Almost a Love Storyที่ เจ็ดคด
Almost a Love Storyที่ เจ็ดคด
วันศุกร์ต้นเดือนกันยายน ท่ามกลางฤดูฝนอันชุ่มฉ่ำ เจ้านายส่งผมไปทำสกู๊ปข่าวเล็กๆที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ใกล้ๆกับเขาใหญ่ ทำงานเสร็จก็ใกล้เที่ยง จะขึ้นไปเที่ยวเขาใหญ่ก็เกรงว่าจะใช้เวลามากเกินไป กอปรกับว่าเคยไปมาหลายครั้งแล้ว คราวนี้ก็เลยลองไปเที่ยวที่ใหม่ๆที่ไม่เคยไปดูบ้าง
หน้าฝนแบบนี้ ก็ต้องนึกถึงน้ำตกไว้ก่อนและหนึ่งในน้ำตกที่เห็นป้ายอยู่ระหว่างทาง ผ่านไปผ่านมาหลายครั้งแต่ไม่เคยแวะเข้าไปดูสักที ก็คือน้ำตกเจ็ดคด แห่งจังหวัดสระบุรี คิดได้ดังนี้แล้วก็เลยแวะกินข้าวแกงริมทาง ให้ท้องอิ่มมีแรงก่อน จึงเริ่มออกเดินทางต่อ
น้ำตกเจ็ดคดอยู่ใน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เรียกว่าใกล้ๆกรุงเทพฯแค่เพียงขับรถชั่วโมงนิดๆก็ถึงแล้ว ทางเข้าจากถนนมิตรภาพเป็นทางลาดยางไปตลอดแต่ก็ต้องลัดเลาะไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กนั่นแหล่ะ ถึงจะเห็นภูเขาลูกใหญ่สีเขียวทะมึนเป็นฉากอยู่ข้างหลัง
ที่จอดรถหน้าที่ทำการมีรถจอดอยู่เพียงคันเดียวเมื่อผมไปถึง มันเป็นรถ 4x4สายพันธุ์ยุโรปราคาแพงระยับที่มองดูแล้วไม่น่าจะมาโผล่อยู่ในสถานที่แบบนี้ ผมไม่ได้สนใจอะไรมากนัก จอดเจ้ากระป๋องคู่ใจแล้วก็จัดการเตรียมอุปกรณ์ถ่ายภาพเพื่อเดินเข้าป่า แต่ก็นึกขึ้นได้ว่าน่าจะมีน้ำติดเข้าไปสักขวด มองไปเห็นซุ่มขายน้ำอยู่ใกล้ๆ แต่ก็ไม่พบคนขาย มองเลยไปหลังร้านจึงเห็นว่าวันนี้เงียบขนาดเจ้าของร้านยังแอบไปงีบสบายอารมณ์อยู่บนแปลญวนหลังร้านนู้นแหล่ะ จะปลุกมาซื้อน้ำขวดหนึ่งก็เกรงใจ จะเดินเข้าป่าโดยไม่มีน้ำสักขวดก็คงไม่เข้าท่า ผมแกล้งเดินเกร่ไปเกร่มา สักพักพี่เค้าก็ตื่นขึ้นมาขายน้ำให้ผมจนได้ ลองชวนคุยดูเล่นๆจึงได้ความว่าน้ำตกแห่งนี้จะมีน้ำก็เฉพาะช่วงหน้าฝนแบบนี้เท่านั้น ส่วนในหน้าแล้ง บางทีน้ำจะหยุดไหลขังเป็นแอ่งๆเท่านั้น ซึ่งลักษณะแบบนี้ ไปมาหลายที่แล้วจะพบว่ามีปลาทั้งชนิดและจำนวนไม่มากนัก แต่ไม่เป็นไรน่า เราไปเที่ยวดูธรรมชาติอื่นๆและความงดงามของน้ำตกก็แล้วกัน
น้ำตกจะงามจะสวยแค่ไหน พอจะเดาได้จากขนาดและปริมาณของน้ำที่ไหลลงมาตามลำธารใต้น้ำตก วันนี้น้ำในลำธารมีมากทำให้ผมใจชื้นว่ายังไงก็คงมีน้ำตกสวยๆให้ดูแน่ แต่ข้อเสียของน้ำเยอะก็คือ จะหาดูปลายากไปด้วย แถมวันนี้ยังไม่มีอุปกรณ์อะไรพกติดตัวไปเนื่องจากว่าเป็นเขตคุ้มครอง
ทางเดินที่นี่จะเรียบริมน้ำไปเรื่อยๆจากที่จอดรถถึงน้ำตกเป็นระยะทางแค่กิโลกว่าๆเท่านั้น ป่าสองฝากในช่วงแรกไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ดูเหมือนป่าที่เพิ่งฟื้นตัวจากการแผ้วถ่าง ต่อเมื่อเดินไปเรื่อยๆนั่นแหล่ะ ความสมบูรณ์ของธรรมชาติถึงเริ่มปรากฏให้เห็น ลำธารขนาบอยู่กับทางเดินทางฝั่งซ้าย แต่ก็มีป่าทึบกั้นอยู่พอมองเห็นได้บ้างเท่านั้น ผมเลือกเดินตัดเข้าไปที่ริมน้ำในจุดแรกที่มีทางเดินให้เข้าไปได้อย่างสะดวก
แสงแดดยามบ่ายส่องผ่านยอดไม้ลงมาเป็นลำดูสวยงาม จิ้งเหลนห้วยตัวหนึ่งเกาะนิ่งอยู่บนหินก้อนกลมริมลำธาร เชื่องขนาดที่ว่าผมขยับเข้าไปใกล้มากๆก็ไม่หนี เลยจัดการถ่ายภาพมาเสีย ลองเดินสำรวจดูในน้ำบ้างก็ต้องผิดหวัง เพราะหาปลาไม่เจอสักตัว แต่พอหันกลับจะขึ้นฝั่งก็เหลือบไปเห็นจิ้งจกบ้านหางอ้วนตัวหนึ่ง จิ้งจกชนิดนี้ เป็นชนิดที่พบตามบ้านด้วย แต่พบน้อยที่สุดในบรรดา ๓ ชนิด ก็เลยถ่ายภาพมาให้ดูกัน
