ข่าว : ม.อ.ค้นพบปลาหมึกสายพันธุ์ใหม่ หวั่นสูญพันธุ์เหตุน้ำทะเลเปลี่ยน

"ปลาหมึก” จัดเป็นสัตว์ทะเลส่งออกสำคัญรองจากกุ้ง ในแต่ละปีประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์จากปลาหมึกมูลค่า 60,000 ล้านบาทต่อปี รองจากกุ้ง แต่ไม่มีการเพาะเลี้ยงเหมือนกับกุ้ง อาศัยจับจากธรรมชาติ โดยใช้เครื่องมือหลากชนิด ทั้ง โยทะกา ลอบ อวนล้อม อวนลาก และอวนล้อมขนาดใหญ่
   
 ปัจจุบันมีความรู้ขั้นต้นในการเพาะพันธุ์ปลาหมึกชนิดต่าง ๆ เช่น ปลาหมึกหอม โดยกรมประมงเคยศึกษาวิจัยเรื่องนี้ไว้ แต่ที่ไม่ได้รับความนิยมเพราะการจับจากธรรมชาติมีความคุ้มทุนกว่า หากเทียบกับกุ้งและปลา ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของประชากร โลก
   
ดร.จารุวัฒน์ นภีตะภัฏ อาจารย์ประจำสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ให้ข้อมูลว่า ปลาหมึกเป็นสัตว์ที่มีระบบประสาท อวัยวะ   เทียบเท่ากับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่จัดเป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มหอย ขณะที่มีพฤติกรรมคล้ายกับปลา ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการที่ดีที่สุดของสัตว์ในกลุ่มที่ไม่มีกระดูก สันหลัง เพราะมีการพัฒนาสติปัญญาเทียบเท่ากับสุนัข 
   
ปัจจุบันนักวิจัยทั่วโลกมีการศึกษาวิจัยปลาหมึกไม่มากนัก สำหรับประเทศไทยจากการเก็บข้อมูลพบปลาหมึกอยู่ 80 ชนิด สถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย ได้สนใจวงจรชีวิตของปลาหมึกในแต่ละสายพันธุ์ ล่าสุดได้ร่วมกับทีมงานจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการสำรวจศึกษาปลาหมึกในแถบคาบสมุทรไทย ซึ่งจากการลงพื้นที่ทีมงานได้ค้นพบปลาหมึกสายพันธุ์ใหม่ 3 ชนิด ได้แก่ ปลาหมึกลายเสือ (mimic octopus) ที่พบบริเวณเกาะสาก จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นปลาหมึกพันธุ์หายาก และมีความเสี่ยงว่าปลาหมึกสายพันธุ์นี้อาจจะสูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทยใน อนาคต
   
นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่สำรวจน่านน้ำฝั่งอันดามัน บริเวณจังหวัดภูเก็ต โดยได้ค้นพบปลาหมึกสายพันธุ์ หอยงวงช้างกระดาษใหญ่ (greater Argonaut) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มปลาหมึกสาย มีหนวดคู่แรกที่แผ่ออกเป็นแผ่น ซึ่งปลาหมึกสายพันธุ์นี้ จะมีต่อมที่จะหลั่งสารเคมีออกมาสร้างเป็นเปลือกที่เป็นสารพวกแคลเซียมบาง ๆ เรียกว่า secondary shell โดยแผ่นเนื้อดังกล่าวจะทำหน้าที่ห่อหุ้มและพยุงเปลือกไว้
   
และยังค้นพบ ปลาหมึกสายพันธุ์ผ้าห่ม (blanket octopus) ที่มีลักษณะเด่น ที่มีรูเปิดที่ส่วนบนและส่วนล่างของหัวด้านละ 1 คู่ และมีแผ่นเนื้อบาง ๆ ที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างหนวดคู่แรก คู่ที่อยู่กลางด้านบนของหัว และระหว่างหนวดคู่แรกกับคู่ที่สอง จะแผ่ออกเป็นแผ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่อยู่สองข้างของหนวดคู่แรกทั้งสองเส้นจะยาวถึง 2-3 เท่าของลำตัว ปกติปลาหมึกชนิดนี้อยู่ในอุณหภูมิต่ำ อยู่ไกลจากชายฝั่งออกไป แต่ในช่วงปี ค.ศ. 2007 เกิดปรากฏการณ์คลื่นใต้น้ำ ทำให้ปลาหมึกสามารถขึ้นมาอยู่ใกล้บริเวณชายฝั่งได้
   
อาจารย์ประจำสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ทางคณะยังอยู่ระหว่างทำโครงการศึกษาความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของกลุ่มปลา หมึกกระดองในบริเวณคาบสมุทรไทย โดยศึกษาจากดีเอ็นเอ ซึ่งผลการศึกษาในเบื้องต้นยังไม่สามารถจำแนกความแตกต่างของสายพันธุ์ปลาหมึก ของทะเลฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยได้อย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วยการนำข้อมูลจากการศึกษาดีเอ็นเอ และสัณฐานวิทยามาผนวก กันเพื่อหาข้อสรุปต่อไป
   
