4 ปีสายด่วนงูเข้าบ้าน ข้อมูลที่ได้มา ตอนที่ 1 : ช่วงยอดฮิตของกะปะ

เรื่อง : ศิริวัฒน์ แดงศรี/วรพจน์ บุญความดี
ภาพ : วรพจน์ บุญความดี

ตรวจทาน : มนตรี สุมณฑา

            เราชื่อว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีคุณค่าในตัวเองตามนิเวศของมัน และมนุษย์ซึ่งต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาตินั้นจำเป็นจะต้องทำความรู้จักกับสัตว์ต่าง ๆ รอบตัว งูเป็นสัตว์อันดับต้นๆที่มีความขัดแย้งกับคนมากเพราะพิษของมันทำให้ส่วนใหญ่คนกลัวและรังเกียจ ทั้งที่งูต่างก็มีหน้าที่ทางระบบนิเวศที่สำคัญเฉกเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ความรู้และลดการกระทบกระทั่งกันระหว่างงูและคน สมาชิกกลุ่ม Siamensis จึงได้รวมตัวกันเปิดช่องทาง “สายด่วนงูเข้าบ้าน” ให้คำปรึกษาผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียของทั้งสองฝ่าย โดยเริ่มให้คำปรึกษาตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2559 เป็นต้นมา ผ่านมาแล้ว 4 ปี มีข้อมูลจำนวนหนึ่งที่อาจจะเป็นประโยชน์กับบุคลากรทางการแพทย์หรือประชาชนทั่วไป ขอเชิญรับชมไปพร้อม ๆ กันครับ

            ชิ้นแรก เป็นข้อมูลภาพกราฟ การสอบถามการพบเจองูกะปะ ในปี พ.ศ. 2562 เป็นกราฟความถี่ในการส่งภาพงูกะปะ (Calloselasma rhodostoma)ที่มาสอบถาม มีทั้งส่งมาจากโรงพยาบาล (โดนกัด) และพบเจอในธรรมชาติ จากกราฟจำแนกข้อมูลรายเดือนแสดงให้เห็นว่ามีการสอบถามเข้ามามากสุด ในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนเริ่มตก

             - จากการศึกษาของ Daltryet.al.(1998) ในประเทศมาเลเซีย พบว่า งูกะปะ (C. rhodostoma)จะขยับจุดรอเหยื่อบ่อยและมีระยะมากขึ้นกว่าเดิมหากความชื้นในอากาศสูงขึ้น สอดคล้องกับในช่วงเดือนพฤษภาคม ที่เริ่มเข้าฤดูฝนของประเทศไทย ความชื้นในอากาศสูงขึ้น งูกะปะ (C. rhodostoma)จะเคลื่อนที่มากขึ้น มีโอกาสพบเจอกับคนได้มากขึ้น

             - หลังจากฤดูแล้งในช่วงเมษายน เข้าสู่ต้นฤดูฝนในช่วงพฤษภาคม เป็นช่วงที่มีการเข้าป่า เพื่อหาของป่ามากที่สุด รวมถึงเป็นช่วงที่เกษตรกรชาวสวนยาง เริ่มเข้าไปมีกิจกรรม เช่น เริ่มกรีดยางหรือใส่ปุ๋ยหลังจากเว้นกิจกรรมดังกล่าวในช่วงฤดูแล้ง ก็เป็นการเพิ่มโอกาสพบกันระหว่างคนกับงู

           จากปัจจัยทั้งในส่วนของงูและในส่วนของมนุษย์ ที่มีกิจกรรมเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่เดียวกัน น่าจะเป็นปัจจัยเสริมกัน ทำให้ในช่วงเดือนพฤษภาคม มีการสอบถามเข้ามามากที่สุด



อ้างอิง
Jennifer, C, Daltry., Toby, Ross., Roger, S, Thorpe., & Wolfgang, Wuster.(1998).  Evidence that humidity influences snake activity patterns: a fleld study of the Malayan pit viper Calloselasma rhodostoma. ECOCRAPHY, 21, 25-34.

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

หาเงินออนไลน์ง่ายที่สุดแทงบอลออนไลน์