em บำบัดน้ำเสีย ดี กับไม่ดีแบบไหนมากกว่ากันครับ

โดย Boonie Loh เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2011 เวลา 13:13 น.

(1)น้ำเน่าคืออะไร

น้ำ เน่า คือ น้ำเสียที่ขาดออกซิเจนละลายในน้ำ (DO-Dissolved Oxygen)นานๆ จนจุลชีพกลุ่มใหม่ กลุ่มไม่ใช้ออกซิเจนในน้ำ ขยายอิทธิพลมากินของเสียในน้ำเสียแทน (ปริมาณของเสียในน้ำเสีย เขาวัดกันด้วยค่า BOD (Biochemical Oxygen Demand)) ส่งผลให้เกิดกลิ่นก็าซไข่เน่า และน้ำมีสีดำจากโลหะซัลไฟด์

(2)มหาอุทกภัยครั้งนี้ เรามีน้ำเน่าแบบไหนบ้าง

น้ำ เสียหลัก มี 2 ประเภท คือน้ำเสียจากสารอนินทรีย์เคมี (สารประกอบโลหะหนักต่างๆ) และน้ำเสียอินทรีย์ ที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ ที่จุลชีพสามารถย่อยสะลายหรือทำให้เน่าเสียได้ (เช่น อาหาร พืช หญ้า) และส่วนมากจะมีเชื้อโรค+พยาธิ์แถมมาด้วย

น้ำท่วม ส่วนมากจะชะเอาสารอินทรีย์ เชื้อโรคและพยาธิ์ จากดินปนเปื้อนมาด้วย ดังนั้น จึงต้องระวังเรื่องโรคท้องร่วงระบาด (จากคนท้องร่วงถ่ายลงน้ำ หรือลงดิน) หรือโรคภัยที่น้ำเป็นพาหะ เช่น โรคฉี่หนู ดังนั้น ผู้ที่มีบาดแผล ไม่ควรลงลุยน้ำท่วม เพราะเชื้อโรคจะเข้าร่างกายทางบาดแผลนี้ สำหรับสารอนินทรีย์เคมีนั้น น้ำท่วมจะมีโอกาสปนเปื้อนสารอนินทรีย์เหล่านี้น้อยมาก เพราะมวลน้ำจำนวนมหาศาลจะช่วยทำให้มันเจือจางลงไปได้มาก

(3) EM คืออะไร

EM (Effective Microorganisms) คือจุลชีพที่เก่งเฉพาะทาง (เซียนเฉพาะด้าน) ตามแต่ผู้เพาะเลี้ยง จะแยกคัดพันธุ์มาขาย และรู้กำพืดของมันดี (ระวัง พวกที่เพาะมาจากน้ำเน่า คือจับจุลชีพอะไรก็ไม่รู้ มาใส่ถัง เลี้ยงด้วยอาหาร ซึ่งส่วนมาก ก็คือน้ำตาล และเขาอาจตักเชื้อโรค พยาธิ ต่างๆ มาเพาะให้มันเจริญเติบโตควบคู่กันไปด้วย ซึ่งอันตรายมาก)

EM อาจนำมาขายได้ ทั้งในรูปของของเหลว(เลี้ยงในสารละลายน้ำตาล) หรือ ของแข็ง(เลี้ยงในอาหารจำพวกรำข้าว)
ดังนั้น ต้องเลือกEMให้ถูกกับประเภทของงานที่จุลชีพกลุ่มนั้นถนัด เช่น กลุ่มที่ชอบกินตะกอนน้ำเน่า ที่หมักหมมอยู่ในน้ำเน่าใต้ถุนบ้าน หรือใต้ท้องคลองน้ำเน่า ที่นิ่งไม่ไหลเร็ว จุลชีพในน้ำEM ก็จะขยายพันธุ์ลงไปกินตะกอนเลนเหล่านั้น และขยายพันธุ์จนกลายเป็นอาณาจักรของมัน ถ้าEMไม่ชอบน้ำเน่าประเภทนั้น มันก็จะไม่ขยายพันธุ์ แล้วถูกจุลชีพท้องถิ่นในน้ำเน่าบริเวณนั้นข่ม หรือมันถูกกิน ในที่สุด นั่นคือ การใช้EMชนิดนั้น แล้วไม่ได้ผลอะไร
อย่าลืม ต้องใช้EMให้ถูกกับประเภทของภาระกิจ (ไม่มีEMใด ที่ทำงานได้ครอบจักรวาล) และต้องใช้ในบริเวณพื้นที่จำกัด เพื่อที่EMจะได้ขยายพันธุ์ เพื่อกินของเน่าเสีย ก่อนที่จะถูกจุลชีพในท้องถิ่น มาจับกินเป็นอาหาร ดังนั้น ต้องใช้EMให้ถูกชนิด และมีปริมาณเพียงพอที่มันจะสามารถขยายพันธุ์ เพื่อเอาชนะจุลชีพในท้องถิ่น ที่มีอยู่ก่อนให้ได้ สำหรับการใช้EM เทหรือโยนลงไปในน้ำท่วม ที่ไหลบ่าอย่างรวดเร็ว จะไม่ได้ผลอะไร เพราะมันจะถูกเจือจาง และขยายพันธุ์กันไม่ทัน

