การเพาะปลากัดไทย

ผมอยากรู้ว่าถ้าผมมีปลากัดลูกทุ่งภาคกลาง(แก้มแดง)จากแหล่งที่มาที่แตกต่างกันผมจะทำการเพาะเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเช่นจากตราดที่มีลักษณะเพรียวกว่าแหล่งอื่นผสมกับปลาจากเพชรบุรีแล้วปล่อยคืนสู่รรมชาติในแหล่งใดแหล่งหนึ่งที่ยังคงเป็นเขตการกระจายพันธุ์อยากถามว่าจะเกิดผลกระทบอะไรหรือเปล่าต่อลักษณะเฉพาะของปลาในแต่ละแหล่งครับ      
อีกคำถามครับศัพย์บางคำผมไม่เข้าใจครับเช่นคำว่า รุ่นf ประมาณนี้เป็นต้น
สุดท้ายต้องขอขอบคุณเป็นอย่างมากครับสำหรับทุกคำตอบ

Comments

ความเห็นที่ 1

มีทั้งดีและเสีย
มารอฟังด้วยคนครับ 

ความเห็นที่ 2

ผมมองว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากกกกกก!!ถ้าจะปล่อยปลาคืนธรรมชาติ

- ปลาแต่ละแหล่ง ที่นำมาผสม คิดว่าแท้ 100% ไหมครับ (บางตัวเหมือนแท้แต่ไม่แท้ บางตัวเหมือนไม่แท้แต่แท้ ก็มี ตอบยาก!!)
- ปลาแต่ละแหล่ง มันมีลักษณะเฉพาะแหล่งของมันอยู่แน่นอน ถ้านำไปปล่อยแหล่งอื่น ก็จะทำให้ปลาแหล่งอื่นๆ สูญเสียลักษณะเฉพาะไปได้   Ex, smagdina หางดอก กับ หางปกติ นั่นก็เป็นลักษณะเฉพาะ  

ถ้าคิดอนุรักษ์และทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องคิดให้มาก ก็คือ เพาะได้ก็แจก/แบ่ง
ให้ผู้ที่สนใจนำไปเพาะเลี้ยงดีกว่าครับ  เพราะมีคนต้องการอีกเยอะ
ช่วยลดการการจับปลาในแหล่งธรรมชาติได้อีกด้วย



รุ่น F ก็ตามนี้ครับ เหมือนกัน
http://likebeetle.blogspot.com/2010/10/blog-post_05.html
77216.jpg

ความเห็นที่ 2.1

ตามเซียนอู๋บอกเลยครับ
เพาะได้แจกดีกว่า หรือจะขายก็แล้วแต่   ปลาป่าเป็นที่ต้องการมาก ลดการรบกวนธรรมชาติลงได้ครับ  ว่าไปก็อายจัง ผมก็ยังรบกวนอยู่บ้าง  นาน ๆ ที สำหรับเป็นตัวอย่าง
ปลาแต่ละแหล่ง พันธุกรรมจะแตกต่างกัน มากบ้างน้อยบ้าง   ขนาดลุ่มน้ำเดียวกัน แค่คนละฝั่งบางทียังต่างกันเลยครับ
เพาะได้เยอะ ๆ มาแบ่งให้ผมบ้างก็ได้นะ

ความเห็นที่ 3

ผมคิดว่า ถ้่่ึาคุณนำปลาจากแหล่งที่มาซึ่งห่างกันมากมาผสมพันธุ์กันแล้วเอาไปปล่อยกลับยังแหล่งเดิม ไม่ว่าจะเป็นที่เอาพ่อพันธุ์มา หรือแม่พันธุ์ก็ตาม แสดงว่าคุณกำลังทำลายความหลากหลายทางพันธุกรรมตามธรรมชาติอยู่ และคุณกำลังทำตัวเป็นผู้คัดเลือก (แทนธรรมชาติ) พร้อมกับการส่งเสริมให้เกิดการผสมและปนเปื้อนทางพันธุกรรม

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้่น ปลาที่เกิดและเติบโตในแหล่งน้ำใดแหล่งน้ำหนึ่ง เราไม่รู้ว่ามันอยู่ในแหล่งน้ำนั้นมานานเท่าใดแล้ว และในแหล่งน้ำแต่ละแหล่งก็มีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นลักษณะของคุณภาพน้ำ อาหาร ชนิดพันธุ์พืช ตลอดจนสิ่งมีชีวิตกลุ่มต่าง ๆ ทีมันอาศัยอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยนี้ร่วมกัน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการปรับตัว (adaptation) และท้ายที่สุดก็หากมันอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นนานนับหมื่นนับแสนปี ก็เกิดการวิัวัฒนาการเพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมนั้น

ในสภาพธรรมชาติ ปลากัดเป็นปลาที่สามารถอพยพตามการท่วมหลากของน้ำได้ดีมาก ดังนั้นในกลุ่มของแหล่งน้ำที่มีการเชื่อมต่อเข้าด้วยกันเมื่อถึงน้ำหลาก จึงเป็นเขตแดนในการแพร่กระจายของปลา แต่ว่าในลุ่มน้ำที่ต่างกันและไม่เชื่อมต่อกันเนื่องจากมีสิ่งกีดขวามตามธรรมชาติเช่น ภูเขาหรือทะเล ก็จะทำให้ปลาไม่สามารถติดต่อกันได้ และมีโอกาสในการมาผสมข้ามพันธุ์กันน้อยมาก