พักนี้ผมเริ่มสนใจต้นไม้ใบหญ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่เป็นหน้าที่สำรวจปลาได้ยากสักหน่อย วันนี้เลยเดินช้าๆด้อมๆมองๆตามสุมทุมพุ่มไม้ไปเรื่อยๆ เจอเห็ด เจอเฟิร์นก็ถ่ายภาพไว้ เสร็จแล้วก็กลับมาเปิดตำราที่บ้านดู หรือไม่ก็เอาภาพไปให้เพื่อนๆที่ถนัดทางด้านนี้ดูว่าเป็นชนิดไหน มีข้อมูลรายละเอียดอย่างไรบ้าง ก็สนุกไปอีกแบบเหมือนกัน
อีกครู่ใหญ่ ลำธารก็เลี้ยวขวาเข้ามาขวางเส้นทางเดินเอาไว้ มองไปก็เห็นสาวคนหนึ่งใส่กางเกงยีนส์และเสื้อยืดสีขาว กำลังก้มดูอะไรสักอย่างอยู่ตรงนั้น ทางเดินช่วงนี้เป็นทางตรง ผมจึงเห็นเธอแต่ไกล ไม่ต้องสงสัยว่าผมเจอเจ้าของรถหรูคันนั้นแล้ว เธอคงมากับแฟนผมนึกในใจ แต่เดินไปจนถึงลำธารแล้วผมก็ไม่เห็นคนอื่น เธอไม่ได้สนใจอะไรผมมากนัก หันมามองแว่บหนึ่งแล้วก็ก้มลงไปดูต้นไม้อะไรสักอย่างที่ขึ้นอยู่บนพื้นดินต่อ
ด้วยความอยากรู้อยากเห็น(นิสัยประจำตัว) ผมแอบชะโงกดูต้นไม้กลุ่มนั้นที่เธอมองอยู่ มันเป็นต้นไม้เลื้อยอยู่กับพื้นดิน ใบกลมๆเล็กๆคล้ายใบบัวบก “ต้นอะไรครับ?”ผมนั่งลงห่างๆแล้วชวนเธอคุย “มะลิดินค่ะ”เธอตอบ พร้อมกับหันหน้ามาทางผมอีกครั้งเมื่อผมเห็นเธอชัดๆจึงได้เห็นว่าเธอเป็นผู้หญิงที่หน้าตาดีมากคนหนึ่งทีเดียว เป็นหน้าตาแบบที่เหมาะกับสยามสแควร์หรือห้างสรรพสินค้าดังๆในกรุงเทพฯมากกว่าในป่าแบบนี้
หลังจากที่ผมแนะนำตัวเองว่าเป็นนักเขียนบทความเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและธรรมชาติที่เน้นไปทางสัตว์น้ำจืดเสียมาก ท่าทางของเธอก็เริ่มผ่อนคลายขึ้น ข้อสำคัญ คงไม่มีโจรป่าที่ไหนหอบอุปกรณ์ถ่ายรูปรุงรังเหมือนกับผมในตอนนั้น “เรียนมาทางด้านนี้เหรอครับ? หรือว่าชอบเฉยๆ?”ผมถามขณะที่เราเริ่มออกเดินข้ามลำธารตื้นๆไป “ทั้งสองอย่างค่ะ”เธอตอบ หยุดไปแป๊ปหนึ่งแล้วก็พูดต่อ “ชอบแล้วก็เลยเลือกเรียนทางด้านนี้”“แล้วสนใจกลุ่มไหนเป็นพิเศษหรือเปล่าครับ?”ผมชวนเธอคุยต่อ เพราะสังเกตว่าเพื่อนที่ชอบต้นไม้หลายๆคนมักจะมีกลุ่มที่ตนถนัดเป็นพิเศษ “อืม จริงๆแล้วก็ชอบเกือบทุกชนิด แต่ที่สนใจที่สุดก็เป็นพวกพรรณไม้ในวงศ์ดอกเข็มและดอกพุด มะลิดินนี่ก็ใช่เหมือนกัน”เธอพูดพลางชี้ไปที่มะลิดินกอเล็กๆอีกกอหนึ่ง กอนี้น่าสนใจกว่ากอแรกที่มีแต่ใบเพราะมีเมล็ดสีแดงเล็กๆคู่หนึ่งอยู่ด้วย “งั้นผมรบกวน บรรยายเรื่องต้นไม้กลุ่มนี้ไปเรื่อยๆได้ไหมครับ เผื่อจะได้เขียนเป็นบทความสักเรื่อง ดูแล้ววันนี้คงไม่ค่อยมีเรื่องปลาให้ผมเขียนอยู่แล้ว” ผมถือโอกาสตีซี้เสียดื้อๆ เธอยิ้ม “เอาอย่างนั้นเลยเหรอ งั้นก็จะลองพยายามดูค่ะ”
“อย่างมะลิดินนี่”เธอเริ่มพูดขึ้นเมื่อในที่สุดเราก็หาดอกสีขาวเล็กๆของมันจนเจอ “มันเป็นตัวอย่างหนึ่งของวงศ์ดอกเข็ม/ดอกพุด หรือที่เราเรียกว่า Rubiaceae พรรณไม้ในวงศ์นี้ความหลากหลายสูงมาก มีตั้งแต่เป็นไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม กาฝาก ไม้เถา และ ไม่เลื้อย ต้นเล็กๆ”ผมพยักหน้าหงึกๆตั้งใจฟัง “เดี๋ยวเดินไปอีกสักหน่อย เมื่อมีความชื้นสูงขึ้นคงจะได้เห็นอีกกลุ่ม เป็นพวกที่ขึ้นอยู่กับก้อนหินค่ะ”
ทางเดินในช่วงนี้เริ่มเป็นป่าที่สมบูรณ์มากขึ้น สองข้างทางเป็นป่าทึบ และในบ่ายที่มีเมฆมากแบบนี้ บางจุดมืดราวกับใกล้ค่ำเลยทีเดียว ลำธารไหลอยู่ข้างๆกับทางเดินทำให้ความชื้นรอบบริเวณสูงมาก
“ขอเวลานอกครับ”ผมพูดขึ้นเมื่อเหลือบไปเห็นเห็ดถ้วยสีสวยขึ้นอยู่บนขอนไม้ผุริมทาง “แวะถ่ายรูปหน่อย”ผมบอกเธอ “เห็ดถ้วย”เธอพูดขึ้น “ใช่ครับ เจอหลายครั้งแล้วหล่ะ แต่คราวนี้พิเศษตรงที่มี ๒ ชนิดคือแบบสีส้มเข้มที่มีขนน้อย กับแบบสีส้มอ่อนที่มีขนมากขึ้นอยู่ด้วยกันบนขอนเดียว เก็บไว้เป็นหลักฐานหน่อยก็ดี”
