ผลการสำรวจระบบนิเวศทางน้ำเบื้องต้น

ไปสำรวจระบบนิเวศทางน้ำเบื้องต้นมาครับ โดยเป็นพื้นที่ สปก

ก็เลยเอามาแปะเผื่อๆไว้ เผื่อใครมีข้อสรุปผลการสำรวจว่าอย่างไร อยากเสนอ ก็บอกเล่ากันมาได้ครับ (จริงๆก็มีการคุยๆอภิปรายกันบ้างแล้ว)

พื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนตื้น ดินส่วนมากเป็นดินทราย โดยจากการประเมินจากแผนที่พบว่าพื้นที่มีลักษณะเป็นต้นน้ำ ลำน้ำประกอบด้วยลำน้ำสายเล็กๆหลายสาย ปัจจุบันการใช้พื้นที่ส่วนมากเป็นการทำเกษตรกรรมในลักษณะของการปลูกพืชไร่ แหล่งน้ำในพื้นที่ได้แก่ ลำห้วยธรรมชาติ คลองชลประทาน บ่อน้ำนิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เกิดจากการขุด และจากการสร้างฝายขวางทางน้ำธรรมชาติ โดยได้ทำการสำรวจระบบนิเวศแหล่งน้ำเบื้องต้น 8 จุด

ตอนนี้หน้าฝน ก็ปลูกข้าวโพดกันซะส่วนมาก

ปกติที่ไร่พวกนี้จะปลูกหมุนเวียนกันไปครับ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง  เป็นต้น

Comments

ความเห็นที่ 1

จุดที่ 1

แหล่งน้ำเป็นคลองชลประทานโดยจุดสำรวจอยู่ใกล้กับประตูน้ำ ผิวน้ำมีลักษณะค่อนข้างนิ่ง น้ำมีสีดินขุ่น กลิ่นปกติ จุดที่ลึกที่สุดลึกประมาณ 2-3 เมตร โดยประมาณจากอีกฝั่งของประตูน้ำซึ่งไม่มีน้ำท่วม ท้องน้ำเป็นดินปนทรายสีออกน้ำตาลแดง ไม่ต่างจากดินในพื้นที่ไร่บริเวณนั้น ตลิ่งสองฝั่งเป็นตลิ่งดินปกคลุมด้วยหญ้าขน

ตัวอย่างน้ำเก็บห่างจากตลิ่ง 1 เมตร ที่ความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร มีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พีเอช 6.93 และมีออกซิเจนละลายน้ำ 5.22 มิลลิกรัมต่อลิตร

สัตว์น้ำที่พบได้แก่ ปลาซิวหางแดง ปลาซิวหนวดยาว ปลาแป้น ปลากระดี่หม้อ กุ้งขนาดเล็กหลายชนิด หอยขม และ แมลงน้ำในกลุ่มจิงโจ้น้ำ และกลุ่มมวนกรรเชียง

.
จุดที่ 1 ปลาแป้นแก้ว ปลาซิวหนวดยาว

ความเห็นที่ 2

จุดที่ 2 คลอง มีบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆ ลักษณะเป็นลำคลองน้ำไหล น้ำมีสีดินขุ่น กลิ่นปกติ ท้องน้ำเป็นดินปนทรายสีออกน้ำตาลแดง มีตลิ่งสองฝั่งเป็นตลิ่งดินลาดลงไปในคลอง มีพืชปกคลุมได้แก่ จอกหูหนู ผักบุ้ง ผักกระเฉด ไมยราพยักษ์ บอนน้ำ และ กกธูป เป็นต้น

ตัวอย่างน้ำเก็บจากส่วนของคลองที่ตัดลอดผ่านถนน น้ำมีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พีเอช 6.97 และมีออกซิเจนละลายน้ำ 6.16 มิลลิกรัมต่อลิตร

สัตว์น้ำที่พบได้แก่ ปลากริม ปลาซิวหางแดง กุ้งขนาดเล็กหลายชนิด หอยขม หอยเชอรี่ และ แมลงน้ำในกลุ่มจิงโจ้น้ำและแมลงดาสวน เบื้องต้นสิ่งที่พบบ่งชี้ว่าเป็นแหล่งน้ำที่น่าจะมีน้ำอยู่ตลอดปี

