ขอความเห็นเรื่องน้ำป่าไหลหลากครับ และน้ำท่วมครับ

พอดีช่วงนี้เห็นมีข่าวน้ำป่าไหลหลาก และเกิดดินถล่มหลายพื้นที่ ผมจึงอยากรู้สาเหตุที่เกิด ซึ่งในความคิดของผมยังคงคิดอยู่ว่า ในบางครั้งสาเหตุอาจจะเกิดจาก ฝายต้นน้ำถาวรที่ผู้หวังดีจากเมืองกรุงและหน่วยงานที่มีความหวังดีแต่ความรู้ และการศึกษาผลกระทบไม่เพียงพอทำไว้ก็ได้
จึงอยากให้เพื่อนช่วยกันแสดงความเห็นและศึกษาในประเด็นนี้ดูครับ เพราะฝายต้นน้ำต่างๆที่เกิดขึ้นว่าดีนักดีหนาอาจจะเป็นต้นเหตุสำคัญในการเกิดภัยพิบัตก็ได้
ซึ่งผมเคยเห็นฝายที่ทำด้วยการก่อหินและปูนอย่างดีพังมาแล้วเมื่อถึงหน้าฝนเวลาที่ฝนตกหนักนะครับ
ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

Comments

ความเห็นที่ 1

มันมีหลายสาเหตุร่วมกันอยู่น่ะครับ ผมกำลังรวบรวมสมาธิเพื่อจะเขียนบทความเรื่องน้ำท่วมกับการแก้ปัญหาอยู่เหมือนกัน ตอนนี้คิดได้เป็นท่อนๆ ยังจับมาต่อกันไม่ได้ แต่จากการแก้ปัญหาปัจจุบันคงไม่ได้ช่วยอะไรมาก มีความเห็นของชาวบ้านกลุ่มนึงทางภาคกลาง ฟังแล้วรู้สึกว่าเริ่มได้ดีแล้วที่ว่า ต้องยอมรับก่อนว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่มีค่าต้องรักษาไว้ เพียงแต่แนวทางแก้ปัญหายังหลงทางไปหน่อย เพราะยังคงปัญหาและเกิดปัญหาใหม่ที่ร้ายแรงพอๆกัน แต่ถือว่าเริ่มดีแล้ว

ความเห็นที่ 2

อ่านตรงนี้แล้วนึกถึงการทดลองตอนเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถม ที่คุณครูท่านเอากระบะไม้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สองใบ ใส่ทรายกระบะละประมาณครึ่งหนึ่งของความสูง แล้วตั้งเอียงประมาณ 45 องศา ที่ปลายด้านต่ำจะมีรู ที่เจาะขึ้นเพื่อระบายน้ำออก และมีถังรองน้ำอยู่ใต้รูระบายน้ำนี้ กระบะหนึ่งมีแต่ทรายเปล่าๆ ในขณะที่อีกกระบะหนึ่งเอาหญ้าเอาฟางมาคลุม แล้วให้นักเรียนถือถังที่บรรจุน้ำจนเต็ม เทราดลงบนด้านสูงของถามพร้อมๆ กัน ในระดับที่เท่าๆ กัน

ผลที่ออกมาเราจะเห็นว่าน้ำที่อยู่ในพื้นที่ว่างเปล่านั้นไหลแรงและเร็วน้ำที่รองได้จากถาดนี้จะขุ่น และมีทรายปนอยู่มาก ทรายที่เหลืออยู่ก็ถูกกัดเป็นร่องตามแรงไหลของน้ำ ในที่ถาดที่มีหญ้าและฟางคลุม น้ำไหลได้ช้ากว่า ทรายก็ถูกชะล้างลงมาในถังน้ำที่รองตรงรูระบายน้ำได้ไม่มากเท่ากับ