เดินไปได้อีกสักพัก เราก็พบต้นไม้ขนาดใหญ่ ๒-๓ ต้นและมีต้นเล็กๆชนิดเดียวกันอีกหลายต้นขึ้นอยู่ริมลำธารตรงจุดที่เราต้องข้ามน้ำอีกครั้ง บางต้นกำลังแตกใบอ่อนเป็นพวงสีขาว ผมสังเกตว่าเธอก็มองอยู่เหมือนกัน “ทราบไหมครับว่าต้นอะไร?”ผมถามลองของ เพราะสำหรับคนชอบต้นไม้แล้วไม่น่าจะไม่รู้จักต้นไม้ชนิดนี้ เธอคงจับได้จากน้ำเสียงว่าเป็นการถามลองภูมิมากกว่าอยากรู้จริงๆจังๆ “อโศกน้ำ พบได้ทั่วไปตามป่าริมน้ำ”เธอหันมาตอบ ยิ้มมุมปาก ประมาณว่า อย่าลองของดีกว่า “Seraca indica”ผมบอกชื่อวิทยาศาสตร์ แสดงภูมิสักเล็กน้อย โชคดีมากที่เป็นต้นนี้เพราะจริงๆแล้ว ผมจำชื่อวิทยาศาสตร์ของไม้ยืนต้นได้ไม่กี่ชนิด...เธอมองหน้าผมทึ่งๆ ผมแอบขำในใจ
ผีเสื้อตัวใหญ่สีขาว ๒ ตัวเกาะอยู่บนหินปลิ่มน้ำ ผมค่อยๆย่องเข้าไปจึงพบว่ามันกำลังเกาะอยู่บนปูน้ำตกตัวใหญ่ตัวหนึ่ง จึงเข้าไปถ่ายรูปที่น่าสนใจไว้ เพราะไม่เคยเห็นว่าสัตว์สองชนิดนี้เคยมีปฏิสัมพันธ์กันมาก่อน แต่เมื่อเข้าไปใกล้เข้าจึงพบว่าปูตัวนี้ตายแล้ว ผีเสื้อคงมาดูดน้ำเลี้ยงที่มีแร่ธาตุในตัวปูเสียมากกว่า ส่วนเธอ กำลังง่วนหาต้นอะไรสักอย่างอยู่บนโขดหินริมลำธาร
“ผีเสื้อกับปู แปลกดีนะ”เธอพูดขึ้นมาจากด้านหลัง ในขณะที่ผมกำลังง่วนอยู่กับการถ่ายภาพ
“ปูตายแล้วครับ แต่ในความเป็นซากปูเนี๊ย เจ้านี่คือ ปูน้ำตกชนิดที่พบในน้ำตกไม่กี่แห่งในเขตจังหวัดสระบุรีเท่านั้น ส่วนผีเสื้อ...คงต้องกลับไปเปิดตำรา”ผมบอกเธอ
“อืม.....น่าจะเป็นผีเสื้อเหลืองหนาม...”เธอเว้นไปสักพัก รอให้ผีเสื้อขยับให้เห็นด้านข้างชัดขึ้น “มีจุดกลมๆ.... ผีเสื้อเหลืองหนามประดับเพชร” เธอตอบทำหน้าทรงภูมิเต็มที่
“ไม่ได้อำ?”ผมถามเธอ
“ไม่ได้อำ”เธอตอบ
“ไม่เชื่อไปเปิดตำราของคุณดูได้เลย ส่วนปู...”เธอเว้นไปพักหนึ่ง “น่าเอาไปทำส้มตำ”เธอพูดแล้วยิ้ม ทีเล่นทีจริง
ผม “.......”
“เมื่อกี้หา พรรณไม้วงศ์ดอกพุดเจออีกชนิดหนึ่งแล้ว คุณอยากเห็นไหม”เธอถาม แต่จริงๆแล้วคงจะรู้คำตอบอยู่แล้ว เมื่อผมพยักหน้าเธอจึงนำผมไปที่หน้าผาหินเล็กๆแห่งหนึ่งที่ริมน้ำอีกฝากหนึ่ง
“Argostemma”เธอแกล้งพูดชื่อวิทยาศาสตร์เร็วๆ เหมือนจะแกล้งคืนเรื่องอโศกน้ำ เมื่อผมทำหน้างงได้ที่จึงบอกชื่อไทย “ต้นประดับหินค่ะ เป็นหนึ่งในวงศ์ดอกเข็ม/ดอกพุดที่หน้าตาแปลกที่สุดชนิดหนึ่ง”เธอบรรยาย ซึ่งเจ้าต้นไม้ชนิดนี้ก็แปลกดีจริงๆ มันขึ้นอยู่ในซอกหินเล็กๆริมหน้าผา ชูช่อออกมา มีใบอยู่ไม่กี่ใบ และมีดอกเล็กๆสีขาว ชูออกมาตรงยอด “ผมเคยเห็นนะ ต้นไม้พวกนี้ แต่ไม่เคยรู้ว่ามันคือต้นอะไร” เธอยิ้มก่อนจะเล่าต่อเมื่อเห็นผมยังทำท่าตั้งใจฟังอยู่ “วงศ์นี้พบทั่วประเทศค่ะ พวกนี้ชอบความชื้นสูงมาก จึงมักพบขึ้นตามริมน้ำในป่าที่สมบูรณ์มากๆเท่านั้น หน้าแล้งยอดพวกนี้ก็จะแห้งเหี่ยวไปหมดเหลือแต่เหง้าอยู่ในซอกหิน รอฤดูฝนถัดไป ถึงจะงอกขึ้นมาใหม่” เธอบรรยายยาว “กระจายพันธุ์กว้างแบบนี้คงมีหลายชนิดสิครับ?”ผมถามหลังจากที่บรรจงถ่ายภาพประดับหินไปหลายภาพ “ในเมืองไทยมีประมาณ ๓๐ ชนิด ถ้าจำไม่ผิดนะ ส่วนต้นนี้ ไม่กล้ายืนยัน เป็นกลุ่มที่จำแนกชนิดยากค่ะ”
ทางเดินในช่วงท้ายก่อนถึงน้ำตกชื้นมากเป็นพิเศษ พืชรักความชื้นอย่าง เฟิร์นและปาล์ม รวมไปถึงเห็ดต่างๆจึงมีขึ้นกันอยู่อย่างหนาแน่นขึ้น รวมไปถึงพืชคลุมดินใบสีเข้มเกือบดำกลุ่มหนึ่ง ผมชี้ให้เธอดู และหยุดถ่ายภาพ เพราะนานๆจะเจอใบไม้สีเข้มแบบนี้สักทีหนึ่ง
“คุ้นๆนะ”เธอพูดขณะที่ผมกำลังถ่ายภาพ “เหมือนจะเรียกว่าต้นปีกแมลงสาบ”
“ชื่อแปลกดี แต่ก็เข้าใจตั้งนะ เหมือนมากทีเดียว”
“จริงๆมันก็สวยนะ แต่ชื่อไม่น่ารักเลย”เธอพูดทำปากเบ้ๆ