(4). EM ช่วยเพิ่ม O2 ได้จริงหรือไม่ ลดโลหะหนักได้จริงหรือไม่ : หากใช้EMถูกประเภท + ใช้ในพื้นที่ ที่จำกัดอาณาบริเวณได้ + และใช้ในปริมาณที่เพียงพอ EMก็จะสามารถขยายพันธุ์ โดยกินของเน่าเสียที่หมักหมม ที่สะสมใต้ท้องบ่อบริเวณน้ำเน่านั้นเป็นอาหารและขยายอาณาจักร์ของมัน เมื่อของเน่าเสียที่สะสมใต้ท้องคลองหมด BODในน้ำเสียก็จะเริ่มลดลงด้วย จนในที่สุดออกซิเจนจากอากาศ ที่ถ่ายผ่านผิวน้ำในบริเวณนั้น มีมากเพียงพอ น้ำเน่านั้นก็จะกลายเป็นน้ำดี คือ มีDOเกิดขึ้นตามมา
นั่นคือ หากการใช้EMถูกชนิดและในปริมาณที่เหมาะสมกับพื้นที่ ก็จะสามารถช่วยกินของเสียที่สะสมหมักหมมอยู่ จนกลายเป็นน้ำดี ที่มีค่าDOได้ ส่วนการลดโลหะหนัก EMส่วนมากที่เพาะมาขายกัน ไม่กินโลหะหนัก ความจริงมีคนเพาะได้ เช่น ฝึกให้มันกินทองแดงจากแร่ แต่นี่ก็เป็นเพียงการย้ายที่โลหะหนักจากแร่มาอยู่ในตัวมัน ก่อนนำไปสกัดโลหะหนักออกจากตัวมัน ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีที่ว่า สสาร(โลหะหนัก)ไม่มีการสูญหาย จะเพียงเปลี่ยนรูป ย้ายไปมาเท่านั้น

(5). ผลข้างเคียงของ EM : อันตรายที่จะพบกัน ก็คือ ผู้ผลิตEM ไม่รู้กำพืดของจุลชีพที่ตนเองผลิต และไม่รู้ว่ามันเก่งทางด้านใด และบางครั้ง อาจเพาะเชื้อโรค หรือมีไวรัสปนเปื้อน โดยใช้น้ำตาลโมลาสเลี้ยง ออกมาขาย แจกจ่ายกัน ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวของพยาธิ์ เชื้อโรค และไวรัส เกิดโรคระบาด การกลายพันธุ์ ตามมา
ดังนั้น ต้องเลือกชื้อจากผู้ผลิตที่มีการควบคุมคุณภาพ ที่สามารถระบุชนิดและที่มาของจุลชีพของตนได้ และไม่ควรใช้ดื่มหรือสูดดม เพราะอาจมีจุลชีพกลายพันธุ์ หรือปนเปื้อนไวรัส เข้าสู่ร่างกาย (เพราะการผลิตEMบริสุทธิ์100%ทำได้ยากมาก)

โดย บุญยง โล่ห์วงศ์วัฒน
2 พ.ย. 2554 

Comments

ความเห็นที่ 1

อ้าง จาก บทความข้างบนครับ

ความเห็นที่ 2

อืม คนเขียนน่าจะเรียนมาทางนี้ คล้ายๆกับผม ผมก็ว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรนัก สู้เอาลูกฟู่ใส่อากาศปลาไปจุ่มไว้จะเข้าท่ากว่า