ทีนี้มาตูตัวอย่างของคุณ คุณจะเอาปลาจากที่อื่นมาผสมกับปลาจากเพชรบุรี แล้วเอาไปปล่อยในพื้นที่เพชรบุรี อย่างนี้จะเป็นไปได้ ถ้าคุณเอาปลาจากลุ่มน้ำเดียวกันในเพชรบุรีมาผสมกัน แต่ว่ามันจะไม่ได้หากคุณเอาปลาจากแหล่งอื่น (ตัวอย่างที่ยกมาคือตราด)มากผสมกับปลาเพชรบุรี แล้วเอาไปปล่อย เพราะอะไร มันมีงานวิจัยเหตุการณ์จริงมาสนับสนุนมากมาย ว่ามันมีข้อเสียต่อธรรมชาติแต่บางทีมันดีสำหรับคน (ตราดกับเพชรบุรีเคยเป็นแหล่งน้ำจืดเชื่อมกันเมื่อหลายหมื่นปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันไม่ได้เชื่อมกันโดยตรงแล้ว)

ในอเมริกา มีการทดลองหาความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลาในกลุ่ม darter ชนิดเดียวกันที่มาจากแหล่งต้นน้ำและปลายน้ำ พบว่ามีความแตกต่างของพันธุกรรมเล็กน้อย ถ้าปลาทั้งสองกลุ่มถูกตัดขาดด้วยสิ่งกีดขวางที่มนุษย์สร้างขึ้นเช่นเขื่อน หรือสิ่งกีดขวางอื่นๆ พบว่าปลาชนิดนี้จะมีความแตกต่างทางพันธุกรรมกันมากขึ้นและ มี score ของความหลากหลายที่ลดลงแสดงให้เห็นว่าปลามีการผสมแบบเลือดชิดมากขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากตามไปด้วย แต่ถ้าประขากรทั้งสองกลุ่มมีความหลากหลายทางพันธุกรรมและมีจำนวนที่มากพอ สุดท้ายปลาทั้งสองก็จะแยกกันเป็นคนละชนิดโดยเด็ดขาด

ในเมืองไทย ปลากัดนี่แหละ เซียนปลาอยากได้ปลากัดกัดเก่ง กัดทน ก็จะไปเลือกปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติเอาตัวเก่ง ๆ ออกไปกัด บางส่วนตายคาสนามรบ บางส่วนถูกเอาไปผสมกับปลากัดกลุ่มอื่น (กรณีลูกสังกะสี) เมื่อได้ลูกผสมออกมาแล้วก็เอาแต่ตัวเก่ง ๆไปกัดต่อ พวกไม่เก่ง ก็สาดลงแหล่งน้ำ เรียกกันว่าลูกสาด ปรากฏว่าลูกสาดปรับตัวเก่งกว่า หากินเก่งกว่า ปลาป่าเจ้าถิ่นของแท้ดั้ง สุดท้ายแหล่งน้ำนั่นก็เลยมีแต่ลูกสาด เป็นปลาเด่น เราหาปลากัดแท้ในแหล่งเดิมได้ยากมาก

ที่กล่าวมานี้จะชี้ให้เห็นว่า คำถามที่คุณถามว่าเป็นไปได้ไหมกับการอนุรักษ์แบบเพาะปล่อย ผมคิดว่าเป็นไปได้ครับ แต่ว่ามันจะเป็นโทษมากกว่าหากเอาลูกผสมไปปล่อย เอาลูกแท้ไปปล่อยดีกว่า การเอาปลาจากธรรมชาติมาขยายพันธุ์แล้วเอาไปปล่อยในแหล่งเดิม (เรียกว่า อนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด, ex situ conservation มั้งถ้าจำไม่ผิด) เหมือนจะมีแนวทางให้กระทำการอย่างที่ว่าอยู่ คิดว่าถ้าจะให้ดีก่อนปล่อยเรา น่าจะต้องสอนปลาเราให้หากินตามธรรมชาิติเป็นและกลัวมนุษย์ พร้อมกับการสำรวจว่าแหล่งที่ีเราเอาไปปล่อยมันอยู่ในสภาพดีพอ จนกระทั่้งปลาที่เราปล่อยจะสามารถดำรงชีวิตจนออกลูกออกหลานได้หรือเปล่า

ปล. ดูแผนภาพ F ประกอบนะครับ F เนี่ย สมัยผมเรียนพันธุศาสตร์ อาจารย์สมัยเก่า ท่านจะเรียกว่าว่า ชั่ว (อายุ) ที่ คือถ้าเอาปลาป่ามาจากธรรมชาติ มาเป็นพ่อแม่พันธุ์ (ในแผนภาพคือ WD/FO) ลูกปลาที่ได้เป็นชั่วที่ 1 หรือ F1 เอา F1 ผสมกันเอง ได้ลูกออกมาเป็นชั่วที่ 2 หรือ F2 อย่างนี้ไปเรื่อยๆ กรณีในรูป ถ้าเอาลูกผสม F ต่าง ๆ ไปผสมกับพ่อแม่พันธุ์ดั้งเดิม จะได้ลูกผสม cross back เขาจะย่อยเป็น CB1

ความเห็นที่ 3.1

ทำให้เข้าใจความหมาย และตระหนักในความสำคัญของคำว่า "ความหลากหลาย" ได้มากเลยครับ
ขอบคุณครับ

ความเห็นที่ 3.2

อันนี้เห็นด้วยอย่างแรง..

