สัมพันธ์ต่างสายพันธุ์ สลดลิงเฝ้าศพหมา ซนจนตาย-โดนยาเบื่อ

 

p0161160953p1.jpg

ภาพ ความผูกพันระหว่างลิงกับสุนัขซึ่งหาดูไม่ง่ายนัก โดย "เจ้าแต้ว" ลิงแสมแสนรู้นั่งเฝ้าซาก "เจ้าเสือ" สุนัขพันทางซึ่งถูกคนใจร้ายวางยาเบื่อตาย

เป็นข่าวที่สะกดความสนใจคนรักสัตว์ ทำให้เห็นภาพความรักความผูกพันระหว่างสัตว์ได้เป็นอย่างดี

ถึงจะต่างสายพันธุ์แต่การกระทำก็สื่อถึงความผูกพันได้!!?

ก่อนหน้านี้สัตว์ทั้งสองตัว เคยเป็นข่าวดังเกรียวกราวอยู่พักใหญ่ หลังสื่อมวลชนตีแผ่ภาพน่ารักระหว่างลิงกับหมาออกไป

ใน ภาพที่ "เจ้าแต้ว" ลิงแสมวัย 1 ปี มักจะคลอเคลียอยู่กับ "เจ้าเสือ" สุนัขวัย 2 ปี ไม่ยอมห่างไปไหน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน เป็นเพื่อนเล่นกันเสมือนสายพันธุ์เดียวกัน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ โดยเจ้าแต้วมักจะขี่หลังเจ้าเสือเหมือนคาวบอยขี่ม้า พาวิ่งไปไหนต่อไหน

จนกระทั่งมาตอนหลัง "เจ้าเสือ" ถูกคนใจร้ายวางยาเบื่อจนสิ้นใจตาย

เลยทำให้เกิดภาพประทับใจในฉากเศร้า เมื่อ "เจ้าแต้ว" เกิดอาการซึมนั่งเฝ้าซากเพื่อนไม่ยอมหนีไปไหน

สะท้อนใจคนรักสัตว์ยิ่งนัก!?!

ย้อน ไปดูเบื้องหลังการจากไปของเจ้าเสือ เกิดขึ้นวันที่ 8 ก.ย. วันนั้นเป็นวันที่ส.ต.อ.สมยศ ผิวขำ อายุ 36 ปี ผบ.หมู่งานป้องกันและปราบปราม ช่วยราชการงานจราจร สภ.พระขาว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าของลิงกับสุนัขคู่นี้ต้องสลดใจกับภาพที่ปรากฏตรงหน้า เมื่อพบว่า "เจ้าเสือ" ถูกวางยาเบื่อตายอยู่บริเวณหลังบ้านพักตำรวจโรงพักพระขาว

p0161160953p2.jpg


มาเจอซากอีกทีก็ตอนรุ่งเช้า

คนใจร้ายฆ่าได้กระทั่งสัตว์ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว!?!

แต่ ภาพที่สะเทือนใจยิ่งกว่านั้น คือ ภาพที่เจ้าแต้วไม่ยอมไปเล่นซนที่ไหน ยังคงวนเวียนอยู่กับซากของเจ้าเสือไม่ห่างไปไกล มิหนำซ้ำยังนอนกอดเจ้าเสือ พยายามหาเห็บ หาหมัด ให้เหมือนตอนยังไม่ตาย

เจ้าเสือยังคงนอนแน่นิ่งหมดลมหายใจ โดยที่เจ้าแต้วไม่รู้เลยว่า บัดนี้เพื่อนซี้ต่างสายพันธุ์ได้ถูกวางยาเบื่อตาย

ยังคงหยอกเย้าเหมือนกับตอนมีชีวิต กระโดดขี่หลัง ใช้มือแหย่หน้า

คล้ายจะปลุกเจ้าเสือตื่นขึ้นมาเล่นเหมือนที่เคยซุกซนกันไป

ใน วันเจอซากเจ้าเสือนั้น ส.ต.อ.สมยศ พยายามหาสิ่งแปลกปลอมที่อาจจะตกอยู่ใกล้ๆ แต่ทว่าไม่มีร่องรอยอะไรเหลือ คาดว่าเจ้าเสือคงกินยาเบื่อเข้าไปจนหมดเกลี้ยง