คุณครูเปรียบเทียบให้เราเห็นว่า หญ้าและฟางเปรียบเหมือนป่าไม้ที่ช่วยชะลอการไหลของน้ำ และช่วยในการดูดซับน้ำเอาไว้ได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นเด็ก ๆ อย่างเราก็รู้แค่ว่าป่าไม้มีประโยชน์อย่างนี้นี่เอง  เมื่อเราโตขึ้น ได้เรียนวิชาเกี่ยวกับ Forest Hydrology (เรียนเป็นภาษาอังกฤษนะครับ ไม่ได้เรียนเป็นภาษาไทย) ทำให้ทราบว่า นอกจากการมีต้นไม้แล้ว ชนิดของต้นไม้ ลักษณะทางภายภาพของดิน ลักษณะทาง topology ของลุ่มน้ำ ความลาดชันของภูเขาที่เป็นต้นน้ำ ลักษณะของร่องน้ำ สิ่งกีดขวางที่เกิดจากการสร้างของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่เป็นสร้างเป็นของแข็งเคลือบผิวดินเป็นลานกว้าง เช่นลานจอดรถ หรือลานตากผลผลิตทางการเกษตร ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อ การไหลของน้ำในลำธารเป็นอย่างมาก

ทีนี้เข้ามาถึงคำถามที่ว่า อ่าวแล้วเขื่อนน้อยหรือฝายกั้นน้ำนั้น จะมีผลต่อการท่วมของน้ำหรือเปล่า ในความคิดของผม มันก็น่าจะมีอยู่บ้าง แต่คิดว่าไม่ร้ายแรงเท่ากับ ความเห็นแก่ได้ของคนในสังคมหรอกครับ ปัญหาหลักมันน่าจะอยู่ที่การตัดไม้ทำลายป่า การสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆที่ขัดขวางการไหลของน้ำ และการดัดแปลงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของลุ่มน้ำให้มันเปลี่ยนสภาพออกไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์มากกว่า และที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ เรายังไม่มีการจัดการแบบที่เรียกว่า บูรณาการ กระมังครับ การแก้ปัญหาก็ทำแบบไฟไหม้ฟาง มีปัญหาทีก็ทำที พอน้ำเลิกท่วมก็มีเรื่องอื่นให้ทำ คิดว่าหน่วยงานต่าง ๆของไทย คงมีข้อมูลพื้นฐานทาง hydrology ซึ่งมากพอที่จะเอามาทำ model หรือว่าเอามารวมผลเพื่อทำนายสิ่งที่จะเกิดและทำนายผลกระทบ ได้ด้วยคอมพิวเตอร์ แต่....คนไทยเรานั้นส่วนมากกีฬาเดี่ยวๆ เราจะทำได้ดีมีเหรียญทองกันมากมาย ผิดกับกีฬาประเภททีมที่เล่นกันไม่่ค่อยเก่งนัก......

ความเห็นที่ 3



ปัญหาตั้งแต่ตั้งต้นเลยครับ เรื่องภูเขาหัวโล้น ถ้าไม่โล้นก็มีพวกไปทำกิจกรรมบนดอยบนเขา ทำการปิดกั้นทางน้ำ สร้างสาระพัดฝ่าย สารพัดอ่าง ซึ่้งปรกติน้ำจะไม่สะสมมาก ๆ แต่พอมีพวกนี้แล้วเกิดรับไม่ไหวก็พังกลายเป็นน้ำก้อนใหญ่ ๆ ไหลลงสู่เบื้องล่าง

เจ้าบนพื้นราบข้างล่างก็ใช่ย่อย เมืองขยายตัว คนแยอะ การต้องการใช้พื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ง่าย ๆ สมัยก่อนแถวบ้านผมมีที่นาของพ่อผมพื้นเดียว นอกนั้นเป็นป่าหมด 20-30 ปีผ่านไป
มีแต่คนขุดภูเขา ขุดป่ามาทำที่นา ขวางที่ไหลของน้ำ
+++++

ปัญหาสุดท้าย เรื่องการบริหารจัดการน้ำ
คนที่คิดว่าตัวเองเป็นพระเจ้า สร้างระบบกักเก็บน้ำต่าง ๆ
พอถึงเวลาคำนวณลมฟ้าอากาศไม่ได้
กลายเป็นเขื่อนแตก ประตูน้ำพัง
-+++++++
อีกอย่างที่อยากรู้ตอนนี้คือ ใครเป็นคนออกแนวคิดที่ไม่ให้น้ำเข้ากรุงเทพฯ ตามปรกติวิสัยของน้ำ แต่กลับไปกักน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา
แล้วปล่อยลงคลองซ้ายขวา ผันลงแม่น้ำรอบ ๆ ให้ไหลวนไปมาอยู่ข้างบนไม่ไหลลงทะเล