อีกเรื่องก็คือ การแข่งขันกันของจุลชีพ เหมือนเอาสัตว์หลายชนิดใส่ไปในพื้นที่จำกัดที่หนึ่ง มันจะตีกันเอง จนเหลือแต่ผู้ที่เหมาะสมเท่านั้นที่รอด ซึ่งปกติแล้ว เชื้อท้องถิ่นนั่นแหละที่จะรอด EM ตัวเทพๆมาจากไหนก็ตายหมด ไม่งั้นต้องใส่เยอะมาก .... แต่ดูปริมาณพื้นที่ที่จะใช้สิ

ความเห็นที่ 3

แล้วนี่ยิ่งผสมขี้วัว ขี้ไก่ ขี้ฯลฯ ลงไปอีก ยิ่งเติมความเน่า หลายกลุ่มทำ หลายสูตรผสม ไม่รู้มีสูตรป้าเซ็งใส่ไปด้วยหรือเปล่า

ความเห็นที่ 4

เหลือบหันไปมองก๋วยเตี๋ยวหลังโรงงานที่งมมาหมักไว้ เอาน่าอย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย - -"
ปล. วิธีแก้ปัญหาน้ำเน่าแบบง่ายๆเลย คืออย่าทิ้งขยะลงในน้ำ *จริงๆนะ เพราะหลังจากเก็บเศษซากเศษอาหารขึ้นจากน้ำแล้ว มาอาทิตย์กว่าๆ น้ำดีขึ้นมากกว่า 40% (เปลี่ยนจากสีดำเน่า เป็นสีเขียว) ขณะที่น้ำหลังหมู่บ้านถัดไป ยังมีขยะลอยคลุ้งและน้ำเป็นสีดำ

ปล.2 ปลากัด ลูกปลาช่อน สาหร่าย ตะไคร่น้ำ และปลานิลตัวขนาด 10-15cm ยังคงมีให้ชาวบ้านตกได้เรื่อยๆ ณ กลางซอยห่างไปไม่ถึง 700m


 

ความเห็นที่ 5

อ่านแล้ว ชอบมากครับบทความนี้ ยังว่าจะติดต่อขออาจารย์ผู้เขียนมาใส่ในส่วนบทความเลยครับ

เห็นด้วยกับ ดร.เอิร์ท้ดวยครับ ส่วนเส้นก๊วยเตี๋ยวเน่า อย่าเทลงไปเลยครับ!!! 

ความเห็นที่ 6


ตอนนี้ E.M. ลามเข้าวัดแล้วครับ ข่าวสดๆเลย พบว่ามีสุภาพสตรีท่านนึงตักบาตรและถวาย E.M. ให้หลวงพี่เข้าไปใช้ในวัดแล้ว  เกรงว่าหากหลวงพี่ตั้งไว้ เดี๋ยวลูกศิษย์จะนึกว่าลูกชิ้นปิงปองน่ะครับ อีกอย่างนึงไม่รู้ว่ามีฉลากบอกวิธีการใช้ที่ถูกต้องให้ด้วยรึเปล่า

ความเห็นที่ 7

ผมลองมองต่างมุมนะครับ EM ของแท้ที่มีประโยชน์จริงๆก็มีนะครับ ถ้าเป็นของที่ทำมาถูกตามหลักวิชาการ การที่เอาลูกฟู่ใส่ในน้ำดีแน่แบบด๊อกเตอร์เอิร์ธบอก แต่ถูกตัดไฟอ่ะดิ บางทีชาวบ้านก็ไม่มีตัวเลือก ใครให้อะไรมาว่าดีก็ต้องเอาไว้ก่อน ของไม่ดีใส่ไปถ้าน้ำไหลก็เอื่อยๆ ก็พอทำเนา แต่ถ้าน้ำนิ่ง EM BALL มั่วๆก็เพิ่มปัญหาแล้วจะแก้ยังไงครับ ถ้าเป็นผมน้ำเน่าซึ่งมันเน่าแน่อยู่แล้ว แต่ถ้ารอให้หายเน่าเมื่อไหร่ครับ ถ้าแก้ไม่ได้เสมอตัว แต่ถ้าแก้ได้ล่ะ เคยมีใครทำแบบจริงๆจังๆหรือเปล่า...?หรือให้ความรู้เขาหรือเปล่า ผมติดตามข่าวตลอด(เพราะน้ำไม่ได้ท่วมก็เหมือนท่วมหยุดงานไม่มีกำหนด)ชาวบ้านพยายามรวบรวมขยะไว้ในจุดเดียวแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเก็บไม่ได้ สุดท้ายก็มัดปากถุงให้แน่นแล้วปล่อยตามน้ำไป แล้มีวหน่วยงานไหนเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังครับ ขอร้องชาวบ้านอย่าทิ้งขยะลงน้ำ เขาก็รวบรวมไว้ให้แล้ว(แต่ท่านไม่มาเก็บอ่ะ อยู่กับน้ำเสียมาเป็นเดือนๆ ไม่มีใครมาใส่ใจยังไงก็ลองเอาไว้ก่อน) EM BALL ทำมาจากของหมักซึ่งทำให้เน่า แต่เอาไปแก้ของเน่า มันใช่หรือ แต่เรื่องของจิตใจมีอะไรที่ทำให้เขามีความหวังล่ะ ผมนึกถึงโครงการแกล้งดินของในหลวง ในเมื่อมันเปรี้ยวก็ปล่อยให้เปรี้ยวซะให้เข็ด แล้วก็แกล้งมันซะ พูดมากก็เข้าตัว แต่อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายไปดูไปอ่านพระราชดำริของท่านดู ดินเปรี้ยวก็แกล้งดิน น้ำเน่าจะแกล้งน้ำไม่ได้เชียวหรือ องค์พ่อหลวงเคยบอกไว้แล้ว
แต่ไม่มีใครใส่ใจเท่านั้นเอง

