วัยใสท่องป่า ตอน ทากน้อยกลอยใจ (จบ)

“อืม มันต้องมีตาวิเศษหรือสำเร็จวิชานั่งทางในใช่ป่ะ อิอิ หุหุ” เธอส่งภาษา facebook หันมายิ้มตาใส

“โธ่ ทากน่ะ ไม่ใช่ลูกศิษย์อาจารย์หนูสักหน่อย”

“ล้อเล่นน้า คิดคำตอบไว้แล้ว จากแรงสั่นสะเทือนไง เวลาเราเดินผ่านไป

ทากเขาก็รู้ แล้วกีรีบปิ๊ด จ้ำ ปิ๊ดเข้ามา เกาะเหยื่อไว้ให้ได้ อิอิ หุหุ” เธอตอบด้วยน้ำเสียงมั่นใจ ให้คุ้มกับที่ใช้เวลาคิดเสียนาน

“โอ๊ะ โอ ถูกต้อง แต่ยังไม่หมด มันยังมีตัวช่วยอีกหลายอย่าง ที่ทำให้รู้ว่าเหยื่อมาแล้ว อิอิ หุหุ”

“เออ น้องฟ้าเก็บภาษาอินเตอร์เน็ตไว้ตอนแช็ทในเมืองดีกว่าไหม? พี่จะพลอยคล้อยตามไปด้วย”

“ได้จ้ะ อิอิ 555+” นั่น เธอหัวเราะจนตาหยี

“ทากมันมีตา จริงๆ น่ะ” เธอหันมามองผม เหมือนอยากรู้ว่า ผมจะมาไม้ไหนอีก

 

“มันมีตาตั้ง 5 คู่ ที่ไว้รับรู้ความเข้มแสง เวลามีสัตว์เดินผ่านความเข้มแสงก็ลดลง เพราะเงาจากตัวสัตว์หรือตัวสัตว์บังแสงไง”

“อือ หือ มันเก่งจัง ฟ้าอยากมีหลายๆ ตาบ้าง ไว้ได้รู้เวลาพี่ไปหลีหญิงที่ไหน”

“แต่กลัวหน้าฟ้าไม่สวยเหมือนเดิม มีสองตาน่ะ ดีแล้ว สิบตานี่

ต้องขึ้นไปอยู่บนหน้าผากแน่เลย อู้ย” เธอทำหน้าจินตนาการ แล้วสยองเอง

ผมพาเธอเดินต่อ พร้อมกับบอกว่า “ตาของทากอยู่ทางหัว แว่นดูดข้างหน้า เป็นจุดดำเล็กๆ เรียงกันห้าคู่น่ะจ้ะ” เราทั้งสองเดินผ่านนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่แต่งกายในชุดเดินป่าที่คอของทั้งคู่ คล้องกล้องสองตาสำหรับดูนก ส่งยิ้มทักทายเราก่อน (ผิดกับนักท่องเที่ยวไทยที่ไม่ค่อยเจอในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ แต่มักเจอตามป้ายอุทยานฯ แถมส่งเสียงดังยังกับอยู่บ้านตัวเอง!!!)

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังชี้ให้ทั้งสองดูร่องรอยของช้างป่า รอยตีนใหญ่โตขนาดน้องฟ้าลงไปนั่งขัดสมาธิได้สบายๆ

“น่ารักดีเนาะ เสื้อที่พี่เขาใส่น่ะ” เธอบอกผม

พลางชี้ให้ดู เรายิ้มให้กับพี่เจ้าหน้าที่ เสื้อยืดที่เขาใส่สกรีนลายเป็นรูปทากการ์ตูนแยกเขี้ยวชูหัวส่ายไปมา ด้านล่างตัวทากเขียนเป็นฟอนต์ตัวอักษรน่ารักว่า “ทากกินเลือด ไม่กินป่า”

“อืม ทากกินเลือดไม่กินป่า นักการเมืองกินแต่ป่า ไม่กินเลือด” เราทั้งสองคนหัวเราะพร้อมกัน