ความเห็นที่ 4

 มันเป็นเรื่องของธรรมชาติและผิดธรรมชาติที่ว่า น้ำจะไหลลงสู่ที่ต่ำกว่า เมื่อเจอหลุมเจอแอ่ง มันก็จะไหลไปขัง เจอสิ่งกีดขวางมันก็จะทะลุทะลวงออกไป ถนนเป็นสิ่งผิดธรรมชาติที่กีดขวางทางเดินของน้ำเวลาน้ำหลาก ถนนจึงเป็นเสมือนเขื่อนที่มีอยู่ทุกๆที่ ในฐานะที่เป็นคนพื้นที่ภาคกลาง ภาคกลางนั้นเป็นแหล่งรับน้ำชั้นดีเพราะเป็นที่ราบลุ่มซึ่งฤดูฝนน้ำมันก็จะหลากมาลงภาคกลางทุกปี น้ำจะท่วมท้นอยู่ไม่นานก็จะไหลลงทะเล คนสมัยก่อนจึงมักปลูกบ้านใต้ถุนสูงและใช้เรือเป็นพาหนะลำเลียงขนส่ง ปัจจุบันมีแต่ถมที่ถมถนน ปลูกบ้านชั้นเดียวติดดิน เมื่อน้ำหลากมันก็เลยท่วม ถ้าเปรียบตามการทดลองของอ.สมหมายแล้ว ถนนก็เป็นเสมือนฟางนั่นเองที่ชลอการไหลของมวลน้ำ แทนที่จะไหลลงคลองแม่น้ำต่อไปยังทะเลอย่างรวดเร็วกลับต้องมาถูกกักชลอไว้ ส่วนเรื่องฝนฟ้านั้นใครจะไปห้ามได้มันเป็นธรรมชาติ มองในแง่ดีน้ำหลากนั้นนำพาแร่ธาตุมาสะสม อีกทั้งช่วยกระจายและพัฒนาพันธุกรรมของปลาอีกด้วย สรุปคือ "มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ชอบฝืนธรรมชาติ"

ความเห็นที่ 5

พี่น๊อต เราก็ตั้งสักกระทู้ เปิดเป็นประเด็นๆ เป็นหัวข้อๆ ปักหมุดไว้ แล้วค่อยๆช่วยกันเขียนดีมะ

ส่วนหนึ่งผมว่ามาจากการใช้พื้นที่ที่ไม่เหมาะสม น้ำมันไหลมาทุกปีอยู่แล้ว มากกว่าเดิมก็ไม่เท่าไร

สร้างถนนสร้างหมู่บ้านสร้างเมืองขวางทางน้ำ
หลายที่เห็นชัดๆเลยว่า ถนนมันขวางทางน้ำอยู่ คนหนีน้ำมาอยู่บนถนน เพราะถนนสูงกว่าบ้านซะอีก

ความเห็นที่ 6

เข้าท่าขอรับ โดยตั้งเงื่อนไขต้องยอมรับว่า
1. น้ำเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต้องรักษา และใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม
2. สิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิตในน้ำเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอไม่น้อยไปกว่าน้ำ

ความเห็นที่ 7

คุณนารูโต๊ะจัง ครับ ที่ว่ามีวิธีการให้เขื่อนเจ้าพระยากักน้ำไว้และีระบายน้ำออกทางคลองส่งทั้งซ้ายขวา เพื่อไม่ให้ท่วมกรุงเทพน่ะครับ มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่และอย่างไร เนื่องจากบ้านผมอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา ในกรุงเทพ และมีญาติพี่น้องอยู่ริมน้ำตั้งแต่ชัยนาทลงมา ปีที่น้ำมากน้ำก็ท่วมทุกปีครับ และบรรยากาศน้ำท่วมก็เป็นความทรงจำที่ดีสำหรับเด็กๆ ที่ได้ เล่นน้ำ และ มีสัตว์แปลกๆ มาเยี่ยมเยือนบ่อยๆ ครับ

ความเห็นที่ 8

"ปีที่น้ำมากน้ำก็ท่วมทุกปีครับ และบรรยากาศน้ำท่วมก็เป็นความทรงจำที่ดีสำหรับเด็กๆ ที่ได้ เล่นน้ำ และ มีสัตว์แปลกๆ มาเยี่ยมเยือนบ่อยๆ ครับ"