กล่าวถึงการวางยา เบื่อสุนัขครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้แมวของส.ต.อ.สมยศ ที่เลี้ยงไว้ก็ถูกวางยาเบื่อตายมาแล้วหลายตัว มาคราวนี้จึงถึงคิวเจ้าเสือ

การ จากไปของสุนัขที่เลี้ยงไว้ ทำให้ส.ต.อ. สมยศ สลดใจและรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงขอทำเรื่องย้ายตัวเองไปอยู่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เพื่อตัดปัญหา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความสบายใจของทุกคน เพราะเจ้าแต้วกับเจ้าเสืออาจไปเล่นซุกซน ก่อความเดือดร้อนรำคาญจนถึงขั้นถูกวางยาเบื่อตาย

p0161160953p3.jpg



ส.ต.อ.สมยศ อยากย้ายเพราะกลัวว่าเจ้าแต้วจะตกเป็นเหยื่อคนใจร้ายไปอีกราย!!

"คน ทำใจร้ายมาก สัตว์ไม่รู้เรื่องอะไร ยังทำได้ เหตุการณ์แบบนี้ไม่น่าเกิดขึ้นในเขตโรงพัก เจ้าแต้วกับเจ้าเสือเป็นที่รักเอ็นดูของคนทั่วไป ยิ่งก่อนหน้านี้เคยลงข่าว ยิ่งมีคนเมตตา เด็กๆ ในย่านนี้ก็ชอบมาเล่นด้วย ใครเห็นก็ประทับใจ โดยเฉพาะตอนเจ้าแต้วขี่หลังเจ้าเสือดูน่ารัก แต่บางครั้งก็เล่นซนไปตามประสาสัตว์ ขึ้นไปเล่นบนหลังคารถของเพื่อนตำรวจในโรงพัก จนถูกขู่วางยาเบื่อมาแล้ว ก่อนหน้านี้ก็เคยผูกล่ามไว้ในบ้าน แต่ด้วยความซน ก็หลุดออกไปเล่นซนอีกจนได้ จนกระทั่งหมาถูกวางยาเบื่อจนตาย" ส.ต.อ.สมยศ กล่าว

ขณะที่นางภมริน ผู้เป็นภรรยา กล่าวเชิงตัดพ้อว่า คนทำใจดำมาก เชื่อว่าเวรกรรมจะตามทัน ที่ผ่านมา ทั้งหมาและแมวที่บ้านถูกวางยาตายไปแล้ว 4 ตัว ตอนนี้ยังมีหมาอยู่ในความดูแลอีก 4 ตัว เกือบทุกตัวเป็นหมาที่มีคนมาปล่อยทิ้งไว้ ด้วยความสงสารจึงนำอาหารไปให้จึงมาอาศัยอยู่หน้าบ้าน

หลังทำใจกับ เหตุการณ์ ส.ต.อ.สมยศ จัดการกับซากเจ้าเสือ โดยนำไปฝังไว้ในสวนมะม่วงหลังที่พัก แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจขุดซากขึ้นมาเพื่อนำไปให้โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตรวจพิสูจน์ให้หายข้องใจ

ตลอดเวลามีเจ้าแต้วจอมซนวนเวียนอยู่ใกล้ๆ...!!