“น่าทำออกขายน่ะ พี่จะได้เลือดเต็มตัวแน่” น้องฟ้าฮาดังกว่าเดิมอีก

"อะเฮ้ย! อีกัวน่า ตัวเขียวปั๊ดเชียว” เธอชี้ให้ผมดูกิ้งก่าตัวโต ขนาดตัวราว 2 ฟุตกว่าๆ เห็นจะได้ เกาะนอนพาดบนกิ่งไม้อีกฝั่งน้ำสบายอารมณ์

“ไม่ใช่อีกัวน่าจ้ะ นั่นเขาเรียกว่า “ตะกอง” เป็นกิ้งก่าตัวโต้โต บางทีโตเต็มที่ รวมหางนี่ ตัวยาวเกือบเมตร ตัวสีเขียวเหมือนกันก็จริง แต่ตะกองนั้น

สวาปามหมดไม่ว่าสัตว์หรือพืช แมลง สัตว์ตัวเล็กๆ ผลไม้ที่ร่วงตามต้น ไม่เหมือนอีกัวน่าที่เป็นพวกมังสวิรัติ อีกอย่างในธรรมชาติบ้านเรา มีเฉพาะ ตะกอง”

“เออ แล้วอย่างตะกองเอ่ย เต่าเอ่ย สัตว์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในป่า ทากเขาดูดเลือดไหม?” เธอสงสัยขึ้นมาอีก

“พวกสัตว์เลื้อยคลานพวกนี้ ทากเขาก็ดูดเลือด อย่างมีคนเคยเจอเต่าหก

เต่าสีดำตัวโตๆ อาศัยตามป่าดิบเขา ทากเกาะตามร่องขาให้เต็มไปหมด ทากดูดเลือดเฉพาะสัตว์ที่ยังมีชีวิต มีคนเคยเก็บซากลิงได้

สักพักทากก็กระดิ๊บออกมาจากซาก ไม่ดูดต่อ แสดงว่า ทากใช้ลมหายใจและความร้อนจากตัวเหยื่อเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้มันรู้”

ขณะฟังผมพูด สายตาเธอยังจ้องอยู่ที่เจ้าตะกอง ก่อนพูดออกมาว่า “อย่างอีกัวน่า ก็ยังมีคนใจร้ายที่เลี้ยงสัตว์ด้วยความอยากเฉยๆ พอเลิกอยาก ก็ทิ้งขวางพวกมันตามมีตามเกิด” ผมพยักหน้าช้าๆอย่างเห็นด้วย

“ไม่ตามวัด ก็ป่าที่ไหนสักแห่ง อย่างอีกัวน่าที่เคยออกข่าวมีคนพบที่นี่

เพราะมีคนเลี้ยงเขาแล้วไม่รับผิดชอบ เอามาปล่อย คงนึกว่ามันจะอยู่ได้ในป่าบ้านเราล่ะมั้ง ดีไม่ดี เกิดมันปรับตัวได้ดี แย่งอาหาร

แย่งที่อยู่ของสัตว์ดั้งเดิมของเรา สัตว์บ้านเรา มีอันได้โบกมือบายๆ ประเทศไทย” ผมบอกกับเธอบ้าง

“นี่ยังดีน่ะ ที่อีกัวน่าไม่กินอาหารเหมือนตะกอง ถ้าเกิดกินเหมือนกัน ปรับตัวอาศัยในที่แบบเดียวกัน ต่อไปป่าไทยมีแต่อีกัวน่าเต็มป่า

มากจนป่าอเมริกาบ้านเกิดมันอายไปเลย จะดีไหมเนี่ย?” น้องฟ้าพูดยังกับอยากให้คนที่ทิ้งขวางสัตว์ต่างถิ่นตามธรรมชาติได้ยินบ้าง

…….

“ฮือ ฮือ โอ้ย รู้สึกจี้ดๆ ที่ข้อมือ เปิดดูก็เจอเจ้าทากตัวนี้ กำลังดูดเลือดหวานๆ ของฟ้า ตัวเป่งเชียว ไม่รู้ว่ามาตั้งแต่ตอนไหนพี่ช่วยเอามันออกหน่อย

เร็วสิค่ะ!” น้องฟ้าเริ่มกระทืบเท้าเร่าๆ หากผมไม่รีบไปเอาออกให้มีหวังได้กระทืบผมอีกคน

