กระทู้-07477 : ปลาตุม..คืนถิ่น ผลงานประมงฯพัทลุง

Home » Board » ปลา

ปลาตุม..คืนถิ่น ผลงานประมงฯพัทลุง




      ทะเลสาบสงขลา...เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีความมหัศจรรย์ เนื่องจากมีความแตกต่างทางกายภาพ ตั้งแต่น้ำเค็ม กร่อย  และน้ำจืด ในแหล่งเดียวกัน เพียงแต่ละพิกัด ทำให้เกิดความหลากหลายของระบบนิเวศน์ ส่งผลให้ทรัพยากรฯ อุดมสมบูรณ์ ด้วยความอุดมสมบูรณ์นี้ชาวประมงในปริมณฑล ทะเลสาบสงขลา จึงตักตวงหาอยู่หากินสืบสานกันมาในคาบเวลาอันยาวนาน ตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้นจน ถึงปัจจุบัน

      ณ วันนี้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม  และเปลี่ยนแปลงธรรมชาติล่มสลายถูกทำลายด้วยการบุกรุกของมนุษย์ พืชพรรณ  และสัตว์น้ำ รวมไปถึงปลาพื้นเมืองหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ หรือแม้มีอยู่ แต่กลายเป็นของหายาก เช่น ปลาตุม, ปลาพรม, ปลาลำปำ, ปลากระเบน ฯลฯ

      นายจรัลธาดา กรรณสูต อธิบดีกรมประมง จึงมีนโยบาย ศึกษาวิจัยฟื้นฟูพันธุ์ปลา และสัตว์น้ำจืดของไทย ที่หายาก โดยมอบหมายให้ ศูนย์วิจัย และพัฒนาประมงน้ำจืดพัทลุง ดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาตุมขึ้น

      ปลาตุม...พระเอกของ “หลายชีวิต” วันนี้ เป็นปลาสองน้ำที่สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืด และน้ำกร่อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Puntioplites bulu อยู่ในวงศ์เดียวกันกับปลากระมังแต่ต่างสกุล ลักษณะรูปร่างลำตัวเกือบเป็นรูปขนมเปียกปูน หัว และลำตัวแบนข้าง นัยน์ตาโต และค่อนไปทางด้านบน ครีบหลังสูง ไม่มีหนวด ครีบหางเว้าลึก  และ มีเกล็ดสีเงิน

      ศูนย์วิจัยฯเริ่มปฏิบัติการมาตั้งแต่ปี 2547 ทำการรวบรวมพ่อ-แม่พันธุ์ปลาตุมมา จาก คลองชะอวด จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 25 ตัว แล้วดำเนินการเพาะพันธุ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 47 ได้ลูกปลาจำนวน 5,000 ตัว  และทำการเลี้ยงต่อจนถึงวัยเจริญพันธุ์ มีไข่ และน้ำเชื้อสมบูรณ์พร้อมเป็นพ่อแม่พันธุ์ จากนั้นจึงได้ทำการเพาะพันธุ์โดยใช้ แม่ พันธุ์ 10 ตัวกับพ่อพันธุ์ 20 ตัว  และใช้ ฮอร์โมนสังเคราะห์ ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ฉีดกระตุ้น ปลา ก่อนวางไข่ 3 วัน ครั้งนี้เพาะฟักได้ลูกปลา 130,000 ตัว จึงนำลงเลี้ยงในบ่ออนุบาล

      เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ตรวจสอบพบว่าลูกปลามีชีวิตรอดถึง 30,000 ตัว  และโตขนาด 2-3 เซนติเมตร ช่วงนี้อยู่ในระหว่างเลี้ยงให้แข็งแรงดีพร้อมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป เพื่อแพร่ขยายพันธุ์อยู่คู่กับทะเลสาบสงขลาเฉกเช่นอดีตกาล...!!!

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันอังคาร ที่ 10 เมษายน 2550
...แก้ไขเมื่อ 11 เม.ย. 2550 17:38:05
นกกินเปี้ยว approve [ 11 เม.ย. 2550 17:36:16 ]
ความคิดเห็นที่: 1
ปลาตุมนี่รูปร่างคล้ายๆ ปลาตะเพียนนะ คุณนกกินเปี้ยว
mim4042 approve [ 11 เม.ย. 2550 19:03:20 ]
ความคิดเห็นที่: 2
ยินดีมากๆ  ครับกับความสำเร็จในการผสมเทียมปลาตุม Puntioplites bulu "กะมังลายกระ" แห่งลุ่มน้ำภาคใต้ ในไทยพบจากลุ่มน้ำตาปีไปถึงโกลก
Plateen approve [ 11 เม.ย. 2550 19:11:00 ]
ความคิดเห็นที่: 3
นอกจากลายกระแล้ว จุดแตกต่างอีกประการหนึ่งคือ ก้านครีบแข็งที่ครีบก้นขอบด้านท้ายจะเรียบ ในขณะที่ปลากะมังในสกุล Puntioplites ส่วนใหญ่ขอบด้านท้ายของก้านครีบแข็งที่ครีบก้นจะมีลักษณะเป็นซี่จักร
Plateen approve [ 11 เม.ย. 2550 19:12:58 ]
ความคิดเห็นที่: 4
ยินดีที่เพาะได้มากครับ