ถึง แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่พ.ต.ท.ธีรวุฒิ แสงมณี สวญ.สภ.พระขาว ในฐานะผู้บังคับบัญชาของส.ต.อ.สมยศ ก็ออกมาแสดงความห่วงใย ในเรื่องความสามัคคีของตำรวจในโรงพัก กลัวว่าเรื่องราวจะบานปลาย จึงออกมาแสดงทรรศนะว่าห่วงในเรื่องความสามัคคีมากกว่าสิ่งใด สงสารสัตว์ที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ลำพังเจ้าเสือและเจ้าแต้วเป็นสัตว์ที่น่ารัก แต่ก็ยังมีสุนัขที่อยู่ข้างนอกมารวมกลุ่มกันเป็นฝูง บางครั้งมีคนเดินผ่านถูกสุนัขไล่กัด ซึ่งก็ได้สั่งกำชับส.ต.อ.สมยศ ไปว่าให้ควบคุมให้ดี ให้เลี้ยงไว้ในบ้าน อย่าให้ออกมาเพ่นพ่านตามระเบียบทางราชการ ในเรื่องที่พักอาศัย ส่วนเรื่องการขอย้ายของส.ต.อ.สมยศ นั้นยังไม่พิจารณาเพราะกำลังของสภ.พระขาว ไม่เพียงพอ นิสัยส่วนตัวของส.ต.อ.สมยศ เป็นคนเรียบร้อย ทำงานดี มีใจรักสัตว์ มีเมตตากรุณา

ไม่น่าเชื่อว่าจะกลายเป็นปัญหา ถึงขั้นวางยาฆ่าสัตว์กัน!?!

 

ที่มา ข่าวสด

Comments

ความเห็นที่ 1

อ่านแล้วรู้สึกสะเทือนใจมากครับ คนที่ทำใจบาปจริงๆ ทำได้ลงแม้กระทั่งสุนัข ไม่รู้ว่าจิตใจคนเราในปัจจุบันนับวันยิ่งเย็นชาไร้ความรู้สึกกันจริงๆ โดยเฉพาะกับสัตว์ที่มองว่าด้อยกว่าตน

ความเห็นที่ 2

เมื่อวัตถุมีราคาแพงกว่าชีวิต! อนิจจา จงเป็นสุขๆเถิด เสือเอ๊ย ไปสู่สุขคติเถิด อภัยให้เขาอย่าได้มีเวรมีกรรมต่อกันและกันเลย

ความเห็นที่ 3

 

  สัตว์รับกรรมไป น่าสงสาร เกิดชาติหน้า ขอให้เกิดเป็นสัตว์ประเสริฐครับ

ความเห็นที่ 4

crying

ความเห็นที่ 5

frown  crying

ความเห็นที่ 6

           สำหรับผมมิใช่เรื่องแปลกที่ลิงน้อยเป็นเช่นนี้ และพยากรณ์ได้เลยว่าอีก ๓ ปี เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เขาจะไม่มีกริยาน่ารักหรือทำท่าแสนรู้ให้เห็นอีก (จะเห็นได้ว่าลิงที่เป็นข่าวทำนองนี้ที่ผ่านๆ มามักจะเป็นลิงเด็กทั้งนั้น ลองไปไล่ย้อนหลังดูครับ) เมื่อถึงเวลานั้นรับรองได้เดือดร้อนแน่ครับ นับตั้งแต่เจ้าของที่ต้องจ่ายค่ารักษา ค่าทำขวัญ เมื่อเขาอาจหลุดไปกัดใครต่อใคร หรือแม้กระทั่งกัดเจ้าของเอง (ฮา) ฉะนั้นจึงต้องหากรงที่แข็งแรงให้ แต่โดยมากเจ้าของมักจะไม่กล้าลงทุนขนาดนั้น เพราะกรงดีๆ ราคาเรือนแสน ...อีกทางหนึ่งเพื่อผลักภาระให้สังคมคือเอาไปปล่อยเข้าฝูงแต่เข้าเพื่อนไม่ค่อยจะได้ เพราะไม่เข้าใจกฏกติกามารยาทของสังคมลิง เมื่อเข้าฝูงไม่ได้ก็จะออกมาอาละวาดในชุมชน... แต่เจ้าของบางรายจะหาทางส่งตัวมาที่หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง...