ความเห็นที่ 8

ขออีกนิดนะครับ ผู้ที่บริจาค EM BALL มาให้ เขาบอกว่าหนี่งก้อนต่อสี่ตารางเมตร แต่เมื่อวานผมดูข่าว พณฯ ท่านรัฐมนตรีและผู้ที่เสนอหน้าทั้งหลาย ยืนเรียงหน้ากันเกือบสิบคน โยน EM BALL เหมือนให้อาหารปลาพื้นที่ยืนประมาณสิบตารางเมตร โยนคนละถุงสองถุง  เห็นแล้วอนาจ ขนาดรัฐมนตรียังไม่มีความรู้เรื่องแบบนี้ แล้วชาวบ้านจะรู้ได้อย่างไรล่ะครับเจ้านาย (จังหวัดไหนไม่ต้องบอกเนอะ ที่ท่วมตอนแรกๆนั่นแหละ)

ความเห็นที่ 9

EM และน้ำหมักชีวภาพ แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียได้จริงหรือ ?

 

โดย กลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ในช่วงเวลาปัจจุบันมีหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วนได้สนับสนุนการใช้ EM (Effective Microorganisms) เพื่อบำบัดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียในบริเวณน้ำท่วมขัง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายรวมถึงประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะอธิบายข้อเท็จจริงและให้ความรู้ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับ EM และจะกล่าวถึงกรณีศึกษาในการบำบัดน้ำเสียของต่างประเทศในภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้ บทความนี้มิได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งแต่อย่างใด แต่มุ่งหวังถึงประโยชน์สูงสุดในการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน

ปัญหาน้ำเน่าอาจกล่าวได้ว่าเกิดจากการที่สารอินทรีย์ในน้ำมีปริมาณสูง เมื่อเกิดการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์จึงส่งผลให้ออกซิเจนในน้ำมีปริมาณลดลง และในที่สุดอาจก่อให้เกิดสภาวะไร้อากาศซึ่งส่งกลิ่นเหม็น และส่งผลเสียต่อปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ ค่าการละลายออกซิเจนนับเป็นพารามิเตอร์หนึ่งที่สามารถบ่งบอกคุณภาพน้ำได้ โดยในแหล่งน้ำที่สะอาด ไม่เน่าเสีย โดยทั่วไปจะมีค่าการละลายออกซิเจนประมาณ 3 - 7 มิลลิกรัมต่อลิตร การย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะที่มีออกซิเจนสามารถอธิบายอย่างง่ายดังนี้