อย่างไรก็ตาม จากการลงสำรวจวิจัยในครั้งนี้ ยังพบว่า ระบบนิเวศของปลาหมึกในประเทศไทยกำลังประสบปัญหาจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยน แปลงไป ซึ่งเกิดจากน้ำเสื่อมสภาพ และปัญหาการรุกพื้นที่การประมงที่ใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ ที่มีการจับสัตว์น้ำเพื่อนำไปบริโภคมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ทรัพยากรปลาหมึกลดน้อยลง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างจิตสำนึกให้กับทุกคนได้ร่วมกัน อนุรักษ์เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของปลาหมึกในน่านน้ำไทย.

ที่มา : เดลินิวส์
วันอาทิตย์ ที่ 26 กันยายน 2553 เวลา 0:00 น
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content_decode_en...

 

Comments

ความเห็นที่ 1

ข่าวต้นฉบับ พร้อมภาพประกอบดูที่นี่ครับ

http://www.psu.ac.th/node/2582

ความเห็นที่ 2

อิอิ ได้เห็นตัวจริงสองชนิดแล้ว เหลือแต่หมึกผ้าห่มนี่แหละยังไม่มีโอกาสได้เห็น ขอบคุณสำหรับข่าวที่น่าสนใจครับ

ความเห็นที่ 3

เป็นรายงานใหม่ของไทย หรือเป็นชนิดใหม่ของโลกครับ?

ความเห็นที่ 4

รายงานใหม่ครับ พวกเขียนข่าวชอบเขียนให้เรางงแบบนี้ประจำแหละครับ ตอนปูกางร่มนั่นก็บอกว่าใหม่ ก็งงอยู่เหมือนกันว่าใหม่ระดับใหนยังไง
 

ถ้าให้ดีลองอ่านข่าวต้นฉบับที่ผมใส่ลิงค์ให้ไปอาจจะเข้าใจดีกว่าครับ

ความเห็นที่ 4.1

ที่จริงปลาหมึกทั่้งสามชนิดที่รายงานมานั้นพบมาหลายปีแล้ว และมีการตีพิมพ์ในวารสารไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ แต่มีข้อสงสัยว่าทำไมไม่ลงชื่อทีมงานจาก มก.ด้วยเพื่่อเป็นการให้เกียรติเพื่อนนักวิจัย ที่เป็นผู้เก็บและพบตัวอย่าง หรือมีทีมงานเป็นสิบคนเลยใส่ไม่พอ

ความเห็นที่ 5

เอ่อ...พูดแบบกลางๆนะ

เท่าที่ตามข่าวดูจากหลายแหล่งทั้งวิทยุ นสพ.  อาจารย์ท่านก็ออกชื่อหน่วยงานทั้งหมดนี่ครับ สี่ห้าหน่วยงานมั๊ง แต่เวลาหรือพื้นที่ข่าวของสื่อต่างๆมักจะจำกัด เป็นเงินเป็นทอง  นักข่าวมักจะถือวิสาสะตัดออกเอง  อย่าพึ่งด่วนตัดสินอะไรหรือใคร

ความที่เคยช่วยพี่ๆในวงการสื่อในสมัยเรียน เลยพอเข้าใจตรงนี้  ตอนฟังอาจารย์สัมภาษณ์ ยังนึกขำขำเลยว่าอาจารย์ให้ชื่อเยอแยะแบบนี้ โดนหั่นออกหมดชัวร์  แล้วหลังจากนี้ อาจารย์ก็จะโดนปฏิกริยาแบบข้างบนสนองมาโดยพลัน  เหอ เหอ....

ที่จริงข่าวพวกนี้มาเร็วไปเร็ว  ดูกันที่รายงานวิชาการที่ตีพิมพ์ดีกว่านะครับ เพราะไม่ปรุงแต่ง หวือหวา และจะเป็นสิ่งที่จะอยู่ไปอีกนาน  ว่าใครเป็นผู้ประพันธ์บ้าง เขาให้เกียรติอ้างอิงใครบ้าง  ไม่ใช่ทำด้วยกัน แต่แอบเอาไปตีพิมพ์ใส่แต่ชื่อตัวเอง ตัดคนอื่นออกหมด  แบบนี้ซิครับน่าพิจารณาด้านจรรยาบรรณ.....

เอ.....ผมเขียนอะไรไปเนี่ย  ยาวจัง  หุ หุ

ความเห็นที่ 6

จนมาถึงตอนนี้ ผมก็เข้าใจถึงปัญหาที่มีการแถลงผ่านสื่อจนมีการเคืองๆกันก่อนหน้านี้ ตลอดจนการเปลี่ยนเนื้อหา การเพิ่มเนื้อหาเพื่อตีข่าว ฯลฯ คำตอบที่ได้จากสื่อก็คือ "ใครๆก็ทำอย่างนี้แหละ ไม่งั้นข่าวมันขายไม่ได้"