หอยเชอรี่ ไฮบริดกับ หอยโข่งไทย?

หอยเชอรี่ กับ หอยโข่งไทยมันสามารถผสมข้ามกันได้หรือไม่ครับทั้งในธรรมชาติหรือในห้องทดลอง

เคยได้ยินตามกระทู้ต่างๆ แต่พอค้นเอกสารทางวิชาการกลับไม่มีที่ไหนที่ฟันธง ต่างเลี่ยงใช้คำว่าอาจจะเกิดขึ้นได้กันทั้งนั้น

ไม่ทราบว่าใครพอจะมีข้อมูลบ้างครับ หรือถ้ามีตัวอย่างหรือรูปถ่ายจะดีมากๆเลย ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ปล. ผมกำลังหาข้อมูลเขียนโครงการขอทุนวิจัยอยู่ครับ 

Comments

ความเห็นที่ 1

น่าสนใจ สงสัยมานานแล้วเหมือนกัน
แต่ที่สังเกต หากมีไข่หอยเชอรี่ในแหล่งใด ก็จะไม่เห็นไข่หอยโข่งเลย

ความเห็นที่ 2

เก็บตัวอย่างหลายๆ จังหวัด หลายๆ สถานนี มาตรวจดีเอ็นเอ ก็น่าจะรู้แล้วครับ

ความเห็นที่ 3

ผมก็ได้ยินมาแบบไม่วิชาการแบบนี้ประจำครับ ยังคิดทุกครั้งที่ได้ยินว่า จริงเหรอ? แต่ก็ยังไม่ได้ลองค้นอะไรจริงจังสักที
ยิ่งพวกที่ขายที่เลี้ยงหอยที่เรียกว่าหอยแอปเปิ้ลอีก เขาจะบอกว่าของเขาไม่ใช่หอยเชอรี่นะ หอยเชอรี่น่ะเกิดจากหอยแอปเปิ้ลหลุดไปผสมกับหอยโข่งพื้นเมือง ซึ่งไม่ตรงกับที่เรียนมาว่า Apple snail = หอยเชอรี่ แล้วเจ้านี่นี่แหละที่หลุดลงไปในธรรมชาติบ้านเรา หรือที่ผมเรียนมามันผิด

ความเห็นที่ 4

ขอบคุณทุกข้อมูลครับ พอดีตอนตั้งกระทู้ลืม ล็อกอิน
จริงๆแล้วผมสนใจเรื่องผลของ ไฮบริดจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นต่อความหลากหลายทางพันธุกรรมของพันธุ์พื้นเมือง หรือ genetic pollution ซึ่งมันจะเร่งให้พันธ์พื้นเมืองสูญพันธุ์เร็วยิ่งขึ้น
เเละก็ต้องออกตัวก่อนว่าไม่ค่อยมีความรู้เรื่องหอยมากนัก(แต่ต้องหาทุนมาทำวิจัย ครั้นจะทำอยู่แต่ผีเสื้อก็หาแหล่งทุนยากเย็นนัก)

หรือมันจะไม่มีจริงๆครับ เพราะบางเปเปอร์ก็บอกไม่มีหลักฐานการไฮบริด
ถ้าในหอยเชอรี่ไม่มี แล้วพวกเอเลี่ยนตัวอื่นพอจะมีที่เป็นข้อมูลจับต้องได้บ้างไหมครับ 

ความเห็นที่ 5

เอ๋...แล้วทำไม พื้นที่ ที่มีหอยเชอร์รี่ จึงไม่มีไข่หอยโข่งเลย

เคยอ่านข้อมูล แต่จำแหล่งไม่ได้แล่ว เขาบอกเลยว่า แหล่งที่ยังมีหอยโข่ง  คือส่วนที่น้ำไม่ท่วมถึงของบึงบรเพ็ด

แต่จากการสังเกตุ ผมก็เชื่อว่ามันผสมกันครับ

ความเห็นที่ 6

ผมคิดว่ามันน่าจะผสมกันมานานแล้วแหละครับ..หอยสองชนิดนี้แยกยากมาก เมื่อก่อนตอนที่เจ้าแอ็ปเปิ้ลมาใหม่..ตัวจะมีสีเหลืองทองสวยงาม..เดี๋ยวนี้เป็นไงหละสีเหมือนหอยโข่งเลย และวางไข่ได้มากกว่าด้วยนะขยายพันธุ์ได้รวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ..ปลาดุกอร่อยไป

ความเห็นที่ 7

ไปค้นเอกสารมาครับ พบ golden apple snail หรือหอยเชอรี่ที่เป็น introduce sp. มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ Pomacea canaliculata, P. insularum และ Pomacea sp.