air6.png

EM (Effective Microorganisms) เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถเฉพาะทาง ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 3 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่ม Lactic acid bacteria 2) กลุ่ม Yeast และ 3) กลุ่ม Phototrophs (Purple bacteria) ซึ่งได้รับการพัฒนามาจาก Professor Teruo Higa ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงได้มีการประยุกต์ใช้งานในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านการเกษตร ด้านการหมักขยะมูลฝอยเพื่อทำปุ๋ย และด้านการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสุขา (โถส้วม) เป็นต้น โดยทั่วไป จุลินทรีย์ใน EM สามารถทำงานได้ทั้งในสภาวะที่มีออกซิเจน (Aerobic conditions) และไม่มีออกซิเจน (Anaerobic conditions) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงการประยุกต์ใช้งาน EM ในสภาวะที่ในน้ำท่วมขังซึ่งมีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved Oxygen, DO) อยู่อย่างจำกัด กล่าวได้ว่า EM จะใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ และในช่วงเวลาดังกล่าวจะส่งผลทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงและไม่เพียงพอได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าน้ำในบริเวณดังกล่าวมีสารอินทรีย์ปนเปื้อนอยู่มาก รวมถึงมีการใส่ EM ในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม (ปริมาณที่มากไปหรือใส่เข้าไปในสภาวะหรือรูปแบบที่ไม่เหมาะสม) ดังนั้น กล่าวได้ว่าการเติม EM อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียจากการขาดออกซิเจนที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม

อีกประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงเกี่ยวกับการเลือกใช้งาน EM กล่าวคือ จุลินทรีย์ใน EM ทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวไม่มีความสามารถในการสร้างออกซิเจนแต่อย่างใด นอกจากนี้ องค์ประกอบของ EM ball หรือ Micro ball ซึ่งมีการปั้นโดยใช้องค์ประกอบเป็นสารอินทรีย์ต่างๆ เช่น กากน้ำตาล และ รำข้าว เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างผลกระทบของสารอินทรีย์ข้างต้นต่อการเน่าเสียของแหล่งน้ำ อาทิ

  • กรณีกากน้ำตาล ที่ส่งผลต่อปัญหาน้ำเน่า เช่น การลักลอบทิ้งน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาล และกรณีเรือน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นข่าวใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา
  • กรณีรำข้าว อาจพิจารณาการที่เรานำรำข้าว หรือ เศษอาหาร ไปทิ้งไว้ในน้ำในปริมาณมากๆ และเป็นระยะเวลานาน ก็ย่อมส่งผลให้น้ำเน่าเสียเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อโยน EM ball ลงในแหล่งน้ำจึงเปรียบเสมือนการเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์ให้กับแหล่งน้ำใน บริเวณที่มีการท่วมขังอีกทางหนึ่ง โดยสารอินทรีย์ดังกล่าวที่ยังคงเหลืออยู่ย่อมก่อให้เกิดความต้องการออกซิเจน ในน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงได้  และแม้แต่จุลินทรีย์ใน EM เอง เมื่อตายไปก็นับเป็นแหล่งสารอินทรีย์ในน้ำเช่นกันซึ่งก็ยังต้องใช้ออกซิเจน ในการย่อยสลายเช่นกัน  ดังนั้น กล่าวได้ว่าการเติม EM นอกจากจะไม่ช่วยสร้างออกซิเจนแล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมจากการลดลงของปริมาณออกซิเจนในน้ำ รวมถึงเพิ่มสูงขึ้นของปริมาณสารอินทรีย์ (ดังที่กล่าวถึงข้างต้น)

ทั้งนี้ การย่อยสลายสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำท่วมขังควรกระทำภายใต้สภาวะที่มีอากาศหรือ ออกซิเจนเท่านั้น  การย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะไร้อากาศถือได้ว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในแหล่ง น้ำ โดยสรุป เราสามารถกล่าวได้ว่าการบำบัดสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำมีลักษณะแตกต่างจากการ บำบัดสารอินทรีย์ในสุขา และการหมักขยะเพื่อทำปุ๋ย  (ซึ่งมีการใช้ EM ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ที่เป็นพารามิเตอร์ที่บ่งบอกถึงคุณภาพแหล่งน้ำ รวมถึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพแหล่งน้ำดังที่กล่าวไว้ในบท ความก่อนหน้านี้ (http://www.eng.chula.ac.th/?q=node/3881)