พัฒนาการของวานรในธรรมชาติ

....ในทันทีที่ลูกเกิดมาแม่วานรจะถูกพันธนาการด้วยสายใยรักและจะให้ความสำคัญกับลูกเหนือสิ่งอื่นใด ลูกจะได้รับสัมผัสอันอบอุ่น (Contact comfort) โดยการพยุงให้ส่วนอกและหน้าท้องของลูกอ่อนแนบชิดท้องแม่ตลอดเวลา สัมผัสนี้ยังทำให้แม่มั่นใจว่าได้จัดวางลูกให้อยู่ในท่วงท่าที่จะกินนมได้ทุกเมื่อและอบอุ่นปลอดภัยเสมอตลอดช่วงเดือนแรกของชีวิต ขณะเดียวกันลูกวานรเองก็ต้องมีการซุกเกาะ(Clinging reflex)และดูดนม (Suckling reflex) จึงจะแนบชิดกับแม่ตลอดเวลาได้ นอกจากนี้การที่แม่พาลูกเดินทางเคลื่อนไหวปีนป่ายไปด้วยกันขณะหาอาหารยังช่วยกระตุ้นการพัฒนาส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว(Vestibular portion)ของลูก ฉะนั้นสัมผัสอบอุ่นจึงเป็นรากฐานสำคัญเพื่อพัฒนาการในขั้นตอนต่อไปของชีวิต จะเห็นได้ว่าลูกวานรต้องการสิ่งนี้มากกว่าลูกมนุษย์ การแยกลูกวานรออกมาเลี้ยงจึงทำให้พัฒนาการขาดสะบั้นเพราะมนุษย์ไม่มีทางตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติในวัยนี้ได้ทัดเทียมแม่วานร จึงทำให้เกิดพฤติกรรมผิดปกติตามมา ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือการดูดนิ้วหัวแม่มือตัวเอง

แต่ลูกลิงตัวนี้อาจไม่ได้ผ่านสัมผัสอันอบอุ่น (Contact comfort) จากแม่เลย หรืออาจได้รับเพียงเวลาสั้นๆ ก่อนถูกแยกมาอยู่กับมนุษย์

....เมื่อพ้นวัยที่ต้องแนบชิดกับแม่ตลอดก็จะพัฒนาเข้าสู่วัยแห่งการเล่น (Play age) ลูกวานรจะเริ่มสำรวจตรวจตราสิ่งใหม่ๆ รอบตัวใกล้แม่เช่นดึง ฉีก ดม ชิม เลียกิ่งไม้ใบไม้ด้วยความสนใจโดยจะเล่นตามลำพัง (Lone play) ก่อนแล้วค่อยพัฒนาไปสู่การเล่นกับสมาชิกในฝูง (Social play) เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น การเล่นสนุกถือเป็นการประเมินพลังและความสามารถของตนเอง การใช้ประสาทสัมผัส ภาวะความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะการเล่นที่ใช้แรงและกำลัง(Rough and tumble play) เช่น การจำลองการต่อสู้ ชักคะเย่อ ไล่จับกันนั้นถือเป็นการฝึกควบคุมอารมณ์โกรธ รู้วิธีการปลดปล่อยเมื่อโมโหร้าย ให้รู้จักแสดงออกอย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางเพศไปด้วย เช่น การฝึกขึ้นคร่อม (Mounting)และการแสดงพฤติกรรมต่อเพศตรงข้าม (Courtship) รวมทั้งเพศเดียวกันอย่างถูกต้องตามกฏกติกาที่สังคมยอมรับ ไม่เพียงเท่านั้นวานรวัยนี้ยังชื่นชอบเกมส์หยอกล้อ ไล่จับกับสัตว์หลากหลาย เช่น บ่าง พญากระรอกดำ นางอาย ฯลฯ (ฉะนั้นการเล่นกับสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ จึงมิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด) วานรในช่วงวัยนี้จะสังเกตและจดจำการผสมพันธุ์และการดูแลลูกอ่อนไปด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคือรากฐานสำคัญที่จะทำให้เติบโตสู่วัยเจริญพันธุ์แล้วได้ทำหน้าที่พ่อแม่อย่างสมบูรณ์ในฝูงและใช้ชีวิตร่วมกับสัตว์อื่นต่อไป

...ลองเทียบเคียงกับพัฒนาการของเด็กดูครับ ไม่ค่อยแตกต่างกันเลย เพราะเป็นวานรเหมือนๆ กัน

ความเห็นที่ 7

ถ้าพ่อหมาตัวนี้ยังอยู่ เจ้าแต้วจะเติบโตมาโดยคิดว่ามันเป็นหมารึเปล่า?