.
จุดที่ 2 ปลาซิวหางแดง

ความเห็นที่ 3

จุดที่ 3 อ่างเก็บน้ำ ลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำของชุมชน น้ำเป็นสีดินขุ่น กลิ่นปกติ ท้องน้ำเป็นดินปนทรายสีน้ำตาลแดง ตลิ่งสองฝั่งมีพืชปกคลุมได้แก่ พืชในกลุ่มหญ้า ผักบุ้ง และ กกธูป เป็นต้น

ตัวอย่างน้ำเก็บห่างจากตลิ่งราวสองเมตร ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร น้ำมีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พีเอช 6.82 และออกซิเจนละลายน้ำ 4.86 มิลลิกรัมต่อลิตร

สัตว์น้ำที่พบได้แก่ ปลาซิหางแดง ปลากริมสี ปลากริมควาย ปลาบู่ทราย และชาวบ้านรายงานว่ามีการปล่อยปลาตะเพียนไว้ด้วย นอกจากนี้ยังพบ กุ้งขนาดเล็กหลายชนิด หอยขม หอยเชอรี่ และแมลงน้ำในกลุ่มของมวนแมงป่องเข็มและมวนกรรเชียง เบื้องต้นสิ่งที่พบบ่งชี้ว่าเป็นแหล่งน้ำที่น่าจะมีน้ำอยู่ตลอดปี

.
จุดที่ 3 ปลากริมควาย ปลาบู่ทราย

ความเห็นที่ 4

จุดที่ 4 จุดสำรวจนี้อยู่ห่างจากหมู่บ้านหรือถนนเส้นหลักในพื้นที่มาก ลักษณะเป็นทางน้ำไหล โดยมีกระแสน้ำตื้นๆไหลผ่านออกมาจากป่า จากพงหญ้า ผ่านลานหิน และไหลเข้าไปสู่ป่าอีกด้านหนึ่ง น้ำใส กลิ่นปกติ ท้องน้ำเป็นหิน มีตะกอนดินทรายทับถมเป็นบางจุด  

ตัวอย่างน้ำเก็บจากน้ำที่ไหลผ่านแผ่นหินช่วงที่มีความลึกประมาณ 20 เซนติเมตร น้ำมีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พีเอช 7.37 และออกซิเจนละลายน้ำ 6.23  มิลลิกรัมต่อลิตร

ณ จุดนี้ไม่พบปลาหรือหอยอาศัยอยู่ ไม่พบสังคมพืชริมตลิ่ง แผ่นหินและดินตะกอนต่างๆมีลักษณะสะอาด ไม่มีคราบตะไคร่ปกคลุม เบื้องต้นข้อมูลบ่งชี้ว่า ทางน้ำนี้น่าเป็นทางผ่านมาจากต้นน้ำ และจะมีน้ำไหลเพียงแต่ในฤดูฝนเท่านั้น ไม่มีน้ำไหลตลอดปี อย่างไรก็ตามพบกุ้งขนาดเล็กอาศัยอยู่บ้างในแอ่งน้ำด้านหนึ่งซึ่งน่าจะมาจากวิถีชีวิตของกุ้งที่จะว่ายและปีนป่ายขึ้นมายังต้นน้ำที่มีน้ำบริสุทธิ์เพื่อขยายพันธุ์

.
จุดที่ 5

ความเห็นที่ 5

จุดที่5 จุดสำรวจน้ำอยู่ริมถนน โดยแหล่งน้ำนี้มีลักษณะเป็นทางน้ำไหลขนาดเล็ก น้ำใส กลิ่นปกติ ท้องน้ำมีลักษณะเป็นแผ่นหิน กรวด และตะกอนดินทราย ไหลออกมาจากป่าด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง

ตัวอย่างน้ำเก็บจากน้ำที่ไหลผ่านแผ่นหินช่วงที่มีความลึกประมาณ 20เซนติเมตร น้ำมีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พีเอช 7.44และออกซิเจนละลายน้ำ 7.63 มิลลิกรัมต่อลิตร

ณ จุดนี้ไม่พบปลาหรือหอยอาศัยอยู่ ไม่พบสังคมพืชริมตลิ่ง แผ่นหินและดินตะกอนต่างๆมีลักษณะสะอาด ไม่มีคราบตะไคร่ปกคลุม เบื้องต้นข้อมูลบ่งชี้ว่า ทางน้ำนี้น่าเป็นทางผ่านมาจากต้นน้ำ และจะมีน้ำไหลเพียงแต่ในฤดูฝนเท่านั้น ไม่มีน้ำไหลตลอดปี