“ใจเย็นๆ จ้ะ โอโห ถ้าตัวโตขนาดนี้ มันใกล้อิ่มแล้วแหล่ะ มันดูดเข้าไปแต่ละตัวไม่เกิน 5 ซีซี หรอกน่า เราบริจาคเลือดให้สภากาชาดแต่ละทีมากกว่านี้อีก

ดูนี่สิ เห็นไหม? รอบตัวมันเหมือนมีหยดน้ำรอบๆ เพราะมันขับน้ำในเลือดของฟ้าที่มันกิน กรองเอาเฉพาะสารอาหารเน้นๆ เพื่อมีพื้นที่กระเพาะมากๆ ด้วย

แล้วน้ำที่มันขับออกมารอบตัวมันก็ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้มันด้วย”

“จ้ะ พ่อนักป่าไม้ไทยขา มัวเลคเชอร์เรื่อง ทาก เลือดน้องฟ้าจะหมดตัวก่อนไหมค่ะ! เอาออกทีสิ เร็วๆ” สีหน้าเธอบอกบุญไม่รับเหมือนน้ำเสียง

ผมมัวโอเอ้ไม่ได้แล้ว เดี๋ยวจะถูกเธอเขมือบหัวเอา รีบสะกิดปากทากออกอย่างค่อยๆ ทากน้อยที่ก่อนดูดน้องฟ้าตัวยืดยาวเท่าไม้จิ้มฟัน ตอนนี้ดูดเลือดไปเต็มที่

ตัวไม่เล็กกว่าปลายนิ้วก้อยของผมเลย แกะออกแล้ว มันยังทำตัวกลมๆ ส่ายปากไปมา ก่อนที่ผมจะโยนมันทิ้งไปข้างทาง

“เอ้า แล้วทำไมไม่ฆ่ามันล่ะค่ะ?” น้องฟ้าเสียดายที่ยังไม่ได้ระบายแค้นกับทากตัวร้าย

“โธ่ ฟ้าจ๋า เจ้าทากนี้ ก็แค่ดูดเลือดตามหน้าที่ของมัน เราเข้ามาในที่มันอยู่ มันก็ดูดเลือดเราเพียงน้อยเป็นอาหาร พออิ่มแล้ว มันก็จะทิ้งตัวลงจากเหยื่อ หลังจากดูดเลือด ทากตัวโตๆ สามารถไม่กินอะไรเลย อยู่นิ่งๆ ได้เป็นเวลาถึงหกเดือน เพราะเหยื่ออาจจะพามันเดินไปจนถึงที่แห้งแล้งไม่มีความชื้น มันก็ต้องดูดกินให้อิ่มเท่าที่มีโอกาส แต่ถ้ามันโชคร้าย ไก่หรือนกที่จิกกินมัน มันก็เป็นอาหารของนก นกตัวที่กินทาก กระโดดเด้งๆ ไปมา เจอแมวดาวตะปบไปเป็นอาหารเย็น พอผ่านไป แมวดาวหมดสิ้นอายุขัย ตายลง ซากมันก็ถูกย่อยสลายเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ ต้นไม้ เติบโต มีเก้ง กวางมากัดกินใบ ทากก็ดูดเลือดกวาง เก้ง ทำให้กวางกินใบไม้ได้ไม่มาก ต้นไม้ก็ไม่เสียหายมาก แล้วทากกินเลือดกวางอิ่ม ก็หล่นปุ๊ลงพื้น วนเวียนไปอย่างนี้”

“เลือดฟ้าก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติได้นะเนี่ย ว่าแต่ว่าตอนนี้ เลือดฟ้าไหลโจ๊กๆ จนชุ่มไปแล้ว ช่วยทำให้มันหยุดทีก่อนได้ไหม?” น้องฟ้าทำตาอ้อนวอน เธอไม่กลัวหนอนและทาก แต่เลือดนี้ ผมไม่แน่ใจว่าเธอกลัวไหม

“โอม เพี้ยง” ผมทำท่าร่ายมนต์ และเป่าลงบนแผลของเธอ

“เฮ้อ! พี่ไม่มีหนทางดีกว่านี้เหรอ? อุตส่าห์เชื่อใจ ว่ามากับนักป่าไม้ทั้งที!”