ดีจังครับ ยังได้มีโอกาสเจอสัตว์ประหลาดตอนน้ำท่วมบ้าง ที่บ้านเกิดผม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีเขื่อนขนาดใหญ่มากที่สุดในประเทศ แทบจะไม่มีโอกาสลิ้มรสความทุกข์ยากอันนี้เลย จำได้ตอนเด็กๆ ที่อำเภอบ้านเกิดมีเขื่อนอยู่้้เขื่อนเดียว ยังได้เคยตามน้า ออกไปดูเขายกยอ วางข่ายในพื้นที่น้ำท่วม ได้เห็นปลาตะโกก ปลายี่สกไทย ตัวโตมากๆ แล้วที่ไร่อ้อยบ้านตัวเอง ในร่องน้ำทำไว้สำหรับให้น้ำอ้อยก็จะมีปลาซิวหนวดยาว ปลาหมอไทย ปลาช่อน ปลากระดี่ มาตกค้างอยู่มากมาย พอน้ำเริ่มแห้งก็จะไปวิดแอ่งน้ำพวกนี้เอาปลามากินบ้าง ไปปล่อยในสระบ้าง เป็นที่สนุกสนาน แต่ภายหลังเขื่อนขนาดยักษ์อีก 3 เขื่อนสร้า่งเสร็จ ก็ไม่มีบรรยากาศแบบนั้นกลับมาให้ชื่มชมอีกเลย (ตกลงว่าน้ำท่วม มันจะดีหรือไม่ดีกันแน่เนี่ย)

การท่วมของน้ำ จากเดิมน้ำที่แต่เดิมท่วมปีละครั้ง กลับกลายเป็นว่ามีน้ำขึ้นน้ำลงประจำวันเหมือนกับทะเล ตามเวลาที่เขื่อนท่านจะปล่อยมาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า วันดีคืนร้ายท่านบอกว่าไฟฟ้าขาด ท่านก็ปล่อยน้ำออกมาจนท่วมบ้านเรือนริมน้ำแบบไม่ให้ได้ทันตั้งตัว

ถ้ามองกันแบบเป็นธรรม อะไรมันก็ต้องมีทั้งได้และเสีย แต่สำหรับผมดูเหมือนว่ามันจะขึ้นกับว่าคนได้นั้นมีสิทธิ์มีเสียงใหญ่โตในสังคมแค่ไหน ถึงแม้ว่าการได้นั้นจะไม่เป็นธรรมกับสิ่งแวดล้อมและคนในพื้นที่ก็ตาม

อย่างไรก็ตามเรื่องการจัดการปัญหาน้ำท่วมนี้คงต้องใช้เวลาในการจัดการอย่างมาก เพราะว่ามันไม่ใช่แค่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งเท่านั้น คิดว่าเราต้องมองในภาพรวมมากกว่าตั้งแต่ยอดเขาจนมาถึงปากแม่น้ำ มันต้องเอื้อซึ่งกันและกัน อ่านในหนังสือพิมพ์ข่าวสดหรือมติชนไม่แน่ใจ ที่เขาไปคุยกับเนเธอแลนด์ที่พื้นที่ส่วนมากเขาอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ว่าเขาจัดการกับน้ำอย่างไรจึงไม่มีน้ำท่วมประเทศ ซึ่งเขาใช้การจัดการแบบบุรณาการและยังคงมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันเขาก็เจอปัญหาน้ำมากจากปัญหาโลกร้อนไม่แพ้เราเหมือนกัน แต่เขามีประสบการณ์ เทคโนโลยี และเงินที่หนากว่าเรามากมาย

ความเห็นที่ 9



คลองภาษีเจริญ จะรอดหรือไม่ !!!
ผมเตรียมรับมือละเนี่ย บ้านอยู่ริมคลองเลย

ความเห็นที่ 10

เห็นใจคนน้ำท่วมครับ ยังไงก็สู้ต่อไปนะ ใครที่ต้องการบริจาคช่วยผู้ประสบภัย ก็ นี่เลยครับ http://thailandsflood2554.simdif.com/links.html รวมช่องทางการบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย