ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก "แปลงแต่ไม่ปลอม"

เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์ ภาพโดย: อนุสรณ์ ปูเครือ

วันนี้ จะพาคุณไปรู้จักชีวิตยามค่ำคืนอีกสักครั้ง ขออนุญาตจูงมือ (แฟนคุณคงไม่ว่าอะไร จริงไหม?) ของคุณเข้ามาในป่าดิบยามรัตติกาล ที่ริมลำห้วยกลางป่าด้านหน้าเรานั้น ต้นตะแบกขนาดราวสองคนโอบรอบ ที่โคนของมัน กลายเป็นโพรงขนาดใหญ่ มีการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต บินฉวัดเฉวียนฝ่าความมืดออกไปทางปากโพรง เดินตามมาสิครับ แล้วเราไปทำความรู้จักนักล่าแห่งรัตติกาลอีกสักตัว "ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก"

ถ้าเราพูดถึงสัตว์ป่า ค้างคาว เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงกลุ่มเดียวที่บินได้อย่างแท้จริง พวก "กระรอกบิน" และ "บ่าง" หรือ "พุงจง" ไม่สามารถบินได้ พวกมันแค่ร่อนจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่งเท่านั้น โดยใช้ผิวหนังด้านข้างตัวที่พัฒนามาเพื่อช่วยในการเคลื่อนที่แบบ "ร่อน"  ไม่สามารถตีปีกพั่บๆ ได้อย่างค้างคาว

เมื่อพูดย่อยลงไปถึงกลุ่มค้างคาว (Order Chiroptera) ในระดับโลกของสัตว์เลี้ยงด้วยนม พวกมันเป็นรองอันดับสอง หากพูดถึงในแง่ของความมากมายของชนิด เป็นรองเพียงสัตว์กลุ่มฟันแทะ (Rodentia) พวกหนู, กระรอก ฯลฯ ส่วนถ้าเบนเข็มมาจัดอันดับกันในเมืองไทย "ค้างคาว" ชนะเลิศครับ มีที่พบแล้ว จำนวน 119 ชนิด ค้างคาวแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามอุปนิสัยการกินอาหาร พวกแรก (อยู่ในอันดับย่อย Megachiroptera) เป็น "มังสวิรัติ" คือ ค้างคาวกินผลไม้และน้ำต้อยดอกไม้ และส่วนต่างๆ ของดอกไม้ ส่วนพวกที่สอง (อยู่ในอันดับย่อย Microchiroptera) กินเนื้อ คือ พวกกินแมลง กินสัตว์ขนาดเล็ก เช่น นก, หนู, กบ, เขียด ฯลฯ ซึ่ง "เจ้าค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก" ก็อยู่ในกลุ่มหลัง เป็นพวกนิยมเนื้อเหมือนกัน อัตราส่วนเมื่อเทียบกันทั้งสองกลุ่ม ค้างคาวกลุ่มกินแมลงทำยอดนำโด่ง ด้วยมีถึง 101 ชนิด ส่วนค้างคาวกลุ่มกินผลไม้มีเพียง 18 ชนิด

เมื่อตอนกลางวัน ผมล่วงหน้าเข้ามาดูในโพรงไม้ตะแบกนี้ก่อนแล้ว เมื่อส่องไฟฉายเข้าไป เสียงเซ็งแซ่เล็กๆ ดังออกมา ในนั้น มีเจ้าค้างคาวเกาะห้อยหัวอยู่ 10 ตัว มีหน้าตาพอจะพูดให้เห็นภาพได้ว่า "ใบหูของมันมีขนาดใหญ่ ยาวสัก 3-4 ซม. และเป็นรูปร่างคล้ายไข่ โดยใบหูของมันทั้งสองข้างเชื่อมต่อกันที่บริเวณหน้าผาก ขนาดตัวถ้ากะเอาว่า วัดจากหัวถึงก้นก็อยู่ที่ 5-8 ซม. แผ่นจมูกของมันตั้งตรง ด้านบนของแผ่นจมูกเป็นรูปโค้งลง และเป็นแบบง่ายๆ--ในค้างคาวกลุ่มกินแมลงหลายชนิด มีแผ่นจมูกที่ซับซ้อนหลายแผ่น ซึ่งสามารถใช้ในการจำแนกชนิดค้างคาวบางชนิดได้

ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก (Lesser false vampire--Megaderma spasma) ชื่อก็บอกอยู่โจ่งแจ้งว่า มัน "แวมไพร์แปลง" เพราะมันไม่ใช้ "แวมไพร์แท้ (True vampire)" อย่างค้างคาวดูดเลือดต่างประเทศ ที่มันจะคอยดูดเลือดจากปศุสัตว์ โดยใช้ฟันที่แหลมคมของมันกรีดผิวหนังสัตว์ให้เป็นแผลแล้วจึงดูดเลือดเป็นอาหาร