“ล้อเล่นน่ะ” ผมหยิบกระดาษทิชชู่ออกมาจากกระเป้าเป้สะพายหลัง แล้วเอามาเช็ดเลือดที่ไหลโชกให้เธอก่อน ตอนนี้เลือดเธอเริ่มแห้งกรัง เพราะไหลมาได้หลายนาทีแล้ว

ผมฉีกกระดาษทิชชู่เป็นชิ้นเล็ก ขนาดพอๆ กับเล็บมือ แป๊ะไว้ที่แผลของเธอ เลือดเริ่มซึมจนกระดาษทิชชู่ชิ้นเล็กเปียก

ผมฉีกกระดาษชิ้นเท่าเดิมแป๊ะลงไปอีก กระดาษชิ้นเล็กๆ นี้ ทำหน้าที่คล้ายเกล็ดเลือด เลือดจึงหยุดไหลในไม่ช้า

“สงสัยไหมเอ่ย? ว่าทำไม ทากเอาปากออกไปตั้งนานแล้ว เลือดเรา ทำไมยังไหลไม่หยุด?” ผมชวนเธอคุย ขณะเราเดินกลับและใกล้ถึงอาคารร้านอาหารตรงปากทางลานกางเตนท์ผากล้วยไม้

“มันต้องมีอะไรวิเศษอีกแน่ๆ เลย บอกให้ฟ้าฟัง ประดับหัวน้อยๆ หน่อยเร็ว”

“เวลาที่มันดูดมันจะปล่อยสารฮีมาดิน (Haemadin) ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและเลือดของเราไม่แข็งตัว มันเลยดูดได้สบายๆ พอมันอิ่มหลุดออกไป

เลือดที่แผลจะไหลประมาณสักสิบนาทีถึงจะหยุด”

“สารตัวเดียวกันนี่เองที่ทางการแพทย์เอาไปช่วยชีวิตคน ไม่ว่าจะช่วยรักษา ไม่ให้เส้นเลือดหัวใจตีบตันหรือยาทาแก้เส้นเลือดขอดของขาสาวๆ

อย่างฮีรูดอยด์ก็ใช้สารเคมีสังเคราะห์จากต้นแบบตัวเดียวกัน”

“อือฮือ! มีประโยชน์หลายอย่างน่ะเนี่ย เจ้าทากน้อย”

........

"น้องฟ้า รู้ไหมว่า ทากมันเมคเลิฟกันยังไง?" เธอเริ่มก้มอายหน้าแดง "ไม่รู้หรอกค่ะ" เธอตอบผมโดยไม่เงยหน้าขึ้น

"ทาก น้อยทั้งหลายที่น้องฟ้าเห็น มันเป็นกระเทยค่ะ มีสองเพศในตัวเสร็จสรรพ แต่มันก็ไม่หดหู่ถึงกับไม่ต้องอาศัยกัน มันจำเป็นต้องจำคู่กัน เพื่อให้พันธุกรรมได้แลกเปลี่ยนกันบ้าง ไม่ใช่ผสมกันเองจนด้อยไป มันจะชูหัวส่ายร่ายรำในช่วงผสมกัน"

"ทากออกลูกเป็นตัวหรือเป็นไข่?" ผมลองให้เธอเดาอีก ขณะเรามาถึงอาคารร้านอาหารที่บริเวณลานกางเตนท์แล้ว

"เป็น กระเพราไก่ ไข่ดาวค่ะ" "ฟ้า ขอสั่งข้าวกินก่อนน่ะค่ะ ไม่งั้น ไม่มีแรงคิดคำตอบแน่ค่ะ" เธอว่า พร้อมเดินไปสั่งอาหารกลางวันกับแม่ค้าไว้ "กระเพราไก่ ไข่ดาวสอง น่ะค่ะ" เธอสั่งแม่ค้า โดยที่ผมไม่มีสิทธิ์เลือกเมนู

"ฟ้า เดาว่า ออกลูกเป็นตัว ออกมาหน้าตาเหมือนแม่ เป็นเยาวชนทากวัยละอ่อนเลย"