ปล.นึกถึงปังคุงกับเจมส์คุง -_o"

ความเห็นที่ 8

 

หลายๆครั้งเจ้าของหมา + แมว ไม่ได้รับรุ้เรื่องราว วีรเวรของสัตว์เลี้ยงตัวเองว่าไปทำอะไรแก่เพื่อนบ้านบ้าง  ครั้นเพื่อนบ้านไปบอกก็เดี๋ยวจะโดนหมั่นไส้อีก เลยต้องใช้วิธีวางยาเบื่อเพื่อตัดปัญหา

เลี้ยงหมาแมวแล้วไม่ขังก็อย่างนี้แหละครับ น่าเห็นใจทั้งคนเลี้ยงหมา และคนถูกหมากวน สุดท้ายเรื่องก็จบที่หมาแมวโดยตรง

ความเห็นที่ 9

คน เดรัจฉานกว่าสัตว์

ความเห็นที่ 10

ทางออกของเริ่องนี้ที่ดีที่สุด ก็คือสัตว์ป่าควรอยู่คู่ป่า มนุษย์นั่นแหละเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดเรื่องราวทั้งหมด ถ้าละได้ซึ่งความอยาก(อยากเลี้ยง น่ารัก แฟชั่นฯลฯ) เห็นชีวิตคือชีวิต ค่าของของเขากับเราเสมอกัน เมื่อนั้นแหละ จะมีคำตอบ

ความเห็นที่ 11

ลองนึกดูดีๆนะครับ ธรรมชาติมีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ มนุษย์ก็จะเข้าไปเกี่ยวข้องในทุกกระบวนการ ปัญหาที่เกิดมาเกิดจากอะไร ลองคิดดูเล่นๆนะครับ

ความเห็นที่ 12

ผมเองเคยดูเรื่องตลกของปังคุงพอผิวเผิน เพราะความบังเอิญน่าจะราว 2-3 ปีมาแล้ว  ปังคุงเองก็เป็นชิมแพนซีเด็กครับ .... แฟนคลับตัวจริงลองสืบเสาะหน่อยก็ดีว่าปังคุงดั้งเดิมตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง หรือปัจจุบันที่ยังถ่ายทำกันอยู่เขาเอาลูกชิมแพนซีตัวใหม่มาสวมแทนหรือเปล่า .... หรือความโด่งดังของปังคุงนั้นมีผู้ใดได้ประโยชน์สูงสุด หรือนั่นเพื่อช่วยบำบัดมนุษย์ด้วยกันเอง เห็นความน่ารักแสนรู้ก็ได้ฮาได้สุขก็ทำให้หลงลืมความเครียดความทุกข์ของตนเพียงชั่วขณะ แล้วอยากหาวานรมาเลี้ยงตามในรายการทีวี เพื่อชดเชยสิ่งที่ตนขาดหายไปเมื่อครั้งยังเด็ก หรือในภาวะปัจจุบัน นั่นคือการขาด "ความรัก ความห่วงใย" จากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง คนที่รักสัตว์จนเกินงาม หมายถึงมิได้ใส่ใจที่จะศึกษาความเป็นมา หรือพร้อมที่จะรับผิดชอบเมื่อเขาจะเติบโตต่อไป ผมว่าคนเหล่านั้นคงไม่ค่อยปกตินัก เพราะสุดท้ายคนเหล่านี้มักจะทำเพื่อตัวเองมิได้รักสัตว์จริงหรอก.... อย่างกรณีวานรเขาจะอยู่กับท่านไปถึง 30-50 ปี กรงราคาเรือนแสนที่พูดถึงมีอายุใช้งานราว 5-10 ปีเท่านั้นเองครับ คนส่วนใหญ่ที่เลี้ยงวานรมาเขาเลยไม่กล้าทุ่มทุนต่อ แค่เอาความน่ารักน่าเอ็นดูมาบำบัดตัวเองไม่กี่ปี แล้วหาทางปล่อยให้สังคมรับผิดชอบต่อไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยอุปโลกป์ว่าอยากปล่อยคืนสู่ป่าบ้างหละ อยากให้มีเพื่อนบ้างหละ ทั้งๆ ที่วัยแห่งการเล่น (play age) นั่นเป็นช่วงที่เขาต้องการเพื่อนที่เป็นวานรด้วยกันมากที่สุด แต่มนุษย์มักใช้วานรในช่วงอายุนี้เพื่อบำบัดตัวเองจึงจะไม่ยอมมอบให้ผู้ใดง่ายๆ ไม่เหมือนตอนที่หมดความน่ารักแสนรู้ เมื่อนั้นต่างอยากให้เอาไปไกลๆ