ถึงแม้ EM ต้นแบบ (ลิขสิทธิ์ Professor Teruo Higa) ซึ่งอ้างว่ามีความสามารถในการกำจัดกลิ่นและทำให้น้ำใส แต่ก็เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาชั่วคราวในระยะสั้นเท่านั้น แต่หากสารอินทรีย์ในน้ำยังคงอยู่ และออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าน้ำนั้นสะอาดจริง กล่าวคือน้ำดังกล่าวยังไม่ปลอดภัยที่จะนำมาใช้และไม่ปลอดภัยต่อสัตว์น้ำแต่อย่างใด และอาจยังเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่างๆ ได้อยู่  นอกจากนี้ หากมองถึงประเด็นการผลิตน้ำหมักชีวภาพ หรือ EM ในแบบต่างๆ ด้วยตนเอง จุลินทรีย์ที่ได้อาจมีองค์ประกอบที่แตกต่างจากจุลินทรีย์ใน EM ต้นแบบ และหากไม่ได้ผ่านกระบวนการควบคุมคุณภาพที่ดีพอ EM และ น้ำหมักชีวภาพอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคได้ ซึ่งนับเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ควรระวังและไม่ควรมองข้ามสำหรับทุกๆ หน่วยงานและภาคส่วนที่มีสนับสนุนการใช้ EM เพื่อบำบัดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียในบริเวณน้ำท่วมขัง

ผู้ทรงคุณวุฒิ จากประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งไม่สามารถเอ่ยนามได้ เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตไว้) ได้ให้ข้อมูลว่าจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการพยายามจัดการ แก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ต่างๆ ขององค์กรอิสระต่างๆ ที่รณรงค์ร่วมกันใช้ EM เพื่อบำบัดน้ำเสีย อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่น (กระทรวงสิ่งแวดล้อม) ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาความสามารถของ EM ในการบำบัดน้ำเสีย และพบว่า EM ไม่ได้ช่วยในการบำบัดน้ำเสียแต่อย่างใด ในการนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่นจึงไม่แนะนำการใช้ EM ในการบำบัดน้ำเสียในสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ จากเหตุการณ์สึนามิซึ่งระบบบำบัดน้ำเสียถูกทำลาย ทางหน่วยงานรัฐบาลของญี่ปุ่นได้ทำการแก้ไขปัญหาระยะสั้นโดยการเติมคลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรคลงในท่อบำบัดน้ำเสีย  และเลือกใช้การตกตะกอน (Sedimentation) และการฆ่าเชื้อโรค (Disinfection) เพื่อบำบัดน้ำเสียในระบบบำบัดน้ำเสียชั่วคราว รวมถึงได้มีการวางแผนจะพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียชั่วคราวโดยใช้ระบบบำบัดทาง ชีวภาพร่วมกับการตกตะกอน และการฆ่าเชื้อโรค  (Biological treatment - Sedimentation - Disinfection) ส่วนในบริเวณชนบทนั้น ดำเนินการบำบัดน้ำเสียโดยทำการรวบรวมน้ำเสีย และทำการการฆ่าเชื้อโรค จากนั้นปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนกระทั่งระบบบำบัดขนาดเล็กได้รับการฟื้นฟู

ทั้งนี้ทางกลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าใจดีถึงความปรารถนาดีของทุกฝ่ายในการช่วยกันร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้น หากแต่อยากนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งของ EM เพื่อประกอบการตัดสินใจ เพื่อเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมที่สุดในการฟื้นฟูปัญหาสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากภาวะน้ำท่วมในปัจจุบัน

ความเห็นที่ 9.1

คัดมาจาก http://www.eng.chula.ac.th/?q=node%2F3915 ครับ

ความเห็นที่ 9.2

ใช่แล้วๆ มันเหมาะกับอะไรหมักๆ เน่าๆ  แค่เป็นการ "หมัก" เพื่อเอาไปทำอย่างอื่นต่อ เช่นทำปุ๋ย

หมักคือ เปลี่ยนสารประกอบอินทรีย์โมเลกุลใหญ่ๆให้มันเล็กลงๆ จะได้ย่อยง่ายๆ

แต่กรณีน้ำเสีย เราต้องการให้มันไม่เสียจะได้ไม่มีกลิ่นเน่า และมีอากาศให้สัตว์น้ำหายใจได้

คือมันดีนะ ถ้าใช้หมัก ...  แต่เอามาใส่น้ำเสียแบบนี้มันผิดงาน เหมือนใช้เครืองมือผิดประเภท ผลเป็นไง ไม่รู้เดายาก แต่ผมว่าไม่เหมาะ

ความเห็นที่ 10

ขอบคุณคุณนณณ์กับด๊อกเตอร์เอิร์ธมากเลยครับ ผมได้รู้และเข้าใจในเจ้าEM มากขึ้นเยอะเลยครับ