.
จุดที่ 5 ผลนมวัว หวานๆเปรี้ยวๆ สรรพคุณช่วยถ่ายท้อง

ความเห็นที่ 5.1

ชิมไปลูกหนึ่ง พอขึ้นรถพี่เค้าบอกว่ามันเป็นยาถ่าย อึ้งๆทึ้งๆ...ไป 2 วินาที --*
ทำไมไม่บอกก่อนกินเีนี้ยะ ดีนะท้องไม่เสีย ฮาๆ smiley

ความเห็นที่ 6

จุดที่ 6 จุดสำรวจนี้อยู่ห่างออกไปจากถนนพอสมควร ลักษณะพื้นที่บริเวณนี้พบแอ่งน้ำขนาดเล็กที่มีพืชน้ำขึ้นอยู่เป็นระยะ และมีไร่ข้าวโพดอยู่ทางฝั่งหนึ่งของเส้นทางลูกรัง พื้นที่เก็บตัวอย่างอยู่อีกฝั่งตรงข้ามกับไร่ข้าวโพด มีลักษณะเป็นลานกว้าง น้ำมีมีลักษณะใส กลิ่นปกติ น้ำตื้นไหลเอื่อยผ่านดงหญ้า โดยมีน้ำขังเป็นบางจุด ท้องน้ำเป็นลานหิน และตะกอนดินอ่อนนุ่ม มีหญ้าและกกธูปขึ้นปกคลุมเป็นบางจุด และพบสาหร่ายเตาปกคลุมอยู่ตามผิวน้ำ

ตัวอย่างน้ำเก็บจากบริเวณที่มีน้ำขังลึกไม่เกิน 30 เซนติเมตร น้ำมีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พีเอช 7.24 และออกซิเจนละลายน้ำ 8.26 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าออกซิเจนละลายสูงมากคาดว่าเกิดจากการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายหรือแพลงก์ตอนพืช

สัตว์น้ำที่พบได้แก่ ปลาซิวหางแดง และกุ้งขนาดเล็ก เบื้องต้นข้อมูลบ่งชี้ว่าเป็นจุดที่มีน้ำขังตลอดปีและมีลักษณะคล้ายพื้นที่ชุ่มน้ำ จากการสำรวจเพิ่มเติมพบอ่างเก็บน้ำทางท้ายน้ำของทางน้ำนี้ โดยน้ำมีลักษณะขุ่นจากตะกอนดิน และพบลูกปลาตะเพียนและปลานิล ที่คาดว่าว่ายทวนขึ้นมาจากพื้นที่ด้านล่างที่มีการปล่อยพันธุ์ปลาเหล่านี้

* ใครทราบชื่อหญ้าดอกม่วงๆ รบกวนบอกชื่อด้วยนะครับ
** พืชริมน้ำที่รากมันโผล่ๆมาขาวๆในภาพด้านล่าง ขอทราบนามด้วยครับ
จุดที่ 6 * ดอกหญ้า ที่ขึ้นทั่วไปในพื้นที่นี้ แอ่งน้ำ ไม่ไกลจากจุดสำรวจมากนัก ** พืชริมน้ำ ที่ออกรากขึ้นมาอย่างมีเอกลักษณ์ สาหร่ายเตา หรือ เทาน้ำ แมลงปอเข็มนาส้มวงฟ้า Ischnura aurora aurora แมลงปอเข็มป่าสีฟ้าปลายขาว Lestes elatus แมลงปอเข็มบ่อหน้าส้ม Pseudagrion rubriceps

ความเห็นที่ 6.1

ดอกสีม่วงน่ารัก เป็นพวกผักปราบครับ Commelina sp. ลองเช็คชื่อดู 

ส่วนพืชริมน้ำ ที่แอบงอกรากมาหายใจ น่าสนใจมากครับ ไม่เคยเห็นเลย ได้เก็บมาไหม?

ความเห็นที่ 6.1.1

ไม่ได้เก็บครับ แถมไม่ได้ถ่ายมาดีๆด้วย มัวแต่หาเศษหาเลยกับแมลงปอ เลยลืมมัน เจอตามแอ่งน้ำ บริเวณจุดสำรวจที่ 6  T T

ความเห็นที่ 6.1.1.1

ดอกสีม่วงเรียก  ดอกหงอนนาคครับ

ความเห็นที่ 7

จุดที่ 7 อยู่ในพื้นที่ยอดน้ำลำเชียงไกร บริเวณโดยรอบมีการทำไร่ข้าวโพด น้ำไหลแรง ผ่านลานหิน มีแอ่งที่มีตะกอนดินสะสม มีฝายกั้นด้านหนึ่ง น้ำไม่ขุ่นมากนัก กลิ่นปกติ ท้องน้ำเป็นลานหินมีตะไคร่ปกคลุม บางจุดเป็นตะกอนดิน ตลิ่งบางจุดเป็นลานหิน บางจุดเป็นตลิ่งดินมีหญ้าขึ้นปกคลุม มีสาหร่ายเตาปกคลุมตลิ่งตามจุดที่แดดส่องถึง