อีกไม่นาน เราก็เดินถึงน้ำตกเจ็ดคด มีชายหญิงคู่หนึ่ง อยู่แถวนั้นอยู่แล้ว ฝ่ายชายกำลังเล่นน้ำด้วยความเพลิดเพลิน ขณะที่ผู้หญิงยืนดูอยู่บนฝั่ง เรา (ผมขอแอบใช้คำนี้หน่อยเถอะ) เดินไปยืนอยู่ที่ริมตลิ่ง ใต้อโศกเหลืองต้นใหญ่ ดูน้ำตกที่ เทลงมาเป็นสายส่งเสียงคำรามก้องไปทั่วหุบเขาพร้อมส่งละอองหมอกจางๆไปทั่วบริเวณ เราหยุดยืนดูกันอยู่พักหนึ่ง ไม่ถึงกับตื่นตะลึง เพราะไม่ได้อลังการขนาดนั้น ไม่ถึงกับตกอยู่ในภวังค์ เพราะไม่ได้งดงามน่าประทับใจอะไรนัก แต่น้ำตกขนาดใหญ่ทุกแห่ง มีพลังอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า มนุษย์เหลือตัวเล็กนิดเดียวเอง
“น้ำเยอะดีนะ”ผมชวนเธอคุย แบบทื่อๆ
“นั่นสิ กลางหน้าฝนนี่”
“ก็จริง”ผมตอบสั้นๆ
เธอพยักหน้า เป็นความอึดอัดของชายหนุ่มกับหญิงสาว ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ดันบังเอิญมาตกอยู่ท่ามกลางบรรยากาศกึ่งโรแมนติก ผมแก้เขินด้วยการทำเป็นตั้งใจถ่ายรูป ในขณะที่เธอ...ไม่รู้สิ ผมไม่รู้ว่าเธอทำอะไร
“ต้นนี้มันผักหนามใช่ไหม?”ผมชวนเธอคุยในเรื่องที่เราพอจะมีความรู้ร่วมกันบ้าง เมื่อเจอต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ริมน้ำ ทำลายบรรยากาศที่เริ่มรู้สึกว่าชักจะเงียบเกินไปแล้ว
“น่าจะใช่นะ ใบมันมีหลายลักษณะ แตกต่างกันไปตามพื้นที่”เธอตอบท่าทาง ดีใจที่ผมชวนคุยก่อน
“นั่นสิ ส่วนใหญ่ที่เห็นมันจะเป็นใบหยักๆแตกๆ ต้นที่นี่ใบเป็นเหมือนบูมเมอแรง แล้วมีก้านหนามๆมาต่ออยู่ด้านล่าง”ผมรีบหาเรื่องพูดอะไรไปเรื่อย
“เก๋ดี เคยเห็นมีคนเอาไปขายเป็นไม้ประดับสวนน้ำเหมือนกัน หน้าตาแบบนี้แหล่ะ” เธอพูด แล้วสักพักก็ทำหน้าเหมือนเพิ่งนึกอะไรได้ “นี่ เมื่อกี้เจอประดับหินอีกกลุ่ม คุณมาถ่ายรูปไว้สิ มีอะไรจะให้ทาย”
เมื่อไปถึงที่กลุ่มหินริมลำธารกลุ่มหนึ่ง เธอก็ชี้ให้ดูประดับหินต้นเล็กๆ ๒-๓ ต้นที่ขึ้นอยู่
“อ่ะ คุณว่าชนิดเดียวกับต้นเมื่อกี้ไหม?”เธอถามผม กึ่งลองภูมิ
“อืม....ดอกเหมือนกันเลย แต่....”ผมตอบ
“แต่?”เธอกอดอก เลิกคิ้วถาม บรรยายท่าทางว่าไงดี น่ารักอ่ะ...
“ใบมันไม่เหมือนกัน” ผมตอบด้วยความระมัดระวังเต็มที่ เมื่อเห็นเธอยังไม่พูดอะไร ก็พอจะเดาได้ว่าตูมาถูกทางแล้ว จึงลองมั่วต่อ “ต้นกลุ่มเมื่อกี้มันขึ้นมาเป็นต้น มีใบ ๒-๓ ใบแล้วก็มีดอกที่ยอด แต่กลุ่มนี้ มันมีใบใหญ่เป็นใบหลักออกมาใบเดียว แล้วช่อดอกแทงออกมาจากโคน ผมว่า น่าจะเป็นคนละชนิดกัน ถึงแม้ความรู้สึกมันจะค้านๆอยู่เพราะดอกมันเหมือนกันมาก ปกติพืชเค้าดูกันที่ดอกไม่ใช่เหรอ?”
“ฮื้ม เก่งแหะ ถูกค่ะมันเป็นคนละชนิดกัน ชนิดนี่มีลักษณะเด่นที่ใบใหญ่ใบเดียวนั่นจริงๆ แต่...ไม่บอกหรอกว่าชื่อชนิดอะไร เก่งนักต้องปล่อยให้ไปหาเอง”
“อ้าว”
“จริง คุณต้องลองค้นคว้าดูบ้างแล้วจะรู้ว่าพรรณไม้กลุ่มนี้น่าสนใจแค่ไหน ดูท่าทางแล้วคุณคงพอมีวิธีหาได้”
“อย่างนั้นก็ได้ งั้นผมขอถ่ายรูปก่อนนะ” ผมง่วนถ่ายภาพอยู่พักใหญ่ทีเดียว ก่อนที่เสียงเธอจะดังมาแต่ไกล “เมื่อกี้ คุณบอกว่าคุณถนัดเรื่องปลาน้ำจืดใช่ไหม?”
“ครับ พอรู้บ้าง”ผมตอบเธอ
“ตรงนี้มีปลาตั้งเยอะ ตาคุณบรรยายบ้างแล้ว”เธอพูดพลางชี้ลงไปที่แอ่งน้ำเล็กๆที่น้ำไหลผ่านไม่แรงนัก เมื่อผมเดินไปถึง จึงพบว่ามีปลาตัวเล็กๆว่ายกันอยู่หลายตัวทีเดียว
“ตัวนั้น ปลาซิวควายน้ำตก บางทีก็เรียกว่าปลาซิวสุมาตรา”ผมชี้ให้เธอดูปลาซิวสุดโหลประจำน้ำตกในประเทศไทย ที่มีเกล็ดสีเงินและแถบสีดำพาดไปตามยาวลำตัว ในขณะที่เรานั่งอยู่บนหินก้อนหนึ่งเหนือแอ่งเล็กๆนั้น
“ทำไมถึงชื่อซิวสุมาตราหล่ะ?”
“ก็มันเป็นปลาซิวนะสิ สกุล Rasbora” ผมตอบ ทำหน้าซื่อๆ
“หมายถึงตรง สุมาตราหย่ะ”เธอทำตาเขียว
“เพราะชื่อวิทยาศาสตร์ของมัน Rasbora sumartranaพบครั้งแรกบนเกาะสุมาตราแต่จริงๆแล้วกระจายพันธุ์กว้างมากๆ ส่วนตัวนั้น...”ผมชี้ไปที่ปลาเกล็ดตัวอ้วนป้อม มีครีบสีส้มเรือยๆ “เป็นปลาตะเพียนน้ำตก โหลมากตามน้ำตกทั่วประเทศเช่นกัน”
“ไม่ยักบอกชื่อวิทยาศาสตร์หล่ะ ชาวลาติน?”เธอแซว
“Puntius binotatusแปลว่าปลาตะเพียนที่มี ๒ จุด ที่โคนครีบหลังนั่นจุดหนึ่ง ที่โคนหางนั่นอีกจุดหนึ่ง”เธอเปิดโอกาสให้แล้ว ผมจึงโชว์ภูมิเต็มที่
ลมพัดเอาใบไม้ใบหนึ่งตกลงบนผิวน้ำใกล้ๆกับตรงที่เรานั่งอยู่ ปลาซิวควายน้ำตกหลายตัวว่ายโฉบขึ้นมา เมื่อเห็นว่าไม่ใช่ของกินก็กลับลงไปว่ายวนไปมาเหมือนเดิม
“ตัวนี้หล่ะ น่ารักดีจัง”เธอชี้ไปที่ปลาค้อตัวหนึ่ง ที่กำลังหากินงุดๆอยู่ตามพื้นกรวดใกล้ๆกับเท้าของเธอ
“ตาดีแหะ ปลาค้อครับ กลุ่มนี้ในเมืองไทยมีเกือบ ๖๐ ชนิดหลายสกุลด้วยกัน ส่วนตัวนี้อยู่ในสกุล Nemacheilusชื่อชนิดผมไม่บอก ปล่อยให้ไปหาเองบ้าง แล้วคุณจะได้รู้ว่า ปลาน้ำจืดไทยน่าสนใจแค่ไหน”ผมได้โอกาสแก้ทางคืนบ้าง หลังจากโดนเธอปล่อยให้ไปหาชื่อต้นประดับหิน
“ขี้โกง เมื่อกี้คุณถ่ายภาพไว้”เธอรับคำท้าแต่ยังไม่ยอมเสียเปรียบ
“เดี๋ยวผมวาดภาพตัวนี้ไว้ให้ ขอยืมสมุดโน๊ทคุณหน่อยสิ” เธอส่งสมุดโน๊ทที่เหน็บไว้ที่กระเป๋าเป้ใบเล็กให้ ผมใช่เวลาไม่นานก็วาดภาพปลาค้อตัวนั้นเสร็จ พร้อมทั้งเขียนชื่อสกุล ตามด้วย..... ไว้ให้เธอเติมชื่อชนิดด้วย
“ใบ้ให้ว่าปลาตัวนี้มีจุดเด่น ที่ไม่เด่น คือสีของมันถือว่าจืดมากในบรรดาปลาค้อทั้งหลาย”
“อืม”เธอรีบจดคำใบ้ลงไปที่ด้านหลังกระดาษแผ่นนั้น “ภาพวาดก็ไม่สวย ไม่ใบ้เพิ่มหน่อยเหรอ?”เธอยังต่อลอง
“แค่นี้ก็เกินพอแล้วหล่ะ คราวนี้คุณต้องสะกดชื่อสกุลของต้นประดับหินให้ผมด้วย อาโก อาม่า อะไรเนี๊ย ไม่งั้นแค่หาวิธีสะกดชื่อสกุลให้ถูกผมก็แย่แล้ว”
“อา-โก-สเต็ม-มา หย่ะ”เธอค้อน ก่อนที่จะเขียน Argostemmaเป็นภาษาอังกฤษส่งให้ผม รายมือของเธอเรียบร้อยสวย ต่างจากไก่เขี่ยของผมอย่างสิ้นเชิง
“มาเที่ยวป่าคนเดียวไม่กลัวเหรอ?”ผมถามเธอประโยคเชยๆ เมื่อเราทำท่าจะหมดเรื่องคุยอีกครั้ง
“กลัวเหมือนกัน แต่ผ่านเห็นป้ายแล้วก็อยากมา”
“ผ่าน?”
“ค่ะ ไปเยี่ยมพี่ชายมา แกเปิดฟาร์มวัวนมกับสวนองุ่นเล็กๆอยู่แถวปากช่อง”
“พี่ชายจริงๆ?”
“พี่ชายจริงๆสิ”เธอยิ้ม
“แล้วคุณหล่ะ ตอนนี้ทำอะไรอยู่? ผมหน่ะ อย่างที่บอกไปแล้ว เป็นนักเขียนสารคดีไส้แห้ง”
“กำลังรอจะไปเรียนต่อ ปริญญาโทค่ะ”
“ที่?”
“ฮอลแลนด์ ทางด้านพฤกษศาสตร์”
“ผมว่าคุณจะเป็นนักพฤกษศาสตร์ที่ดีได้นะ ว่าแต่ ใช่เวลาเรียนนานมากไหม?”
“แล้วแต่ค่ะ ๒ หรือ ๓ ปี ถ้าขยันขึ้นมาต่อเอก ด้วยก็เพิ่มเข้าไปอีกเท่าตัว”
“โห ขยันเรียนนะ”
“ไม่รู้จะทำอะไรมากกว่า เรียนทางด้านนี้หางานยากจะตาย แต่มันชอบหน่ะ”เธอตอบ มองไปทางกอประดับหิน
“ไปช่วยพี่ชายปลูกหญ้าให้วัวกินก็ได้”ผมเสนอเล่นๆ
“นั่นสิ”เธอตอบยิ้มมุมปากนิดๆ “อ้อ คุณก็ดูท่าจะเป็นคนเขียนสารคดีที่ดีนะ”
“ดูจาก?”
