กระทู้-13016 : เราสามารถตรวจเพศปลาจาก DNA หรือ โครโมโซมได้ไหมครับ

Home » Board » ปลา

เราสามารถตรวจเพศปลาจาก DNA หรือ โครโมโซมได้ไหมครับ

เช่นถ้าเราจะจับคู่ปลาเช่นปลามังกร

การรู้เพศก็น่าจะช่วยให้การเลี้ยง การแยกบ่อ สะดวกมากขึ้น

ไม่ทราบว่าสามารถทำได้หรือไม่ครับ
หรือมีหน่วยงานไหนทำได้บ้างครับ
kapomguy approve [ 11 ก.ย. 2552 15:54:33 ]
ความคิดเห็นที่: 1
ผมเคยเห็นที่ประมงเชียงใหม่ตรวจสอบเพศของ  ปลา sterguon ที่ผลิต ไข่ปลาคาร์เวียร์ เขาตรวจเพศโดยใช้เครื่องอุลตราซาวน์ ดูส่วนที่จะสร้างไข่ ถ้าเป็นตัวผู้จะแคบ และเล็ก ส่วนตัวเมียจะกว้างกว่าตัวผู้หลายเท่าครับ
siri [ 11 ก.ย. 2552 23:05:48 ]
ความคิดเห็นที่: 2
เราสามารถตรวจเพศปลาจาก DNA หรือ โครโมโซมได้ไหมครับ^
^
^
^
^ ตอบว่า ได้ครับ
สำหรับปลามังกร สามารถตรวจจากเมือกของปลาที่ผลิตออกมาได้ด้วยครับ
(ที่จริงผมจะทำวิทยานิพนธ์เรื่่องนี้  แต่ดันไม่มีงบประมาณ เลยยกเลิกไป) หุๆ

ปล. งานวิจัยด้านปลาสวยงาม แทบจะขอทุนไม่ได้เลย   - -"
aqueous_andaman approve [ 12 ก.ย. 2552 02:49:53 ]
ความคิดเห็นที่: 3
เช่นกัน มีครับสำหรับการตรวจด้วยดีเอ็นเอ หรือโครโมโซม เช่นในปลาเมดากา หรือปลาอีกหลายๆ ชนิด อย่างปลานิลก็หาได้จากการพิจารณาโครโมโซมเพศครับ
kman [ 12 ก.ย. 2552 10:03:04 ]
ความคิดเห็นที่: 4
 ถ้าเป็นหยั่งงั้น
แล้วปลาหลายชนิด ที่มีการเปลี่ยนเพศได้
แสดงว่าโครโมโซมหรือ DNA ของมันมีการเปลี่ยนแปลงด้วย ใช่มั้ยครับ ?
เช่น ปลากะพงขาว ช่วงแรกเป็นเพศผู้ เมื่ออายุมากหรือขนาดใหญ่ขึ้น มันกลับกลายมาเป็นเพศเมีย
หรือปลากะรังหรือปลาเก๋า ตอนแรกเป็นเพศเมีย แล้วกลับกลายไปเป็นเพศผู้
ฯ ลฯ
อดุลย์ [ 14 ก.ย. 2552 08:37:33 ]
adulmr@gmail.com
ความคิดเห็นที่: 5
มีงานวิจัยจำนวนมากที่พยายามตรวจเพศของปลาด้วยโครโมโซม
แต่ผลก็คือ ปลาส่วนใหญ่มีโครงโมโซมขนาดเล็กมาก (เน้น เล็กมากๆ )
ทำให้การศึกษาโครโมโซมทำได้ยาก

ในส่วนของปลานิลที่ว่าเคยมีงานวิจัยชักนำให้เกิดเพศผู้ด้วยฮอร์โมน
พอลองอ่านงานที่ศึกษาคาริโอไทป์ (การจำแนกโครโมโซม)
พบว่าเป็นแบบ homogametic sex คือ ไม่พบความแตกต่างของโครโมโซมของทั้งสองเพศ
(รายงานปลาชนิดอื่นๆ  ในประเทศไทยที่เคยอ่านมาก็เป็น homogametic sex ทั้งหมด
ถ้าท่านใดเคยอ่านพบ heterogametic sex ช่วยให้ข้อมูลด้วยค่ะ)