น้ำตัวอย่างเก็บจากด้านหลังฝาย บริเวณแอ่งน้ำขนาดปานกลาง น้ำมีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พีเอช 7.21 และออกซิเจนละลายน้ำ 6.17 มิลลิกรัมต่อลิตร

สัตว์น้ำที่พบได้แก่ ปลาซิวหางแดง และปลาซิวควาย เบื้องต้นข้อมูลบ่งชี้ว่าจุดนี้น่าจะมีน้ำไหลตลอดปี

จากการสำรวจเพิ่มเติมพบว่าน้ำหน้าฝายมีอุณหภูมิกับพีเอชใกล้เคียงกับท้ายฝาย แต่มีออกซิเจนละลายน้อยกว่าคือ 5.35 มิลลิกรัมต่อลิตร คาดว่าน่าจะเกิดจากการทับถมของซากต่างๆบริเวณหน้าฝายซึ่งเป็นอาหารของจุลชีพ

.
จุดที่ 7 ปลาซิวควาย ลักษณะดินตะกอน เป็นดินทรายแบบเดียวกับในไร่

ความเห็นที่ 8

จุดที่ 8 อยู่ในพื้นที่ยอดน้ำลำเชียงไกร เป็นร่องน้ำ ไหลผ่านพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการทำนาอยู่โดยรอบ น้ำมีลักษณะขุ่น กลิ่นปกติ ตลิ่งเป็นดินปกคลุมด้วยหญ้า ผักบุ้ง บอนน้ำ และผักแว่น เป็นต้น และมีสาหร่ายเตาเกาะอยู่ตามริมตลิ่ง ท้องน้ำเป็นดินทรายลักษณะเดียวกับดินในพื้นที่รอบๆ

น้ำมีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พีเอช 7.13 และออกซิเจนละลายน้ำ 8.43 มิลลิกรัมต่อลิตร

สัตว์น้ำที่พบได้แก่ ปลาซิวหางแดง และกุ้งขนาดเล็กหลายชนิด

.

จุดที่ 8 มวนแมงป่องเข็ม

ความเห็นที่ 9

หอยอะไรครับ ? ลูกๆหอยขม ?
หอยอะไร ?

ความเห็นที่ 9.1

เท่าที่ดูจากขนาดเทียบกับฝ่ามือ ตัวไม่ใหญ่มานัก น่าจะเป็นหอยคันในสกุล Bithynia หรือ ไม่ก็สกุล Wattebeldia แต่ทั้งสองสกุลอยู่วงศ์เดียวกัน หอยพวกนี้ชอบอาศัยตามพื้นท้องน้ำที่เป็นโคลน โคลนปนทราย หรือดินเหนียว บางชนิดอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไม่ค่อยดีได้ด้วยขอรับ
 ส่วนคำถามที่ว่า มันบอกอะไรกะแหล่งน้ำนี้ได้หรือไม่นั้น ในมุมมองของกระผมเห็นว่า มันใช้บอกยากขอรับ เพราะว่า หอยขมกับหอยคันพวกนี้ พบอาศัยได้ทั้งในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีกับไม่ดีมากด้วย แสดงว่าความทนทานมันค่อนข้างสูงขอรับ จึงยากที่จะนำมาใช้เป็นตัววัด เดี๋ยวรอท่านอื่นมาช่วยให้ความเห็นแล้วกันขอรับ 

ความเห็นที่ 9.2

ได้ชื่อ แล้วก็ไปค้นมา ได้เพิ่มเติมขอแปะไว้สักหน่อย
จาก
การศึกษาเปรียบเทียบอัตราความชุกและระดับความรุนแรงของโรคพยาธิใบไม้ตับ ระหว่างตำบลแร่และตำบลต้นผึ้ง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร
โดย นางสาวสมพิศ ตามสั่ง