ความเห็นที่ 4

เห็นด้วยกับอู๋และคุณสมหมายค่ะ

ความเห็นที่ 5

ท่านอาจารย์สมหมายตอบได้ใจมากมาย

ความเห็นที่ 6

เอาง่าย ๆเลยนะครับ คนไทย ในประเทศไทย ก็คือคนไทย แต่ก็แบ่งไปตามแหล่งที่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นคนเหนือ คนอีสาน คนภาคกลาง คนใต้ ก็มีลักษณะเฉพาะของแต่ละภาค อีกทั้งยังภาษาท้องถิ่น ลักษณะความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตก็ต่างกัน ปลาก็เช่นกันครับ ถ้านำปลาจากแหล่งที่มาต่างกัน มาผสมเข้าด้วยกัน ก็เท่ากับว่ามีการปนเปื่อนทาง DNA อยู่ดีครับ เพราะปลาแต่ละแหล่งก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าจะเป็น (Betta splendens) ก็ตาม ยิ่งถ้าพูดเลยไปถึงเรื่อง ปลาแท้ ไม่แท้ด้วยแล้ว ดูภายนอกบางตัวไม่มีทางรู้ได้เลยครับ ว่าเป็นลูกสาด ลูกสังกะสีรึเปล่า เลยทำให้การอนุรักษ์ด้วยวีธีการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาิติเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้โดยเด็ดขาดครับ  (ยกเว้นปลาจากแหล่งเดียวกัน)

ความเห็นที่ 7

เพาะแจกเป็นทางออกที่ดีครับ


แต่.....

พวกที่รับของแจกไป ควรศึกษาและพยายามเพาะให้ได้แล้วนำกลับมาแจกคืนบ้างนะครับ

ความเห็นที่ 8

Post very nicely written, and it contains useful facts. I am happy to find your distinguished way of writing the post. Now you make it easy for me to understand and implement. Thanks for sharing with us. http://www.smokelessecigarettereviews.com/

ความเห็นที่ 9

อย่าไปคิดมากครับ มันเป็นธรรมชาติ มนุษย์ก็อยู่ในธรรมชาติ ให้เรามีความตั้งใจว่าเราจะอนุรักษ์ก็ดีแล้ว อย่าไปตามฝรั่งมากครับ  โดยธรรมชาติมันมักมีการปรับสมดุลย์ให้ตัวเองเสมอครับ  การปิดกันอาณาเขตทำให้สัตว์เกิด การผสมเลือดชิด ทำให้นักอนุรักษ์บางกลุ่มต้องการให้มีการผสมข้ามกันบ้าง  ยกตัวอย่างช้าง ที่อยู่ในป่าแล้วถูกปิดกันด้วยสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์  ทำให้นักอนุรักษ์ต้องขอพื้นที่บางส่วนที่มนุษย์ใช้ประโยชน์มาปลูกเป็นป่าเพื่อนเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างป่าต่อป่า เพื่อไม่ให้เลือดชิด   ผมว่าผู้ที่เอาปลาจากแหล่งอื่นมาผสมแล้วปล่อยก็ไม่น่าจะผิดอะไรนะ   เพราะบางครั้งธรรมชาติก็จะมีวิธีปรับสมดุลย์ของธรรมชาติเอง เพื่อไม่ให้เกิดการเสียสมดุลย์  ไม่ต้องอะไรมาก ผมเชื่อว่าตอนนี้มีปลาหลายสายพันธุ์ จากแหล่งน้ำทางภาคเหนือ ตั้งแต่ปิง วัง ยม น่าน มารวมกันที่เจ้าพระยา  สุดท้ายไหลลงภาคกลาง ออกทะเล เวลาเกิดน้ำท่วมแต่ละปีจนไปถึงภาคกลาง กรุงเทพ ที่บอกว่าเอาอยู่ ๆ นะ ปลามันผสมกันมั่วไปหมดแล้วครับ ดังนั้นไม่ต้องไปคิดมาก แค่เรามีความตั้งใจอยากจะอนุรักษ์ทำไปเลย ขอเพียงไม่ไปทำลายแหล่งอาศัย และไม่ไปจับมาขายเป็นจำนวนมาก ๆ จนหมดไปจากแหล่งเดิมก็พอ   สิ่งนี้ผมว่าสำคัญกว่าที่จะมาเถียงกันว่า ผสมแล้วปล่อย หรือแจกนะครับ ^ ^