“ช่างถาม”แล้วเธอก็ทำหน้าทะเล้นๆจมูกย่น แบบที่เด็กสยามชอบทำกันในสตูติโอถ่ายรูป
เย็นมากแล้ว เมฆฝนก้อนใหญ่ถูกลมแรง พัดมาบังแสงอาทิตย์ที่เมื่อสักครู่ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง
“มาตามนัดทุกวันสิน่า สี่ห้าโมงเป็นตกทุกที”ผมบ่นในขณะที่เรารีบจ้ำกลับไปที่จอดรถ ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าขามามากทีเดียว เมื่อเราไม่หยุดแวะดูอะไร
เมื่อถึงที่จอดรถ ฝนก็แทลงมาห่าใหญ่พอดี เราเข้าไปหลบกันอยู่ที่ซุ่มขายน้ำ พี่คนขาย พร้อมกับเปลญวนไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว บรรยากาศ เหมือนในนิยายน้ำเน่าไม่มีผิด ต่างกันที่เรายังไม่ทันเปียก ผมดีใจ เพราะถ้ากล้องพังไม่รู้จะมีอะไรไปทำมาหากิน
“คงต้องกลับแล้ว”เธอพูดขึ้น
“ครับ ผมก็ต้องกลับแล้วเหมือนกัน”
“นัดแฟนไว้หล่ะสิ”
“ครับ แฟนเต็มตู้เลย น้องปลาของผม ป่านนี้รอกินอาหารกันแย่แล้ว”
เธอหัวเราะ “งั้น คงต้องลากันตรงนี้”
“เออ...”ผมอ้ำๆอึ้งๆ “ผมขออีเมลของคุณไว้ได้ไหม เจอชื่อประดับหินผมจะได้ตอบคุณได้ไง”ผมหาข้ออ้าง ในการติดต่อกับเธออีก
“อืม”เธอเงียบไปพักหนึ่งแล้วพูดต่อ “คุณเชื่อไหม ว่าเราจะได้เจอกันอีก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ให้อีเมลคุณไปวันนี้?”
“ถ้าคุณพูดแบบนั้น ผมคงไม่มีทางเลือกอื่น”ผมตอบ ผิดหวัง แต่ไม่มีทางเลือก ผมไม่ใช่ค้นชอบเซ้าซี้
“งั้น สวัสดีค่ะ”เธอหันมายิ้มอีกครั้ง ก่อนที่จะหยิบกุญแจรถออกมากดรีโมทเปิดล๊อค เสียงดังปริ๊บแล้ววิ่งฝ่าฝนไปขึ้นรถ เธอหันมายิ้มและโบกมือให้ผมอีกครั้งก่อนที่จะขับรถออกไป ผมยืนมองรถ4x4 สายพันธุ์ยุโรปคันนั้นจนลับตา จึงไปขึ้นรถเก๋งคันเล็กๆที่สู้ผ่อนมาหลายปีของตัวเอง
วันจันทร์ ผมเข้าไปทำงานที่ออฟฟิสนิตยสารของผมตามปกติ ออกจะเหี่ยวๆสักหน่อย เมื่อคิดถึงเธอคนนั้น ชื่อเธอผมก็ยังไม่ได้ถามเลย ทำไมถึงทื่อแบบนี้ก็ไม่รู้ “เชื่อไหมว่าเราจะได้เจอกันอีก?”ผมคิดทวนประโยคที่เธอพูดไว้ก่อนจะจากไป นึกขึ้นได้ว่ายังไงเสียก็ต้องรองหาชื่อของดอกประดับหินให้เจอ จึงควักเอากระดาษแผ่นเล็กที่เธอเขียนไว้ให้ขึ้นมา ลองพิมพ์ลงไปในโปรแกรมค้นหาทางอินเตอร์เน็ทดู แต่หาได้ไม่นาน ยังไม่ทันเจออะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เจ้านายก็เข้ามาทวงต้นฉบับ จึงต้องนั่งทำงาน และผมก็งานยุ่งอยู่อีกหลายวัน จนกระทั่งวันศุกร์ เมื่อได้ภาพสไลด์จากน้ำตกเจ็ดคดที่ไปส่งล้างไว้นั่นแหล่ะจึงนึกถึงเธอขึ้นอีกครั้ง
เสาร์อาทิตย์นั้น ผมนั่งหาข้อมูล ทั้งต้นประดับหิน และพรรณไม้ในวงศ์ดอกพุด/ดอกเข็ม ไล่สอบถามเพื่อนฝูงที่พอจะรู้เรื่องต้นไม้หลายต่อหลายคน ในที่สุดจึงพบว่าเพิ่งมีหนังสือออกใหม่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช เล่มหนึ่งชื่อ “พืชวงศ์เข็มของประเทศไทย”หรือ “Rubiaceae of Thailand”
บ่ายวันจันทร์ผมลาเจ้านาย อ้างว่าออกไปหาข้อมูลในการเขียนบทความ เพื่อไปซื้อหนังสือเล่มดังกล่าวถึงห้องสมุดที่กรมฯ กลับมาเปิดดูคร่าวๆจึงพบว่าเป็นจริงอย่างที่เธอว่าไว้ พืชในวงศ์นี้มีมากมายจริงๆ ตั้งแต่ต้นเล็กๆอย่างมะลิดินหรือประดับหินไปจนถึงไม้ยืนต้นขนาดใหญ่อย่างต้นคำมอกหลวง มีไม้ที่เป็นวัชพืชไม่มีใครสนใจจนไร้ชื่อไทยไปจนถึงต้นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างกาแฟและลูกยอ มีต้นไม้ที่มีดอกใบน่ารักๆอย่างพวกดอกเข็ม ดอกพุดไปจนถึงต้นไม้ที่มีหนามแหลมเหมือนเขี้ยวงูอย่างพวกคัดเค้า ในหนังสือเล่มนี้มีรายละเอียดของต้นประดับหินด้วย และจากภาพและคำบรรยายสั้นๆ ผมก็พอจะเดาได้แล้วว่าประดับหินที่น้ำตกเจ็คคดเป็นชนิดไหน แต่...ผมจะหาเธอเจอได้ที่ไหนกัน? หาชื่อต้นไม้เจอแล้วแทนที่จะดีใจ กลับพาเศร้าไปอีก ความรู้สึกของผมตอนนั้นเหมือนต้นประดับหินในหน้าแล้ง ห่อเหี่ยวจนเหลือแต่เหง้าหลบอยู่ในซอกหิน