ทุกท่านสามารถแสดงความเห็นได้นะครับเต็มที่เลย รับรองรุ่นนี้ไม่มีเคืองแล้วหละ พอดีงานสายตรงผมต้องบำบัดวานรเพื่อปล่อยคืนสู่ป่าเลยเผชิญเรื่องราวเหล่านี้มาพอสมควร รู้ตัวครับว่ามีความเห็นค่อนข้างรุนแรง แต่ล้วนเป็นข้อเท็จจริงแม้สังคมมนุษย์เราจะรับไม่ค่อยไหว และดูๆ ไปการบำบัดวานรยิ่งเหมือนการบำบัดมนุษย์ด้วยกันเองเพราะล้วนเป็นวานรเหมือนกัน เพียงแต่มนุษย์เราจะมี "อัตตา" สูงส่งเกินไปเลยบำบัดยากหน่อย ด้วยไม่ค่อยจะยอมรับว่าตัวเองป่วยทางจิต สุดท้ายก็มักไปตกเป็นเหยื่อมารศาสนาจอมหื่น หมอดู หมอผีลามกตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ยิ่งคนเรียนจบสูงเพียงใดก็ยิ่งทำให้สังคมได้ฮา ได้สมน้ำหน้า เพราะสังคมเรารอซ้ำเติมกันอยู่แล้ว  ... ที่กระผมไม่เห็นด้วยกับการอุปโลกน์หาวานรมาเลี้ยงตามแฟชั่นก็เพราะมีข้อพิสูจน์ให้เห็นจริงครับ อันที่จริงเจ้าของวานรที่เขารักจริงก็พอมีครับ แต่เท่าที่ประสบมาน่าจะราว 0.001% ได้ครับ คนเหล่านี้ควรได้โล่เชิดชูเกียรติ

ความเห็นที่ 13

เห้นด้วยกับหมอก็ง ลูกสัตว์จะน่ารักเมื่อตอนเล็กๆ พอตัวโตอายุมากขึ้นก็จะหนีกฏเกณฑ์ของธรรมชาติไม่ได้ เช่นช่วงวัยหนุ่มวัยสาวซึ่งจะต้องมีการผสมพันธุ์ และมักจะดุร้าย และบทสรุปก็มักจะลงเอยที่สัตว์เสมอ (ก็มันดุ ก็มันกัด) บาดเจ็บบ้างตายบ้าง ก็ว่ากันไป ไม่เคยมีใครโทษคนที่ ไปเขาเอามาเลี้ยงเลย เมื่อเลี้ยงเบื่อก็หาทางที่จะผลักภาระไปให้พ้นๆตัว โดยไม่สนใจ ว่าจะลงเอยอย่างไร เฮ้อ !