หอย Bithynia ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเปิด โดยเฉพาะแหล่งน้ำธรรมชาติในทุ่งนาที่มีน้ำขังในฤดูฝน หรือตามหนอง บึง สระเปิดที่มีพืชน้ำขึ้นอยู่ พืชน้ำที่สำคัญได้แก่ หญ้าปล้อง (Hymenachne myros) ผักตบชวา (Eichornia crassipes) จอกหูหนู (Salvinia cucullata) และแพงพวยน้ำ (Jussiaea ripens) เป็นต้น เป็นหอยที่ชอบอาศัยอยู่บนหน้าดินในน้ำโดยเฉพาะที่ระดับน้ำลึกประมาณ 30 เซนติเมตร (Papasarathorn at al., 1980) ไม่ลอยอยู่บนผิวน้ำหรือไต่ขึ้นมาบนบกยกเว้นแหล่งน้ำที่มันอาศัยอยู่เน่าเสีย และพบได้บ่อยครั้งตามรากหรือลำต้นของต้นกล้าและพืชน้ำ
เป็นหอยที่ทนต่อสภาวะแวดล้อมได้ดี เมื่อน้ำในหนองแห้งมันสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยการฝังตัวอยู่
ใต้ดิน ฝาปิดสนิท จะอยู่ได้หลายเดือนหรือตลอดฤดูแล้ง


โดยทั่วไปชอบน้ำนิ่ง หรือไหลช้า ไหลเอื่อย ๆ อาจพบได้ในคลองส่งน้ำที่ยังไม่ได้ลาดซีเมนต์ สามารถอาศัยอยู่ได้ในความขุ่นของน้ำทุกระดับ ลักษณะของดินบริเวณที่อยู่อาศัยชอบดินโคลนปนทราย หรือโคลนลูกรัง หรือดินท้องนา หรือแปลงนาดำ ไม่ชอบดินเหนียว น้ำมีความเป็นกรดอ่อนๆ pH อยู่ระหว่าง 7 – 8.4 อุณหภูมิประมาณ 24 - 28° C พืชน้ำที่ขึ้นอยู่ตามขอบสระหรือลอยอยู่ในแหล่งที่หอยอาศัยอยู่ มีส่วนในการแพร่กระจายและเป็นแหล่งวางไข่ของหอย ตลอดจนเป็นแหล่งอาหารของหอย (Trop.Med.Technical group, 1986)

ความเห็นที่ 10

ผลนมความเก็บมาไหมครับ?  พรรณไม้หาไม่ง่ายแล้วนะ

ความเห็นที่ 10.1

พี่คนนำทาง เก็บกลับไปกินครับ เลยขอมาถ่ายรูปหน่อยนึง

ความเห็นที่ 11

แถม หาเศษหาเลยกับแมงมุมนืดหน่อย

แมงมุมใยกลม Araneus mitificus แมงมุมใยกลม แมงมุมใยกลม Poltys sp แมงมุมสองหาง

ความเห็นที่ 12

ภาพเปิดอย่างแหร่มเลย ^^

ความเห็นที่ 13

เปลี่ยนเลนส์ช่วงนอมอลแล้วหรอพี่ 
ภาพวิวสวยมากกกก 

ความเห็นที่ 13.1

เลนส์คิทนะแหละท่าน

ความเห็นที่ 14

แล้วที่ตรงนี้อนาคตต่อไปจะกลายเป็นเขื่อนหรือเปล่าครับ

ความเห็นที่ 14.1

เป็นไปไม่ได้ครับ เป็นที่ราบสูงครับ ไม่มีแอ่งภูเขาให้เอาเขื่อนปัก 

เท่าที่ดูน่าห่วงเรื่องดินเสื่อมโทรมมาก 

ความเห็นที่ 15

มาลงชื่อว่ามาดูแล้ว ไม่ได้หายไปไหน

ความเห็นที่ 16

ผลแลปน้ำยังไม่ออก แต่เท่าที่ไปคุยๆกับคนตรวจแล้ว แทบไม่พบแอมโมเนีย กับ ไนเตรท บ่งชี้ว่า น้ำค่อนข้างสะอาด (อาจเป็นเพราะหน้าฝนด้วย ??) ละเรื่องผลน้ำไว้ก่อน

