ตุ๊กแกบ้าน (Tokay Gecko: Gekko gecko (Linneaus, 1758))

ตุ๊กแกบ้าน (Tokay Gecko: Gekko gecko (Linneaus, 1758))
 
เรื่อง/ภาพ...มนตรี  สุมณฑา
 
ตุ๊กแกบ้าน นับเป็นสัตว์ชนิดแรกๆของโลกที่นักสัตววิทยาได้รู้จักและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ขึ้นมา ตุ๊กแกบ้านมีลักษณะทั่วไปคือเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกจิ้งจกตุ๊กแกที่มีลำตัวและหัวขนาดใหญ่ ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็ก และมีเกล็ดที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแทรกอยู่ทั่วลำตัว ตามีขนาดใหญ่ มีรูม่านตารีในแนวตั้ง ซึ่งเป็นลักษณะของสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน ลักษณะเด่นของตุ๊กแกสกุลเดียวกันโดยเฉพาะตุ๊กแกบ้านคือนิ้วเท้าแผ่กว้าง มีแผ่นช่วยยึดเกาะที่พัฒนาดีมากตลอดความกว้างของนิ้วทุกนิ้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยยึดเกาะทั้งระบบสุญญากาศและประจุไฟฟ้าสถิตย์ระหว่างขนเล็กๆที่แผ่นยึดเกาะกับพื้นผิววัตถุ ตุ๊กแกบ้านโดยทั่วไปพื้นลำตัวมีสีเทาเข้มถึงเทาอมฟ้า และมีจุดสีขาวถึงเทาเรียงเป็นแถวตามขวางลำตัว และมีจุดสีส้มกระจายอยู่ทั่วตั้งแต่หัวจรดหาง
 
ตุ๊กแกบ้านสามารถปรับระดับความเข้มของสีได้ตามอารมณ์หรือตามความเข้มของวัตถุที่เกาะอยู่ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนสีและลายจากเดิมได้ และการปรับความเข้มจะต้องเปลี่ยนทั้งตัว ไม่สามารถปรับสีบางส่วนของร่างกายได้ในตุ๊กแกปกติ แต่ตุ๊กแกบ้านแต่ละพื้นที่อาจมีสีและลายแตกต่างกันบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะสภาพแวดล้อมที่อาศัย เช่นผู้เขียนพบตุ๊กแกบ้านตามเขตชุมชนหรือตามชายป่าก็จะมีสีและลายเฉกตุ๊กแกบ้านทั่วไป ส่วนตุ๊กแกบ้านที่อยู่บริเวณถ้ำแห่งหนึ่งในจังหวัดระนองกลับพบว่าจุดสีขาวตามขวางลำตัวกลับหายไปหรืออาจพบเพียงเล็กน้อย แต่จุดสีส้มกลับมีขนาดใหญ่กระจายทั่วตัว และพื้นลำตัวมีสีเทาเข้ม แม้ว่าจะมีการนำมาเลี้ยงนอกบริเวณถ้ำนั้นเป็นระยะเวลานาน สีและลายดังกล่าวก็ไม่เปลี่ยนแปลงไป แต่จากการตรวจสอบลักษณะทางอนุกรมวิธานก็พบว่าเป็นตุ๊กแกชนิดเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีตุ๊กแกบ้านที่พบตามเขาหินปูนในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งมีสีเทาเข้มและมีจุดสีเทาอ่อนและสีเทาเข้มมากประตามลำตัวโดยไม่มีจุดสีส้มหรืออนุพันธ์ของสีส้มปนอยู่เลย ซึ่งอาจจำแนกออกเป็นชนิดย่อยใหม่ได้ในอนาคต  ทั้งนี้ไม่รวมถึงความผิดปกติของเซลล์สีของตุ๊กแกที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวไม่ใช่ระดับประชากร เช่น ลักษณะเผือก(albinism) จุดสีส้มกลายเป็นสีเหลืองสด เป็นต้น
 
ตุ๊กแกบ้านเป็นสัตว์ที่สามารถปรับตัวได้ดีมาก ดังนั้นจึงสามารถพบตุ๊กแกบ้านในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ทั้งตามบ้านคน ต้นไม้ เขาหินปูน เขาหินทราย เขาหินอัคนี แต่มักไม่พบตุ๊กแกบ้านในระดับความสูงเหนือน้ำทะเลมากๆ  มีเขตการแพร่กระจายตามธรรมชาติตั้งแต่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย จนมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน นอกจากนี้ยังพบในทวีปอเมริกา และทะเลคาริเบียนซึ่งเกิดจากการนำเข้าทั้งโดยเจตนาและบังเอิญ สามารถกินอาหารได้หลากหลายโดยเฉพาะแมลง นก หนู จิ้งจกตุ๊กแกขนาดเล็ก ตลอดจนสัตว์เล็กอื่นๆที่ผ่านเข้ามาในพิสัยการหากิน โดยตุ๊กแกจะออกจากที่ซ่อนในตอนกลางวันมารอเหยื่อ เมื่อเหยื่อมาอยู่ในพิสัยหากินมันจะเดินเข้าไล่จับกิน
 