ความเห็นที่ 14

เล็กๆ ก็น่ารัก แต่พอโตเห็นเขี้ยวยาวๆ กว่าเขี้ยวสุนัขก็สยองใช่เล่น
 

Contact comfort, Clinging reflex, Suckling reflex Monkey Adult age Monkey

ความเห็นที่ 15

หมอก๊งครับขอเอาเรื่องพัฒนาการในธรรมชาติไปแชร์หน่อยนะครับ ขอบคุณครับ cool

ความเห็นที่ 15.1

ตามสบายเลยครับ .... ผมมีแถมให้อีกนิดหน่อย ตอนนี้กำลังปั่นคู่มือเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ชมรมสัตวแพทย์สัตว์ป่าฯ อยู่ด้วย ทั้งการบำบัดด้านจิตใจและการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย

การเข้าจะเรื่องพัฒนาการหากเทียบเคียงกับมนุษย์ จะทำให้เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น ตามเอกสาร PDF ที่แนบมาด้วย เขาเขียนไว้ดีทีเดียว มีประโยชน์มากในทุกบริบทของชีวิตหากนำไปปรับใช้ได้

AttachmentSize
sittichoke_ericson.pdf 189.39 KB

ความเห็นที่ 16

การเสริมสร้างพฤติกรรมธรรมชาติ (Enrichment)

การเสริมสร้างพฤติกรรมธรรมชาติเป็นการสร้างความเพลิดเพลินเพื่อหนุนส่งสุขภาวะทางจิต (Psychological well-being) ของวานรให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยบำบัดพฤติกรรมผิดธรรมชาติ (Aberrant behaviour) ต่างๆ ได้ด้วย แม้บางครั้งอาจไม่หายขาดเนื่องจากเป็นภาวะผิดปกติทางจิตที่ฝังลึกของวานรแต่ละตัว ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากภาวะพัฒนาการบกพร่อง (Maturational arrest) และการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เร้าใจ (Unstimulating environment) จึงเกิดความเบื่อหน่ายจำเจ พฤติกรรมดังกล่าวจะไม่พบในวานรธรรมชาติแต่สำหรับวานรเลี้ยงแล้วมักจะเห็นจนชินตา การเสริมสร้างพฤติกรรมธรรมชาติทำได้โดย (1) การออกแบบสถานที่อยู่อาศัย ตลอดจนจำลองลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศให้ใกล้เคียงกับถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของวานรชนิดนั้นๆ (2) การจับคู่หรือจัดกลุ่มให้เกิดโครงสร้างทางสังคม และ(3) การส่งเสริมพฤติกรรมค้นหาอาหารเพราะในแต่ละวันวานรจะใช้หมดไปกับการหากินมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ

พัฒนาการของวานร (Process in Non-human Primate Development)

วานรในธรรมชาติจะมีพัฒนาการทางกาย อารมณ์ และสังคมตามช่วงวัยที่เหมาะสม นับตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนออกมาเป็นทารก แม่วานรไม่เพียงทำหน้าที่ปกป้องและเลี้ยงดูลูกให้เติบใหญ่เท่านั้น แต่ยังสอนลูกให้รู้ถึงพฤติกรรมทางธรรมชาติต่างๆ เริ่มตั้งแต่การหัดกินอาหารป่าตามแม่ ขณะเดียวกันก็เรียนรู้กฎกติกามารยาทในสังคมไปด้วย รู้จักการสางขน การเล่นต่อสู้ การติดต่อสื่อสารกัน การพึ่งพาช่วยเหลือ การหลบหลีกภัย การร่วมกันต่อสู้ศัตรู และเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก็มีคู่หรือกลุ่มผสมพันธุ์ มีการตั้งท้องและเป็นพ่อเป็นแม่เมื่อมีลูกออกมา นี่คือวงจรชีวิตที่มีพัฒนาการสมบูรณ์ตามครรลองธรรมชาติ ดังนั้นหากขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดถูกขัดขวางก็จะส่งผลต่อการพัฒนาการทันที แม้กระทั่งขณะอยู่ในครรภ์ หากแม่เกิดภาวะเครียดยาวนานจะทำให้ระดับความดันโลหิตแปรปรวน ซึ่งจะมีผลต่อการส่งเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงทารกในครรภ์ในที่สุดก็จะทำให้การเติบโตและพัฒนาการชะงักไป เมื่อลูกวานรเกิดมาจะมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่ามาตรฐาน เฉื่อยชา ซึมเซาเอาแต่นอน ไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือปีนป่าย ความจำบกพร่อง กินอาหารได้เองช้า กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงและทำงานไม่ประสานกันทำให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ช้า เป็นต้น