โดยสรุป ผลการสำรวจระบบนิเวศทางน้ำเบื้องต้นในพื้นที่ กับการเก็บข้อมูลเบื้องต้นทั้ง 8 จุด และการประเมินจากข้อมูลพื้นฐานในด้านอื่นๆ พบว่า ทางน้ำไหลในพื้นที่ในช่วงเวลาที่สำรวจส่วนมากจะมีน้ำไหลแค่ช่วงฤดูฝน และจะแห้งลง หรือเหลือน้ำเพียงเล็กน้อยในฤดูแล้ง โดยนอกฤดูฝน แหล่งน้ำน่าจะคงเหลืออยู่เพียงตามแอ่งน้ำธรรมชาติขนาดไม่ใหญ่เป็นบางจุด และถูกกักเก็บอยู่ตามประตูน้ำ ฝาย หรืออ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำส่วนมากที่เข้าไปสำรวจมีตลิ่งธรรมชาติที่ปกคลุมด้วยพืชริมตลิ่งและพืชน้ำอย่างสมบูรณ์ (ไม่ใช่ตลิ่งคอนกรีต) ทำให้ระบบนิเวศทางน้ำของพื้นที่ค่อนข้างสมบูรณ์ จากการสำรวจพบแมลงน้ำหลายชนิดหลายกลุ่มและพบเป็นที่อยู่อาศัยของลูกปลาและปลาเล็กจำนวนมาก
 
ระบบนิเวศแบบน้ำนิ่งในพื้นที่จัดว่ามีส่วนสำคัญเพิ่มความชุ่มชื้นและความหลากหลายทางชีวภาพให้พื้นที่ในระดับหนึ่ง การส่งเสริมและพัฒนาแหล่งน้ำและระบบนิเวศทางน้ำที่เหมาะสมได้แก่ การขุดบ่อเก็บน้ำขนาดกลางแยกออกมาจากเส้นทางน้ำธรรมชาติเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูน้ำหลากและจัดทำให้มีส่วนตื้นส่วนลึกเพื่อเสริมระบบนิเวศทางน้ำให้สมบูรณ์ และเมื่อมีทางเชื่อมกับทางน้ำธรรมชาติสัตว์น้ำจะอพยพเข้ามาอยู่อาศัยเอง
 
ระบบนิเวศแหล่งน้ำในพื้นที่โครงการส่วนมากที่สำรวจพบมีลักษณะเป็นระบบนิเวศแบบน้ำนิ่งที่มีท้องน้ำเป็นดินทราย สอดคล้องกับชนิดของปลาและหอยในธรรมชาติที่พบซึ่งเป็นกลุ่มปลาและหอยที่อาศัยอยู่ในน้ำนิ่งเช่นกัน ได้แก่ ปลาซิวหางแดง (Rasbora borapetensis) ปลาซิวหนวดยาว (Esomus metallicus) ปลาซิวควาย (Rasbora tornieri) ปลากระดี่หม้อ (Trichogaster trichopterus) ปลากริมสี (Trichopsis pumilus) ปลากริมควาย (Trichopsis vitatus) ปลาแป้นแก้ว (Parambassis siamensis) ปลาบู่ทราย (Oxyeleotris marmorata) หอยขม (วงศ์ Viviparidae) หอยไซ (วงศ์ Bithyniidae) หอยเชอรี่ (วงศ์ Ampullariidae) นอกจากนี้ยังพบปลาตะเพียนและปลานิล ซึ่งเป็นปลาที่มีการปล่อยลงแหล่งน้ำเพื่อการประมงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การสำรวจไม่ได้เป็นการสำรวจอย่างครบถ้วนอย่างการตีอวนหรือซ๊อตไฟฟ้า จึงน่าจะมีชนิดพันธุ์ปลามากกว่าที่พบ ทั้งนี้ การที่พบปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำนิ่ง อาจเป็นผลจากฝายและประตูน้ำที่ปิดกันเส้นทางน้ำตามธรรมชาติที่พบเป็นระยะ ซึ่งมีส่วนในการขัดขวางมิให้ปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำด้านล่างไม่สามารถขึ้นมาใช้ประโยชน์จากต้นน้ำ (ดำรงชีวิต ผสมพันธุ์ วางไข่) ได้เช่นกัน 

ความเห็นที่ 17

ผลน้ำมาครบแล้ว ขออัพเดทเพื่อเป็นความรู้
แอมโมเนีย บีโอดี ต่ำมาก แทบไม่มี   แปลว่า ไม่มีการปนเปื้อนน้ำทิ้งชุมชน
ไนเตรทสูง (เกือบร้อยจนเกินร้อย มก/ล) แปลว่า ปนเปื้อน ปุ๋ย จากไร่นารอบๆพื้นที่ซึ่งเยอะมาก

ไนเตรทเป็นพิษกับทั้งปลาและคน ทำให้น้ำนี้ไม่เหมาะต่อการเพาะเลี้ยงปลา และการบริโภค