ความเห็นที่ 11

เสริมจากบทความที่พี่นณณ์เอามาแปะให้

การหมักเนี่ย (ไม่ใช่บำบัดน้ำเสียนะ) ทั่วไปหลักการมันคือ ใช้แบคทีเรียแบบไม่ใช้อากาศ เปลี่ยนพวกสารที่โมเลกุลใหญ่ๆให้เล็กลง ย่อยง่าย ไม่เหม็น เอาไปทำปุ๋ยได้ หรือไม่ก็เน้นไปทางผลิตมีเทน (แล้วแต่เป้าหมาย) (ถ้าพวกแบคทีเรียใช้อากาศมันจะย่อยเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ไปเลย)

ซึ่งสารอินทรีย์ทั้งหลายเวลาโดนหมักก็จะกลายเป็นพวกกรดอินทรีย์ ค่า pH จะต่ำ น้ำจะเป็นกรด

สำหรับแนว EM มีตัวพระเอกคือ

ยีสต์ (Yeasts)
เป็นราเซลล์เดี่ยว  ยีสต์จะทำให้เกิดกระบวนการหมักโดยเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นเอททิลแอลกอฮอล์และคาร์บอนไดออกไซด์ และอื่นๆอีกนิดหน่อยเช่น Glyceral, Acetic Acid, Organic Acid, Amino Acid, Purines, Pyrimidines และ Alcohol

ยีสต์สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่เป็นกรดสูง ซึ่งก็คือ สภาพเน่าๆนั่นแหละ

Lactic Acid Bacteria มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ ที่กระบวนการผลิตมีน้ำตาลมาเกี่ยวข้อง  แบคทีเรียกลุ่มนี้สามารถสร้างกรดแลคติก กรดฟอร์มิค เอทานอล และคาร์บอนไดออกไซด์ พวกนี้เจริญได้ดีในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน แต่ก็มีความสามารถเจริญเพิ่มจำนวนเซลล์ได้ดีในสภาพที่มีออกซิเจนด้วย

พวกนี้ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ทนต่อสภาพความเป็นกรดสูง ซึ่งพวกจุลินทรีย์ที่ก่อนให้เกิดการเน่าเสียมีกลิ่นเหม็นๆ มันอยู่ไม่ค่อยได้

ที่มา : แนวคิด หลักการ เทคนิคปฎิบัติในประเทศไทย เกษตรธรรมชาติ ประยุกต์ โดย รศ. ดร.อานัฐ ต้นโช

Phototrophic Bacteria อันนี้ไม่ค่อยรู้ เท่าที่หาอ่านๆดู เป็นพวกแบคทีเรียสังเคราะห์แสงได้ จุดสำคัญของตัวนี้คงอยู่ที่สามารถเปลี่ยนซัลไฟด์เหม็นที่มีในน้ำเน่าให้เป็นซัลเฟต ซึ่งละลายอยู่ในน้ำไม่ใช่แก๊สเหม็นๆนั่นเอง

ความเห็นที่ 12

เสริมอีก เพื่อให้เห็นภาพ

ทำไมน้ำจึงเน่า? อะไรคือน้ำเน่า?

ตามปกติ สิ่งที่เราไม่เห็นแต่มีอยู่จริงในน้ำ ก็คือ
  1. สารอินทรีย์ละลายน้ำ ที่มาจากซากนู่นนี่นั่นทำปฏิกิริยากับน้ำ กลายเป็นสารอินทรีย์ละลายน้ำ
  2. แบคทีเรีย ทั้งชนิดที่ใช้อากาศ (Aerobic) และชนิดที่ไม่ใช้อากาศ (Anaerobic)
  3. แร่ธาตุต่างๆ โมเลกุลต่างๆ ออกซิเจน ไนไตร ไนเตรท ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟต ซัลไฟต์ คาร์บอเนท ฯลฯ
น้ำที่ไม่เน่า คือ มันมีออกซิเจนมากพอ ปลาหายใจได้ สภาพนี้แบคทีเรียที่ครองพื้นที่คือพวกใช้อากาศ พวกนี้โตเร็ว ทำงานเร็ว ย่อยสลายสารอินทรีย์ได้เร็ว แต่ต้องมีออกซิเจนให้มันใช้เป็นตัวรับอิเล็คตรอน

ทีนี้พอในน้ำมีสารอินทรีย์ละลายน้ำมากเข้า มันก็มีอะไรกินเยอะ ก็โตเอาๆ จนใช้ออกซิเจนในน้ำหมด มันก็เดี้ยงเพราะไม่มีออกซิเจนไว้หายใจ (ตัวรับอิเล็คตรอน)