ความเห็นที่ 17

สภาพแวดล้อมที่ไม่เร้าใจ (Unstimulating environment)

วานรป่าในธรรมชาติมีชีวิตอิสระในพื้นที่หากินอันกว้างใหญ่ไพศาล ตัวอย่างเช่นฝูงลิงแสม 10-100 ตัว จะมีพื้นที่หากิน 156-1,250 ไร่ โดยในแต่ละวันจะเดินทางหาอาหาร 150-1,900 ม.ขณะที่ครอบครัวชะนี 2-8 ตัว ใช้พื้นที่หากินราว 300ไร่ อิสรภาพกลางป่านั้นเต็มไปด้วยสีสัน มีเรื่องให้สนุกสนานเพลิดเพลินไม่เว้นแต่ละวัน เพราะในธรรมชาติต้องใช้ชีวิตร่วมกับสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ต้องพึ่งพาอาศัย เกื้อกูลซึ่งกันทั้งทางตรงและทางอ้อม การไล่จับหยอกล้อเล่นกันตามเกมส์ธรรมชาติ การแก่งแย่งแข่งขันเพียงเพื่ออิ่มท้อง จนถึงการล่าเป็นอาหารภายใต้สมดุลทางธรรมชาติ อันวานรมนุษย์ในสังคมปัจจุบันที่คับแคบจมปลักกับมนุษย์ด้วยกันเอง ทะเลาะเบาะแว้ง ชิงดีชิงเด่น มีชีวิตประจำวันกับสัตว์เลี้ยงแสนรักและไม้ประดับเพียงไม่กี่สายพันธุ์ ไฉนเลยจะเข้าใจและรู้ซึ้งถึงชีวิตอิสระของสรรพสัตว์ในพงพนาว่าเริงสราญเพียงใด

วานรที่เติบโตในธรรมชาติจึงไม่มีภาวะจิตเสื่อมถอยแล้วแสดงพฤติกรรมผิดธรรมชาติออกมาให้เห็น วานรที่ถูกมนุษย์นำมาเลี้ยงจึงไม่มีทางที่จะเนรมิตรให้มีชีวิตความเป็นอยู่เยี่ยงวานรป่าได้ เว้นแต่การนำไปปล่อยคืนสู่ป่าให้สำเร็จเท่านั้นทว่าในโลกความจริงมิอาจทำเช่นนั้นได้เสมอไป กรงหรือสถานที่อยู่จึงควรมีขนาดใหญ่โตกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ และยิ่งกรงมีขนาดเล็กเท่าใดก็ยิ่งจำเป็นต้องสรรหาวิธีเสริมสร้างพฤติกรรมธรรมชาติมาใช้ให้มากที่สุด แม้จะมีการกล่าวอ้างว่าวานรในกรงเลี้ยงนั้นมีชีวิตยืนยาวกว่าวานรในธรรมชาติ จึงน่าจะมีชีวิตที่เป็นสุขกว่าเป็นไหนๆ ได้กินอาหารอย่างดีภายใต้การดูแลของนักโภชนาการ มีระบบรักษาความปลอดภัยไม่ให้ศัตรูเข้ามาจับกิน และเมื่อเจ็บป่วยก็มีทีมสัตวแพทย์พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ครบครันคอยดูแล แต่หากย้อนถามท่านว่าอยากมีชีวิตเช่นนั้นหรือไม่ ก็เชื่อได้ว่าคงไม่มีผู้ใดปราถนา มิเช่นนั้นมนุษย์เราที่ร่ำรวยล้นฟ้าคงหนีออกจากเคหสถานของตนไปต่อแถวจองคิวเข้าห้องพิเศษตามโรงพยาบาลหมดแล้ว หรือหากเป็นการบริการที่ไม่ต้องเสียสตางค์ ยาจกเข็ญใจเองก็คงจะไปจองคิวเช่นกันแต่มั่นใจได้ว่าคงไม่มีผู้ใดอยากอยู่ในนั้นตลอดกาล