ดังนั้นในกรณีนี้ การอธิบายการถ่ายทอดโครโมโซม XX  และ XY ไม่น่าจะถูกต้อง
แต่อาจเป็นเพียงวิธีการอธิบายเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายเท่านั้นค่ะ

สำหรับการศึกษาระดับ DNA ก็มีการศึกษา male-specific gene เพื่อจำแนกเพศได้
...แก้ไขเมื่อ 14 ก.ย. 2552 11:15:41
หมีเป้แดง approve [ 14 ก.ย. 2552 11:02:16 ]
ความคิดเห็นที่: 6
สำหรับการใช้งานจริง การตรวจเพศด้วยโครโมโซมเป็นวิธีที่ยุ่งยาก
และปลาที่ใช้นำมาศึกษาคาริโอไทป์จะไม่มีโอกาสรอดต่อไปได้
ส่วนการศึกษา DNA ใช้ต้นทุนสูงมาก

ดังนั้นหากต้องการแยกเพศ เพื่อการจัดการบ่อ การจำแนกด้วยวิธีอื่นน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
หมีเป้แดง approve [ 14 ก.ย. 2552 11:06:09 ]
ความคิดเห็นที่: 7
ตอบคุณอดุลย์

การที่ปลามีการเปลี่ยนเพศเมื่อได้รับฮอร์โมน DNA ของปลาไม่ได้เปลี่ยนไปด้วยค่ะ
เพียง แต่เมื่อได้รับฮอร์โมน ซึ่ง เป็นสัญญาณ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโปรตีน
จึงนำไปสู่การเปลี่ยนเพศของปลา

ถ้าปลากะพงขาว มีการเปลี่ยนเพศเมื่อายุมากขึ้น นั่นหมายความว่า
การแสดงออกของยีน จะเริ่มขึ้นเมื่อปลาอายุมาก จึงทำให้ปลามีการเปลี่ยนเพศในภายหลัง


ปล.ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลา  แต่ลองอธิบายตามหลักการตามนี้ค่ะ
...แก้ไขเมื่อ 14 ก.ย. 2552 11:16:48
หมีเป้แดง approve [ 14 ก.ย. 2552 11:13:19 ]
ความคิดเห็นที่: 8
ลองหาข้อมูลของปลาดุกในประเทศไทยดูนะครับ ผมเคยอ่านเจอว่ามีการจัดระบบเพศเป็นทั้งแบบ xy  และ zw ด้วย พบว่าเป็นในประชากรที่ต่างกัน อยู่คนละพื้นที่กันนะครับ
คนกินกบ approve [ 15 ก.ย. 2552 14:48:35 ]
ความคิดเห็นที่: 9
เผอิญทำงานอยู่ในแวดวงวิชาการประมง
นานมาแล้ว เคยอ่านเรื่องการเปลี่ยนเพศในปลา
พอมาเห็นกระทู้อันนี้ ก็เลยงงๆ ว่า
 ถ้าตัดสินเพศเอาจากโครโมโซมได้ เลยไม่แน่ใจว่าโครโมโซมของปลาที่เปลี่ยนเพศได้ (ตามธรรมชาติ ไม่ใช่การใช้ฮอร์โมน)  มีการเปลี่ยนแปลงได้หรือไร ?
 และขอขอบคุณคำตอบของคุณหมีเป้แดง
 แต่วันนี้ ลองเข้าไปหาข้อมูลที่เคยอ่าน
(การเปลี่ยนเพศในปลา เขียนโดยเรณู ยาชิโร)

มีตอนหนึ่ง เขียนไว้ว่า
----------------------------------------------------------------
ได้มีการศึกษาโครโมโซมในไข่ปลา ประมาณ 1600 ชนิด
 แต่มีเพียง 60 ชนิด เท่านั้น ที่พิสูจน์ได้ว่ามีโครโมโซมเพศ......
ดังนั้น ยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเพศ(ของปลา) อาจจะไม่ได้อยู่บนโครโมโซมเพศเท่านั้น
 แต่อาจอยู่บน autosome  และถูกวิเคราะห์ว่าทำหน้าที่เป็นโครโมโซมเพศ ก็ได้
-----------------------------------------------------------------
ดังนั้น ในกรณีของปลา
คงไม่ทุกชนิด ที่สามารถตรวจเพศจาก DNA หรือโครโมโซมได้