ตกเย็น ผมเข้าไปเที่ยวที่เว็บไซด์ปลาต่างๆที่แวะเวียนเข้าไปอยู่เป็นประจำ และไปจบลงที่ siamensis.org เว็บไซด์เกี่ยวกับปลาไทยที่ผมต้องมาดูอยู่เรื่อยๆ วันนี้มีกระทู้ใหม่หลายกระทู้ มีกระทู้หนึ่ง ตั้งคำถามสั้นๆว่า “อยากรู้จักปลาค้อค่ะ”คนถาม ใช่ชื่อว่า...“ดอกพุด”ผมใจเต้น หวังว่าจะเป็นเธอ เมื่อกดเข้าไปก็เห็นภาพปลาค้อตัวที่ผมวาดไว้ตัวนั้น ข้อความถามว่า “อยากได้ชื่อและข้อมูลของปลาค้อตัวในภาพนี่ค่ะ มีคนบอกว่าอยู่ในสกุล Nemacheilus ตามหาเว็บไซด์เกี่ยวกับปลาไทยมาเป็นอาทิตย์เพิ่งจะเจอที่นี่ รบกวนด้วยนะค่ะ”
เป็นเธอจริงๆด้วย ผมดีใจจน...ไม่รู้จะบรรยายอย่างไรดี
“เช็คดูแล้ว ปรากฏว่าเป็นประดับหินใบเดี่ยวหรือ Argostemma monophyllumครับ”ผมเข้าไปตอบ เป็นความคิดเห็นแรกของกระทู้ และนั่งยิ้มอยู่คนเดียวไปจนเลิกงาน เฝ้าrefreshหน้ากระทู้อยู่ตลอดเวลารอว่าเมื่อไหร่เธอจะเข้ามาสักที
“:D ถูกแหะ” เจ้าของกระทู้ตอบกลับมาสั้นๆในตอนหัวค่ำ ก่อนที่เพื่อนผมจะเข้ามาตอบเธอว่า ปลาค้อตัวนั้นคือ Nemacheilus pallidusปลาค้อลายจืดจอมโหลอีกชนิดหนึ่งแบบงงๆว่าผมเข้าไปตอบอะไรนอกเรื่อง
“เห็นไหมบอกแล้วว่าจะต้องได้เจอกันอีก”เธอพูดเป็นประโยคแรกเมื่อเรานัดเจอกันที่ร้านกาแฟใกล้ๆที่ทำงานผม วันนี้เธอในชุดสีชมพูอ่อนกระโปงบานๆกับเสื้อยืดคอวีเข้ารูปน่ารักกว่าครั้งที่เจอในป่าเสียอีก ผมหยิบเอาสไลด์ชุดที่ถ่ายจากน้ำตกเจ็ดคตมาให้เธอดู ทั้งจิ้งจกและจิ้งเหลน สาวคนนี้บอกว่าน่ารักได้ทั้งสองตัว เราพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน และช่วยกันจำแนกชนิดของเห็ดกับผีเสื้อที่ผมถ่ายไว้ ด้วยหนังสือจำแนกชนิดที่ผมพกติดมาด้วย (แบบว่าทำการบ้านมาดีอ่ะครับ) หนุ่มหลายคนแอบมองเธอเมื่อเดินผ่านโต๊ะของเราไป ทำให้ผมอดภูมิใจเล็กๆไม่ได้ เราเปิดดูสไลด์ไปเรื่อยๆ จนถึงภาพชุดสุดท้ายที่ผมถ่ายไว้ก่อนกลับ “ต้นนี้ ผมจำขึ้นใจเลย ประดับหินใบเดี่ยว Argostemma monophyllum”
เธอยิ้มมุมปาก “คุณหาชื่อประดับหินเจอได้ยังไง?”ผมไม่ตอบ หันไปหยิบหนังสือจากเป้ขึ้นมาแกว่งให้เธอดู
“กะแล้วเชียว บอกแล้วเห็นไหมว่าคุณจะหาเจอ”
“ครับ ผมหาเจอแล้ว”
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
เรื่องจริงป่ะเนี้ย
มิน่าวีซ่าผ่านยาก 5555
ความเห็นที่ 2
อ้าว บทจะจบก็จบเลย มีต่อภาค2 ไหมครับ
ตั้งแต่อ่านบทความมา ชอบบบบบบบบบ อันนี้มากๆเลยครับคุณนณณ์ ฮาๆๆ
อยากตะโกนดังๆว่า"" อิจฉาโว้ยยยยยยยยยยย!!""
ได้ทั้งสาระ และความกระชุ่มกระชวย ฮิ้วๆๆ
ผมจะมีโอกาสแบบนี้กะเค้าบ้างไหมเนีย
ความเห็นที่ 3
อ่านไปยิ่มไป ฮ่าๆๆ....
ความเห็นที่ 4
สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า "ความรัก"
ยิ้มได้ทุกครั้งที่เกิดความรู้สึกนี้
แจ๋วไปเลย
ความเห็นที่ 5
ตาร้อนผ่าวๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
ความเห็นที่ 6
นิยายแนว สารคดีรัก ^^ 555+
ความเห็นที่ 7
แจ่มจริง ๆ ครับ
อ่านไปเขินไป ลุ้นสุด ๆ
ความเห็นที่ 8
น่าจะมีกด "ถูกใจ" แบบในเฟชบุคน่ะครับ พี่นนณ์ ผมจะกดให้ถี่ยิกเลยครับ
เมื่อไหร่จะเจออย่างนี้บ้างครับ
ความเห็นที่ 9
รออ่านต่อนะคะ
หัวใจมันพองๆ ปากอมยิ้ม
ตบท้ายด้วยอารมณ์ที่มีความสุขคะ
เดี๋ยวขอส่งให้เพื่อนอ่านดีกว่า เผื่อเพื่อนจะเอาไปทำเป็นบทภาพยนต์ อิ อิ
ความเห็นที่ 10
น่ารักดีครับ อยากเจอแบบนี้มั่งจัง ^ ^
ความเห็นที่ 11
แม่เซ็งค่ะ callus ขอเสนอว่า พระเอกนี่...ไม่ต้องหล่อขนาดพี่ติ๊ก แต่ต้องดูมีเสน่ห์ อิอิ (เดี๋ยวคุณนนณ์น้อยใจ) ส่วนนางเอกขอแบบ พอลล่า เลยค่ะ 55+
นาย aimbryo บอกว่า เวลาอ่านต้องเปิดเพลง " ยินดีที่ไม่รู้จัก" ประกอบภาพยนตร์เรื่อง กวน มึน โฮ ด้วยนะได้เข้ากัน ว่าแต่.... คราวนี้ไม่มี DJ พี่อ้อย พี่ฉอด แฮะ แต่กลายเป็น www.siamensis.org แทน โรแมนติกดีแท้
ขอย้ำด้วยคนว่า อิจฉามากกๆๆๆๆๆๆ
ความเห็นที่ 11.1
ขอเป็นเพลง "รักไม่ต้องการเวลา" ดีกว่าครับ นิ่มๆเรียบๆดีครับ อิ อิ
ความเห็นที่ 11.1.1
ต้องเวอร์ชั่นนี้ด้วย หนูนาร้่อง เพราะมาก หุๆ