ว่า แต่สาเหตุว่าทำไมปลาตุมที่มี แต่เดิมจึงสูญพันธุ์ไปคืออะไรครับ?   ถ้าสาเหตุที่ว่ายังไม่ได้รับการแก้ไข ปล่อยไปก็เท่านั้น เหมือนเทน้ำลงแก้วรั่ว ต้องคอยเติมคอยเทไม่สามารถอยู่ได้เองอย่างยั่งยืน
นณณ์ approve [ 11 เม.ย. 2550 22:05:33 ]
ความคิดเห็นที่: 5
แล้วมันสูญพันธุ์จริงรึ
Plateen approve [ 11 เม.ย. 2550 23:04:10 ]
ความคิดเห็นที่: 6
.มันไม่สูญพันธุ์หรอกครับ มันอุตสาห์อยู่รอดคู่โลกมาก่อนมนุษย์เราอีก เพียง แต่ว่ามันอาจจะลดลง การที่เราสำรวจไม่เจอหรือเจอน้อยไม่ได้หมายความว่ามันไม่มี คือเรื่องของทะเลสาบสงขลานี่แก้ยากครับ โพงพางเป็นร้อยๆ พันๆ  เก็บเรียบทุกอย่างทั้งกุ้งทั้งปลา แล้วไม่ต้องไปบอกให้รื้อถอนนะครับ พยายามกันมานานแล้วก็ไม่ได้เพราะ ถ้ามารื้อกรูยิง สำหรับเครื่องมือโพงพางนี่ผิดกฎหมายนะ แต่ทำไรไม่ได้โดยเฉพาะที่ สงขลา และเพชรบุรี ด้วยเหตุผลข้างต้น แล้วใครจะเสี่ยง ก็ต้องรอให้สภาพมันเสื่อมโทรมจนไม่คุ้มในการทำประมงโน่นล่ะครับก้คงจะเลิกไปเอง เพราะตอนนี้ผมก็ช่วยเค้าทำวิจัยปลาโพงพางอยู่ก็ทราบปัญหาเยอะที่สำคัญ ถ้าให้เค้าเลิกจะให้เค้าไปทำอะไรรายได้จากโพงพางบางวัน ถ้าเป็นช่วง15คำทำได้ 2 ครั้งต่อวันแล้ว กุลาดำหรือแชบ๊วยเข้านะครับวันนึงบางปากได้ห้าพันกว่าบาทเลยนะ ปัญหาพวกนี้คิดว่าคุณ knotsnake ก็คงจะทราบดี พูดถึงปลาโพงพางแล้ววันข้างหน้าผมคงจะมีรูปมาให้ดูกัน แต่ต้องให้มีเวลานิดนึง
Tony [ 12 เม.ย. 2550 10:16:36 ]
ความคิดเห็นที่: 7
 ถ้าเขารู้ว่าเป็นเรือที่ไปสำรวจเกี่ยวกับการจัดการทะเลสาบ เฉียดไปหน่อยเดียว เดี๋ยวจะคนบางกลุ่มแจ้งความหรือเรียกร้องค่าเสียหาย เนื่องจากเรือเข้าไปเกี่ยวกระชัง โพงพาง  และอีกหลายอย่างพัง ทั้งที่บางอย่างก็รู้อยู่ว่าผิดกฏหมาย คือปลาลดจำนวนเพราะสภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมเปลี่ยนเพราะคน คนต้องมีรายได้เพื่อกิน กินกันมากขึ้นเพราะคนมันเยอะขึ้น ต่างก็แย่งกันใช้ทรัพยากร มีคำถามว่า ถ้าไม่ทำอาชีพนี้แล้วจะทำอะไร  ถ้าการมีจิตสำนึกใช้อย่างสวยๆ อย่างที่เราพูดกันแล้วจะทำให้รายได้มากขึ้นไหม ส่วนหนึ่งพวกที่ไปรณรงค์ให้ทำอะไรดีๆ  กลับมีอะไรเน่าๆ ทำอยู่ข้างหลัง ทำไม่ได้นานได้หน้าได้ข่าวกันทีก็หยุด ผมอยู่ตรงนั้นจะได้ยินคำว่า"เราต้องทำอะไรตอบแทนสังคมบ้าง"ได้ยินจนเกลียดคำนี้ไปเลย  ถ้าเพียง แต่พวกพี่หยุด แ ด๊ กกันบ้าง ทำอะไรแบบจริงๆ จังๆ กันสักตี๊ด ก็คงไม่ต้องเพาะปลาตุ่ม กันที่ให้โลมา ห้ามใช้น้ำเพราะโลหะหนักปนเปื้อน ขุดลอกทะเลสาบกันหรอกครับ หรือจริงๆ เราต้องรอหายนะมาถึงก่อน  จะได้สำนึกกัน
จุ่มพรวด approve [ 13 เม.ย. 2550 12:02:24 ]

- ปิดกระทู้ -

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org