ตุ๊กแก..ชื่อนี้ไม่ได้เกิดจากความพยายามหาชื่อเรียกแทนสัตว์ชนิดนี้ให้ไพเราะเสนาะหู หรือเพื่อเป็นสิริมงคลแต่อย่างใด แต่เกิดจากการเลียนเสียงร้องของตุ๊กแกบ้านเพศผู้ ซึ่งมาเป็นชื่อเรียกประจำกลุ่มของสัตว์จำพวกนี้ทั้งหมด ดังนั้นตุ๊กแกบ้านจึงเสมือนเป็นตัวแทนของสัตว์จำพวกจิ้งจกตุ๊กแกไปด้วย  อย่างไรก็ตาม ตุ๊กแกแต่ละชนิดก็มีเสียงร้องที่แตกต่างกัน เช่น ตุ๊กแกบ้านจะร้อง “ตุ๊กแก....ตุ๊กแก....ตุ๊กแก....” หรืออาจจะเป็น “ต๊กโต..”ก็ได้ ตามแต่คนฟังจะได้ยิน ส่วนตุ๊กแกสีเทา (Gekko smithii)กลับร้องแค่ “ตุ๊ก..ตุ๊ก..ตุ๊ก..ตุ๊ก..” ด้วยช่องไฟของเสียงจะถี่สั้นกว่า หรือ “กรอด...กรอด...กรอด...”   ซึ่งจะมีช่องไฟเสียงห่างๆ  ทั้งนี้สามารถได้ยินเสียงร้องของตุ๊กแกได้ทั้งกลางวันและกลางคืน  ดังที่กล่าวข้างต้น ตุ๊กแกตัวผู้เท่านั้นที่จะร้องเพื่อเรียกหาตัวเมียมาสืบเผ่าพันธุ์ โดยตุ๊กแกตัวผู้จะผสมพันธุ์กับตัวเมียหลายๆตัว ตัวเมียวางไข่ครั้งละ 2 ฟอง ในรอบปีจะสามารถวางไข่ได้หลายครั้ง ซึ่งตุ๊กแกจะมีที่วางไข่ประจำ นอกจากนี้ตัวเมียตัวอื่นก็สามารถวางไข่ในที่เดียวกันด้วย ผู้เขียนเคยเห็นผนังบ้าน ซอกตึก ซอกหินในถ้ำที่มีเปลือกไข่ตุ๊กแกที่ฟักแล้วและยังไม่ฟักจำนวนนับร้อยฟองอยู่ติดๆกันในที่เดียวกัน และบริเวณดังกล่าวจะพบตุ๊กแกหลายรุ่นอยู่ไม่ไกลกันนัก
 
ตุ๊กแกบ้านมีนิสัยค่อนข้างดุ และหวงถิ่นมาก เมื่อถูกรบกวนหรือถูกคุกคามในระยะประชิดก็จะอ้าปากขู่และพร้อมที่จะพุ่งกัดทันที แต่หากไม่จวนตัวมากนัก มันก็มักเลือกที่จะเลี่ยงหนีไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยก่อนมากกว่า  เมื่อตุ๊กแกป้องกันตัวด้วยการกัด ก็จะกัดด้วยแรงกดสูงมากและล็อกขากรรไกรแน่นจนยากที่จะง้างปากออกได้ แม้จะมีฝนตกฟ้าคะนองอย่างไรมันก็ไม่อ้าปากปล่อย และจะมีการกัดย้ำเสมอเมื่อศัตรูมีการเคลื่อนไหวแม้เพียงเล็กน้อย  ตุ๊กแกจะอ้าปากปล่อยเองก็ต่อเมื่อเท้าทั้งสี่ของมันมีที่ยึดเกาะที่มั่นคงและศัตรูไม่มีการเคลื่อนไหวเลยในระยะเวลาหนึ่ง นานพอที่มันรู้สึกว่าปลอดภัยหากมันปล่อยแล้วรีบวิ่งหนีไป  ผู้เขียนเคยโดนตุ๊กแกกัดเช่นกัน แต่ไม่สามารถรอให้ตุ๊กแกปล่อยเองด้วยวิธีขั้นต้นได้ เลยใช้วิธีเอามือที่ถูกตุ๊กแกกัดแช่ลงไปในน้ำเป็นเวลาประมาณ 5 นาที ตุ๊กแกก็ปล่อยแล้วรีบขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำ ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่ารอให้ตุ๊กแกปล่อยเองบนบก
 