ส่วนหอยโข่งบ้านเราเป็น Pila ampullacea, P. angelica, P. gracilis, P. pesmei และ P. polita

ดังนั้นหอยเชอรี่มันก็มีลักษณะต่างกันออกไปทั้งภายในชนิด แถมยังมีต่างชนิดอีก โดยในต่างขนิดกันจะต่างกันทั้งลักษณะเปลือก ลวดลายแถบ สี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าที่เลี้ยงในตู็กันปัจจุบันเป็นชนิดใหน

แต่ยังไงผมก็ยังหาเอกสารที่พูดถึงการผสมข้ามชนิด (และสกุล) ของหอยเชอรี่กับหอยโข่งพื้นเมืองไม่เจอครับ เขาก็ยังแยกออกกันชัดเจนอยู่ ทั้งที่ศึกษาทางพันธุกรรมของทั้งหอยโข่งหอยเชอรี่ในประเทศไทยก็ไม่เห็นเขาจะวิเคราะห์หรือผิดสังเกตอะไรเป็นแนวนี้เลย

เอกสารที่โหลดมาดูกันได้ครับ

http://www.thaiscience.info/journals/Article/Genetic diversity of introduced (pomacea canaliculata) and native (pila) apple snails in thailand revealed by randomly amplified polymorphic dna (rapd) analysis.pdf

http://www.tm.mahidol.ac.th/seameo/2003-34-suppl-2/25-128.pdf

http://www.mwa.co.th/download/prd01/article/micro/mollusk.pdf
(อันนี้ดร.สมศักดิ์ ปัญหา เขียน ก็ยังบอกแค่ว่าหอยเชอรี่เพิ่มจำนวนจนทำลายแหล่งวางไข่ของหอยโข่ง)

ใครเจอเอกสารเกี่ยวกับหอยเชอรี่ครอสบรีดกับหอยโข่งก็ช่วยนำมาเผยแพร่ด้วยครับ จะได้ปัดฝุ่นความรู้เก่าๆซะหน่อย


ความเห็นที่ 7.1

ขอบคุณมากครับ ชัดเจนดี

ความเห็นที่ 7.2

ขอบคุณมากครับ เอกสารในมือก็มีประมาณนี้แหล่ะครับ

ความเห็นที่ 8

ถ้างั้น ก็ลองไล่เก็บหลายๆตัวอย่าง เอาทั้งที่คิดว่าเป็นชนิดบริสุทธิ์และที่คิดว่าเป็นผสม แล้วพิสูจน์ดูว่าตกลงมันมีผสมข้ามพันธุ์กันจริงไหม คือ...ถ้ามีคนยืนยันแล้วว่ามันข้ามพันธุ์กันจริงๆ(ถ้าเจอเอกสา) แล้วจะแค่ทำ dna ยืนยันก็คงไม่ตื่นเต้นนะครับ

ความเห็นที่ 9

ต้องเทียบกับ original ด้วยใหมพี่

ความเห็นที่ 10

ช่วยอธิบายให้หน่อยได้หรือไม่ครับ ว่ามันทำลายแหล่งวางไข่อย่างไรหรอครับ จะได้เอาไว้สังเกตุบ้าง

ความเห็นที่ 10.1

ตรงนี้จริงๆก็เป็นจุดที่ผมเห็นว่าแย้งได้ เพราะยังมองไม่เห็นภาพเหมือนกันว่ามันจะทำยังไง (โดยเฉพาะที่บอกว่า แหล่งวางไข่ของหอยโข่งที่เป็นพื้นโคลนตามท้องนา ซึ่งเราทราบกันว่าหอยโข่งและหอยเชอรี่วางไข่ติดตามวัตถุหรือพืชที่โผล่พ้นขึ้นจากน้ำ)