แผ่นจมูกของค้างคาวนี่เอง ที่เป็นส่วนหนึ่งของความลับในการล่าเหยื่อช่วงกลางคืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าถามว่า ในช่วงกลางคืนที่มืดมิด ค้างคาวหาเหยื่ออย่างแมลง หรือหนูเจอได้อย่างไร? คำตอบก็คือ "มันใช้ระบบเสียงสะท้อน (echolocation) โดยเปล่งเสียงร้องออกไปและฟังเสียงสะท้อนกลับ" ทำให้มันรู้ว่า เหยื่ออยู่ตรงไหน และบินผ่านอุปสรรคสิ่งกีดขวางไปได้ พอคุ้นกันบ้างไหม? ระบบนี้มาพัฒนาเปลี่ยนมาเป็นคลื่นเรดาห์ที่มนุษย์ใช้กันด้วย

หากถามอีกสักคำถามว่า เราต้องรู้จักพวกเขาไปทำไม? คำตอบง่ายเหลือเกินครับ เพราะเขามีประโยชน์กับเรานั่นเอง คือ อย่างค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก ก็เป็นตัวควบคุมแมลง และสัตว์ขนาดเล็กอย่างเช่น นก, หนู, หรือแม้ค้างคาวด้วยกันเอง ให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะพอดี ส่วนค้างคาวกินแมลงชนิดอื่นๆ ก็คอยควบคุมแมลง อย่างเช่น แมลงศัตรูพืชในพื้นที่เกษตร ช่วยเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนพวกของมัน กลุ่มที่กินผลไม้ ก็มีหน้าที่ชัดเจนคือ ช่วยผสมเกสรให้ชาวสวน สวนผลไม้ได้ติดผล เช่น ทุเรียนและสะตอ ซึ่งพืชพวกนี้ จะมีโครงสร้างดอกขนาดใหญ่ ไว้รอรับการมาผสมของค้างคาวกินผลไม้ แม้ค้าวคาวเจ้าเวหาทั้งหลาย จะมีโทษบ้าง เช่นทำลายผลไม้สุก แต่ค้างคาวมักทำลายผลไม้ที่สุกงอมเท่านั้น หากชาวสวนเก็บผลผลิตก่อนที่จะสุกงอมคาต้น จะป้องกันการทำลายตรงส่วนนี้ได้ แม้แต่ว่า ตัวค้างคาวเอง จะเป็นพาหะนำโรคอย่างเช่น เชื้อพิษสุนัขบ้าและโรคเชื้อไวรัสนิปาห์หรือโรคไข้สมองอักเสษ ที่ค้างคาวแม่ไก่ทุกชนิดในไทยเป็นตัวพาหะ แต่หากไม่มีการสัมผัสกับค้างคาวอย่างใกล้ชิดก็ไม่มีโอกาสเสี่ยงเลย

พอเห็นว่า ค้างคาวมีประโยชน์กับเรามากมายขนาดนี้ เราคงต้องช่วยกันรักษาทั้งชีวิตและพื้นที่อาศัยของค้างคาว เช่น ไม่เปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า, ถ้ำอาศัยหรือแหล่งเกาะนอนเป็นพื้นที่ส่วนตัวของมนุษย์เราอย่างเดียว เพราะโลกนี้ เป็นของ "ชีวิตอื่น" ด้วย จริงไหม?

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

-ประทีป ด้วงแค. 2550.  ค้างคาวในเมืองไทย: สำหรับการจำแนกชนิดในภาคสนาม (Bats of Thailand: For field identification).  ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ, 158 หน้า

-พิพัตน์ สร้อยสุข. บทบาทของค้างคาวธรรมชาติ. พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่, 2551.(21 สิงหาคม 2554) http://www.nhm.psu.ac.th/museum/index.php?view=article&id=110%3Arole-of-bats-in-the-natural&option=com_content&Itemid=65

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ขอบคุณสำหรับบทความครับ ปลายปีต้องมอบโลห์เสียแล้ว!!

สำหรับผม แวมไพร์แปลงเป็นหนึ่งในนักล่าที่สมบูรณ์แบบที่สุดครับ ชอบพวกมันมาก

ลิงค์ที่เกี่ยวข้องจาก ดัชนีสิ่งมีชีวิต

http://www.siamensis.org/species_index#1029--Species:%20Megaderma%20spasma

ความเห็นที่ 2

ประโยชน์มากมาย จิงๆ นะค่ะ น่ารักด้วย ^^