พอออกซิเจนในน้ำหมด พวกแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนก็ออกมาครองพื้นที่แทน ฮี่ๆ

พวกนี้ก็แบ่งเป็นหลายประเภท บ้างก็ใช้ไนเตรท บางก็ใช้ไนไตร ใช้สารนุ่นนี่นั่น ไล่เรียงกันไป (ขี้เกียจเปิดตำรา) ทีนี้ปัญหาคือ มีตัวนึง มันใช้ซัลเฟต แล้วได้ผลผลิตออกมาเป็นไฮโดรเจนซัลไฟต์ที่เหม็นเป็นไข่เน่านั่นเอง

อย่างไรก็ตามพวกนี้เติบโตช้า ทำงานช้า ย่อยสารอินทรีย์ได้ช้าๆ

ทีนี้เรารู้แล้วทำไมน้ำเน่า แล้วจะแก้ยังไง?

1. ก็เติมออกซิเจนเข้าไป พอมีออกซิเจน พวกแบคทีเรียใช้ออกซิเจนนี้โตเร็ว จะกลับมาครองพื้นที่ได้อย่างไว จบปัญหา ตราบใดที่ยังมีออกซิเจนพอ พวกนี้ครองพื้นที่แน่นอน
2. หาพวกแบคทีเรียไม่ใช้อากาศ แต่ไม่ทำให้เกิดกลิ่นมาใส่ ซึ่งนี่คือที่เราถกเถียงกันนั่นเอง

ความเห็นที่ 13

เขียนบทความเลย ดร.

ความเห็นที่ 14

เคลีย! yes

ความเห็นที่ 15

ผมมองข้ามไปเรือ่งนึง ขอเติมอีกนิด

ยังไง เมื่อเติม EM ลง ขั้นแรกสุดที่เกิดขึ้นคือ มันจะเอาออกซิเจนไปใช้จนหมดก่อน ซึ่งนั้นจะทำให้สัตว์น้ำตาย

จึงเกิดขั้นต่อมาคือ มันจะโตภายใต้ภาวะไร้อากาศแข่งกับแบคทีเรียอื่นๆ ถ้ามันชนะ น้ำก็ไม่เหม็นครับ

ความเห็นที่ 16

ตอนนี้คงไม่ทันแล้วครับระดมกำลังนั่งปั้นกันทั้งวันทั้งคืน จิตอาสามากันตรึม ทำไงดีล่ะครับ

ความเห็นที่ 17

ขอนอกเรื่องนิดนึงนะครับ
หมู่บ้านผมน้ำไม่ค่อยไหล เน่าดำเหม็น มีแหนด้วย
แต่ยังเห็นมีปลาเล็กปลาใหญ่ว่ายบ่อยๆ
ผมมีไดโว่อยู่ จะเปิดแล้วปล่อยให้พุ่งไปข้างหน้า
จะช่วยเพิ่มออกซิเจนได้บ้างไหมครับ หรือว่าเปลืองไฟเปล่าๆ

ความเห็นที่ 17.1

ได้ครับ คุ้มหรือเปล่าอีกเรือ่ง หุหุ
ยิ่งสูบขึ้นมาพ่นลงไปให้มันผ่านอากาศ ยิ่งดี

ลองวางให้มันทำให้น้ำหมุนแบบน้ำวนเอื่อยๆ

ความเห็นที่ 17.1.1

ขอบคุณครับ ผมว่าจะต่อท่อให้มันขึ้นสูงแล้วตกลงมา

แต่คงต้องรอให้น้ำลดพ้นพื้นบ้านก่อน เพราะตอนนี้ใช้สูบจากในบ้านออกนอกบ้าน ..เฮ่อ

ความเห็นที่ 18

มาเก็บความรู้ สนุกครับ ถกกันไปถกมา แล้วก็ปลง ไป  อาเมน เหอๆ

ความเห็นที่ 19

ก็คงพอๆกับฝายชะลอน้ำนั่นแหละครับ ถ้าฝายมีรูปแบบ และพื้นที่ที่เหมาะสม มันก็มีประโยชน์ หากไม่เป้นตามนั้นแล้วก็เกิดโทษมากกว่าคำว่าภูมิใจที่ช่วยสิ่งแวดล้อมเยอะเลย

ความเห็นที่ 20

ได้ความรู้เพียบ แต่คนใครจะไปบอกเค้าได้ล่ะ พวกใหญ่ ๆ โต ๆ เนี่ย