หรือจะเป็นว่า มันมีสัญชาตญาณกินไข่หอยสีอื่นที่ไม่เหมือนกับมัน (หรือกินดะ อะไรที่ไม่ใช่ไข่ของมันแล้วมันกินได้)

ความเห็นที่ 11

ประเด็นนึงที่ทำให้คิดว่าไม่น่าจะเกิดไฮบริดของหอยโข่งกับหอยเชอรี่คือ การแยกตัวของอเมริกาใต้ออกจากทวีปอื่นมันนานมากแล้ว ถ้าไม่ใช่พวกที่เคลื่อนย้ายทางอากาศกับทะเลได้แล้ว คิดว่ายากที่จะหาสัตว์กลุ่มใหนนอกอเมริกาใต้-เหนือผสมข้ามกันได้ (พวกเลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเช่นเสือ จะผสมข้ามได้หรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่น่าจะเป็นพวกที่เดินทางเข้าไปยุคหลังๆ ผ่านทางอลาสก้า)

พอจะมีสัตว์กลุ่มใหนจากถิ่นอื่น (ไม่นับอเมริกากลาง-เหนือ) ผสมข้ามกับพวกอเมริกาใต้ให้ได้ยินบ้างหรือเปล่าครับ จะได้หักล้างสมมติฐานนี้ได้ มีปลากลุ่มซิคลิดนี่แหละ ที่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็อยากทราบว่ามีการรายงานไว้หรือเปล่า (ไม่ต้องระดับวิชาการก็ได้ครับ แค่นักเพาะเลี้ยงรายงานก็พอ)

ถ้าอย่างแอฟริกานี่ ชัดๆก็คือปลาดุกยักษ์ที่ผสมข้ามกับปลาดุกบ้านเราได้

ความเห็นที่ 11.1

ขอบคุณมากครับ ผมลืมคิดถึงประเด็นนี้ไปเลย เดี๋ยวเดือนหน้ากลับไทยจะลองเก็บตัวอย่างกลับมาที่แลปดูสักหน่อย แล้วจะเเวะเข้าไปหา อ.สมศักดิ์ ขอคำปรึกษาท่านหน่อย ได้ข้อมูลอย่างไรจะเอามาเล่านะครับ

ความเห็นที่ 11.2

Python regius-group (Africa) x Python curtus-group (Asia)
Python sebae (Africa) x Python morulus (Asia)

Lithobates catesbeiana (America) x Hoplobatrachus rugulosus (Asia)

ความเห็นที่ 11.2.1

โห กบอเมริกายังให้ลูกผสมกับกบเอเชียได้ surprise

ความเห็นที่ 11.2.1.1

ยังมี
Varanus salvator (Asia) x Homo sapien sapien (cosmopolitanr)
= Khon heia heia

ความเห็นที่ 11.2.1.1.1

ถูกใจมาก ๆ เจอบ่อย ๆ ด้วย ทำข่าวกันประจำ

ความเห็นที่ 11.2.2

เรื่องกบ แฟนเคยเล่าว่าที่โครงการหลวงมีเพาะเลี้ยงลูกผสมดังกว่าด้วย ผมลืมไปเอง แฮ่ะๆ

ความเห็นที่ 11.2.2.1

http://www.rd1677.com/branch.php?id=42891
แต่ผมยังไม่รู้เลยว่ากบลูกผสมหน้าตาเป็นยังไง? ตัวที่เอามาโชว์น่าจะเป็นกบจานทั่วไปมากกว่า(มั้ง)

ความเห็นที่ 12

ผมได้สอบถามไปทางอ.บังอร แถวโนนงิ้ว ภาควิชาชีววิทยา ม.สารคาม ที่ได้เคยศึกษาความหลากหลายพันธุกรรมของหอยโข่งกับหอยเชอรี่ในบ้านเราแล้ว ขออนุญาตนำข้อความมาเผยแพร่ต่อนะครับ จะได้มีแนวคิดแบบเป็นวิชาการเก็บไว้ในระบบข้อมูลบนอินเตอร์เน็ทให้ค้นเจอได้ต่อไป