ลิงค์บทความที่ผมอ้างถึงครับ
http://www.fisheries.go.th/cs-trat/Bule/h.pdf
อดุลย์ [ 15 ก.ย. 2552 15:30:14 ]
adulmr@gmail.com
ความคิดเห็นที่: 10
ได้อ่านตามลิงค์ของคุณอดุลย์แล้วค่ะขอขยายความเพิ่มเติมว่า

การจำแนกโครโมโซมเพศนั้น จำแนกจากรูปร่าง  และการเข้าคู่กันของครโมโซม เป็นหลัก
โดยที่ แต่เดิมการศึกษาใช้วิธีย้อมสีโครโมโซม
จึงทำให้พบว่าสิ่งมีชีวิตหลายชนิด มีความแตกต่างของโครโมโซมใน แต่ละเพศ
จึงเรียกโครโมโซมนั้นว่า "โครโมโซมเพศ"

แต่ไม่ใช่เฉพาะโครโมโซมเพศเท่านั้นที่มีส่วนในการกำหนดเพศของสัตว์
มียีนอีกหลายยีนที่อยู่บนออโตโซม ที่ทำงานเกี่ยวกับการกำหนดเพศด้วย

(ตัวอย่างในคน บางคนที่มี androgen receptor ผิดปกติทำให้พัฒนาเป็นเพศหญิงได้โดยมีโครโมโซม XY)

หมายความว่าสัตว์บางชนิดอาจมียีนที่ทำงานกำหนดเพศกระจายอยู่ในโครโมโซมแท่งต่างๆ
หรือรูปร่างของโครโมโซมเพศไม่แตกต่างกัน

ปัจจุบันมีการศึกษาระดับ DNA เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  จึงได้มีการพบยีนที่ทำหน้าที่กำหนดเพศ
ในสัตว์หลายชนิดสามารถใช้เป็น marker ในการกำหนดเพศได้
หมีเป้แดง approve [ 16 ก.ย. 2552 16:00:58 ]
ความคิดเห็นที่: 11
ในกรณีของปลาบางชนิดที่มีการเปลี่ยนเพศเมื่อมีอายุมาก
จะลองเปรียบเทียบกับในคนว่า
แต่เดิมเด็ก (ตัวอ่อน) ทุกคนเกิดมาเป็นเพศหญิง
และการกำหนดเพศของคนเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 สัปดาห์หลังปฏิสนธิ
หากได้รับสัญญาณของการพัฒนาเป็นเพศชายจึงจะพัฒนาไปเป็นอวัยวะเพศชาย
แต่หากไม่ได้รับสัญญาณ ก็จะพัฒนาเป็นเพศหญิง (ถึงแม้ว่าจะมีโครโมโซม XY ก็ตาม)

สมมติว่า (เน้นสมมติ)  ระบบอวัยวะเพศของคนไม่ได้ซับซ้อนเหมือนที่เป็นอยู่
และยีนกลุ่มที่ทำหน้าที่กำหนดเพศเริ่มทำงานเมื่ออายุ 30 ปี
คนก็จะเปลี่ยนเพศได้เหมือนกับปลากะพงเมื่ออายุ30 ปี

อันนี้พูดถึงในกรณีที่การกำหนดเพศขึ้นกับพันธุกรรมนะคะ
แน่นอนว่าสัตว์อีกหลายชนิดไม่ได้กำหนดเพศด้วยยีนโดยตรง
แต่การได้รับการกระตุ้นบางอย่าง เช่น อุณหภูมิ
ก็ต้องไปส่งสัญญาณให้ยีนแสดงออกในรูปแบบของเพศต่างกันอยู่ดี
ซึ่ง ในกรณีนี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องมียีนที่เป็น Sex marker ก็ได้
หมีเป้แดง approve [ 16 ก.ย. 2552 16:10:00 ]
ความคิดเห็นที่: 12
ขอบคุณคุณหมีเป้แดงมากครับ
สำหรับคำอธิบาย ซึ่ง แปลงมาเป็นภาษาง่ายๆ  
อ่านแล้วพอจะทำความเข้าใจได้ สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยถนัดในเรื่องพวกนี้หยั่งตัวผมเอง
ได้ความรู้มาเพิ่มรอยหยักในสมองขึ้นเยอะเลย

ขอบคุณครับ
อดุลย์ [ 17 ก.ย. 2552 09:40:45 ]
adulmr@gmail.com

- ปิดกระทู้ -

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org