อีกความเชื่อหนึ่งเกี่ยวกับตุ๊กแกคือ “งูเขียวกินตับตุ๊กแก”โดยหลายคนมีความเชื่อว่า เมื่อตุ๊กแกมีอายุมากขึ้น ตับของมันจะทำงานได้ไม่ดี ดังนั้นมันจึงร้องเรียกให้งูเขียวมากินตับโดยร้องว่า “ตับแก่..ตับแก่..”แล้วจะมีงูเขียวมาล้วงคอตุ๊กแกเพื่อกินตับอันเก่าเพื่อให้ตุ๊กแกสร้างตับอันใหม่ในการดำรงชีวิตต่อไป  ความเชื่อนี้ถูกตอกย้ำด้วยภาพถ่ายงูเขียวชนิดหนึ่งโอบรัดตุ๊กแกที่อ้าปากกว้าง แล้วส่วนหัวของงูก็ไม่ปรากฏในภาพนัยว่างูกำลังมุดหัวเข้าไปกินตับตุ๊กแก  จากภาพดังกล่าวก็มีนักสัตววิทยาบางท่านอธิบายว่า งูเขียวตัวดังกล่าวรัดตุ๊กแกเพื่อบังคับให้ตุ๊กแกอ้าปากเพื่องูจะได้แย่งอาหารที่ตุ๊กแกกำลังกลืนกิน ซึ่งคำกล่าวดังกล่าวก็ยังคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเช่นกัน ในความจริงแล้ว งูที่เป็นคู่กรณีตามปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นกลุ่มงูบิน ได้แก่ งูเขียวพระอินทร์ (Chrysopelea ornata)และงูเขียวร่อน (Chrysopelea paradisi)แต่ที่พบเสมอๆคืองูเขียวพระอินทร์ซึ่งพบได้ทั่วไปแม้ตามบ้านในชุมชนเมืองในกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มจากงูดังกล่าวใช้ทักษะในการจับกินตุ๊กแกอย่างมืออาชีพหลอกล่อจนตุ๊กแกเผลอจึงเข้ากัดและรัดตุ๊กแกอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็จะเอาหัวหลบรัศมีการกัดป้องกันตัวของตุ๊กแก เพราะหากงูหลบไม่ทัน ฝ่ายที่จะตายก็จะเป็นงูแทน ภาพถ่ายส่วนมากจะเป็นมุมที่เห็นตุ๊กแกอ้าปากเพื่อเตรียมกัดในขณะที่หัวงูซ่อนอยู่และไม่สามารถเห็นได้จากมุมกล้องนี้ บางครั้งจึงเหมือนงูกำลังมุดเข้าไปในปากตุ๊กแก แต่หากงูซ่อนหัวในมุมมองที่เห็นหัวงูก็จะเห็นหัวงูหลบอยู่ข้างตุ๊กแก เช่นเดียวกับการถ่ายภาพยนตร์ในฉากเข้าพระเข้านางที่ไม่ได้ทำจริง ก็จะอาศัยมุมกล้องในการถ่ายทำ  แม้ว่ายังมีงูอีกหลายชนิดที่สามารถกินตุ๊กแกได้ แต่ด้วยพฤติกรรมการจับตุ๊กแกกินมีความต่างกัน จึงไม่ปรากฎตำนานงูชนิดอื่นกินตับตุ๊กแกแต่อย่างใด
 
ตุ๊กแกบ้านมีเพื่อนร่วมสกุลในประเทศไทยจำนวน 8 ชนิดด้วยกัน คือ
ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko(Linneaus, 1758)) พบทุกภาคของประเทศไทย
ตุ๊กแกหลังจุดคู่ (Gekko monarchus(Dumeril & Bibron, 1836)) พบตั้งแต่ภาคใต้ตอนกลางลงไป
ตุ๊กแกบ้านสีเทา (Gekko smithiiGray, 1842) พบตั้งแต่ภาคใต้ตอนกลางลงไป
ตุ๊กแกเขาหินทราย (Gekko petricolusTaylor, 1962) พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก
ตุ๊กแกสยามตาเขียว (Gekko siamensisGrossmann & Ulber, 1990) พบทางภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และตะวันออกเฉียงเหนืองฝั่งตะวันตก เป็นสัตว์ถิ่นเดียว (endemic) ของไทย
ตุ๊กแกตาแดง (Gekkonutaphandi Bauer, Sumontha & Pauwels, 2008) เป็นตุ๊กแกชนิดใหม่ โดยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่ นาวาเอกพิเศษ วิโรตน์ นุตพันธ์  ผู้บุกเบิกการศึกษาสัตว์สะเทินและสัตว์เลื้อยคลานของไทย  พบเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น เป็นสัตว์ถิ่นเดียวของไทยอีกชนิดหนึ่ง
ตุ๊กแกเขาหินปูน (Gekko lauhachindaiPanitvong, Sumontha, Konlek & Kunya, 2010) เป็นตุ๊กแกชนิดใหม่ โดยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่ ผศ.ดร. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา อาจารย์ภาควิชาสัตววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบเฉพาะเขาหินปูนในจังหวัดสระบุรี เป็นสัตว์ถิ่นเดียวของไทยอีกชนิดหนึ่ง
ตุ๊กแกเนินมะปราง (Gekko flavimaritusRujirawan, Fong and Aowphol, 2019) เป็นตุ๊กแกชนิดใหม่ พบเฉพาะเขาหินปูนในจังหวัดพิษณุโลก เป็นสัตว์ถิ่นเดียวของไทยอีกชนิดหนึ่ง
 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

โห ! พึ่งรู้ว่าตุ๊กแกมีหลายสายพันธุ์ขนาดนี้ ขอบคุณกระทู้ดีๆครับ slotxo