"แต่ก่อนเคยมีคำถามว่าหอยโข่งพันธ์พื้นเมือง (Pila sp.) สามารถผสมกับหอยเชอรี่ (Pomacea sp.) แล้วเกิดลูกผสมหรือเปล่า พอทำการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของหอยทั้งสองสกุลที่พบในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2543-2546 พบว่าหอยทั้งสองสกุลมีความแตกต่างทางพันธุกรรมอย่างชัดเจน และยังได้พัฒนาเครื่องหมายทางพันธุกรรมที่เฉพาะต่อชนิดของหอยเชอรี่ได้สำเร็จ  จึงยืนยันได้ว่ายังไม่พบว่ามีลูกผสมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน"

งานวิจัยดังกลาวคือฉบับนี้แหละครับ
http://www.thaiscience.info/journals/Article/Genetic diversity of introduced (pomacea canaliculata) and native (pila) apple snails in thailand revealed by randomly amplified polymorphic dna (rapd) analysis.pdf

แต่ผมไม่ค่อยประสาเรื่องพันธุกรรมระดับโมเลกุลเลยยังอ่านได้ไม่แตกฉาน อธิบายได้แค่ผิวๆที่ตัวเองเข้าใจ

เรียนขอบคุณอ.บังอรสำหรับข้อมูลไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

ความเห็นที่ 13

ผมคิดสมมติฐานบางอย่างมาเพิ่มเติมครับ

ที่พวกเลี้ยงตู้ไม่น้ำว่ากันหอยแอปเปิ้ลเป็นคนละชนิดกับหอยเชอรี่ นอกจากที่ว่าเจ้า Pomacea จะมีหลายชนิดแล้ว การที่มีสีสันสวยงามต่างจากหอยเชอรี่ในธรรมชาติบ้านเราเพราะ
1 มันถูกคัดพันธุ์มาหลายรุ่นโดยนักเพาะเลี้ยง และที่ขายแต่ละครั้งก็ยังคัดสีสวยขายอีก เนื่องจากสีสันของหอย Pomacea มีความแปรผันได้หลายสี (จากภาพในเน็ต)
2 สีของเปลือกหอยที่อยู่ในสภาพที่เลี้ยงทำให้หอยไม่จำเป็นต้องสร้างสีเพื่อการลดความสนใจจากผู้ล่า แต่หากย้ายไปอยู่ในสภาพธรรมชาติ เปลือกใหม่ที่มันสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาจะมีสีที่พรางตัวได้ดีขึ้น
3 พวกในธรรมชาติบ้านเราที่สีเป็นโทนสีน้ำตาลอย่างที่เห็นๆ เป็นเพราะมันถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติ จากตัวที่มีสีเด่นโดนล่าจนหมด ประชากรที่มีสีไม่โดดเด่นจึงมีโอกาสรอดมากกว่าและผสมพันธุ์กันหลายรุ่นจนลูกที่เกิดใหม่ส่วนใหญ่มีสีเข้ม เหลือสีเด่นเพียงส่วนน้อยในประชากร และยังถูกคัดทิ้งโดยการล่าไปเรื่อยๆ