"ผิด ถนัดเลย ทากออกลูกเป็นไข่ หลังจากไข่ในท้องตัวเมีย ได้รับการผสมและมันได้กินอาหารจนสมบูรณ์ มันก็พร้อมจะออกไข่ โดยไข่ของทากจะรวมอยู่ในปลอกคล้ายรวงผึ้ง เขาเรียกว่า โคคูน (cocoon) โดยตัวแม่จะสร้างฟองคล้ายวุ้นบริเวณคอ แล้ววางไข่เล็ก ๆ ข้างในประมาณ 5-10 ฟอง พอผ่านไปสักวันหนึ่งหรือยี่สิบสี่ชั่วโมง ฟองรอบนอกจะแตกออกเหลือแต่ "โคคูน" ทรงห้าเหลี่ยมคล้ายเห็ดราหรือรวงผึ้งที่ค่อนข้างแห้งและแข็งกับไข่ที่บรรจุ ข้างในเท่านั้น แม่ทากจะถอยหลังให้โคคูนหลุดออกจากคอ แล้วฝังหรือติดมันไว้กับก้อนหิน ใบไม้ บนพื้นดินธรรมชาติ ทากตัวหนึ่งสามารถออกไข่ได้คราวละ 3-4โคคูน ในช่วงกลางฤดูฝน"

"เป็น ไง เดี๋ยวกลับไปที่มหาลัยจะส่งรูปโคคูนไปให้ดู แล้วทากตัวเล็กๆ ที่เราเจอในเส้นทางเมื่อกี้ ก็คือ ทากน้อยวัยละอ่อนที่ออกจากไข่ เพราะภายใน 20 วัน ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ มีขนาดพอ ๆ กับเส้นด้าย  มันจะออกหาอาหารตลอดช่วงฤดูฝน พอถึงหน้าแล้งดินแห้งไม่ชุ่มชื้น ก็หลบไป 'จำศีล' หน้าฝนก็ออกมาใหม่ ดูดเลือดจนเป็นทากผู้ใหญ่ต่อไป"

"หนูไปสอบเป็นจองหงวนด้านทากได้เลยน่ะเนี่ย" เธอว่า ขณะปากเคี้ยวยังเขี้ยวไข่ดาวมื้อกลางวัน

"สอบ ได้เลยจ้ะ แต่เมื่อกี้เราเดาผิดน่ะว่า ทากออกลูกเป็นตัว จ่ายค่าข้าวเองน่ะจ้ะ มื้อนี้ไม่มีเลี้ยง!" "อ้าว! ไงเป็นงั้นล่ะ?" เธอพยายามโวยวาย

ฝน เริ่มเทลงมาอย่างไม่หนักนัก ทากบางตัวมานะ คืบ กระดิ๊บมาจากพื้นนอกอาคารร้านอาหาร จนเริ่มไต่ขึ้นมาบนถุงกันทากของผม ผมนึกถึงข้อความบนเสื้อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ "ทากกินเลือด ไม่กินป่า"

ส่วนเจ้าทากที่กำลังกระดิ๊บขึ้นขา ช่างมันเถอะ ก็ตอนนี้ มือผมกับมือน้องฟ้าไม่ว่างนี่ครับ!

 

***เรื่องราวของวัยใส ท่องป่า ครั้งหน้าจะเป็นเรื่องราวอะไร พาเราไปพบ รู้จักสิ่งมีชีวิตใดอีก โปรดติดตามได้ที่นี่อีกนั่นแหล่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

งานวิจัยชิ้นใหม่ของโลก ตอน... คืบกระดื๊บแล้วดูด 1. นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๑ เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖

 เรื่องโดย วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ ข้อมูลโดย ธงชัย งามประเสริฐวงศ์

สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและภาพได้ที่

http://www.sarakadee.com/feature/2003/07/leeches.htm

2."ทาก" Advance Thailand Geographic โดย วัชระ สงวนสมบัติ

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

เจ๋งจ้ะ  เพิ่งรู้ว่ามันมีตาด้วย ^^

ความเห็นที่ 2

เห็นแล้วขนลุก

ความเห็นที่ 3

ไข่เท่มาก ทำไมออกมาน่าแล้วน่าขนลุกจัง - -"

ความเห็นที่ 4

frown

ความเห็นที่ 5

ขอบคุณสำหรับความรู้  และความเพลิดเพลิน  จะรอติดตามวัยใสท่องป่าตอนนี้ไปครับ