นกตบยุง นักกินแมลงแห่งรัตติกาล

ช่วงหลังดวงอาทิตย์ล้าแสง เวลาแห่งรัตติกาลกำลังคืบคลานเข้ามา สัตว์ป่าผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสมดุลในระบบธรรมชาติ ตอนกลางวันได้เวลาเลิกงาน หลบพักนอน เก็บเรี่ยวแรง ไว้ทำงานต่อในวันใหม่ กะดึกนี้ ใครหนอ? จะรับหน้าที่ทำงานต่างบทบาทในธรรมชาติ

เริ่มต้นที่งานควบคุมแมลงนานาชนิดที่เริงร่าใต้แสงจันทร์ ยินดีแนะนำให้รู้จัก "นักกินแมลงตัวยง...นกตบยุง"

               
พอได้ยินชื่อ ใครหลายคน อาจอยากมีไว้ที่บ้านบ้าง เพื่อได้ช่วยกำจัดยุงตามบ้านเรือนที่มีมากมาย เพราะได้ตวัดกวัดแกว่งไม้ตียุงจนกล้ามขึ้น ยุงเจ้ากรรมก็เหมือนไม่ลดลงเลย แต่ขืนมีไว้แล้วคงผิดหวัง เพราะแทนที่มันจะกินยุงเป็นอาหารหลัก เมนูโปรดกลับเป็นแมลงอย่างด้วงปีกแข็ง ผีเสื้อกลางคืน แมลงเม่า หรือแม้แต่พวกจิ้งหรีดตามพื้นดิน ไม่ยักพบยุงในรายการอาหารของมัน แต่ที่ได้ชื่อนี้ คงเพราะลีลาการบินหากิน ที่ค่อยกระพือปีก สลับร่อน และยกปีกเป็นรูปตัววี บางก็บินกลับตัวฉวัดเฉวียน ดูคล้ายมันกำลังโชว์ตบยุงกลางอากาศ

เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่แมลงจะรอดปากกว้างๆ ของมันไปได้ นอกจากปากกว้างแล้ว มันยังมีดวงตาโตๆ ที่ช่วยให้มันมองเห็นได้ดีในยามค่ำคืน บวกกับขนแข็งๆ ที่กระจุกอยู่ตรงมุมปากช่วยกวาดแมลงเข้าปาก ขณะบินโฉบจับกลางอากาศได้เป็นอย่างดี

ถ้าอยากเห็นตัวของพวกเขา ก็ต้องนัดพบกันตอนกลางคืน นกตบยุงหลายชนิดอย่างเช่น นกตบยุงหางยาว, นกตบยุงภูเขา เป็นต้น มักพบอยู่ตามเส้นทางลำลองในป่า ทั้งป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ลองเดินส่องไฟฉาย (ไม่ต้องให้ดึกมาก สักสามทุ่มกำลังดี เพราะไม่อย่างนั้น เราจะง่วง!) เรามักพบมันนอนอยู่ตามพื้นถนน หรือไม่ก็บินโฉบแมลงกลางอากาศให้ได้เห็น มีนกตบยุงอีกชนิดที่ไม่ต้องเข้าป่า ก็สามารถพบเจอได้คือ นกตบยุงเล็ก ชนิดนี้ มักพบตามทุ่งหญ้าและพื้นที่เกษตรกรรมทั่วไป หรือบนถนนดินที่ตัดผ่านไร่นาพื้นที่เกษตร

ส่วนตอนกลางวันเรื่องที่จะเจอตัวพวกมันนั้น ไม่ง่ายนัก เพราะสีสันและลำตัวออกแบนๆ ของมัน เนียนกันดีกับพื้นป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณที่มีซากใบไม้เต็มพื้นป่า ต้องให้เข้าใกล้ถึงขั้นเกือบเหยียบนั่นแหล่ะ ถึงรู้ว่ามีนกนอนอยู่ตรงนี้ เมื่อตอนมันบินหนีไป ชีวิตของมันดูติดดิน คือ นอนกับพื้นดิน เวลาที่จะสืบต่อเผ่าพันธุ์ รังของคุณเธอก็คือ พื้นดินนี้เอง โดยไข่ของเธอนั้น มีสีน้ำตาลกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมอย่างดี เช่นเดียวกับเจ้าตัวน้อย ลูกของเธอ แม้แรกเกิดจะยังลืมตาไม่ได้ แต่ไม่ใช่ปัญหาเพราะเจ้าตัวเล็กมีสีขนลำตัวเป็นสีน้ำตาลแก่ ช่วยพรางตัวจากสัตว์ผู้ล่า เพราะคล้ายใบไม้แห้งสักใบที่หล่นทับถมตามรังนอนของมันมาก

เสียง "กรุ้ง กรุ้ง" ของนกตบยุงหางยาวร้องมาให้ได้ยินชัดๆ ขณะที่บางตัวก็ออกบินโชว์นาฎกรรมบนอากาศ โฉบจับอาหารดินเนอร์ของมัน

ในเวลาโพล้เพล้ยามนี้ ตามหน่วยพิทักษ์ป่าของอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบางแห่ง ไม่ยากเลย ที่เราจะสามารถพบนกตบยุงได้ บรรยากาศย่ำค่ำ ลมป่าพัดหวิวมา ช่างน่าผูกเปลนอนดูนกตบยุงให้หนำใจ  

ว่าแต่ระวังยุงกันหน่อยน่ะครับ โธ่ บอกคุณแล้วไง ว่านกตบยุง มันไม่ได้กินยุง!

ปล. ไม่ว่านกนั้นจะมีชื่อมงคล น่ามีประโยชน์กับคุณในแง่ใด--เสียงร้องไพเราะ สีสันสดใสเพียงใดเก็บพวกเขาไว้ในป่าธรรมชาติเถอะครับ แม่ธรรมชาติเท่านั้นที่เลี้ยงพวกเขาได้ดีที่สุด ไม่ใช่เรา 

 

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ผมยังไม่เคยเห็นนกพวกนี้จะๆสักที เดินป่ากลางคืนก็บ่อยนะ..

ความเห็นที่ 2

สังเกตยากมั้งครับ

ความเห็นที่ 3

อ้วนกลมกะปุ้กลุก น่ารักที่สุดด...smiley

ความเห็นที่ 4

บ้านผม (สมุทรสาคร) เมื่อราวสัก 30 ปีที่แล้วเดินตามคันสวน เกือบเหยียบมันถึงจะบินหนี มีเยอะแยะ  แต่ไม่รู้ชนิดไหนกันแน่  เดี๋ยวนี้สักตัวยังไม่เจอเลย

ความเห็นที่ 5

บ้านเรามีนกมากมายหลายชนิดแต่ตอนนี้กำลังจะถูกทำลายเพราะกำลังจะมีบ.ชลประทานซีเมนต์มาตั้งในหมู่บ้านของพวกเราไม่รู้ว่าตอนนี้เขาดำเนินไปถึงไหนกันแล้วแต่พวกเรากำลังลงชื่อคัดค้านกันอยู่เราเสียดายบ้านเรามีธรรมชาติที่สวยงามมากมีนกเงือกด้วย
หนู