ทำไมหอยโข่งพื้นเมืองถึงถูกแทนที่ด้วยหอยเชอรี่ สมมติฐานที่รวบรวมมาจากข้อมูลเผยแพร่จากฝ่ายวิชาการแล้วก็มีที่ผมตั้งขึ้นมาเองคือ
1 มีความสามารถในการแก่งแย่งแหล่งอาหารสูง หอยเชอรี่โตเร็วมาก กินเก่ง กินพืชน้ำ ซากปลาตาย แค่สามเดือนก็โตเต็มวัย สามารถผสมพันธุ์ได้ แม่หอยสามารถวางไข่ได้ตลอดปี น้ำเน่าก็ทนอยู่ได้ดี หอยโข่งไทยเจอสภาพแย่หนักๆก็พากันตายหมดไปก่อน
2 การกำจัดหอยเชอรี่ด้วยการใช้สารเคมี มีผลทำลายหอยโข่งพื้นเมือง ส่วนหอยเชอรี่แม้จะโดนทำลายไปแต่ก็มีบางส่วนที่ทนทาน อยู่รอดได้บ้าง กลับมาแพร่พันธุ์ซ้ำในที่นั้น
3 ไข่หอยเชอรี่มีโอกาสรอดสูงกว่าตามธรรมชาติอยู่แล้ว มีการรายงานว่าไข่หอยเชอรี่มีพิษ ทำให้ไม่ถูกกินโดยสัตว์อื่นง่ายๆ มันใช้สีไข่ที่โดดเด่นเตือนสัตว์อื่น และวางไข่โดยไม่ต้องหลบซ่อน (http://jusci.net/node/1423)
นอกจากนั้นผมคิดว่าไข่หอยเชอรี่ยังน่าจะมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและสารเคมีต่างๆได้ดีกว่าหอยโข่งไทยนะ พอโดนสารเคมีกำจัด ไข่หอยโข่งอาจจะไม่รอด แต่ไข่หอยเชอรี่รอด
4 ก็เรื่องกินดะ และถ้าได้ผ่านไปเจอไข่หอยโข่งปริ่มๆน้ำเมื่อไหร่ก็ฟาดเรียบ อย่างที่ได้ตั้งสมมติฐานไปแล้ว โดยหอยเชอรี่บางทีก็ขึ้นมากินตะไคร่ที่แนวปริ่มๆให้ได้เห็นตัวอยู่บ้าง (เรื่องกินไข่กบก็มีชาวสยามเอ็นซิสเคยโพสต์มาแล้ว)

อย่างไรก็ตามนี่ก็ยังเป็นแค่สมมติฐานที่ตั้งขึ้นมาครับ สามารถหักล้างได้ ไม่ซีเรียสครับ

ความเห็นที่ 13.1

ชัดเจนมาก ๆ ขอบคุณมากครับ เดมผมเข้าใจว่า หอยเชอรี่ไข่มาก แต่ไม่ทน ส่วนหอยโข่ง เป็นสัตว์พื้นเมือง ทนกว่า พอผสมกัน เลยกลายเป็นว่า ไข่มากแล้วทน


ชัดเจน ๆ สรุป แสดงว่า ไม่ผสมข้ามกัน

ความเห็นที่ 13.2

เคยได้ยินเรื่องเล่าเช่นนี้มาเหมือนกันครับ
http://www.siamfishing.com/board/view.php?tid=35803

ความเห็นที่ 14

น่าเอาไปเขียนเป็นบทความเลยเนาะ มีสาระดี

ความเห็นที่ 15

update:
วันนี้ได้เจอภาพถ่าย   ไข่หอยเชอรี่  กับ ไข่หอยโข่ง วางไข่อยู่ใกล้กัน
หากดูจากภาพ ระยะห่างของไข่ประมาณไม่เกิน 5 เซนติเมตร
เป็นข้อมูลที่มาหักล้างได้ว่า แหล่งที่มีหอยเชอรี่ ก็ มีหอยโข่งได้

ภาพที่เห็นบ่งบอกชัดเจน แต่ยังไม่สามรถตอบได้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป
ณ ที่แห่งนั้นตอนนี้เป็นสภาพเช่นไร
เหลือเพียงหอยเชอรี่? เหลือเพียงหอยโข่ง? พบทั้ง 2 ชนิด? หรือไม่พบเลย?

รอให้เจ้าของภาพมีเวลาว่างก่อน ไว้ผมจะขอให้พี่เค้าเอามาให้ชมครับ

ความเห็นที่ 16

อยากทราบว่า จะหาหอยโข่งน้ำจืด (pila spp.) ได้ที่ไหนบ้างครับ ประมาณว่าสถานที่จับ หรือที่ขายที่ซื้อ หรือแหล่งเพาะพันธุ์ครับ