต่ละช่วงอายุที่ขนาดต่างๆกันก็ใช้ระบบนิเวศย่อยในลำธารจนครบหมด การให้อาหารปลาพลวงเป็นการส่งเสริมให้มีปลาพลวงมากเกินไปในระบบนิเวศและเบียดบังที่ปลาชนิดอื่นๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

6. เดินมาจนถึงหน้าถ้ำปลา ก็จะเจอฝูงปลาพลวงตัวใหญ่น้อยมากมาย มองลงไปคร่าวๆก็ดูสวยดี แต่...มองดูทีละตัวจะพบว่ามีปลาพิการรวมอยู่ด้วยมากพอสมควรคะเนดูน่าจะสักร้อยละ 15-20 ของประชากร มีทั้งตัวสั้น ตัวงอ หน้าเบี้ยว ลองนึกภาพว่าเป็นประชากรสัตว์บก อย่าง ช้าง กวาง หรือลิง ถ้าเจอประชากรในอุทยานแห่งชาติ หลังค่อม หัวบุบ หน้าเบี้ยว ร้อยละสูงขนาดนี้ คงเป็นเรื่องใหญ่โต พอเป็นปลา ทั้งที่อช.ไทรโยค อช.น้ำตกเอราวัณ รวมทั้งที่ถ้ำปลา ปลาพิการกลับไม่มีคนสนใจ ทั้งนี้คาดว่าสาเหตุหลักๆของความพิการนี้คงมาจากการที่ปลาประชากรนี้ถูกกั้นอยู่ด้วยฝายมากมายที่สร้างกันขึ้นมาในลำน้ำสายนี้ (ถูกกฏหมายไหมนะ? อยู่ดีๆก็สร้างสิ่งกีดขวางลำน้ำกันมากมาย) เมื่อปลาไม่สามารถเคลื่อนย้ายเปลี่ยนถ่ายยีนกันได้ นานๆเข้าก็ต้องผสมพันธุ์กันในหมู่เครือญาติ เกิดปัญหาเลือดชิดและพิการในที่สุด ซึ่งปลาพิการเหล่านี้ ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ ก็อาจจะไม่รอดจนโตเพราะไม่สามารถแข่งขันกับปลาปรกติได้ แต่เมื่อมีการให้อาหารและป้องกันไม่ให้มีสัตว์ผู้ล่ามารบกวน ปลาพิการเหล่านี้ก็มีชีวิตต่อไปและส่งต่อยีนพิการนี้สู่รุ่นต่อๆไป





7. เที่ยวเสร็จ ก่อนกลับก็ต้องแวะฉี่นะครับ เดินเข้าไปในห้องน้ำเจอป้ายให้ความรู้เรื่องปลาต้องอุทานขึ้นมาในใจ ป้ายนี้ผิดหลายเรื่อง
7.1 ภาพปลาที่ใช้อยู่บนป้ายเป็นภาพที่ผมเป็นคนถ่าย และถูกนำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อันนี้บอกตรงๆว่าเริ่มชินกับการที่มีหน่วยงานราชการนำภาพของผมไปใช้โดยไม่ขออนุญาต ถือเสียว่าเป็นวิทยาทาน ทุกวันนี้เดินเข้าไปในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำแห่งไหนแล้วไม่มีภาพปลาผมถูกนำไปใช้นี่จะรู้สึกแปลกๆด้วยซ้ำไป (ราชการเอาไปใช้แค่บ่น ถ้าเป็นเอกชนเอาไปใช้เพื่อการค้า ฟ้องหาตังค์กินหนมนะจ๊ะ)
7.2 ปลาที่ให้ความรู้อยู่ แทนที่จะเป็นปลาท้องถิ่นของแถวนั้นก็ดันไปเอาปลาจากกาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง ซึ่งเป็นปลาจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามา
7.3 ภาพปลากับเนื้อเรื่องไม่ตรงกัน อันนี้โกรธ คือเอาภาพมาใช้แล้วยังเอามาใช้ให้ความรู้ผิดๆอีก
7.4 สะกดภาษาไทยผิดมากมาย ชื่อวิทยาศาสตร์ก็สะกดผิด และพิมพ์ผิดรูปแบบ


ผมบ่นจบแล้ว

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

สล็อตออนไลน์ เล่นบนมือถือ 
เล่นง่าย ได้เงินจริง 
ลุ้นแจ็คพอตตลอดเวลา 

สมัครได้ที่ สล็อตออนไลน์

ความเห็นที่ 2

คาสิโนออนไลน์ เล่นง่าย ได้จริง

เข้ามาเลย : คาสิโนออนไลน์

ความเห็นที่ 3

โปรโมชั่น ที่เราคัดสรรเป็นโปรโมชั่นที่ดีที่สุด สิทธิพิเศษที่ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ไว้ให้ทุกท่านได้ใช้บริการ ทั้ง เช้า สาย บ่าย ดึก พร้อมมอบสิทธิพิเศษแนะนำเพื่อนรับโบนัส ฝากต่อเนื่องครบสัปดาห์รับโบนัสเพิ่มไปอีก โปรเยอะ จุใจ ครบครัน ทุกช่วงเวลาจริง ๆ
>>   slotxo