http://www.youtube.com/watch?v=Nz5tYBsLxlE
ความเห็นที่ 12
โรแมนติก มากพี่ นึกภาพตามแล้วสุดบรรยาย
ความเห็นที่ 13
ยังไม่นึกถึงพระเอกเลย เพราะยังไม่ค่อยได้เห็นหน้าคนที่สนใจแนวนี้จากเวบอิ อิ เพราะส่วนใหญ่เห็นแต่รูปแมลง และสัตว์ อิ อิ เลยนึกแนวหน้า บุคคลิกไม่ออก
แต่ตอนนี้นึกออกอย่างคะว่า คนที่สนใจสิ่งเหล่านี้ จิตใจเค้าต้องละเอียด และเย็นคะ และดูสะอาดแนวธรรมชาติ ไม่ใช่คุณชาย อิ อิ ใครเห็นด้วยบอกด้วยนะคะ เพราะคิดไว้ แต่ขัดแย้งก็บอกด้วย อิ อิ
เพื่อนเขียนบทละคร บทภาพยนต์ เคยบอกว่า ก็หาพล็อตไปเรื่อย แต่อย่างต่างประเทศ จะมีบทแนวใส่ความรู้ซึ่งคนเขียนต้องหาข้อมูลมากๆ แต่สิ่งที่ได้คนดูได้คือ ความรู้จากความบันเทิง(ด้วยความที่เริ่มเป็นพ่อคน เลยทำให้เพื่อนเริ่มที่จะใส่ใจกับงานมากขึ้น ใจละเอียดขึ้น)
แม่เช็งนั่งอ่านดู แล้วเลยคิดว่าถ้าเป็นละครพีเรียดคงจะดี เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี เพราะเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตไปด้วย อิ อิ หรือเกิดกระแสหันมาสนใจเรียนด้านนี้กันมากขึ้น อิ อิ
ความเห็นที่ 14
อ่านแล้วอิน..ดูแล้วน่ารักมากเลย จบไวมาก^^
ปล.โชคดีมากเลยนะค่ะที่เป็นทีมปลาเจอกับต้นไม้ ถ้าเป็นทีมสัตว์เลื้อยคลานนี่...ท่าจะหาโอกาสแบบนี้ยากหน่อย
ความเห็นที่ 14.1
คู่พี่เด่น (ต้นไม้-กล้วยไม้) กับพี่แนน (เจ้าแม่งูดิน) ไง
ความเห็นที่ 15
อ่านแล้วอมยิ้มตาม
บรรยากาศโรแมนติก กับคนที่ชอบเหมือนๆ กัน
โอ๊ย...อิจฉานะเนี่ย...555
ความเห็นที่ 16
อ่านแล้วชอบครับ อ่านไปยิ้มไปจนน้องที่ทำงานอยู่ข้างๆ งงว่าอ่านอะไรมีรูปสัตว์แต่ยิ้มได้ อ่านแล้วรู้สึกอบอุ่นยังไงบอกไม่ถูก อยากเจอแบบนี้บ้างจัง จะได้ชวนกันเข้าป่า
ความเห็นที่ 17
โรแมนติค
เดี๋ยว นี่มันบทความหรือนิยาย
นี่มันเว็บ siamensis.org รึเปล่า ไม่แน่ใจ ทำไมมันสีชมพู
ความเห็นที่ 18
ดีใจที่ชอบกันครับ แรงบันดาลใจของเรื่องนี้มาจาก สิ่งที่ผมคิดว่าโรแมนติกมาก 2 สิ่งที่ผ่านมาในชีิวิตห่างกันหลายปี
1. หนังเรื่อง Before Sunrise (หนังโคตรโรแมนติกตลอดกาล แนวเรื่องจริงๆก็คล้าย กวน มึน โฮ มากครับ)
2. เพลง หากันจนเจอ - กบ เสาวนิตย์ , กบ ทรงสิทธิ์ ในอัลบั้ม Mars & Venus
บวกกับความเบื่อจากการเขียนบทความท่องเที่ยวเชิงสารคดีแบบเดิมๆ
ขอในสิ่งดีๆเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกคนที่ยังหาความรักครับ ผมเจอแ้ล้ว ถึงแม้จะไม่ได้เป็นไปตามในเรื่องนี้ก็เถอะ
ความเห็นที่ 19
อ่านแล้ว ทำให้บรรยากาศเครียดๆรอบๆตัว แอบมีรอยยิ้มเล็กๆ ในใจ
คิดถึงเจ็ดคตนะ
ความเห็นที่ 20
เค้าอ่านจบแล้วนะเฮีย (เรื่อง ลิง ESS นั่นก็ด้วย) สนุกดี กลิ่นไอคล้ายสองเงาในเกาหลีเหมือนกันนะ ลองรวมเล่มดูดิ แล้วจะอุดหนุน
ปล. นอกจาก Before Sunrise กับ หากันจนเจอ แล้ว (ซึ่งชอบเหมือนกันเลย สมแล้วที่เกิดวันเดียวกัน) ทำให้นึกถึง Serendipity ด้วยล่ะ
ความเห็นที่ 21
อิจฉามากมาย..
ความเห็นที่ 22
เรื่องบรรยากาศนี่แต่งกันได้ครับ
แต่เรื่อง Step จีบสาวนี่ดิ มันต้องมาจากส่วนลึกนะผมว่า
ความเห็นที่ 22.1
ของแบบนี้มีไว้ไม่ได้ใช้ก็ได้ครับ อิ อิ อิ
ความเห็นที่ 23
ความเห็นที่ 24
ชอบมากครับ อยากเจอกับตัวเองจัง
ความเห็นที่ 25
อ่านแล้วรู้สึกว่า
วันหน้าคงต้องหาโอกาสไปเดินป่าคนเดียวบ้างแล้วนะค่ะ
ความเห็นที่ 26
อ่านแล้วอยากบอกว่าถูกใจเป็นพันครั้ง และแล้วก็หาจนเจอ สำหรับคนที่ยังศรัทธาในความรักที่ยังคงมีอยู่จริง...อิจฉามาก ๆ
ความเห็นที่ 27
แนว ๆ เด็กประมง กะ เด็กวน อะไรประมาณนั้น
ความเห็นที่ 28
พึ่งรู้นะค่ะว่า siamensis จะมีบทความแบบนี้ด้วย
โรแมนติกจัง อิอิ
ความเห็นที่ 29
บทความสีชมพู น่ารักดีค่ะ
ได้ความรู้ ได้ความรัก อิอิ
ความเห็นที่ 30
บทความสีชมพู น่ารักดีค่ะ
ได้ความรู้ ได้ความรัก อิอิ
ความเห็นที่ 31
ชอบครับ อ่านไปยิ้มไป
ความเห็นที่ 32
เห็นด้วยกับสุดที่รัก ความเห็นที่ 32 ค่ะ
หากันจนเจอจริงๆ
เนอะ